สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

“บทสนทนาที่หายไป” ในวงการกวีนิพนธ์ไทย ซะการีย์ยา อมตยา, กฤช เหลือลมัย

ปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประกาศให้ผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ประจำปี ๒๕๕๓

นับเป็นครั้งแรกที่กวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ หรือ “กลอนเปล่า” (Free Verse) ได้รับรางวัลซีไรต์  ไม่มีหญิงสาวในบทกวี จึงถือเป็นผลงานที่สร้างความตื่นตัวให้วงการกวีนิพนธ์ไทยไม่น้อย ทั้งยังเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้แก่กวีนิพนธ์ที่ไม่ติดอยู่กับกรอบการใช้ฉันทลักษณ์และสัมผัสตามกฎเกณฑ์ดั้งเดิม

………………

ในร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านถนนพระสุเมรุ สารคดี มีโอกาสสนทนากับกวี ๒ คน ที่อาศัยช่องทางอันหลากหลายในการเผยแพร่งานกวีนิพนธ์ของพวกเขา และได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับวงการกวีนิพนธ์ไทยอีกครั้ง

คนแรกคือเจ้าของรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์คนล่าสุด–ซะการีย์ยา อมตยา หรือ เช ผู้มีพื้นเพจากนราธิวาส เติบโตในวัฒนธรรมมลายู พูดได้ ๔ ภาษา [มลายู (ยาวี) ไทย อังกฤษ อาหรับ] แต่นิยามว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ ๒ ที่ถนัดที่สุด  สนใจศึกษาบทกวีต่างประเทศโดยเฉพาะบทกวีภาษาอาหรับ (อารบิก) ภาษาซึ่งแพร่หลายในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตั้งแต่ไปเรียนด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับที่อินเดีย จนกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยอย่างกวีเต็มตัว  เป็นคนแรกๆ ที่ใช้ช่องทางไซเบอร์สเปซเผยแพร่งานกวีนิพนธ์  เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thaipoetsociety.com ที่เขานิยามว่าเป็น “สาธารณรัฐกวีนิพนธ์” เมื่อปี ๒๕๕๑

อีกคนคือ กฤช เหลือลมัย กวีผู้ผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่องในยุคที่เมืองไทยเล่นกีฬาสีการเมือง  เขาเป็นกวีไม่กี่คนที่ใช้บทกวีสื่อสารกับผู้คน (ที่แตกเป็นฝักฝ่าย) จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทุกสีเสื้อ โดยเฉพาะเมื่อบทกวีของเขาเปิดฉากตั้งคำถามถึงวิธีเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดง ก็ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกไซเบอร์  โดยงานประจำ เขาคือหนึ่งในกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ มีงานเขียนบทความวิชาการ สารคดี การ์ตูน ฯลฯ ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง และยังเชี่ยวชาญเรื่องอาหารเป็นพิเศษ

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา อาจเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกวีไทยกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามนำเสนอวิธีการ “อ่าน-ฟัง บทกวี” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “Live Poet”  ทั้งยังประพันธ์ตัวบทที่ตอบสนองสถานการณ์และทำงานความคิดกับคนจำนวนมาก

พวกเขานั่งลงแลกเปลี่ยนกันว่า นอกจากประเด็นเรื่องบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ได้รับรางวัลซีไรต์ เรื่องที่สมควรจะคุยกันคือ “บทสนทนาที่หายไป” ในวงการกวีนิพนธ์ไทย  บทสนทนาที่ว่านั้นประกอบไปด้วยประเด็น “ตัวตน” “ตำแหน่งแห่งหน” และ “หน้าที่ของบทกวี” ซึ่งน่าจะถูกหยิบขึ้นมาทบทวน วิพากษ์วิจารณ์ และมองต่อไปยังอนาคตอย่างจริงจัง

ซึ่งอาจพอเป็นคำตอบได้ว่า ทำอย่างไรบทกวีจึงมีพลังและเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางปัญญาที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า

zakariya02อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “บทกวี”  ต้องเป็นรูปแบบการร้อยเรียงประโยคที่มีฉันทลักษณ์ประเภทเอก ๗ โท ๔ เหมือนที่เคยเรียนสมัยเด็กๆ หรือไม่
กฤช : สิ่งที่คุณยกมาคือรูปแบบหนึ่งของการแต่งกวีนิพนธ์ ถ้าจะอธิบายสั้นๆ คือบทกวีต้องเล่นกับกลวิธีทางภาษา ยกตัวอย่างคุณเขียนงานสารคดี คุณต้องแจกแจงทุกมุม ทำให้กระจ่างที่สุด แต่บทกวีกลับกัน เขียนยาวมากไม่ได้ต้องระดมสรรพาวุธทางอักษรศาสตร์ทุกอย่างมาใช้ ทั้งจังหวะ น้ำเสียง รูปประโยค ศัพท์สามัญ สูงส่ง หยาบคาย เพื่อสร้างความลึกให้ตัวบทอธิบายสิ่งที่จะสื่อสารโดยพูดให้น้อยที่สุดแต่ต้องทำให้คนอ่านเอาไปคิดต่อ คืออาจไม่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา  ผมคิดว่าบทกวีควรเป็นงานเขียนที่ประกอบด้วยชุดคำที่ย่นย่อและควบแน่น มีอารมณ์ความรู้สึก มีพลังงานศักย์ของภาษาอัดเต็มอยู่ข้างใน ต้องทำให้คนอ่านเข้าถึงสารบางอย่างได้ด้วยวิธีและชุดคำที่ไม่ธรรมดา  ดูบทขึ้นต้นในบทกวี “นกกระดาษในสนามเด็กเล่น” ของ แก้วตา ธัมอิน

…ชิงช้าของหนูผูกกับกิ่งไม้ได้ไหม
ให้ดอกใบไหวเวลาที่เราไกวเบาๆ
ให้ใบดอกพรูลงมาเป็นฝนดอกไม้
ให้ทุ่งกว้างๆ มาอยู่ที่ข้างในนี่ได้ไหม
เผื่อว่าผีเสื้อและแมลงปอจะตามมา
สมทบกับตั๊กแตนที่กระโดดโหยงเหยงอยู่นั่น
เราชักชวนให้แม่น้ำไหลผ่านมาได้ไหม
บอกไปว่ามีเด็กขี้ร้อนอยากเล่นซ่อนหากับฝูงปลา
..เมื่อวาน คุณครูเพิ่งสอนเราพับเรือกระดาษฯ

