เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

piano technician หิรัญ สุขจิตร์ อย่าเรียกผมว่า ช่างจูนเปียโน

เมื่อได้ยินเสียงเปียโนนุ่มกังวานที่บรรเลงโดยนักเปียโนมือหนึ่งบนเวทีคอนเสิร์ต หรือเสียงเปียโนใสๆ จากการซุ่มซ้อมเพลงคลาสสิกสุดโปรดของเด็กผู้หญิงข้างบ้าน คนที่ไม่เคยมีโอกาสสัมผัสเครื่องดนตรีที่มีลิ่มกด (keyboard) ถึง ๘๘ คีย์ชนิดนี้อย่างใกล้ชิด อาจจะได้แค่เปรยกับคนข้างๆ ว่า เปียโนเสียงดีอย่างนี้จะมีราคาสักเท่าไรนะ คนที่จะเล่นเปียโนได้ไพเราะขนาดนี้ต้องใช้ความพยายามในการฝึกซ้อมนานสักแค่ไหน

แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงผู้อยู่เบื้องหลังเสียงเปียโนรื่นหูเหล่านั้น–ขาดเขาสักคนต่อให้เปียโนคุณภาพเยี่ยมแค่ไหน คนเล่นเก่งปานใดก็ไม่อาจบรรเลงให้เป็นเพลงที่ไพเราะได้–นักเปียโนส่วนใหญ่พร้อมใจกันเรียกบุคคลผู้นี้ว่า “ช่างจูนเปียโน” (piano tuner)

“อาชีพของผมที่ถูกต้องควรเรียกว่า ช่างเทคนิคด้านเปียโน หรือ piano technician ครับ” หิรัญ สุขจิตร์ ขอให้เราเรียกชื่ออาชีพของเขาให้ถูกต้องก่อนเริ่มสัมภาษณ์

hirun

“ช่างจูนเปียโนจะทำได้เฉพาะการปรับตั้งเสียงหรือตั้งสายเปียโนเท่านั้น แต่สำหรับผม การปรับเสียงเปียโนให้มีคุณภาพมี ๓ ขั้นตอน คือ การปรับแต่งกลไก การปรับตั้งเสียง และการปรับแต่งเสียง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าการปรับเสียงเปียโนคือการตั้งสายหรือการจูนเท่านั้น และช่างส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการตั้งสายเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่ถูกต้องครบถ้วนนัก

“ช่างเทคนิคด้านเปียโนยังสามารถซ่อม ปรับแต่ง เปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ และทำสีได้ด้วย งานของผมจะเน้นไปทางการปรับเสียงประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนการซ่อมเปลี่ยนอะไหล่อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์”

ปัจจุบันน่าจะมีช่างเทคนิคด้านเปียโนอยู่ในประเทศไทยไม่เกิน ๑๐ คน ที่เหลือราว ๕๐-๖๐ คน เป็นช่างจูน หิรัญประกอบอาชีพนี้มา ๒๐ ปีแล้ว ปัจจุบันเขาทำงานอิสระ ไม่ขึ้นกับบริษัทใด มีงานล้นมือที่สุดในบรรดาช่างเทคนิคด้านเปียโนทั้งหมด และมีรายได้ต่อเดือนมากกว่าผู้บริหารในหลายๆ องค์กรเสียอีก

หลังจากเรียนจบ ปวส. แผนกอิเล็กทรอนิกส์ เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นช่างซ่อมด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องเสียง P.A. ของแผนกบริการดนตรียามาฮ่า บริษัทสยามกลการ
เขาไม่เคยคิดอยากเป็นช่างเทคนิคด้านเปียโนจนกระทั่งบริษัทฯ มีนโยบายเพิ่มช่างเปียโนให้เพียงพอกับลูกค้า

hiran3“แรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง คือผมอยากรู้ว่าอาชีพนี้ดีอย่างไร ช่างรุ่นเก่าจึงหวงความรู้มาก เขาจะไม่ถ่ายทอดวิชาให้แก่คนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องเลย นิสัยผมเป็นคนชอบเอาชนะ
ถ้าทำได้จะรู้สึกว่าเก่ง แล้วผมก็เป็นคนเบื่อง่าย อะไรที่ผมรู้แล้ว จะเบื่อผมก็เลยถือโอกาสนั้นเปลี่ยนอาชีพ”

