สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ
johanna


แรกพบ เราเดาว่า โจฮันนา ซัน (Johanna Son) เป็นคนจีน

โจฮันนาหัวเราะและยิ้มรับ ก่อนบอกว่าเป็นคำทายที่ทั้งถูกและผิด

เพราะบ้านเกิดของเธอคือ ฟิลิปปินส์–หมู่เกาะซึ่งนักเดินเรือโปรตุเกสนามอุโฆษ เฟอร์ดินานด์ แมก-เจลแลน ตั้งชื่อตามพระนามกษัตริย์ฟิลิปที่ ๒ แห่งสเปน เมื่อแรกสำรวจพบ

“ฉันเป็นคนจีนฮกเกี้ยน เป็นคนส่วนน้อยในฟิลิปปินส์” เธออธิบาย ก่อนบอกว่าพูดได้หลายภาษา ทั้งอังกฤษ ตากาล็อก ฮกเกี้ยน จีนกลาง และตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนภาษาไทย

โจฮันนาอยู่เมืองไทยมา ๑๐ ปีแล้ว ปัจจุบันทำงานเป็นผู้อำนวยการกองทุนและสำนักข่าว IPS (Inter Press Service News Agency) ภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก การลงหลักปักฐานในเมืองไทยและเส้นทางสายนักข่าวนี้มาจากการ “เลือก” อย่างน้อย ๒ ครั้งในชีวิต

ครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่บ้านเกิด

“ สมัยเรียนไม่คิดทำงานสายข่าวเลย คิดไม่ออกว่าตัวเองจะทักคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักแล้วคุยกับเขาได้อย่างไร ปีแรกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ วันหนึ่งในชั่วโมงพฤกษศาสตร์ อาจารย์ให้ทดลองปลูกพืชกลับหัว (ชี้ลงดิน) เป็นการบ้าน ถึงเวลาส่งงาน ดิฉันไม่ทำ อาจารย์ก็โกรธ หยิบต้นไม้เพื่อนปาไปนอกหน้าต่าง ตอนนั้นเลยรู้ว่าอยู่ผิดที่ผิดทางและไม่ชอบเรียนวิชาแบบนี้”

โจฮันนาตัดสินใจย้ายไปเรียนคณะวารสารศาสตร์ทั้งที่ “คิดไม่ออกว่าตัวเองไปจะทำงานสื่อได้อย่างไร ยอมรับว่าย้ายคณะแบบไม่มีทิศทาง เรียนจบทำงานกับมหาวิทยาลัยได้เดือนหนึ่งก็เบื่อมาก ๆ”

จนวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เธอได้รับการชักชวนให้ไปทำงานกับ The Manila Chronicle หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในกรุงมะนิลา เป็นการเริ่มต้นอาชีพนักข่าวในยุคที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้ครองตำแหน่งยาวนานถึง ๒๑ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๒๙) เพิ่งหมดอำนาจ

“คนรุ่นดิฉันถูกเรียกว่า Marcos Baby (เกิดในยุคมาร์กอสครองอำนาจยาวนาน) ช่วงดิฉันเรียนจบ ประชาชนฟิลิปปินส์โค่นมาร์กอสสำเร็จ ปี ๒๕๒๙- ๒๕๓๑ เป็นช่วงเวลาที่ดี มีประเด็นข่าวท้าทายตลอดเวลา พบกับสังคมที่เปิดกว้าง จำได้ว่าทำข่าวที่รัฐสภา ประเด็นที่เราเรียกร้องสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ในวาระประชุมทั้งสิ้น อาทิ ฐานทัพอเมริกาที่ต้องการให้ถอนทหารให้หมด อีกหน้าที่ที่ดิฉันทำคืออยู่โต๊ะบรรณาธิการข่าว รับข่าวจากนักข่าวต่างประเทศที่โทรศัพท์ส่งข่าวเข้ามาแล้วทำต้นฉบับ สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ต้องใช้พิมพ์ดีด ดิฉันต้องพิมพ์เร็วมากขณะที่เอาโทรศัพท์แนบหู จนวันนี้ยังจำเสียงดึงกระดาษ เสียงระฆังเตือนหมดบรรทัดของพิมพ์ดีดที่ดังลั่นไปหมดได้ สมัยนั้นเครื่องแมคอินทอชสำหรับจัดหน้าก็ยังไม่มี เราต้องแปะเลย์เอาต์หนังสือพิมพ์เอง”

อาชีพของโจฮันนาที่ The Manila Chronicle ก้าวหน้าด้วยดี เธอได้รางวัล Citibank Pan-Asia Journalism Award ในปี ๒๕๓๕ โดยรางวัลนี้มอบให้บทความ/ ข่าวเศรษฐกิจดีเด่นในสิ่งตีพิมพ์จาก ๑๑ ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้รับคัดเลือกเข้ามาแข่งขันกัน

ทว่าช่วงเวลาที่ The Manila Chronicle ก็จบลงเมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องเลือกเป็นครั้งที่ ๒

“ ปี ๒๕๓๔ เจ้าของหนังสือพิมพ์คนใหม่เป็นนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง เงินทุนที่นำมาบริหารก็ไม่โปร่งใส นักข่าวหลายคนรู้สึกว่าไม่มีอิสระ หลายคนย้ายออกไป ดิฉันได้รับการทาบทามจากเพื่อนนักข่าวของ IPS ในมะนิลาที่จะลาออกพอดี และเขาคิดว่าดิฉันทำงานแทนเขาได้ ปี ๒๕๓๗ จึงตัดสินใจย้ายไปทำงานกับสำนักข่าว IPS ซึ่งมีสำนักงานในเมืองเดียวกัน รับผิดชอบประเด็นข่าวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และต่อมาก็รับตำแหน่งบรรณาธิการข่าว ดูแลข่าวของสำนักข่าว IPS ในภูมิภาคนี้”

งานใหม่ที่ IPS ทำให้โจฮันนาได้เดินทางไปทำข่าวทั่วโลก ต่อมาเธอได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าว IPS ประจำกรุงมะนิลา และย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนและสำนักข่าว IPS สำนักงานกรุงเทพฯ ในปี ๒๕๔๒

“ งานที่นี่ก็ไม่ต่างกับที่ฟิลิปปินส์ วันหนึ่งดิฉันทำหลายอย่าง ดูประเด็นข่าว หาทุนทำโครงการเกี่ยวกับสื่อ ทำหนังสือเฉพาะกิจ ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในแง่ของตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ทำให้ดิฉันเดินทางไปไหนมาไหนง่าย

“ คนไทยและเมืองไทยมีหลายอย่างที่เหมือนและต่างจากฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์เป็นคนตรง อยากทำอะไรก็ทำเดี๋ยวนั้น ขณะที่คนไทยไม่พอใจก็เก็บแล้วยิ้ม ที่เหมือนกันคือการจราจรในกรุงเทพฯ กับมะนิลา ต่างกันบ้างตรงที่เวลารถติด คนไทยจะอยู่ในรถใครรถมัน แต่คนฟิลิปปินส์ถ้าทนไม่ไหวจะบีบแตร ถ้าติดนานบางคนออกมาว่าตำรวจก็มี มีวิธีจัดการปัญหาคนละแบบ ส่วนเรื่องที่สองประเทศมีความสัมพันธ์กันในแง่วัฒนธรรม ดิฉันไม่ค่อยทราบ

“ แต่ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาเมืองไทยเปลี่ยนไป เดิมทีที่นี่เคยเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง แต่ตอนนี้บรรยากาศปิดมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์การเมืองช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ในฐานะสื่อ มองว่าไทยกับฟิลิปปินส์เป็นกรณีศึกษาที่ดีเรื่องประชาธิปไตย เส้นทางเราต่างกัน ในประวัติศาสตร์ไทย อำนาจอยู่ในมือราชวงศ์และกองทัพ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี ๒๔๗๕ เส้นทางบางช่วงอาจคล้ายฟิลิปปินส์ เช่นมียุคเผด็จการทหารที่ยาวนาน มียุคที่มีผู้นำแข็งแกร่ง แต่โดยธรรมชาติแต่ละประเทศมีความยากลำบากของตัวเอง

“ คนฟิลิปปินส์สู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างสเปน สหรัฐอเมริกา สู้กับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในที่สุดเราสรุปได้ว่าจะไม่ยอมให้ต่างชาติครอบงำ จะยืนด้วยตัวเอง จากนั้นผ่านยุคเผด็จการและหลุดออกมาในปี ๒๕๒๙ ยอมรับว่ากองทัพมายุ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่คนฟิลิปปินส์ยอมให้กองทัพมายุ่งกับการเมือง เมื่อ โคราซอน อาควิโน ได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีความพยายามทำรัฐประหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนฟิลิปปินส์ชัดเจนว่าจะรอการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตอนนี้คนฟิลิปปินส์คุยกันว่าเสรีภาพที่ได้มาถูกใช้แบบไหน นำอะไรมา เราไล่คนคอร์รัปชันได้ แต่ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจ กินประชาธิปไตยแทนอาหารได้ไหม บางทีก็มีประเด็นเล็ก ๆ ให้ดิฉันคิด เช่นถนนที่นี่ดีกว่ามะนิลามาก ทั้งที่คอร์รัปชันเหมือนกัน มันโยงไปถึงประสิทธิภาพของรัฐบาล อย่างไรก็ตามทุกประเทศที่เลือกประชาธิปไตยต้องผ่าน ‘ความเจ็บปวดของประชาธิปไตย’ (The pain of democracy) บางทีเราคงต้องเรียกร้องความโปร่งใสด้วย แม้ว่าประเทศเอเชียบางประเทศจะบอกว่าเศรษฐกิจสำคัญกว่าประชาธิปไตย แต่ดิฉันคิดว่าเราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เราต้องไม่ลืมทั้งประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน

“ ปี ๒๕๕๑ ที่มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อนที่ฟิลิปปินส์บางคนเข้าใจว่าเหมือนฟิลิปปินส์ในปี ๒๕๒๙ ฉันตอบไปว่าไม่ใช่ มันเป็นผลไม้จากต้นไม้คนละต้น บางทีดิฉันยังถูกถามว่าทำไมต้องแก้ตัวให้คนไทย คงต้องตอบว่าดิฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ตอนนี้ก็มีบ้านอยู่ที่นี่ด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้พูด ได้คิด แม้จะเห็นต่างกันก็ต้องเคารพกัน มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าและจัดการสถานการณ์ความขัดแย้ง ดิฉันเชื่อว่าคนไทยกำหนดชะตากรรมตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เลย”

ด้วยความเชื่อเหล่านี้ ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมาในเมืองไทย หนึ่งในโครงการที่โจฮันนาทำนอกจากดูแลสำนักข่าว คือสร้างความเข้มแข็งให้สื่อมวลชนไทยรุ่นใหม่ ซึ่งต่อมาขยายไปสู่กลุ่มสื่อมวลชนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม อีกด้วย

“หลายภูมิภาคมีกลุ่มนักข่าวของตนเอง อาทิกลุ่มนักข่าวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เอเชียใต้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีนักข่าวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเลย จึงคิดว่าต้องสร้างขึ้นมาเพื่อจะได้เห็นมุมมองและประเด็นที่เกิดจากสื่อในภูมิภาค ไม่ใช่สื่อนอกภูมิภาคอย่างซีเอ็นเอ็นหรือบีบีซี ดิฉันอยากเห็นนักข่าวในพื้นที่ตามประเด็นที่ไม่มีใครตาม”

เป็นที่มาของ “Imaging Our Mekong” (ภูมิภาคแม่น้ำโขงของเรา) โครงการอบรมสื่อมวลชนจาก ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งพานักข่าว ๖ ประเทศมารู้จักกัน และอบรมวิธีทำข่าวแบบ “สมานฉันท์” ร่วมกัน พร้อมทั้งให้ทุนไปทำข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคในประเด็น “ข้ามพรมแดน” ครอบคลุมเรื่องการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแย่งชิงทรัพยากร ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโพรบมีเดีย (Probe Media Foun-dation) ประเทศฟิลิปปินส์ และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) สหรัฐอเมริกา

นับถึงปัจจุบัน โครงการ Imaging Our Mekong อบรมนักข่าวมาแล้ว ๗ รุ่น รวม ๒๐๐ คน โจฮันนาบอกว่าอยากสานงานนี้ต่อไปแม้ล่าสุดทุนดำเนินโครงการจะหมดลง

“ เชื่อว่าการคุยกันระหว่างสื่อจากภูมิภาคเดียวกันจะทำให้นักข่าวเหล่านี้เห็นอะไรมากขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากสื่อในประเทศที่โดนคุมหรือมีเสรีภาพ ก็จะได้แลกเปลี่ยนและรับรู้สิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะโครงการนี้ทุกคนวิจารณ์งานกันและกัน และพูดได้อย่างเต็มที่ นี่คือการนำพวกเขาข้ามพรมแดนมาพบกันอย่างแท้จริง เมื่องานของพวกเขาออกมา เรามีล่ามทุกภาษาที่แปลงานทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้คนทั่วโลกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ที่ผ่านมาเรามีเรื่องราวดี ๆ มากมาย ทว่าได้รับการเผยแพร่จำกัดเพียงภาษาถิ่น เสียดายว่าตอนนี้ต้องยุติโครงการเพราะขาดแคลนเงินทุน เราอยากให้มีกองทุนมาสนับสนุน ปลายปีนี้เรามีแผนจะจัด Mekong Media Forum เพื่อนำนักข่าวมาแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์สื่อในประเทศต่าง ๆ ว่ามีพัฒนาการอย่างไร เพื่อนำเสนองานของเราสู่สาธารณะ และบอกว่าทำไมเรายังอยากจะทำโครงการนี้ต่อไป”

ส่วนแผนการในอนาคตของโจฮันนาเองนั้น เธอบอกว่าคงอยู่เมืองไทยอีกนาน

“เพื่อนที่ฟิลิปปินส์คนหนึ่งเขาไม่คิดว่าฉันเป็นฟิลิปปินส์แล้ว (หัวเราะ) ล่าสุดดิฉันกลับจากอิตาลีส่งข้อความถึงเพื่อนว่า ‘ถึงบ้าน’ แล้ว เขาถามว่าในมะนิลาเหรอ ฉันตอบไปว่าไม่ อยู่ในกรุงเทพฯ เขาถามกลับมาอีกว่าเรียกบ้านได้ไง ก็นี่ละ ชีวิตดิฉัน ขาข้างหนึ่งอยู่ในฟิลิปปินส์ ขาอีกข้างอยู่ในเมืองไทยนี่เอง“


ขอขอบคุณ : คุณสกุลรัตน์ วรธำรง

หมายเหตุ : หน่วยงานหรือกองทุนใดสนใจสนับสนุนโครงการ Imaging Our Mekong สามารถติดต่อ IPS ได้ที่ โทร. ๐-๒๒๔๖-๗๘๗๗