จะเห็นว่าบทนี้เล่าเรื่องอย่างซับซ้อนย้อนแย้ง และมีฉากที่หลอนมาก

ซะการีย์ยา : ผมเรียนอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับมา ในภาษาอาหรับคำว่า “ชาอีร์” (شاعر) แปลว่า กวี  ส่วน “ชิอ์รุน” (شعر ) แปลว่า บทกวี  ในภาษาอาหรับ ชาอีร์หมายความว่า “ผู้ที่มีความรู้สึกอันอ่อนไหว” ซึ่งตรงกับลักษณะของกวี ผมเองรู้สึกเช่นเดียวกับความหมายนี้ก่อนจะมานั่งหานิยามว่าอะไรคือบทกวีเสียอีก  นับแต่เขียนบทกวีจนถึงทุกวันนี้ ผมพบว่าบทกวีควรมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๓ ประการด้วยกัน หนึ่ง ความรู้สึกอันอ่อนไหว  สอง ความรู้  สาม จินตนาการ  ความรู้สึกอันอ่อนไหวเป็นน้ำพุแห่งสุนทรียศาสตร์ ความรู้แห่งปวงปราชญ์เป็นพลังขับเคลื่อนความคิด จินตนาการเป็นมหาสมุทรแห่งแรงบันดาลใจ ทั้งสามสิ่งนี้จะหลอมรวมภายในและแสดงตัวออกไปเป็นถ้อยคำที่งดงาม เปี่ยมพลัง ฝังตรึงอยู่ในความทรงจำดื่มด่ำของทุกผู้คน  ฉันทลักษณ์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเขียนอะไรเป็นฉันทลักษณ์ไม่จำเป็นว่านั่นคือบทกวี ถ้าบอกว่ากลอนทุกชิ้นคือบทกวีผมปฏิเสธ ผมดูสิ่งที่สื่อออกมา  ในภาษาอาหรับมีกลอนชนิดหนึ่งเอาไว้ท่องจำว่าภาษาอาหรับมีไวยากรณ์อะไรบ้าง เหมือนกรณี “ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ…ฯ” ของภาษาไทย ใครท่องได้ก็จำไวยากรณ์อาหรับได้  นี่เป็นแค่กลอน ไม่ใช่บทกวี เพราะไม่บอกอะไรนอกจากทำให้จำง่าย ถ้าจะทำให้เป็นบทกวีมันต้องใส่เนื้อหาและความอ่อนไหวลงไป  ต้องทำความเข้าใจว่ากลอนคือเครื่องมือหนึ่งในการแต่งบทกวีเป็นหนึ่งในฉันทลักษณ์ที่มีหลายแบบ  ในต่างประเทศก็มีรูปแบบของเขาเป็นท่วงทำนองที่สร้างขึ้นมาโดยนักคิด กวี ปัญญาชนของแต่ละยุค การพัฒนารูปแบบจะไม่หยุดเท่านี้ สักวันหนึ่งเราอาจเห็นอัจฉริยะกวีไทยที่บัญญัติฉันทลักษณ์รูปแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างแน่นอน

การพยายามนำเสนอบทกวีแบบ Live Poet (อ่าน-ฟังบทกวีสดๆ อาจมีการแสดงประกอบ) ในกิจกรรมที่จัดตามที่ต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิธีนำเสนอบทกวีแบบใหม่ในสังคมไทย วิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากไหน
กฤช : จริงๆ ผมเคยเห็นกวีไทยนำเสนอลักษณะแบบนี้ แต่ก็น้อยครั้ง  ครั้งหนึ่งคือเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญา” ของอาจารย์สุมาลี วีระวงศ์ ที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์  อาจารย์เจตนา นาควัชระ ผู้เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยมองว่าน่าจะมีการอ่านบทกวีด้วย เลยเชิญกวีคนสำคัญของไทยจำนวนมากมาอ่านบทกวี ๓-๔ ชั่วโมง  การอ่านมีรูปแบบที่ช็อกคนฟังมาก อย่างคุณสมพงษ์ ทวี เวลาอ่านก็ควบคุมการเรอให้เป็นจังหวะ หมดท่อนหนึ่งเรอทีหนึ่ง  เสี้ยวจันทร์ แรมไพร อ่านบทกวีบนเวทีด้วยสภาพที่เรียกได้ว่าเกือบเปลือย นอกจากนั้นมันก็มาจากการได้ดูคลิปอ่านบทกวีของกวีชาติอื่นๆ รวมถึงอิทธิพลวัฒนธรรมการเล่นเพลงของชาวบ้าน และศิลปะแสดงสดที่กำลังเป็นที่สนใจ ผมเลยคิดว่าเราควรมีวิธีนำเสนอใหม่ๆ ที่จะทำให้บทกวีไม่น่าเบื่อได้

ซะการีย์ยา : ผมเริ่มได้รับอิทธิพลตั้งแต่สมัยเรียนอยู่อินเดียที่วิทยาลัยดารุลอุลูม นัดวะตุล อุลามาอ์  ที่นั่นก่อนเปิดงานอะไรก็แล้วแต่ เขามีธรรมเนียมว่าต้องอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน จากนั้นอ่านบทกวีไม่ภาษาอาหรับก็เป็นบทกวีภาษาอุรดู  เวลาเขาต้องการใช้กวีนิพนธ์อาหรับเขาจะเชิญผมไปอ่านตลอด ผมก็เอาบทกวีของอาหรับมาอ่าน ถ้าเป็นบทกวีภาษาอุรดูก็จะเป็นคนอินเดียอ่าน  ในชั้นเรียนกวีนิพนธ์อาหรับโบราณ อาจารย์ก็ชอบให้ผมอ่านบทกวีเป็นการเริ่มต้นก่อนเข้าสู่เนื้อหา ผมจะอ่านโดยคิดทำนองและสร้างจังหวะของตัวเองโดยไม่ซ้ำกัน ส่วนท่าทางระหว่างอ่านเริ่มมีหลังกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว ตัวบทบางชนิดมันจะส่งพลังออกมาเอง ท่ามันจะออกมาโดยที่ผมไม่ได้เตรียมหรือซ้อมอะไร แล้วก็ให้เพื่อนมาสีไวโอลินระหว่างอ่าน หลังๆ ได้อิทธิพลจากคลิปการอ่านบทกวีของกวีต่างประเทศ  จริงๆ สิ่งที่เรียกว่า Live Poet หรือการอ่าน-ฟังบทกวีแบบสดๆ เป็นวิธีหนึ่ง
ในการนำเสนอบทกวี มันยังต้องพัฒนาต่อไป เรายังมีสื่อใหม่ๆ อีกมากที่ยังไม่ได้ใช้งานมันอย่างเต็มที่

แนวทางการนำเสนอที่คล้ายกันทำให้ได้รู้จักกันจนตั้งกลุ่มขึ้นมา ส่งผลถึงการเปิดเว็บไซต์ Thai Poet Society ที่ถูกนิยามว่าเป็น “สาธารณรัฐกวีนิพนธ์”
กฤช : ก่อนรู้จักเช ผมเคยอ่านบทกวีเขาในหนังสือ  กวีนิพนธ์บนถนนประชาธิปไตย ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์  ในนั้นมีกวีหลายบท บทของเชชื่อ “อัลฟัจร์” ช่วงหนึ่งเขาเขียนว่า

ณ รุ่งอรุณอันเงียบสงัด
ความยุติธรรมมองลอดช่องที่นกน้อยแอบทำรัง
แสงรำไรสาดส่อง
ทะลุลงสู่พื้น
เสียงก้องกังวาน
อัลกุรอานอันไพโรจน์
และเสียงตรวนที่ถูกปลด.

ผมว่าเขาใช้สัญลักษณ์แปลกดีและมีพลัง  งานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้เชไปอ่านบทกวี ผมก็ไปอ่านด้วย อ่านเสร็จเขามาทักทายและวิจารณ์ตัวบทผม ซึ่งปรกติกวีไทยมักไม่ทำ คือจะบอกกันแค่ว่าเออดีๆ แล้วตัวใครตัวมัน เลยคุยถูกคอและเริ่มรู้จักกันตอนนั้น แล้วอีกไม่นานเขาก็ชวนไปงานอ่าน-ฟัง บทกวี ครั้งที่ ๓ ที่สวนเงินมีมา ถนนเจริญนคร ฝั่งธนบุรี ช่วงปลายปี ๒๕๕๑

ซะการีย์ยา : ผมเคยฟังพี่กฤชอ่านบทกวีก่อนจะมารู้จักกัน เป็นงานอะไรสักอย่างที่จัดที่ร้านนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์  หลังงานนั้นผมกับเพื่อนๆ เริ่มพูดคุยเรื่องวรรณกรรมกันที่ห้องพักของเพื่อนคนหนึ่ง มีการอ่านบทกวีแต่ไม่ได้จริงจังอะไร  ครั้งที่ ๒ รวมตัวกันที่สวนสาธารณะสะพานพระราม ๘ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี คุยกันนานมาก  ปิดท้ายด้วยการอ่านบทกวีจนหมดเวลาทำการของสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่มาบอกให้ย้าย เลยขึ้นไปอ่านกันบนสะพานพระราม ๘  บรรยากาศดีมาก ก็เลยคุยกันว่าน่าจะจัดอ่านบทกวีอย่างจริงจังเสียที  ต่อมาก็จัดงาน “Live Poetry 3” หรือ “งานอ่าน-ฟังบทกวี ครั้งที่ ๓” ขึ้นที่สวนเงินมีมา  พวกเราเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่หลายคนเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แต่จริงๆ ไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรหรอก ไม่เคยพูดกันด้วยซ้ำว่ากลุ่มจะต้องมีอุดมการณ์อย่างไร แค่มารวมตัวจัดงานเท่านั้น

