เรื่อง : อนรรฆ พัฒนวิบูลย์

western forest 05western forest 03

ผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่องกันครอบคลุมพื้นที่ถึง ๑๑.๗ ล้านไร่ (ประมาณ ๑๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) และนับเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถึง ๑๕ แห่ง ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอีก ๒ แห่ง

ในขณะที่ผืนป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยหลายแห่ง อยู่กระจัดกระจายเป็นผืนเล็กผืนน้อย หรือไม่ก็มีผู้คนแผ้วถางทำกินอยู่ใจกลางป่า หรือเข้าใช้ประโยชน์เก็บหาของป่ากันจนป่ามีสภาพทรุดโทรม หลายแห่งแทบไม่เหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศนั้นเลย ปรากฏว่าผืนป่าตะวันตกซึ่งมีขนาดของพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า ๑๑ ล้านไร่ ยังมีพื้นที่เป็นป่าเขียวขจีครอบคลุมพื้นที่กว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผืนป่าอนุรักษ์ตะวันตกทั้งหมด ขนาดพื้นที่ป่าที่ใหญ่โตเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสัตว์ป่า ที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์จากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (zoogeographical range) ยกตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนของเขตสัตวภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบได้ในผืนป่าตะวันตก เช่น นกเงือกคอแดง กระจายมาตั้งแต่ป่าดิบเชิงเทือกเขาหิมาลัย (indo-chinese subregion) กระทิง กระจายมาตั้งแต่อินเดีย (indian subregion) สมเสร็จกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทรมลายู (sundaic subregion) ดังนั้นทั้งขนาดของพื้นที่และตำแหน่งที่ตั้ง ที่เป็นจุดรวมของเขตสัตวภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกโดดเด่นในด้านความหลากหลาย มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๑๕๐ ชนิด นกมากกว่า ๔๙๐ ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า ๙๐ ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า ๔๐ ชนิด และปลามากกว่า ๑๐๘ ชนิด แต่ความหลากชนิดมิใช่เป็นตัวชี้ความยั่งยืนของสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่าจะยั่งยืนอยู่ได้ต้องมีปริมาณประชากรที่มั่นคงด้วย


western forest 15

สัตว์ป่าขนาดใหญ่ หัวใจของผืนป่าตะวันตก

ป่าทางภาคเหนือนั้นกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ภูเขาบางแห่งกลายเป็นเขาหัวโล้นกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ผู้ที่ไปเที่ยวมีโอกาสพบสัตว์ป่าน้อยมาก หลายคนถึงกับกล่าวเป็นเชิงประชดว่า “ป่าภาคเหนือเหลือแต่หนู” แต่ผู้ที่ได้ไปสัมผัสผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และประทับใจกับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่มีให้พบเห็นได้ไม่น้อย ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการยกย่องให้เป็น “มรดกทางธรรมชาติของโลก” สัตว์ที่พบก็เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า นกกก นกยูง ฯลฯ สัตว์ป่าขนาดใหญ่เหล่านี้ยังมีประชากรในระดับที่ค่อนข้างมั่นคง ยกตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นช้างป่า ในผืนป่าตะวันตกมีประชากรมากกว่า ๕๐๐ ตัว เสือโคร่งเฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีมากกว่า ๑๐ ตัว นอกจากนี้ กระทิง วัวแดง กวางป่า ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่เป็นตัวชูโรงอีกชนิดหนึ่งคือควายป่า ซึ่งถือเป็นควายป่าฝูงสุดท้ายที่พบได้ในป่าห้วยขาแข้ง มีประชากรกว่า ๔๐ ตัว ส่วนนกขนาดใหญ่และหายาก เช่นนกเงือก พบถึง ๖ ชนิด คือ นกกก นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และนกเงือกคอแดง ประชากรนกเงือกแต่ละชนิด มีตั้งแต่มากกว่า ๕๐ ตัว เช่นนกเงือกคอแดง จนถึง มากกว่า ๑๐๐ ตัว เช่นนกกกและนกเงือกกรามช้าง นอกจากนี้ประชากรนกยูงจำนวนมากที่สุดของประเทศไทย ก็อยู่ที่ป่าห้วยขาแข้ง นักวิจัยประเมินไว้ว่ามีถึง ๔๐๐ ตัว

การที่ผืนป่าตะวันตกยังมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ให้พบเห็นจำนวนมาก มิใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด แต่เป็นการตรากตรำทำงานหนักของคนหลายคน ที่บางครั้งก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาป่าไว้ ผืนป่าตะวันตกจึงยังคงมีสภาพ “สัตว์ใหญ่ ไพรกว้าง” และมีกลุ่มหมู่บ้านที่อยู่ในผืนป่าตะวันตกเพียงไม่กี่กลุ่มบ้านเท่านั้น

western forest 08

ประเมินสถานภาพสัตว์ป่า มุ่งรักษาระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก

สืบ นาคะเสถียร เคยปรารภว่า “การที่จะรักษาป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ให้ยั่งยืนได้จริง ต้องคิดทั้งระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก” ในช่วงปี ๒๕๔๐ ทีมงานนักอนุรักษ์ทั้งที่เป็นข้าราชการกรมป่าไม้และองค์กรเอกชน ได้เริ่มผลักดันแนวความคิดการอนุรักษ์ผืนป่าโดยมองทั้งระบบนิเวศ หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “การจัดการเชิงระบบนิเวศ” ซึ่งมีคำจำกัดความว่า “การจัดการผืนป่าตะวันตกโดยมองทั้งระบบนิเวศ และพยายามรักษาสัตว์ป่าและพรรณพืช ให้อยู่ในภาวะที่มั่นคงในถิ่นอาศัยเดิม และขบวนการต่าง ๆ ในระบบสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป” โดยเห็นว่าข้อมูลพื้นฐานสำคัญ ที่ควรนำมาใช้ดูศักยภาพของระบบนิเวศของผืนป่าตะวันตกคือสัตว์ป่า ไม่ใช่เพียงเพราะว่าสัตว์ป่าเปรียบเสมือนหัวใจของผืนป่าตะวันตกอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่การกระจายของสัตว์ป่า ยังขึ้นอยู่กับชนิดและสภาพความสมบูรณ์ของสังคมพืชเป็นสำคัญ เช่นนกเงือกคอแดง ต้องการพื้นที่ป่าดิบสมบูรณ์บนภูเขาสูงในการอยู่อาศัยทำรัง นอกจากนี้สัตว์ป่าหลายชนิดยังใช้พื้นที่กว้าง เช่นช้างต้องอพยพตามฤดูกาล หมุนเวียนใช้พื้นที่หาอาหาร ระหว่างป่าดิบกับป่าเบญจพรรณ ขนาดพื้นที่หากินของช้างอาจกว้างหลายร้อยตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่มนุษย์ไปขีดเส้นแบ่งไว้ ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดังนั้นสัตว์ป่าจึงเป็นดัชนีชี้ความเชื่อมโยงของผืนป่าได้เป็นอย่างดี ประกอบกับสัตว์ป่ามีความอ่อนไหวจาก การรบกวนของมนุษย์ได้ชัดเจนกว่าปัจจัยชีวภาพอื่น ๆ สัตว์ป่าหลายชนิด เช่น กวางป่า กระทิง มักพยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนเข้าไปล่าสัตว์ หรือพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตร

การศึกษาสัตว์ป่าในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักเน้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื่องจากมีสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำตั้งอยู่ใจกลาง แต่ปรากฏว่าพื้นที่อื่น ๆ ในผืนป่าตะวันตกแทบจะไม่มีข้อมูลด้านสัตว์ป่าเลย ดังนั้นการประเมินสถานภาพสัตว์ป่า จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย เพื่อนำผลการศึกษามาวางแผนอนุรักษ์ให้ทันการณ์

การประเมินสถานภาพทางด้านนิเวศวิทยาอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า “รวดเร็ว” เพราะตามแผนงาน ได้กำหนดให้แล้วเสร็จทั้งงานเก็บภาคสนาม และวิเคราะห์ข้อมูลภายใน ๒ ปี ซึ่งกับป่ากว้างใหญ่ไพศาลกว่า ๑๑ ล้านไร่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาวางแผนขบคิดกันพอสมควร โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือบรรดาคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่าหลายท่าน สัตว์ป่าที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจทั้งหมดมี ๑๐ ชนิด คือ ช้าง เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง กวางป่า สมเสร็จ นกกก นกเงือกคอแดง นกยูง กบทูด เหตุผลที่เลือกสัตว์ป่าทั้ง ๑๐ ชนิดก็คือ ต้องเป็นสัตว์ป่าที่มีพื้นที่หากินกว้าง (wide-ranging species) เพราะต้องการทราบสถานภาพของสัตว์ป่า และถิ่นอาศัยครอบคลุมทั้งระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก เช่น ช้างอาจใช้พื้นที่กว่า ๓๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือเสือโคร่งตัวผู้หนึ่งตัว อาจใช้พื้นที่กว้างกว่า ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังต้องเป็นสัตว์ป่าที่เป็นดัชนีบ่งชี้สถานภาพของระบบนิเวศ (indicator species) เช่น พื้นที่ป่าใดยังเป็นที่อาศัยของนกกก หรือนกเงือกคอแดง แสดงว่าพื้นที่ป่านั้นมีความสมบูรณ์ มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เหมาะสมเป็นที่ทำรังของนกเงือกทั้งสองชนิด หรือการที่พื้นที่ป่าใดยังคงมีกระทิง วัวแดง หรือกวางป่า อยู่ในปริมาณมาก แสดงว่าพื้นที่นั้นยังน่าจะมีเสือโคร่งที่มีประชากรที่มั่นคง เนื่องจากมีเหยื่อที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง เหตุผลอีกประการที่สำคัญคือ ต้องเป็นสัตว์ป่าที่ประชาชนสนใจอยากรู้สถานภาพ เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าของผืนป่าตะวันตก

ในที่สุดได้คัดเลือกสัตว์ป่ามาทั้งสิ้น ๑๐ ชนิด และเหตุผลประกอบในแต่ละชนิดมีดังนี้

western forest 20

ช้างป่า : เป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่หากินกว้างมาก บางโขลงอาจหากินครอบคลุมพื้นที่กว่า ๓๐๐ ตารางกิโลเมตร เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ถึงแม้ว่าในประเทศไทยยังไม่ทราบขนาดพื้นที่หากิน (home range) ของช้างป่าที่ชัดเจน เพราะต้องใช้การติดวิทยุ แต่ก็มีผู้ศึกษานิเวศวิทยาช้างป่าในประเทศไว้บ้างแล้ว และเป็นสัตว์ที่ประชาชนอยากรู้สถานภาพเป็นอย่างยิ่ง

western forest 21

เสือโคร่ง : เป็นสัตว์ผู้ล่าที่กำลังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทย ทั้งจากการถูกล่า ปริมาณเหยื่อน้อย และถิ่นอาศัยถูกทำลาย การมีเสือโคร่งในพื้นที่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งในแง่ปริมาณเหยื่อ และระดับการลักลอบล่าเสือ หรือสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือในพื้นที่ ทั้งยังเป็นที่สนใจของชาวไทยและชาวโลก

western forest 15

กระทิง : เป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่นับวันจะหมดไปจากป่าไทย เนื่องจากถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและเขา ถึงแม้ว่าขนาดถิ่นหากินของกระทิงจะไม่กว้างนัก คือประมาณ ๔๐ ตารางกิโลเมตร แต่กระทิงเป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศ ในฐานะเป็นสัตว์กินพืชหลายชนิด รักษาโครงสร้างป่า และยังเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง

western forest 18

วัวแดง : ปัจจุบันวัวแดงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกคุกคามยิ่งกว่ากระทิง เพราะวัวแดงมีถิ่นหากินจำกัด เฉพาะป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณระดับต่ำ ซึ่งเป็นป่าชนิดหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรมากที่สุด วัวแดงถูกล่าได้ง่ายกว่ากระทิง เพราะอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง บทบาทในระบบนิเวศในฐานะเป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ได้รับยืนยันจากนักวิจัยที่ศึกษาชนิดอาหารที่เสือโคร่งกินในป่าห้วยขาแข้ง

western forest 14

กวางป่า : ถึงแม้ว่ากวางป่าโดยธรรมชาติ จะมีขนาดพื้นที่อาศัยไม่กว้างนัก (ไม่เกิน ๒ ตารางกิโลเมตร) แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยแพร่กระจายเมล็ดไม้ป่าหลายชนิด เพราะกวางป่าชอบกินลูกไม้จากที่หนึ่ง แล้วไปถ่าย หรือสำรอกไว้อีกที่หนึ่ง อีกทั้งยังเป็นเหยื่อสำคัญของทั้งเสือโคร่ง และหมาในด้วย กวางป่าเป็นสัตว์ที่นายพรานนิยมล่า จึงหมดไปจากป่าหลายแห่งในประเทศ

western forest 01

สมเสร็จ : ถึงแม้ว่าสมเสร็จจะเป็นสัตว์ป่าที่มีข้อมูลน้อย แต่ก็เป็นสัตว์ป่าสงวนที่คนทั่วไปสนใจอยากรู้สถานภาพ อาจเป็นเพราะรูปร่างหน้าตาที่ชวนให้พิศวง ถือเป็นความมหัศจรรย์ของโครงสร้างที่มีผลจากการวิวัฒนาการ

western forest 19

นกกก : นกกกเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง จากการศึกษายาวนานของโครงการศึกษาวิจัยนกเงือก ปรากฏว่านกกกทำหน้าที่ช่วยแพร่กระจายพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ นกกกยังต้องการต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นที่ทำรัง ดังนั้นป่าไหนยังมีนกกก แสดงว่าป่านั้นยังมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์
western forest 16

นกเงือกคอแดง : นกเงือกคอแดงเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ที่มีถิ่นอาศัยจำกัดเฉพาะป่าดิบที่สูง มักสูงกว่า ๘๐๐ เมตรขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันป่าดิบที่สูงกำลังหมดไป เพราะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ ดังนั้นการมีนกเงือกคอแดงในพื้นที่ จึงเป็นดัชนีชี้สภาพความสมบูรณ์ของป่าดิบที่สูงในพื้นที่นั้นเป็นอย่างดี

นกยูง : นกยูงมักใช้พื้นที่หาดทรายริมลำน้ำเป็นที่เกี้ยวพาราสี นกยูงสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย เพราะการถูกล่าเพื่อเอาขนไปขาย และถิ่นอาศัยริมลำน้ำถูกมนุษย์ยึดครองเปลี่ยนสภาพ แม้ปัจจุบันจะพบนกยูงมากขึ้น ในป่าทางจังหวัดแพร่และน่าน แต่สถานภาพของนกยูงก็ยังดึงดูดความสนใจจากคนได้เป็นอย่างดี

western forest 23

กบทูด : กบทูดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ตามลำห้วยป่าดิบเฉพาะแห่ง แม้ปัจจุบันจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ประชากรก็หดหายไปจากลำห้วยหลายแห่งในประเทศไทย เนื่องจากถูกล่าและถิ่นอาศัยของป่าริมลำห้วยถูกเปลี่ยนสภาพ กบทูดจึงเป็นดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศริมลำน้ำได้เป็นอย่างดี

