เรื่อง : วิรตี ศรีอ่อน / ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์

ตามรอยทาง ติชนัทฮันห์ จากศานติในเรือนใจ สู่สันติภาพบนผืนโลก

สัญญากับฉัน

สัญญากับฉันวันนี้

สัญญากับฉันเดี๋ยวนี้

ขณะที่ตะวันอยู่เหนือศีรษะ

ณ จุดจอมฟ้า

สัญญากับฉัน

แม้ว่าพวกเขา

จะกระหน่ำเธอล้มลง

ด้วยขุนเขาแห่งความรุนแรงและเกลียดชัง

แม้เขาย่ำเหยียบ บดขยี้เธอ

ราวตัวหนอน

แม้เขาสับเธอจนแหลกและคว้านไส้พุงเธอ

จงจำไว้ น้องชาย

จงจำไว้

มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา

บทกวีชื่อ “คำแนะนำ”
จากหนังสือ เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง (Call Me by My True Names)
โดย ติชนัทฮันห์

 

สงครามและความขัดแย้งกว่าครึ่งค่อนทศวรรษในประเทศเวียดนาม สร้างบาดแผลและความปวดร้าวแก่ผู้คนหลายล้าน แต่กระนั้นภิกษุรูปหนึ่งกลับแปรเปลี่ยนพลังแห่งความคับแค้นและการประหัตประหาร ให้กลายเป็นพลังแห่งความรักและสันติ ด้วยภิกษุผู้เปรียบดังเช่นดอกไม้ในทะเลเพลิงรูปนี้เชื่ออยู่เสมอว่า ศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง หากเป็นความไม่รู้และความโกรธเกลียดภายในใจ เช่นนั้นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่คนเราต้องเข่นฆ่ากันและกัน

ชีวิตที่ผ่านแต่ความระทมทุกข์ สร้างหัวใจอันอ่อนโยนเปี่ยมรักได้อย่างไร ขอเชิญท่านซาบซึ้งในความมหัศจรรย์แห่งชีวิตของหลวงปู่ติชนัทฮันห์ ธรรมาจารย์ด้านพุทธศาสนานิกายเซนแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

สงครามและความทุกข์โศก

นับแต่ช่วงเวลาที่มหาอำนาจออกล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ เช่นเดียวกับที่เวียดนามตกอยู่ในการครอบครองของฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังมีสงครามเพื่อช่วงชิงดินแดนจากการบุกของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ฝรั่งเศสก็ยังเป็นผู้มีชัย เวลานั้นเองที่ขบวนการกู้ชาติเวียดมินห์ (ต่อมาถูกเรียกว่า เวียดกง) นำโดยโฮจิมินห์ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ และสามารถปลดแอกจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสได้ พร้อมสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งเวียดนามเหนือในเวลาต่อมา

หากการได้รับเอกราชในครั้งนั้นกลับเป็นเสมือนชัยชนะของเวียดนามเหนือ ขณะที่ชาวเวียดนามใต้ได้รับการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง เพราะในห้วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างชัดเจน คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ความแตกแยกในชาติขยายวงรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกจากนโยบายของโฮจิมินห์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือการกวาดล้างผู้นำและประชาชนผู้ที่ฝักใฝ่ฝรั่งเศส รวมถึงกำจัดผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์* ทำให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อต่อต้านนโยบายดังกล่าว ซึ่งภายหลังได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสจนพัฒนาไปเป็นสงครามกลางเมืองอีกหลายครั้ง
thichnhathanh02=
ติชนัทฮันห์ : ดอกไม้งามท่ามกลางทะเลเพลิง

 

 

หลวงปู่ติชนัทฮันห์มีนามเดิมว่า เหงียนซวนเบ๋า ถือกำเนิดที่จังหวัดกวงสี เขตเวียดนามตอนกลาง ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ความประทับใจครั้งสำคัญอันนำมาซึ่งชีวิตในเพศบรรพชิตเกิดขึ้นเมื่อท่านอายุ ๙ ขวบ ขณะเห็นปกหนังสือที่มีภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งบนสนามหญ้าด้วยรอยยิ้มสงบงามและเต็มไปด้วยความสุข ท่านจึงอยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง

เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ท่านจึงบวชเป็นสามเณรที่วัดตื่อฮิ้ว วัดเซนแห่งนี้เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ท่านได้เรียนรู้เรื่องการดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะในทุกการกระทำ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีก ๗ ปีต่อมา พร้อมได้รับฉายาว่า “ติชนัทฮันห์” ติช เป็นคำเรียกพระ หมายถึง ผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน นัทฮันห์ หมายถึง การกระทำเพียงหนึ่ง

ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

สองปีหลังจากนั้น สถานการณ์ในเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้น เพราะนอกจากความขัดแย้งระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้แล้ว ยังมีความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง โดยเฉพาะนโยบายต่อต้านพุทธศาสนาของโงดินห์เดียม ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ในขณะนั้น ที่หวังให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับตนเอง โดยเชื่อว่าเป็นทางเดียวที่จะนำประเทศชาติไปสู่การพัฒนาได้

ภายใต้นโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของพุทธศาสนิกชนทุกวิถีทาง แม้แต่การประดับธงที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวพุทธ ทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐเริ่มขยายตัวในหมู่ผู้คนมากขึ้นทุกขณะ สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งจุดไฟเผาตัวเอง และนักศึกษาผู้ร่วมต่อต้านถูกลอบสังหาร ดังนั้นพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ในเวียดนามจึงส่งจดหมายเชิญท่านติชนัทฮันห์ให้กลับไปร่วมแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

เมื่อกลับไปยังเวียดนาม ท่านติชนัทฮันห์ได้ก่อตั้งคณะเทียบหิน (The Sanga of Interbeing) และโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (the School of Youth for Social Services หรือ SYSS) ซึ่งต่อมากลายเป็นสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยแวนฮันห์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาด้านพุทธศาสนาในระดับสูง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการนำพุทธศาสนามาช่วยเหลือและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในระหว่างสงคราม (นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยพักพิงและหน่วยกู้ภัยเมื่อคราวเวียดนามเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในเวลาต่อมาด้วย) อาทิ การจัดตั้งศูนย์อนามัย ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพิงสอนหนังสือ การสร้างอาชีพเสริม เช่น การเพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น ท่านติชนัทฮันห์เรียกการนำพุทธศาสนามาปฏิบัติในแนวทางนี้ว่า เป็นการฝึกปฏิบัติ “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” (Engaged Buddhism) โดยยึดหลักสันติวิธี ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ “การเป็นหนึ่งเดียวกัน” หมายถึงความรักที่ไม่แบ่งแยก ไม่มี “ฉัน” หรือ “เธอ” กล่าวให้ง่ายคือ เราต่างเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

ท่านเล่าในปาฐกถาธรรมครั้งหนึ่งว่า “มีช่วงเดียวในชีวิตที่ฉันคิดเรื่องการลาสิกขา เพราะมีพระผู้ใหญ่มากมายพูดเรื่องความเมตตากรุณา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ความทุกข์ของสังคมลดน้อยลงไปเลย ทั้ง ๆ ที่มีแต่ความรุนแรง ความอยุติธรรมเกิดขึ้นทั่วไปหมด ในขณะนั้นฉันพบว่าแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นน่าสนใจมาก เพราะพวกเขาพูดถึงความเป็นธรรมในสังคม

“แต่เมื่อฉันได้เรียนรู้ประวัติศาสนาในเวียดนาม ฉันพบว่าพระพุทธศาสนาช่วยให้คนรอดพ้นวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงเลย ในขณะที่การเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ฉันอาจต้องจับปืนแม้ว่าจะไม่อยากฆ่าใครเลยก็ตาม ดังนั้นฉันจึงพยายามอยู่เสมอที่จะทำให้พุทธศาสนาสามารถรับใช้สังคมได้จริง ๆ”

ท่านติชนัทฮันห์เขียนบทกวีชื่อ “คำแนะนำ” ให้แก่อาสาสมัคร SYSS เพื่อใช้เป็นหลักสำหรับการทำงานที่ต้องเสี่ยงชีวิตในสงครามทุกวัน

“ฉันเขียนแนะนำพวกเขาให้เตรียมตัวตายโดยไม่มีความเกลียดชัง ก่อนหน้านั้นบางคนถูกความรุนแรงคร่าชีวิตไปแล้ว และฉันเตือนคนอื่น ๆ มิให้โกรธเกลียด ศัตรูของเราคือความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความคลั่งไคล้ และการแบ่งพวกแบ่งเหล่าของเราเอง

“หากเธอตายเพราะความรุนแรง เธอต้องเจริญเมตตาธรรมเพื่ออภัยให้ผู้ฆ่า เมื่อเธอตายโดยมีเมตตาธรรมนี้อยู่ในใจ เธอจะเป็นผู้เดินตามรอย ‘ท่านผู้ตื่นแล้ว’ อย่างแท้จริง”

ด้วยแนวคิดที่อ่อนโยนและทรงพลัง ทำให้กิจกรรมของท่านติชนัทฮันห์ได้รับการตอบรับจากเหล่าภิกษุ แม่ชี นักสังคมสงเคราะห์ และเยาวชนนับหมื่นคนที่ต้องการอุทิศตนเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นคือ เกาง็อกเฟือง (ซึ่งต่อมาบวชเป็นภิกษุณีที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มีนามว่าภิกษุณีเจิงคอม) สมาชิกยุคก่อตั้งของคณะเทียบหิน และเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของท่านติชนัทฮันห์ที่ทำให้งานเพื่อสังคมในเวียดนามดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี รวมทั้งช่วยให้สื่อต่างประเทศรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวียดนามอย่างถูกต้องโดยไม่ถูกบิดเบือน จนทำให้การเรียกร้องสันติภาพในเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ และเป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงนามเพื่อสันติภาพ ณ กรุงปารีสในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ท่านติชนัทฮันห์ยังได้ร่วมจัดตั้งสำนักพิมพ์ลาบอย (La Boi Press) รวมทั้งรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ของ Unified Buddhist Church เพื่อเผยแพร่ข้อเขียนที่ว่าด้วยพุทธศาสนาเพื่อสังคม และเรียกร้องสันติภาพจากผู้มีอำนาจทุกฝ่าย แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างหวาดกลัวและเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ สิ่งพิมพ์ของท่านจึงถูกรัฐบาลเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ห้ามเผยแพร่

เพียงไม่นาน รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโงดินห์เดียม ได้ส่งทหารเข้ามาใช้กำลังกวาดล้างผู้ร่วมโครงการ รวมทั้งกิจกรรมทั้งหลายอันอาจเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหวังให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ

และแล้วเหตุการณ์ที่สะเทือนใจท่านติชนัทฮันห์มากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งก็เกิดขึ้น เมื่อเด็ก ๆ ๕ คนจากโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคมถูกบุกเข้าจับกุมกลางดึก และถูกนำไปยิงทิ้งบริเวณริมแม่น้ำไซ่ง่อน โชคยังดีที่นักเรียนคนหนึ่งรอดชีวิต ทั้งหมดนั้นมีอายุยังไม่ถึง ๒๕ ปี และเด็กหนุ่มหนึ่งในนั้นอุทิศตนเพื่อเตรียมบวชเป็นพระในไม่ช้า แต่ต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้า

ท่านเขียนบรรยายความรู้สึกไว้ในหนังสือรวมบทกวีชื่อ เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง (Call Me by My True Names) ว่า

“ฉันอยู่ในปารีสเมื่อยินข่าวการสังหารนักเรียน ๔ คนของโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ฉันช่วยก่อตั้งขึ้น ฉันร้องไห้ เพื่อนคนหนึ่งของฉันชื่อคุณวินด์มิลเลอร์บอกว่า ‘ไถ่..ท่านไม่ควรร้อง ท่านเป็นขุนพลนำทัพผู้ไม่ใช้ความรุนแรง มันเป็นธรรมดาที่ท่านต้องทุกข์ทรมานกับเรื่องบาดเจ็บล้มตาย’ ฉันตอบว่า ‘ไม่หรอก ฉันไม่ใช่ขุนพล ฉันเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ฉันเองที่เป็นคนเรียกพวกเขาออกไปปฏิบัติภารกิจแล้วพวกเขาต้องมาตาย ฉันต้องร้องไห้’”

แม้ความทุกข์ถาโถมเพียงใด ท่านก็ยังเน้นย้ำให้ทุกคนทำสิ่งต่าง ๆ โดยสันติวิธี และเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะท่านเชื่อว่าผู้ฆ่าเองก็เป็นเหยื่อเช่นเดียวกับผู้ถูกฆ่า พวกเขาเป็นเหยื่อของการเห็นผิดเป็นชอบ จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกว่าเราเป็นฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความเจ็บปวดล้วนเป็นหนึ่งเดียวเสมอ แนวคิดนี้ถูกนำไปรณรงค์ในหัวข้อ “อย่ายิงพี่น้องของท่าน” เพื่อการเรียกร้องสันติภาพอีกหลายครั้งทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ
thichnhathanh03

หนทางสู่สันติภาพ

 

 

เวลานั้นสถานการณ์ในเวียดนามใต้ไม่เพียงแต่มีความขัดแย้งภายในซึ่งต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีโงดินห์เดียม แต่ยังมีความพยายามก่อรัฐประหารจากกลุ่มคนต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๗ ครั้ง รวมทั้งการแตกเป็นฝักฝ่ายในมหาเถรสมาคมที่มองว่ากลุ่มของท่านติชนัทฮันห์เป็นพวกนอกรีต

ขณะเดียวกันสงครามระหว่างเวียดนามฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ อันเป็นสงครามตัวแทนการต่อสู้ระหว่างแนวคิดคอมมิวนิสต์ (โดยการสนับสนุนของจีนและโซเวียต) กับประชาธิปไตย (โดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา) ก็ดำเนินไปอย่างรุนแรงและแหลมคมขึ้นทุกขณะ ด้วยเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเชื่อในทฤษฎีโดมิโนที่ว่า หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปเสียแล้ว ลัทธิดังกล่าวอาจแทรกซึมสู่ประเทศใกล้เคียง ทั้งลาว กัมพูชา ไทย จนลุกลามรุนแรงไปถึงออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ได้ ดังนั้นทหารอเมริกันจึงถูกส่งมาประจำการทั่วทั้งเวียดนามใต้เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ประเทศอื่น ๆ

ความหวาดผวาของทุกฝ่ายทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์เนื่องจากถูกสงสัยว่าเป็นสายลับให้ฝ่ายตรงข้าม การเข่นฆ่าประหัตประหารจึงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ในระหว่างที่สงครามทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านติชนัทฮันห์ได้รับการนิมนต์จาก the Fellowship of Reconciliation and Cornell ให้เดินทางมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนกล่าวถึงความปรารถนาและความเจ็บปวดของชาวเวียดนาม รวมทั้งเจรจาเพื่อการหยุดยิง ท่านได้แสดงความพยายามผ่านหลายวิถีทาง อาทิ การโน้มน้าวตัวแทนประเทศในเอเชียให้เสนอประเด็นเรื่องเวียดนามเข้าสู่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนซึ่งจัดโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ การเดินขบวนประท้วงอย่างสงบหน้าทำเนียบขาว และการเดินทางหาเสียงสนับสนุนให้ขบวนการสันติภาพในเวียดนาม ฯลฯ ด้วยเชื่อว่าปัญหาจะยุติลงได้หากมีการแก้ไขในระดับรากเหง้าที่แท้จริง ความพยามยามของท่านติชนัทฮันห์ทำให้ท่านได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Price) โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในเวลาต่อมา

แต่เจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของท่านก็ไม่ได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นเสมอไป ท่านบันทึกเหตุการณ์หนึ่งไว้ในหนังสือ Peace is Every Step หรือ สันติภาพทุกย่างก้าว ว่า

“เมื่อปี ๒๕๐๙ ที่ฉันอยู่ในอเมริกา เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในสงครามเวียดนาม มีเด็กหนุ่มผู้เรียกร้องสันติภาพคนหนึ่งยืนขึ้นระหว่างการพูดของฉัน พร้อมตะโกนว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านน่าจะทำคือ กลับประเทศของท่านและเอาชนะอเมริกาผู้ก้าวร้าว ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ท่านจะอยู่ที่นี่’

“เขาและคนอเมริกันจำนวนมากต้องการสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่ต้องมีฝ่ายชนะ เมื่อพวกเขาเรียกร้องให้หยุดยิงแต่ไม่บังเกิดผล เขาจึงคั่งแค้น แต่สำหรับเราชาวเวียดนาม ผู้ระทมทุกข์ภายใต้ลูกระเบิด จำเป็นต้องอยู่กับความจริงมากกว่านั้น เราต้องการสันติภาพ เราไม่สนใจชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของใคร เราเพียงต้องการให้ลูกระเบิดหยุดตกใส่พวกเรา แต่หลายคนก็คัดค้านข้อเสนอที่ให้หยุดยิงในทันที

“เมื่อฉันได้ยินเด็กหนุ่มตะโกนดังนั้น ฉันจึงหายใจลึก ๆ หลาย ๆ ครั้งเพื่อกลับมาสู่ตัวเอง แล้วจึงกล่าวว่า ‘ได้โปรด…เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่ารากเหง้าของสงครามอยู่ที่นี่ ในประเทศของท่าน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้ามาที่นี่ รากเหง้าประการหนึ่งคือทัศนะการมองโลก ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเหยื่อของนโยบายที่ผิดพลาด นโยบายที่เชื่อว่าการใช้อำนาจความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ชาวเวียดนามตาย ทั้งไม่อยากให้ทหารอเมริกันตายเช่นกัน’”

ในที่สุดภายหลังการเรียกร้องความสงบเพื่อเวียดนามในอเมริกา และการลงนามในข้อตกลงเพื่อสันติภาพบรรลุผล ท่านติชนัทฮันห์ถูกต่อต้านทั้งจากผู้นำเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ทำให้ถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖

หลังจากกองทัพทหารอเมริกันได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือจึงอาศัยช่วงจังหวะดังกล่าวเข้าโจมตีและครอบครองพื้นที่ทั้งหมด สงครามที่เคยยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีเป็นอันสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๘

แต่ความทุกข์ทรมานของประชาชนชาวเวียดนามไม่ได้สิ้นสุดลงเท่านั้น เพราะหลายคนตัดสินใจลอยเรือฝากชีวิตกลางทะเลอย่างไม่รู้จุดหมาย เพียงหวังให้มีชีวิตพ้นจากการปกครองแบบเผด็จการ คนเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า “Boat People”

นโยบายการเมืองที่เปราะบางทำให้หลายประเทศไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยดังกล่าว มีความพยายามผลักดันคนเหล่านี้กลับคืนสู่ทะเล ท่านติชนัทฮันห์จึงพยายามเจรจากับนานาประเทศเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมือง อีกทั้งขออนุมัติโควตาเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีพิเศษ จนในที่สุดได้รับการเห็นชอบจากประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ที่ให้โควตาผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามสูงถึง ๑ แสนคนต่อปี

หมู่บ้านพลัม : ต้นธารแห่งความรัก

ในห้วงเวลาก่อนสงครามในเวียดนามจะสงบลง ท่านติชนัทฮันห์ได้สร้างชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีสเพื่อเป็นแหล่งเจริญสติในหมู่ผู้ร่วมปฏิบัติงานเรียกร้องสันติภาพ โดยใช้ชื่อว่า “Sweet Potato” เพราะในเวลาที่แร้นแค้นที่สุดชนิดไม่มีข้าวกิน มันเทศจะเป็นอาหารเพียงชนิดเดียวที่ต่อชีวิตผู้คนได้ การตั้งชื่อว่ามันเทศก็เพื่อการรำลึกถึงชาวเวียดนาม—เพื่อนร่วมชาติที่ยากลำบากอีกหลายล้านคน

และเมื่อสงครามสิ้นสุด “Sweet Potato” ได้กลายเป็นแหล่งพักพิงและปรับตัวก่อนที่ผู้ลี้ภัยทั้งหลายจะออกไปมีชีวิตของตนเอง ในขณะที่มีหลายคนต้องการอยู่ในชุมชนเพื่อการฝึกปฏิบัติร่วมกันเป็นสังฆะ จนนำมาซึ่งการขยับขยายกลายเป็น “หมู่บ้านพลัม”(Plum Village) ณ เมืองบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส ให้เป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท ๔ ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในทุกขณะลมหายใจเข้าออก

หลังจากเปิดเป็นสถานที่ภาวนาสำหรับบุคคลทั่วไป ๑๐๐ คนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ปัจจุบันหมู่บ้านพลัมได้ต้อนรับผู้มาเยือนหลายพันคนจากหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการขยายสังฆะหมู่บ้านพลัมออกไปยังประเทศต่าง ๆ คือ อเมริกา เยอรมนี และเวียดนาม (ที่วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และวัดตื่อฮิ้ว วัดที่ท่านติชนัทฮันห์บวชเป็นสามเณร) รวมทั้งสิ้น ๑๒ แห่ง ทั้งยังมีกลุ่มสังฆะหรือกล่มผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติชนัทฮันห์กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกอีกกว่า ๑,๐๐๐ กลุ่ม ส่วนประเทศไทยมีสังฆะอยู่ที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา

 

 

“Peace in Oneself, Peace in the World” นี่คือถ้อยคำอันเป็นหัวใจสำคัญที่ท่านติชนัทฮันห์ต้องการสื่อสารสู่สังคม ภายใต้หัวข้อที่ว่า “สู่ศานติสมานฉันท์” ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ ๒๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง บุคคลต้องมีสันติในใจเป็นเบื้องต้น เช่นเดียวกับการที่คนเราจะสามารถมอบความรักให้แก่ผู้อื่นได้ ต้องเรียนรู้ที่จะรักตนเองให้ได้เสียก่อน

แนวทางการสอนของท่านจึงเน้นให้คนกลับไปสู่การเข้าใจตนเองถึงในระดับรากเหง้าของจิตใจเพื่อความสามารถในการรักตนเอง รวมถึงวิธีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการจัดการความขัดแย้งด้วยความรัก ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากพื้นฐานของความมีสติอันเป็นปาฏิหาริย์ที่เริ่มต้นจาก “ลมหายใจ” ของเราเอง วิธีการเหล่านั้นได้แก่

* สร้างสุขในทุกขณะ ลมหายใจเป็นเครื่องมือเดียวที่ช่วยนำกายและใจกลับมาอยู่รวมกัน นั่นเองที่ท่านเรียกว่า “ชีวิตที่แท้” เพราะเวลาเดียวที่เราเป็นเจ้าของคือปัจจุบันขณะ (ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต) ถ้าเรามีความสุขกับการตระหนักรู้ด้วยลมหายใจได้ เราจะเป็นเจ้าของชีวิตและมีความสุขอย่างแท้จริง (แม้ว่าอดีตเราจะไม่มีความสุข แต่ก็สร้างใหม่ได้ที่นี่เดี๋ยวนี้ด้วยลมหายใจ) การกลับมาอยู่กับลมหายใจยังเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของ “สันติที่แท้” เพราะทั้งกายและใจอยู่ในสภาวะที่ไร้ความเครียดโดยสิ้นเชิง ถ้าทุกคนเริ่มต้นจากสันติในใจ ย่อมร่วมกันสร้างสันติในสังคมได้

* การจัดการความขัดแย้งในใจด้วยความรัก ทุกครั้งที่เกิดอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น โกรธ เกลียด ท่านให้เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ ตามรู้การเคลื่อนไหวที่เข้าและออกเท่านั้นโดยไม่ต้องพูดหรือทำสิ่งใด เพื่อให้พลังแห่งสติโอบรัดความรู้สึกที่ไม่ดีนั้นไว้เสมือนแม่โอบกอดลูกน้อย เมื่อฝึกฝนบ่อยขึ้น พลังแห่งสติของเราจะแข็งแรงขึ้น และอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ ก็จะเกิดได้ยากขึ้นหรือมีพลังลดน้อยลง วิธีการนี้ช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงความสามารถในการแปรเปลี่ยนความทุกข์ของตนเอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น พึ่งคนอื่นน้อยลง ทั้งยังอาจเป็นที่พึ่งพิงแก่บุคคลอื่นได้ด้วย

* การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นคำแนะนำทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เราสามารถฟังตนเองได้ด้วยการตามรู้ลมหายใจเพื่อให้นิ่งเพียงพอที่จะได้ยินเสียงและความต้องการภายในของตน ไม่ใช่การกลบเกลื่อนหรือปกปิดความรู้สึกในใจเอาไว้ด้วยการหันเหไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ดูหนังฟังเพลงเพื่อคลายเหงา วิธีการนี้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ถูกต้องจากรากเหง้าที่แท้จริง

การฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งหมายถึงการฟังอย่างเปิดหัวใจ โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือคำแนะนำใด ๆ ในใจ ฟังให้ลึกซึ้งจนเสมือนว่าความทุกข์นั้นเป็นดั่งความทุกข์ของเราเอง การฟังอย่างตั้งใจนี้ก็เพื่อแบ่งเบาความทุกข์ในใจของผู้อื่น ซึ่งท่านติชนัทฮันห์กล่าวว่า “แค่เพียงเราฟังอย่างลึกซึ้ง ความทุกข์ของเขาก็ได้รับการปลดเปลื้องไปแล้วกว่าครึ่ง แม้ว่าเรายังไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ เลยก็ตาม”

* การใช้วาจาแห่งความรัก หากเราได้รับฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจต้นเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้ของคนที่อยู่ตรงหน้า และเข้าใจด้วยว่าเราเองก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้อื่นทุกข์ ดังนั้นการมีสติและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจึงช่วยให้เราฟื้นฟูความสัมพันธ์และสื่อสารกันได้ด้วยวาจาแห่งความรัก วิธีการนี้หมู่บ้านพลัมเคยจัดให้ชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ได้ฝึกปฏิบัติร่วมกัน และได้ผลที่ดีมากเพราะทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจความทุกข์ของกันและกันอย่างลึกซึ้ง และนำไปอบรมต่อในประเทศของตนเอง

* การมองอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้มองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง สิ่งที่เรากระทำลงไปย่อมมีผลต่อผู้อื่นหรือโลกใบนี้ และสิ่งนั้นจะคืนกลับมาสู่เราทางใดทางหนึ่งเสมอ ดังนั้นความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เราเกิดความรักที่แท้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน (Interbeing) โดยไม่มีการแบ่งแยก เพื่อให้เราสามารถบริโภคอย่างมีสติ หรือสนับสนุนนโยบายที่เอื้อให้เกิดความดีงามและชอบธรรมในสังคม

 

……………………………

 

รอยยิ้มของท่านติชนัทฮันห์ในวัย ๘๒ แลดูอ่อนโยน สงบงามและลึกซึ้งจับจิตจับใจ หากมิได้ผ่านพ้นความทุกข์ทรมานอันยิ่งใหญ่มาก่อน ไฉนเลยท่านจะยิ้มได้งดงามเช่นนั้น

ท่านยิ้มราวกับจะบอกว่าเพราะโลกนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน

“ขบวนการสันติวิธีจะไปถึงวิถีสู่สันติภาพได้หรือไม่ ฉันคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าผู้คนในขบวนการสันติภาพมีศานติสุขหรือไม่ หากเราไม่สงบสุข เราก็ทำอะไรเพื่อสันติไม่ได้ หากเราไม่สามารถยิ้ม เราก็ไม่สามารถช่วยให้คนอื่นยิ้มได้

“หากเธอไม่สามารถสันติกับตัวเองได้แล้ว เธอก็ไม่สามารถสันติกับผู้อื่นได้เช่นกัน เพราะการยิ้ม การมีความสงบสุขในตัวเอง เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ”

บางทีสันติภาพอาจอยู่ใกล้แค่เรือนใจ เป็นเช่นเดียวกับที่ท่านกล่าวว่า “Peace in Oneself, Peace in the World” นั่นเอง

หมายเหตุ :

 

– ภาพท่านติชนัทฮันห์ในบทความนี้ เป็นภาพถ่ายระหว่างที่ท่านติชนัทฮันห์จาริกธรรมมายังประเทศไทย เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ ๒๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

– ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับท่านติชนัทฮันห์และสังฆะหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยได้ที่ www.thaiplumvillage.org

เอกสารอ้างอิง :

 

Chan Khong.(Cao Ngoc Phuong), Learning True Love: How I Learned & Practiced Social Change in Vietnam. Parallax Press, 1993.

ติชนัทฮันห์. ประชา หุตานุวัตร และ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ แปล. สันติภาพทุกย่างก้าว. สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๐.

ติชนัทฮันห์. ร. จันเสน แปล. เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง. สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๒.

นุชจรีย์ ชลคุป แปลและเรียบเรียง. แผ่นดินหอม (บันทึกส่วนตัวของติชนัทฮันห์ ปี ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๖๖). สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๕.

 

สายธารความคิดจากท่านติชนัทฮันห์ 

 

(เก็บความและเรียบเรียงจากเอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “๓ ทศวรรษสายธารความคิด ติชนัทฮันห์ กับสังคมไทย”

วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)

แนวคิดสันติวิธีโดยการใช้พลังแห่งความเมตตากรุณาของหลวงปู่ติชนัทฮันห์ เป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่เริ่มผลิดอกออกผลอย่างงดงาม เนื่องจากบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการพบปะพูดคุยกับท่าน ในงานอาศรมแปซิฟิก ที่จัดขึ้น ณ วัดผาลาด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ความดีงามแก่สังคมไทยและธำรงตนอยู่ในแนวทางแห่งสันติมาโดยตลอด อาทิ พระไพศาล วิสาโล รสนา โตสิตระกูล พจนา จันทรสันติ วิศิษฐ์ วังวิญญู ประชา หุตานุวัตร สันติสุข โสภณสิริ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นต้น

มาฟังความคิดของบุคคล ๒ ท่านว่า แนวคิดของท่านติชนัทฮันห์ มีอิทธิพลอย่างไรต่อความคิด ชีวิตและการทำงานในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา

thichnhathanh04พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ. ชัยภูมิ

(ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

“ประทับใจบทบาทของท่านติชนัทฮันห์เมื่อได้รับรู้เรื่องขบวนการชาวพุทธในเวียดนาม ทำให้รู้สึกว่าท่านเป็นฮีโร่ ในช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘ พวกเรารู้สึกเป็นทุกข์กับบ้านเมืองเพราะตอนนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ มาใหม่ ๆ และกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ มีความวุ่นวาย การลอบสังหาร การฆ่ากัน การปะทะกันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวากำลังเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น เราไม่รู้ว่าจะมีการนองเลือดกันเมื่อไร ขณะที่รอบบ้านเราคือเวียดนาม ลาว เขมร สงครามกำลังรุนแรงถึงขั้นจะยึดบ้านยึดเมืองกันแล้ว และปี ๒๕๑๘ เวียดนามก็ตกเป็นของคอมมิวนิสต์

“ที่ประทับใจเพราะเวลานั้นอาตมาไม่เชื่อเรื่องวิธีการใช้ความรุนแรง งานของไถ่กับขบวนการของท่านทำให้ทางเลือกที่ไม่ใช่ซ้ายและไม่ใช่ชวาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะสิ่งที่ขบวนการชาวพุทธของท่านทำคือ อุทิศตัวเพื่อสันติภาพโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อุทิศตัวโดยขับเคลื่อนความเมตตา กรุณา เสียสละ เอาชีวิตเข้าแลกท่ามกลางความขัดแย้งของคนสองฝ่าย ถือเป็นความกล้าหาญอย่างมาก

“ท่านทำให้ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว คือไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับชีวิตประจำวันหรือการทำงานเพื่อสังคม ถ้าทำด้วยใจสงบ มีสติ ท่านมีอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องชีวิตและโลก เรื่องความเมตตา การให้อภัย การไม่มองมนุษย์เป็นศัตรู เรื่องสติ เรื่องความสุขในชีวิตประจำวัน และการเป็นดั่งกันและกัน ซึ่งแรกๆ เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนหลังเราเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างเป็น ๒ ด้าน สิ่งที่เรามองว่าเป็นตรงกันข้าม จริงๆ แล้วคืออันเดียวกัน ทำให้เรามองโลกในลักษณะที่เข้าใจ มองผู้คนในลักษณะที่เข้าใจมากขึ้น และมองความจริงอย่างรอบด้านมากขึ้น”

thichnhathanh05รสนา โตสิตระกูล 

 

เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย

(ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

“จุดที่เราสนใจไถ่มากคือ ท่านได้เสนอรูปแบบและมีรูปธรรมให้เราเห็นในการต่อสู้ทางสังคม ขณะที่มีความรุนแรงของการแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย คนที่อยู่ตรงกลางจะดำรงตนได้อย่างไรในการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยไม่ตกไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

“ก่อนไถ่จะกลับ ท่านให้เอกสารมาชิ้นหนึ่ง เป็นบทที่เราเรียกว่าบทกัลยาณธรรม ๑๔ ข้อ คือการประยุกต์เอาศีล ๕ มาเป็นรูปแบบการปฏิบัติที่ค่อนข้างร่วมสมัย ซึ่งพวกเราหลายคนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ในแง่พุทธศาสนา ไถ่มีความพิเศษมากคือการพูดถึงพุทธศาสนาที่อยู่ในชีวิตของเรา ไม่ใช่โลกุตรธรรมกับโลกียธรรมที่แยกขาดออกจากกัน สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราสามารถเข้าถึงธรรมะที่ลึกซึ้ง เราจะไม่สามารถหลีกหนีจากความทุกข์ในโลก ไม่หลีกหนีที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา

“ตอนที่ทำเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูป กฟผ. หลายคนบอกว่าผีไปถึงป่าช้าแล้ว ยังจะทำอีกเหรอ พรรคพวกเพื่อนฝูงบอกว่า แล้วมันจะชนะเหรอ ตอนนั้นถามเพื่อนว่า มีแต่เรื่องที่จะชนะหรือที่เธอจะทำ เราต้องทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ

“หรือกรณีการเรียกร้องให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เรากลับไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นศาสนาประจำใจก่อน หากคนไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจจริง ๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ศาสนาก็จะเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ เป็นอุดมการณ์อีกแบบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้

“ชาวพุทธต้องไม่ต้องการแต่ความสงบอย่างเดียว บางครั้งเราต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบ และจริง ๆ การรับผิดชอบกับตัวเองก็คือการรับผิดชอบกับสังคม การรับผิดชอบกับสังคมก็คือการรับผิดชอบกับตัวเราเอง เพราะชีวิตของเราเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งในจักรวาล”

 

 

 

wirateesri onแนะนำนักเขียน 

 

วิรตี ศรีอ่อน

 

เป็นคนเชียงใหม่ เรียนจบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน เอกวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากเรียนจบในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกพอดี จึงผันตัวเองมาทำงานหนังสือตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งโชคดีว่าเป็นอาชีพที่รักเสียด้วย

เริ่มงานครั้งแรกกับมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา โดยรับผิดชอบทำวารสาร เกษตรกรรมธรรมชาติ จากนั้นย้ายมาทำงานที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ชีวจิต และนิตยสาร Health & Cuisine ตำแหน่งสุดท้ายคือเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Health & Cuisine มีผลงานพ็อกเกตบุ๊กคือ Living by Doing Nothing คู่มือความสุขง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการต้นฉบับพ็อกเกตบุ๊กหลายเล่ม

ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Future Thainews หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายปักษ์ เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมและทำเชียงใหม่ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

ด้วยความสนใจเรื่องปรัชญาและจิตวิญญาณเพื่อการเติบโตภายใน ประกอบกับได้เรียนรู้แนวทางการเจริญสติในชีวิตประจำวันเมื่อครั้งที่ภิกษุ-ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัมมาจัดอบรมการภาวนาที่ประเทศไทยในปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙ จึงศึกษาแนวคิดของท่านติชนัทฮันห์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมภาวนานำโดยท่านติชนัทฮันห์และคณะภิกษุ-ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ณ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนา จ. เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐

บทความว่าด้วยเรื่องราวของท่านติชนัทฮันห์ในสารคดีเล่มนี้จึงเป็นผลจากความศรัทธาและความประทับใจในการใช้ชีวิตตามแนวทางหมู่บ้านพลัมอย่างแท้จริง

(เชิงอรรถ)

* มุมมองที่มีต่อนโยบายของโฮจิมินห์นี้จึงเป็นผลจากประสบการณ์ของภิกษุณีเจิงคอมแห่งหมู่บ้านพลัมและประชาชนชาวเวียดนามใต้ที่ได้รับผลกระทบจริงในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการสะท้อนความทุกข์ยากและความพยายามอย่างหนักที่จะสร้างขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นจริงให้ได้-ผู้เขียน