ส่วน Thai Poet Society เกิดจากผมใช้อินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ และเป็นผีไม่มีศาล แต่มีเพื่อนเขียนบทกวี เราตามอ่านงานเขา เขาอ่านงานเรา รู้สึกว่าต้องสร้างพื้นที่สำหรับบทกวีแบบที่เราต้องการเลยลงมือทำตั้งแต่ปี ๒๕๕๑  แล้วที่เรียก “สาธารณรัฐกวีนิพนธ์” นั้นมาจากชื่อเว็บล็อกของผมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ putushon.wordpress.com และ zakariyaamataya.wordpress.com ส่วนจุดประสงค์ในการก่อตั้งเว็บไซต์ thaipoetsociety.com เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับผู้สนใจในการเขียน-อ่านบทกวี และต้องการพัฒนาศิลปะในการเขียนบทกวี ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เห็นจุดดี จุดเด่น หรือข้อด้อย ก่อให้เกิดทักษะในการเขียนที่พัฒนาและก้าวหน้าทั้งรูปแบบและความคิด โดยที่สมาชิกทุกท่านสามารถถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์บทกวีทุกชิ้นที่ปรากฏ ณ ที่นี้อีกด้วย  ตั้งแต่เปิดเว็บไซต์นี้เข้าสู่ปีที่ ๓ แล้ว มีสมาชิกใหม่ๆ ผลัดกันมาโพสต์บทกวีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งหลากหลายแนวทางและรูปแบบ จะว่าไปแล้วสมาชิกของเว็บเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เว็บไซต์ไม่นิ่งและร้าง

คำถามก่อนหน้านี้เราพูดถึงรูปแบบการนำเสนอที่ใหม่ แต่ที่ต้องถามต่อคือในยุคนี้ “หน้าที่” ของกวีนิพนธ์เปลี่ยนไปจากอดีตหรือไม่
ซะการีย์ยา : ในบทกวีมีมโนทัศน์และวิธีคิดของผู้แต่งที่สื่อสารออกมา เขาอาจไม่ได้ตั้งธงว่าจะให้มันทำงานอย่างไร แต่นี่เป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ซึ่งอาจให้แง่คิดและนำไปคิดต่อยอดได้  บทกวีรักก็อาจให้ความรู้สึกว่าความรักสวยงาม ประโลมจิตใจ ในสภาพสังคมที่โหดร้ายมันอาจช่วยชำระจิตใจให้ดีขึ้น  แต่อีกทางบทกวีอาจช่วยเรื่องการปลุกระดมและต่อสู้ ตัวอย่างคือกวีปาเลสไตน์ ชีวิตตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามและการยึดครอง กวีหลายคนมักจะเขียนวรรณกรรมเชิงต่อต้าน บทกวีเหล่านี้เวลาถูกอ่านจะสร้างพลังให้มวลชนที่ฟัง ก่อให้เกิดความหวัง แม้ว่าจะยังไม่ได้แผ่นดินคืนมาก็ตาม

กฤช : หน้าที่ของบทกวีไม่ต่างกับงานศิลปะชนิดอื่น ย้อนไปสักร้อยปีในโลกกวีนิพนธ์ไทย การที่สุนทรภู่แต่งกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ซึ่งเป็นฉันทลักษณ์ที่แต่งค่อนข้างง่าย จนได้รับความนิยมจากคนทุกระดับ ทำให้คนที่พอมีความรู้เริ่มแต่งกลอนได้  ยิ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา คนจำนวนมากใช้บทกลอนสื่อสารสิ่งที่ตนคิด ครูประจำชั้นสมัยก่อนนิยมแต่งกลอนที่นำชื่อนักเรียนทั้งห้องมาสัมผัสกันเป็นของขวัญให้ลูกศิษย์เมื่อพวกเขาเลื่อนชั้น ขนบการใช้กวีนิพนธ์แบบนี้ยังส่งต่อมาถึงปัจจุบัน ที่ชัดเจนคือสมาชิกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย กวีส่วนมากก็เป็นครู แต่วิธีแบบนี้ใช้ในการประณามก็ได้นะ เช่นแต่งตัวบทด่ารัฐบาลที่คดโกงก็มีให้เห็นมาตลอด มันมีค่านิยมว่าถ้าคุณแต่งบทกวีได้ ไม่ว่าแบบใด ก็จะได้รับยกย่องว่ามีความสามารถ

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ ตัวบทที่มองภาพรวมกว้างมากๆ เขียนเรื่องใหญ่มากๆ หรือพยายามอธิบายอะไรในแบบครอบจักรวาลกำลังหมดพลัง ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี อย่างพี่บุญเตือน ศรีวรพจน์ เขียน ทศชาติคำฉันท์ เมื่อไม่กี่ปีก่อนก็เป็นงานแนวขนบที่ดีมากๆ  เพียงแต่เวลานี้เราไม่อาจพึ่งพิงหรือเชื่อมั่นอะไรที่เป็นคำอธิบายเบ็ดเสร็จได้อีกแล้ว ทฤษฎีและองค์ความรู้ของทุกศาสตร์กำลังถูกท้าทายและตั้งคำถาม  กวีนิพนธ์ก็เช่นกัน คุณคงนึกออกว่าโลกที่เปลี่ยนไปขนาดนี้ กวีนิพนธ์จะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ มันต้องเปิดดวงตาผู้อ่านให้เห็น ให้รู้จักสังเกต รู้จักตั้งคำถามใหม่ๆ ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง จริงๆ นี่เป็น “หน้าที่” หรือเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ

zakariya03ในมิติหนึ่ง คนไทยมองว่าบทกวีส่วนมากมีหน้าที่อยู่ในพิธีกรรม เป็นของศักดิ์สิทธิ์ หน้าที่ด้านอื่นๆ มีน้อย ถ้าดูจากระบบการศึกษา ส่วนมากครูจะให้เยาวชนแต่งบทกวีในวาระสำคัญเท่านั้น
ซะการีย์ยา : สมัยก่อนหน้าที่ของบทกวีอาจไม่กว้างเท่าสมัยนี้ งานชนิดนี้เป็นวรรณกรรมประเภทแรกๆ ของโลก สมัยกรีกเวลาแสดงละคร บทละครเป็นบทกวี ปรัชญาก็เป็นบทกวี ในโลกภาษาอาหรับก็ใช้บทกวีเล่าเรื่อง  ผมคิดว่าภาษาของกวีไม่ต่างจากภาษาในพระคัมภีร์โบราณอย่างอัลกุรอานหรือไบเบิล สวยงาม มีจินตภาพ แต่ไม่เล่าเรื่องยาวเหมือนความเรียง เล่าเป็นท่อนๆ  คนที่เขียนบทกวีได้จะต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์พอสมควร เลยโดนยกเป็นปราชญ์ ซึ่งคนอื่นๆ เขียนไม่ได้  ในประวัติศาสตร์ของโลก ในหลายแห่งบทกวีถูกนำไปรับใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในโลกอาหรับมีกวีราชสำนักเช่นเดียวกับกวีไทยที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร  กวีเหล่านี้มียศเทียบได้กับขุนนาง มีหน้าที่คอยเขียนบทอาเศียรวาทและรับใช้เจ้านาย  ทั้งหมดคือสิ่งที่น่าจะทำให้รู้สึกว่าบทกวีนั้นศักดิ์สิทธิ์

