เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์

may53 06


วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางย่านศูนย์การค้าที่ทันสมัยที่สุดของกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ มีพระราชประสงค์ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนนอกพระนคร  ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษา ๖๐ รูป สามเณร ๔๐ รูป และเจ้าหน้าที่ของวัดร่วม ๔๐ คน

๓ เมษายน ๒๕๕๓ เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศเคลื่อนขบวนมาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ วัดปทุมวนารามซึ่งมีประตูทางเข้าหลักอยู่ทางถนนพระรามที่ ๑ และตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตกอยู่ท่ามกลางมวลชนจำนวนมากที่มาร่วมชุมนุม  เมื่อผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นก็เริ่มส่งผลกระทบกับวัดปทุมวนารามมากขึ้นตามลำดับ

พระมหาสุริยันต์ ปภังกโร ผู้ช่วยเลขานุการวัดปทุม-วนาราม เล่าว่าเวลานั้นสถานการณ์ยังไม่ตึงเครียด และทางวัดก็ไม่ได้เตรียมแผนการรับมือใดๆ ทั้งสิ้นด้วยไม่คิดว่าการชุมนุมจะยาวนานนับเดือน

“ไม่ว่าการชุมนุมครั้งใด สิ่งที่ทางวัดได้รับผลกระทบก็คือเรื่องสาธารณูปโภค  ทางวัดคงห้ามเรื่องเหล่านี้ไม่ได้  คนจำนวนมากมาใช้ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และใช้บริเวณวัดเป็นที่นอน เรื่องที่นอนตรงไหนให้ได้ทางวัดก็ไม่ขัดข้อง เช่นบริเวณลานจอดรถด้านหน้าวัด ทางวัดก็อาจจะมีความลำบากในเรื่องของการเข้าออกบ้าง”

หลวงพี่สุริยันต์เล่าว่าช่วงแรกๆ ผู้ชุมนุมเข้ามาใช้ห้องน้ำในวัดและพักผ่อนเป็นส่วนมาก ส่วนญาติโยมก็ยังคงมาทำบุญกันตามปรกติ  จนหลังวันที่ ๑๐ เมษายนจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้น เริ่มมีการตั้งด่านตรวจค้นทำให้การเข้าออกวัดเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น  นอกจากนี้การปิดการจราจรโดยรอบอย่างสิ้นเชิงส่งผลให้ไม่มีคนเดินทางมาทำบุญที่วัด ญาติโยมที่เคยมาใส่บาตรหน้าวัดก็หายไปตั้งแต่นั้น

“อาตมาเข้าใจและเห็นใจว่าผู้ชุมนุมก็ต้องการความปลอดภัย เราก็ทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม เวลาพระเถระจะเดินทางก็มีการแจ้งไปยังป้อมยามหน้าวัด ลูกศิษย์ที่ป้อมก็จะไปประสานกับการ์ด นปช. เขาก็อำนวยความสะดวกให้ ก็มีการตรวจค้นบ้าง  ช่วงนี้กิจของสงฆ์ยังคงดำเนินไปตามปรกติ พระยังออกไปบิณฑบาต สามารถทะลุด้านหลังออกไปได้ถึงย่านประตูน้ำ ญาติโยมก็ยังคงออกมาใส่บาตรตามปรกติ”

อภินันท์ ชุณหมณี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวัด เล่าว่าเขามีโอกาสได้คุยกับผู้ชุมนุมหลายคน  “บางคนมากรุงเทพฯ ครั้งแรก และบางคนก็มากับเพื่อนเป็นกลุ่มและอยู่กันตามกลุ่มจังหวัด  เท่าที่ได้คุยหลายคนไม่ได้รับเงิน พวกเขาตั้งใจมาจริงๆ  บางคนก็บอกว่าอยู่ต่างจังหวัดไม่มีกิน มาที่นี่มีข้าวกินฟรีก็มี”

