เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์


jatukam01

เล่าขานกันในหมู่คนนครว่า เป็นครั้งแรกที่เมืองทั้งเมืองตื่นขึ้นจากการหลับใหลอันยาวนานเพราะเทพองค์หนึ่ง

เล่าขานกันในหมู่เซียนพระว่า นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการพระเครื่อง

เล่าขานกันในหมู่คนทั่วไปว่า หากใครได้เทพองค์นี้ไปบูชา จะรวยและแคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง…

ข้อความข้างต้นคือบทเปิดเรื่องของสารคดีพิเศษ “ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ๒๕๕๐ เมื่อ ‘เทพ’ มาเยือนเมืองคอน” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๖๘ มิถุนายน ๒๕๕๐

ระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ คงไม่ผิดหากกล่าวว่ากระแสความนิยมจตุคามรามเทพพุ่งแรงสู่จุดสูงสุดในระดับปรากฏการณ์ อย่างที่วัตถุมงคลอื่นใดไม่สามารถทำได้มาก่อน หลายคนอาจยังจำได้ถึงเหตุการณ์วันเปิดจองจตุคามรามเทพ รุ่น “เงินไหลมา ๒” จัดสร้างโดยพระมหาไมตรี ปภารตโน เจ้าอาวาสวัดพระนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ฝูงชนแห่แหนเข้ามาแออัดเบียดเสียดกระทั่งเหยียบกันตาย กลายเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่างๆ

ผู้รู้ในแวดวงพระเครื่องกล่าวว่า จตุคามรามเทพนับเป็นวัตถุมงคลที่มีกระบวนการจัดสร้างพัฒนาไปอย่างถึงที่สุด นับตั้งแต่การออกแบบที่หลากหลาย มวลสารและวัตถุดิบที่นำมาผลิต กระทั่งพิธีกรรมที่พิสดารขึ้นทุกที มีพิธีปลุกเสกจตุคามฯ ตั้งแต่ในเรือรบจนถึงบนเครื่องบิน

ช่วงเวลานั้นคนทุกสารทิศหลั่งไหลไปยังเมืองนครศรี-ธรรมราชในฐานะต้นกำเนิดของจตุคามรามเทพ ทำให้ทั้งเมืองคึกคักครึกครื้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งจากพิธีกรรมและกิจกรรมนานาที่เกี่ยวเนื่องกับองค์เทพ และจากเม็ดเงินมหาศาลแพร่สะพัด เปรียบเสมือนเมืองนครตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน

แต่ละวันมีผู้สร้างมาขอใช้ลานหน้าพระบรมธาตุของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกจตุคามรามเทพ วันละอย่างน้อย ๓ เวลา โดยมีผู้ศรัทธามาเข้าร่วมพิธีเนืองแน่น เช่นเดียวกับศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ก็เป็นสถานสำคัญที่ผู้สร้างจตุคามฯ ทุกรุ่นต้องมาทำพิธีปลุกเสกที่นี่

ทุกมุมเมืองนครศรีธรรมราชเต็มไปด้วยป้ายคัตเอาต์ประกาศสร้างจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ และแผงค้าจตุคามฯ กระจัดกระจายทั่วไปหมด ตั้งแต่ด้านหน้าร้านตัดผม ร้านอาหาร ร้านทอง ร้านขายยา อู่ซ่อมรถ ไม่เว้นแม้แต่ปั๊มน้ำมัน รวมทั้งร้านค้าในอาคารตึกแถว ทั้งยังมีรถปิกอัปติดป้ายโฆษณาจตุคามรามเทพวิ่งขวักไขว่เต็มท้องถนนทั่วเมือง

กิจการต่างๆ ในเมืองนครได้รับประโยชน์จนเข้าสู่สภาวะ “ขาขึ้น” ถ้วนหน้า โรงแรมทุกระดับและร้านอาหารมียอดลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สายการบินต่างๆ มีผู้ใช้บริการจำนวนมากจนต้องเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมายังนครศรีธรรมราช แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างแทบไม่มีวิ่งรับคนเพราะต้องไป
วิ่งส่งจตุคามฯ กันหมด

jatukam02
ต้นปี ๒๕๕๓ บรรยากาศในวิหารพระม้า สถานที่ประดิษฐานท้าวขัตตุคาม-ท้าวรามเทพ ผู้คนไม่คึกคักพลุกพล่านเท่าสมัยที่จตุคามรามเทพ อยู่ในกระแสความนิยม

