redshirt08
การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุม นปช.กับทหารเมื่อเย็นวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ (ภาพ : หนังสือพิมพ์ ข่าวสด)

redshirt09
หลังการปะทะกัน ในช่วงสายของวันที่ ๑๑ เมษายน รถสายพานลำเลียงพลส่วนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมยึดได้ (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)


๑๐ เมษายน : สลายการชุมนุม นองเลือด จลาจล

หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมก็เพิ่มระดับความตึงเครียดมากขึ้นรัฐบาลออกหมายจับแกนนำ นปช. ๒๔ คน ตัดสัญญาณพีเพิลแชนเนลที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของคนเสื้อแดง นอกจากนี้กระทรวงไอซีทียังอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งปิดเว็บไซต์กว่า ๑๐๐ เว็บไซต์โดยไม่ต้องขออำนาจศาล ให้เหตุผลว่าเป็นเว็บไซต์ที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

สายวันที่ ๙ เมษายน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้นำผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้ ศอฉ. ออกแถลงการณ์ว่าจะดำเนินมาตรการจากเบาไปหนักหากผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมายบุกรุกสถานีดาวเทียมไทยคม

๑๔.๕๐ น. เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารที่สถานีดาวเทียมไทยคม เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำสกัดกั้น ทว่าในที่สุดกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปภายในรั้วด้านหน้าตัวอาคารโดยยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่งและผลักดันเจ้าหน้าที่ไปด้านหลังสถานีฯ จากนั้นตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเจรจากับ พล.ต.ท. กฤษดา พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑ จนทหารยอมถอนกำลังออกจากสถานีฯ เมื่อเชื่อมต่อสัญญาณพีเพิลแชนเนลได้อีกครั้ง ผู้ชุมนุมจึงถอนตัวกลับไปในเวลา ๑๗.๐๐ น.

ช่วงเดียวกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เกิดความตึงเครียดเมื่อเจ้าหน้าที่เสริมกำลังเข้ามาในโรงพยาบาลตำรวจและมีข่าวลือว่าจะสลายการชุมนุม บริเวณหน้าโรงพยาบาลตำรวจเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ที่มีตำรวจหญิงเป็นแถวหน้ากับผู้ชุมนุมที่มีพระสงฆ์เป็นแนวป้องกัน แต่เหตุการณ์ก็สงบลงเมื่อเจ้าหน้าที่ยอมถอยกลับที่ตั้ง

ทว่าเวลา ๒๒.๒๐ น. กำลังทหารกลับเข้ามาควบคุมสถานีดาวเทียมไทยคมและตัดสัญญาณพีเพิลแชนเนลอีกครั้ง

๑๐ เมษายน เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมตั้งแต่ช่วงบ่าย เมื่อ ขวัญชัย ไพรพนา นำคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งไปหน้ากองทัพภาคที่ ๑ แล้วเกิดกระทบกระทั่งจนเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำสกัดและใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม จากนั้นเหตุการณ์ก็เลวร้ายลงเมื่อทหารจำนวนมากเคลื่อนกำลัง เดินหน้ายึดพื้นที่มาถึงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ขณะที่จุดอื่นรอบพื้นที่ชุมนุมก็ตึงเครียดไม่แพ้กัน ด้วยมีกำลังทหารพร้อมยานพาหนะ อาทิ รถสายพานลำเลียงพล รถฮัมวี่ ฯลฯ เข้าปิดถนนที่มุ่งหน้าสู่จุดชุมนุม อาทิ บริเวณแยกสะพานวันชาติไปจนตลอดแนวถนนดินสอ เชิงสะพานพระราม ๘ ฝั่งพระนคร บริเวณถนนตะนาวที่เชื่อมกับถนนราชดำเนิน บริเวณแยกพณิชยการถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น

ช่วงเดียวกัน นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่าจะดำเนินมาตรการ “ขอพื้นที่คืน” โดยจะดำเนินการจากเบาไปหาหนัก “เพราะรัฐบาลต้องการคืนพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไป เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ปรกติโดยเร็ว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าวบนพื้นฐานกติกาสากลและหลักกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิ ความปลอดภัย และหลักมนุษยธรรม”

