นิรมล มูนจินดา : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ

ใครที่เปิดโทรทัศน์ระหว่างวัน และติดตามชมรายการสาธิตการทำอาหาร (ซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายรายการ) ตอนบ่ายโมงของวันอังคารทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ต้องรู้จัก วอลเตอร์ ลี

เขาสาธิตการทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ให้คนไทยชมทางโทรทัศน์มานาน ๘ ปี

“ใหม่ ๆ เราต้องการอะไรสักอย่างหรือสักคนที่เป็นตัวแทนหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าของเรา (ปูอัดยี่ห้อคานิ) ตลาดที่ยังไม่ได้พัฒนาอย่างนี้ พาวเวอร์ของพรีเซ็นเตอร์ยิ่งเด่นชัด มนุษย์เราก็ต้องหาอะไรสักอย่างที่จะไปฝากเนื้อฝากตัว โดยเฉพาะคนที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาทำให้คนมีความคิดน้อย มันเห็นอะไรที่ดังแล้วก็เชื่อหมด ตอนนั้นเมืองไทยยังอยู่ในเคสที่กำลังพัฒนาและกำลังหาพรีเซ็นเตอร์อยู่ แต่เราไม่พอใจพรีเซ็นเตอร์ที่ทำให้เรา เราบอกกับโปรดิวเซอร์ว่ารำคาญ ดูแล้วง่วงนอน ถ้ายูยังใช้คนนี้ต่อ จะแคนเซิลรายการ เขาก็บอกว่าคุณวอลเตอร์ทำเองเอาไหมล่ะ ก็เกิดจากนั้นเลย”

แล้ว “คุณวอลเตอร์” ก็ทำให้รายการของเขาไม่น่าเบื่อได้จริง ๆ

ดำเนินรายการและทำอาหารอย่างสนุกสนาน อารมณ์ดี ใช้ภาษาไทยคล่องแคล่วราวกับมีกล่องคำศัพท์ภาษาไทยจำนวนมหาศาลบรรจุไว้เรียกใช้ได้หลายโหมด เมื่อรวมกับฝีไม้ลายมือและความรอบรู้ในทางปากะศิลป์แล้ว วอลเตอร์ ลี ได้รับความนิยมและเอ็นดูรักใคร่อยู่ไม่น้อยในหมู่คุณแม่บ้านที่สนใจในศาสตร์และศิลป์นี้ ไม่ว่าจะสนใจอย่างลึกซึ้งจริงจัง อย่างผิวเผิน หรือที่ชมแต่เพื่อความบันเทิงก็ตาม

วอลเตอร์ ลี เกิดที่ปีนังและเติบโตมาในวัฒนธรรมอาหารโนเนีย (Nyonya – คนไทยเรียก “ยองยา” หรือ “ยาหยา” *) ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก และสืบทอดมานานกว่า ๔๐๐ ปี

“คุณยายเป็นแม่ครัวเอกด้านอาหารโนเนีย พูดได้ว่าตระกูลของเราเป็นต้นตระกูลของอาหารโนเนียก็ได้ ถ้ามีผู้ใหญ่จัดเลี้ยง แล้วครัวไม่ได้จัดโดยยายจะเป็นเรื่องที่ขายหน้ามากๆ ตัวเองเกิดในครอบครัวอย่างนี้ ตั้งแต่เด็กๆ ก็เห็นยายถือไม้เดินๆ ในครัวที่ยาวๆ (ลักษณะเฉพาะของครัวจีนฮกเกี้ยน) มีพ่อครัวแม่ครัวเป็นสิบๆ คน ตุมๆ ตำๆ อยู่ในนั้น เราก็ชอบยุ่งในครัวตั้งแต่เล็ก เห็นคนเขาปอกอะไร แกะอะไร สับอะไร ก็อยากรู้ว่าเขาทำอย่างไร เชือดไก่อย่างไร ต้มอย่างไร แล้วเราก็ทำ แล้วสนุกกับมัน”

จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็น “คนทำกับข้าวให้คน (อื่น) กิน” ตั้งแต่ในค่ายลูกเสือ จนกระทั่งปาร์ตี้ในหมู่เพื่อนฝูง

“วันๆ คุยแต่เรื่องกินน่ะ ช่วงกินอาหารเช้าอยู่ก็คิดว่าตอนบ่ายตอนเย็นจะไปกินข้าวที่ไหนต่อแล้ว ไปไหนๆ ก็ชอบชิม ถ้าไปกินข้าวข้างนอก ผมจะสั่งกับข้าวมาเพื่อชิม สั่งเพื่อมาดู สั่งน้อยๆ ไม่เป็น มันก็ต้องเต็มโต๊ะ พอเราโตมากขึ้น เราก็ช่างสงสัยมากขึ้นว่า แต่ละอุปกรณ์ เครื่องปรุง ขั้นตอน แม้กระทั่งการหั่นเป็นอย่างไร จะบอกว่าศึกษามนุษยศาสตร์หรือประวัติศาสตร์โดยอาหารก็ไม่ผิด ดังนั้น พอไปแต่ละประเทศ เราก็ไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร”

ถือพาสปอร์ตมาเลเซีย เขาเดินทางไปแทบทุกแห่งหน ยกเว้นทวีปอเมริกาใต้ และบอกว่าในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เขาเป็นของโลกมากกว่าจะเป็นชาวอะไรสักชาวหนึ่ง

“ค่อนข้างชอบภูมิศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ ครั้งแรกที่รู้สึกว่าหงุดหงิดคือตอนอยู่ประถมต้น ดูแผนที่โลกในไดอารี่ของเราแล้วหาเกาะปีนังไม่เจอ ก็เกาะปีนังกระจิ๋วเดียวจะมีที่ไหนล่ะ ภูเก็ตยังหาไม่เจอเลย จากบ้านขี่จักรยานไปชายหาด ๑ กิโลกว่าๆ แต่ว่าขี่จักรยานแค่กิโลสองกิโลยังรู้สึกว่าไกลเป็นบ้าเลย เมื่อก่อนเรารู้สึกว่ามันใหญ่ขนาดนั้น แต่ในแผนที่โลกกลับหาไม่เจอ มันก็ทำให้เราสงสัยว่า โอ้โฮ โลกนี้มันใหญ่แค่ไหน ตั้งแต่นั้นก็สัญญากับตัวเองว่า โตแล้วจะไปเดินทางทั่วโลก”

หลังจบการศึกษาขั้นต้นที่มาเลเซีย วอลเตอร์วัย ๑๗ ปีก็เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก่อนจะย้อนกลับมาเรียนที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง สามวิชาหลักที่เขาสนใจ คือ การเงิน การตลาด และจิตวิทยา

“รู้สึกว่าอเมริกาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจโลกน่ะ ดังนั้นถ้าอยากจะเรียนก็ควรจะเรียนกับคนที่เก่งที่สุดในด้านนี้ ส่วนญี่ปุ่นก็รู้สึกว่า มีประเทศใดในโลกนี้ที่กลืนระเบิดไปสองลูกในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้นแค่ ๓๐-๔๐ ปี แล้วในด้านเศรษฐกิจเป็นรองจากอเมริกาเท่านั้น มันคงมีเคล็ดลับหรือวิชาซึ่งรู้สึกว่าน่าสนใจมาก”

หลังจากนั้นวอลเตอร์เข้าทำงานกับบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจด้านอาหารในสหรัฐอเมริกา และถูกส่งมาประจำที่ไต้หวันในฐานะผู้รับผิดชอบตลาดทวีปเอเชียทั้งหมด เขาใช้เวลาสามในสี่ในการเดินทางไปทั่วทวีป ตอนนี้เองที่เขาพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูปมากกว่าไต้หวัน จึงเสนอให้บริษัทแม่ย้ายศูนย์กลางของบริษัทจากไต้หวันมาที่กรุงเทพฯ “และเราก็เป็นคนที่มาเซ็ตอัปที่นี่ ทำอยู่ประมาณ ๕ ปี ก็ออกมาตั้งบริษัทเองเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว”