กฤช : ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้การเขียนบทกวีอาเศียรวาทในโอกาสต่างๆ มันเอื้อกับการยกยอบุคคลและสร้างความอลังการทางภาษาอย่างเดียว คนก็แค่อ่านผ่านๆ เพราะรู้ว่าคงใช้ศัพท์แสงฟุ้งๆ อวยกันไปโดยไม่ตั้งคำถาม กวีแต่ละคนก็ระดมคำเพราะๆ ในคลังออกมาแต่งตัวบทด้วยฉันทลักษณ์ที่ยุ่งยากที่สุดเท่าที่จะแต่งได้ ถามว่ามีใครอ่านมันจริงจังบ้างไหม  ภาพของตัวกวีและบทกวีแบบนี้ถูกฝังในความทรงจำคนไทยมานาน คนจำนวนไม่น้อยมองว่ากวีมีหน้าที่แค่อวยพรในวาระต่างๆ เท่านั้น มันก็ดูสูงส่งอยู่หรอก แต่ไร้ความหมายกับชีวิตประจำวัน

ซะการีย์ยา : พูดถึงบทอาเศียรวาท ในสหรัฐอเมริกา กวีอเมริกันมีโอกาสอ่านบทกวีให้ประธานาธิบดีฟัง มันสำคัญมาก เราอาจมองว่าเขามีวัฒนธรรมสูง แต่มองอีกด้านก็อาจไม่ต่างกับการอ่านหน้าพระที่นั่งในสังคมเก่าก็ได้ แต่ผมคิดว่ากวีเหล่านี้ไม่ได้ไปยกยอสรรเสริญประธานาธิบดี แต่ละคนที่ไปมีตัวตนชัดเจน เขาไม่ได้เขียนแต่เรื่องความดีอย่างเดียว เขาเขียนถึงด้านอื่นด้วย จะเห็นได้ว่ารากทางวัฒนธรรมกวีเขาโตกว่าเรา เรื่องความคิดก็ไปไกลกว่าเรา การแต่งบทกวีก็มีมากกว่า จำนวนกวีก็มากกว่า

กฤช : ต่อหน้าประธานาธิบดีคุณมีสิทธิ์แทรกปัญหาที่อยากสื่อกับผู้นำเข้าไปได้ คำถามคือเมืองไทยทำได้หรือไม่ อาจทำต่อหน้านายกรัฐมนตรีได้ แต่จะทำเช่นนั้นในบางที่ได้หรือ  ยิ่งปัจจุบันรัฐเซ็นเซอร์อย่างหนัก เกิดบรรยากาศที่ทุกคนระวังตัวแจ การแสดงออกแทบทุกเรื่องโดนจำกัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย  อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยบอกว่าบทกวีมีอำนาจที่ทำให้มันมี “วิธี” สื่อสารบางเรื่องได้มากกว่าข้อเขียนประเภทอื่น แต่กวีไทยยังใช้ข้อได้เปรียบนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับจีนสมัยก่อน  ผมคิดว่าเขามีลักษณะนี้มาตั้งแต่โบราณ คือในตลาดสดจะมีวณิพกขับบทกวีว่าด้วยการกดขี่ของขุนนางกังฉิน จักรพรรดิที่อ่อนแอ ชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบฟังก็เข้าใจทันที มันเป็นทั้งการเยียวยาจิตใจ การระบาย และเพาะบ่มจิตวิญญาณการต่อสู้ของมวลชน มีพื้นที่สาธารณะแบบนี้มากมาย ถ้าคุณกล้าพอก็อาจสร้างภาวะพิเศษบางอย่างผ่านการอ่านและฟังบทกวีได้

ซะการีย์ยา : ผมคิดว่าเป็นเรื่องแนวคิดของคนในสังคม ตะวันตกพยายามทำให้บทกวีเป็นของสาธารณะ ในอังกฤษทุกปีมีการร่วมมือกันระหว่างบริษัทที่ดำเนินกิจการรถไฟใต้ดินกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คัดบทกวีมาแทรกแทนโฆษณาตามสถานีรถไฟใต้ดิน และด้วยแรงบันดาลใจนี้บทกวีตามสถานีรถไฟใต้ดินเกิดขึ้นที่เมืองใหญ่หลายแห่งของโลก  ในสหรัฐฯ เดือนเมษายนของทุกปีคือเดือนแห่งกวีนิพนธ์ มีโปสเตอร์แจกจ่ายตามห้องสมุดทั่วประเทศ บรรยากาศเหล่านี้เอื้อให้เกิดความสนใจบทกวี ประธานาธิบดีทุกคนเมื่อเข้ารับตำแหน่งจะเชิญกวีไปอ่านบทกวีให้ฟัง  วัฒนธรรมเรื่องนี้ของเขาไปไกล มีงานที่สะท้อนทุกด้าน เช่นงานของกวีอเมริกันชื่อ อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) ใช้คำดิบ หยาบ สื่อสารและวิพากษ์ถึงการล่มสลาย และความเน่าฟอนเฟะของสังคม  สมัยนั้นอเมริกันยังอนุรักษนิยม หนังสือรวมบทกวี Howl ที่พิมพ์ครั้งแรก (ค.ศ. ๑๙๕๖) ถูกสั่งเก็บจากร้านหนังสือ กินสเบิร์กและบรรณาธิการต้องต่อสู้ในชั้นศาลให้พิมพ์และจำหน่ายต่อได้  กินสเบิร์กมีบทบาทสำคัญทำให้กวีนิพนธ์ขัดกับขนบดั้งเดิมทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการใช้คำ ตลอดจนการนำเสนอจินตภาพ  บทกวีของเขาพูดถึงการต่อต้านสังคม การเมืองการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างและกฎเกณฑ์ของสังคมและการเมืองอย่างรุนแรง  ขณะสงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น เขาเคยถูกจับในฐานะผู้นำการประท้วงต่อต้านนโยบายเข้าร่วมสงครามของรัฐบาลอเมริกัน โดยสนับสนุนการให้อิสรภาพไร้ขอบเขต ทั้งในเรื่องการแต่งกายและความประพฤติ  เขาเคยเปลื้องผ้าอ่านกวีนิพนธ์ต่อหน้าสาธารณชน และแม้เขาจะสนับสนุนการใช้ยาเสพติดอย่างเสรีก็ตาม แต่เขานับเป็นกวีคนแรกๆ ที่แสดงความห่วงใยในเรื่องนิเวศวิทยา ดังกล่าวเขายอมรับว่ากวีนิพนธ์บางบทใน Howl ถูกเขียนขึ้นขณะเขาตกอยู่ใต้อิทธิพลของยาเสพติด  ผมเห็นว่าบทกวีไทยส่วนมากมักจะสะท้อนเรื่องราวด้านเดียว ไม่ค่อยพูดด้านมืด อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ามีคนเขียน เพียงแต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง

คนไทยจำนวนมากอาจรู้สึกว่าบทกวีต้อง “ปีนบันได” อ่าน ส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถในการแต่งบทกวีสักบท
ซะการีย์ยา : คนไทยมีกรอบบางอย่างว่าการอ่านบทกวีต้องเข้าใจตัวบทเหมือนกับผู้แต่งเข้าใจ นี่คือปมด้อยของสังคมไทย คือจะคิดว่าตัวเองนั้นโง่ หรือมีความผิดถ้าไม่เข้าใจ เราติดอยู่ตรงนี้ ทำให้การอ่านบทกวีเป็นเรื่องไม่น่ารื่นรมย์ เลยพานไม่อยากอ่าน  จริงๆ ไม่เข้าใจหมดไม่ตายหรอก เข้าใจแตกต่าง ตีความต่างกับผู้แต่งก็ได้ การอ่านแล้วสะดุดคือจุดเริ่มต้นของการคิดและค้นคว้า  เวลาผมอ่านหรือแปลบทกวีต่างประเทศ ถ้าไม่รู้เรื่อง ตีความไม่ได้ ผมจะหยุดก่อน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าโง่  สมัยที่ผมเริ่มอ่านบทกวีก็มีความรู้สึกนั้น แต่พอศึกษามากเข้าผมพบประโยชน์ มันสะกิดใจให้เราค้นต่อ มันมีเสน่ห์  ที่ต้องทำคือค้นคว้าต่อว่านี่หมายถึงอะไร คำบางคำมีความหมายมากมาย สิ่งนี้จะเปิดประตูความรู้ให้เรา บางทีการไม่เข้าใจก็เกิดจากประสบการณ์ที่น้อย บทกวีบางชิ้นต้องทิ้งไว้พออายุถึงระดับหนึ่ง ผ่านอะไรระดับหนึ่งกลับมาอ่านถึงเข้าใจ นี่คือการเติบโตทางความคิด

กฤช : ที่คุณถามนี่เป็นกรอบความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน แทบไม่ต่างอะไรกับวัฒนธรรมเผด็จการ พลเมืองรู้สึกว่าต้องฟังคำสั่งจากเบื้องบน ต้องเข้าใจ ไม่มีวัฒนธรรมขัดขืนหรือคิดต่าง เขียนอะไรมาก็ต้องพยายามเข้าใจให้ถูกต้องตามคนเขียนอย่างไม่ผิดเพี้ยน  ในวงการกวีนิพนธ์คำถามนี้ปรากฏอยู่ตลอด แต่อย่าลืมว่าบทกวีเป็นศาสตร์ที่ใช้ความคลุมเครือสูง ใช้คำน้อยกินความเยอะ เปิดโอกาสให้คิดต่อ ดังนั้นมันเปิดกว้างมากเรื่องตีความ แต่ไอ้ความคิดฝังหัวของเราที่ว่าอ่านไม่รู้เรื่องแล้วโง่นี่แหละทำให้คนไทยไม่อยากอ่านบทกวี หรือถึงอ่านก็รอถามคนเขียนว่าเข้าใจตรงกันหรือเปล่า ผมท้าว่าทำได้ไหมที่เราจะลุกขึ้นบอกคนแต่งว่าผมตีความต่างจากคุณ  นี่อาจคือหัวใจของสิ่งที่โรลองด์ บาร์ทส์ (Roland Barthes) นักคิดชาวฝรั่งเศส เสนอแนวคิดว่าด้วย “มรณกรรมของผู้แต่ง” คือสำหรับผู้แต่งนั้นเขียนจบปุ๊บคุณตายแล้ว ไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดตัวบทได้อีก  บาร์ทส์อาจรู้ดีถึงอำนาจและน้ำหนักของแอกนี้ เลยพูดตีกันไว้ก่อนเพื่อให้ผู้อ่านกล้าตีความมากขึ้น แต่คนไทยยังมีลักษณะรอฟังว่าที่คุณพูดคุณเขียนนี่หมายความว่าอะไร ซึ่งถ้าเราเริ่มกล้าตีความตัวบทอย่างอิสระ เราจะกล้าทำอย่างอื่นในโอกาสต่อไป

ในวงการกวีบ้านเรามี “กับดักเรื่องความเป็นไทย” อยู่หรือไม่
กฤช : มี เมื่อไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” นี่พอมันโดนปะไว้กับอะไรก็ตาม สิ่งนั้นดูจะง่อยเปลี้ยเสียขา  ดูสถาปัตยกรรมเป็นตัวอย่างก็ได้ ถ้าเป็นสถาปัตย์ “ไทย” ก็ต้องมีหน้าจั่ว มีช่อฟ้าแหลมๆ แล้วก็ติดอยู่เท่านั้น  ในบทกวี คู่ตรงข้ามของ “ความเป็นไทย” คืออะไรที่ “ไม่ไทย” ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่มันไม่เป็นไทยนั่นแหละน่าสนใจ มันแปลกใหม่ มีอิสระเชิงสัญลักษณ์สูง แต่พอโดนแปะหัวว่าบทกวีต้องมีความเป็นไทย คนเลยแหยง จะแต่งแบบนี้ดีไหมวะ แต่งแบบนี้รักชาติหรือเปล่า สืบสานความเป็นไทยไหม

ซะการีย์ยา : ผมเห็นชัดมากเรื่องความเป็นไทย ทั้งที่ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” เองก็ไม่ชัดว่ามันคือตัวอะไร มันเองก็ยังไม่ลงตัว แต่มันก็ถูกนำมาครอบงำ เป็นภาพหลอนที่โดนสร้างขึ้นมาแล้วปรากฏตัวในบทกวี คือมันมีความพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นไทย ทั้งที่ถ้ามาดูข้อมูลจริง คนในประเทศเองก็ไม่ใช่ไทยทั้งหมด

กฤช : บทกวีที่ชอบบอกกันว่ามีความเป็นไทยจะมีลักษณะที่ตัวมันเองไม่ชัดเจนในเรื่องแนวคิดที่จะอธิบายสารในตัวบท คือพอจะพูดอะไรลึกซึ้งก็ต้องหยิบยืมแนวคิดกระแสหลักเดิมๆ มาสรุปทุกที  ความเป็นไทยในบทกวีอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือจะมีกรอบความคิดแบบ “มหาอรรถาธิบาย” ที่ตอบคำถามทุกอย่างบนพื้นฐานพุทธศาสนาอย่างเดียว ไม่ว่าจริงๆ แล้วจะตอบโจทย์ในโลกของความเป็นจริงได้หรือไม่ก็ตาม เช่นพูดถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวกับปัญหาใหญ่ๆ ก็บอกง่ายๆ ว่าเพราะเขาไม่อยู่ในศีลธรรม แล้วฟันธงตบท้ายว่าถ้าเขามีศีลธรรมซะเรื่องก็จบ นี่แทบเป็นการท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง มันใช้ได้ไหมในโลกความเป็นจริง แต่พอใครพูดใครอธิบายแบบนี้ก็ดูดี มีปรัชญาลึกซึ้ง ทั้งที่ท่องจำตำราคาบคัมภีร์มาทั้งดุ้น  พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่ายกตัวเอง เผลอๆ ผมก็เป็นเหมือนกัน ดูโคลงบทนี้

สรณะในโลกล้วน    ซ่อนเร้น นัยพ่อ
ยึดติดตามตาเห็น    บ่ถ้วน
กายอันเกิด-มี-เป็น    ปรุงธาตุ แท้แล
ดีงามจริงลวงล้วน    ล่วงลับลงดิน

จะเห็นว่ามันเป็นการขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ไม่แหลมคมเลย ผมก็ยังติดกับดักนี้ เราต่างก็โตมากับโลกกวีนิพนธ์แบบเดิม เพียงแต่ผมคิดว่าพอเห็นปัญหาอยู่บ้างก็เท่านั้น

หรือเราแปลบทกวีต่างประเทศน้อยไป ทำให้มุมมองเราแคบ
ซะการีย์ยา : เราแปลบทกวีต่างประเทศน้อย เทียบกับอดีตก็จะเห็นว่าน้อยมาก ยิ่งไปเทียบกับเรื่องสั้นและนิยายน้อยกว่าหลายเท่า  ในอดีตเองก็ใช่ว่าจะแปลบทกวีมาก แต่ก็มากกว่าปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยเขียนบทกวีมาแต่เดิม ต่างกับนิยาย เรื่องสั้น ซึ่งไม่ใช่ศาสตร์ที่สังคมไทยมีแต่ต้น  การเขียนนิยาย เรื่องสั้น ต้องรับจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความพยายามแปลและรับความรู้ข้างนอก แต่บทกวีอาจไม่รู้สึกแบบนั้น เราคิดว่ามีของดีอยู่แล้ว  ผลคือเราเห็นนิยายไทยไปไกลมาก เรื่องสั้นก็เช่นกัน เพราะมีงานแปลเยอะทำให้นักเขียนได้อ่านมากขึ้น การเขียนก็พัฒนามากขึ้น ในขณะที่บทกวีนั้นต่างออกไป

กฤช : อาจพูดได้เลยว่าการแปลหนังสือต่างประเทศในสังคมไทยไม่ว่าประเภทใดมีน้อยมาก เราไม่ค่อยแปลสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ ทฤษฎีสำคัญๆ เป็นภาษาไทย  ในประเทศที่ให้ความสำคัญจะมีหนังสือแปลเต็มห้องสมุดให้คนได้อ่านอย่างจุใจ คนจะมีทางเลือกมาก ที่สำคัญคือได้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองมี  บ้านเราแค่ตำราสังคมศาสตร์ก็แปลน้อยมากยิ่งกวีนิพนธ์ถือว่าอัตคัด  สภาพแบบนี้ย้อนกลับไปที่การสร้างงาน เมื่อเราอ่านน้อย ไม่เห็นอะไรแปลกใหม่ข้างนอก กวีนิพนธ์ไทยจึงก้าวหน้าช้า เพราะไม่มีตัวเปรียบเทียบ เราเห็นแต่พวกเดียวกันทำให้โลกทัศน์แคบ  ลองดูบางตอนในบทกวีอาหรับ “บทเรียนในการวาดเขียน” นิซาร์ กอบบานี (Nizar Qabbani) ก็ได้

…ลูกชายนั่งบนขอบเตียงของฉัน

และขอให้ท่องบทกวี
น้ำตาตกจากดวงตาของฉันลงบนหมอน
ลูกชายแลบลิ้นชิม แล้วเอ่ยขึ้นด้วยความพิศวง
“มันน้ำตานี่ พ่อ ไม่ใช่บทกวี !”
ฉันบอกเขา
“ลูกเอ๋ย เมื่อลูกโตขึ้น
และอ่านกวีนิพนธ์อาหรับ
แล้วจะพบว่าถ้อยคำกับน้ำตาเป็นฝาแฝดกัน
และบทกวีอาหรับนั้น
เป็นน้ำตาจากการร่ำไห้ของมือที่ขีดเขียน…

ดูตัวบทสิครับ คิดว่ามันมีพลังขนาดไหน

ยังมี “กับดัก” อื่นๆ หรือไม่ที่ทำให้วงการกวีนิพนธ์ในบ้านเราซบเซาและทำหน้าที่ของมันได้ไม่เต็มที่
กฤช : มีอยู่เรื่องหนึ่งผมยังคิดไม่ทะลุ ผมสงสัยว่า วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยมีศักยภาพพอที่จะสร้างสรรค์กวีนิพนธ์กี่แบบ  ภาษาไทยเป็นภาษาที่ต้องการคำขยายมาก พอขยายเต็มรูปแล้วแน่นอนสละสลวย แต่ถ้าเอาความรู้สึกที่เรามีต่อคำนามโดดๆ ทีละคำๆ จะดูโหวงเหวงทันที  พูดง่ายๆ คือผมไม่ค่อยเห็นว่าบทกวีไทยที่ใช้คำเรียบง่ายจะมีคนยอมรับหรือชอบ บ้านเราต้องประดิดประดอยละเอียดยิบถึงจะเห็นว่าเข้าท่า ทำให้ผมคิดว่าวัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยบางแง่มุมอาจปิดกั้นการสร้างสรรค์งานบางแบบ คงไม่มีใครตั้งใจหรอก มันเป็นของมันเอง แต่ภาวะซบเซาของบทกวีในสังคมไทยเป็นเรื่องปรกติครับ  ประเทศอื่นบทกวีก็ไม่ได้มียอดขายถล่มทลาย ต้องยอมรับว่าบทกวีค่อนข้างอ่านยาก คนอ่านไม่เยอะ เราน่าจะยอมรับสภาพ เอาเข้าจริงการที่อยู่ๆ มันบูมทันที อาจเป็นลางร้าย  ไม่มีหญิงสาวในบทกวี วันดีคืนดียอดพิมพ์พุ่งพรวดเป็นหมื่นๆ เล่ม คิดว่าเป็นเรื่องดีหรือ  ในแง่ผู้เขียนดีแน่ แต่สำหรับวงการกวีควรเกิดคำถามทำนองว่า เฮ้ย แค่นี้เองเหรอ ใครได้รางวัลใหญ่ จำนวนพิมพ์ก็ไหลมายังกับน้ำป่า คิดดูว่าถ้าไม่ได้ซีไรต์จะขายได้ถึงพันเล่มไหม

ซะการีย์ยา : ก็จริง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้บ่งบอกถึงความนิยมในการอ่านบทกวีจริงๆ ของสังคมไทย ของจริงคือยอดพิมพ์บทกวีพันเล่มขายไม่หมด รางวัลทำให้มันเกิดกระแสขายได้  ผมก็หวังว่าปรากฏการณ์ที่มีกับผมจะทำให้คนนิยมอ่านบทกวีมากขึ้นบ้าง แต่ไม่รู้จะไปได้แค่ไหน  ก่อนหน้านี้มีคนถามด้วยซ้ำว่านี่เรียกว่าบทกวีด้วยหรือ แต่รางวัลมาพร้อมการโฆษณา ทำให้ผลงานดูมีคุณค่าพร้อมขายได้ทันที  ซีไรต์เป็นกระแสอยู่แล้ว เล่มไหนได้รางวัลก็ขายได้ ไม่ต้องเล่มนี้หรอกครับ

กฤช : ปัจจุบันพื้นที่ตีพิมพ์บทกวีในสื่อสิ่งพิมพ์น้อยมาก ด้วยความจำกัดของหน้ากระดาษ บทกวีถูกมองว่าไม่จำเป็น และมักถูกตัดออกเป็นอันดับแรก ตัวบทที่ลงให้อ่านก็ดันคล้ายกัน นี่อาจเป็นปัญหาเรื่องวิธีการคัดเลือกตัวบทของบรรณาธิการ มันมีกรอบการมองบางอย่างที่เรียกว่าเป็น “กระแสหลัก” ดังนั้นแม้เราจะพยายามตามอ่านทุกฉบับ แต่บทกวีที่เราจะได้อ่านมันแทบไม่แตกต่างกัน  มองให้สุดขั้วคือมันทำให้การเติบโตและคิดต่างมีน้อยลง ปิดโอกาสแจ้งเกิดของตัวบทแบบอื่นๆ  สมมุติผมส่งบทกวีไป ๑๐ แบบ บรรณาธิการก็อาจเลือกตัวบทที่เป็นแบบขนบนิยมไปลงพิมพ์ ดังนั้นจะมีบทกวีแบบหนึ่งได้ลงเสมอ ส่วนพวกแนวใหม่ๆ อย่าหวังอะไรมาก

ซะการีย์ยา : ผมเขียนสักระยะก็ติดกับดักนี้โดยไม่รู้ตัว คือบทกวีที่จะเขียนส่งให้บรรณาธิการนั้นพอเรารู้ว่าแบบไหนจะผ่านก็ทำให้บางทีเผลอเขียนงานไปในแนวทางที่จะได้รับเลือกลงตีพิมพ์ ไม่ได้เป็นแบบที่อยากเขียน อย่างบท “สระใอไม้มลายเสีย” ที่รวมในเล่ม ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ผมเคยส่งไปเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ถึง ๓ แห่ง ไม่ผ่านเลย พอรวมเล่มกลับมีคนอ่านชอบ เลยรู้สึกว่าเอาเข้าแล้ว การคัดของบรรณาธิการเป็นเพียงรสนิยม บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีจริง  แน่นอนอาจดีในแบบบรรณาธิการ แล้วกวีคนอื่นที่ไม่ได้ส่งงานแบบที่บรรณาธิการชอบล่ะ อย่าง อุเทน มหามิตร กวีที่เขียนงานและรวมเล่มหนังสือทำมือของเขาเอง งานจะออกมาเป็นอีกแบบ  ผมเคยสงสัยว่าทำไมงานเราไม่เป็นแบบนั้น เพราะเราตามกระแสหลักใช่ไหม เราติดอะไรบางอย่างที่ใหญ่มาก แถมไม่รู้ตัวอีกว่าเราเสียตัวตนไปแล้ว  ผมคิดว่าต่อไปอินเทอร์เน็ตจะเปิดพื้นที่ตรงนี้ ผมไม่ได้บอกนะว่าบทกวีในอินเทอร์เน็ตดีหมด งานที่บรรณาธิการคัดก็ไม่ใช่ไม่ดี มีงานที่ดีออกมาด้วยแน่นอน แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคสำหรับบทกวีบางชนิด  ผมเชื่อว่ามีงานอีกหลายชนิดไม่หลุดตาข่าย แต่เป็นงานที่ดี ทว่ามันจะไม่เกิดนอกจากกวีคนนั้นรวมเล่มออกมาเอง และการที่กวีคนหนึ่งแสดงทัศนะผ่านบทกวีโดยไม่ผ่านบรรณาธิการ งานจะโดดเด่นในแบบของเขาจริงๆ

ลองอ่านบท “อัสดงอเวจี” จากรวมบทกวี กอปร ของ อุเทน มหามิตร

…อัสดงเจือวารวันที่อ่อนหวานในทุ่งเถ้าสีเทาจาง
รวงน้ำค้างหม่นมืดอ้อยอิ่งบนคมกิ่งของถ่านไม้
บางความยาวคลื่นปราศจากอนุภาคร่วงหล่น
รอนจินตภาพผ่านช่องว่างพลวัตระหว่างพลบ
แสงพรั่นหลั่งน้ำผึ้งเลือดละลายขังนัยน์ตา
ลิ้นเมฆสากฉานตามแรงหายใจยมทูต
พังผืดพายุหม่นไหม้พอกรังสีอำมหิตพิศวง
เลาะตะเข็บชะตาโพล้เพล้ในอเวจีเลอเลิศ
พฤกษาเนื้อหอมพรอดแผลผิวโลกพุพอง
น้ำเหลืองในน้ำผึ้งเลือดซับหยาดประกาย

กฤช : สื่อสิ่งพิมพ์มักได้รับการให้คุณค่าจากคนอ่านและตัวกวี ถ้าได้ตีพิมพ์เขาจะรู้สึกว่าบทนั้นๆ เป็นงานที่ดีจริง เพราะผ่านบรรณาธิการที่ส่วนมากเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่ช่วง ๑๐ ปีมานี้สื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะไซเบอร์สเปซ มันโพสต์ลงได้หมดไม่ว่าคุณเป็นใคร ไม่ต้องผ่านบรรณาธิการ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่กวีและนักอ่านจำนวนมากยังรู้สึกว่าง่ายไป เหมือนไม่มีการคัดกรอง บางคนคิดว่าจะทำให้วงการกวีตกต่ำด้วยซ้ำ เพราะจะลงอะไรก็ได้ คือเรายังให้คุณค่า ๒ ระดับ แบ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่อไซเบอร์ ทีนี้ก็น่าจะถามว่าสื่อไหนเปิดโอกาสให้คนอ่านได้เสพบทกวีที่หลากหลายกว่ากัน  อินเทอร์เน็ตทำให้โลกการอ่านกวีนิพนธ์เปิดเต็มที่ แล้วคนอ่านจะเป็น “บรรณาธิการ” เอง เลือกเองเลยว่าเขาต้องการอ่านแบบไหน

ซะการีย์ยา : จริงๆ วิธีทำให้บทกวีแพร่หลายมีเยอะ เช่นสมาคมกวีอเมริกันเขามีเว็บไซต์และก็คัดบทกวีชุดหนึ่งไว้ว่าเป็นบทกวีที่ควรอ่านให้โหลดใส่ไอโฟนฟรี หรือกวีอเมริกันคนหนึ่งชื่อ บิลลี่ คอลลินส์ (Billy Collins) เป็นกวีที่ได้รางวัลมากมาย  เขาคัดบทกวีอเมริกันร่วมสมัย ๑๘๐ ชิ้นให้โรงเรียนที่สนใจได้เอาไปให้นักเรียนอ่านวันละชิ้นในชั่วโมงที่มีการรวมตัวของนักเรียนทั้งโรงเรียน แปลว่าทุกวันเขาได้ฟังบทกวีไม่ซ้ำรูปแบบกัน เข้าใจหรือไม่เอาไว้ก่อน แต่ได้มีพื้นฐานการฟังแล้ว  วิธีนี้ดี ผมอาจลองทำแบบนั้นดูบ้างก็ได้ คัดเลือกบทกวีไทยสักชุด บทกวีแปลสักชุด ทำไว้ให้คนมาดาวน์โหลด แบบนี้น่าจะสร้างการรับรู้กวีนิพนธ์ที่มากกว่าการอ่านหนังสือทั้งเล่มด้วยซ้ำ  ส่วนเรื่องบทกวีแบบไร้ฉันทลักษณ์เป็นทางออกในการทำให้บทกวีแพร่หลายหรือไม่  จริงๆ บทกวีแบบนี้มีมานาน การที่ผมได้รางวัลก็ทำให้รู้สึกว่ามันอาจมีสิทธิ์ได้รับรางวัลระดับชาติ อย่างน้อยการเขียนกลอนเปล่าน่าจะถูกนำไปสอนในระบบการศึกษาบ้าง  ครูอาจจะมองว่านี่มันบทกวีอะไร เพราะมันไม่เคยโดนบรรจุในหลักสูตร ผมก็แค่หวังว่ามันอาจจุดประกายได้บ้าง และคงมีคนเขียนบทกวีได้มากกว่าเดิม

กฤช : นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ เราอาจต้องผลักบทกวีให้ไปปรากฏในพื้นที่อื่น  อาจทำแบบพระสงฆ์ที่ชอบเขียนพุทธภาษิตห้อยตามใต้ต้นไม้ในวัด  หรือตามอุทยานแห่งชาติ ตามที่ท่องเที่ยวสำคัญ เอาบทกวีสั้นๆ ติดไว้ได้ไหม ให้คนอ่านแล้วงง อึ้ง  มันอาจอยู่บนป้ายโฆษณา คำขวัญประจำจังหวัดที่เชยเป็นบ้าเอามาทำให้มันเท่ขึ้น หรืออย่างจัดงานอ่าน-ฟัง บทกวี บ้าพอไหมที่จะไปอ่านบทกวีบนรถไฟฟ้า ตามแหล่งเสื่อมโทรม ในสถานบันเทิง ตลาดสด หรือหน้าองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กร  ผมเคยได้ยินว่ามีคนคิดจะรื้อฟื้นการท่องบทอาขยานในโรงเรียน นั่นก็ดี ทำให้เรามีน้ำเสียงของบทกวีฝังอยู่ในใจตั้งแต่เด็ก แต่ต้องขยายกรอบความคิดต่อว่าการท่องแบบดั้งเดิมนั้นมันมีมานานแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนบ้าง  ปัจจุบันไม่ได้มีแค่วรรณคดีโบราณ มันมีกลอนเปล่า มีอะไรมากมาย เอาบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์มาใช้ได้ไหม หรือครูจะใจกล้าพอไหมที่จะให้เด็กๆ แต่งเองท่องเองเลย เพื่อปลดปล่อยเขาออกจากกรอบของโรงเรียน  ลองคิดดูว่าคุณครูจะดีใจหรือเสียใจ ถ้าเด็กชั้นประถมสักคนเขียนบทกวีประมาณว่า