ช่วงบ่ายสามถึงสามทุ่มของวันที่ ๑๐ เมษายน เกิดการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดถนนราชดำเนินกลาง จุดที่เกิดสถานการณ์รุนแรงมี ๒ จุดใหญ่ คือบริเวณสี่แยกคอกวัว จุดที่ถนนตะนาวเชื่อมกับถนนราชดำเนินกลาง บริเวณนี้ผู้ชุมนุมนำรถและสิ่งกีดขวางมาจอดสกัดการสลายการชุมนุม และใช้ก้อนอิฐ ท่อนไม้ ขว้างใส่เจ้าหน้าที่ที่เริ่มเคลื่อนขบวนเข้ามากดดัน สถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงค่ำ มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เสียงปืนและระเบิดดังติดต่อกัน ผู้ชุมนุมจุดระเบิดถังแก๊สสกัดจนเกิดเสียงดังและควันคละคลุ้ง มีเสียงระเบิด M-79 หลายลูก บางลูกตกใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทำให้ทหารต้องถอยกลับเข้าถนนตะนาว การปะทะจุดนี้ส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุม ทหาร นักข่าว และนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งบาดเจ็บและเสียชีวิตทันที

อีกจุดที่เกิดความรุนแรงคือด้านทิศเหนือของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณที่ถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนดินสอ ตั้งแต่ช่วงบ่ายทหารนำรถสายพานลำเลียงพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาและเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเย็น โดยหยุดที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และเปิดเพลงปลุกใจ

การปะทะจุดนี้เกิดขึ้น ๒ ครั้ง ครั้งแรกเวลา ๑๙.๑๕ น. ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังร้องรำทำเพลงก็มีเสียงปืนดังขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมขวางปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ประกอบกับเฮลิคอปเตอร์ที่บินวนอยู่บนท้องฟ้าทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาบริเวณนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมแตกกระจายและอารมณ์รุนแรงยิ่งขึ้น ทหารพยายามรุกเข้ามาจนผู้ชุมนุมต้องเอารถยนต์มาขวางรถสายพานลำเลียงพล ผลักดัน ขว้างปาสิ่งของ ในที่สุดเจ้าหน้าที่ถอยกลับไปตั้งแนวบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา สถานการณ์สงบลงพักหนึ่ง แต่สักพักก็กลับสู่ความโกลาหลเมื่อมีการยิงระเบิดซึ่งมีที่มาไม่แน่ชัดเข้าใส่กลุ่มทหาร มีเสียงปืนดังขึ้นจากหลายทิศทาง หลายคนถูกยิงและได้รับบาดเจ็บ แก๊สน้ำตาลูกหนึ่งตกลงในรถสายพานลำเลียงพล ทำให้ทหารต้องถอนกำลัง ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยึดรถได้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ชุมนุมควบคุมตัวทหารซึ่งพวกเขาบอกว่าซุ่มยิงคนจากบนตึกโดยรอบเอาไว้

ถึงตอนนี้สถานการณ์อยู่ในภาวะจลาจล หากใครอยู่แถบใกล้เคียงจะเห็นพลุและโคมถูกปล่อยขึ้นตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางเพื่อรบกวนเฮลิคอปเตอร์ที่บินวนเวียนตลอดเวลา เสียงปืนดังก้องนับร้อยนัด ขณะที่แกนนำบนเวทีปราศรัยปลุกเร้าผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา ในหลายจังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี ยังปรากฏความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่พยายามบุกล้อมศาลากลางจังหวัด แต่ก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เพียงแต่มีการคุมเชิงอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น

ราว ๒๓.๐๐ น. สถานการณ์ที่จุดปะทะทั้งสองเริ่มคลี่คลาย ซึ่งต่อมาทั้งรัฐบาลและ นปช. ต่างอ้างว่าอีกฝ่ายคือผู้เริ่มก่อเหตุรุนแรงก่อน และกล่าวหาว่าอีกฝ่ายนั้นมีอาวุธหนักในครอบครอง

รุ่งขึ้น ๑๑ เมษายน ปรากฏคลิปวิดีโอและภาพเหตุการณ์จากนักข่าวอิสระจำนวนมาก ณ สองจุดปะทะสำคัญในหลายแง่มุม เผยแพร่ทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ บริเวณสี่แยกคอกวัวปรากฏคลิปแสดงภาพชายสวมชุดดำถืออาวุธปืนอยู่ในจุดปะทะ คลิปแสดงภาพชายคนหนึ่งยิงปืนใส่กลุ่มทหารและผู้ชุมนุมในแนวระนาบที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอปรากฏคลิปแสดงเสียงปืนที่เริ่มต้นจากฝั่งทหาร ความโกลาหลของผู้ชุมนุม การปะทะกัน รวมถึงภาพระเบิดตกใส่กลุ่มทหารทำให้ทหารต้องล่าถอยไป ทั้งนี้ยังปรากฏคลิปแสดงการปล่อยแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์จนทำให้ผู้ชุมนุมหลายรายได้รับบาดเจ็บ และคลิปที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกยิงอย่างแรงจนสมองกระจายในทันที

รายงานข่าวจากหลายสำนักบอกว่ามีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงปืนและระเบิดใส่เจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมในสองจุดปะทะ ในขณะที่รัฐบาลแถลงว่ามี “ผู้ก่อการร้าย” ปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนแกนนำ นปช. ตอบโต้ว่ามีการสร้างสถานการณ์บิดเบือนข่าวสาร และผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการยิงของทหารจริงๆ

ล่าสุดศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รายงานว่าการปะทะกันในวันที่ ๑๐ เมษายน มีผู้เสียชีวิต ๒๕ ราย บาดเจ็บ ๘๓๙ คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน ๒๐ ราย (ผู้ชุมนุม ๑๙ ราย นักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ๑ ราย) และทหาร ๕ ราย

จากการสำรวจพื้นที่หลังเหตุการณ์ เราพบปลอกกระสุน กระป๋องแก๊สน้ำตาแบบขว้างจำนวนมาก ซากรถยนต์ ๒-๓ คันในสภาพยับเยินจอดอยู่บนถนนตะนาว ร่องรอยความเสียหายจากกระสุนบนตัวตึกโดยรอบปรากฏอย่างชัดเจน

หลังจากการปะทะในวันที่ ๑๐ เมษายน แกนนำ นปช. ประกาศยกระดับข้อเรียกร้องมาเป็นให้รัฐบาลยุบสภาทันทีและนายกฯ ต้องออกนอกประเทศ ทั้งประกาศจัดพิธีสวดพระอภิธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๑ เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกเมื่อแกนนำ นปช. เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินไปรวมกับผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ลดพื้นที่การชุมนุมเหลือเพียงจุดเดียว เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน

ดร. ชาญวิทย์วิเคราะห์สถานการณ์ว่า “ไม่มีผู้ชนะที่แท้จริงสำหรับทั้งสองฝ่าย เมื่อรัฐบาลไม่ใช่ผู้ใช้กำลังแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ประเทศก็เลี้ยวเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตย (จลาจล)”

ถึงตอนนี้การเมืองไทยยังหาทางออกไม่ได้ กรุงเทพมหานครประกาศงดจัดงานสงกรานต์ทุกพื้นที่ คนไทยส่วนมากอยู่ในภาวะเศร้าสลด คนเสื้อแดงยังชุมนุมต่อด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรงและแกนนำก็มีท่าทีปลุกระดมมากขึ้น ขณะที่สาธารณชนและรัฐบาลมิตรประเทศกดดันรัฐบาลไทยอย่างหนักให้หาทางออกจากสถานการณ์นี้ให้ได้

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นของภาคธุรกิจแถบราชประสงค์ซึ่งกลายมาเป็นพื้นที่หลักในการชุมนุมตอนนี้ว่า นับตั้งแต่ผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่ในวันที่ ๓ เมษายนเป็นต้นมา เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่าวันละ ๕๐๐ ล้านบาท เวลาที่ผ่านมาเกือบ ๒ สัปดาห์ ตัวเลขความเสียหายไม่ต่ำกว่า ๗ หมื่นล้านบาท ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ความเสียหายจะมากขึ้นเรื่อยๆ

บันทึกนี้หยุดลงในวันที่ ๑๑ เมษายน คนไทยยังต้องจับตาดูวิกฤตการเมืองต่อไปอย่างใกล้ชิด ดูเหมือนสิ่งที่สังคมไทยต้องการในขณะนี้คือการกลับสู่โต๊ะเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อป้องกันชีวิตของประชาชน กลับเข้าสู่ระบอบนิติรัฐ การเคารพหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกจากปัญหาโดยเร็วที่สุด

เพราะไม่มีใครอยากให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากความขัดแย้งทางการเมืองมากไปกว่านี้

และนี่อาจเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองระดับชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ ๑๘ ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมในปี ๒๕๓๕

ขอขอบคุณ : คุณพัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ และหนังสือพิมพ์ ข่าวสด