เมื่อได้สัตว์ป่าเป้าหมายทั้ง ๑๐ ชนิดแล้ว สถานภาพทางนิเวศวิทยาด้านสัตว์ป่าที่ต้องการทราบคือ สัตว์ป่าแต่ละชนิดใช้ถิ่นอาศัยในผืนป่าตะวันตกมากน้อยแค่ไหน โดยต้องรู้ว่าทั้งผืนใหญ่แห่งนี้ บริเวณใดยังมีโอกาสพบสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด โดยต้องแสดงผลเป็น “แผนที่โอกาสการใช้พื้นที่ของสัตว์ป่าเป้าหมาย” ข้อมูลดิบ หรือข้อมูลจากภาคสนาม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด งานภาคสนามเป็นงานที่เป็นหัวใจของคนทำงานวิจัยด้านสัตว์ป่า ไม่ว่าจะมีเครื่องมือ คอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลทันสมัยมากเพียงไร แต่หากขาดข้อมูลภาคสนามที่ถูกต้องแม่นยำ ก็ยากที่จะทำให้ผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือได้ นักชีววิทยาที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี มักจะท่องจำประโยคหนึ่งได้ขึ้นใจว่า Garbage in = Garbage out ! หรือ ใส่ข้อมูลขยะเข้าไป ก็จะได้ผลงานที่เป็นขยะตามมา ขยะในที่นี้คือผลงานที่ไม่มีคุณภาพนั่นเอง ดังนั้นคนที่เก็บข้อมูลในภาคสนาม จึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในขบวนการการทำประเมินสถานภาพสัตว์ป่าในครั้งนี้ เราต้องการข้อมูลที่เก็บบันทึกจากการได้เห็นสัตว์ป่า หรือร่องรอยในพื้นที่จริง และให้ใช้เครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียม (Global Positioning System หรือ GPS) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเก็บข้อมูล หากเดินไปพบสัตว์ป่าเป้าหมายหรือร่องรอย ให้บันทึกลงเครื่องทันที พร้อมทั้งบันทึกเส้นทางสำรวจไปด้วยในตัว เพื่อสามารถตรวจสอบว่าเดินครอบคลุมพื้นที่เพียงใด การใช้อุปกรณ์ไฮเทคช่วยเก็บข้อมูลเช่นนี้ ลดปัญหาเรื่องการเดาสุ่มเรื่องตำแหน่งต่าง ๆ ในแผนที่ได้เป็นอย่างดี แต่วิธีการนี้ถือเป็นงานที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม ดังนั้นการจัดฝึกทีมสำรวจ จึงเป็นงานที่ต้องทำก่อนออกเก็บข้อมูลจริง

western forest 11

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายุคดิจิทอล

การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนามนั้น จะต้องปูพื้นกันตั้งแต่วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการทำงาน โดยเฉพาะวิธีการใช้อุปกรณ์การสำรวจ เจ้าหน้าที่ในที่นี้หมายถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริง คือเจ้าหน้าที่ตามหน่วยพิทักษ์ป่า และหน่วยพิทักษ์อุทยาน ที่มีอยู่กว่า ๑๔๐ หน่วย ทั่วผืนป่าตะวันตก แม้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาน้อย มีเพียงประสบการณ์แบกปืนลาดตระเวนป่า แต่ทีมงานโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชื่อว่า หากพวกเขาได้สัมผัสงานวิชาการบ้าง และได้ใกล้ชิดกับนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนามที่มีคุณภาพได้ เพราะส่วนใหญ่มีความชำนาญป่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจหลัก คือเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือ GPS หากเจ้าหน้าที่ในป่ารู้จักใช้ จะสามารถบันทึกค่าพิกัดจุดที่พบสัตว์ป่าและร่องรอย รวมถึงรอยพราน และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งได้มีการฝึกฝนการใช้เบื้องต้นมาแล้ว เครื่อง GPS กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเก็บข้อมูลด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่ามากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม หลังจากฝึกและให้ทดลองเก็บข้อมูลได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่ายังไม่ได้ข้อมูลที่มีปริมาณ และคุณภาพอย่างที่ตั้งใจไว้ ในที่สุดจึงต้องใช้ผู้ที่จบด้านชีววิทยาสัตว์ป่าโดยตรงมาเป็นผู้นำทีมสำรวจ

western forest 10western forest 09

ท่องป่าใหญ่ ประเมินสัตว์ป่าไทย ด้วยใจฮึกเหิม

จุดตื่นเต้นที่สุดของงานสำรวจสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก คือช่วงเก็บข้อมูลร่วมกับทีมสำรวจที่มีนักชีววิทยาสัตว์ป่าหนุ่มสาวที่กำลังวังชาดี จิตใจฮึกเหิม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมสำรวจย่อย ซึ่งเริ่มต้นประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ถึง มกราคม ๒๕๔๕ รวมเวลา ๑ ปี ๒ เดือน ทีมสำรวจถูกแบ่งออกเป็นสี่ทีม ให้รับผิดชอบสำรวจป่าตะวันตกตามการเข้าถึงของพื้นที่เป็นสี่โซน แต่ละทีมถูกกำหนดให้ออกสำรวจตามเส้นทางเดินในป่า โดยให้พยายามเน้นเส้นที่ผ่านป่าลึก ใช้เวลาเดินหลายวัน และเน้นเส้นทางที่ตัดข้ามเส้นแบ่งเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งมักจะเป็นสันเขาสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่ตกสำรวจ แต่ละทีมถูกกำหนดให้ต้องใช้เวลาในป่าเดือนละไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เสร็จแล้วในแต่ละเดือนให้นำข้อมูลเข้ามาที่ห้องปฏิบัติการ ที่สำนักงานโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกในกรมป่าไม้ เพื่อบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูล (database) ส่วนการคัดเลือกเส้นทางสำรวจ เกิดจากการร่วมวางแผนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ข้อมูลดิบที่ได้จากภาคสนามส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลตำแหน่งพิกัดสัตว์ป่า ชนิดสัตว์ป่า รอยตีนสัตว์ป่า และกองมูล โดยมีขั้นตอนในการบันทึกข้อมูลคร่าว ๆ คือ เมื่อพบตัวสัตว์ป่า หรือรอยตีนสัตว์ หรือกองมูล ก็จะบันทึกพิกัดจุดที่พบ ลงในเครื่องหาพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม (GPS) จำแนกชนิดสัตว์ป่า นับจำนวนรอยตีน วัดขนาดรอยตีนและกองมูล ขนาดของรอยตีน และกองมูล สามารถนำมาใช้ดูว่าสัตว์ป่าที่พบเป็นตัวเต็มวัยหรือลูกอ่อน ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการจำแนกพอสมควร โอกาสที่พบสัตว์ป่าโดยเห็นตัวจริง ๆ มีน้อย แต่หากพบก็จะบันทึกค่าพิกัดจุดที่พบลงเครื่อง GPS และนับจำนวนตัว หากพอบอกได้ก็จะจำแนกเพศด้วย เพื่อบันทึกลงในแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลที่นำติดตัวไปด้วย

western forest 06

ป่าดิบเขาสูง แหล่งสัตว์ป่าหายาก

ป่าชนิดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการสำรวจคือ ป่าดิบตามยอดเขาสูง ที่มักจะตกสำรวจ เพราะเข้าถึงยาก เป้าหมายการสำรวจที่มองไว้ตั้งแต่แรก คือยอดเขาสูงสุดในผืนป่าตะวันตก ชื่อเขาเขียว หรือกะเจอลาในภาษากะเหรี่ยง ซึ่งแปลว่าเขาเขียวเหมือนกัน ยอดเขานี้สูง ๒,๑๕๒ เมตร เป็นเพียงยอดหนึ่งในหลาย ๆ ยอดของเทือกเขาสูงทะมึน แบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดตากกับจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่กลอง แรงจูงใจที่ทำให้บากบั่นสำรวจในพื้นที่ป่าดิบเขาสูงเหล่านี้อีกประการหนึ่งคือ ป่าดิบยอดเขาสูง มักจะเป็นแหล่งอาศัยของชนิดพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) ที่ไม่พบในที่อื่น ๆ ทีมสำรวจขึ้นไปสำรวจยอดเขากะเจอลาในเดือนเมษายน ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง ไม่ต้องกังวลเรื่องพายุฝน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีฝนตกลงมาให้พอเปียกแฉะกันบ้างเป็นพัก ๆ

การเดินต้องพึ่งวิชาการเดินป่าอย่างเต็มที่ เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่ร่วมทางไปด้วย ก็ยังไม่เคยขึ้นถึงยอดเขานี้เลย จึงต้องอาศัยแผนที่ระวางมาตราส่วน ๑ : ๕๐๐๐๐, เข็มทิศ, เครื่องหาพิกัด GPS และมีดพร้าใช้เบิกทางขึ้นเขาลงเขาไปเรื่อย ๆ นับได้ว่าต้องใช้วิทยายุทธในการเดินป่าอย่างจริงจัง โชคดีที่ทีมสำรวจของเรามีสมาชิกที่ชำนาญป่า เกิดและเติบโตมากับป่า คนเหล่านี้ถึงแม้จะไปในพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่เมื่อได้ใช้ความชำนาญ ประกอบกับเครื่องมือนำทาง ก็สามารถพาไปหาเป้าหมายได้ แม้ว่าจะต้องตัดขึ้นเขา ลงห้วย เดินลัดเลาะหาทิศทางเดินหลายครั้งก็ตาม พวกเราต้องใช้เวลาถึง ๔ วันกว่าจะถึงยอดเขา

