เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
makhong01maekong01

ทุกปีเมื่อฤดูแล้งมาเยือน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดต่ำลงแต่ไม่เคยต่ำมากเท่าปีนี้ ในหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึง ๑ เมตร เป็นสถิติต่ำสุดในรอบหลายสิบปี แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยกว่าวิกฤตน้ำโขงแห้ง คือความผันผวนของแม่น้ำที่ไม่อาจคาดเดาได้
(ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)

ผืนทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

มหาธาราที่เคยมีระดับน้ำลึกท่วมหัวนับสิบเมตร แผ่ออกกว้างไกลนับหลักกิโลเมตร มาบัดนี้ไม่ผิดแผกอะไรกับร่องน้ำแคบตื้นที่สัญจรผ่านได้เพียงเรือหาปลาพื้นบ้านและเรือโดยสารขนาดไม่ใหญ่นักเท่านั้น

ในปี ๒๕๕๑ พื้นที่ริมฝั่งโขงจังหวัดเชียงรายประสบเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเมินความเสียหายได้กว่า ๘๕ ล้านบาท หลังจากนั้นไม่ถึง ๓ ปี ชาวบ้านริมฝั่งเดิมต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางน้ำอีกครั้ง หากแต่คราวนี้เป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่ออำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่นต่างประสบภาวะน้ำโขงแห้งสุดในรอบ ๒๐ ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต การเกษตรริมฝั่ง การทำประมง เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำแห้งตลอดพื้นที่ริมฝั่งโขงตอนล่าง ไล่ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ หลี่ผี คอนพะเพ็ง ทะเลสาบเขมร ยันที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเวียดนาม ส่งผลให้ผู้คนบนพื้นที่ลุ่มน้ำต่างประสบปัญหาโดยถ้วนหน้ากัน

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ความยาวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปากน้ำวัดได้ ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ไหลผ่าน ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผ่านพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กลุ่ม และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยกว่า ๖๐ ล้านคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ พวกเขาเรียนรู้และมีประสบการณ์การอยู่ร่วมกับแม่น้ำจนรู้จักแม่น้ำของพวกเขาเป็นอย่างดี

แต่มาวันนี้ ลูกน้ำโขงกลับพบว่าวิถีชีวิตพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไป พร้อมการขึ้นลงของแม่น้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนเช่นเดิม

maekong02

ความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงสูงเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำคองโก ในแต่ละปชาวประมงจับปลาได้มากถึง ๒ ล้านตัน นับเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพและราคาถูกของคนลุ่มน้ำ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของทั้งคน และปลา
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
maekong03

เกษตรริมโขงเริ่มในช่วงน้ำลดตามริมฝั่ง หาดทราย และตอนให้ผลผลิตสูงเนื่องจากดินบริเวณนั้นได้รับปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพามาในฤดูน้ำหลาก ในบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย แตต่เมื่อน้ำแห้งลงอย่างผิดปรกติ ชาวบ้านต้องหาบน้ำมารดหรือซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ ในภาพชาวบ้าน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต้องใช้น้ำรดพืชผักมากกว่าเคย
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

ชะตากรรมคนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

“ไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้แม่น้ำโขงแห้งขนาดนี้”

ชายชาวเชียงแสนวัย ๖๐ ปี ประกอบอาชีพขับเรือท่องเที่ยวมานานกว่า ๔๐ ปี บอกกับเรา

เมื่อก่อน ลุงจู ปินปันคง เคยมีรายได้หลักจากการเดินเรือรับนักท่องเที่ยวล่องไปตามลำน้ำบนเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ แต่มาวันนี้เรือท่องเที่ยวของแกทั้งสองลำกลับจอดนิ่งอยู่ริมฝั่งอย่างไม่มีกำหนด เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำจนต้องงดการเดินเรือ

สุดชายแดนสยามริมอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทัศนียภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคือลานทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สลับกับผืนดินแห้งแตกระแหง แผ่นดินชั่วคราวที่งอกขึ้นมาทอดยาวจากริมฝั่งไทยไปถึงสันดอนทรายซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะกลางลำน้ำ มองเห็นมหาธาราซึ่งเคยแผ่กว้างถึงหลักกิโลเมตรอยู่ไกลลิบ เหลือเพียงร่องน้ำเล็กแคบทางฝั่ง สปป. ลาวเท่านั้น

ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ชาวเชียงแสนกำลังหาทางปรับตัวอย่างหนักเพื่อรับกับสภาพลำน้ำโขงที่มักไหลเอ่อล้นตลิ่ง มาถึงปีนี้กลับเกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไม่ทันเตรียมรับมือ นั่นคือระดับน้ำลดต่ำลงจนน่าใจหาย วัดระดับต่ำสุดได้ ๐.๙๓ เมตร (สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของลูกแม่น้ำอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ที่บ้านปากอิง อำเภอเชียงของ พรานปลาบอกว่าปริมาณปลาในแม่น้ำสายหลักของพวกเขาลดลงมาก จากที่เคยขายปลาได้วันละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท มาวันนี้กลับได้ปลาไม่คุ้มค่าน้ำมันเรือ การเกษตรริมฝั่งพังทลาย จากที่ไม่เคยต้องใช้น้ำรดพืชผักเลยตลอดอายุการเก็บเกี่ยว มาวันนี้ ชฎาทิพย์ บุญพันธุ์ และชาวบ้านปงโขง อำเภอเชียงแสน กลับต้องหาบน้ำมารด และหากแล้งหนักคงต้องลงทุนซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ เสริมสวย อินทวงศ์ พร้อมกลุ่มแม่บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น ที่เคยมีรายได้พิเศษจากการเก็บไก ต่างก็ประสบปัญหาโดยถ้วนหน้า พวกเธอเล่าว่า “ไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก น้ำต้องใสสะอาด ลึกไม่ต่ำกว่า ๔๐-๔๕ เซนติเมตร ทุกปีเราเคยเก็บไกได้ผลดี มีระยะเวลาเก็บนานถึง ๒-๓ เดือน แต่ปีนี้เรายังเก็บไกไม่ได้เลย ไกเกิดใหม่ไม่ทันไรน้ำก็แห้งขอดลงไปจนไกถูกแสงแดดแผดเผาตายไปเสียก่อนแล้ว”

ปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างฮวบฮาบยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยวและเรือขนส่งสินค้า ทำให้ต้องหยุดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ที่ท่าเรือเชียงแสน เรือสินค้าจากไทยไปจีนหยุดการขนส่งสินค้ามานานกว่า ๒ เดือน ขณะที่เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวได้คราวละ ๔๐-๖๐ คนบนเส้นทางเชียงของ-หลวงพระบาง เจ้าของต้องจอดเรือไว้ริมฝั่งนับสิบลำ เพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากโขดหินใต้น้ำระหว่างการเดินเรือ นักท่องเที่ยวบางส่วนต้องหันไปใช้ทางถนน ทั้งที่เส้นทางเดินเรือจากอำเภอเชียงของไปหลวงพระบางเป็นเส้นทางแห่งมนต์เสน่ห์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ในบางช่วงของแม่น้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนระหว่างไทย-ลาว ทั้งทางภาคเหนือและอีสาน ยังพบว่าระดับน้ำลดต่ำจนชาวบ้านสองฝั่งสามารถเดินข้ามไปมาหากันได้ ก่อปัญหาใหญ่ตามมาคือการลักลอบขนส่งยาเสพติดข้ามแดน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถจับกุมผู้ค้ายาบ้าที่เดินข้ามแม่น้ำอันแห้งขอดจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยได้จำนวนกว่า ๓ แสนเม็ดภายในเวลา ๑ เดือนเศษ (มติชนออนไลน์ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)

ชาวบ้านหลายคนบอกเราว่า หากแม่น้ำค่อยๆ มีความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตามกาลเวลา นั่นย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นวิถีทางตามธรรมชาติของแม่น้ำ และไม่น่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะปรับตัวตาม หากแต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นกังวล คือความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่มีความผันผวน เพิ่มขึ้นหรือลดลงภายในระยะเวลาอันสั้น ยกตัวอย่างปรากฏการณ์น้ำท่วมเชียงราย ๒ ครั้งในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา

ในปี ๒๕๐๙ น้ำท่วมครั้งนั้นชาวบ้านยังคงจดจำได้มั่นว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นช้าๆ และมีน้ำไหลบ่ามาจากแม่น้ำสาขาทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และลำห้วย น้ำค่อยๆ ท่วมแล้วค่อยๆ ลดลง ทั้งหมดกินเวลานานเกือบ ๑ เดือน ชาวบ้านยังพอมีเวลาอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าหนีน้ำได้ทัน

แตกต่างจากคราวน้ำท่วมเฉียบพลันเมื่อวันที่ ๙-๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพียง ๑ วันระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเกือบ ๒ เมตร ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่ปากแม่น้ำอิงและแม่น้ำกก ลึกเข้าไปในแผ่นดินเกือบ ๓๐ กิโลเมตร ทั้งที่ไม่มีรายงานน้ำฝนไหลมาจากต้นน้ำทั้งสองแต่อย่างใด ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร บ้านเรือน รวมทั้งผืนดินริมฝั่งเสียหายมหาศาล ก่อนที่ระดับน้ำจะลดลงภายในเวลาอันสั้น หลังวันที่ ๑๕ สิงหาคม ประเมินความเสียหายเบื้องต้นได้กว่า ๘๕ ล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

และไม่รวมตะกอนความหวาดระแวงในใจผู้คนภายหลังระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปรกติ

ด้วยปรากฏการณ์อันไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปตามธรรมชาติที่ว่านี้ ทำให้ลูกแม่น้ำกังวลว่าพวกเขาไม่อาจใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคาดเดาพฤติกรรมการขึ้นและลงของน้ำได้อีกต่อไป

maekong04

แม่น้ำสาขาและลำห้วยมีควาามสำคัญยิ่งต่อปริมาณน้ำ และระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำโขง โดยช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและทำให้ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ เมื่อน้ำโขงแห้งขอดย่อมส่งผลกระทบตต่อลำน้ำสาขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

maekong05

พระธาตุหล้าหนอง หรือพระธาตุกลางน้ำ จ.หนองคาย จมลงแม่น้ำในลักษณะล้มตะแคงตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๐ ทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำลดจะเห็นขอบฐานด้านล่างองค์พระธาตุราว ๑-๒ เมตร มาปีนี้วัดระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำหนองคายได้ ๐.๓๒ เมตร ล่าสุดในรอบ ๕๐ ปี เผยให้เห็นองค์พระธาตุ ๔-๕ เมตร
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

maekong06

การตัดไม้ทำลายป่าและเผาไร่เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อพิจารณาถึงการแก้วิกฤตแม่น้ำโขงอย่างเป็นองค์รวม
(ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)

ใต้ร่มเงาเขื่อนยักษ์ทางต้นน้ำ

“ผมถูกส่งมาที่นี่เพื่อเฝ้าระวังภัยน้ำท่วม เพราะช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ไม่ธรรมดาที่ทำให้แม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่ปัจจุบันเหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม สิ่งนี้ทำให้ชาวบ้านมองแม่น้ำด้วยสายตาเป็นกังวล” เรือเอก ธงชัย จันทร์มิตร เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงกล่าว

พลิกดูสถิติในรอบปีที่ผ่านมาจะพบว่าบ่อยครั้งที่แม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางวันระดับน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลงถึง ๑ เมตร ยกตัวอย่างในระหว่างวันที่ ๔-๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจาก ๔.๕ เมตรเป็น ๖.๙ เมตร ทั้งที่ไม่มีรายงานฝนตกแต่อย่างใด

ความผันผวนของแม่น้ำทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ เพราะเบ็ดดักปลาที่ปักไว้ตามริมฝั่งลอยอยู่เหนือน้ำเมื่อระดับน้ำลดต่ำลงเพียงชั่วข้ามคืน หรือแม้กระทั่งปลาเกิดอาการหลงทิศหลงทางจนไม่ออกหากินหรือวางไข่ อีกทั้งพืชผักริมฝั่งที่ปลูกไว้รอเวลาเก็บเกี่ยวก็ถูกน้ำท่วมขัง

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งภัยแล้งบริเวณต้นน้ำทางตอนใต้ของประเทศจีนอาจเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างวิกฤตไปกว่านั้น คือการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในมณฑลยูนนานของจีน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา แม่น้ำโขงไม่ได้ไหลตามธรรมชาติอีกต่อไป

“จากการติดตามสถานการณ์พบว่าแม่น้ำโขงไม่ไหลอย่างเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ตรงกับปีที่เขื่อนม่านวาน เขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างเสร็จ

“ความผิดปรกติของน้ำที่เราสังเกตพบมาจากการเปรียบเทียบสถิติทั้งก่อนหน้าและหลังการสร้างเขื่อน ตามปรกติในรอบปีแม่น้ำโขงจะไหลตามฤดูกาล ปลายเดือนเมษายนฝนจะเริ่มตก จนกระทั่งน้ำขึ้นสูงสุดที่เดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจึงเริ่มลดระดับลงมา จนต่ำสุดในเดือนเมษายน เมื่อ
นำข้อมูลดังกล่าวมาพล็อตกราฟจะได้กราฟที่มี curve ขึ้นลงตรงกันไม่ว่าปีนั้นจะมีน้ำมากหรือน้อยก็ตาม แต่หลังปี ๒๕๓๙ ที่เขื่อนม่านวานสร้างเสร็จ ตามด้วยเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิงฮง เขื่อนเซี่ยวหวาน น้ำในแม่น้ำโขงก็ไม่ได้ไหลอย่างเป็นธรรมชาติอีกต่อไป ภายใต้ curve ขึ้นลงโดยรวม ยังมี curve ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างฤดูกาลที่เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ซ่อนอยู่ บางครั้งระดับน้ำมีความแตกต่างกันถึง ๒ เมตร หากชาวบ้านไม่ทราบก็ย่อมได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต” เรือเอกธงชัยอธิบาย

ตารางเปรียบเทียบระดับน้ำเฉลี่ย (เมตร) ที่สถานีวัดน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน

สถานีวัดน้ำ ระยะเวลาเก็บข้อมูล ระดับน้ำเฉลี่ย (เมตร)
ก่อนมีเขื่อนในจีน หลังมีเขื่อนในจีน ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ปี พ.ศ.๒๕๕๓
หน้าฝน หน้าแล้ง หน้าฝน หน้าแล้ง หน้าฝน หน้าแล้ง หน้าแล้ง
เชียงแสน จ.เชียงราย
เชียงคาน จ.เลย
หนองคาย
นครพนม
มุกดาหาร
โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
ปี ๒๕๐๔-๒๕๕๒
ปี ๒๕๑๑-๒๕๕๒
ปี ๒๕๑๓-๒๕๕๒
ปี ๒๔๖๘-๒๕๕๒
ปี ๒๔๖๗-๒๕๕๒
ปี ๒๕๑๐-๒๕๕๒
๕.๔
๙.๔
๗.๗
๖.๑
๗.๐
๘.๗
๒.๓
๓.๙
๒.๓
๐.๙
๑.๕
๒.๓
๕.๔
๙.๗
๗.๙
๖.๘
๗.๒
๘.๕
๒.๒
๔.๑
๒.๓
๑.๒
๑.๖
๒.๒
๔.๔
๘.๕
๖.๓
๖.๒
๖.๒
๗.๕
๒.๔
๔.๓
๒.๓
๑.๗
๑.๙
๒.๕
๑.๐
๓.๘
๒.๑
๐.๙
๑.๕
๒.๑

ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย, เอกสารการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำหน้าแล้ง ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ในแม่น้ำโขง, กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

maekong07

บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี พื้นที่ท้ายๆ ในภาคอีสานก่อนลำน้ำโขงหายไปในแผ่นดินลาว ได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยแล้งของอุบลฯ เนื่องจากโดยปรกติสภาพพื้นที่ยากต่อการดูดซับและกักเก็บน้ำเป็นทุนเดิม
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

maekong08

แก่งช้างหมอบ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เป็นแก่งสลับโขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำ ระดับน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบต่อวิถีชาวประมง ในภาพแม่น้ำโขงสายหลักอยู่หลังภูเขาหินทราย
(ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในปีนี้คาดว่าจะก้าวขึ้นมาครองอันดับ ๒ ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และแซงหน้าญี่ปุ่นด้วยนโยบายเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มังกรจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยกำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญทางตอนใต้ของประเทศ ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง ๑ แสนเมกะวัตต์ โครงการสร้างเขื่อน ๘ แห่ง (เฉพาะที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว) ขวางลำน้ำโขงตอนบนหรือที่ชาวจีนเรียกว่า แม่น้ำหลานซาง ซึ่งมีความยาวราวร้อยละ ๔๕ ของแม่น้ำโขงทั้งสาย จึงถูกกำหนดขึ้นประกอบด้วย เขื่อนม่านวาน ความจุน้ำ ๙๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเฉาชาน ความจุน้ำ ๘๙๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนจิงฮง ความจุน้ำ ๑,๒๓๓ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนเซี่ยวหวาน ความจุน้ำ ๑๔,๕๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำเฉลี่ยในกว๊านพะเยาถึง ๕๑๐ เท่า ใช้เวลากักเก็บน้ำประมาณ ๕-๑๐ ปี มหาเขื่อนนี้มีความสูงของสันเขื่อนถึง ๓๐๐ เมตร ใกล้เคียงกับตึกใบหยกหรือเทียบเท่าตึกระฟ้า ๑๐๐ ชั้น จัดเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ติดอันดับโลก และอีก ๔ เขื่อนกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ ได้แก่ เขื่อนนัวจาตู้ ความจุน้ำ ๒๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกงกว่อเฉียว ความจุน้ำ ๕๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกันลันปา และเขื่อนเมงซอง ทั้ง ๘ เขื่อนนอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนเมืองอุตสาหกรรมทางตอนใต้และชายฝั่งตะวันออกของจีนแล้ว ทางการจีนยังหวังกักเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและป้องกันภัยแล้งภายในประเทศด้วย

คนลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ว่าไทย ลาว กัมพูชา หรือเวียดนามจะต้องยอมรับชะตากรรมเช่นนั้นหรือ หากว่าน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนไม่ว่าจะไหลรินมาจากการละลายของภูเขาหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตหรือจากฝนจะถูกเขื่อนทั้งหลายรุมกักเก็บน้ำไว้ ในขณะที่น้ำที่ไหลลงมาทางตอนล่างก็ต้องถูกกักเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเลี้ยงประชากรจีนเป็นอันดับแรก

สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-ลาวใน ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายในภาคเหนือ คิดเป็นระยะทางราว ๘๕ กิโลเมตร จากนั้นแม่น้ำไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขาเข้าไปในแผ่นดินลาวแล้วออกมาจรดกับประเทศไทยอีกครั้งบนแผ่นดินอีสานในจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี คิดเป็นระยะทางราว ๘๓๒ กิโลเมตร

พื้นที่ริมฝั่งโขงจังหวัดเชียงรายเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทางตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนจิงฮงซึ่งอยู่ห่างจากไทยไปทางเหนือเพียง ๓๔๕ กิโลเมตร การเดินทางของน้ำจากบริเวณดังกล่าวมาถึงแถบจังหวัดเชียงรายใช้เวลา ๒๑ ชั่วโมง ประกอบกับระหว่างทางไม่มีแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่ไหลรินลงมาเติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขงเลย

ดังนั้น แม่น้ำโขงที่ไหลลงมายังพื้นที่แถบนี้จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงน้ำจากแผ่นดินจีนคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ๙๕ ในหน้าแล้ง ร้อยละ ๗๕ ในหน้าฝน นับเป็นปริมาณน้ำที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากไหลมาจากภูเขาหิมะละลาย ในขณะที่พรมแดนไทย-ลาวทางภาคอีสาน ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนอาจไม่ชัดเจนเท่าพรมแดนทางเหนือ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงได้รับการเติมน้ำโดยแม่น้ำสาขาและฝนตกในพื้นที่ สปป. ลาว ก่อนจะไหลลงมายังดินแดนไทย

“ที่ผ่านมาทางการจีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนและปริมาณการกักเก็บน้ำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำทราบน้อยมาก มีเพียงข้อมูลระดับน้ำที่เขื่อนจิงฮงและเขื่อนม่านวานเฉพาะฤดูฝนเท่านั้นที่ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ ปล่อยให้แม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน ๖ ประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำของบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่รับหน้าที่บริหารจัดการเขื่อนของจีน ทำราวกับการให้น้ำเกลือคนไข้ ถ้าเขามีความเมตตาเราก็จะได้รับน้ำ ส่วนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีที่มีประเทศสมาชิกคือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ต่างจากทางการไทยที่ดูจะเกรงใจรัฐบาลจีนจนออกนอกหน้า ออกมาฟันธงสรุปว่าปัญหาไม่ได้มาจากเขื่อน แต่เกิดจากภาวะโลกร้อน พวกเราเข้าใจเรื่องโลกร้อน แต่เขื่อนมันเป็นตัวเร่งที่สุดแล้ว” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ให้ความเห็น

“เป็นความจำเป็นที่คนเหนือน้ำอย่างจีนจะต้องเข้าใจคนท้ายน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน”

ล่าสุด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ร่วมกับรัฐบาลไทยจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ ๑ (The First MRC Summit) ขึ้นในวันที่ ๒-๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามเข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากจีนและพม่าเข้าร่วมในฐานะประเทศคู่เจรจา

ผลการประชุม นายกรัฐมนตรีทั้ง ๔ ประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซีได้ร่วมลงนามใน “ปฏิญญาหัวหิน” เพื่อร่วมมือกันพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านการใช้น้ำและทรัพยากร หลีกเลี่ยงผลกระทบอันเกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังเรียกร้องให้จีนและพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเอ็มอาร์ซี เนื่องจากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นน้ำ ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังคงได้รับการปฏิเสธจากผู้แทนทั้งสองประเทศ โดยนายสง เทา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนชี้แจงว่าจีนยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องอุทกศาสตร์มากขึ้น รวมถึงการพิจารณายกเลิกการสร้างเขื่อนเมงซองที่จะส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ทั้งนี้ยังคงยืนยันว่าการสร้างเขื่อนในจีนไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชนคนลุ่มน้ำโขงทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้เปิดเวทีคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วม

………………………………………………….

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายภายหลังแม่น้ำโขงแห้งขอดลงเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้

ขณะที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดไปในทิศทางเดียวว่า วิกฤตโขงครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์

โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขากว่า ๑๐๐ แห่งจึงยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไป เมื่อประเทศที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านต่างอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิอันชอบธรรมในการใช้น้ำ

หากแต่สิทธิอันชอบธรรมย่อมต้องมาเคียงคู่กับหน้าที่

หน้าที่ในการรักษ์น้ำให้เอื้อประโยชน์ต่อสรรพชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำมิใช่หรือ ?

แล้ววิถีชีวิตลูกแม่น้ำโขงจะต้องเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร เมื่อแม่น้ำไม่ได้รับอนุญาตให้ไหลตามธรรมชาติเหมือนเช่นเดิม