ฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ และ จริยา เสนพงศ์ WWF ประเทศไทย : รายงาน
WWF ประเทศไทย / ฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ : ถ่ายภาพ
mine2 บริเวณเขตฟื้นฟูสัตว์ป่าปรองดี้ (ภาพ : นเรศณ์ เสือทุเรียน)
mine3 จากร่องรอยของฝูงกระทิงที่สำรวจพบทุกปี จะมีรอยของลูกกระทิงปะปนอยู่ด้วยเสมอ แสดงให้เห็นว่ากระทิงที่อาศัยในพื้นที่ปรองดี้มีการเพิ่มประชากร
mine4 ในทุกๆ ปีที่มีการสำรวจจะพบเห็นร่องรอยการปรากฏตัวของสมเสร็จด้วยเสมอ โดยร่องรอยที่พบมักจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณใกล้กับลำห้วยและสันเขา ซึ่งเป็นแหล่งที่สมเสร็จชอบอาศัย
mine5 ประชากรเก้งเพิ่มขึ้นในทุกปีที่สำรวจ เห็นได้จากร่องรอยการกินอาหารและการคายเมล็ดกองไว้ ที่จะพบเห็นได้ในเกือบทุกเส้นสำรวจ คาดว่าตกเป็นเหยื่อของเสือดาวที่ปรากฏร่องรอยอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอดเช่นกัน
หลายคนอาจยังจำได้ดีถึงข่าวอื้อฉาวในปี ๒๕๑๖ เมื่อครั้งเฮลิคอปเตอร์ของคณะนายทหารและดาราดังตกที่นครปฐมหลังจากลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ เป็นเหตุให้ซากสัตว์ตกกระจายเกลื่อน ข่าวที่กลายมาเป็นชนวนในการลุกฮือของขบวนการนักศึกษาและประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการทหารในสมัยนั้น
แต่อาจมีไม่กี่คนที่จำได้ถึงเหตุการณ์ในปี ๒๕๓๘ เมื่อมีการทลายเหมืองแร่เถื่อนที่ลักลอบดำเนินการในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ฯ อย่างต่อเนื่องมากว่า ๓๕ ปี–เหมืองแร่เถื่อนซึ่งเป้าหมายแท้จริงมิได้อยู่ที่การทำเหมือง หากอยู่ที่การลักลอบล่าสัตว์ป่าไปขาย จนเป็นเหตุให้สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ การบุกเข้าทลายเหมืองแร่เถื่อนครั้งนั้นจึงถือเป็นการปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าครั้งสำคัญในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ผ่านมา ๑๒ ปี ขณะที่สถานภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัว ข่าวคราวการวิ่งเต้นขอกลับเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่จากเจ้าของเหมืองที่ยังไม่หมดอายุประทานบัตรก็เริ่มมีมาให้ได้ยินอีกครั้ง
………………………………………………………..
ทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี ๒๕๑๗ โดยต่อมาได้มีการประกาศผนวกพื้นที่บางส่วนทางตอนใต้เพิ่มเติม ทำให้ทุ่งใหญ่ฯ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดของประเทศ (๓,๖๔๗ ตร.กม. หรือ ๒,๒๗๙,๕๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัด คือ กาญจนบุรีและตาก) ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีประเภทป่าที่หลากหลาย โดยเฉพาะป่าทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ ทั้งยังมีอาณาเขตต่อเนื่องกับผืนป่าของพม่าทางทิศตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทางทิศตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางทางทิศเหนือ รวมถึงป่าอนุรักษ์อีกหลายแห่งทางทิศใต้ ทำให้ทุ่งใหญ่ฯ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและเส้นทางสัญจรที่สำคัญของสัตว์ป่าหลายชนิด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ทุ่งใหญ่ฯ จะเป็นจุดหมายของพรานและกลุ่มผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่ามานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้ภายหลังจากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ และห้วยขาแข้งซึ่งอยู่ติดกันทางทิศตะวันออกได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี ๒๕๓๔ แล้วก็ตาม
ที่ผ่านมา การลักลอบล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่ฯ เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ในรูปแบบต่างๆ กัน หากแต่ใครจะคาดคิดว่า การเปิดสัมปทานทำเหมืองรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันและต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดถึงกับสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่
mine1
แผนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก แสดงที่ตั้งของเหมืองแร่พุจือในอดีต และเหมืองโมนิโก้ (เหมืองเกาหลี) ที่มีการพยายามขอดำเนินการใหม่อีกครั้ง ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากเขตฟื้นฟูสัตว์ป่าปรองดี้ การเปิดเหมืองย่อมคุกคามต่อสถานภาพของประชากรสัตว์ป่าที่กำลังฟื้นตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตำนานเหมืองแร่เถื่อนและการล่าสัตว์
ราวปี ๒๕๐๐ บริษัทผลแอนด์ซัน จำกัด ได้เข้ามาสำรวจแร่บริเวณพื้นที่ที่ติดกับแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “พุจือ” เนื้อที่ประมาณ ๒ หมื่นไร่ และต่อมาได้ขอสัมปทานทำแร่ในพื้นที่ดังกล่าว และด้วยเหตุที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ยากแก่การเข้าถึง ผู้ได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่จึงถือโอกาสสำรวจและทำเหมืองนอกเขตที่ได้รับสัมปทานด้วย โดยนับแต่ปี ๒๕๐๓ เป็นต้นมา บริษัทดังกล่าวได้ส่งคนงานเข้าไปสำรวจและขุดเจาะแร่ในพื้นที่ป่าบริเวณที่เรียกว่า “ปรองดี้” โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย อ้างว่าเป็นการสำรวจ ยังไม่ได้ทำเหมืองแต่อย่างใด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การลักลอบทำเหมืองนอกเขตสัมปทาน หากอยู่ที่การลักลอบล่าสัตว์อย่างเป็นล่ำเป็นสันของเหล่าคนงานเหมืองแร่
ปรองดี้เป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีพื้นที่ประมาณ ๑๖ ตร.กม. มีประเภทป่าที่หลากหลายรวมทั้งแหล่งน้ำ จึงนับเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่อสัตว์ป่าเนื่องจากมีน้ำและอาหารอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสัญจรของสัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่างกระทิงที่เคลื่อนย้ายหากินเป็นบริเวณกว้าง
กิจกรรมการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ปรองดี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสัตว์ป่าในแง่ของการคุกคามทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย หากยังส่งผลกระทบทางตรงที่รุนแรงยิ่งต่อสัตว์ป่า เนื่องจากมีการลักลอบล่าสัตว์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อนำไปขายยังนอกพื้นที่ โดยขนส่งเขาและซากสัตว์ไปกับรถขนแร่ ทั้งนี้การล่าสัตว์ในลักษณะดังกล่าวมักจะเน้นหนักไปที่สัตว์ป่าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น กระทิง เก้ง กวาง หมูป่า หมี เสือโคร่ง ค่าง ชะนี เพื่อเอาเนื้อ หนัง เขา กระดูก เลือด หรือตัวเป็นๆ จึงไม่แปลกอะไรที่การล่าสัตว์ในพื้นที่ปรองดี้ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า ๓๐ ปีได้ทำให้สัตว์ป่าอย่าง ช้าง กระทิง กวาง สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ ขณะที่หมูป่า เก้ง ค่าง และชะนี ก็ลดจำนวนลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่ทางกรมป่าไม้ ร่วมกับทหารพราน ชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ บุกเข้าทลายเหมืองแร่เถื่อนพร้อมจับกุมคนงานเหมืองแร่ที่ลักลอบล่าสัตว์ป่าในปี ๒๕๓๘ ความตั้งใจที่จะฟื้นฟูผืนป่าและเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ปรองดี้ให้กลับคืนมาก็เริ่มต้นขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านจะแกและทิไลป้า และ WWF ประเทศไทย ได้ร่วมมือกันพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังดูแลพื้นที่และติดตามการฟื้นตัวของสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง
การตรวจสอบสถานภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ปรองดี้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๔๒ โดยใช้วิธีการเดินสำรวจนับร่องรอยของสัตว์ป่าตาม “เส้นสำรวจร่องรอย” (strip transect) ในพื้นที่ป่า ๒ ประเภทที่มีอยู่ในพื้นที่ คือ ป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ แบ่งกลุ่มสัตว์ป่าที่สำรวจออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกคือ สัตว์กินพืช ได้แก่ กระทิง เก้ง กวางและหมูป่า ซึ่งมักจะตกเป็นเหยื่อของสัตว์ในกลุ่มที่ ๒ คือ สัตว์ผู้ล่า ซึ่งได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว และหมาใน ส่วนกลุ่มที่ ๓ คือสัตว์ที่มีรูปแบบการหากินที่แตกต่างออกไปจาก ๒ กลุ่ม เช่น สมเสร็จ หมีคน และหมีควาย ทั้งนี้ร่องรอยของสัตว์ทุกกลุ่มที่ปรากฏบนเส้นสำรวจร่องรอยจะถูกบันทึกเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลและดูแนวโน้มของประชากรสัตว์ป่าแต่ละชนิด
ถึงปี ๒๕๔๕ “เขตฟื้นฟูสัตว์ป่าปรองดี้” ก็เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กับชาวบ้านหมู่บ้านจะแกและทิไล่ป้า ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ปรองดี้เป็นพื้นที่คุ้มครองพิเศษที่ปราศจากการล่าสัตว์ทุกชนิด
หลายปีผ่านไป การร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายดูจะให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โรเบิร์ต สไตน์เม็ตซ์ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ของ WWF ประเทศไทย ผู้ติดตามสถานภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ปรองดี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า รายงานผลการติดตามจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่กำลังฟื้นตัวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ว่า “สัตว์ป่าที่พบว่ามีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างชัดเจน คือ เก้ง กระทิง เราพบร่องรอยเก้งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๔ ในแต่ละปี ส่วนกระทิงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๑ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการหยุดล่าที่ต่อเนื่องกันมากว่า ๑๒ ปี ประกอบกับสภาพป่าในพื้นที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก แม้ในส่วนที่เสื่อมโทรมลงจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา จึงเหมาะแก่การเป็นแหล่งอาหารและที่หลบภัยให้แก่สัตว์ป่าที่จะเข้ามาหากินและใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยได้อย่างถาวร”
โรเบิร์ตอธิบายเพิ่มเติมว่า การฟื้นตัวของประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่เป็นไปใน ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ การเกิดและการอพยพเข้ามาในพื้นที่ “ในส่วนของกระทิงนั้น เราพบว่ามีการอพยพของกระทิงฝูงที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้ามาในพื้นที่ด้วย ส่วนหมูป่านั้นมีประชากรชุกชุมมากนับตั้งแต่ปีแร