หืรัญกับพนักงานบริษัทฯ อีกประมาณ ๑๐ คน เรียนรู้การปรับเสียงเบื้องต้นจากอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ Mr. Suzuki
จากนั้นเขาและเพื่อนพนักงานอีกคนซึ่งดูมีแววที่สุดก็ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนหลักสูตรการปรับเสียงเปียโนที่ Piano Technical Academy เมือง Hamamatsu ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ๒๕๒๘ โดยไปเรียนระดับ junior course (หลักสูตรการปรับเสียงด้วยเครื่อง) และระดับ senior course (หลักสูตรการปรับเสียงโดยใช้หูฟัง) ทั้ง ๒ คอร์สเป็นหลักสูตรการปรับเสียงเปียโนแนวตั้งหรือ upright

ด้วยความสามารถในการเรียนรู้ได้เร็วกว่าปรกติ หิรัญและเพื่อนเรียนจบทั้ง ๒ คอร์สโดยใช้เวลาเพียง ๓ เดือนจาก ๖ เดือน ก่อนจะกลับมาเริ่มงานช่างเปียโนและงานสอนพนักงานให้เป็นช่างเปียโน

หิรัญยังได้รับการสนับสนุนให้ไปเรียนต่อในหลักสูตรระดับ grand piano การทำสี การสอน และการบริหารจัดการด้านบริการ ซึ่งใช้เวลา ๓ เดือน จากนั้นจึงได้ไปเรียนหลักสูตรสูงสุดของช่างเทคนิคด้านเปียโน คือ concert grand piano อีก ๓ เดือน ซึ่งการเรียนใน ๒ คอร์สหลังนี้
เขาต้องไปเรียนรู้งานที่โรงงานผลิตเปียโนด้วย

“คนเอเชียค่อนข้างประณีตในเรื่องงานฝีมือ ระบบการเรียนที่ญี่ปุ่นจึงได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลก ตอนที่ผมไปเรียนช่างจากอเมริกา ยุโรป สแกนดิเนเวีย ก็มาเรียนที่นี่ ที่ Academy
จะเน้นเรื่องการรู้จริง เข้าใจจริง และปฏิบัติได้จริง ถ้ารู้ไม่จริงก็สอบไม่ผ่านเพราะมาตรฐานการวัดผลของเขาสูงมาก คือต้องไม่ต่ำกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์”

หิรัญเรียนจบหลักสูตร concert grand piano เมื่อปี ๒๕๓๓ ต่อมาในปี ๒๕๓๕ เขาตัดสินใจลาออกขณะอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายช่างเปียโน หนึ่งในหลายๆ เหตุผลคือ “ผมเป็นคนขี้เบื่อ ทำงานที่ไหนนานๆ ไม่ได้ ที่นี่เป็นบริษัทเดียวที่ผมอยู่ได้นานถึง ๑๒ ปี เพราะเป็นงานที่ทำให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา

“ตอนแรกที่ออกมา ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีลูกค้ามากแค่ไหน แต่ผมคิดว่าเราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้งานของเราประสบความสำเร็จ ปีแรกๆ งานจะน้อยหน่อย ประมาณ ๒๐ จ๊อบต่อเดือน แต่พอครูสอนเปียโนที่มีชื่อเสียงเรียกใช้บ่อยๆ เขาก็จะแนะนำเราให้ลูกศิษย์ คนที่มีบุญคุณกับผมมาก คืออาจารย์ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งสอนอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือเปียโนของอาจารย์มีปัญหาที่คนอื่นปรับให้ถูกใจไม่ได้ พอผมลาออก อาจารย์ก็ตามหาผม ให้ผมไปทำให้ อาจารย์สอนเปียโนชั้นแนวหน้าอย่างอาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (ดนตรีสากล) ก็ให้ผมไปปรับให้ อาจารย์รุ่นใหญ่ๆ จะมีลูกศิษย์เยอะ ก็จะแนะนำต่อ ๆ กันมา จนเดี๋ยวนี้ผมมีงานประมาณ ๖๐ จ๊อบต่อเดือน

hiran4

“การที่ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใครมันทำให้ผมรู้สึกอิสระและสบายใจ อยากจะบริการลูกค้าให้ดีแค่ไหนก็ทำได้เต็มที่ วิธีการทำงานของผมที่มีทั้งการปรับกลไก ตั้งเสียง และแต่งเสียง บวกกับความตั้งใจจริงในการทำงาน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจนทุกวันนี้

