เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง / วิธีทำ : ภาพ

pro10

หมาข้างทาง หนังสือเล่มแรกที่ออกแบบปกในชื่อ “วิธีทำ”


pro2

วารสารไทยคดีศึกษา วารสารวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่ง “วิธีทำ” ออกแบบปกมาแล้ว ๔ ฉบับ ทีมงานบอกว่า ประทับใจปกของ “วิธีทำ” มาก เพราะนอกจากจะตรงกับคอนเซ็ปต์ของเล่มแล้ว ยังทำให้หนังสือน่าหยิบเมื่อวางอยู่บนแผงด้วย


pro3

Diary of Questions


pro4

(Kafka on the Shore) “หนังสือของมูราคามิเป็นหนังสือที่เราชอบ แต่ทำยาก ปกนี้จะเป็นโทนอารมณ์ชวนสงสัย รูปแมวหน้างงนี้เราถ่ายได้ตอนไปเที่ยว ส่วนที่มีฝนตกเป็นปลาแซลมอน เกิดจากเรานึกได้ว่า ในเรื่องมีรายละเอียดสนุก ๆ อย่างฝนตกเป็นปลาด้วย แมวมันคงโคตรแฮปปี้เลย”


pro5

(ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข) “เล่มนี้ใช้เวลาทำนาน แต่ใช้เวลาคิดแป๊บเดียว อ่านจบแล้วเห็นภาพเลยว่า ต้องทำให้คนอ่านรู้สึกว่าชีวิตของผู้ชายคนนี้มีแต่คณิตศาสตร์”


pro6

(Irish Girls about Town) “เล่มนี้ใช้อารมณ์ล้วน ๆ เราอยากให้เกิดคำถามว่า ตกลงมันเป็นหนังสืออะไรกันเนี่ย เราใช้ภาพนี้…ผู้หญิงกับหมา ซึ่งมีลายเหมือนกระโปรงผู้หญิง…เพราะมันมีเสน่ห์ดี และตอบโจทย์ของหนังสือรวมเรื่องสั้นนักเขียนหญิงชาวไอริชหลายๆ คน ซึ่งแต่ละเรื่องไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย แล้วเราก็คิดว่า…ทำอะไรกับหมาหน่อย หมาเป็นกวางมูสแล้วกัน (หัวเราะ) ซึ่งไม่มีเหตุผล จะเป็นควายก็คงได้ แต่จะไม่เข้ากับชาวไอริช”


pro7

(Jemima J รักของฉัน พร่องมันเนย) “ปกนี้ได้เพื่อนสนิทมาเป็นแบบให้ ขาของเธอจะได้อยู่บนปกหนังสือ chiclit ที่เราออกแบบเสมอ เธอมักจะพูดว่า ถึงขาฉันจะใหญ่ แต่ก็มีเอกลักษณ์ มีประโยชน์นะ”


pro8

(รอยย่ำที่นำเราไป) “เจ้าตัวที่ยืนพักอยู่ใต้ต้นไม้ มันเป็นจี้ที่คุณบินหลา คนเขียนหนังสือเล่มนี้ ห้อยคออยู่ตลอดเวลา แล้วเป็นเรื่องการเดินทางใช่ไหม…ก็ต้องมีสเกลบอกระยะ ภูเขา เส้น geography…เดินทางมากใช่มั้ย เดินทางจนรากเป็นรองเท้าเลยละกัน เราก็เลยเอาส้นรองเท้าไปสแกน

 

pro9

(Sweet Lover’s Book) “เล่มนี้เป็นหนังสือรวมเรื่องร้านเบเกอรี่ ชา กาแฟ ไอศกรีมในเมืองไทยที่อร่อยสุด ๆ ทำยังไงให้คนเห็นปกแล้วรู้สึก…อยากกินว่ะ…รูปนี้แหละขำดี ได้อารมณ์เลย คือแบบปกมันไม่จำเป็นต้องซับซ้อนเสมอไป”

pro1ในสมุดการบ้านของเด็กนักเรียน หรือคู่มือ how to มีคำคำหนึ่งที่มักถูกมองข้าม แต่ก็ขาดเสียไม่ได้ คำนี้มีหน้าที่เพียงบอกให้ผู้อ่านสนใจข้อความที่จะตามมา เช่น กระบวนการทำปลาร้าทรงเครื่อง ปุ๋ยชีวภาพ ครีมพอกหน้าสูตรธรรมชาติ โยคะท่าปลาตะแคง แปลงคาราโอเกะเป็น MP3 ฯลฯ“ทำ” คือคำคำนั้น คำที่ไม่มีใครสนใจอ่าน พอ ๆ กับคำว่า เครื่องปรุง ส่วนผสม อุปกรณ์…