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ๓ ปี เราเดินทางมาที่เมืองนครศรี-ธรรมราชในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ก็พบว่ากระแสความนิยมจตุคามรามเทพที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูสุดขีดได้ซบเซาลงไปแล้ว…

ลานหน้าพระบรมธาตุของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารโล่งกว้างแทบว่างเปล่าภายใต้แดดบ่ายจัดจ้าร้อนระอุ คนเดินผ่านไปมาน้อยจนนับจำนวนได้ ภายหลังเราจึงรู้ว่าลานแห่งนี้ปราศจากการประกอบพิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกจตุคามรามเทพ มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๑

ฟุตบาทริมถนนหน้าวัดพระมหาธาตุซึ่งเคยมีแผงค้าจตุคามฯ เรียงรายยาวเหยียด วันนี้เหลือแผงค้าวัตถุมงคลอยู่ไม่กี่เจ้า เราข้ามถนนไปยังห้องแถวคูหาหนึ่งที่เปิดเป็นร้านค้าจตุคามฯ ชื่อร้านถมนครา ภายในร้านไม่มีลูกค้าอื่นใด สตรีวัยกลางคนเชื้อสายจีนที่เป็นพี่สาวเจ้าของร้านยินดีคุยกับเราโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ

“ร้านของเราเปิดตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ นับเป็นร้านขายจตุคามฯ รุ่นบุกเบิก กระแสจตุคามฯ บูมสุดๆ ช่วงปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ บรรยากาศตอนนั้นคึกคักมาก คนมาดูมาซื้อทุกวันจนแน่นเต็มร้าน ขนาดที่คนด้านนอกเบียดเข้ามาไม่ได้ แต่พอปลายปี ๒๕๕๐ ลูกค้าเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ”

เมื่อถามว่าปัจจุบันกิจการของร้านเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “ตอนนี้จตุคามฯ เงียบเลย แทบไม่มีคนเข้าร้าน ที่พอปล่อยได้คือจตุคามฯ แบบองค์บูชา (รูปหล่อโลหะ) แต่ราคาตกมาก อย่างสมัยก่อนขนาด ๕ นิ้วราคาจอง ๕,๐๐๐ บาท เดี๋ยวนี้เหลือพันกว่าบาท แต่จตุคามฯ แบบแว่น (เหรียญกลม) ปล่อยไม่ออกเลย ขนาดให้ฟรียังไม่มีคนเอา ร้านเรามีเหลือเป็นโกดังเลย ตอนนี้น้องชายที่เป็นเจ้าของร้านเขาหันไปทำธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแทนแล้ว”

เธอเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนแถวนี้มีแผงจตุคามฯ แน่นเอี้ยดเลย เหมือนแถวศาลหลักเมือง และมีแผงจตุคามฯ กระจายทั่วตัวเมืองนคร ไม่ว่าตึกตรงไหนว่างก็มีคนไปเช่าเปิดแผง แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมด น่าจะเหลืออยู่บ้างที่คาร์ฟูร์”

หลังจากนั้นเราเดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ย่านกลางเมืองนครศรีธรรมราช สมัยที่กระแสจตุคามฯ ยังพุ่งแรงบริเวณชั้น ๔ ซึ่งเป็นศูนย์พระเครื่องและวัตถุมงคลเคยเต็มไปด้วยแผงจตุคามฯ เรียงรายแออัดกินพื้นที่กว้างขวางเกือบทั้งชั้น ทว่าในวันนี้บรรยากาศที่นี่ค่อนข้างเงียบเหงา แผงวัตถุมงคลดูบางตา ส่วนใหญ่มีแต่เจ้าของยืนเฝ้าแผงของตน