ในวันนี้ วอลเตอร์ ลี เป็น Chief Executive Officer ของบริษัทเวนเจอร์เทค มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งทำการตลาดและจัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งที่ใช้ปรุงอาหารญี่ปุ่นและอาหารกระป๋อง เช่น ปูอัดคานิ ไส้กรอกปลาทูน่า ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม หอยเชลล์เทียม วาซาบิ และเนื้อจระเข้ ทั้งยังเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารญี่ปุ่นอีกด้วย

เขาสนใจอาหารญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง

“เราไม่ได้กินอาหารกับปาก แต่เรากินกับตา กับจมูก แล้วค่อยถึงปาก อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่พิถีพิถันมากที่สุดในโลก ต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นมาจากจีน จีนผ่านเกาหลีมาญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อประมาณพันกว่าปีที่แล้ว ในศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ญี่ปุ่นปิดประเทศตั้ง ๓๐๐ กว่าปี เป็นช่วงที่เขาเริ่มสร้างเอกลักษณ์ที่แท้จริงออกมา ความจริงจะใช้คำว่าเอกลักษณ์แท้จริงก็ไม่ถูกหรอก แต่เป็นวิวัฒนาการที่ทำให้เกิดอาหารอีกแนวหนึ่งออกมาเลย โดยที่ฐานของมันยังเป็นจีน ทุกอย่างที่เขาทำเป็นวัฒนธรรมที่ลึกมาก มองแบบผิวๆ เผินๆ อย่างนี้ดูไม่ออก

“คนญี่ปุ่นเป็นคนละเอียด ถ้าญี่ปุ่นแท้ๆ กินน้ำเปล่าแต่ละประเทศจะคอมเมนต์ว่าที่นี่น้ำเปล่าอร่อย ที่นั่นไม่อร่อย แต่ว่าตามแบ็กกราวน์ของเราที่เราเกิดมาในแถบนี้ เราจะรู้สึกว่าน้ำเปล่าก็คือน้ำเปล่า น้ำเปล่าอร่อยได้ด้วย ไม่อร่อยได้ด้วยเหรอ ข้าวเปล่าอร่อยหรือไม่อร่อย จนเราเรียนที่จะ appreciate ความหมายของมัน

“แทบจะทุกอย่างมีความหมายทั้งนั้น ญี่ปุ่นเป็นเชื้อชาติที่ไม่ถนัดกับการสื่อสารทางคำพูด แต่อาจจะสื่อสารด้านการกระทำ ความยาวของตะเกียบมีความหมาย กระดาษรองเทมปุระ ซ้ายทับขวาหรือขวาทับซ้ายก็มีความหมาย อันหนึ่งเป็นงานฉลอง อันหนึ่งงานศพ วิธีหั่นจากทิศไหนไปทิศไหน เวลากินจากด้านไหนไปด้านไหนมันมีความหมายทั้งนั้น ดังนั้นที่บอกว่ามารยาทบนโต๊ะอาหารอย่างนี้ ถ้าบอกว่าตะวันตกมันละเอียด โอ ญี่ปุ่นละเอียดกว่าตั้งเยอะ อีกอย่างหนึ่งก็เพราะมีอิทธิพลมาจากศาสนาเซนด้วย อาหารญี่ปุ่นน่าสนใจเพราะมีปรัชญาเบื้องหลังที่น่าสนใจ อาหารสำหรับผมคือการ study culture หรือ study คนในแนวของอาหาร ยิ่งรู้มาก ยิ่งรู้สึกว่ารู้น้อยลง เพิ่งรู้สึกว่าข้างนอกนี่มันใหญ่ขนาดนั้นจริงๆ บนฟ้ามีฟ้า”

วันนี้ในกรุงเทพฯ มีร้านอาหารญี่ปุ่นเกิดและเปิดใหม่อยู่ทั่วไป เมื่อรวมกับร้านเก่าแก่ดั้งเดิมแล้ว วอลเตอร์บอกว่า “เฉียด ๗๐๐-๘๐๐ แห่ง” แต่เขาไม่ได้รู้สึกประหลาดใจอะไรนัก

“ยังไงๆ อาหารญี่ปุ่นก็บูมอยู่แล้ว มันบูมเพราะอะไร เพราะมันเป็นรสชาติที่ค่อนข้างกลางถึงออกหวานนิดหน่อย สำหรับบางคนอาจจะจืดชืดก็ได้ และการรับรสในปากของเรา จะมีบางรสที่รับได้ง่ายกว่าเพื่อน ดังนั้นรสอย่างนี้มันไม่แปลกเลย ส่วนด้านเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ก็ต้องไปบุกนอก เมื่อไปบุกนอก คนที่เขาไปก็เป็นคนที่ค่อนข้างชาตินิยม

“ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครๆ มาก่อน ก็เนื่องจากนโยบายของบ้านนี้น่ะ แต่ไหนแต่ไรก็คือนโยบายเสรี please welcome ดังนั้นวัฒนธรรมของไทยเป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะ open และใจเปิดกว้างมากพอสมควรที่จะต้องรับไอเดียใหม่ ๆ หรือว่าซึมซับต้อนรับง่ายกว่าเพื่อน ดังนั้นคือ อันหนึ่งรับง่าย อันหนึ่งคืออยากให้ ผลัวะขึ้นมาอย่างนี้ ยังไงๆ กระแสก็ไม่อนุญาตให้อาหารญี่ปุ่นไม่ระเบิดไม่โตไม่ขยายในตลาดนี้

“ใหม่ๆ เริ่มต้นคงจะเป็นคนที่มีฐานะหน่อย เคยไปเมืองนอก เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมอาหาร ได้ทดลองก่อน ปัจจุบันนี้มันเผยแพร่มากขึ้น คนรับมากขึ้น ตอนนี้ไม่มีสักซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทยที่ไม่มีซุ้มซูชิ อาหารญี่ปุ่นกลายเป็นของธรรมดาไปแล้ว เมื่อกลายเป็นของธรรมดา มันจะเริ่มเกิดดีมานด์-ซัปพลาย ทำให้มันเกิดการแข่งขัน เมื่อมีลักษณะอย่างนี้ ในกระบวนการของการแข่งขัน มันก็มีคนที่เอาตัวรอดหรืออยากจะขึ้นมาอีกระดับหนึ่งเพื่อจะเป็นผู้นำตลาด มันก็ต้องมีกลยุทธ์แปลกใหม่เกิดขึ้นที่จะไปยิงใส่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นยังไงๆ ผู้บริโภคเขาก็หนีไม่พ้น ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้ววันหนึ่ง ๆ คนเจอโฆษณาประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ โฆษณา ต้องมีวันหนึ่งที่อาจจะโดยใต้จิตสำนึกหรือบนจิตสำนึกก็ตามที่มันถูกซึมซับเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของเรา (ชี้ที่สมอง) ถ้าเห็นนานๆ แล้วก็ชินกับมัน เมื่อชินกับมันก็ต้องมีสักวันที่เปิดโอกาสให้คุณลอง ลองแล้วมันรู้สึกว่ามันไม่เลวนะ มันโอเค มันก็ติดขึ้นมาได้

“เป็นเรื่องการตลาดไง พฤติกรรมของคนเปลี่ยนได้ อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนมันเกิดโดยกระแสธรรมชาติโดยมี element ใดที่ทำให้มันเป็นจุดกระตุ้นขึ้นมา หรือว่าถ้าเป็นคนสร้างมันสร้างได้ทั้งนั้นเลย อยู่ที่ว่าพาวเวอร์ของการสื่อสารเป็นอย่างไร แล้วคุณมีทรัพยากรเท่าไหร่ บุคลากรเท่าไหร่ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค”

คุยเรื่องอาหารญี่ปุ่นจากต้นทางถึงปลายทางเช่นนี้ เขาบอกว่าเป็นนิสัยส่วนตัวที่ “ทำอะไรเราชอบเจาะลึก” เขาเปรียบให้ฟังถึงการท่องเที่ยวแบบอยู่เมืองเดียวนาน ๑ เดือนกับทัวร์ยุโรป ๑๐ วัน ๘ ประเทศ อย่างหลังนั้น “ผมรำคาญ และโดยส่วนตัวไม่ชอบมากๆ”

“เวลาที่ได้ยินว่าคนประเทศนี้อย่างนั้น คนประเทศนั้นอย่างนี้ เราก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีนะ โดยเฉพาะได้ยินคนพูดถึงในด้านลบเกี่ยวกับแต่ละเชื้อชาติ เวลาที่คนบอกว่าคนฮ่องกงเป็นอย่างนี้ คุณไปฮ่องกงนานแค่ไหน คุณอยู่ฮ่องกงนานแค่ไหน คุณไปกี่ครั้งแล้ว ไป ๓ ครั้ง ครั้งละ ๒ วัน ดังนั้น ๖ วันของคุณ คุณสามารถตีค่าได้เลยเหรอทั้งเชื้อชาติ ทั้งประเทศนั้น มันไม่ยุติธรรม มันไม่ถูกต้อง

“แม้กระทั่งคนไทยเองยังไม่รู้จักคนไทยมากพอเลย ผมมองว่าคนภาคกลาง เหนือ ใต้ อีสาน วัฒนธรรมความคิด รสนิยมต่างๆ มันก็ไม่เหมือนกัน คุณค่าในชีวิตก็ไม่เหมือนกัน แต่ละชนชั้นมันก็แบ่งแยกอีกใช่ไหม ถามว่าคนไทยคือคนประเภทไหน ก็ต้องดูว่ามันมีอะไรที่เป็น mainstream ของมัน ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็แบ่งย่อยได้อีกเยอะ บางครั้งไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งแล้วคุยกับคนก่อสร้างมันก็ได้มุมมองอีกแนวหนึ่ง บางครั้งก็ทิ้งคนรถแล้วเราเดินกลับบ้านเอง เราเป็นประเภทที่ถอดสูทแล้วก็ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวกับคนขับรถตุ๊กๆ”

เขาเปรียบเรื่องนี้ต่อไปกับความเป็นต้นตำรับกับอาหารแบบฟิวชัน

“ต้นตำรับนี่คืออะไรล่ะ เวลาคนบอกว่าต้นตำรับ ผมถามว่าคุณจะย้อนกลับกี่ร้อยปีหรือกี่พันปี ต้นตำรับอาหารไทยของคนไทยคืออะไร มันแล้วแต่ว่าคุณจะย้อนกลับไปขนาดไหน ยุคสมัยนี้ถือว่าสัญลักษณ์ของอาหารไทยคือพริกขี้หนู พริกขี้หนูไม่ใช่ของไทย ต้นตำรับพริกขี้หนูมาจากอเมริกาใต้ แต่ไม่รู้อีท่าไหนเหตุใดชาวสเปนจึงเอาพริกขี้หนูมาในประเทศนี้ แล้วไม่รู้ใครเริ่มปลูกแล้วมันเริ่มโต บางคนก็เริ่มกินก็เริ่มฮิตกับมัน พอคนนึกถึงต้มยำกุ้ง ผมบอกว่า ใน ๕ อย่างที่เป็นตัวหลัก มีสองอย่างไม่ใช่ของไทยนะ ใบมะกรูดใช่ มะนาวใช่ ตะไคร้ใช่ พริกขี้หนูไม่ใช่ ข่าไม่ใช่ ข่าในแนวต้นขิงอย่างนี้มาจากแอฟริกา”

ดูเหมือนว่าสมองของเขาไม่เคยหยุดทำงาน เขารู้ว่าคนเราใช้สมองทำงานเพียงร้อยละ ๑๕เท่านั้น และนึกสงสัยว่า “แล้วอีก ๘๕ เปอร์เซ็นต์ในหัวกะโหลกของกูทำอะไรอยู่วะ นั่งนิ่งๆ อย่างนี้ซึมซาบดูดออกซิเจนอยู่หรือ”

วอลเตอร์อ่านหนังสือทุกอย่าง เขาไล่ให้ฟังตั้งแต่หนังสือเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การออกแบบ ฯลฯ เขาศึกษาโหราศาสตร์ กำลังเรียนคอร์สอัญมณีศาสตร์ และบอกว่าหลังเกษียณแล้วจะสมัครเรียนเป็นสถาปนิกและหมออายุรเวท ปัจจุบันเขายังสอนหนังสือระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดูแลหลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น

มีที่ทางอยู่ในสังคมไทยมากมายเช่นนี้ ถ้าถามว่า ที่นี่นับเป็นบ้านของเขาไหม

เขาก็ตอบว่า

“มันจะเรียกว่าไรล่ะ ครอบครัว หมายความว่าภรรยากับลูกสองคนก็อยู่ที่นี่ มันจะมีกี่ที่ที่เมื่อเครื่องบินลงแล้วมีความรู้สึกว่ากลับบ้านน่ะ แน่นอน บ้านเกิดของเราที่ปีนัง อีกที่หนึ่งก็ไทเป อีกที่หนึ่งก็ญี่ปุ่น กับที่นี่ กรุงเทพฯ ที่ไหนมีคนที่เราคิดถึง ที่ไหนมีคนที่เรารัก นั่นก็คือบ้าน ผมว่ามันอยู่ที่ซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ พ่อแม่ตัวจริงอยู่ที่มาเลเซีย พ่อแม่บุญธรรมของผมเป็นคนญี่ปุ่น เมื่อไหร่ที่ผมกลับญี่ปุ่นก็รู้สึกว่ามันอบอุ่น ทำให้รู้สึกว่าเรากลับบ้าน เมื่อก่อนก็ไม่รู้สึกอย่างนี้กับเมืองไทย ถึงแม้ว่าผมอยู่ที่นี่มาตั้งนาน แต่ว่าตอนนี้ครอบครัวเราอยู่ที่เมืองไทย ลูกเรา ภรรยาเราก็เป็นคนไทย

“ตั้งแต่เราเกิดมา เราก็คิดว่าเราเป็น free spirit เป็นวิญญาณอิสระ เมื่อก่อนนี้กลับบ้านก็คือคอนโดฯ กลับไปแล้วค่อยเปิดไฟ แต่อันนี้เข้าไปแล้วไฟเปิดแล้วน่ะ”

หมายเหตุ :
* อาหารโนเนีย เกิดและวิวัฒนาการจากคนจีนฮกเกี้ยนผู้ติดตามเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์หมิงที่เดินทางจากเมืองจีนมากับสุลต่านแห่งมะละกาเมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน คนจีนผู้ติดตามรุ่นแรกนั้นได้ลงหลักปักฐานในเขตช่องแคบมะละกา แต่งงานกับชาวมาเลย์และเกิดลูกหลานสืบต่อมา หากเป็นชายเรียก “บาบ๋า” เป็นหญิงเรียก “ยาหยา” หรือ “โนเนีย” ชาว “บาบ๋า-ยาหยา” หรือ Straits Chinese ซึ่งกระจายตัวอยู่ในเมืองมะละกา ปีนัง และสิงคโปร์ ได้ผสมผสานวัฒนธรรมจีนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมตะวันตกเจ้าอาณานิคมอย่างโปรตุเกสและฮอลันดา อาหารโนเนียจึงเป็นมรดกจากการปะทะสังสรรค์ระหว่างหลายวัฒนธรรม ได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่มีความละเอียด ประณีต ต้องใช้เวลานานในการเตรียม ใช้เครื่องเทศ และกะทิ และมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว