สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงานและถ่ายภาพ

news3

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร คือพื้นที่ที่กำลังถูกเคลียร์เพื่อการท่องเที่ยว

สิงหาคม ๒๕๔๙…หมู่บ้านเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

วันที่เราพบพ่อใหญ่สุรินทร์ ตั้งมั่น หนึ่งในผู้พิการอันเนื่องจากกับระเบิดซึ่งมีอยู่ครึ่งค่อนหมู่บ้าน เรื่องราวต่าง ๆ ก็พรั่งพรูออกจากปากผู้ชราหลังเจ้าตัวทนอัดอั้นตันใจมานานนับสิบปี

“มันเกิดขึ้นตอนเฮาหนุ่ม ๆ”

แล้วพ่อใหญ่ก็เล่าเรื่องราวแต่หนหลังที่ตัวแกกับเพื่อนอีก ๓ คนออกจากหมู่บ้านไปทำไร่ กระทั่งไปถึงบริเวณภูกระแซง จากนั้นเสียง “ตูม” ก็ดังขึ้น

ร่างชายคนหนึ่งลอยละลิ่วขึ้นกลางอากาศ ก่อนตกมากระแทกพื้นพร้อมสติอันเลือนราง

เขารู้ตัวว่าเหยียบ “กับระเบิด” เข้าแล้ว

“พอรู้ว่าขาขาดก็ต้องพยายามเอาผ้ารัดไม่ให้เลือดไหล คนอื่นก็ช่วยกันหามออกมา เอาผ้าที่หาได้ทำเป็นเปล ขาอีกข้างหนึ่งก็ทิ้งไว้แถวนั้น พอถึงมือหมอ รักษาไม่กี่ชั่วโมงเขาก็ไล่กลับ เสียค่ารักษาไป ๑,๐๐๐ บาท ออกจากโรงพยาบาลทั้งที่เลือดยังไหลซิบ ๆ จนพักหนึ่งมันถึงหยุดไปเอง ในใจลึก ๆ คิดว่าตัวเองต้องตายแน่ แต่ก็รอดมาได้ บางทียังอดคิดไม่ได้ว่าทำไมไม่ตายเสียตอนนั้น”

พ่อใหญ่นั่งนิ่งงันยามเมื่อรำลึกถึงความหลัง

พ่อใหญ่สุรินทร์มิใช่ผู้โชคร้ายเพียงรายเดียวที่ต้องพิการเพราะเหยียบกับระเบิด ยังมีคนอีกครึ่งค่อนหมู่บ้านที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน

“คนที่นี่เหยียบกับระเบิดกันประจำ โดยเฉพาะเวลาออกไปหาของป่า รู้ทั้งรู้ว่ามีระเบิดก็ยังไป เพราะมันจำเป็น พวกเราต้องทำมาหากิน รอดมาได้ก็อาศัยว่าโชคช่วย เพราะไม่รู้เลยว่าครั้งไหนใครจะโดน ส่วนมากถ้าเหยียบกับระเบิดเข้าก็ตายคาที่เพราะสะเก็ดระเบิด ที่ไม่ตายก็พิการ ขาขาด แขนขาด” ลุงเหรียญ ไชยขันตรี ผู้ประสบภัยจากกับระเบิดอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงหดหู่

ไม่แปลกเลย…ที่ผู้มาเยือนอย่างเราจะพบคนพิการอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านเสาธงชัย บ้างก็ใส่ขาเทียมเดินกะโผลกกะเผลกไปมา บ้างก็กำลังรวบขาเทียมเข้ากับท่อนขาเพื่อที่จะก้าวขึ้นรถมอเตอร์ไซค์แล้วขับออกไป บ้างก็นั่งขยับขาเทียมที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมให้เข้าที่ ซึ่งนี่คือภาพปรกติในชีวิตประจำวันของคนในหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

รายงานการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด (Landmine Impact Survey Kingdom of Thailand) เมื่อปี ๒๕๔๔ ระบุว่าประเทศไทยมีกับระเบิดฝังอยู่ใต้ดินกินพื้นที่รวม ๒,๕๕๖ ล้านตารางเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ใน ๒๗ จังหวัดตลอดแนวชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชามีกับระเบิดฝังอยู่ถึง ๑,๓๕๐ ล้านตารางเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๕๓ ของพื้นที่ที่มีกับระเบิดฝังอยู่ทั้งประเทศ ก่อผลกระทบกับชาวบ้านถึง ๔๖๖ ชุมชน

เคยมีการทำสถิติว่า ใน ๑ วัน จะมีเสียงจากระเบิดที่ตกค้างพวกนี้ดังขึ้นถึง ๗๐ ครั้ง นั่นหมายถึงจำนวนผู้เหยียบกับระเบิด ๗๐ คนหรือมากกว่านั้นต่อวัน

แม้สงครามจะยุติไปนานแล้ว แต่กับระเบิดเหล่านี้ยังมีชีวิตของมันต่อเนื่องมาอีกเป็นหลายสิบปี แท้จริงแล้วกับระเบิดก็คือมือสังหารที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะพวกมันไม่สนว่าสงครามจบลงแล้วหรือไม่ มันทำหน้าที่อย่างเดียวคือ สังหารบุคคลที่บังเอิญไปเหยียบมันเข้าโดยไม่เลือกหน้าเท่านั้น

news1

กับระเบิดแบบ P40 ที่กู้ได้บริเวณช่องโอบก อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์

“กับระเบิดถ้าทิ้งไว้ไม่กู้ มันละลายเองบ่ได้” ชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยติดตลก (ร้าย)

ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น นานาชาติเองต่างก็ตระหนักถึงภัยจากกับระเบิดนับล้านลูกที่ตกค้างอยู่ตามพื้นที่ทั่วโลกที่เคยเป็นสมรภูมิรบมาก่อน ในปี ๒๕๔๐ จึงมีการทำ “อนุสัญญาออตตาวา” ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และกำหนดให้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (The 1997 treaty banning the use stockpiling and transfer of anti-personel landmines) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกด้วย โดยอนุสัญญานี้มีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องไม่ใช้ ไม่พัฒนา ไม่ช่วยเหลือผู้อื่นทำกิจการเกี่ยวกับทุ่นระเบิด ต้องทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีในคลังให้หมดภายใน ๔ ปีนับแต่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ และต้องทำลายทุ่นระเบิดที่อยู่นอกคลังหรือทุ่นระเบิดที่ตกค้างตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีนับตั้งแต่เข้าเป็นภาคี

สำหรับไทย อนุสัญญาฯ มีผลบังคับเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ทำลายกับระเบิดในคลังอาวุธเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนเมษายนปี ๒๕๔๖ โดยสงวนไว้สำหรับการศึกษาจำนวนหนึ่ง แต่การทำลายกับระเบิดที่ตกค้างอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ นั้นยังเป็นปัญหาใหญ่

อีวัน เตโบต์ ผู้อำนวยการองค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชันแนล โครงการในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและการสู้รบ รวมถึงเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดให้ชาวบ้านตามแนวชายแดนใน ๕๐ ประเทศทั่วโลก กล่าวถึงปัญหาทุ่นระเบิดในประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า

“๗ ปีที่ผ่านมา ไทยเก็บกู้กับระเบิดที่ตกค้างได้เพียงร้อยละ ๐.๓ ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีกับระเบิดฝังอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ คงต้องใช้เวลาอีก ๒,๐๐๐ ปีถึงจะกู้ได้ทั้งหมด ประชาชนราว ๕ แสนคนต้องประสบชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดา เพราะพวกเขาอาศัยในพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่จำนวนมาก”

แน่นอน ผู้โชคร้ายอย่างพ่อใหญ่สุรินทร์หรือลุงเหรียญจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งโดยหลักการเขาจะกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพที่รัฐต้องดูแลช่วยเหลือ แต่ในความเป็นจริง ผู้ประสบภัยจากกับระเบิดจำนวนมากกลับไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐไทยด้วยซ้ำ

อรุณ ศรีแก้ว ผู้ประสบภัยจากกับระเบิดในป่าเมื่อหลายปีก่อนเล่าว่า “วันที่ผมโดนกับระเบิด พ่อและอาของผมก็โดนด้วย พ่อผมหลังเละเลย ส่วนอาผมตาย ตอนหลังเจ้าหน้าที่ไปกู้กับระเบิดตรงนั้นได้ถึง ๔๗ ลูก ราชการไม่ช่วยเหลือผู้เหยียบกับระเบิดเลย ผมเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว เพราะหลังจากโดนระเบิดสภาพร่างกายก็เปลี่ยนไป สภาพจิตใจยิ่งไม่ต้องพูดถึง สังคมก็ไม่ยอมรับ เมื่อก่อนเคยช่วยงานกิจกรรมของหมู่บ้านได้ พอไม่มีขา คนในหมู่บ้านก็ไม่เห็นความสำคัญ คิดว่าเราช่วยเขาไม่ได้แล้ว ไปหางานทำก็ไม่มีใครรับ น้อยใจมาก…

“สำคัญที่สุดคือกำลังใจ ทุกวันนี้พยายามสู้ชีวิต ไปเรียนเป็นช่างตัดผมแล้วเปิดร้านที่บ้าน มีรายได้วันละ ๓๐๐-๕๐๐ บาทหาเลี้ยงครอบครัว ตอนนี้ก็พออยู่ได้ แต่ต้องใช้เวลาทำใจนานเป็นปี”

แน่นอน มีคนที่ประสบเคราะห์กรรมอย่างเขามากมายตามแนวชายแดน

news2สภาพเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปตามหมู่บ้านแถบชายแดนไทย-กัมพูชา

ปัจจุบันภารกิจการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดตามอนุสัญญาออตตาวานั้นอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและตัวแทนจากทุกกระทรวงเป็นกรรมการ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด รับผิดชอบเรื่องนโยบาย และหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) รับผิดชอบด้านการกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐานสากล

ร.อ. กาญจน์ ฤทธิแผลง หัวหน้าชุดสำรวจเทคนิคหน่วยตรวจค้นและทำลายทุ่นระเบิด หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ ๓ ซึ่งปัจจุบัน (สิงหาคม ๒๕๔๙) ทีมของเขากู้กับระเบิดอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เล่าถึงสถานการณ์การเก็บกู้ในพื้นที่รับผิดชอบว่า

“พื้นที่หลายแห่งแถบชายแดนอีสานใต้เต็มไปด้วยกับระเบิด เรามีหลักว่าจะเก็บกู้ในพื้นที่ที่ ชาวบ้านต้องใช้งานก่อน เช่น พื้นที่การเกษตร วัด โรงเรียน เพื่อให้คุ้มกับงบประมาณและเวลาที่เสียไป

“ปี ๒๕๔๑-๒๕๔๒ มีการสำรวจพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่จนได้ข้อมูลออกมาทั้งหมด หน่วยเราจึงเริ่มงานกันในปี ๒๕๔๓ โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่กองกำลังสุรนารี เราทำหน้าที่เหมือนเป็นฐานลอยโดยย้ายที่ตั้งและที่ทำงานไปเรื่อย ๆ

“กำลังคนในขณะนี้ถือว่าเพียงพอ แต่ถ้าได้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นอีกก็จะประหยัดเวลาได้มากขึ้น เพราะการกู้กับระเบิดนั้นขั้นตอนสำคัญคือการเคลียร์หญ้าและสิ่งกีดขวางในพื้นที่ ซึ่งถ้าใช้แรงงานคนอาจกินเวลา ๑-๒ สัปดาห์ จากนั้นจึงใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดเข้าไปตรวจแล้วเก็บกู้ ถ้ามีรถแบ็กโฮที่ทนแรงระเบิดเอาไว้ตีหญ้า ดายหญ้า ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเก็บกู้ได้เร็วขึ้น เมื่อเก็บกู้แล้วก็จะมีคนจากส่วนกลางมาประเมิน แล้วนำข้อมูลกลับไปทำการลดพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดลง”

ด้วยกำลังคนที่มีอยู่และงบประมาณที่ นปท. แต่ละแห่งได้รับในแต่ละปีนั้น ทำให้การเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีกับระเบิดที่ต้องกู้ทั่วประเทศแล้วดูเหมือนว่าหนทางยังอีกยาวไกลนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อผูกพันในอนุสัญญาออตตาวากำหนดให้ไทยต้องกู้กับระเบิดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ก็แทบเป็นไปได้ยาก ในเมื่อขณะนี้ดำเนินการเก็บกู้ไปได้เพียงร้อยละ ๐.๓ ของพื้นที่ ๒,๕๕๖ ล้านตารางเมตร ไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐบาลไทยกำลังจะปรับลดงบประมาณและระดับยศของนายทหารที่จะมาดูแล ศทช. ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภารกิจดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนท่านหนึ่งกล่าวอย่างเหลืออดว่า “ดูจากที่ผ่านมาเราคงคาดหวังกับรัฐบาลไม่ได้มากนัก เพราะจากปีแรกที่เริ่มเก็บกู้เขาให้งบประมาณ ๔๐ ล้านบาท ปีต่อมา ๑๗ ล้านบาท และปีต่อ ๆ มาก็ลดลงเรื่อย ๆ ตอนนี้ ผอ.ศทช. ยศเป็นพลตรีก็จะปรับลดเป็นพันเอกพิเศษ องค์กรเอกชนอย่างเราขอเงินต่างชาติก็ไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาล (สมัยทักษิณ) ประกาศว่าจะไม่รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ อย่างเช่นกองทุนของประเทศแคนาดาเขาก็บอกว่าจะช่วยอีก ๒ ปีสุดท้าย ที่ให้ทุนมาเพราะความสนิทสนม ขณะนี้รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ สิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้ก็คือการให้ความรู้กับครูในพื้นที่อันตราย เช่นจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เพื่อช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากการเหยียบกับระเบิด”

ดูเหมือนว่าเมื่อสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผู้ประสบภัยจากกับระเบิดอย่างพ่อใหญ่สุรินทร์ก็ได้แต่ปลงเท่านั้น…

“เฮาคงต้องอยู่กับระเบิดไปอีกนาน” พ่อใหญ่สุรินทร์ว่าไว้เช่นนั้น