กุลธิดา สามะพุทธิ : รายงาน / ชัยชนะ จารุวรรณากร : ภาพ

gas 01นับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) สัญญาว่าจะเริ่มรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ปตท. รับก๊าซมาใช้เพียงนิดหน่อยเท่านั้นแต่จ่ายเงินซื้อก๊าซล่วงหน้าให้แก่รัฐบาลทหารพม่าไปแล้ว ๑๓,๒๒๐ ล้านบาท ตามสัญญาแบบ “take-or-pay” ที่ตกลงกันไว้ว่าหาก ปตท. ไม่สามารถรับซื้อก๊าซได้ตามกำหนด จะต้องจ่ายเงินค่าก๊าซให้ผู้ขายก่อนแม้ว่าจะยังไม่ได้รับก๊าซก็ตาม ซ้ำยังต้องเสียเงินอีก ๗,๔๒๐ ล้านบาท เป็นค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินค่าก๊าซที่จ่ายไปล่วงหน้านี้อีกด้วย

ปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ ปตท. กู้เงินในประเทศจำนวน ๑๕,๘๐๐ ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตร ส่วนหนึ่งของเงินก้อนนี้จะถูกนำไปจ่ายค่าก๊าซล่วงหน้าอีกเช่นกัน

ปตท.ชี้แจงในเนื้อที่โฆษณาของหนังสือพิมพ์รายวันไม่นานหลังจากนั้นว่า “ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่ได้จ่ายเงินซื้อล่วงหน้าไปก่อนนั้น ปตท. สามารถเรียกคืนมาใช้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน เมื่อโรงไฟฟ้าราชบุรีก่อสร้างเสร็จ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับมา”

ถึงวันนี้ปริมาณก๊าซที่ปตท.จ่ายเงินซื้อไปแล้วนั้น ต้องใช้เวลาถึง ๑๐ ปีกว่าจะเอากลับมาใช้ได้หมด

เมื่อ ปตท. เกิดความคิดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องช่วยจ่ายเงิน ตามสัญญา take-or-pay ด้วย เนื่องจากเป็นความผิดของ กฟผ. ที่สร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีเสร็จล่าช้าไปถึง ๒ ปี (ปัจจุบันก็ยังสร้างไม่เสร็จ) ทำให้ไม่สามารถรับก๊าซได้ตามสัญญา วีรวัฒน์ ชลายน ผู้ว่า กฟผ. ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “จะให้เราไปหาเงินมาจากที่ไหน… เงินมันไม่ได้หล่นมาจากฟ้านะครับ”

หรือถ้าจะต้องร่วมรับภาระทางการเงินจริง ๆ กฟผ. ก็จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟ

นอกจาก กฟผ. กำลังเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีซึ่งมีกำลังการผลิต ๔,๖๐๐ เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ ๖ หมื่นล้านบาทให้เสร็จแล้ว อาจสรุปได้ว่าเรื่องราวล่าสุดของโครงการท่อก๊าซไทย-พม่าในวันนี้ อยู่ในขั้นตอนที่รัฐวิสาหกิจทั้งสอง คือ ปตท. และ กฟผ. เจรจาตกลงกันว่าใครควรจะต้อง “จ่าย” อะไรบ้าง

ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงาน จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก การรับก๊าซไม่ได้ตามกำหนดร่วมกัน ไม่ควรผลักภาระให้ประชาชน

แต่อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่าทั้งค่าก๊าซล่วงหน้า ค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญาแบบ take-or-pay รวมทั้งความเสียหายของเงิน ๑๖,๕๐๐ ล้านบาท ที่ลงทุนไปในการวางท่อส่งก๊าซ แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ และดอกเบี้ยของเงินที่กู้มาลงทุนในโครงการนั้นได้กลายเป็น “หนี้สาธารณะ” ที่ประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของ ปตท. ต้องรับภาระไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลย่อมต้องใช้ภาษีของประชาชน ไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้ ปตท.

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่าเมื่อสองปีก่อน ชี้ให้เห็นว่าความสูญเสียทางการเงิน ที่เกิดขึ้นนี้เป็นหนึ่งใน “คำเตือนที่เป็นจริง” ที่พวกเขาเคยบอกไว้

ช่วงที่มีการคัดค้าน กลุ่มอนุรักษ์ได้เสนอมาตลอดว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการคัดค้านของประชาชน น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอให้รัฐบาลสั่งชะลอโครงการไว้ก่อน ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นว่า คำสั่งของรัฐบาลนั้นถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” ที่ ปตท. สามารถนำไปอ้างกับผู้ร่วมทุน เพื่อให้ประเทศไทยเลื่อนเวลารับก๊าซออกไป โดยไม่ผิดสัญญาได้

“แต่ ปตท. ก็ปัดข้อเสนอต่าง ๆ อย่างไม่ไยดี โดยยืนยันว่าไม่สามารถอ้างเหตุสุดวิสัยใด ๆ เพื่อผ่อนปรนสัญญากับกลุ่มผู้ร่วมทุนในพม่าได้” เอกสารประกอบการอภิปรายเรื่อง “คำเตือนที่เป็นจริงของโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า” ซึ่งจัดโดยกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ (๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ จ. กาญจนบุรี) ระบุ

สภาพป่าที่เสื่อมโทรมลง และพลังงานไฟฟ้าที่เหลือเฟือถึงขนาดที่พนักงานกฟผ.คนหนึ่งยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกแล้ว คือ “คำเตือนที่เป็นจริง” อีกสองข้อที่กลุ่มอนุรักษ์เอ่ยถึง

เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ออกสำรวจตามแนวท่อก๊าซอีกครั้ง และพบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้แนวท่อก๊าซยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก พวกเขาเขียนบันทึกไว้ว่า

“สภาพป่าบนแนวท่อโดยเฉพาะตามสันเขาซึ่งถูกถางเป็นทางกว้างถึง ๓๐ เมตร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแข่งแรลลีจักรยาน เสียตรงที่พื้นดินยุบตัวเป็นทางและพังทลายลงไปด้านข้างเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ระหว่างการก่อสร้าง ปตท. ได้สัญญาต่อคณะกรรมการประชาพิจารณ์ (นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน) ว่าจะมีการลดความกว้างของแนวท่อจาก ๓๐ เมตร เหลือ ๑๒ เมตร เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ป่า แต่พื้นที่โล่งเตียนกว่า ๓๐ เมตรเป็นหลักฐานฟ้องว่า สัญญาของ ปตท. เป็นสัญญาที่ว่างเปล่านั่นเอง”

นักวิชาการด้านป่าไม้อธิบายว่า การเปิดพื้นที่ป่าดงดิบเป็นแนวยาวเพื่อวางท่อก๊าซทำให้ผืนป่าต้องรับแสงอาทิตย์มากขึ้น ความชื้นลดลง ต้นไม้จึงค่อย ๆ แห้งตาย และความแห้งแล้งจะขยายจากแนวพื้นที่เปิดโล่งลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จนป่าบริเวณนี้ไม่สามารถคงสภาพความเป็นป่าดงดิบไว้ได้อีกต่อไป

สำหรับเรื่องพลังงานไฟฟ้า ที่มีอยู่มากเกินพอและปริมาณการใช้ที่ลดลง ซึ่งครั้งหนึ่งกลุ่มผู้คัดค้านเคยหยิบยกมาเป็นเหตุผล ให้ชะลอโครงการท่อก๊าซฯ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีนั้น สถาพร มณีรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กล่าวยืนยันเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ว่า ขณะนี้พลังงานไฟฟ้าเหลืออยู่ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์และไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติม และที่สำคัญ ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าราชบุรี (ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาเป็นเชื้อเพลิงหลัก) จะมีราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ มาก

“ถึงโรงไฟฟ้าราชบุรีจะสร้างเสร็จ ค่าไฟก็ไม่ได้ถูกลงเลย” ประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. กล่าว “เนื่องจาก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟนั้นเป็นค่าเชื้อเพลิง นั่นคือ ค่าไฟ ๑ บาท เป็นค่าเชื้อเพลิง ๖๐ สตางค์ ก๊าซจากแหล่งยาดานาในพม่าราคา ๑๑๓ บาท/ล้านบีทียู ในขณะที่ก๊าซจากอ่าวไทยราคา ๙๐ บาท ก๊าซจากน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นราคา ๗๐ บาท…จะเห็นว่าก๊าซจากพม่าแพงกว่ากันเกือบเท่าตัว”

gas 02ขณะที่โครงการท่อก๊าซไทย-พม่ากำลังลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกันเอง องค์กรประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์เลือกเอาการ “สรุปบทเรียน” เป็นภารกิจชิ้นต่อมาของพวกเขา

อาจารย์เดชรัตสรุปสิ่งสำคัญที่สังคมไทยได้เรียนรู้จากความเสียหายจากโครงการท่อก๊าซฯ ว่า

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีความคิดว่าการลงทุนด้านพลังงานเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่โครงการท่อก๊าซฯ ทำให้เห็นว่ามันไม่เป็นจริงเสมอไป การเป็นหนี้เป็นสินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. รวมทั้งค่าไฟที่จะแพงขึ้นในอนาคต ล้วนเป็นสิ่งที่ฉุดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ถดถอยลงมา เราอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องใช้พลังงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนในด้านพลังงานทุกโครงการจะนำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่อาจนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ได้

“โครงการท่อก๊าซฯ ยังสอนให้เรารู้อีกว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานในอนาคตทำได้ยากมาก เพราะสังคมและเศรษฐกิจมีความไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงสูง ความผันแปรเยอะ ยิ่งคาดการณ์ก็ยิ่งผิดและสร้างความเสียหาย เมื่อตอนที่มีการคัดค้านโครงการอย่างหนัก หน่วยงานของรัฐคาดการณ์ว่าเมืองไทยจะใช้ไฟฟ้า ๑๙,๖๐๐ กว่าเมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเราใช้เพียง๑๔,๙๐๐ กว่าเมกะวัตต์–ผิดไปประมาณ ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ เท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าราชบุรีจะผลิตได้เลยทีเดียว เมื่อการคาดการณ์เป็นไปได้ยาก สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือการจัดการ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่เน้นเรื่องการคาดการณ์แต่จะเน้นเรื่องการจัดการไฟฟ้าที่ดี คือ ดูว่าศักยภาพของประเทศตัวเองจะผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่และจัดการให้ใช้ได้ในปริมาณที่มีอยู่ ไม่ใช่คาดการณ์แล้วก็สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ส่วนพิภพ ธงไชย ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) หนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ ไม่ได้ต้องการเพียงแค่สรุปบทเรียนเท่านั้น แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้นแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในสังคมไทยเลยก็ตาม

“สิ่งที่เราต้องการคือการแสดงความรับผิดชอบ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะต้องมีคนรับผิดชอบ คนที่โกหก สร้างความเสียหายต้องออกมาขอโทษและยอมรับผิด ลาออก หรือถูกลงโทษตามกฎหมาย”