“ขั้นตอนสำคัญอันดับแรกที่ช่างส่วนใหญ่มักจะละเลย คือการปรับแต่งกลไก ซึ่งหมายถึงการตรวจเช็กกลไกของเปียโนและปรับแต่งให้เข้าที่เพื่อให้สามารถตั้งเสียงได้ดี วิธีการปรับแต่งกลไกมีเยอะมาก ส่วนที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการกำเนิดเสียงคือหัวค้อนเคาะสาย การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น มีผลให้ก้านค้อนซึ่งเป็นไม้เกิดการบิดตัว ทำให้หัวค้อนเอียง เคาะสายได้ไม่ตรง การปรับกลไกของหัวค้อน มีทั้งการปรับองศาของหัวค้อนให้ตรง โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘คีมความร้อน’ คือใช้ความร้อนมาดัดตัวก้าน เพื่อไม่ให้มันคืนตัว นอกจากนี้ก็เป็นการปรับทิศทางการวิ่งของค้อนให้วิ่งไปตรงสาย และการจัดระยะห่างให้สวยงาม

“การปรับกลไกอื่นๆ ก็เช่น ลิ่มกด ซึ่งจะยุบตัวลงเมื่อผ่านการใช้งานไปนานๆ ก็ต้องปรับระดับให้เท่ากับคีย์อื่น ๆ กลไกที่ต้องใช้เวลาปรับมากเพราะต้องปรับทั้งหมด ๘๘ คีย์ก็คือการปรับสปริง ซึ่งมีผลต่อ touching หรือน้ำหนักของคีย์เวลากดและความเร็วของหัวค้อนที่เคาะลงบนสาย คือน้ำหนักของคีย์เมื่อกดลงไป ควรจะได้ความรู้สึกที่เท่ากัน ส่วนความเร็วของหัวค้อน ถ้าตอบสนองการเล่นของเขาได้ช้า เช่นกดไปเร็วๆ ๕ ครั้งติดกัน แต่ดังแค่ ๔ ครั้ง เราก็ต้องปรับความเร็วให้เพิ่มขึ้น

“ขั้นที่ ๒ การปรับตั้งเสียงหรือการจูน คือการตั้งสายโดยหมุนหมุดตั้งเสียงที่สายเปียโนพันอยู่เพื่อปรับความตึงของสายแต่ละโน้ตให้ได้เสียงที่ถูกต้องตามทฤษฎีดนตรี อุปกรณ์ที่ใช้ในการหมุนหมุดคือ ค้อนปรับเสียง ซึ่งช่างจะต้องรู้วิธีการใช้และวิธีการจับค้อนที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหมุด ยิ่งถ้าเป็นการหมุนหมุดของเปียโน upright ซึ่งมีโครงสร้างของสาย และ soundboard เป็นแนวตั้ง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่ค้อนจะตกลงมาโดนกลไกเสียหายได้

“การปรับตั้งสายมี ๒ วิธี วิธีแรกเป็นวิธีที่ช่างใหม่ทุกคนใช้ คือการปรับโดยใช้เครื่องมาช่วยวัดเสียงของสายหลักในทุกตัวโน้ต วิธีที่ ๒ คือการปรับเสียงโดยใช้หู เทียบเสียงให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และดนตรี โดยโน้ตดนตรีแต่ละตัวจะถูกกำหนดความถี่เสียงมารตรฐานมาอยู่แล้ว

“ผมเริ่มใช้หูอย่างเดียวตั้งแต่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการเทียบเสียงด้วยหู เรียกว่า ‘ส้อมเสียง’ หรือ ‘tuning fork’ ซึ่งเป็นตัวกำเนิดเสียงที่มีค่ามาตรฐานคงที่ มีให้เลือกหลายความถี่ แต่ที่ใช้สำหรับปรับเสียงเปียโน ความถี่มาตรฐานจะเป็น ๔๔๐ เฮิรตซ์ ซึ่งใช้เทียบเสียงกับโน้ตตัว ‘ลา’ เป็นตัวแรก พอตรงกันแล้ว เราก็เทียบสเกลกับโน้ตตัวอื่นต่อไป ส่วนการปรับเสียงสำหรับคอนเสิร์ตก็ขึ้นอยู่กับนักดนตรีว่าอยากจะเล่นเสียงระดับไหน บางครั้งเขาอาจจะขอให้ปรับให้สูงขึ้นไปที่ ๔๔๒ เฮิรตซ์ ก็ได้

“ลูกค้าบางคนเข้าใจว่าเครื่องวัดเสียงได้แน่นอนกว่าหู แต่จริงๆ แล้ว ย่านความถี่ที่หูคนเราได้ยิน จะเทียบสเกลทางดนตรีได้ละเอียดและเป็นธรรมชาติกว่าเครื่อง ช่างที่พัฒนาการฟังได้ละเอียดจริงๆ จะสามารถเทียบเสียงได้แม่นยำเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

“พอปรับตั้งเสียงแล้ว คุณลักษณะของเสียงของเปียโนก็จะเปลี่ยนไป บางตัวโน้ตก็จะนุ่ม บางตัวโน้ตก็จะแหลม เราต้องมาปรับเสียงให้สมดุลกลมกลืนกันทั้ง ๘๘ คีย์ เรียกว่าการปรับแต่งเสียง ซึ่งมักจะปรับเพื่อคงมาตรฐานเสียงของเปียโนไว้ รวมทั้งปรับตามความชอบของคนเล่นหรือตามแนวดนตรี อย่างเช่นผู้หญิงจะชอบเสียงค่อนข้างสดใส ผู้ชายจะชอบเสียงนุ่มหน่อย ถ้าปรับตามแนวดนตรีคลาสสิก เราต้องปรับให้นุ่มหน่อย

“ส่วนที่จะปรับแต่งคือสักหลาดที่หัวค้อนเคาะสาย ถ้าต้องการให้เสียงออกมาแหลมสดใส ก็จะใช้กระดาษทรายขัดหน้าสัมผัสของสักหลาดให้เรียบแข็ง แต่ถ้าต้องการให้เสียงนุ่มทุ้มกังวาน ก็จะใช้เข็มแทงสักหลาดให้นุ่ม ที่ต้องทำแบบนี้เพราะเปียโนที่ซื้อมานานๆ น้ำยาที่อาบสักหลาดไว้จะแห้งขึ้นทุกวัน รวมถึงการเล่นบ่อย ๆ มีผลทำให้สักหลาดแข็ง เสียงเปียโนจึงแหลมขึ้น”

เฉพาะการปรับตั้งเสียงอย่างเดียว หิรัญจะใช้เวลาประมาณ ๑ ถึง ๑ ชั่วโมงครึ่ง ส่วนการปรับแต่งกลไกและปรับแต่งเสียง จะใช้เวลามากน้อยต่างกันไป ถ้าต้องปรับมาก อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๔ ชั่วโมงหรือเป็นวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและประเภทของเปียโน รวมถึงความต้องการของลูกค้า

สภาพของเปียโน หากไม่มีคนเล่นและไม่ได้รับการปรับแต่งเป็นเวลานาน จะมีปัญหาเรื่องกลไก สายหย่อน ช่างจึงต้องใช้เวลาดึงสายมากขึ้น แต่ถ้าเปียโนเสียหายเพราะหนูหรือแมลงสาบเข้าไปกัดแทะส่วนประกอบของเปียโน หรือถ่ายรดทำให้สายเปียโนขึ้นสนิม ก็ต้องซ่อมแซมก่อนจึงจะปรับเสียงได้

hiran2การปรับเสียง grand piano จะยากกว่า upright เพราะมีกลไกที่ซับซ้อนกว่า และหมุดตั้งสายถูกยึดให้แน่นกว่า ส่วน concert grand piano นั้นยากที่สุด เพราะจะต้องบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ และนักเปียโนมืออาชีพก็จะฟังเสียงอย่างละเอียดกว่านักเปียโนทั่วไป ทำให้ต้องปรับความกลมกลืนของเสียงให้ดีที่สุดและการตั้งสเกลจะต้องไม่ผิดเพี้ยนเลย

“ถ้าเป็นเปียโนที่ผมเคยไปปรับให้แล้วและไม่เคยมีช่างคนอื่นมาปรับอีก เรื่องกลไกแทบจะไม่ต้องทำใหม่เลย ส่วนเรื่องตั้งเสียง ก็อาจจะไม่ต้องทำมาก แต่ที่ต้องทำมากทุกครั้งคือปรับแต่งเสียง”

เปียโนที่ได้รับการปรับโดยช่างที่มีฝีมือ โดยเฉลี่ยจะอยู่ได้นานเป็นปี แต่ถ้าเล่นทุกวัน ประมาณวันละ ๒ ชั่วโมง ควรให้ช่างมาปรับทุก ๖ เดือน เปียโนที่ต้องได้รับการปรับเสียงบ่อยที่สุด เฉลี่ยทุก ๆ ๓ เดือน คือเปียโนที่ใช้สอนตามโรงเรียน เพราะนอกจากจะถูกใช้งานหนักถึงวันละ ๖-๗ ชั่วโมงแล้ว สภาพอุณหภูมิและความชื้นในห้องที่ปิดทึบและติดแอร์ จะทำให้สายขึ้นสนิมเร็ว ตัวไม้บิดเบี้ยวง่าย จนเสียงเพี้ยนเร็วกว่าปรกติ นอกจากนี้ ถ้าเลือกได้ ไม่ควรเรียกช่างมาปรับเสียงในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิ ความชื้น เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปรับหน้าฝน พอถึงฤดูหนาว เสียงก็เปลี่ยนอีก