ข้อมูลสัตว์ป่าบนเขากะเจอลาสร้างความประหลาดใจให้เราไม่น้อย ตลอดทางเดินขึ้นยอดเขาพบร่องรอยสมเสร็จบ่อยครั้งมาก นั่นคือกองมูลที่มีลักษณะคล้ายขี้ม้า แต่ก้อนเล็กกว่า พฤติกรรมประหลาดของสมเสร็จในป่าแห่งนี้ ที่เราสังเกตได้อย่างหนึ่งคือ ชอบขี้ตามโคนต้นไม้ใหญ่ และมักขี้ซ้ำกองเดิมด้วย ความหนาแน่นของขี้สมเสร็จ ทำให้เราประเมินว่าต้องมีสมเสร็จใช้พื้นที่ป่าแห่งนี้หลายตัวแน่นอน สภาพเช่นนี้ทำให้พวกเราทั้งรู้สึกชื่นใจ และกังวลใจปนกันไป รู้สึกชื่นใจที่รู้ว่าป่าแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ป่าสงวนหายากเช่นสมเสร็จ แต่ในขณะเดียวกันการพบร่องรอยปางพักพราน ที่เข้าลักลอบล่าสัตว์เป็นระยะ ๆ และเสียงปืนที่บางครั้งดังไม่ห่างจากแคมป์พักของพวกเรามากนัก ทำให้รู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย และเมื่อมองจากสันเขาทะลุเมฆลงด้านล่าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้งบ้านแม่กลองใหญ่ เห็นพื้นที่ที่ป่ากำลังถูกเปลี่ยนสภาพเป็นไร่ขิง ยิ่งทำให้พวกเราตระหนักว่า สัตว์ป่าบนยอดเขาสูงเหล่านี้ กำลังตกอยู่ในสภาพติดเกาะมากขึ้นทุกที สัตว์ป่าต้องถอยร่นขึ้นเขา เนื่องจากพื้นที่ป่าต่ำด้านล่างถูกถาง และครอบครองโดยมนุษย์

นอกจากสมเสร็จแล้วยังมีร่องรอยหมีควายปีนต้นก่อ เพื่อหากินลูกก่อที่มีอยู่หลากหลายชนิดในป่านี้ และพบรอยกระทิงประปราย ผลพลอยได้ที่สำคัญในการสำรวจพื้นที่ป่าดิบเขาสูงนี้คือ การพบนกที่เพิ่งพบครั้งแรกในประเทศไทย (new record) ๑ ชนิด คือ นกจู๋เต้นหางยาว (long-tailed wren-babbler) ซึ่งจำแนกโดย Phillip Round นักปักษีวิทยาที่ร่วมไปกับคณะสำรวจด้วย นอกจากนี้ยังพบฝูงนกมุ่นรกหัวสีน้ำตาล (rusty-capped fulvetta) ที่เพิ่งมีรายงานพบใหม่ในไทยเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน โดยนกชนิดหลังนี้ พบครั้งแรกบนยอดดอยโมกูจู อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในผืนป่าตะวันตกแห่งนี้เช่นกัน

ป่าดิบยอดเขาอีกแห่งหนึ่งในผืนป่าตะวันตก ที่ทีมงานเน้นการศึกษาเป็นพิเศษ คือ ป่าเขาใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งสูงประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ยอดเขาแห่งนี้ล้อมรอบไปด้วยป่าดิบผืนใหญ่ที่สุดในผืนป่าตะวันตก เส้นทางที่ใช้ขึ้นยอดเขาจากด้านตะวันออก ต้องผ่านตัวทุ่งใหญ่ซึ่งเป็นป่าทุ่งปนป่าเต็งรังที่มีต้นปรง และเป้งขนาดใหญ่แตกยอดรูปร่างพิลึกกึกกือ เหมือนเดินอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ยุคจูแรสสิก ร่องรอยกระทิงเก่า ๆ ที่เหยียบย่ำหากินหญ้าระบัดหลังฝนที่ผ่านมาพบเกลื่อนทุ่ง สภาพป่าเชิงเขาในระดับความสูง ๘๐๐-๙๐๐ เมตร เป็นป่าที่มีไม้ตระกูลยางขนาดใหญ่ขึ้นเป็นดง เช่น กระบาก พันจำ มีกระบากต้นหนึ่งวัดเส้นรอบวงได้ถึง ๕ เมตร เจ้าพ่อที่ถือเป็นเจ้าถิ่นของป่าเขาใหญ่นี้คือกระทิง เราต้องอาศัยเดินตามทางด่านกระทิงขึ้นสู่ยอดเขาเกือบตลอด ซึ่งทำให้เหนื่อยพอสมควร เพราะพื้นดินที่กระทิงย่ำไว้จะเป็นร่องขรุขระ ทำให้เท้าเราต้องบิดไปบิดมาตามรอยตีนกระทิง เมื่อต้องปีนขึ้นเขา สัมภาระหนักอึ้งที่แบกอยู่บนหลัง ก็ทำเอาเหนื่อยไม่น้อย ที่น่าแปลกใจคือ แทบไม่พบช้างป่าในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเลย หลายคนสันนิษฐานว่า อาจเป็นผลมาจากอดีตที่มีการทำไม้ การทำเหมืองแร่ ผนวกกับการลักลอบล่าสัตว์ ที่ช้างอาจจะเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับพรานมาตั้งแต่อดีต ทำให้ฝูงช้างในปัจจุบันอาศัยอยู่เฉพาะด้านทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งต้องข้ามสันเขากระเพรียวแดง ที่แบ่งระหว่างจังหวัดตากกับกาญจนบุรี

western forest 17

สัตว์ป่าฟื้นคืนไพร ในทุ่งใหญ่ฯ ตะวันออก

จากเทือกเขาสูงในอำเภออุ้มผาง ไล่ลงใต้มาตามเทือกเขาปลายห้วยขาแข้ง ช่วงแบ่งเขตแดนระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก สภาพภูมิประเทศด้านตะวันตกของเทือกเขาในเขตทุ่งใหญ่ฯ ตะวันออก เป็นพื้นที่ค่อนข้างราบที่มีระดับความสูงถึงประมาณ ๙๐๐ เมตร สภาพป่าเป็นป่าดิบผืนใหญ่ แต่เดิมพื้นที่บางแห่งเคยถูกชาวม้งแผ้วถางจับจอง แต่ชาวม้งเหล่านั้นถูกอพยพออกไปเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ที่ที่เคยเป็นหมู่บ้านและที่ทำกินจึงกลายเป็นป่าหญ้าเวิ้งว้าง ที่ยังเรียกขานกันเป็นชื่อหมู่บ้านเดิม เช่น กะแง่คี หุตะคี ทุ่งนาน้อย ห้วยน้ำเขียว ภูมิประเทศบริเวณพื้นที่โล่งเหล่านั้นมีสภาพเป็นไร่ร้าง ปกคลุมด้วยหญ้าพง หญ้าแขม สูงท่วมหัว และแซมด้วยไม้ป่าที่กำลังฟื้นสภาพ สลับกับป่าดิบดั้งเดิมที่ยังมีสภาพแน่นทึบ สภาพพื้นที่ป่าสลับทุ่งหญ้าเช่นนี้ ถือเป็นสวรรค์ของสัตว์ป่าขนาดใหญ่โดยเฉพาะสัตว์กีบ เช่น กระทิงและกวางป่า เพราะสัตว์ป่าเหล่านี้ ต้องการป่าดิบเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร และที่หลบภัย และใช้พื้นที่ป่าไร่ร้างเป็นแหล่งหญ้า ยิ่งเมื่อพื้นที่ป่าไร่ร้างถูกไฟไหม้ เกิดหญ้าระบัด ยิ่งกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของสัตว์ป่า ผลจากการสำรวจก็พบร่องรอยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ในปริมาณค่อนข้างหนาแน่น เช่น ช้างป่า กระทิง กวางป่า สมเสร็จ ส่วนเสือโคร่งซึ่งอาศัยเหยื่อที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ลักษณะนี้ ก็พบร่องรอยทั้งกองมูล และรอยตีนอยู่บ่อย ๆ สำหรับนักจัดการและอนุรักษ์สัตว์ป่า การได้พบเห็นสัตว์ป่าหายากเช่นสมเสร็จ กลับมาใช้พื้นที่ป่าที่เริ่มฟื้นคืนสภาพ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจไม่น้อย

เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเอ่ยถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่ง คือคุณสมโภชน์ มณีรัตน์ นักวิชาการที่คลุกคลีกับงานอนุรักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เขาอุทิศเวลาให้แก่งานอนุรักษ์สัตว์ป่ามากว่า ๑๕ ปี ได้เห็นสภาพป่าและสัตว์ป่า ตั้งแต่ก่อนอพยพชาวม้งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาคุณสมโภชน์ได้จัดตั้งทีมงานวิจัย ร่วมกับนักวิจัยสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจการเปลี่ยนแปลงสภาพสัตว์ป่าและป่าไม้ ในพื้นที่ที่อพยพชาวม้งออกหลายแห่ง ผลงานวิจัยของคุณสมโภชน์และคณะ ยืนยันการกลับมาของสัตว์ป่าหายากหลายชนิดในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

ร่องรอยสัตว์ป่าขนาดใหญ่เริ่มลดน้อยลง เมื่อผ่านพื้นที่ป่าดิบที่ราบสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันออก เข้าสู่ลุ่มน้ำแม่จันซึ่งเป็นสายน้ำที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสายหลัก คือแม่น้ำแม่กลอง อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวกะเหรี่ยงหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านแม่จันทะ บ้านทิปาเก บ้านตะละโค่ง บ้านช่องแป๊ะ แต่ละหมู่บ้านมีขนาดไม่ใหญ่นัก เฉลี่ยประมาณ ๓๐ หลังคาเรือนต่อหนึ่งหมู่บ้าน ยังไม่มีถนนเข้าถึง ชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบกะเหรี่ยงดั้งเดิม บางบ้านนับถือฤาษี บางบ้านก็นับถือพุทธ มีวัดและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กะเหรี่ยงที่นี่ปลูกข้าวไร่เป็นหลัก เมื่อเข้าเขตพื้นที่ทำกินของกะเหรี่ยง ซึ่งกระจัดกระจายในรัศมีประมาณ ๓-๕ กิโลเมตรจากที่ตั้งหมู่บ้าน สภาพป่าจะเป็นนาข้าวสลับกับป่าไร่ซากที่มีไผ่ไร่ขึ้นหนาแน่น พวกเราแทบไม่พบร่องรอยสัตว์ป่าขนาดใหญ่เลย มีแต่รอยควายกะเหรี่ยงเกลื่อนไปหมด ปริมาณควายที่เลี้ยงแบบปล่อยป่านี้ พบมากเช่นกันในกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงจะแก ฝั่งทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก การเลี้ยงวัวควายแบบปล่อยป่าดูเผิน ๆ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งต้องเข้มงวดในเรื่องนี้ด้วย คำตอบมีอยู่ว่า นักอนุรักษ์เป็นห่วงเป็นใยว่า จะเกิดการระบาดของโรคจากวัวควายเลี้ยงสู่วัวป่า ทั้งวัวแดง และกระทิง เช่นโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย อาจจะทำให้ประชากรกระทิง วัวแดง ที่ใกล้ชิดกับวัวควายบ้านล้มตาย หรือสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ได้อย่างฉับพลัน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงปัญหาเรื่องการเข้ามาแก่งแย่งอาหารกับสัตว์ป่า หรือการที่คนเลี้ยงวัวควายมักจะล่าสัตว์ป่าไปด้วย ซึ่งเป็นปัญหาหนักในบางพื้นที่

จากบ้านช่องแป๊ะจะเห็นยอดดอยก่องก๊อง ซึ่งเป็นเขาหินปูนรูปร่างเป็นโหนกสูงเด่น บนเทือกเขากระเพรียวแดง ที่กั้นระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก กับทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางเดินที่ชาวบ้าน และพระธุดงค์ใช้เดินข้ามไปมา ระหว่างกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงหุบแม่จันนี้ กับกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงจะแกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ตลอดเส้นทางมีแต่รอยควายบ้านข้ามไปมาเท่านั้น ไม่เห็นรอยสัตว์ป่าที่เราสำรวจอยู่เลย

แดนกะเหรี่ยง สัตว์ใหญ่เบาบาง

บริเวณป่าที่ราบและค่อนข้างราบในป่าลึกด้านเหนือ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก ใกล้ชายแดนไทยพม่า เป็นบริเวณที่ตั้งกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงหลายบ้าน ไล่ตั้งแต่ป่าลึกติดชายแดนไปทางตะวันตก จนถึงแม่รันตี มีหมู่บ้านเรียงรายตั้งแต่บ้านจะแก ลังกา ทิไล่ป้า ซาละวะ ไล่โว่ เกาะสะเดิ่ง กองม่องทะ สะเนพ่อง หมู่บ้านเหล่านี้หลายแห่งมีขนาดใหญ่ประมาณ ๘๐-๑๓๐ หลังคาเรือน อยู่อาศัยบริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคน พื้นที่ริมห้วยส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว หรือตั้งบ้านเรือน เราเดินสำรวจบริเวณนี้ในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งฝนกำลังชุก เริ่มเดินจากบ้านกองม่องทะ นอนพักแรมที่หน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง แล้วเดินต่อผ่านบ้านไล่โว่ มาออกซาละวะ แทบจะไม่เจอร่องรอยสัตว์ใหญ่เลย ที่บ้านซาละวะได้รู้จักกับ ผู้ใหญ่ยุเผ่ อดีตผู้ใหญ่บ้านคนดังในย่านนี้ แกนำคณะนักดนตรีกะเหรี่ยงมาร้องเพลงขับกล่อมพวกเรา และพูดคุยถามไถ่เรื่องต่าง ๆ ที่น่าแปลกใจคือกลุ่มนักร้องเด็ก ๆ ตัวกระจิ๋วหลิวหลายสิบคน ร้องเพลงประสานเสียงเหมือนเพลงในโบสถ์ชาวคริสต์ ผมมาถึงบางอ้อทีหลังว่า กะเหรี่ยงหลายบ้านบริเวณนี้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ เพราะมีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาา พวกกะเหรี่ยงที่เปลี่ยนศาสนาถูกสอนให้เลิกทักทายด้วยการไหว้ ก็แปลกดี สิ่งที่ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาก็คือ คนกับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงคือความแน่นอน และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กับกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงเหล่านี้ ย่อมสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อธรรมชาติในผืนป่าแห่งนี้อย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ในฐานะคนทำงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ที่ต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติในวันนี้ เพื่ออนาคตอันยาวไกลที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้ใช้ กับการพบรอยกวางป่าเพียงหนึ่งตัว ตลอดเส้นทางเดินจากบ้านซาละวะออกสู่หน่วยพิทักษ์ป่าตะเคียนทอง ทำให้ยิ่งรู้สึกว่า การวางแผนจัดการพื้นที่ในเชิงระบบนิเวศ ที่คิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ป่า และป่าไม้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในระยะยาวต่อผืนป่าแห่งนี้
western forest 22

ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งสัตว์ป่าที่มั่นคง

จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ข้ามเทือกเขาปลายห้วยขาแข้ง ก็จะเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บนสันเขาซึ่งแบ่งเขตพื้นที่ป่าทั้งสองแห่งนี้ เราพบรอยกระทิงหนาแน่นมาก สันเขานี้แคบมากแทบจะเดินได้เพียงคนเดียวเท่านั้น บางครั้งระหว่างเดินกันเพลิน ก็มาจ๊ะเอ๋กับกระทิงที่กำลังนั่งพักเคี้ยวเอื้องอยู่บนสันเขาในระยะกระชั้นชิด กระทิงก็ลุกขึ้นยืนหันมาจ้องเรา เราก็มองหน้ากระทิง ต่างคนต่างจ้องกันอยู่พักใหญ่ ก่อนที่กระทิงจะเดินหลบลงหุบเขาไป นอกจากกระทิง ช้างก็พบกระจายอยู่ตามเทือกเขาแบ่งแดนนี้เช่นกัน สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เริ่มทวีมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่องรอยช้าง และกระทิงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จนแทบจะกล่าวได้ว่า เดินไปทางไหนก็ต้องพบรอยตีนช้างและกระทิง ส่วนกวางป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือว่าเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะบริเวณป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ช่วงระหว่างที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าริมห้วยทับเสลา จนถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ โดยเฉพาะช่วงไหนที่เป็นทุ่งโล่งมีหญ้าระบัด จะพบกวางป่าออกมาหากินเป็นฝูง ฝูงกวางป่าในห้วยขาแข้งมีขนาดไม่ใหญ่นัก ฝูงละไม่เกิน ๕ ตัว

ส่วนวัวแดงพบการกระจายหนาแน่นบริเวณป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังด้านตะวันออกของลำห้วยขาแข้ง จากผลการประเมินสถานภาพ แทบจะกล่าวได้ว่าประชากรหลักของวัวแดงในผืนป่าตะวันตก เหลืออยู่เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น ข้อมูลศึกษาการเปลี่ยนแปลงประชากรของสัตว์กีบระยะยาว ที่ดำเนินการโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเขตฯ ห้วยขาแข้ง ที่นำทีมโดย ดร. รองลาภ สุขมาสรวง แสดงให้เห็นว่าประชากรของวัวแดงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีประชากรวัวแดงบางส่วน เริ่มกระจายออกไปหากินชายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแล้ว ซึ่งพื้นที่ชายเขตห้วยขาแข้งมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่เกิดไฟในหน้าแล้ง ที่ไหม้ลามจากการที่ราษฏรจุดเผาวัชพืชในไร่ ที่อยู่ติดชายเขต เจ้าหน้าที่ไฟป่า จะช่วยกันระดมดับไฟ ไม่ให้ลามลึกเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ จะเกิดหญ้าระบัดซึ่งดึงดูดสัตว์กีบเช่นวัวแดง และกวางป่า ให้ออกมาหากินตามชายขอบป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะพื้นที่ด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีเนื้อที่ที่เป็นป่าเหลืออยู่น้อยมาก และมีหมู่บ้านเรียงรายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น โอกาสที่สัตว์ป่าเหล่านั้น จะถูกล่าจากพรานท้องถิ่นก็มีมากยิ่งขึ้น

ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ที่เหลืออยู่ในป่าเพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย ทีมสำรวจพบร่องรอยร่องรอยของเสือโคร่งบ่อยในบริเวณที่มีเหยื่อ คือ วัวแดง กวางป่า กระทิง ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เมื่อกล่าวถึงเสือโคร่ง คำถามที่มักได้รับคือ ในบ้านเราเหลือเสือโคร่งอยู่กี่ตัว งานประเมินสถานภาพสัตว์ป่า ของโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกบอกได้เพียงความหนาแน่นของการใช้พื้นที่จากร่องรอย แต่ไม่สามารถบอกจำนวนประชากรเสือโคร่งได้

เมื่อพูดถึงงานวิจัยเจาะลึกเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย คงต้องกล่าวถึงผลงานของนักวิจัยสัตว์ป่าสามีภรรยาคู่หนึ่งคือ คุณศักดิ์สิทธิ๋และคุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ คุณศักดิ์สิทธิ์ใช้เทคนิคกล้องดักถ่ายภาพ ซึ่งใช้ลำแสงอินฟราเรดเป็นตัวกระตุ้นให้กล้องทำงาน กล้องดักถ่ายภาพนี้มักจะไปผูกติดไว้กับต้นไม้ในบริเวณที่เสือโคร่งเดินผ่านเป็นประจำ หรือตรงซากสัตว์ที่คาดว่าที่เสือโคร่งจะเข้ามากิน เมื่อเสือโคร่งเดินตัดผ่านลำแสงอินฟราเรด กล้องจะทำงานทันที จากนั้นคุณศักดิ์สิทธิ์จะนำภาพที่ได้มาจำแนกเสือโคร่งเป็นรายตัว จากลายพาดกลอนของเสือโคร่งแต่ละตัว ซึ่งมีรูปลายเฉพาะแตกต่างจากตัวอื่น ๆ ในพื้นที่ศึกษาประมาณ ๑๐๐ ตารางกิโลเมตรในป่าห้วยขาแข้ง คุณศักดิ์สิทธิ์พบว่า มีเสือโคร่งอยู่ถึงประมาณ ๑๓ ตัว ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นค่อนข้างสูงมาก พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งยังมีเสือโคร่งอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เพราะมีปริมาณเหยื่อมากนั่นเอง

คุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ ภรรยาของคุณศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ศึกษาเรื่องเหยื่อของเสือโคร่ง โดยเน้นศึกษาจากมูลของเสือโคร่ง คุณอัจฉราเก็บมูลของเสือโคร่งมาจำแนกส่วนที่เป็นขน กระดูก เศษชิ้นส่วนอื่น ๆ แล้วใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูโครงสร้างของขน หรือกระดูกว่าเป็นของสัตว์ชนิดใด คุณอัจฉราได้ข้อสรุปว่าเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งกินวัวแดงเป็นหลัก กินกวางป่าเป็นรอง แต่ก่อนคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเสือโคร่งน่าจะล่ากวางเป็นอาหารหลัก ดังที่เห็นในภาพยนตร์สารคดีเสือโคร่งในอินเดีย ผลงานของ ดร. รองลาภ สุขมาสรวง คุณศักดิ์สิทธิ์และคุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศสัตว์ป่าได้แจ่มชัดขึ้น โดยเฉพาะทำให้เกิดความชัดเจนว่า หากเราต้องการอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่าใด ๆ ต้องเน้นที่การอนุรักษ์ประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมเรื่องงานป้องกันไม่ให้เสือโคร่งถูกพรานล่าด้วย

นอกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่แล้ว ห้วยขาแข้งยังเป็นแหล่งของนกขนาดใหญ่ เช่นนกเงือกหลากหลายชนิด บริเวณป่าดิบเขาเขียว เขาใหญ่ ด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นแหล่งรวมฝูงของนกกก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกคอแดง ที่สำคัญมากที่สุดในผืนป่าตะวันตก ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เป็นช่วงที่เหมาะในการสำรวจนกเงือก เพราะเป็นช่วงที่ลูกนกเงือกเพิ่งออกจากรัง หลังจากใช้เวลาในโพรงไม้ตั้งแต่เป็นไข่ จนเติบโตมีขนาดเท่าพ่อแม่เป็นระยะเวลากว่า ๓ เดือน และนกจะมารวมกันเป็นฝูงใหญ่ พวกเราพยายามนับนกในช่วงนี้ ในป่ายอดเขาเขียวเขาใหญ่ตามบริเวณที่นกเกาะนอน พบว่านกเงือกกรามช้างบางฝูงมีมากกว่า ๑๐๐ ตัว นกกกประมาณกว่า ๖๐ ตัว เสียงกระพือปีกของนกเงือกเหล่านี้ที่บินไปมาอยู่เหนือหัว ทำให้พวกเรารู้สึกใจเต้นตึก ๆ นับวันภาพเช่นนี้จะหาดูได้ยากเต็มที ในระบบนิเวศป่าไม้ในประเทศไทย สิ่งพิเศษสุดที่พวกเราได้ประสบคือ ในเย็นวันหนึ่งของการสำรวจ ขณะที่ทีมงานกำลังตั้งแคมป์พักแรมใกล้ยอดเขาใหญ่ มีนกเงือกคอแดงฝูงใหญ่ประมาณ ๕๐ ตัวบินมาเกาะต้นไม้เหนือแคมป์ พวกเรานำสิ่งที่พบเห็นไปสอบถามทีมงานโครงการศึกษาวิจัยนกเงือก และอาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ ที่ศึกษานกเงือกในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๐ ปี และมีแคมป์ศึกษาวิจัยนกเงือกอยู่ในป่าเขาเขียว-เขาใหญ่แห่งนี้ด้วย ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่เคยพบนกเงือกคอแดงรวมฝูงใหญ่มากเช่นนี้มาก่อน จากบทบาทของนกเงือกในระบบนิเวศ ที่ช่วยแพร่กระจายลูกไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ยางโอน หมากนกมูม ซึ่งนกหรือสัตว์ขนาดเล็กไม่สามารถกินได้นั้น ทำให้เราปะติดปะต่อภาพได้ว่า ป่าห้วยขาแข้งเอื้อประโยชน์ให้แก่นกเงือก ในเชิงเป็นแหล่งอาหารและสร้างรัง ในขณะเดียวกันป่าก็ได้รับผลตอบแทนจากนกเงือก ในการช่วยผดุงรักษาพันธุ์พืชบางชนิด ให้มีการกระจายแพร่พันธุ์ และรักษาโครงสร้างป่าให้สมบูรณ์อยู่ได้อย่างต่อเนื่อง

นกขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่เหลืออยู่ในป่าไม่กี่แห่งในประเทศไทย คือนกยูง ป่าห้วยขาแข้งก็เป็นพื้นที่ที่ยังคงรักษาประชากรหลักของนกยูง ที่มีผู้ประเมินไว้ว่าอาจมีไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ตัว ช่วงเวลาที่พบนกยูงได้ง่ายที่สุด คือช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม นกยูงจะออกมาเกี้ยวพาราศี จับคู่กันบริเวณหาดทรายริมห้วยขาแข้ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะพบประชากรนกยูงเพิ่มเติมในป่าทางภาคเหนือ บริเวณอุทยานแห่งชาติในจังหวัดพะเยา แพร่ และน่าน แต่ประชากรนกยูงในป่าห้วยขาแข้ง ก็เป็นประชากรหลักที่จะแพร่กระจายพันธุ์นกยูงสู่พื้นที่อื่น ๆ ในป่าตะวันตกต่อไปหากมีการจัดการที่ดี

western forest 07

ล่าช้างเอางา ในป่าห้วยขาแข้ง

ประสบการณ์ที่น่าสลดใจที่สุด ในช่วงที่ทำงานการประเมินสถานภาพสัตว์ป่า คือการพบช้างถูกล่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเคยเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ตอนเกิดเรื่องใหม่ ๆ ตอนที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ประจำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ว่าพบซากช้าง ทีมงานรีบตามไปเก็บข้อมูล โดยเดินจากหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดไปประมาณ ๑ วัน วันนั้นเป็นวันที่ร้อนระอุ เดินแบกเป้หนัก ๆ ผ่านป่าเต็งรังที่ไม่ค่อยมีร่มเงาเหลือในยามหน้าแล้ง ทำเอาแต่ละคนเหงื่อโทรมอ่อนล้ากันเป็นแถว เมื่อเดินเข้าใกล้ซากช้าง นอกจากกลิ่นเน่าฉุนกึกแล้ว ยังพบร่องรอยกองไฟ ที่น่าจะเป็นของพรานที่มายิงช้างเคราะห์ร้ายตัวนี้ ซากช้างตัวนี้คงถูกยิงมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน เพราะซากเน่าจนยุบแล้ว เมื่อได้เห็นรอยรูลูกปืนตรงกะโหลกสองรู และรอยมีดสับเอางาไป

คนที่ทำงานรักษาชีวิตสัตว์ป่ารู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย หลายคนที่ทำงานราชการ อาจคิดว่าการที่สัตว์ในพื้นที่ถูกล่าเป็นเรื่องที่ควรปกปิด เพราะแสดงถึงการทำงานบกพร่อง อาจเป็นผลให้ถูกย้าย แต่ยังมีอีกหลายคนที่เห็นว่าพฤติกรรมเช่นนี้ควรเปิดเผย ประจานให้สังคมได้รับทราบมากที่สุด เพื่อช่วยกันคิดช่วยกันรณรงค์ เพราะแม้แต่พวกเราเอง ยังนึกไม่ถึงว่าการล่าช้างป่าเพื่อเอางา ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ แล้วประสาอะไรกับประชาชนทั่วไป จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับทรัพยากร ที่เขาต้องมีส่วนร่วมในการดูแล พรานล่าสัตว์ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สังคมยังเข้าใจไขว้เขวอีกมาก มักนึกภาพว่าเป็นพรานมาจากกรุงเทพฯ หรือพรานเมืองดังเช่นพรานใหญ่ทั้งหลายในอดีต ที่กลายเป็นนักเขียนลือชื่อ อันที่จริงแล้วสถานการณ์การล่าสัตว์ป่าในปัจจุบัน กระทำโดยคนท้องถิ่นเป็นหลัก ดังหลักฐานที่ได้จากภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพ และจากการพบเห็นของเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ทีมงานสำรวจเอง ที่ประจันหน้ากับพรานโดยบังเอิญหลายครั้ง นอกจากช้างก็ยังมีสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิดที่ถูกล่าในพื้นที่อื่น ๆ ในผืนป่าตะวันตกที่ถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา หากการดูแลรักษาหย่อนยาน

ป่าต้นน้ำกำแพงเพชร ตื่นเต้นเรื่องคนมากกว่าสัตว์ป่า

พื้นที่โซนเหนือของผืนป่าตะวันตกในอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า คลองลาน และแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติถูกมนุษย์รบกวนมาก ไม่ค่อยเหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ แต่พวกเราก็ดั้นด้นสำรวจตามเส้นทางในป่าหลายเส้นทางจนครอบคลุมพื้นที่ ใจกลางของป่าคลองวังเจ้า มีทั้งชาวม้งและชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มานาน มีถนนเข้าถึง รายได้จากการปลูกขิงคงจะดีไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นบ้านโละโคะ หลายบ้านมีรถกระบะใช้ บางบ้านมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ในบริเวณเส้นทางสำรวจไม่พบสัตว์ป่าขนาดใหญ่เหลืออยู่เลย

ส่วนป่าคลองลานและป่าแม่วงก์ กำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัว หลังจากอพยพชาวม้ง และลีซอออกจากพื้นที่มาเป็นเวลานาน พื้นที่ทั้งสองแห่งนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว แต่จากประวัติการใช้พื้นที่ยาวนานในอดีต ที่เห็นได้จากป่าไร่ร้าง เขาหัวโล้น ที่ไกลสุดลูกหูลูกตาในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คงต้องใช้เวลานาน กว่าสัตว์ป่าจะกลับมาใช้พื้นที่ได้ดังเดิม แต่เราพบว่า ฝูงกระทิงจำนวนหนึ่ง ยังใช้พื้นที่บางจุดในบริเวณไร่ร้างในอุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กวางป่าก็พอมีให้พบร่องรอยอยู่บ้างเช่นกัน เรื่องที่น่าตื่นเต้นของทีมงานที่รับผิดชอบสำรวจในโซนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องการพบสัตว์ป่า แต่เป็นการหลบเลี่ยงคาราวานค้ายาบ้า ซึ่งพวกนี้มักมีอาวุธด้วย พวกนี้มักจะมากันเป็นกลุ่มใหญ่ เราต้องเดินอย่างระวังตัว และคอยหลบเลี่ยงไม่ปะทะด้วย ทีมงานที่สำรวจพื้นที่บริเวณนี้ มักได้รับการเตือนด้วยความหวังดี ให้ระวังคาราวานค้ายาบ้าจากเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่เสมอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคยมาซุ่มดักจับพวกนี้ และปะทะกันเป็นครั้งคราว สรุปว่าระวังคอยหลบคนค้ายาบ้า น่าตื่นเต้นกว่าการสำรวจสัตว์ป่าหลายร้อยเท่า

ป่าใหญ่เมืองกาญจน์ เหลือแต่อดีตที่เล่าลือ

ป่าใหญ่ฝั่งใต้ของผืนป่าตะวันตก เคยเป็นตำนานของนักล่าสัตว์ในอดีตยุคก่อนปี ๒๕๐๐ เป็นป่าที่คลาคล่ำไปด้วยสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง พื้นที่ที่มีชื่อเสียงว่ามีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น ทุ่งสลักพระ กลายเป็นเพียงความทรงจำ สภาพปัจจุบัน ป่าใหญ่เมืองกาญจน์ถูกการพัฒนาเปลี่ยนสภาพไปมาก อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สองแห่ง คือเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) และเขื่อนศรีนครินทร์ (เขื่อนเจ้าเณร) ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เป็นถนน เป็นบ้านเป็นเมืองขยายใหญ่โต พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะเหลืออยู่บนเขา สัตว์ใหญ่เช่นช้างป่า ยังคงหลงเหลืออยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ช้างป่าที่นี่เหมือนติดเกาะ เพราะถูกความเจริญล้อมรอบ ด้านหนึ่งเป็นหมู่บ้าน อีกด้านหนึ่งเป็นถนน และอ่างเก็บน้ำ จึงเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างช้างป่า กับชาวบ้านรอบ ๆ ป่าสลักพระบ้างเป็นครั้งคราว เส้นทางอพยพดั้งเดิมของช้างป่าฝูงนี้ อาจจะถูกตัดขาดโดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนช้างป่าทางด้านป่าทองผาภูมิ ยังคงพบได้เช่นกัน บางครั้งช้างป่าออกมาเดินตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ ช้างกลุ่มนี้อาจจะอพยพไปมาระหว่างชายแดนไทยพม่าได้ ในขณะที่กระทิงยังคงหลงเหลืออยู่เป็นประชากรขนาดเล็ก บริเวณรอยต่ออุทยานแห่งชาติไทรโยค และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ควายป่า และนกยูงจากทางด้านใต้ของป่าห้วยขาแข้ง ก็มีออกมาหากินทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

western forest 12

แผนที่ แสดงระดับความเหมาะสม ของถิ่นที่อยู่อาศัย ของกวางป่า 

western forest 13

แผนที่ แสดงระดับความเหมาะสม ของถิ่นที่อยู่อาศัย ของกระทิง

สถานภาพสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก

จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งหมดเป็นเวลาปีกว่า ๆ ทำให้ได้ข้อมูลเส้นทางสำรวจ และจุดที่พบสัตว์ชนิดต่าง ๆ จากข้อมูลจุดที่พบสัตว์ซึ่งเป็นข้อมูลพิกัดสัตว์ป่า เรานำเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System หรือ GIS) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ชนิดสังคมพืช แหล่งน้ำ ระดับความสูง ความลาดชัน บริเวณที่ตั้งถิ่นอาศัยของชุมชน บริเวณที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่า โดยดูความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดที่พบสัตว์ กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมแต่ละปัจจัย จากนั้นก็นำมาสร้างเป็นแผนที่ความเหมาะสมของถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า โดยเน้นเฉพาะสัตว์ป่าที่มีข้อมูลเพียงพอ ซึ่งผลปรากฏว่า จากสัตว์ป่าเป้าหมาย ๑๐ ชนิด มีสัตว์ป่าเพียง ๗ ชนิดที่มีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์ คือ ช้างป่า เสือโคร่ง กวางป่า กระทิง สมเสร็จ วัวแดง นกยูง ส่วนที่เหลือคือ นกกก นกเงือกคอแดง และกบทูด ได้ปริมาณจุดที่พบสัตว์ชนิดนั้น ๆ น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ ผลของการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมกับสัตว์ป่าเป้าหมายในปัจจุบัน ได้แสดงไว้ในภาพ โดยที่พื้นที่สีเขียวเข้มคือพื้นที่ที่สัตว์ชนิดนั้นใช้มากที่สุด และสัตว์ป่าพบน้อยลงตามลำดับความจางลงของสีเขียว จนกระทั่งถึงบริเวณที่ไม่พบสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ เลย ซึ่งจะเป็นพื้นที่สีขาวในแผนที่

จากแผนที่แสดงสถานภาพสัตว์ป่าดังกล่าว จะเห็นว่าพื้นที่ที่ยังเป็นหัวใจของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในผืนป่าตะวันตก คือพื้นที่ใจกลางที่เป็นมรดกโลก คือป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ส่วนป่าด้านนอกพื้นที่มรดกโลก ที่ยังมีศักยภาพเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่บ้าง ก็มักจะเป็นป่าที่อยู่ตามภูเขาสูงเช่น เทือกเขาปลายห้วยขาแข้งในเขตอำเภออุ้มผาง หรือเทือกเขารอยต่อไทย-พม่า บริเวณป่าทองผาภูมิ สัตว์ป่าชนิดที่เหลือพื้นที่เหมาะสมน้อย เช่น วัวแดงและนกยูง พบว่าเหลือพื้นที่เหมาะสมในป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น บริเวณที่ไม่พบสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกเลย จะเป็นบริเวณพื้นที่ทำกินใกล้หมู่บ้าน หรือใกล้พื้นที่ที่ถูกพัฒนา เช่น ถนน อ่างเก็บน้ำ จากแผนที่สถานภาพสัตว์ป่าในมาตราส่วนทั้งผืนป่าเช่นนี้ ทำให้นักจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และนักอนุรักษ์ได้ข้อมูลความเป็นจริงว่า ถึงแม้ว่าผืนป่าตะวันตกยังมีสภาพเป็นป่าใหญ่โต แต่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ป่าชนิดสำคัญ ๆ ไม่ได้มีศักยภาพเต็มทั่วทั้งผืนป่า แผนที่สถานภาพของสัตว์ป่าเช่นนี้ จะเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจในการวางแผนการจัดการ เช่น การป้องกัน การฟื้นฟู การใช้พื้นที่เพื่อท่องเที่ยว การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร ให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ต่อไป ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ นำข้อมูลเชิงนิเวศวิทยา และสังคมวิทยาทั้งหมด มาวิเคราะห์เพื่อแบ่งเขตการจัดการเบื้องต้น ให้แก่ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา ขั้นตอนการดำเนินการนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงนักวิชาการ หรือข้าราชการกรมป่าไม้ แต่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกในจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนจากองค์กรอนุรักษ์ท้องถิ่น อาจารย์สถาบันท้องถิ่น และประชาชนผู้สนใจ เป็นห่วงเป็นใยสถานภาพของผืนป่าตะวันตก รวมทั้งตัวแทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้มีโอกาสเห็น และร่วมวางระบบการจัดการพื้นที่ร่วมกัน เพื่อความยั่งยืนของผืนป่าตะวันตกในอนาคต

western forest 26

ใช้ปัญญา ช่วยรักษาผืนป่าตะวันตกและมรดกโลก

กระแสการใช้ประโยชน์สัตว์ป่าโดยตรง เช่นการล่าสัตว์ และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า จากพื้นที่ป่าไม้ เป็นที่อาศัย ที่ทำกิน หรือการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ จะยังคงเป็นกระแสหลัก ที่นับวันจะทวีความเข้มข้นคุกคามความอยู่รอดของสัตว์ป่า และป่าไม้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันยังมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะเปิดพื้นที่เป็นที่ท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลลบต่อระบบนิเวศได้หากไม่มีการจัดการที่ดี ในฐานะผู้ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เราจำเป็นต้องวางแผนการจัดการที่เหมาะสม ให้แก่ผืนป่าตะวันตก และมรดกโลกแห่งนี้อย่างรอบคอบ และที่สำคัญที่สุดคือการร่วมกันคิดร่วมกันทำต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสถานภาพและความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ในระบบนิเวศ และต้องระลึกร่วมกันไว้เสมอว่า การตัดสินใจในการจัดการวันนี้ จะมีผลต่อความยั่งยืนของผืนป่าแห่งนี้ในอนาคต และมีผลต่อรุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป คำว่า “การจัดการแบบยั่งยืน” ซึ่งกำลังเป็นที่ฮิตติดตลาดอยู่ในขณะนี้ จะเป็นจริงได้ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจธรรมชาติ และความร่วมมืออย่างจริงใจ มองการณ์ไกล และที่สำคัญที่สุดคือต้องเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

…………….

เกี่ยวกับผู้เขียน

อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการสัตว์ป่า จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาเอกด้านชีวภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศแคนาดา ปัจจุบันเป็นผู้จัดการภาคสนามและนักวิจัยด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า ประจำโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ กรมป่าไม้ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย