เรื่องและภาพ : วีระวัช ศรีสุข

บรรยากาศทะเลหมอก ยามเช้าที่กิโลเมตร ๓๕

บรรยากาศทะเลหมอก ยามเช้าที่กิโลเมตร ๓๕

พะเนินทุ่ง คือชื่อของยอดเขาสูงแห่งเทือกเขาตะนาวศรี อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พะเนินทุ่งเป็นจุดชมทะเลหมอก และทิวเขาสูงสลับซับซ้อนที่อุดมไปด้วยป่าไม้เขียวขจีสุดสายตา เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง เสือ สมเสร็จ ฯลฯ รวมทั้งนกและแมลงนานาชนิด และยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอย่างแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี

ผู้ที่จะเดินทางสู่พะเนินทุ่งต้องทำเรื่องขออนุญาต ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก่อน จากนั้นต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ ๑๐ กว่ากิโลเมตร ผ่านเส้นทางทุรกันดารสู่จุดตรวจ ซึ่งจะต้องแสดงหนังสืออนุญาตเพื่อขึ้นสู่เขาพะเนินทุ่ง จุดตรวจแห่งนี้ คือจุดเริ่มต้นของการนับระยะทาง หรือกิโลเมตรที่ ๐ สู่ยอดเขาพะเนินทุ่ง มุ่งหน้าไปตามเส้นทางจะผ่านหน่วยบ้านกร่าง ที่กิโลเมตร ๑๕ ซึ่งมีลานให้กางเต็นท์ตั้งแคมป์พักแรม เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเงียบสงบของผืนป่า และผู้ที่สนใจดูนกดูผีเสื้อก็สามารถเดินชมได้ตามถนนที่ตัดเลียบลำห้วยบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๖-๑๘

หลังจากผ่านกิโลเมตรที่ ๑๘ ไปแล้ว เส้นทางจะเริ่มสูงชันขึ้นไปจนถึงหน่วยพะเนินทุ่งที่กิโลเมตร ๓๐ บริเวณนี้ผู้ขับรถต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก เพราะมีรถเบรกไม่อยู่ตกเขามาแล้วหลายคัน กิโลเมตรที่ ๓๐ เป็นจุดเดียวในบริเวณนี้ที่อนุญาตให้พักแรมได้ โดยจุดชมวิวและทะเลหมอก จะอยู่ห่างออกไปที่กิโลเมตร ๓๑ (ศาลาชมวิว) และกิโลเมตร ๓๕

หลายปีที่ผ่านมาผมมักจะเดินทางขึ้นไปพักบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๐ อยู่เป็นประจำ เนื่องจากประทับใจในความสวยงามของทะเลหมอก และอากาศที่หนาวเย็นในยามเช้า จุดชมทะเลหมอกที่ผมชื่นชอบที่สุด คือบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๕ เนื่องจากเป็นบริเวณที่เปิดโล่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ทั้งยังมีฝูงค่างกระโดดกันโครมครามอยู่เหนือยอดไม้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ที่หลงใหลในธรรมชาติ จะเดินทางมาเฝ้าชมบรรยากาศบริเวณจุดชมวิว กิโลเมตรที่ ๓๕ ได้อย่างไม่รู้เบื่อ

นอกจากบรรยากาศงดงามในยามเช้าแล้ว ในช่วงเย็น ก็ยังมีภาพพระอาทิตย์ตก ที่สวยงามไม่แพ้กัน ผมมักมาคอยเฝ้าดู และบันทึกภาพขณะที่ดวงอาทิตย์ กำลังจะลับสันเขาสูงเบื้องหน้า ยอดเขานี้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯ สูงประมาณ ๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงมักจะเรียกกันว่า ยอดพันห้า หากข้ามเทือกเขานี้ไป ก็จะเข้าสู่ดินแดนของประเทศพม่า

เมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว ผู้คนยังรู้จัก และมาเที่ยวแก่งกระจานกันไม่มากนัก จะมีก็เฉพาะผู้ที่รักธรรมชาติจริง ๆ บริเวณนี้จึงพอจะมีสัตว์ป่าออกมา เดินหากินให้เห็นอยู่เป็นประจำ

ครั้งหนึ่งระหว่างที่ผมและเพื่อนอีกสองสามคน กำลังเฝ้าชมและรอบันทึกภาพพระอาทิตย์ตก ที่จุดชมวิวกิโลเมตรที่ ๓๕ อยู่นั้น เพื่อนคนหนึ่งก็ร้องสั่งมาอย่างตื่นเต้นว่า “เปลี่ยนเลนส์เร็ว” ถึงแม้เขาจะยังไม่บอกว่าเป้าหมายเป็นอะไร แต่จากประสบการณ์ ที่เดินทางถ่ายภาพมาด้วยกันหลายครั้ง ทำให้ผมเข้าใจดีว่า เขาคงได้เจอสัตว์ป่าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าให้แล้ว และผมก็ไม่รอช้าที่จะเปลี่ยนจากเลนส์มุมกว้าง ที่ใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ มาเป็นเลนส์ถ่ายภาพระยะไกลในทันที

เพื่อนผมชี้ไปยังเป้าหมาย ที่อยู่ห่างออกไปทางด้านซ้ายมือประมาณ ๘๐ เมตร สูงขึ้นไปจากผิวถนนประมาณ ๓ เมตรซึ่งเป็นหน้าตัดของภูเขา ที่เกิดจากการสร้างถนน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาใกล้หกโมงเย็น ที่ปริมาณแสงเริ่มน้อยแล้ว เมื่อมองปราดแรก ผมจึงเห็นเพียงราง ๆ ว่าเป็นร่างค่อนข้างใหญ่สีดำ จนเมื่อได้มองผ่านเลนส์ จึงเห็นว่ามันคือเลียงผา ที่กำลังเลียกินดินโป่งอยู่ ทุกคนในกลุ่มต่างตื่นเต้นที่ได้เห็นสัตว์ป่าใกล้ ๆ จึงพยายามเข้าใกล้อย่างลืมตัวเพื่อเก็บภาพให้ได้

เลียงผายืนอยู่ที่ชายป่า ก่อนเดินลง สู่หุบเขาที่ลาดชัน

เลียงผายืนอยู่ที่ชายป่า ก่อนเดินลง สู่หุบเขาที่ลาดชัน

เลียงผา (Serow; Capricornis sumatraensis) มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น เยือง เป็นชื่อที่เรียกกันในแถบจังหวัดเพชรบุรี แต่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และภาคใต้เรียกว่า กูรำหรือโครำ ส่วนเลียงผา คือชื่อทางการที่คนแถบภาคกลางใช้เรียก

เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่เหมือนวัวควาย มีเขาแบบที่เรียกว่า “horn” ข้างในกลวง และไม่มีการผลัดเขาเหมือนพวกกวาง แต่จะมีวงรอยหยักที่เรียกว่า “พาลี” ซึ่งจำนวนหยักนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เลียงผาชอบหากินอยู่ตามลำพัง ตามหน้าผาหรือภูเขาหินปูน จึงทำให้มันมีความสามารถในการปีนป่าย หรือเดินไปตามหน้าผาสูงชันได้ดี ช่วงผสมพันธุ์ของเลียงผา จะตกประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีระยะตั้งท้องประมาณ ๗ เดือน และตกลูกครั้งละหนึ่งตัวเท่านั้น

สาเหตุหลักที่คุกคามเลียงผาให้ใกล้สูญพันธุ์เข้าทุกทีนั้น ได้แก่พื้นที่อยู่อาศัยที่ลดน้อยลง เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ เพื่อทำการเกษตร และระเบิดเขา นอกจากนี้ด้วยความเชื่อผิด ๆ ของคนไทยที่ว่า น้ำมันเลียงผาเป็นยาสมานกระดูก (เพราะเห็นว่าเลียงผาสามารถเลียแผล หรือกระดูกที่หักเวลาพลัดตกเขาให้หายได้) ก็ทำให้เลียงผาถูกล่า เพื่อนำหัว และกระดูกมาต้มเคี่ยวเอาน้ำมัน มาทำเป็นยาแก้ฟกช้ำ และรักษากระดูก แม้จะมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ออกมาแล้วว่า น้ำมันจากเลียงผาไม่มีสรรพคุณดังกล่าว แต่อย่างใดก็ตาม ที่สำคัญ นิสัยที่ชอบออกมายืนตามหน้าผาที่โล่งแจ้ง ก็ยิ่งทำให้มันถูกล่าได้ง่ายขึ้น ครั้งหนึ่งผมเดินทางข้ามไปเขตพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยังได้เห็นหัวเลียงผานับสิบหัว รวมกันอยู่ในหม้อเคี่ยวขนาดใหญ่ เตรียมทำน้ำมันบรรจุใส่ขวดขาย เป็นภาพที่น่าสลดใจที่สุด

หลังจากบันทึกภาพกันอยู่ชั่วครู่ เลียงผาก็เริ่มมีอาการระแวดระวังตัว โดยผละลงจากหน้าผา มายืนมองพวกเราอยู่กลางถนน เป็นจังหวะเดียวกับที่ฟิล์มในกล้องผมหมดม้วนพอดี จึงต้องวิ่งย้อนมาเอาฟิล์มที่กระเป๋ากล้อง ตรงจุดชมวิว เมื่อกลับมาอีกครั้ง ก็พบว่ามันย้ายไปยืนอยู่ชายป่าที่ด้านหลัง คือหุบเขาลึก ผมบันทึกภาพของมันตรงจุดนี้ได้อีกพักหนึ่ง ก่อนที่มันจะไต่ลงสู่หุบเขาที่ลาดชันหายลับไป

เมื่อพิจารณาตรงจุดที่เลียงผาขึ้นไป และเล็มดินกินก็พบว่า บริเวณนั้นเป็นผาหินที่มีผงดินสีขาวเคลือบอยู่ และมีร่องรอยการเลียกินของเลียงผา จึงคาดว่าบริเวณนี้ น่าจะมีดินเค็ม หรือดินโป่ง ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายของสัตว์ป่าทั่วไป ต่อมาภายหลังยังได้ทราบว่า ช่วงเดือนเดียวกันนั้น มีผู้พบและถ่ายภาพเลียงผาตัวนี้ ตรงบริเวณเดิมได้อีก แสดงว่าเลียงผาขึ้นมากินดินโป่ง ที่จุดนี้อยู่เป็นประจำ เพราะยังมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาไม่มากนัก

ปัจจุบันบริเวณนี้ เริ่มเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ของแก่งกระจาน ทางจังหวัดเพชรบุรีเองก็พยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีโครงการปรับปรุงและขยายถนนเป็นระยะ ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่า เพราะเมื่อถนนหนทางดีขึ้น ปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบย่อมตกกับเลียงผาและสัตว์อื่น ๆ ที่ต้องเป็นฝ่ายหลบหนี และย้ายถิ่นหากินไปยังพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป

นี่ดูจะเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอกับสัตว์ป่าเมืองไทย