แต่ในแวดวงพ็อกเกตบุ๊ก “วิธีทำ” คือคำที่นักอ่าน (หรือนักเก็บ) หนังสือจำนวนมาก ตั้งใจมองหา ก็เมื่อใดที่ไปยืนอยู่หน้าชั้นขายหนังสือ แล้วถูกปกหนังสือบางเล่มดึงดูดให้หยิบขึ้นมา สิ่งแรกที่พวกเขาจะทำ ไม่ใช่การเปิดอ่านคำนิยม คำนำ หรือโปรยปกหลัง แต่เป็นการทายว่าคำที่อยู่ต่อจาก “ออกแบบปก :” ซึ่งปรากฏอยู่ข้าง ๆ แถบรหัสบาร์โค้ดและเลข ISBN บนปกหลัง จะเป็น “วิธีทำ” หรือไม่

“วิธีทำ” บนปกหลังพ็อกเกตบุ๊ก ไม่ใช่แค่คำคำหนึ่ง แต่คือชื่อของนักออกแบบปกที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในหมู่คนทำหนังสือ

พฤติกรรมการทายว่า “วิธีทำ” เป็นคนออกแบบปกหรือเปล่า หรือการซื้อหนังสือที่ “วิธีทำ” ออกแบบปกไปเป็นตั้ง ๆ เพราะชอบหน้าปก คือคำบอกเล่าจากสำนักพิมพ์มติชนที่ “วิธีทำ” ร่วมงานด้วย ซึ่งอาจทำให้พออนุมานได้ว่า ไม่ใช่แค่นักเขียนเท่านั้นที่มีแฟนประจำ แต่นักออกแบบปกก็ชักจะมีแฟนประจำกับเขาด้วยเหมือนกัน

ชื่อ “วิธีทำ” เกิดขึ้นเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว…ในห้องน้ำ

หนุ่ย-ธีรวัฒน์ วิญญรัตน์ ชายหนุ่มวัย ๒๖ ปี กำลังอาบน้ำอยู่ที่บ้าน พร้อม ๆ กับคิดชื่อเพื่อใช้ในงานออกแบบปก แทนการใช้ชื่อจริง จู่ ๆ คำว่า “วิธีทำ” ก็ผุดขึ้นมาในความคิด หลังอาบน้ำ เขาเห็นสมุดการบ้านของน้องที่วางอยู่ในห้อง เขียนคำว่า “วิธีทำ” ขีดเส้นใต้ด้วยหมึกแดง ๒ เส้น ช่วยให้เขามั่นใจขึ้นว่าชื่อนี้ลงตัวที่สุด เขาโทร. บอกปุ๊ก-สาวิตรี อนันต์รัตนสุข หญิงสาววัย ๒๔ ปีด้วยความตื่นเต้น

“เฮ้ย ! เธอ ได้ชื่อแล้ว…วิธีทำ ไง”

ความรู้สึกของทั้งคู่ในเวลานั้นคือ “เราชอบชื่อนี้มาก ก็คุยกันว่าใครถามก็อย่าไปบอกเขานะ ว่าความหมายคืออะไร ให้คนงง ๆ ว่าทำไมต้อง ‘วิธีทำ’ เหมือนเป็นความลับของคนสองคน โรแมนติกดี”

ก่อนจะใช้ชื่อ “วิธีทำ” ปุ๊กกับหนุ่ยทำงานออกแบบปกร่วมกันในชื่อ “สาวิตรี-ธีรวัฒน์” มาได้พักใหญ่ ๆ จนต่อมารู้สึกว่าไม่อยากใช้ชื่อจริงตลอดไป “เราคิดชื่อใหม่กันอยู่นาน ตอนแรกว่าจะใช้ชื่อฝรั่ง แต่ก็ไม่ลงตัวสักที แล้วเราก็คิดกฎเพี้ยน ๆ ขึ้นมาว่า พยางค์แรกต้องเป็นเสียงสามัญ และพยางค์สุดท้ายต้องเป็นเสียงโท อย่างโซนี่ เซ็นทรัล มันถึงจะติดหู เราคิดแล้วก็ทิ้งช่วงไปนาน จนถึงวันที่หนุ่ยอาบน้ำนั่นแหละ ตอนนั้นลองคิดมาจากชื่อ สาวิตรี ๆ ธีรวัฒน์ ๆ แล้วก็เฮ้ย ! นี่ไง ใช่เลย ‘วิธีทำ’ ไง ก็ วิ กับ ธี เป็นคนทำไง”

ปุ๊กเสริมอีกว่า “เราชอบที่ชื่อนี้ลงท้ายว่า ‘ทำ’ เวลาใครถามว่าเล่มนี้ใครทำ ก็จะตอบได้ว่า ‘วิธีทำ’ ไง ก็น่าจะง่ายดี”

แต่ปรากฏว่ามันไม่ง่ายอย่างที่ปุ๊กคิด เมื่อทีมปรู๊ฟของสำนักพิมพ์มติชนได้รับไฟล์งานปกที่ใส่ชื่อผู้ออกแบบปกว่า “วิธีทำ” เป็นครั้งแรก แล้วคิดว่าเป็นคำที่เกินมา กว่าจะเข้าใจกันว่านี่คือชื่อคนออกแบบปก คำนี้ก็ถูกลบทิ้งไปหลายครั้ง

ก่อนจะออกจากงานประจำมาเป็นนักออกแบบปกอิสระร่วมกัน หนุ่ยซึ่งเรียนจบเอกสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เคยเป็นช่างภาพที่ Skyline Studio ซึ่งถ่ายรูปให้นิตยสาร Summer และ art4d ส่วนปุ๊กซึ่งเรียนจบด้านนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่นิตยสาร Summer จากนั้นไปอยู่นิตยสาร Lips

“เรารู้จักกันตอนทำงานที่นิตยสาร Summer ซึ่งเป็นนิตยสารแนวทดลอง ทั้งช่างภาพและกราฟิกดีไซเนอร์ก็เลยได้ทดลองและเรียนรู้การสื่อสารแบบใหม่ ๆ เยอะ เราต้องคิดร่วมกันว่าจะถ่ายภาพยังไง จะประสานกับกราฟิกยังไง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราอยากได้ ตอนนั้นได้ทำงานกับปุ๊กก็สนุกดี ได้คุยกัน…ก็ดี” หนุ่ยอมยิ้มขณะเล่าความหลัง

ที่ Summer นี้เอง ที่หนุ่ยและปุ๊กต่างได้เริ่มงานออกแบบปกหนังสือ เล่มแรกที่หนุ่ยได้ออกแบบคือ วันยันค่ำ ของ กรกฎ พัลลภรักษา ในนามสำนักพิมพ์ Fullstop ส่วนเล่มแรกของปุ๊กคือ จระเข้ ผึ้ง ตั๊กแตน โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้ชาย ผู้หญิง ของ “ปราย พันแสง ในนามสำนักพิมพ์ฤดูร้อน ทั้งคู่มีงานต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ กระทั่งวันหนึ่ง ปก วันยันค่ำ ของหนุ่ย ก็ไปเข้าตาสำนักพิมพ์ใหญ่อย่างมติชน

“พอดีพี่ภานี ลอยเกตุ ที่มติชน เขารู้จักกับ พี่อ้วน-ละออ ศิริบรรลือชัย บ.ก. Summer เขาบอกว่าอยากให้หนุ่ยออกแบบปกหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ว้าวุ่น ของ ปินดา โพสยะ ก็เลยชวนปุ๊กมาทำด้วยกัน”

ว้าวุ่น จึงไม่เพียงเป็นหนังสือเล่มแรกที่ปุ๊กและหนุ่ยออกแบบร่วมกัน แต่ยังเป็นเล่มแรกที่ทำให้แก่สำนักพิมพ์มติชน เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน จนนับเป็นสำนักพิมพ์ที่ “วิธีทำ” ออกแบบปกให้มากที่สุด

ส่วนหนังสือเล่มแรกที่ออกแบบปกในชื่อ “วิธีทำ” คือ หมาข้างทาง ของ นิศารัตน์ สีตะสุวรรณ ในนามสำนักพิมพ์ฤดูร้อน

การตัดสินใจแยกย้ายกันไปทำงานอิสระของหนุ่ยและช่างภาพที่ Skyline Studio เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปริมาณงานที่วิ่งเข้าสตูดิโอไม่เอื้ออำนวยให้ “รวมกันเราอยู่” อีกต่อไป ซึ่งต่อมาหนุ่ยก็ชวนให้ปุ๊กออกจากงานด้วยเหมือนกัน

“ตอนนั้นหนุ่ยได้โปรเจ็กต์จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นงานถ่ายภาพให้หนังสือ ๑๗๔ มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย (Architectural Heritage in Thailand) ซึ่งจะใช้เวลาทำงาน ๕ เดือน เพราะต้องถ่ายภาพอาคารสถาปัตยกรรมอนุรักษ์กว่า ๑๐๐ แห่งทั่วประเทศ ก็เลยชวนปุ๊กว่าทำมั้ย ถ้าจะทำต้องออกจาก Lips”

“ปุ๊กมาเป็นผู้ช่วยช่างภาพ เพราะหนุ่ยไม่สามารถแบ่งสมองมาทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ พอดูแล้วว่างานนี้จะกินเวลาทั้งหมดของชีวิตในช่วง ๕ เดือนนั้น ปุ๊กก็เลยเลือกที่จะออก ทั้งที่จริง ๆ ก็เสียดาย เพราะการทำงานที่ Lips ให้อะไรกับปุ๊กเยอะ ส่วนเรื่องความมั่นคง ตอนนั้นไม่ได้คิด แค่คิดว่าเมื่อมีโอกาส ถ้าอยากทำ ก็ทำ”

ปัจจุบันนอกจาก “วิธีทำ” จะออกแบบปกหนังสือให้สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือแปลแล้ว ยังมีงานออกแบบปกให้สำนักพิมพ์พิมพ์คำ สำนักพิมพ์วงกลม วารสารไทยคดีศึกษา ของสถาบันไทยคดีศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ รวมถึงงานถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรมและงานออกแบบอื่น ๆ ตามแต่โอกาสที่จะได้รับ

งานออกแบบปกของ “วิธีทำ” อาจสรุปเป็นขั้นตอนได้สั้น ๆ คือ อ่านเรื่อง ตีความเนื้อหา กำหนดโทน กำหนด element (ส่วนประกอบ) และกระบวนการที่จะใช้ ลงมือทำ และปรับแก้

“สมมุติว่าได้ต้นฉบับมา ๑ ถุง ปุ๊กกับหนุ่ยก็จะแย่งเรื่องที่ตัวเองอยากอ่านขึ้นมาก่อน ส่วนกองที่เหลืออยู่ตรงกลาง เราอาจจะลองอ่านดูทีหลัง หรือถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจของเรา ก็คืนไปเลย ส่วนหนังสือที่ห่วย เราจะบอกสำนักพิมพ์ด้วยว่าอย่าไปพิมพ์ เปลืองกระดาษ

“ส่วนใหญ่หนุ่ยจะอ่านเป็นหลัก และอ่านละเอียด เพราะปุ๊กเป็นคนสมาธิสั้น ชอบดูรูปมากกว่าอ่านหนังสือ ปุ๊กจะอ่านละเอียดเฉพาะเล่มที่สนใจมาก แต่ถ้าสนใจน้อย จะอ่านจับใจความ และจับเอารายละเอียดที่นำมาเป็นลูกเล่นในการออกแบบได้

“จริง ๆ พวกเราไม่ใช่หนอนหนังสือ ถ้าให้เลือกระหว่างดูหนังกับอ่านหนังสือ เราจะชอบดูหนังมากกว่า เพราะชอบทำงานเกี่ยวกับภาพ แต่ที่หนุ่ยอ่านหนังสือละเอียดเพราะรู้สึกว่าอาจจะเห็นบางรายละเอียดที่คนอื่นมองข้าม การลงในรายละเอียดสำคัญนะ มันทำให้เราเข้าใจภาพรวมมากขึ้น และคงเพราะความเป็นช่างภาพและชอบดูหนัง ทำให้หนุ่ยอ่านหนังสือแล้วเห็นภาพเหมือนเป็นฮอลลีวูดอยู่ในหัวตลอดเวลา หนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วไม่เกิดภาพอะไรในหัวเลย เราจะหลีกเลี่ยง

“พออ่านเล่มของตัวเองจบ เราจะสรุปเนื้อหาให้อีกคนฟัง ว่าเรื่องมันประมาณนี้นะ สมมุติหนุ่ยเป็นคนเล่า ปุ๊กก็อาจจะมีคำถามแบบ…แล้วทำไมคนนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ล่ะ หนุ่ยก็จะอธิบายให้ปุ๊กฟัง เป็นการเล่าเร็ว ๆ เฉพาะที่ปุ๊กอยากรู้ เสร็จแล้วเราก็ตีความเนื้อหากัน แล้วก็คิดว่าจะให้ปกออกมาประมาณไหน แต่ถ้าอ่านจบแล้ว พยายามเท่าไรก็คิดไม่ออก ก็จะบอกสำนักพิมพ์ไปตรง ๆ ว่าขอไม่ทำ

“ตอนเริ่มออกแบบ เราต้องคิดภาพไว้ในหัวก่อน ว่าถ้าอยากได้โทนประมาณนี้ ต้องใช้ element หรือ source (วัตถุดิบ) และกระบวนการแบบไหน จะใช้ภาพถ่าย กระดาษ หรือผ้าแบบไหน จะใช้กล้องถ่ายหรือจะสแกนเลย จะทำให้เสร็จหมดก่อน แล้วเอาน้ำราดทีหลัง บางเล่มก็อาจจะขยำก่อน แล้วเอาเข็มหมุดปักลงไป หรือใช้เชือกมัด ฉะนั้นบ้านเราจะมีของแปลก ๆ มากมายที่คนอื่นเขาไม่เก็บกัน”

“ก็เลยไม่ยอมให้สารคดีไปสัมภาษณ์ที่บ้านใช่ไหม” ฉันถาม

ปุ๊กหัวเราะ “เดี๋ยวจะตกใจ เพราะปุ๊กเก็บจนดูแล้วเหมือนขยะ ปุ๊กจะชอบเก็บสิ่งของในชีวิตประจำวันที่คาดไม่ถึง อย่างกล่องช็อกโกแลต ถ้าเป็นคนอื่น กินเสร็จเขาก็ทิ้งสิ แต่ปุ๊กจะดูข้างใน เฮ้ย…พิมพ์ฟอยล์ทับลงบนสีพิเศษด้วย เก็บไว้ดีกว่า เหมือนเราเป็นโรคจิตรึเปล่าไม่รู้ กระดาษห่อแก้วที่แถมมาจากซูเปอร์มาร์เกตก็เก็บ แล้วมันก็ได้ใช้งานจริง ๆ นะ ระบบการจัดเก็บของพวกนี้ ปุ๊กจะรู้อยู่คนเดียว เพราะส่วนใหญ่ปุ๊กเป็นคนเก็บ ถ้าหนุ่ยบอกว่าอยากได้ลายแพตเทิร์นประมาณนี้ ปุ๊กก็จะบอกว่า ขึ้นไปเอาดิ ชั้นสอง ตู้ซ้ายมือ”

จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการลงมือทำ ซึ่งปรกติใครเลือกอ่านเล่มไหน ก็จะออกแบบเล่มนั้น แต่ถ้าหากอยากอ่านเล่มเดียวกันทั้งสองคน ก็จะทำมาคนละแบบ แล้วมาเลือกกันอีกที

“พอทำได้สัก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะเรียกมาดูกัน ถ้าอีกคนไม่เห็นด้วย เริ่มมีอี๋หรือเอ๊ะขึ้นมาเนี่ย ก็จะต้องหยุด มาคุยกัน ถ้าเจ้าของแบบมีเหตุผลว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ก็โอเค อาจจะมีบ้างที่ไม่มีเหตุผล บังเอิญว่าเรามีความชอบใกล้กันมาก ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ จบ ๆ ไปกินข้าว”

ฉันพยายามตั้งข้อสังเกตถึงสไตล์ที่บ่งบอกถึงความเป็นงานของ “วิธีทำ” แต่ทั้งคู่บอกว่า ไม่เคยคิดว่างานของ “วิธีทำ” เป็นสไตล์ไหน “เราแค่ทำในแบบที่เราอยากจะให้มันเป็นเท่านั้นเอง ถ้าตาเราเห็นว่า ใช่ สวย ลงตัว มันก็เป็นตัวเราในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่คิดตลอดเวลาทำงานคือ จะพยายามสื่อสารไปแค่ระดับเดียว พยายามบอกไม่หมด เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็น ให้เห็นแล้วเกิดคำถามบ้าง ที่เหลือให้คิดต่อเอง หรือ…ก็อ่านเองดิ เพราะถ้าเดาออกหมดตั้งแต่แรก เขาอาจจะไม่อยากซื้อหนังสือก็ได้

“ถ้าเป็นไปได้ เราจะพยายามเล่นกับคนอ่านด้วย ทำให้เข้าใจผิดบ้างเพื่อช่วยเพิ่มอรรถรส อย่างเล่ม The Art of the Steal เราทำสปอตยูวี (เทคนิคการพิมพ์แบบเคลือบมันเฉพาะจุด) เป็นรูปลายนิ้วมือตรงตำแหน่งที่คนจะจับหนังสือ ใช้สเกลเท่าจริงเลย ปรากฏว่ามีคนเอาหนังสือมาเปลี่ยน บอกว่านิ้วฉันไม่ได้มันนะ มันเปื้อนอยู่แล้ว อย่างนี้ก็สนุกดี

“เล่มที่เราคิดว่าประสบความสำเร็จในการเล่นกับคนอ่านมากที่สุดคือ Diary of Questions ของมติชน เป็นงานชิ้นที่เราชอบที่สุด เพราะคิดอะไรก็สนุกไปหมด โจทย์คือการรวมคำถามแห่งชีวิตของนักเขียนหลาย ๆ คน แล้วให้คนอ่านเขียนคำถามแห่งชีวิตของตัวเอง พี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ (ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชนในขณะนั้น) เปิดโอกาสให้เราคิดได้เต็มที่เลย ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ รูปเล่ม เราก็คิดว่าทำยังไงให้คนเกิดคำถามกับหนังสือเล่มนี้มากที่สุด ก็เข้าไปคุยกับฝ่ายผลิตว่าในกระบวนการผลิต จะทำยังไงให้หนังสือออกมา “ไม่” สมบูรณ์แบบ เพื่อให้เกิดคำถาม เช่น ทำไมหนังสือตัดไม่หมด เหมือนพิมพ์ไม่เสร็จ ปรากฏว่ามีคนซื้อไป เฮ้ย…หนังสือไม่ได้ตัดอะ แล้วมาขอเปลี่ยน สำนักพิมพ์ก็ให้เปลี่ยน เปลี่ยนไปก็ไม่ตัดอีก คือยิ่งได้ปฏิกิริยาตอบรับแปลกๆ เราก็ยิ่งมีความสุขมาก”

แม้จะออกตัวว่าไม่มีสไตล์เฉพาะในงานออกแบบปก แต่จุดเด่นอย่างหนึ่งที่หลายคนมองเห็นในงานของ “วิธีทำ” คือ การใช้ภาพถ่ายเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนให้ความเห็นว่า “ทำให้งานดูมีมิติมากขึ้น”

“สาเหตุมาจากเรามีนิสัยชอบเดินถ่ายรูปเล่น และมีช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า แทนที่จะใช้กราฟิก หรือเป็นงานสองมิติล้วน ๆ เราน่าจะทำให้คนดูรู้สึกหรือสัมผัสได้มากกว่านั้น ส่วนคนทำก็น่าจะมีส่วนร่วมและสนุกได้มากกว่าแค่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็เลยคิดว่าลองใช้ภาพถ่ายดีไหม ซึ่งจริง ๆ การที่จะทำให้รูปไป match กับเรื่อง มันค่อนข้างยาก

“เรามีสไลด์เยอะมาก จัดเก็บง่าย ๆ ตามประเทศที่ไป พออ่านเรื่องจบแล้ว ภาพที่เกิดในหัวอาจจะไปตรงกับรูปที่เราเคยถ่ายมาพอดีเป๊ะ หรืออาจจะต้องมาประยุกต์นิดหน่อย อย่างเล่ม The Wedding ภาพที่เกิดในหัวมันเหมือนภาพที่เราถ่ายไว้ตอนเดินเล่นอยู่บนเกาะเกาะหนึ่งในยุโรป พออ่านจบปุ๊บ เราก็พุ่งไปที่ซองของประเทศนั้น หยิบสไลด์มาสแกน ใช้ฟอนต์ (แบบตัวอักษร) นี้ สีนี้ ครึ่งชั่วโมงปิดงานได้เลย

“เรายังเลือกที่จะใช้สไลด์อยู่ อาจเพราะเราชอบการจัดสไลด์มากกว่าการจัดการไฟล์ และมันมีเสน่ห์มากกว่า มีความผิดพลาดซึ่งทำให้เกิดสิ่งน่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง เช่นตอนทำปก The Rescue เป็นเรื่องของเด็กที่บ้านถูกไฟไหม้ เราก็พยายามทำให้เกิดความหมายของไฟขึ้นมา ลองทำทุกอย่างแล้ว เผากระดาษก็แล้ว ก็ไม่ลงตัว พอดีไปเจอหัวฟิล์มที่เสียเพราะกระบวนการของร้านล้างฟิล์ม ทำให้มันมีสีออกส้ม ๆ ดำ ๆ พอลองเอามาสแกนขยาย ก็เออว่ะ ใช้ได้นะ บางทีเป็นความผิดพลาดเพราะชัตเตอร์มันลั่นเองตอนเก็บไว้ในกระเป๋า เราก็เก็บภาพนั้นไว้ เผื่อใช้ทับซ้อนกับสิ่งอื่นได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้จะไม่เกิดกับดิจิทัล เพราะคนจะติดนิสัยชอบลบ เราจะใช้ดิจิทัลเฉพาะการ snap สิ่งที่เราอยากจะจำ หรือเก็บไว้เป็นข้อมูลเท่านั้น”

แม้จะมีผลงานออกแบบปกมากมาย และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่ “วิธีทำ” ก็ไม่หยุดอยู่กับที่ นอกจากจะพัฒนาการทำงานในเชิงเทคนิควิธีการแล้ว พวกเขายังพัฒนากระบวนการความคิดด้วยการเปิดหูเปิดตารับประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ รวมถึงการเดินทางไปเยือนประเทศอื่น ๆ ที่ช่วยให้พวกเขาได้เห็นสังคมแบบใหม่ ๆ และได้ reset ทั้งสมองและร่างกาย

กิจกรรมหลักเวลาเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากเดินเล่น ถ่ายรูปแล้ว ยังมีกิจกรรมโปรดสำหรับปุ๊ก นั่นคือการเก็บเศษกระดาษและสิ่งของซึ่งอาจจะดูไร้สาระในสายตาคนอื่น ว่าแล้วปุ๊กก็เริ่มหยิบสมุด ๒-๓ เล่มที่แปะสิ่งสะสมกับรูปถ่ายแปลกๆ ที่เธอถ่ายไว้ มาอวดให้ฉันดูอย่างมีความสุข พลางคุยให้ฟังว่า “ของพวกนี้เราเก็บไว้เป็นต้นทุนความคิดมากกว่า ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ใช้มันวันไหน เราเก็บไว้ดูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ดูว่ามีทางเลือกไหนอีกในการสร้างงาน และไม่จำเป็นว่าจะคิดงานแล้วถึงมาเปิดดู บางวันเบื่อ ๆ ก็เปิดดูก็ได้ แล้วมันจะฝังเข้าไปในความคิดเราโดยไม่รู้ตัว

“เวลาไปเที่ยว ปุ๊กจะเก็บของพวกนี้มาเยอะมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ไปยุโรป ๓ เดือน ปุ๊กก็เก็บไปเพลิน ๆ แบกกองกระดาษนั้นไปเรื่อย ๆ จนครึ่งทริป หนักมาก แล้วก็ลืมนึกไปว่าจะต้องขึ้นเครื่องบิน low cost ไปอีกเมือง ซึ่งจำกัดน้ำหนักสิ่งของ ปรากฏว่าน้ำหนักเกินหลายกิโล ก็เลยต้องเลือกบางอย่างทิ้ง ตอนนั้นอาจจะน้ำตาไหลเล็กน้อยด้วยความเสียดาย…สุดท้ายน้ำหนักก็ยังเกินอยู่ ก็ยอมจ่ายเงินไปเพื่อเศษกระดาษบ้า ๆ ของเรานี่แหละ เรามีเพื่อนที่เป็นอย่างนี้เหมือนกัน บางทีเก็บมาเผื่อกันด้วย เราคิดว่าคนที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์จะต้องเป็นโรคนี้ ไม่มากก็น้อย”

เทปคาสเส็ตต์ความยาว ๓ ชั่วโมงกว่าที่บันทึกคำให้สัมภาษณ์ของ “วิธีทำ” ไว้ ไม่ได้บรรจุไว้เพียงวิธีคิดในเชิงการออกแบบที่สร้างสรรค์ และชีวิตการทำงานที่สนุกสนานของหนุ่มสาวคู่นี้เท่านั้น หากยังบรรจุวิธีคิดอันน่าสนใจในการเลือกรับงานและทำงานกับสำนักพิมพ์ไว้ด้วย

“เราชอบทำงานกับคนที่รู้จักวิธีทำงานและวิธีคิดของเรา ให้เราทำเพราะไว้ใจเรา เชื่อในการทำงานของเรา ทำงานไปพร้อม ๆ กับเราเพื่อให้หนังสือออกมาสวย ดี และคนอ่านมีความสุข แต่ถ้าไม่เคยทำงานร่วมกัน แล้วมีเงื่อนไขแปลก ๆ เช่น จะแก้งานให้เขากี่ครั้ง เราก็จะอธิบายให้เขาฟังว่า ในเมื่องานออกแบบปกมันเป็นชื่อของเรา เราก็ควรจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เราจะไม่ตามใจสำนักพิมพ์หรือนักเขียน เพราะถ้าเขารู้ว่าอยากได้แบบไหน ก็แค่หาคนใช้เครื่องมือเป็นมาทำ ไม่ต้องจ้างเรา ถ้าเราแก้ตามที่เขาต้องการทุกครั้ง เราก็จะกลายเป็นแค่คนใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นักออกแบบ

“ถ้าไม่มีความเชื่อ ก็จะเกิดคำถามที่รบกวนความคิดสร้างสรรค์ของเราตลอดเวลา เช่น ทำไมต้องใช้ฟอนต์นี้ ทำไมต้องสปอตยูวีตรงนี้ คือเราไม่ได้มีเหตุผลสำหรับทุกรายละเอียดในการออกแบบ เพราะเราไม่ได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่เราทำงานศิลปะ มันต้องใช้ความรู้สึกบ้าง

“เวลาเรารับงานมาอ่าน ส่วนใหญ่เราจะไม่รับ brief จากสำนักพิมพ์ ไม่ต้องการรู้กลุ่มเป้าหมาย หรือแผนการตลาด เพราะเราต้องการเริ่มจากความว่างเปล่า สิ่งที่เราทำออกมา เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนั้น ถ้าไม่ชอบก็ต้องตอบเราให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่…ไม่รู้ดิ พี่ว่าไม่สวย แล้วใครจะวัดความสวยล่ะ ถ้าต้องเล่นเกมเดาใจ เดารสนิยมเมื่อไร เราก็จะไม่ทำ

“ประโยคที่เราไม่อยากได้ยินเลยคือ…ทำ ๆ มาเถอะ เรื่องขายได้อยู่แล้ว ถ้าได้ยินอย่างนี้ ปุ๊กก็จะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นคุณให้ใครทำก็ได้ หรือไปหน้าราม ให้เขาใส่กระดาษหนังช้างสีฟ้ากับกระดูกงู ก็ขายได้นี่ เราต้องพูดให้เขาคิดได้ว่าควรต้องใส่ใจหน่อย ยังไงก็ต้องเสียเพลตสี่สี ก็ควรจะต้องทำให้ดีที่สุด”

ปุ๊กและหนุ่ยบอกว่าพวกเขาดีใจที่มีคนให้การยอมรับงานของ “วิธีทำ” แต่จริงๆ ความสุขของพวกเขาเกิดขึ้นในหลาย ๆ จุดก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการได้มีโอกาสทำงานที่พวกเขารัก ได้มีผลงานตีพิมพ์ออกสู่สายตาคนอื่น “เราคาดหวังจากความรู้สึกของตัวเองก่อน ถ้าเราชอบ คนอื่นจะชอบหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเรามีความสุขกับงานของเราแล้ว สิ่งอื่น ๆ ก็จะตามมาเอง

“ถามว่าเงินสำคัญไหม ก็สำคัญ เพราะทุกคนต้องใช้เงิน แต่เงินไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง งานชิ้นไหนที่เรารู้สึกว่าคิดไม่ออก ทำไม่ได้ เราก็จะส่งคืน ไม่ทำ หรือหนังสือแปลที่ปกเดิมดีอยู่แล้ว เราไม่สามารถทำให้ดีกว่าได้ เราก็จะขอให้เขาใช้ปกเดิม ถ้าคิดว่าทำ ๆ ไปเถอะ ทำแล้วก็ได้ตังค์ แต่ได้ตังค์มาแล้วไงล่ะ ได้มาก็ใช้หมด แต่ที่มันยังอยู่ไปอีกนานคือผลงานที่เรารู้สึกว่า…อี๋ ทำทำไมวะ อันเดิมสวยกว่าอีก…เหมือนเป็นการฝังชิปร้าย ๆ ในตัวเอง

“ถ้าจะถามเรื่องประสบความสำเร็จ เราไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จคืออะไรด้วยซ้ำ จริง ๆ ความสำเร็จคือทุก ๆ ก้าวที่เราเดินไป อ่านหนังสือจบ คิดออก ทำเล่มนี้เสร็จตรงตามเวลา ได้อย่างที่เราคิด นั่นคือประสบความสำเร็จในจุดเล็ก ๆ ๆ ๆ มาเรื่อย ๆ เรื่องประสบความสำเร็จในชีวิตคงไม่มีมั้ง เพราะเราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะไปถึงไหน ปกหนังสือในอนาคตอาจจะเป็นแบบ…พอเอามือแตะ ปกก็เปลี่ยนเป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัว และ interactive สุด ๆ ก็ได้

“เราไม่ได้จะตั้งตนเป็นกูรูด้านการออกแบบปก และไม่ได้เป็นความตั้งใจว่าจะต้องทำเป็นอาชีพไหม เราพยายามเป็นนักออกแบบที่ออกแบบอะไรก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่างตอนนี้เราก็อยากออกแบบหนังสือเรียนให้น่าอ่าน มี interactive กับเด็กมากขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กจำได้ดีขึ้นและรักการอ่านมากขึ้น อยากจะทำหนังสือ โลกของเรา ให้มียีราฟพุ่งออกมาจากไนจีเรีย ทำหนังสือเรียนภาษาไทยชุด ทักษสัมพันธ์ ที่มีกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ให้เป็นหนังสือเรียนที่น่าสนุก เพราะจริงๆ เรื่องนี้มันน่าเรียนนะ แต่รูปแบบที่มันติดตาผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้รู้สึกว่าแค่เปิด ยังไม่ทันได้อ่าน เด็ก ๆ ก็หลับแล้ว

“เราเชื่อว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของทุกคน ถ้าพยายามทำทุก ๆ โอกาสที่เข้ามาให้ดีที่สุด ใช้โอกาสที่มีอยู่อย่างเต็มที่ บางทีคุณอาจจะได้อะไรที่มีค่ามากกว่าเงิน”

 

ขอขอบคุณ :

คุณปริยา พงษ์เวช เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

คุณภานี ลอยเกตุ สำนักพิมพ์มติชน เอื้อเฟื้อประสบการณ์ในการทำงานกับ “วิธีทำ”