เรื่อง : สุทัศน์ ยกส้าน, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ประวัติย่อของกล้องโทรทรรศน์ จากหลังคาบ้านสู่อวกาศ

กล้องโทรทรรศน์ Hale บนยอดเขา Palomar ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพ : Nordic Optical Telescope)

telescope02

ราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก ได้แบ่งเอกภพออกเป็น ๒ ส่วน คือโลกและสวรรค์ โดยที่โลกประกอบไปด้วย ๔ ธาตุหลัก คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนสวรรค์เป็นที่อยู่ของดวงดาวต่างๆ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในหนังสือ On the Heavens (De Caelo) ของอริสโตเติล อธิบายเอกภพโดยใช้แบบจำลองที่มีโลกเป็นศูนย์กลางและมีดาวเคราะห์โคจรเป็นทรงกลมอยู่เป็นชั้นๆ

telescope03

ราว ค.ศ. ๑๕๐๐
Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ เสนอทฤษฎีใหม่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของเอกภพ โดยมีโลกและดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรเป็นบริวารอยู่รอบดวงอาทิตย์

telescope04

ค.ศ. ๑๖๐๘
Hans Lippershey ช่างทำเลนส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลกล้องแรกของโลก บางตำนานอ้างว่า Jacob Metius และ Zacharias Jansen คือผู้ประดิษฐ์กล้องคนแรก

telescope05

ค.ศ. ๑๖๐๙
Galileo Galilei ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นผิวขรุขระของดวงจันทร์ กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์เองนี้ทำให้ได้เห็นสิ่งต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น ข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์ จุดบนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ดาวฤกษ์จำนวนมากในทางช้างเผือก ฯลฯ ซึ่งล้วนขัดต่อคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิล การค้นพบของกาลิเลโอสนับสนุนความคิดของโคเปอร์นิคัส ล้มระบบเอกภพของอริสโตเติลที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง และได้นำโลกเข้าสู่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่

telescope06


ค.ศ. ๑๖๑๙

Johannes Kepler นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ค้นพบว่าการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ไม่ได้เป็นวงกลมตามที่โคเปอร์นิคัสเข้าใจ

ค.ศ. ๑๖๑๖
Niccolo Zucchi นักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ออกแบบและประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยให้เห็นแถบสีต่างๆ ที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตรของผิวดาวพฤหัสบดี

telescope07

ค.ศ. ๑๖๕๕
Christiaan Huygens นักฟิสิกส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ใช้กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่มีความยาวโฟกัส ๑๑ ฟุต ส่องเห็นวงแหวนรอบดาวเสาร์ซึ่งเขาคิดว่าเป็นแท่งของแข็ง เห็นดวงจันทร์ Titan ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และเห็นดาวพุธโคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ Huygens เชื่อว่าเอกภพมีดาวที่มีสิ่งมีชีวิตรูปร่างเหมือนบนโลก

telescope08

ค.ศ. ๑๖๖๓
James Gregory นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวสกอต ออกแบบกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่กระจกสะท้อนแสงมีลักษณะโค้งแบบพาราโบลา ภาพที่เห็นจึงปราศจากความคลาดทรงกลม (spherical aberration)

telescope09

ค.ศ. ๑๖๖๘
Isaac Newton สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่ใช้กระจกเว้าโฟกัสแสงแทนเลนส์นูน กล้องของนิวตันมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงในการเห็น เพราะได้รับการออกแบบให้ขจัดความคลาดต่างๆ จึงมีประสิทธิภาพดีกว่ากล้องโทรทรรศน์แบบเก่าๆ ผลงานนี้ทำให้นิวตันได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Royal Society (F.R.S.)

telescope10

ค.ศ. ๑๖๗๒
Laurent Cassegrain นักบวชชาวฝรั่งเศส สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบ Cassegrain ที่ใช้กระจกเว้ารับแสง แล้วใช้กระจกนูนรับแสงที่สะท้อนจากกระจกเว้าไปผ่านบริเวณใจกลางของกระจกเว้าบานแรก กล้องโทรทรรศน์ Cassegrain นี้ไม่แสดงปรากฏการณ์ความคลาดทรงกลม

telescope11

ค.ศ. ๑๖๗๕
พระเจ้า Charles ที่ ๒ แห่งอังกฤษโปรดให้สร้างหอดูดาวแห่งราชสำนักที่เมืองกรีนิช (Royal Observatory, Greenwich) ซึ่งถูกกำหนดให้เส้นแวง (ลองจิจูด) ที่ ๐ องศาผ่าน และให้เวลาที่กรีนิชเป็นเวลามาตรฐานในการเทียบเวลาโลก

telescope12

ค.ศ. ๑๖๘๕
ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศส บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันที่ ๑๑ ธันวาคม ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

telescope13

ค.ศ. ๑๗๘๑
William Herschel นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อชาติเยอรมัน ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบนิวตันที่ยาว ๖ ฟุต ส่องพบดาวยูเรนัสซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเมื่อ Herschel ใช้กล้องขนาดใหญ่ที่มีความยาวโฟกัส ๔๐ ฟุต เขาก็เห็นดวงจันทร์ Mimas และ Enceladus ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ และเห็น Titania กับ Oberon ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวยูเรนัส เห็นน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคาร พบว่าทางช้างเผือกมีรูปร่างคล้ายจาน ๒ จานประกบกัน และเป็นคนเรียกดาวเคราะห์น้อย
ว่า asteroid การค้นพบของ Herschel ได้ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า กฎแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันยังเป็นจริง แม้ระบบที่ศึกษานั้นจะอยู่นอกระบบสุริยะ ถึงการค้นพบแต่ละชิ้นจะยิ่งใหญ่ แต่ผลงานที่สำคัญที่สุดของ Herschel คือการพบรังสีอินฟราเรด (infrared radiation)

ค.ศ. ๑๘๔๕
William Parsons นักดาราศาสตร์ชาวไอร์แลนด์ สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ชื่อ Leviathan โดยใช้กระจกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง ๑.๘๓ เมตร ทำให้ Parsons เห็นโครงสร้างรูปเกลียวของเนบิวลา M51 และด้วยลักษณะเหมือนปูจึงได้ตั้งชื่อว่า Crab Nebula
telescope14

ค.ศ. ๑๘๖๓
John Hooker มอบเงินสร้างกล้องโทรทรรศน์ Hooker เป็นกล้องสะท้อนแสงที่มีเลนส์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐๐ นิ้ว บนยอดเขา Wilson ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ต่อมา Albert Michelson ใช้กล้อง Hooker วัดขนาดของดาวฤกษ์ Betelgeuse ได้เป็นครั้งแรก

telescope15

ค.ศ. ๑๘๖๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยคณะอาคันตุกะต่างประเทศ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม หน้าพลับพลาที่ประทับ ค่ายหลวงหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

telescope16

ค.ศ. ๑๙๑๕
Albert Einstein คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งนำไปสู่การอธิบายเรื่องความโค้งของอวกาศ กำเนิดของจักรวาล ฯลฯ ต่อมานักดาราศาสตร์ได้สังเกตการเกิดสุริยุปราคา และพบว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์

telescope17

ค.ศ. ๑๙๒๙
Edwin Hubble ใช้กล้อง Hooker ส่องเห็นกาแล็กซีแอนโดรเมดาและกาแล็กซีอื่นๆ นอกทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก จึงทำให้โลกรู้ว่าเอกภพมีขนาดกว้างใหญ่กว่าทางช้างเผือกที่เห็น และได้พบเป็นครั้งแรกว่าเอกภพกำลังขยายตัวตลอดเวลา ช่วยยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์

telescope18

ค.ศ. ๑๙๓๑
Karl Jansky วิศวกรและนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ได้สร้างอุปกรณ์รับคลื่นวิทยุจากท้องฟ้าที่บริเวณกลางทุ่งนาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และพบว่าบริเวณศูนย์กลางของดาราจักรทางช้างเผือกมีการส่งคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น ๑๔.๖ เมตรออกมามากที่สุด การค้นพบของ Jansky จึงเปิดโลกวิทยาการสาขาใหม่คือ ดาราศาสตร์วิทยุ (Radio Astronomy) จากนั้นผลงานนี้ได้รับการเสริมต่อโดย Grote Reber ซึ่งได้สร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขึ้นเพื่อศึกษาสัญญาณคลื่นวิทยุที่ดาวและดาราจักรต่างๆ ส่งจากอวกาศมายังโลก

telescope19

ค.ศ. ๑๙๔๖
Martin Ryle นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายกล้องทำงานประสานกันด้วยเทคนิคการแทรกสอด เพื่อศึกษาดาวที่ส่งคลื่นวิทยุมายังโลก ผลงาน aperture synthesis และ astronomical interferometry ทำให้ Ryle พบ quasar, radio galaxy ฯลฯ และช่วยให้ Ryle ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๗๔ ร่วมกับ Antony Hewish ผู้พบ pulsar นับเป็นรางวัลโนเบลรางวัลแรกที่มอบแก่ผลงานดาราศาสตร์

telescope20

ค.ศ. ๑๙๔๙
กล้องโทรทรรศน์ Hale ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ George Ellery Hale นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน เริ่มทำงาน กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงนี้มีเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๕.๑ เมตร อยู่บนยอดเขา Palomar ในแคลิฟอร์เนีย ขนาดอันมโหฬารทำให้กล้อง Hale เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น

telescope21

ค.ศ. ๑๙๕๗
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Lovell ที่มีจานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒๕๐ ฟุต เพื่อรับคลื่นวิทยุและสามารถบังคับให้หมุนหรือหันทิศได้ เริ่มทำงานที่ Jodrell Bank โดยมี Bernard Lovell เป็นผู้อำนวยการของศูนย์ กล้อง Lovell เป็นอุปกรณ์เดียวในโลกขณะนั้นที่สามารถติดตามสัญญาณจากดาวเทียม Sputnik 1 ของรัสเซียได้ และใช้รับสัญญาณจากดาวเทียม Pioneer 5 รวมถึงวัดระยะทางจากดาวศุกร์และดวงจันทร์ถึงโลก ใช้สังเกต pulsar และวิเคราะห์สัญญาณคลื่นจากมนุษย์ต่างดาวในโครงการ SETI

telescope22

ค.ศ. ๑๙๕๙
ดาวเทียม Vanguard 2 นำกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก

telescope23

ค.ศ. ๑๙๖๓
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ในเปอร์โตริโกเริ่มทำงาน กล้องประกอบด้วยจานกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๓๐๕ เมตร ความยาวโฟกัส ๒๖๕.๑๑ เมตร และมีพื้นที่รับคลื่น ๗๓,๐๐๐ ตารางเมตร โดยเฉพาะจะรับคลื่นที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๓-๑๐๐ เซนติเมตร ผลงานที่สำคัญของกล้องนี้คือ ได้พบว่าดาวพุธหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา ๕๙ วัน ไม่ใช่ ๘๘ วันดังที่เคยวัด และถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยได้เป็นครั้งแรก รวมถึงให้ Russell Hulse และ Joseph Taylor ใช้ศึกษา pulsar คู่ จนทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๙๓ อีกทั้งได้พบดาวเคราะห์ที่กำลังโคจรรอบ pulsar ด้วย

telescope24

ค.ศ. ๑๙๖๖
Raymond Davis Jr. ใช้ถังบรรจุของเหลว tetrachloroethane ปริมาตร ๑๐๐,๐๐๐ แกลลอน ฝังใต้ดินลึกที่ระดับลึก ๑.๕ กิโลเมตร ที่เหมือง Homestake ในรัฐเซาท์ดาโคตา เพื่อตรวจจับอนุภาคนิวทริโนจากดวงอาทิตย์ที่จะพุ่งมาทำปฏิกิริยากับอะตอมของคลอรีน-37 ให้เปลี่ยนเป็นอะตอมของอาร์กอน-37 ผลการศึกษานี้ทำให้ Davis พบว่าอนุภาคนิวทริโนมีมวลและสามารถเปลี่ยนชนิดขณะเดินทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลกได้ การค้นพบของ Davis ทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์ในดาวฤกษ์ยังใช้ได้ Davis เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๒๐๐๒ ในฐานะผู้บุกเบิกวิทยาการด้าน Neutrino Astronomy

telescope25

ค.ศ. ๑๙๖๘
กล้องโทรทรรศน์ Whipple ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Fred Whipple ที่ยอดเขา Hopkins ในรัฐแอริโซนา เริ่มทำงาน กล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐ เมตรนี้สามารถรับรังสีแกมมาจากดาวฤกษ์และเนบิวลาได้ กล้องนี้จึงเป็นกล้องที่บุกเบิกวิทยาการดาราศาสตร์รังสีแกมมา (Gamma Ray Astronomy)

ค.ศ. ๑๙๗๕
กล้องโทรทรรศน์ BTA-6 ของรัสเซียซึ่งอยู่บนยอดเขา Pastukhova เริ่มทำงาน เลนส์ของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๖.๐๕ เมตร และเพราะกล้อง Hale มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเพียง ๕.๑ เมตร BTA-6 จึงถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล้องใหม่ ถึงพื้นที่รับคลื่นจะมากถึง ๒๖ ตารางเมตร และรับคลื่นที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๐.๓-๑๐ ไมโครเมตร แต่กล้องก็ทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากล้อง Hale

telescope26telescope27

ค.ศ. ๑๙๘๐
Very Large Array (VLA) ซึ่งเป็นชุดกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่นำมาเรียงกันเป็นรูปตัวอักษร Y เพื่อให้ทำงานประสานกันที่ Socorro ในรัฐนิวเม็กซิโกเริ่มทำงาน
จานรับคลื่นของแต่ละกล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒.๕ เมตร ใช้ศึกษาดาราจักรที่ปล่อยคลื่นวิทยุ pulsar, quasar, supernova, หลุมดำ รวมถึงรับสัญญาณจากดาวเทียม Voyager 2 ที่ได้เดินทางพ้นระบบสุริยะไปแล้ว

telescope28

ค.ศ. ๑๙๘๙
ดาวเทียม COBE (Cosmic Background Explorer) ถูกส่งขึ้นอวกาศเพื่อสำรวจ วัด และศึกษาธรรมชาติของรังสีไมโครเวฟที่หลงเหลือหลังการระเบิด Big Bang

telescope29

ค.ศ. ๑๙๙๐
กระสวยอวกาศนำกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ขึ้นโคจรรอบโลกที่ระดับความสูง ๕๖๐ กิโลเมตร ทุก ๙๖ นาที เพื่อรับรังสีอัลตราไวโอเลต แสงที่ตาเห็น และรังสีอินฟราเรด กล้อง Hubble เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องแรกใน ๔ กล้องที่ NASA คาดหวังจะใช้ศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกชนิดจากเทหวัตถุฟากฟ้า ตัวกล้องประกอบด้วยจานรับคลื่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒.๔ เมตร ความยาวโฟกัส ๕๗.๖ เมตร ประสบความสำเร็จในการหาค่าคงตัว Hubble ซึ่งใช้บอกความเร็วในการขยายตัวของเอกภพรวมถึงอายุของเอกภพด้วย และใช้สังเกตการณ์ขณะดาวหาง Shoemaker-Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในปี ๑๙๙๔ อีกทั้งใช้ศึกษาธรรมชาติของ supernova และการถือกำเนิดของดาวเคราะห์ใน Orion Nebula

telescope30

ค.ศ. ๑๙๙๑
NASA ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Compton Gamma Ray ขึ้นสู่อวกาศ กล้องนี้เป็นกล้องลำดับที่ ๒ ของ NASA ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Arthur Holly Compton นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ๑๙๒๗ จากการพบปรากฏการณ์คอมป์ตัน และผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับรังสีแกมมา กล้องโคจรที่ระดับความสูง ๔๕๐ กิโลเมตรเหนือโลก สามารถรับรังสีแกมมาได้ดี และเห็นการระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst) เป็นครั้งแรกเวลาดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาลแตกดับ

telescope31

ค.ศ. ๑๙๙๓
กล้องโทรทรรศน์แฝด Keck ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Howard Keck และ W.M. Keck Foundation ที่มอบทุนสร้างกล้อง เริ่มทำงาน ที่ระดับความสูง ๔,๑๔๕ เมตร กล้องอยู่บนยอดเขา Mauna Kea ในฮาวาย กล้อง Keck 1 พร้อมทำงานในปี ๑๙๙๓ และกล้อง Keck 2 ในปี ๑๙๙๖ กล้องทั้งสองมีความยาวโฟกัส ๑๗.๕ เมตรและมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐ เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง และใช้รับรังสีอินฟราเรดกับแสงที่ตาเห็น ตัวกล้องมีระบบ adaptive optics เพื่อช่วยลดการบิดเบี้ยวของภาพที่เกิดจากความแปรปรวนของบรรยากาศเหนือกล้อง

telescope32

ค.ศ. ๑๙๙๗
กล้องโทรทรรศน์ Hobby-Eberly ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Bill Hobby และ Robert Eberly ที่หอดูดาว McDonald ในเทกซัสเริ่มทำงาน ตัวกล้องประกอบด้วยกระจกหกเหลี่ยม ๙๑ ชิ้น นำมาเรียงกันเป็นรูป mosaic ทำให้เป็นจานใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๙.๒ เมตร การเรียงกระจกลักษณะนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถติดตามและศึกษาดาวดวงหนึ่งๆ ได้นานถึง ๒ ชั่วโมง จึงใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและ supernova

telescope33


ค.ศ. ๑๙๙๙

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Chandra X-ray ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ กล้องนี้ตั้งชื่อตามนามของ Subramanyan Chandrasekhar นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันสัญชาติอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๘๓ จากการศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ เป็นกล้องลำดับที่ ๓ ของ NASA ที่ถูกส่งขึ้นโคจรรอบโลกเป็นวงรีที่มีระยะใกล้สุด ๑๖,๐๐๐ กิโลเมตร และไกลสุด ๑๓๗,๐๐๐ กิโลเมตร กระจกของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑.๒ เมตร ความยาวโฟกัส ๑๐ เมตร สามารถรับรังสีเอกซ์จากเทหวัตถุฟากฟ้าได้ ผลงานที่โดดเด่นของกล้องนี้คือ วัดค่าคงตัวของ Hubble ได้ค่า ๗๖.๙ km/s/Mpc เห็นหลุมดำที่กำลังปล่อยรังสีเอกซ์ และเห็น supernova ในกระจุกดาว Cassiopeia

telescope34

ค.ศ. ๒๐๐๑
NASA ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Wilkinson Microwave Anisotropy Probe ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อศึกษารายละเอียด เช่นอุณหภูมิและความยาวคลื่นของรังสีที่หลงเหลือหลังการระเบิด Big Bang ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่า เอกภพมีอายุ ๑๓,๗๐๐ ล้านปี และค่าคงตัว Hubble มีค่าระหว่าง ๖๙.๒-๗๓.๕ km/s/Mpc รวมถึงการได้พบว่า เอกภพประกอบด้วยอนุภาคนิวทริโน ๑๐ % อะตอม ๑๒ % แสง ๑๕ % และสสารมืด ๖๓ %

telescope35

ค.ศ. ๒๐๐๓
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Lyman Spitzer ผู้เสนอความคิดเรื่องกล้องโทรทรรศน์อวกาศเป็นคนแรก กล้องนี้เป็นกล้องลำดับที่ ๔ ของ NASA ที่ถูกส่งขึ้นอวกาศเพื่อให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีวงโคจรเดียวกับโลก เพื่อศึกษาเทหวัตถุในอวกาศที่ปล่อยรังสีอินฟราเรดซึ่งเป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๓-๑๘๐ ไมโครเมตร เลนส์ของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๐.๘๕ เมตร จึงสามารถใช้ศึกษากำเนิดของดาราจักรได้

ค.ศ. ๒๐๐๙
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Planck ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Max Planck ผู้พบ
ทฤษฎีควอนตัมและได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๑๘ ถูกส่งขึ้นโคจรรอบโลกเป็นวงรีที่มีระยะใกล้สุดและไกลสุดเท่ากับ ๒๗๐ และ ๑,๑๒๐,๐๐๐ กิโลเมตรตามลำดับ เพื่อศึกษาคลื่น
แม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๑,๓๕๐-๑๐,๐๐๐ ไมโครเมตร จึงเหมาะสำหรับการค้นหาสนามแม่เหล็กในอวกาศระหว่างดาราจักร และสังเกตปรากฏการณ์เลนส์โน้มถ่วง (gravitational lensing) ตามคำทำนายในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์

telescope37

ค.ศ. ๒๐๑๑
กล้อง Gaia ซึ่งประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ ๒ กล้องจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศให้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันกับดวงอาทิตย์และโลก โดยให้อยู่ห่างจากโลก ๑.๕ ล้านกิโลเมตร เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ความเร็วและตำแหน่งของดาว ๑ หมื่นล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือก

telescope38

ค.ศ. ๒๐๑๒
ALMA (Atacama Large Millimeter Array) เป็นโครงการสถานีดารา-ศาสตร์ภาคพื้นดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อศึกษาเอกภพและกำเนิดสิ่งมีชีวิต โดยความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างชุดกล้องโทรทรรศน์วิทยุช่วงคลื่นความถี่เป็นมิลลิเมตร ประกอบด้วยจานรับส่งสัญญาณที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒ เมตร จำนวน ๖๔ กล้อง บนที่สูง ๕,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ในทะเลทราย Atacama ตอนเหนือของประเทศชิลี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๐๑๒

telescope39

ค.ศ. ๒๐๑๓
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๐.๖-๒๘ ไมโครเมตร คือรังสีอินฟราเรด ตัวกล้องมีกระจกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๖.๕ เมตร และความยาวโฟกัส ๑๓๑.๔ เมตร และเพื่อให้กล้องทำงานรับรังสีอินฟราเรดได้ดี ระบบทำความเย็นของกล้องจะต้องถูกควบคุมให้อุณหภูมิสูงไม่เกิน -๒๒๐ องศาเซลเซียส NASA คาดหวังว่ากล้องจะสามารถเห็นกำเนิดของดาวฤกษ์ดวงแรกๆ และดาราจักรแรกๆ ของเอกภพได้

telescope40

ค.ศ. ๒๐๑๘

กล้อง European Extremely Large Telescope (E-ELT) ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency-ESA) จะเริ่มทำงานรับแสงที่ตาเห็นและรังสีอินฟราเรด เลนส์กล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๔๒ เมตรจะทำให้ E-ELT เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถศึกษาสสารมืด พลังงานมืด และเห็นหลุมดำที่มีมวลมหาศาลได้ กล้องจะติดตั้งที่ชิลี หรืออาร์เจนตินา หรือหมู่เกาะคานารี หรือโมร็อกโก