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อรัฐบาลเริ่มดำเนินการกดดันผู้ชุมนุมด้วยการปิดล้อมพื้นที่ ในห้วงเวลานั้นหลวงพี่สุริยันต์เล่าว่า “อาจารย์โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ติดต่อเข้ามาขอให้พื้นที่วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทาน  พระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาส ท่านก็แจ้งไปว่าวัดเป็นเขตอภัยทานตั้งแต่เริ่มตั้งวัด ถ้าจะให้ขึ้นป้ายประกาศ หน่วยงานที่มาขอต้องรับผิดชอบตรวจค้นอาวุธเพราะไม่ใช่หน้าที่วัดและไม่ใช่กิจของสงฆ์ ท่านห้ามไม่ให้บุคลากรของวัดเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ จากนั้นก็มีการประกาศออกทางสื่อมวลชน”

หลวงพี่สุริยันต์เล่าต่อไปว่า พอข่าวออกไปก็เริ่มมีคนนำรถเข้ามาจอดในวัดมากขึ้น คนเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และคนชรา  ที่ตามมาคือสื่อมวลชนที่เข้ามารายงานข่าว โดยทางวัดได้ทำป้ายเขตหวงห้ามเอาไว้และให้ลูกศิษย์วัดเดินตรวจโดยขอร้องไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในเขตพุทธาวาส และในช่วงนี้การเข้าออกวัดถือว่าทำได้ยากมาก

พระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาส กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ระหว่างแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ว่า “ข้อตกลงนี้ยังไม่ได้มีการสรุป แต่ก็มีการออกข่าว คนก็เริ่มทะลักเข้าวัด ช่วงแรกเป็นกลุ่มผู้หญิง เด็ก ภายหลังก็มาทั้งหมด…ตอนสายวันที่ ๑๙ พฤษภาคม คนก็เริ่มวิ่งเข้ามาในวัด เราไม่สามารถตรวจค้นใครได้ว่ามีอาวุธหรือไม่ อาตมาสั่งให้พระลูกวัดและเจ้าหน้าที่อยู่ภายในกุฏิ อย่าออกไปเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร”

หลวงพี่สุริยันต์เล่าว่า ช่วงบ่ายวันที่ ๑๙ พฤษภาคม มีผู้ชุมนุมในวัดประมาณ ๓,๐๐๐ คน กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น รอบพระอุโบสถ สวนป่าที่ใช้ปฏิบัติธรรม  มีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้งจากพื้นที่รอบวัด เริ่มมีการเผาอาคารทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมาก และบางหน่วยงานได้เสนอให้พระสงฆ์เคลื่อนย้ายออกมาจากวัด

“ประมาณ ๑๘.๓๐ น. กำลังทหารได้บุกเข้ามาถึงด้านหน้าวัด ตอนนั้นมีผู้ชุมนุมยืนอยู่ริมรั้ววัดจำนวนมาก ทางฝั่งขวาของด้านหน้าวัดมีอาสาสมัครอยู่ ๕ คนเตรียมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จนมีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด วัดได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมาหลบในวัดเพื่อความปลอดภัย เสียงปืนมาจากนอกรั้ววัด ไม่ทราบว่าใครยิง ตอนนั้นทั้งพระและลูกศิษย์หลบอยู่ในตึกกองอำนวยการ ไม่มีใครกล้าเปิดม่านดู  ช่วงหัวค่ำจนตลอดคืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม เป็นคืนที่น่ากลัว ไฟในวัดมืดทั้งหมด มีแต่เสียงคนเดินไปมา  หลังเสียงปืนสงบลงมีลูกศิษย์โทร.มาบอกว่ามีคนเสียชีวิต ตอนหลังจึงทราบว่าเป็นผู้ชุมนุมและพยาบาลอาสา มีการเอาศพไปรวมกันที่สวนป่าด้านหลัง  ได้ยินมาว่าผู้ชุมนุมบางคนแอบอยู่ใต้ท้องรถ บางส่วนไปอยู่รอบกำแพงโบสถ์  คืนนั้นอาตมาไปอยู่กับพระเถระในกุฏิไม่ได้จำวัดเลย ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ กลัวเรื่องอัคคีภัยมากเพราะรอบๆ วัดมีแต่อาคารสูง ถ้ามันเกิดไฟไหม้มันจะมาถึงที่วัดอย่างแน่นอน”

สตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพชาวออสเตรเลียที่ติดอยู่ในวัดปทุมวนารามวันนั้น ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Australian ว่าตลอดคืนมีทั้งเสียงปืนและระเบิด ในวัดมีคนบาดเจ็บและคนตาย ผู้ชุมนุมที่เข้ามาหลบภัยส่วนมากเป็นผู้หญิง  ขณะที่ แอนดรูว์ บันคอมบ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Independent ที่อยู่ในที่เกิดเหตุและถูกยิงที่ขาจนบาดเจ็บบอกว่า “ค่อนข้างแน่ใจว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร”

หกศพที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามมีทั้งผู้เข้าร่วมชุมนุมได้แก่ นายวิชัย มั่นแพ  นายอัฐชัย ชุมจันทร์  นายอัครเดช ขันแก้ว  นายสุกัน ศรีรักษา  และอาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่เวลานั้นได้แก่ นางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาของสภากาชาดไทย และนายมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

วสันต์ สายรัศมี อาสาสมัครหน่วยกู้ชีพวิทยุร่วมด้วยช่วยกันผู้อยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่าการเสียชีวิตของทั้ง ๖ ศพมาจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงปืนมาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัด โดยเขาเป็นคนช่วยผู้ที่โดนยิงและลำเลียงผู้เสียชีวิตทั้งหกเข้ามาในวัด

“การลำเลียงคนบาดเจ็บออกไปก็ทำไม่ได้เพราะจะถูกยิงใส่ทันที ตอนดึกผมต้องคลานออกมาหน้าวัดหลายสิบรอบเพื่อเอาน้ำและอาหารเข้าไปให้ผู้ชุมนุมในวัด เพราะข้างในไม่มีอาหาร ทุกคนไม่กล้าออกมาเพราะกลัวถูกยิง”

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมบางคนยังให้ข้อมูลว่า ความจริงแล้วมีผู้เสียชีวิตภายในวัดถึง ๙ ศพ ไม่ใช่ ๖ ศพอย่างที่ปรากฏ

เหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามคลี่คลายลงในเช้าวันที่ ๒๐ พฤษภาคม เมื่อทางวัดประสานงานกับตำรวจในตอนเช้า  จากนั้น พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ๑ ก็นำกำลังตำรวจหญิงมาเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยนำไปแยกกลุ่มพื้นที่แล้วส่งขึ้นรถกลับภูมิลำเนาที่บริเวณสนามศุภชลาศัย  ขณะที่แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุในช่วงเดียวกัน  ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิบริเวณสยามพารากอน ยังมีกำลังทหารรักษาการณ์อยู่อย่างเข้มงวด

หลวงพี่สุริยันต์เล่าถึงผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นว่า “ทางวัดมีแต่ห้องน้ำที่ต้องซ่อมเพราะเครื่องปั๊มน้ำไหม้ไปหลายตัวจากการทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง  หลังเหตุการณ์ทางวัดต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพื้นที่ในวันที่ ๒๐-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓  ผลจากการที่คนเข้ามามาก เขาก็หลบไปนอนตามซอก กระทั่งห้องน้ำร้างที่วัดใช้เก็บของเขาก็เข้าไป จึงมีคนบางส่วนตกค้างอยู่เพราะไม่กล้าออกมาในเช้าวันที่ ๒๐ พฤษภาคม  พอเจ้าหน้าที่ค้นเจอทีหลัง ข่าวออกไปก็กลายเป็นเรื่องวัดให้ที่หลบซ่อน ไหนจะอาวุธที่เจ้าหน้าที่เจออีก  เรื่องนี้เราควบคุมไม่ได้เพราะเมื่อนำผู้ชุมนุมออกไป ก็ไม่แน่ว่าบางคนแอบเอาอาวุธเข้ามา เขาก็ต้องทิ้งไว้ออกไปตัวเปล่า เรื่องนี้เราไม่รู้จะทำอย่างไร  จน ๒๒ พฤษภาคมจึงเริ่มทำความสะอาดวัดแล้วออกบิณฑบาตตามปรกติ  หลังจากนั้นก็มีโทรศัพท์มีจดหมายมาถามว่าทำไมให้ผู้ก่อการร้ายอยู่ ทำไมเป็นคลังอาวุธ ส่วนคนที่มาหลบเขาก็ขอบคุณที่เราช่วยชีวิต  อยากเล่าว่าภาวะอย่างนั้นเราผลักดันเขาไม่ได้ ไม่ว่าทหาร โจร ผู้ดี คนมี คนจน วัดต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้  ตอนนี้ทำได้ดีที่สุดคือนิ่ง ให้กาลเวลาพิสูจน์  ตอนนี้วัดกลับสู่ภาวะปรกติแล้ว เหลือแต่ความรู้สึกที่ตกค้างในใจ เจ้าหน้าที่วัดบางคนก็ยังเสียใจและหวาดกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น”

ทว่าสิ่งที่ยังคงเป็นข้อกังขาในสังคมไทยก็คือ ใครเป็นผู้สังหาร ๖ ชีวิตในวัดปทุมวนาราม

ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม-๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมกำชับ ศอฉ. ตลอดว่าพื้นที่ (วัดปทุมฯ) นั้นต้องปลอดจากอาวุธจริง เมื่อมีการยุติการชุมนุม ตอนแรกก็ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าจากทิศสยามสแควร์เพราะเกรงจะเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม สุดท้ายต้องเอาเข้ามาเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำให้เกิดการปะทะกัน มีรอยกระสุนหลายแห่งที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม  ต่อมามีข่าวซึ่งทั้งตรงและไม่ตรงกับที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปราย เรื่องการยิงแก๊สน้ำตาไปตกหลังวัดให้คนออกมาหน้าวัด เรื่องนี้ไม่มีแน่ แต่มีผู้เสียชีวิตหน้าวัดและเต็นท์พยาบาลจริง ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นและต้องสอบสวน”

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ชี้แจงว่ากำลังเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทางสี่แยกปทุมวันได้รับคำสั่งให้อยู่ที่สนามกีฬา (สนามศุภชลาศัย) เพื่อเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินออกไปได้ โดยอยู่ตรงนั้นจนบ่ายสามโมง จากนั้นมีการวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ จึงสั่งให้รถดับเพลิงทำงานโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปคุ้มกัน ๒๐ คน แต่ก็ถูกยิงจนต้องถอยมาที่สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอสในเวลา ๑๖.๓๐ น. แล้วจัดกำลังเพิ่มเป็น ๑ กองร้อยเข้าไปอีกครั้ง จุดที่เคลื่อนเข้ามาก็เป็นด้านล่าง พบผู้ก่อการร้ายยิงสู้ขึ้นมา  ตอนยิงปะทะเวลา ๑๘.๓๐ น. มีคนร้ายอยู่ตรงหัวมุมวัดปทุมวนาราม คนร้ายที่ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่อยู่มุมซ้ายสุดติดกับสยามพารากอนแล้วก็ปีนเข้าไปในวัด และเข้าใจว่าถูกยิง ไม่รู้ว่าเข้าไปตายในวัดหรือไม่  หลังจากนั้นก็ถอนกำลังเพราะถ้าขืนเดินหน้าไปก็จะมีการปะทะกัน จะมีประชาชนได้รับลูกหลง  จึงขอเรียนว่าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม หลัง ๑๘.๓๐ น. ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บนรางบีทีเอสแน่นอน”

เป็นข้อมูลคนละชุดกับที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยแสดงคลิปวิดีโอและภาพนิ่งจำนวนหนึ่ง หนึ่งในคลิปนั้นมาจากสำนักข่าวอัลจาซีราห์แสดงภาพทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า ขณะที่นายสุเทพโต้แย้งว่าคลิปดังกล่าวถ่ายในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ไม่ใช่ ๑๙ พฤษภาคม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องวิถีกระสุนที่มีการตั้งข้อสังเกตจากผลการชันสูตรศพว่าน่าจะมาจากการยิงแนวราบมากกว่ามุมสูงที่จะเห็นเฉพาะหัวและไหล่ของเป้าหมายเท่านั้น

ปัจจุบันหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามค่อยๆ ถูกตีแผ่มากขึ้น

แล้ววันหนึ่ง ความจริงจะปรากฏว่าใครคือมือสังหาร ๖ ศพที่วัดปทุมวนาราม