Julie & Julia เมื่อ “หนัง” ฮอลลีวู้ดญาติดีกับ “เน็ต” …เพราะบล็อกเกอร์
คอลัมน์ : โลกเสมือน

ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง

TRON (๑๙๘๒) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้สร้างความตื่นตาตื่นใจทางภาพ เมื่อโปรแกรมเมอร์ พนักงานบริษัทผลิตวิดีโอเกม พยายามเจาะข้อมูลระบบของที่นั่นหลังจากถูกใส่ร้าย ทำให้เขาต้องเข้าไปต่อสู้กับคอมพิวเตอร์ในรูปแบบดิจิตอล

The Net (๑๙๙๕) ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สาวสวยผู้ไม่เคยมีชีวิตห่างจากโลกอินเตอร์เนต เธอค้นพบข้อมูลลับจากงานล่าสุดที่รับมาทำ หลังจากนั้นชีวิตก็ถูกคุกคาม และมีการพยายามลบข้อมูลของเธอให้หายไปจากโลก

The Matrix (๑๙๙๙) หนังไซ-ไฟระดับปรากฎการณ์โดยเฉพาะการสร้างสรรค์งานภาพ เมื่อโปรแกรมเมอร์หนุ่มพบความจริงว่าโลกที่เขาอาศัยอยู่แท้จริงถูกปกครองโดยเครื่องจักร และจองจำผู้คนให้มีชีวิตอยู่ในโลกเสมือน และเขาในอีกชื่อหนึ่งว่า นีโอ คือความหวังหนึ่งเดียวในการเปลี่ยนแปลงโลก

หนังทั้งหมดที่กล่าวมาต่างเหตุการณ์ ต่างยุคสมัยแต่มีจุดเชื่อมเหมือนกันคือ มันสร้างโดยบริษัทสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด และเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นภัยมืดของโลกเสมือนในอินเทอร์เน็ต

สาเหตุส่วนหนึ่งที่เรื่องราวเกี่ยวกับ “อินเทอร์เน็ต” ถูกสร้างภาพในแง่ลบ มืดมนนั้นมาจากจินตนาการของนิยายไซไฟหลายต่อหลายเรื่องที่มองโลกอนาคตอย่างสุดขั้ว และที่ดูจะปฏิเสธไม่ได้คือเว็บไซต์ทั้งหลายเองนั้นก็ถือเป็นสื่อแขนงหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับสื่อภาพยนตร์ การถูกมองเช่นนั้นจึงไม่ต่างจากที่ยุคหนึ่งภาพยนตร์มักสร้างภาพให้กับโทรทัศน์ไม่ต่างจากผู้ร้าย

Julie & Julia เมื่อ “หนัง” ฮอลลีวู้ดญาติดีกับ “เน็ต” ...เพราะบล็อกเกอร์Julie & Julia  หนังตลก-โรแมนติคที่ออกฉายในสหรัฐอเมริกาไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒(หนังมีกำหนดเข้าฉายในประเทศไทย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นี้) จึงน่าสนใจขึ้นมาทันทีเพราะมันเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่องแรกที่เล่าเรื่องของเว็บล็อก และผู้เขียนมันเป็นตัวละครหลัก ตัวหนังออกฉายในวงกว้าง…ที่สำคัญมันมองพวกเขาในแง่งามกว่าครั้งไหนๆ

หลายคนคงมีคำถามเหมือนผมว่า “หนังที่มีแต่เรื่องของคนเขียนบล็อกมันน่าสนใจตรงไหน ?” เราจึงมาเริ่มหาคำตอบในบทความนี้

ตัวหนังดัดแปลงจากหนังสือขายดีชื่อยาวเหยียดของ จูลี่ พาวเวลล์(Julie Powell) ที่ชื่อว่า Julie & Julia: 365 Days, 524 Recipes, 1 Tiny Apartment Kitchen (จูลี่ และจูเลีย : ๓๖๕ วัน, ๕๒๔ สำรับกับ ๑  ห้องครัวเล็กกะจิดริด ปัจจุบันฉบับพิมพ์ใหม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  Julie and Julia: My Year of Cooking Dangerously ) เล่าเรื่องของตัวเธอเองที่เป็นอดีตเลขานุการบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นความก้าวหน้าในวัยย่างสามสิบแล้ว จึงใช้เวลาหลังเลิกงานมาเขียนบล็อกซึ่งถูกตั้งชื่อว่า  The Julie / Julia Project ตั้งแต่สิงหาคม ๒๐๐๒

มันไม่ใช่แค่การกดแป้นคีย์บอร์ดอยู่หน้าจอเล่าถึงชีวิตประจำวันถ่ายเดียว หากแต่จูลี่ได้นำ Mastering the Art of French Cooking ตำราทำอาหารฝรั่งเศสสองเล่มเขื่องของ จูเลีย ไชลด์(Julia Child) มาแปรรูปใหม่ ด้วยการหัดทำแบบลองผิดลองถูกกับอาหารรายการต่างๆ จากความรู้เรื่องการทำครัวอันน้อยนิด  ด้วยการตั้งเป้าหมายทำทั้ง 524 รายการอาหารในหนังสือเล่มนั้นให้สำเร็จภายใน 1 ปี โดยเริ่มจากอาหารง่ายๆ ไปจนยากที่สุด กระทั่งเธอรู้เคล็ดลับการเลือกวัตถุดิบชั้นเลิศ ไปจนวิธีการปรุงรสที่หาไม่ได้จากการอ่าน แต่พบได้จากการลงมือทำจริงๆ

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของบันทึกในโครงการนี้ของ จูลี่

ฉันสังหารล็อบสเตอร์ไปสองตัวแล้วค่ะ จริงๆ ก็ไม่รู้วิธีปลิดชีพมันนักหรอก แต่ตอนหกโมงเย็นที่ผ่านมามันไปสู่สุขคติเรียบร้อยแน่ๆ จากทั้งบีบทั้งกดด้วยมือฉันนี่ล่ะค่ะ ผ่านมาจนถึงสามทุ่มครึ่ง ตอนนี้มันมาอยู่ในจานอาหารมื้อค่ำราดพร้อมครีมซอส ตอนนี้เราสามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมให้กับฉันได้เต็มปากเลยล่ะนะ

มันแทบจะหยุดกระดิกตัวตั้งแต่คนในร้านชาวจีนมัดมันใส่ในถุงพลาสติก และยื่นมันแทนเงิน ๖ เหรียญฯ ในมือฉัน  จริงๆ ก็กลัวว่ามันจะกระดุ๊กกระดิ๊กบนรถไฟนะ แต่มันนิ่งอยู่ในถุงเลยค่ะ ฉันยังหิ้วถุงที่พูนด้วยผักโขม ขนมปัง และไวน์ รวมกับชุดลำลองเก๋ๆ กระเป๋าตังค์ฉันแฟบลงเพราะ MtAoFC* แท้ๆ แต่ก็เพราะไม่ได้เตรียมจดรายการช้อปตั้งแต่อยู่บ้านด้วยแหละ มีเรื่องฮาๆ ระหว่างกลับบ้าน มันก็ไม่ได้ฮาขี้แตกขี้แตนหรอก  ตอนที่กำลังก้าวลงสถานีรถไฟใต้ดิน บู้ตข้างซ้ายที่ใส่เป็นประจำ เดิมพื้นรองเท้ามันฉีก หนังก็ใกล้ขาดมิขาดแหล่แล้วแหละ มันดันมาด่วนลาตายเอาเวลานี้พอดี เล่นเอาแทบร่วงเลยค่ะ พอทรงตัวได้ก็เห็นส่วนหน้าของบู้ตมันแยกห่างกลายเป็นสองท่อนที่ยังหนีบกันด้วยเศษหนังเล็กๆ สภาพตอนนี้ดูไม่จืดเลย “ขำๆ น่า” ฉันคิดก่อนจะค่อยกระเผลกไปขึ้นรถ  ..  – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๐๒

ผลของการเข้าครัวและถ่ายทอดความเพียร บอกเล่าอย่างสนุกสนานบ้าง สติแตกบ้าง  ทำให้ จูลี่ กลายเป็นบล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ ที่โด่งดัง จุดเด่นของการเขียนที่ทำให้มันได้รับความนิยม พร้อมๆ กับได้รับเสียงวิพากษ์คือสำนวนจีบปากจีบคอที่เป็นกันเอง สบายๆ ซึ่งใครๆ ก็เข้าถึง และรู้สึกร่วมด้วยได้

ไม่เพียงแค่นั้นแต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจูลี่ และสามี รวมถึงเพื่อนร่วมงานก็ดีขึ้นตามลำดับ

เธอหยุดเขียนการทำอาหารไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๐๐๓ ก่อนบันทึกในบล็อกจะถูกนำมาตีพิมพ์เมื่อปี ๒๐๐๕ จากนั้นงานเขียนของเธอจะถูกตีพิมพ์ตามมาอีกหลายเล่ม และยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายต่อหลายคนที่เคยมีสถานภาพไม่ต่างจากเธอเริ่มต้นหัดเขียนตามบ้าง จนทุกวันนี้การเขียนบล็อกอาหารกลายเป็นเรื่องปรกติที่แพร่หลายไปแล้ว แต่ละบล็อกต่างก็สรรหาวิธีการเขียน และการดึงดูดความสนใจที่หลากหลายมากกว่าเดิม

Julie & Julia เมื่อ “หนัง” ฮอลลีวู้ดญาติดีกับ “เน็ต” ...เพราะบล็อกเกอร์

จูเลีย ไชลด์ และ จูลี่ พาวเวลล์ ตัวจริง

จูเลีย ไชลด์ เจ้าของตำราดังกล่าวนั้น เธอเป็นเชฟอเมริกันผู้เริ่มเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารฝรั่งเศส เธอเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษที่ 60s จากทั้งรายการโทรทัศน์ The French Chef  และเขียนตำราอาหารขายหลายเล่ม คุณูปการสำคัญในงานทั้งสองคือมันทำให้การทำอาหารซึ่งถูกมองว่าหรูหราให้ออกมาเข้าใจง่าย การหาวัตถุดิบที่ซื้อได้จริง ก่อนจะเกษียณตัวเองในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ ก่อนจะเสียชีวิตด้วยวัย ๙๒ ปี เมื่อปี ๒๐๐๔ จากอาการไตวาย จากการสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดของจูเลียนั้น เธอทราบข่าวความดังของบล็อก Julie and Julia แต่เธอ ‘ไม่ปลื้ม’ นัก เพราะเธอไม่ชอบให้ใครเอาชื่อเสียงของเธอไปใช้หากิน ดังที่เกิดขึ้นกับเธอมาตลอดนั่นเอง

ความโดดเด่นของภาพยนตร์นั้นก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของ จูลี่ แต่เพราะมันตัดสลับกับช่วงเริ่มต้นอาชีพของ จูเลีย ไชลด์เอง(ดังเช่นที่หนังใช้คำโปรยว่า “สร้างจากสองเหตุการณ์จริง”) โดยดัดแปลงมาจากหนังสือบันทึกความทรงจำ My Life in France ที่เธอเขียนร่วมกับ อเล็กซ์ พรูดอมม์ ซึ่งกว่าจะเป็นที่รู้จักนั้นใช่จะสะดวกดาย เธอต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสกับสามีโดยที่ไม่มีความรู้ทางภาษา หรือวัฒนธรรมฝรั่งเศส และเริ่มฝึกทำอาหารเมื่ออายุ ๓๗ ปี เทคนิคนี้จึงกลายเป็นภาพเปรียบระหว่างคนทั้งสองที่แม้จะต่างสถานที่ และเวลาแต่สองสาวต่างวัยก็มีอุปสรรคในชีวิตคล้ายคลึงกัน

รวมถึงความจริงที่ว่า จูลี่ และจูเลีย ไม่เคยเจอกันเลยในชีวิตจริง แต่ต่างพบแรงบันดาลใจที่เปลี่ยนชีวิต และต่างเคยถ่ายทอดมันออกมาเป็นบันทึกความทรงจำเหมือนกัน ดังคำกล่าวของจูลี่ที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว

“ฉันสัมผัสได้ถึงความกล้าและมุ่งมั่นจากหนังสือตำราเล่มนั้น ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองค่ะ พองานแต่ครั้งสำเร็จก็รู้ว่าได้ทำสิ่งที่ใหญ่เกินกว่าเคยวาดฝันได้แล้ว มันไม่ใช่แค่ปรุงอาหาร แต่ฉันยังได้กลายเป็นนักเขียน มีสำนวน สิ่งที่ จูเลีย ไชลด์ สร้างไว้ไม่ใช่แค่การสอนการทำครัว แต่ยังสอนให้เรากล้าท้าชนกับมัน เธอเป็นนักสิทธิสตรีเท่าๆ กับที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารค่ะ”

แม้แต่ ซาร่า มูลตัน เพื่อนสนิทของ จูเลีย ไชลด์ เองยังยอมรับว่า “สิ่งที่เธอทำช่วยคืนความสดให้กับงานของจูเลีย ฟื้นฟูมันขึ้นใหม่ และทำให้มรดกผลงานของเธอมีค่าขึ้นมาจริงๆ.” แถมยังส่งให้ตำราทำอาหารของ จูเลีย กลับมาขายดีอีกครั้ง

Julie & Julia ประสบความสำเร็จอย่างดีทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ส่งผลให้ นอร่า เอฟรอน ผู้กำกับและเขียนบทซึ่งเคยสร้างหนังรักโลกออนไลน์ให้คนดูซาบซึ้งมาแล้วอย่าง You’ve Got Mail(๑๙๙๘) กลับมาโด่งดังอีกครั้งหลังจากไม่มีงานทำเงินมาร่วมสิบปี

หากพิจารณาว่าบล็อกเกอร์เป็นอาชีพยุคใหม่ที่ไม่ว่าใครก็เป็นได้ จูลี่เองก็เป็นคนธรรมดาแบบเราๆ ท่านๆ  พวกเขา หรือเธอไม่ใช่มิจฉาชีพแบบแฮ็คเกอร์ หรือบุคคลผู้ไม่เข้าสังคมสุงสิงอยู่แต่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกต่อไป ไม่น่าแปลกใจอะไรหากในอนาคตจะมีหนังที่บอกเล่าอาชีพของคนกลุ่มนี้ในแง่บวกเพิ่มขึ้นอีก ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

และในยุคมัลติมีเดีย หรือสื่อประสม ที่สื่อชนิดต่างๆ ถูกนำผสมผสานต่อยอดความสำเร็จข้ามช่องทางสลับกันไปมา เช่น จากหนังดังเรื่องหนึ่งอาจถูกสร้างเป็นวิดีโอเกมส์,ซีรี่ส์โทรทัศน์, หนังสือการ์ตูน และสุดท้ายก็อาจถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ใหม่อีกครั้ง จนผู้คุ้นชินกับการติดตามในลักษณะที่ไม่ได้เลือกรับชมความบันเทิงผ่านช่องทางเดียวอีกต่อไป อีกทั้งกระแสของเว็บไซต์ดังอย่าง Twitter อาจมีผลอย่างรวดเร็วกับหนังที่ออกฉายยิ่งกว่าการประชาสัมพันธ์ใดๆ การสร้างภาพแง่ลบให้สื่ออื่น หรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีผลกับรายได้เป็นศัตรู คงไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลดีนัก

แต่ไม่ได้หมายความเส้นทางของบล็อกเกอร์ต่อจากนี้จะสมหวังเหมือนนางเอกหนังไทยทุกคน เดือนกันยายนปีนี้ยังมีหนังที่สร้างจากบล็อกเกอร์อีกคน I Hope They Serve Beer in Hell ของ ทัคเกอร์ แม็กซ์ ว่าด้วยประสบการณ์สละโสดแบบสุดเหวี่ยงที่กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ผลคือมันไม่ประสบความสำเร็จเอาซะเลย

ในอนาคตฮอลลีวู้ดยังมีแผนที่ไปไกลกว่าหนังเรื่องนี้ นั่นคือการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชายสามคนที่ยอมทิ้งอนาคต ในชื่อว่า The Social Network ผ่านทีมงานระดับแนวหน้ารวมถึงผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งเพิ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The Curious Case of Benjamin Button(๒๐๐๘)โดยมีกำหนดออกฉายปี ค.ศ.๒๐๑๑

หนังดัดแปลงจากหนังสือ The Accidental Billionaires ซึ่งก็คือชีวประวัติของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก, ฌอน ปาร์คเกอร์ และเอดูอาร์โด เซเวอริน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันอย่าง Facebook.com นั่นเอง

น่าสนใจทีเดียวว่าผู้กำกับซึ่งเคยโด่งดังมาจากหนังฆาตกรโรคจิตอย่าง Se7en(๑๙๙๕) และมักถ่ายทอดประเด็นความหวาดกลัวที่หลอกหลอนจิตใจมนุษย์ จะถ่ายทอดงานชิ้นนี้ออกมาอย่างไร

ย้อนกลับมาที่เรื่องของจูลี่กันอีกครั้ง คงต้องยอมรับว่าหนังสือ หรือบันทึกในบล็อกของเธออาจไม่ใช่งานเขียนชั้นดีเลิศ หลายคนเองอาจไม่เชื่อสิ่งที่เธอเขียนทั้งหมด แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมันถ่ายทอดเรื่องราวร่วมสมัยได้ดี และแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางอีกมากในหาทางเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราเองให้ดีขึ้น(ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่ ชื่อเสียง เงินทอง)

ซึ่งรวมถึงการเริ่มเขียนบันทึกขึ้นมาสักเล่มของหญิงสาวที่เริ่มจากคนที่ไม่มีใครรู้จักเลยก็ตาม

หมายเหตุ : ปัจจุบัน จูลี่ ยังเขียนบล็อกของเธออยู่แม้จะไม่ได้เขียนบล็อกการทำอาหารอีกแล้ว ที่ juliepowell.blogspot.com อย่างไรก็ตามคุณสามารถอ่านบล็อกเดิมของเธอได้ที่ blogs.salon.com/0001399/2002/08/25.html

เชิงอรรถ
* คำย่อของหนังสือ Mastering the Art of French Cooking