อาสาสมัครกลุ่มละครมะขามป้อม
คุณสมบัติ
:มีความฮาเป็นอาวุธ มีความบ้าเป็นหัวใจ มีความหลากหลายเป็นเอกลักษณ์
อายุ :ไม่จำกัด
เวลาทำงาน :ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของโครงการ
อุปกรณ์ :ไม่จำเป็น
ติดต่อ :มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) โทร. ๐-๒๖๑๖-๘๔๗๓ หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.makhampom.net
mkpom 1

 

 

“โอ้แม่ปิงแสนงาม ฟ้าสีครามสดใส มองเห็นเรือพาย แล่นอยู่ในแม่ปิง”

นักแสดงในชุดระย้ากรุยกรายสีสันสดใสกำลังร้องเพลงจังหวะสนุกเล่าถึงความงาม ของแม่น้ำปิง พวกเขาในบทกุ้ง หอย ปู ปลา และสารพัดสัตว์น้ำ ร้องท่อนลูกคู่ “แสนง้าม แสนงาม” พร้อมท่าทางชวนขันเรียกเสียงหัวเราะร่วนจากเหล่าคนดูวัยประถม เมื่อถึงฉากที่บรรดาสัตว์น้ำต้องผจญกับขยะสกปรกในแม่น้ำปิง เด็กๆ ก็คอยลุ้นกันตาแป๋ว

หนึ่งในนักแสดงอาสาที่รับบทเป็น “เต่า” ในงานละครโรงเล็กเพื่อรณรงค์การแยกขยะ ที่โรงละครมะขามป้อม เชียงดาว ในครั้งนี้ คือคุณพ่อของน้องแป้งวัย ๕ ขวบ ต่อ-ดำเนิน ขุนประคำ เล่าว่าหลังจากน้องแป้งได้มาดูละครของมะขามป้อมเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดติดใจจนกลับมารบเร้าให้คุณพ่อมาสมัครเป็นนักแสดงเพราะอยากดูคุณพ่อ เล่นละครบ้าง พอดีกับที่โรงละครมะขามป้อมเปิดรับนักแสดงอาสาสมัคร คุณพ่อต่อจึงเข้ามาฝึกอบรมการแสดงกับเขาด้วย

นอกจากคุณพ่อนักแสดงอาสาแล้วก็ยังมี วันวิสาข์ แพดำ หรือดีเจกะละแมดอยเชียงดาว เป็นคุณแม่อาสาอีกคนที่คอยแวะเวียนมาช่วยงานที่โรงละครมะขามป้อม ในเวลางานเธอคือแม่ค้าขายสินค้าโอทอป และ “ดีเจกะละแม”อารมณ์ดีในรายการวิทยุชุมชนที่ชอบเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ส่วนเวลาว่างดีเจกะละแมก็ชอบมาเล่านิทานที่โรงละครมะขามป้อมแห่งนี้ และอาสาช่วยงานทั่วไปอย่างงานเก็บกวาดข้าวของก็ทำได้หมด

เธอคนนี้คือเจ้าของเสียงใสๆ ทางวิทยุชุมชนเมื่อเช้านี้ “เด็กๆ คะ เช้านี้ที่โรงละครมะขามป้อมจะมีกิจกรรมละครเรื่องรีไซเคิล พลาดไม่ได้เลยนะต้องมาดูกัน เนี่ยป้ากะละแมกับน้องข้าวตูก็จะมาร่วมกิจกรรมด้วย แล้วเจอกันที่โรงละครมะขามป้อมนะคะ”

ดีเจกะละแมเล่าว่าประทับใจกิจกรรมที่สร้างสรรค์ การสื่อสารด้วยละครสร้างความสุขและประโยชน์ให้เด็กๆ ไปพร้อมกัน เมื่อมาเห็นเด็กๆ มีความสุขเธอเองก็มีความสุขไปด้วย ความฝันของคุณแม่ยังสาวคนนี้คือได้ร่วมเล่นละครให้เด็กๆ ดู แต่ด้วยภารกิจในชีวิตจึงยังไม่มีโอกาส

ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมละครโรงเล็กก็มักมีอาสาสมัครในพื้นที่มาช่วยคนละไม้คน ละมือ บางครั้งมากันเป็นครอบครัว ทำขนมจีนน้ำเงี้ยวมาเลี้ยง เป็นบรรยากาศน่ารักอบอุ่นในชุมชน

โรงละครมะขามป้อม เชียงดาว เป็นเรือนไม้เรียบง่าย ตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งบนพื้นที่ ๙ ไร่ไม่ไกลจากดอยหลวงเชียงดาว ชุมชนโดยรอบมีทั้งชนเผ่าปกากะญอและดาระอั้ง นอกจากละครโรงเล็กแล้ว กลุ่มละครมะขามป้อม (มูลนิธิสื่อชาวบ้าน) ที่เชียงดาวยังจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในชุมชน อย่างเช่นจัดวิชาชุมชนศึกษาร่วมกับโรงเรียน สร้างห้องสมุดเคลื่อนที่ ฯลฯ

แรงพลังสำคัญของกลุ่มละครมะขามป้อมทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงดาว คือกลุ่ม “อาสาสมัคร” ซึ่งเป็นรูปแบบที่วางรากฐานต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มตั้งตัวในปี ๒๕๒๕ เริ่มจากกลุ่มละครเร่ที่เรียกได้ว่า “กัดก้อนเกลือกิน” จนกลายเป็นองค์กรที่สามารถหาทุนเลี้ยงตัวเองได้ในวันนี้

ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร เริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนค่อยๆ เลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่โครงการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา

“ความเป็นอาสาเป็นเหมือนวัฒนธรรมขององค์กรของเราไปแล้ว คนทำงานทุกคนต้องเข้าใจชัดเจนว่าเราเป็นเอ็นจีโอ หรือเรียกว่าองค์กรสังคมก็ได้ เรื่องนี้ต้องมาเป็นที่หนึ่งเลย เพราะเราไม่ได้ตั้งโรงเรียนสอนการแสดง เป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อสร้างความสนุกสนานให้คนดูเท่านั้น ไม่ใช่เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้เครื่องมือเป็นละคร-ศิลปะ-วัฒนธรรม

“งานละครของมะขามป้อมมีทั้งละครที่เราไปเล่นให้เขาดู กับแบบที่เราไปทำให้เขาเล่นเอง ที่จริงแล้วละครก็เป็นแค่เครื่องมือให้คนได้พูดในสิ่งที่อยากพูด โดยเฉพาะประชาชนตัวเล็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้ใช้แรงงาน คนพวกนี้ไม่มีอำนาจไม่มีสื่อในมือ ขณะที่ละครใช้แค่ร่างกายกับเสียง มันเป็นทั้งการสื่อสารระหว่างกลุ่มพวกเขาเองในหมู่บ้าน และสื่อสารเรื่องราวของเขาให้คนนอกหมู่บ้านและคนในสังคมได้รับรู้อย่างง่าย ที่สุด”

หมวย-ญาดา เกรียงไกรวุฒิกุล ผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้จัดการฝ่ายละครชุมชน ชี้ว่า “เสน่ห์ของละครคือสนุกนำ คนดูจะสนุกแล้วตามไปเรื่อยๆ ขณะที่ตามก็จะได้สาระที่เรากำลังให้ มันผ่านเข้าไปในสมองโดยไม่รู้ตัว ณ ตอนนั้นเขาอาจจะยังไม่ทันคิดอะไร แต่เมื่อไรที่ได้พบเจอเหตุการณ์บางอย่าง ประสบการณ์ผ่านการดูละครตรงนี้มันจะแวบเข้ามาในความคิดของเขาเอง

“ละครของมะขามป้อมก็คือการศึกษา ไม่เฉพาะแต่ผลที่ได้ที่เป็นสาระในละครเท่านั้น นั่นเป็นแค่ช่วงท้าย แต่ในทุกขั้นตอนของการผลิตละครคือการเรียนรู้ทั้งหมดเลย การจะผลิตละครออกมาได้ ๑ เรื่องมันมาตั้งแต่เรื่องวิธีคิด ประเด็นที่จะนำเสนอ ต้องเกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในทางทัศนคติและวิธีการนำเสนอ จนมาถึงขั้นตอนลงมือทำก็มีทั้งเรื่องฉาก เสื้อผ้า การซักซ้อม การเคลื่อนย้าย การจัดการ การลงชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ”

ก๋วยเสริมว่า “ละครไม่ได้จบตรงที่คนดูจบ แต่เมื่อเราเล่นเสร็จมักจะก่อให้เกิดการถกเถียงที่นำมาซึ่งทัศนะหลากหลาย อย่างเช่นเราให้คนในหมู่บ้านมาเล่นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรซึ่งอาจจะเป็นข้อ ขัดแย้งในหมู่บ้านอยู่แล้ว คนหนึ่งเล่นในมุมของนายทุน อีกคนเล่นในมุมของคนเล็กคนน้อย ก็จะทำให้คนได้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย คนดูแล้วก็เกิดความคิดเห็นด้วยกับจุดนั้นไม่เห็นด้วยกับจุดนี้ ไม่ว่าจะเกิดข้อสรุปขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่เราถือว่านี่คือกระบวนการศึกษาของชุมชน”

ดอกผลจากการลงพื้นที่สร้างการศึกษาให้ชุมชนในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา คือเด็กๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง “หลายพื้นที่เราเห็นเขามาตั้งแต่อยู่มัธยมต้น เติบโตไปเป็นกลุ่มละคร เดี๋ยวนี้หลายคนกลายเป็น อบต. หรือเป็นเอ็นจีโอที่เข้มแข็งก็มี”

จากจุดเริ่มต้นคนมะขามป้อมหลายๆ คนที่เคยคิด “อยากเป็นดารา” จนกลายมาเป็นคนทำงานเพื่อสังคม ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากคนที่มีตัวตนสูงมาสู่คนที่ตัวเล็กที่สุด

“เด็กๆ เข้ามาก็จะงงๆ เราเองก็เคยเป็นนะ อารมณ์อยากเป็นดาราเนี่ย แต่พออยู่ไปก็ค่อยๆ เปลี่ยน เพราะละครพาให้เราได้ไปเห็นโลกที่ไม่เคยเห็น” ก๋วยผู้เคยผ่านงานแสดงภาพยนตร์ในอดีตเล่า

หมวยเองก็ยอมรับว่า บางครั้งการเปิดรับอาสาสมัครก็ยังต้องใช้เรื่องการแสดงนำ

“เดี๋ยวนี้เด็กอยากเป็นดารากันเยอะขึ้น ถ้าบอกว่ารับอาสาออกค่ายเขาไม่มากันแล้ว แต่ถ้าบอกว่าเปิดรับสมัครนักแสดงละมากันเพียบเลย เด็กๆ ชอบ เพราะสมัยนี้มีเวทีประกวดอะไรเยอะแยะ เป็นการปลูกฝังคนในสังคมให้ไปแนวทางนั้นกัน”

ก๋วยเสริมว่า “เด็กสมัยนี้พอนึกถึงละครก็จะนึกถึงรัชดาลัย ซีเนริโอ แม่นาคพระโขนง เด็กทุกคนคิดว่าต้องไปอะคาเดมีแฟนเทเชีย เดอะสตาร์ แต่เราอยากจะขยายกรอบให้พวกเขาว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่นั้น ยังมีภัทราวดีเธียเตอร์ คณะละคร แปดคูณแปด มะขามป้อม และอะไรอีกเยอะมาก ให้เขาได้เห็นทางเลือกในโลกที่หลากหลาย แม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะเลือกอะไรก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเขาเอง ประเด็นของเราคือต้องทำให้เห็นมากกว่าที่เคยเห็นมา เพราะชีวิตการศึกษาที่อยู่แต่ในห้องเรียนไม่ทำให้คนรับรู้โลกความจริงสัก เท่าไร

“กระบวนการละครเองคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้เลย การที่เด็กคิดว่าเล่นละครแล้วอีโก้ใหญ่เป็นการเข้าใจผิด และส่วนมากก็จะเข้าใจแบบนั้นด้วย ความคิดที่ว่าฉันเล่นละครแล้วคนต้องมาดูความสามารถของฉันคือความเข้าใจผิดใน การเล่นละคร ที่จริงแล้วการเล่นละครคือการไปด้วยกัน เป็นการลดตัวตนให้คนเห็นตัวคุณน้อยที่สุดหรือไม่ต้องเห็นตัวคุณก็ได้ แต่ต้องให้คนดูเห็นภาพรวม เห็นความงามของเรื่อง ของบท ของการแสดงนั้น แม้ว่าคุณจะเป็นคนทำฉากก็ตาม คุณก็ต้องรับรู้ว่าตัวเองกำลังทำงานวินาทีเดียวกับนักแสดงและผู้กำกับในละคร เรื่องเดียวกัน”

กั๊ก-เกียรติอนันต์ จันทยุง ผู้กำกับละครทั้งทำหน้าที่พิธีกรและนันทนาการด้วย เล่าว่าตัวเขาเริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครเมื่อปีที่แล้ว ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาเป็นนักศึกษาฝึกงาน และเจ้าหน้าที่โครงการระยะสั้นในปัจจุบัน ทำโครงการ Book Bike เป็นมอเตอร์ไซค์พ่วงท้ายนำหนังสือเข้าสู่ชุมชนเพื่อส่งเสริมการอ่าน ฯลฯ เช่นเดียวกับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีหน้าที่มากกว่า ๑ อย่าง นักแสดงทุกคนก็ต้องเย็บชุดเป็น เมื่อห้องน้ำสกปรกก็ช่วยกันล้าง

บางคนมองว่าอาสาสมัครคือการให้ บางคนมองว่าคือการได้รับ แต่สำหรับที่มะขามป้อม สิ่งสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้

“ภารกิจของมะขามป้อมคือการลงทุนกับคน หลายๆ ครั้งเราลงทุนกับอาสาสมัครอย่างเช่นค่าใช้จ่ายในการขึ้นมาที่นี่ ถามว่าเราได้งานอะไรจากพวกเขาบ้าง มันก็ได้ไม่เยอะหรอก แต่เราคิดว่าการที่เขาได้มาที่นี่ ได้เข้าไปในชุมชน มันจะช่วยเปลี่ยนแปลงเขาได้ เราต้องอาศัยทั้งเงิน เวลา บางครั้งก็ต้องปากเปียกปากแฉะ แต่เราไม่รู้สึกเหนื่อย หลายคนอาจเติบโตขึ้นในทางการแสดงหรือจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหนก็ตาม สิ่งที่ได้ติดตัวไปด้วยคือความคิดเชิงสังคม”

หมวยผู้ใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มละครมะขามป้อมมากว่า ๒๐ ปีบอกว่า “คนไม่ได้มาเติบโตอยู่แค่ในมะขามป้อม แต่ที่นี่เป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะต้นกล้าให้ไปแตกหน่อออกผลของมันเองในที่ของ มัน”