หิรัญยังมีข้อแนะนำที่อยากฝากถึงนักเปียโนว่า หากต้องการตรวจสอบการปรับเสียงของช่าง ไม่ควรกดฟังทีละคีย์ เพราะทักษะการฟังของคนเล่นยังไม่ละเอียดเท่าช่าง “วิธีตรวจเช็ก ให้ลองเล่นออกมาเป็นเพลง แล้วฟังดูว่าเสียงผิดเพี้ยนไปจากสเกลที่ควรจะเป็นหรือไม่ เปียโนที่เสียงเพี้ยน มันจะดังเมี้ยววๆๆ แง้วว ๆๆ เหมือนแมวร้อง เล่นแล้วเสียงจะตีกัน แต่ถ้าเล่นแล้วเพราะ ถือว่าปรับเสียงใช้ได้แล้ว”

หิรัญเดินทางไปบริการลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด งานส่วนใหญ่เป็นการปรับแต่งเปียโนของนักเรียนเปียโน ที่เหลือเป็นของครูเปียโน เปียโนที่ใช้ในงานคอนเสิร์ต รวมทั้งสถาบันดนตรีที่จัดสอบเกรดเปียโนหลายแห่งซึ่งจะเรียกหิรัญให้ไปปรับเปียโนก่อนจะมีการสอบด้วย

เมื่อเป็นช่างที่มีงานชุกที่สุด คิวก็ย่อมยาวเป็นธรรมดา บางครั้งอาจจะต้องรอกันเป็นเดือน แต่แม้ลูกค้าจะมากขึ้นเรื่อยๆ หิรัญก็ไม่เคยลดมาตรฐานและความตั้งใจจริงในการทำงานลง เขายังคงรับงานไม่เกิน ๒ จ๊อบต่อวัน เพราะต้องการให้เวลากับลูกค้าอย่างเต็มที่ เขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยมีวันหยุด มีความสุขเมื่อได้เห็นนักดนตรีเล่นเปียโนที่เขาปรับแล้วอย่างมีความสุข สบายใจที่ได้ทำงานให้แก่คนในแวดวงดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอารมณ์ดี และภูมิใจที่ได้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักดนตรีหลาย ๆ คน

สิ่งที่หิรัญยึดถือในการทำงานของเขาตลอดมาคือ ถ้าจะทำงานอะไร ก็ต้องรู้และเข้าใจในงานนั้นอย่างดีก่อน เมื่อเป็นช่างเทคนิคด้านเปียโน ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการและกลไกของเปียโนเป็นอย่างดี เพราะหากความสามารถไม่ถึง ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเปียโนได้

“คนที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ ต้องผ่านการเรียนอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ยิ่งถ้ามีความรู้ในวิชา acoustic ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับเสียง ก็จะช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่น ถ้าจะให้ดีควรเล่นเปียโนได้บ้าง และมีความเข้าใจเรื่องทฤษฎีดนตรีพอสมควร

“เมืองไทยยังไม่มีสถาบันที่เปิดสอนวิชาชีพนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ ถ้าจะเรียนก็ต้องไปอเมริกาหรือญี่ปุ่น ถ้าจะมาเรียนกับผม ผมก็สอนให้ได้ ผมไม่มีประกาศนียบัตรให้ แต่มั่นใจได้ว่าจะได้ความรู้ที่ถูกต้อง ช่างที่เรียนมาอย่างเป็นระบบ จะสามารถปรับเสียงได้ดีตามมาตรฐาน ถ้ายิ่งมีประสบการณ์จากการทำงานมากเท่าใด ก็จะช่วยพัฒนาทักษะการฟังให้ละเอียดมากขึ้น ทำให้ปรับเสียงได้เนี้ยบมากขึ้น”

หิรัญยืนยันว่า ความต้องการช่างเทคนิคด้านเปียโนในเมืองไทยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีช่างที่ชำนาญงานด้านนี้อยู่น้อยมาก ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้รับการส่งเสริมให้เล่นดนตรีกันมากขึ้น และแน่นอนว่าเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ก็ย่อมหนีไม่พ้นเปียโน

หากคุณเริ่มรู้สึกว่า นี่เป็นอาชีพอิสระที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่ง ลองถามตัวเองดูสิว่า พร้อมที่จะเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อให้ได้เป็นช่างเทคนิคด้านเปียโนอีกคนหนึ่งของเมืองไทยหรือไม่

ขอขอบคุณ : โรงเรียนดนตรีจุไรรัตน์ สำนักงานใหญ่ ถนนนวมินทร์ เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์และถ่ายภาพ