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ รัฐพล แก้วประทุม ชายหนุ่มเจ้าของแผงจตุคามฯ รายหนึ่ง เขาเล่าว่า “เมื่อก่อนที่ลานนี้มีแผงวัตถุมงคลเยอะกว่านี้ แผงของเราก็เคยยุบไปหนหนึ่งแล้วกลับมาขายใหม่ ผมว่าคนที่อยู่ได้ต้องปรับตัว ในเมื่อสิ่งนี้ขายไม่ได้ เราก็เปลี่ยนมาขายอีกอย่าง สมัยก่อนเรามี
จตุคามฯ เกือบทั้งแผง ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ ๓๐-๔๐ % นอกนั้นเป็นพระเครื่องและวัตถุมงคลอื่นๆ

“ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๒ ยังพอมีลูกค้ามาเช่าจตุคามฯ แต่จำนวนน้อยลง และราคาก็ถูกลง บางรุ่นถูกลงไปถึง ๕๐-๘๐ % แต่บางรุ่นที่ราคาตกเรายังได้กำไรจากราคาจอง อย่างจตุคามฯ รุ่นเงินไหลมา เราเคยจององค์ละ ๑๐๐ บาท ตอนนี้ประมาณ ๗๐๐-๑,๐๐๐ กว่าบาทเรายังขายได้อยู่ แต่คนที่เคยเช่าในช่วงที่ถีบราคาขึ้นไป ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท มาขายตอนนี้ถือว่าขาดทุนไง ก็เหมือนการเล่นหุ้น ถ้าคุณซื้อไว้ตั้งแต่ต้นมือ มันก็ได้กำไร แต่ถ้าคุณไปซื้อปลายมือแล้วราคาตก คุณก็ขาดทุน”

เราถามรัฐพลถึงสาเหตุที่กระแสความนิยมในจตุคามรามเทพเสื่อมถอยลง เขาให้ความเห็นว่า

“เพราะการจัดสร้างมากเกินไปและไม่พิถีพิถันครับ คนที่วิ่งเข้ามาเหมือนคนเข้ามาเล่นหุ้น ต้องการซื้อถูกแล้วขายแพง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับจตุคามฯ เยอะ ทำให้กระแสพุ่งขึ้นไป ทีนี้พอสร้างกันมากๆ เข้า ความพิถีพิถันก็น้อยลง โรงงานรับผลิตก็มีความเห็นแก่ตัว หมายความว่ารับงานไว้เยอะมาก จนต้องปั๊มพระ (เหรียญจตุคามรามเทพ) ทั้งวันทั้งคืน งานก็ไม่มีคุณภาพ ผู้สร้างเองเมื่อกำหนดวันทำพิธีปลุกเสกล่วงหน้าแล้ว พอถึงเวลาพระไม่เสร็จก็เอากล่องเปล่ามาทำพิธี ทีนี้คนเช่าก็เริ่มรู้ระแคะระคายว่าพระบางรุ่นไม่ได้รับการปลุกเสก ก็ทำให้กระแสความนิยมเสื่อมลงเรื่อยๆ”

ความคิดเห็นของรัฐพลคล้ายกับคนในแวดวงพระเครื่องเมืองนครหลายราย รวมทั้ง พงษ์ภัคดี พัฒนกุล หรือ “แมว ทุ่งสง” ประธานภาคใต้สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

“กระแสจตุคามฯ ตอนนั้นไม่ใช่ของจริง มันเป็นฟองสบู่ เหมือนที่เคยมีกระแสการจองรถแล้วขายใบจอง ซึ่งทุกคนจองเพื่อจะขาย ไม่ได้จองเพื่อมาใช้ ในช่วงนั้นถ้าเราจำได้ มีการสร้างจตุคามฯ เป็นพันรุ่น เมื่อดีมานด์กับซัปพลายไม่สมดุลกัน พอสร้างมากกว่าความต้องการก็เริ่มเสื่อมความนิยม” พงษ์ภัคดีกล่าว

“มันเป็นเรื่องของคนที่โดนความโลภเข้ามาครอบงำ…ช่วงที่จตุคามฯ เริ่มมีปัญหาคือช่วงปลายปี ๒๕๕๐ แต่ก่อนหน้านั้นสัก ๖ เดือนผมได้ไปร่วมวงเสวนาของหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ผมวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าถ้าองค์จตุคามฯ ถูกครอบด้วยระบบทุน วันหนึ่งต้องล้มแน่นอน และล้มทั้งระบบเหมือนโดมิโนเลย มันเริ่มล้มเหลวจากผู้รับจ้างผลิต โรงงานรับงาน ๓-๔ เจ้าพร้อมกันแล้วทำไม่ทัน คุณภาพก็ไม่ได้ ผู้สร้างซึ่งรับจองมามากแต่โรงงานส่งพระให้ไม่ทันหรือไม่มีคุณภาพ พอผู้สร้างล้ม คนรับจองเพื่อที่จะขายต่อก็ต้องล้มตามมา”

พงษ์ภัคดีบอกว่า แม้กระแสทางธุรกิจจะซบเซา แต่คนนครยังนับถือและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พ่อจตุคามรามเทพเหมือนเดิม

“บางคนบอกว่าองค์พ่อไปแล้ว คนที่พูดแบบนั้นอาจผิดหวังจากการทำธุรกิจสร้างจตุคามฯ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ท่านยังอยู่และมีความศักดิ์สิทธิ์ ยังขอได้ไหว้รับ ถ้าเรามีศรัทธาเราก็ขอได้ คนนครยังศรัทธาท่านอยู่ หลายคนยังห้อยคอและบูชาท่าน”

วงสนทนาในขณะนั้น นอกจาก “แมว ทุ่งสง” ยังมี จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนเรื่องสั้นชื่อดังชาวนครศรีธรรมราช เจ้าของคอลัมน์ “จตุคามรามเทพปริทรรศน์” ซึ่งเคยตีพิมพ์ต่อเนื่องใน เนชั่นสุดสัปดาห์ หลังปรากฏการณ์จตุคามรามเทพผ่านไป เขามีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เหลือให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ วัดต่างๆ สามารถสร้างถาวรวัตถุได้เป็นจำนวนมาก โดยเงินทุนที่ได้จากการจัดสร้างจตุคามรามเทพ

“การสร้างจตุคามรามเทพถ้ามีจุดประสงค์ที่ดีก็สามารถบูรณะวัดได้เลย วัดทั่วนครศรีธรรมราชสามารถสร้างศาลาการเปรียญ เมรุ อุโบสถ หอฉัน ศาลาธรรมสังเวชได้มากมาย ยกตัวอย่างวัดพระนคร ที่ท่านมหาไมตรีได้บูรณะวัดที่เกือบร้างให้กลายเป็นวัดใหญ่โต ทั้งยังซื้อที่ดินขยายพื้นที่วัดอีกด้วย”

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการสร้างจตุคามรามเทพรุ่นราชันย์ดำ เมื่อปี ๒๕๔๙ เพื่อหาเงินสร้างอาคารหอฉันหลังใหม่ของวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมกลุ่มผู้จัดสร้างคาดว่าจะได้เงิน ๔ ล้านบาท ปรากฏว่าผลสำเร็จที่ได้เกินเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้กว่า ๒๐ ล้านบาท

สมเกียรติ นวลรอด ผู้ประสานงานจัดสร้างจตุคามรามเทพรุ่นราชันย์ดำ บอกกับเราว่า

“เราได้เงินมาสร้างหอฉันหมดไปประมาณ ๖ ล้านบาท ที่เหลือก็มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนเทศบาล ๙ แห่ง ตกโรงเรียนละ ๔ แสน ๕ หมื่นบาท แล้วซื้อรถตู้พยาบาลมีเครื่องมือการแพทย์ครบประมาณ ๒ ล้านบาท มอบให้แก่โรงพยาบาลเทศบาล นอกจากนั้นโรงเรียนรอบนอกเขตเทศบาลขอมา เช่น ขอซื้อคอมพิวเตอร์ สร้างห้องน้ำ สร้างรั้ว สร้างกำแพง เราก็จัดให้ไปตามความเหมาะสม”

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นอีกวัดที่มีรายได้มหาศาลจากยอดเงินบริจาคของผู้สร้างที่มาขอใช้สถานที่ประกอบพิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกจตุคามรามเทพไม่เว้นแต่ละวัน กระทั่งสามารถสร้างและบูรณะถาวรวัตถุในวัดได้จำนวนมาก

วันต่อมา เรามีโอกาสได้เข้ากราบนมัสการและสนทนากับพระเทพวินยาภรณ์ (สมปอง ปญฺญาทีโป) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพส่งผลให้วัดและโรงเรียนหลายแห่งได้ประโยชน์เยอะ ช่วงที่ผ่านมาวัดพระมหาธาตุได้บูรณะทั้งวัดโดยใช้เงินประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ตั้งแต่การบูรณะองค์พระธาตุ พระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร ศาลาร้อยปี กุฏิสงฆ์ ๒-๓ หลัง หมายความว่าสิ่งใดที่ต้องบูรณะก็บูรณะ จตุคามฯ ให้มาไม่ใช่เพื่อเก็บ แต่ให้มาเพื่อสร้าง คนเก็บไปใช้เองก็ถูกลงโทษไปตามวิถีของกฎแห่งกรรม”

อย่างไรก็ตาม ท่านเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุยังกล่าวถึงเหตุแห่งความเสื่อมของกระแสนิยมจตุคามรามเทพไว้ด้วยว่า

“ฟ้าดินสร้างคนมาให้มีกิเลสมาก หมายความว่าคนเราโลภเกินควร คือพอเรามีอะไรแล้วมันพัฒนาไปสู่ความโลภ ไม่ได้พัฒนาเพื่อไปสู่ความพอเพียง ต่างคนต่างก็อยากได้เงินได้ทองมาบูรณะบ้าง มาทำอะไรกันบ้าง สร้างแล้วสร้างอีก มากเกินไป ก็คงจะหยุดไปชั่วคราว เพราะว่าปรากฏการณ์เทพถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีกระแสอยู่ไม่นาน

“บางคนมาพูดให้อาตมาฟังว่า ตอนนี้จตุคามรามเทพถูกลงโทษ ถูกจองจำอยู่ อาตมาว่าไม่รู้…พูดก็พูดไป เขาพูดอย่างนี้หมายความว่าถูกจองจำจากการที่แผลงฤทธิ์ฟุ่มเฟือยมากเกินไป มันเกินประมาณฤทธิ์ของเทวดาที่จะทำอย่างนี้ คือเทวดาที่มีมาโดยมากบันดาลเจาะจงทั้งนั้น ไม่ใช่บันดาลทั่วไป บันดาลเจาะจงให้สร้างตรงนั้นตรงนี้ สร้างที่จำเป็น บูรณะที่ชำรุด ที่ผ่านมาคือสร้างพร่ำเพรื่อ แล้วก็ถูกลงโทษ ต้องหยุดหลายปี ใครลงโทษล่ะ เทพไม่ได้มีระดับเดียว เทพที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าก็เป็นได้”

พระเทพวินยาภรณ์ยังกล่าวอีกว่า “คนเรามีอาหารประเภทที่บำเรอมาก คนก็มุ่งเข้าไปหาอาหารบำเรอตน ทั้งเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง แต่ไม่ค่อยเข้าหาอาหารบำรุงใจ คือใจยังไม่มั่นคงเพียงพอ มีอะไรผ่านมาทางสื่อทางสารก็รับไปบริโภคหมด กระแสจตุคามฯ ก็อย่างนี้ พอเป็นกระแสแล้วคนก็
หลงตาม พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าคนไร้สติแล้ว ปัญญาก็ลดน้อยถอยตามไปด้วย

“กระแสจตุคามฯ ซบเซาก็ถูกต้องแล้ว คือสัจธรรม ใครจะไปหลีกมันได้ อะไรที่ขึ้นแล้วมันต้องลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันอยู่คู่กับโลก ไม่มีอะไรที่อยู่เหนือสัจธรรมไปได้”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปี แต่ก็ได้สร้างผลกระทบหลายด้านต่อเมืองนครศรีธรรมราชและสังคมไทย ดังเช่นวัดวาอารามทั่วเมืองนครสามารถระดมเงินบูรณะซ่อมสร้างศาสนสถาน ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นผลกระทบในทางที่ดี ขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่มองเห็นแง่มุมที่แตกต่าง

นพ. บัญชา พงษ์พานิช คนเมืองนครที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระแสจตุคามรามเทพมาตั้งแต่แรก ในวันนี้เมื่อกระแสดังกล่าวซบเซาลง นพ. บัญชาแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“แต่เดิมตอนแรกเริ่มกระแสนั้น ผมคาดว่าไม่น่าจะนานสักกี่ปีเพราะเห็นว่าเป็นของไม่จริงแท้ เกิดจากกระแสปั่นและการเล่าลือ แล้วสุดท้ายก็ฮืออยู่ได้ไม่ทันถึงปีก็จบ สาเหตุที่ซบเซาก็เหมือนอย่างที่ว่า เพียงแต่ว่าเนื่องจากปั่นกันแรงเกินจนหมดภูมิพ้นฐาน หมดกำลังทั้งขาปั่น ขาห้อยขาโหน จนกระทั่งคนที่เที่ยวช้อนซื้อหาตามกระแส จนแม้กระทั่งคนที่ชอบก็หมดกำลังจะตามไหว ผมยืนยันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าไม่จริงไม่แท้ ไม่ว่าจะตามหลักของเหตุและผล หลักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งหลักการพระพุทธศาสนา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ช่วยได้ทุกอย่างจริง ก็ต้องไม่ซบเซาสิ ใครมีคนนั้นก็ต้องได้ดังหวังทุกคนสิ แต่นี่ไม่ใช่ อาจมีบางคนเท่านั้นที่ได้ดังหวังจากนับแสนนับล้านๆ คนที่เช่าหาและห้อยแขวนกัน ซึ่งนั่นเป็นเพียงเรื่องของความบังเอิญหรือประจวบเหมาะเท่านั้น

“เมืองนครบ้านผมนั้นได้ชื่อลือลั่นในหลายทาง ยากที่จะบรรยาย แต่ที่แน่ๆ ก็คือกลายเป็นเมืองมงคลบางประการขึ้นมาจากเดิมที่มีพื้นภูมิอยู่ก่อนแล้ว แม้เศรษฐกิจจะบูมอยู่ชั่วครู่ แต่ตอนหลังเข้าใจว่าความเสียหายที่เจ๊งกันไม่น้อยนั้นน่าจะพอๆ กัน ไม่มีใครศึกษามูลค่าตอนขาลงว่าสูญกันไปคนละเท่าไร

“ที่สำคัญสำหรับผมนั้น เห็นว่าปรากฏการณ์นี้ชี้ชัดว่าสังคมไทยเรา รวมทั้งที่เมืองนครยังอ่อนปัญญาอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะในเชิงหลักการเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือในเชิงพุทธิปัญญาว่าด้วยความรู้ที่ถูกถ้วนและถูกต้อง หลอกชวนชักจูงกันได้ง่ายๆ ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการตลาดพร้อมกับคำเล่าลือเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งถ้ามองในทางบวกก็ถือเป็นการช่วยชี้ให้เราเห็นว่า ทั้งๆ ที่เร่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ความเจริญและสะดวกสบายนานาภายใต้เครื่องมือสำคัญคือการศึกษาที่มีสถาบันการศึกษาอยู่เต็มประเทศ ใครๆ ก็แข่งแย่งกันศึกษาหาปริญญายกฐานะกันทั้งเมือง แต่ระดับของสติปัญญาของคนไทยยังได้ประมาณนี้เท่านั้น หลอกล่อง่ายดายเหลือหลาย พวกเราชาวพุทธยังมีงานให้ทำอีกมากมาย”

สิ่งที่ นพ. บัญชาเห็นว่าเป็นงานหนักที่รออยู่ข้างหน้าก็คือความพยายามเผยแผ่หลักธรรมตามแนวทางที่พระพุทธองค์สั่งสอน ให้ก่อเกิดเป็นกระแสความสนใจใฝ่ศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติภาวนาโดยไม่คอยบูชาเซ่นไหว้หวังลาภลอยรอโชคจากเทพ

และทั้งหมดนี้คือการย้อนรอยปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ซึ่งประกอบด้วยเหตุการณ์หลายมิติและความคิดเห็นหลายมุมมอง ส่วนที่มีบางคนเชื่อว่าอีกไม่นานกระแสความนิยม

จตุคามรามเทพจะกลับมาอีกครั้ง คงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต