วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

piyasawat01

ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานในประเทศไทย ชื่อของ ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่แถวหน้า ในฐานะอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ผู้คลุกคลีกับการกำหนดนโยบาย และทิศทางพลังงานมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี

ปิยสวัสดิ์เป็นบุตรชายคนโตของนายปรก อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต กับหม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย (สวัสดิวัตน์) อัมระนันทน์ ผู้เป็นหลานตาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ดร. ปิยสวัสดิ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายพลังงานสำคัญในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาน้ำมันลอยตัว การใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพื่อลดการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการสนับสนุนให้เกิดพลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบ

แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคนตรงไปตรงมา เชื่อมั่นในตัวเอง และมีแนวคิดใหม่ๆ เสมอ ทำให้เขาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่กี่คนที่ต้องขัดแย้งกับหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเขา ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย กฟผ. กลุ่มเอ็นจีโอ ชาวบ้าน ไปจนถึงรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชา จนทำให้ในที่สุดเขาตัดสินใจลาออกจากราชการในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้วยวัย ๔๙ ปี หลังถูกสั่งย้ายอย่างไม่เป็นธรรม

เขาให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อผมเข้ามาเป็นข้าราชการ ก็หวังว่าจะได้ทำงานเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ก็เสียเวลาที่จะอยู่ต่อไป”

ดร. ปิยสวัสดิ์ไปรับตำแหน่งใหญ่ที่บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ก่อนจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และสุดท้ายเขาได้ไปสมัครงานในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหาขาดทุน มีปัญหาการล้วงลูกจากนักการเมือง การคอร์รัปชันและความแตกแยกภายในองค์กรมากที่สุดแห่งหนึ่ง

“มันเป็นงานที่ท้าทาย” คือคำตอบสั้นๆ ของปิยสวัสดิ์ที่อยากเข้าไปกอบกู้สถานการณ์วิกฤตของการบินไทย

ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่กี่วัน ดร. ปิยสวัสดิ์ได้เปิดใจกับ สารคดี หลายเรื่อง ทำให้เราได้รู้จักกับตัวตนของผู้ชายคนนี้ ที่ตลอดการทำงานที่ผ่านมามีทั้งคนให้ดอกไม้และโยนก้อนอิฐ

แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้มาก เพราะตลอดชีวิตของเขา เป้าหมายและความสำเร็จของงานคือสิ่งที่เขาสนใจมากกว่า

เรียนจบจากเมืองนอก ทำไมคุณถึงอยากกลับมาทำงานรับราชการตั้งแต่นั้น
เพราะว่างานราชการคืองานที่น่าสนใจ ทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ เรียนคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์มาก็สามารถมาทำงานทางด้านการกำหนดนโยบายและวางแผนได้ เลยตัดสินใจรับราชการ ก่อนหน้าก็คิดว่าจะไปทำงานเอกชนหรือทำงานกับธนาคารโลก ทำงานครั้งแรกที่สภาพัฒน์ (สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) จริงๆ ตอนนั้นผมไปสมัครงานที่ธนาคารโลกด้วย ในโครงการ Young Professional Program ที่รับคนจบใหม่ แต่เขายังไม่ให้คำตอบ ก็เลยไปทำงานที่สภาพัฒน์ก่อน สัก ๒ เดือนธนาคารโลกก็จะรับเรา แต่เราขอเลื่อนไปหลายครั้งจนปฏิเสธไปเมื่อครบ ๑ ปี

ตอนนั้นคิดว่าจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานไหม
ไม่ครับ ตอนนั้นสภาพัฒน์ให้ดูงานเศรษฐกิจส่วนรวม ดูเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ ต้นปี ๒๕๒๓ มีการเปลี่ยนรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ (ชมะนันท์) ลาออก พลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณบุญชู โรจนเสถียร ขึ้นเป็นรองนายกฯ ก็มีการเอา ดร. เสนาะ (อูนากูล) มาเป็นเลขาธิการแทนคุณกฤช สมบัติศิริ ตอนนั้นปัญหาพลังงานคือปัญหาสำคัญของไทย ในช่วงปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔ ราคาน้ำมันสูงมาก และเกิดการขาดแคลนน้ำมัน รัฐบาลเกรียงศักดิ์พยายามปรับราคาน้ำมันให้สะท้อนต้นทุนไปถึง ๓ ครั้ง จนกระทั่งเกิดผลกระทบทางการเมืองกลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้ท่านต้องลาออก พอรัฐบาลเปรมเข้ามาสิ่งแรกที่รัฐบาลทำคือการลดราคาน้ำมันดีเซลอันเป็นจุดเริ่มต้นของการบิดเบือนโครงสร้างราคาน้ำมัน ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันจำนวนมากทำให้มีหนี้สินกองทุนมากขึ้น

ปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยตอนนั้นส่วนหนึ่งมาจากวิธีการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันซึ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจไทย การอุดหนุนราคาน้ำมันดูผิวเผินเหมือนจะช่วยเศรษฐกิจ แต่การอุดหนุนทำให้ฐานะการคลังของประเทศแย่ลง คนไม่ประหยัด การอุ้มราคาดีเซลทำให้ราคาน้ำมันเบนซินกับดีเซลที่เคยใกล้เคียงกันกลับมีราคาแตกต่างกัน รถเบนซ์บางคันสมัยนั้นถึงกับไปติดเครื่องดีเซล แก๊สหุงต้มก็มีการอุดหนุนทำให้ราคาต่ำ คนก็เปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้แก๊สแทน ราคาน้ำมันตอนนั้นมีผลกับเศรษฐกิจไทยมาก ผมเลยใช้เวลากับน้ำมันมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการติดตามดูแลเรื่องน้ำมัน

แสดงว่าราคาน้ำมันตอนนั้นเบนซินต้องใกล้กับดีเซล ทำไมเลือกอุ้มดีเซล
สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศถือว่าใช้ได้ ราคาน้ำมันทั้งสองชนิดใกล้เคียงกันมาก ในช่วงรัฐบาลเปรม ๑ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน สิ่งที่น่าสังเกตคือ นักธุรกิจที่มาเป็นนักการเมือง เวลาบริหารประเทศมักบิดเบือนโครงสร้างราคาน้ำมันมากที่สุดเพื่อเหตุผลทางการเมือง เหมือนในยุครัฐบาลทักษิณ

ช่วงนั้นคุณคัดค้านนโยบายนี้ไหม
ตอนนั้นยังเด็กเกินไป ผมเข้าไปตอนปี ๒๕๒๓ ไม่นานมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เลยไม่มีใครคัดค้าน สภาพัฒน์ทำอะไรไม่ได้ คุณบุญชูเป็นซาร์เศรษฐกิจคุมทุกอย่าง บทบาทสภาพัฒน์ลดลงมาก แต่กลับมามีบทบาทอีกครั้งตอนเปรม ๒ ที่คุณบุญชูออกไปแล้ว รัฐบาลเปรม ๒-๕ ไม่มีรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จแบบคุณบุญชู นายกฯ จึงให้สภาพัฒน์กำหนดนโยบายและวางแผนเศรษฐกิจ เราทำเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๕ และ ๖ เรื่องพลังงาน เรื่องน้ำมัน เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของผม ตอนนั้นสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการของ ครม. เศรษฐกิจ และเป็นฝ่ายเลขานุการของกรรมการระดับชาติหลายชุด

เป็นที่มาของการตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ สพช.
ก่อนหน้านั้นมีการพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ซึ่งหน่วยงานนี้ควรทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผน แต่เขาไม่ได้สนใจ ทำแต่งานปฏิบัติแทน เช่น การสร้างเขื่อนขนาดเล็ก งานสูบน้ำเพื่อการเกษตร ฯลฯ งานนโยบายพลังงานก็ไม่มีใครดูแล เป็นช่องโหว่ ตอนหลังนายกฯ เปรมเข้ามา ก็มีคุณศุลี มหาสันทนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องพลังงานของประเทศ ผมเข้าไปช่วยท่าน และเป็นที่มาของการตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็นหน่วยงานระดับกอง ต่อมากลายเป็นกรมสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

ในฐานะผู้อำนวยการ สพช. คนแรก ตอนนั้นมีนโยบายอย่างไร
ผมเป็น ผอ. ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๙ ตอนนั้นมีปัญหาเฉพาะหน้าเยอะ คือการแก้ไขความบิดเบือนเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันซึ่งมาจากนักการเมือง ผมใช้เวลา ๕ ปีแรกกับเรื่องน้ำมันเป็นหลัก จนทำให้ราคาน้ำมันลอยตัว ไม่ต้องเอาเงินภาษีมาอุ้ม และมาแก้ปัญหาโรงกลั่นน้ำมันที่กำลังการกลั่นไม่พอ ตอนนั้นมีโรงกลั่นแค่ ๓ โรง กำลังการกลั่นมีแค่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการ

อาทิโรงงานอุตสาหกรรมมีสิทธิพิเศษจะขอลดค่าไฟฟ้าเป็นรายๆ เป็นกรณีพิเศษ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ผมทำก็เสนอว่ายกเลิกสิทธิพิเศษหมดเลย ส่วนเรื่องพลังงานหมุนเวียนหรือการอนุรักษ์พลังงานยังไม่ต้องคิดถึงเพราะปัญหาเฉพาะหน้ามันเยอะ เอาเรื่องราคาให้พอปัญหาน้ำมันเริ่มคลี่คลายลง ผมก็มาทำเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้า ก็มีปัญหาบิดเบือนเช่นกันถูกต้องก่อนเป็นสิ่งแรก ในปี ๒๕๓๐ เราทำนายว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นแล้ว และความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าจะสร้างไม่ทัน แต่ไม่มีใครเชื่อ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่าควรจะเอาแผน PDP (Power Development Plan) มาปรับใหม่ แต่ กพช. ไม่เห็นด้วย ต่อมาในช่วงที่พลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) เป็นนายกรัฐมนตรี ความต้องการไฟฟ้าพุ่งพรวด ไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ เกิดปัญหาไฟตกไฟดับอย่างแพร่หลาย ปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เคยสูงถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์กลายเป็นติดลบ โรงไฟฟ้าใหม่สร้างไม่ทัน ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญ

เรื่องนโยบายการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะถือเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น
เกิดจากความพยายามลดสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน สมัยก่อนมีตะกั่วในน้ำมันเบนซินประมาณ ๐.๘๔ กรัมต่อลิตร สมัยรัฐบาลเปรมและชาติชายมีแนวคิดจะลดสารตะกั่วให้เหลือศูนย์ แต่มันเร็วไป โรงกลั่นน้ำมัน เครื่องยนต์รถปรับตัวไม่ทัน ก็เลยค่อยๆ ลดเหลือ ๐.๔ กรัมต่อลิตร แล้วจึงศึกษาเรื่องน้ำมันไร้สารตะกั่ว ซึ่งต้นทุนสูงกว่าน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่ว เราก็ไปเจรจากับกระทรวงการคลังเรื่องการลดหย่อนภาษีน้ำมันในสมัยรัฐบาลชาติชาย ตอนนั้นตกลงกันแล้วว่าจะมีน้ำมันไร้สารตะกั่ว มาทำสำเร็จตอนรัฐบาลอานันท์ จากนั้นก็มีการปรับคุณภาพน้ำมันเบนซิน ดีเซล เพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง รวมทั้งกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕

อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
มันเป็นเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องมลพิษใน กทม. เห็นชัดเจนมาก ตะกั่วในเลือดของประชาชนอยู่ในระดับสูง แต่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ งานนี้ผลักดันออกมาได้โดยกลุ่มคนไม่กี่คนเท่านั้น ประกอบกับมีรัฐมนตรีดูแลด้านพลังงานที่สนใจ นายกฯ ชาติชายเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลอานันท์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงทำได้ค่อนข้างเร็วและก้าวหน้ามากในภูมิภาคนี้ ดังนั้นบริษัทน้ำมันจึงออกมาโวยวายว่าทำไมต้องทำให้ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย ทำไมต้องดีกว่าสิงคโปร์ เราก็ตอบไปว่ามลภาวะประเทศเราแย่กว่าสิงคโปร์ บริษัทรถยนต์จำนวนหนึ่งก็ไม่ชอบนะครับ เพราะต้องติดคะตะไลติก คอนเวอร์เตอร์ อ้างกันสารพัดว่าติดตั้งแล้วรถจะไฟไหม้ จอดรถบนหญ้าก็จะไหม้ ขับรถไปเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ น้ำเข้าไปก็จะแตก รถจะพัง มีทุกอย่างสารพัด แต่พอน้ำมันไร้สารตะกั่วออกมาจำหน่ายก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ตอนนั้นคนทำไม่ได้ก็บ่น คนทำได้ก็เงียบ การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำมันเราอาศัยความสมัครใจ ใช้แรงจูงใจด้านราคา ก็ลดการต่อต้านจากบริษัทน้ำมันได้พอสมควร คนทำไม่ได้ก็ไม่กล้าพูดมาก คนที่ทำได้ก็ชอบเพราะมันก็ดีกับประชาชน ปตท. กับเชลล์แข่งกันนำน้ำมันไร้สารตะกั่วออกมาขาย บริษัทอื่นที่ตอนแรกทำไม่ได้ก็ต้องเร่งนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกมาขายโดยเร็ว ตอนนั้นราคาต่างกันไม่มาก

ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้ก็พยายามรณรงค์ให้คนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จและมีปัญหาที่รัฐบาลอุดหนุนราคามากเกินไป
ผมว่าอุดหนุนราคากันมากเกินไป เสียเงินโดยไม่จำเป็น ตอนนี้รัฐให้เงินอุดหนุน E85 ถึง ๑๐ บาทต่อลิตร ไปทุ่มกับสิ่งที่คนใช้น้อยมาก ขณะที่แก๊สโซฮอล์ E10 ใช้กันมากกว่า ทุกวันนี้มีผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ๒๐ ล้านลิตรต่อวัน เป็นแก๊สโซฮอล์ประมาณ ๑๒ ล้านลิตร อีก ๗.๖ ล้านลิตรเป็นเบนซิน ๙๑ ออกเทน และ ๐.๔ ล้านลิตรเป็นเบนซิน ๙๕

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ๑๒ ล้านลิตรนั้นส่วนมากที่ใช้คือ E10 ที่เหลือคือน้ำมัน E20 ใช้ประมาณ ๓ แสนลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมัน E85 ใช้แค่ ๖๐๐ ลิตรต่อวันหลังจากขายมา ๑ ปี ถ้ารัฐบาลมีนโยบายอยากให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น ก็ควรส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเบนซิน ๙๑ ที่มีอยู่ ๗.๖ ล้านลิตรต่อวัน ให้มาใช้แก๊สโซฮอล์แบบ E10 ผมว่าเปลี่ยนจากน้ำมันเบนซินมาเป็น E10 ประมาณ ๔ ล้านลิตรทำได้ทันที พวกที่เหลือที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งกับมอเตอร์ไซค์ แต่ก็ยังดีกว่าไปทุ่มกับน้ำมัน E85 ที่มีคนใช้ไม่มาก แต่เอาเงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากคนใช้น้ำมันประเภทอื่นไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ตอนนี้รัฐเก็บเงินจากเบนซิน ๙๑ และ ๙๕ ลิตรละประมาณ ๗ บาทเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อมาอุ้มน้ำมัน E85 ที่ได้ค่าชดเชยถึง ๑๐ บาทต่อลิตรเพื่อไม่ให้น้ำมันแพงขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นนโยบายที่แปลก

แน่นอนว่าระยะยาว E85 อาจจะดีกว่าในแง่สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ต้องดูความพร้อมด้วย รถยนต์พร้อมไหม การผลิตเอทานอลพร้อมไหม รถยนต์นี่สำคัญ เครื่องยนต์ใช้ได้ไม่กี่รุ่นเท่านั้น คือมีเฉพาะวอลโว่ มิตซูบิชิ บางรุ่นเท่านั้น การปรับปรุงปั๊มน้ำมันก็ต้องใช้เวลา บริษัทน้ำมันไม่อยากทำหรอก เอทานอลยังแพงกว่าเบนซินด้วย มันไม่ได้ช่วยมากหรอกครับเพราะตอนนี้ราคามันแพง หวังว่าระยะยาวราคาเอทานอลจะลดลง ตอนผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานยังไม่ได้เริ่มน้ำมัน E85 แต่คิดแล้วว่าน่าจะรอให้รถยนต์ในบ้านเราพร้อมก่อน ไม่มีประโยชน์ที่จะผลิตน้ำมันชนิดนี้มาขายกับรถวอลโว่ ไม่คุ้มที่จะขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันรองรับรถไม่กี่ร้อยคัน ถามว่าผลในการส่งเสริมการใช้เอทานอลได้ผลไหม ผมว่าล้มเหลว เพราะ E85 ขายได้ ๖๐๐ ลิตรต่อวัน คือเพิ่มการใช้เอทานอลวันละ ๕๐๐ ลิตร ขณะที่ E10 วันนี้ใช้เอทานอล ๑.๒ ล้านลิตร ถ้าส่งเสริม E10 จะเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอลได้มากกว่า อันที่จริงในระยะยาวเป็นเรื่องที่ดี แต่จังหวะเวลาผิด คือเร็วเกินไป

คุณเป็นคนผลักดันเรื่องกระจายโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าไปสู่เอกชนด้วย
พอเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหมดไป รัฐบาลอานันท์เข้ามาถึงเริ่มมีเวลาคิดอย่างอื่น การเพิ่มบทบาทเอกชนในกิจการไฟฟ้าที่เริ่มเดินในสมัยรัฐบาลชาติชายก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น ในสมัยชาติชาย รัฐมนตรีที่ดูแลด้านพลังงานไม่ชอบการผูกขาดและพยายามจะผลักดันการลงทุนของเอกชนในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังไม่สำเร็จเพราะ กฟผ. คัดค้านมากเหลือเกิน อันที่จริงนโยบายลดการผูกขาดในการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมมีแค่ กฟผ. มากระจายให้ภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือ SPP และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระหรือ IPP เริ่มขึ้นในช่วงนั้น คือตั้งแต่ปี ๒๕๓๒- ๒๕๓๓ ที่เริ่มทำระเบียบ เริ่มเจรจากับการไฟฟ้าฯ แต่มันไม่ออก จนกระทั่งในช่วงรัฐบาลอานันท์จึงประสบความสำเร็จ และมีนโยบายที่ชัดเจนในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้าและการประหยัดพลังงานในช่วงปี ๒๕๓๕

คุณเชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าไม่ควรผูกขาดโดยรัฐฝ่ายเดียว
ผมคิดว่าการผลิตไฟฟ้าไม่ควรถูกผูกขาดโดยรัฐฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน แต่ระบบสายส่งไฟฟ้าคงต้องมีรายเดียว มีหลายรายก็มากเกินไป ลงทุนซ้ำซ้อนในการเดินสายไฟฟ้า ในเมื่อระบบสายไฟฟ้าผูกขาดก็ต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเรื่องราคาและการบริการ แต่การจำหน่ายหรือการผลิตไฟฟ้าเราควรจะมีผู้ประกอบการหลายราย เช่นเดียวกับการบริการโทรศัพท์มือถือที่เรามีผู้ให้บริการหลายราย ไม่ได้มีใครผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการบริการแก่ประชาชน แต่ตอนที่เราออกนโยบายลดการผูกขาดในการผลิตไฟฟ้า เราก็โดนต่อต้านจากผู้บริหาร กฟผ. และพวกสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฯ ด้วย แม้แต่ภาคเอกชนจำนวนมากก็ไม่เอา อาจเพราะไม่เข้าใจ ทั้งที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีระบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว ข้ออ้างคัดค้านมักเป็นเรื่องความมั่นคง กลัวว่าไฟจะตกไฟจะดับ ภาคเอกชนก็กลัวว่าหากให้โรงไฟฟ้าเอกชนมาผลิตไฟฟ้าด้วยก็ไม่แน่ใจในความสามารถ อาจจะทำให้ไฟฟ้าดับ เราก็ต้องพยายามอธิบายให้เขาเห็นตัวอย่างในต่างประเทศและในประเทศที่ทำแล้วอย่างเงียบๆ ภาคเอกชนไทยหลายรายก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง บางรายอาจขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีโรงงานอยู่ใกล้กัน พวกนี้คือแรงสำคัญในการทำให้ กฟผ. ยอมรับ นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เป็นแรงที่สำคัญที่ช่วยพวกเรา

ตัวอย่างที่ทำให้ทาง กฟผ. ยอมจำนนด้วยเหตุผล เช่นโรงงานน้ำตาลที่มีกากอ้อยจำนวนมากต้องเผาทิ้ง ผมไปถ่ายรูปโรงงานน้ำตาลมิตรผลที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นโรงงานขนาดใหญ่มาก แต่ละวันต้องเผากากอ้อยทิ้งมหาศาลเกิดควันเป็นมลพิษ เขาไม่สามารถเอากากอ้อยมาผลิตไฟฟ้าได้เพราะการไฟฟ้าฯ ไม่รับซื้อไฟฟ้า หรือโรงสีข้าวที่บางปะกง แทบจะเข้าไปในโรงสีข้าวไม่ได้เพราะเต็มไปด้วยแกลบกองสูง ขนาดยอมจ่ายเงินให้คนมารับไปก็ยังไม่หมด หรือมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ระบบโคเจนผลิตไฟฟ้าและน้ำใช้เอง มันได้ประสิทธิภาพดีกว่า หรือพวกอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างปิโตรเคมี ต้องใช้ไฟฟ้าคุณภาพดีมากคือไม่มีปัญหาไฟตก ตอนนั้นคุณภาพไฟฟ้าในบ้านเรายังไม่ดี มีปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับมาก ซึ่งก็เป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้รัฐบาลยอมออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในปี ๒๕๓๕ โดยผมใช้เวลา ๔ ปีอธิบายเรื่องนี้