…ครูของหนูน่ารัก

เมื่ออยู่
ที่บ้านพักครู…

zakariya04สังคมไทยควรมี “โรงเรียนกวี” หรือมีการสอนวิชา “กวีวิทยา” หรือไม่
ซะการีย์ยา : ควร เพราะที่อื่นมีมานาน  บ้านเราก็มีความพยายามแต่ดูเหมือนทำได้ไม่เต็มที่ ถ้าทำได้ผมถือเป็นการให้ความรู้ เพราะกวีก็ต้องหาความรู้ ใครสักคนที่อยากเขียนบทกวีมารับตรงนี้แล้วจะได้ไปหาวิธีของตัวเอง ปัจจุบันต้องหาเองตั้งแต่ต้นซึ่งวิธีแบบนี้ดูไม่เจริญเท่าไร ประเทศที่เจริญแล้วเขามีต้นแบบให้ดูพอสมควร มีหนังสือบอกว่าจะเขียนบทกวีอย่างไร โดยเอาประสบการณ์จากกวีหลายคนเป็นบทเรียน  กวีวิทยาของเขาเกิดจากประสบการณ์ของกวีแต่ละคนที่ถูกรวบรวมเป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์ของกวีได้รับการยอมรับ  เขาอาจเชิญกวีที่ไม่ได้จบปริญญา แต่ชัดเจนในรูปแบบไปบรรยาย คือมันเกิดการเรียนการสอนขึ้นจากจุดนี้ มีวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ บางคณะวิชามีสาขากวีนิพนธ์  ในเมืองไทยกวีแต่ละคนแตกต่างกันมหาศาลและใช้เวลาหลายสิบปีในการค้นหาแนวทางของตัวเอง  คิดว่าองค์ความรู้เราไม่ด้อยกว่าต่างประเทศ แต่ตอนนี้กระจัดกระจาย ถ้ามีการรวบรวมน่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ดีระดับหนึ่ง  สังคมไทยถ้าเด็กหรือใครสักคนจะมองหาต้นแบบเรื่องกวีก็นึกถึงแต่สุนทรภู่ แน่นอนนี่เป็นกวีวิทยาแรกๆ ของเรา แต่ตอนนี้มันมีแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย กระทั่งการแต่งบทกวีด้วยฉันทลักษณ์ใหม่ๆ ที่กวีรุ่นใหม่สร้างขึ้น  ผมเสียดายว่ามันถูกใช้อย่างจำกัดในบทกวีของเขา และสุดท้ายจะตายไปกับเขาเพราะเขาไม่มีชื่อเสียงมากพอจะมีโอกาสอธิบาย บรรยาย และถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง

กฤช : น่าสนใจว่าจะคิดกับประเด็นนี้อย่างไร ศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าสังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ มันมีทฤษฎี องค์ความรู้ กระบวนการวิจัย แล้วกวีนิพนธ์ล่ะมีหรือไม่ มีวิธีลับเฉพาะอะไรไหมที่กวีแต่ละคนใช้เป็นแนวทางสร้างตัวบทขึ้นมา  เท่าที่ผมทราบ โลกกวีนิพนธ์ไทยไม่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ คือสอนเน้นแต่เรื่องรูปแบบ ผมคิดว่า ณ เวลานี้ หนึ่ง กวีไทยเริ่มมีปัญหาเชิงเทคนิค ในช่วงหลังๆ ศิลปะแขนงอื่น อย่างนิยาย เพลง เรื่องสั้น หรือแม้แต่ข่าวประจำวัน เอา “คำกวี” ไปใช้ซ้ำๆ จนหมดพลัง  คำทำนอง “แผ่นดินทอง” สมัยก่อนมีพลัง ตอนนี้ช้ำหมด ความอับจนถ้อยคำของกวีมากขึ้น  กวีต้องคิดหนักในการเล่นกับภาษา ต้องสร้างสัญลักษณ์ใหม่ๆ แทนสิ่งที่จะสื่อถึงให้มากกว่านี้  สอง สมมุตินักรัฐศาสตร์บอกว่าต้นทุนของศาสตร์เขาคือตำราดีๆ คำพูดอาจารย์ที่อ้างอิงได้ แล้วต้นทุนของกวีวิทยาคืออะไร บทกวีดีๆ มากมายในโลกไม่ได้แต่งโดยพลการ มันคืองานที่คิดมาอย่างดี ดังนั้นการอ่านให้มากจะทำให้ความเป็นกวีในตัวมากขึ้น  ตอนนั้นคุณอาจอธิบายเรื่อง อองซาน ซูจี ได้มากกว่าเล่าในทำนองประวัติศาสตร์บุคคล อาจเปรียบเธอเป็นสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง ซึ่งถ้าไม่สั่งสมด้วยการอ่านกวีนิพนธ์มากพอก็รังแต่จะต้องหยิบยืมวิธีของศาสตร์อื่นมาเล่าแล้วยัดฉันทลักษณ์ลงไป ตอนนี้เราอับจนขนาดที่ว่าไม่สามารถอธิบายเรื่องเรื่องหนึ่งด้วยวิธีคิดแบบกวีได้  สาม ต้องหาจังหวะและวิธีเขียนของตัวเองให้เจอ  สมัยก่อนคุณต้องหาว่าคุณถนัดโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือกลอน แต่สมัยนี้มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์และอื่นๆ อีกมาก คุณต้องหาแนวทางของคุณให้เจอ แล้วฝึกให้เชี่ยวชาญ

มีบางตอนในตัวบท “ตราบาป” ของกวีไทยรุ่นใหม่อย่าง มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ที่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการคิดและแสดงออกด้วยวิธีแบบกวีวิทยา

…ใครกันนะ ปลูกตะบองเพชรไว้ที่บ้านของเรา
มันเติบโตขึ้นในหัวอกของผม
เป็นทะเลทรายแห้งแล้งและอ้างว้างและหัวดื้อและยังตายยาก
แม่ครับ, ทำไมผนังบ้านของเรามีแต่รอยขีดข่วน
เหมือนเงาหนามแหลมตะบองเพชร
ร้าวลึก, เหมือนเปลือกโลกปริแตก…

ในสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ กวีควรจะมีวิธีผลิตงานอย่างไรและสร้างตัวบทแบบไหน และบทกวียังคงมีพลังหรือไม่ในสังคมไทย
ซะการีย์ยา : ถ้าต้องเขียนผมจะรอให้ตัวเองนิ่งก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร และพยายามเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน  การเมืองลื่นไหลมาก เปลี่ยนคำพูดทุกวัน  ถ้าแต่งบทกวีโดยสรุปว่านักการเมืองเลวนี่เป็นวิธีที่รวบรัดเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก  แต่วันนี้การเมืองไทยซับซ้อนขึ้น ไม่ได้มีแค่นักการเมือง มีสีขาวกับสีดำชัดเจน ต้องพิจารณาจุดยืนของตนว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ไหน มองอย่างไร ไม่รีบแต่งออกมาในทีเดียวนอกจากจะสั่งสมและพร้อมจะกลั่นมันออกมาอย่างมั่นใจ  แน่นอนตัวกวีต้องสื่อให้คนตระหนักเรื่องการเมืองในแบบที่รู้สึก และย่อมนึกออกว่าจะสื่อสารกับใคร  โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยคำนึงถึงคนฟัง คิดเรื่องที่อยากสื่อสารออกไปมากกว่า  อีกอย่าง ผมไม่ตั้งใจเขียนบทกวีการเมืองอย่างเจาะจง ถ้ามีมันก็จะออกมาจากความไม่ตั้งใจ เพราะถ้าผมตั้งใจมันจะแข็งและไม่เป็นธรรมชาติ

กฤช : อาจารย์เจตนา นาควัชระ เคยบอกว่า บางครั้งกวีต้องรอจนความสงบนิ่งกลับคืนมา  ถ้าคุณเป็นชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเขตสงคราม หมู่บ้านโดนเครื่องบินอิสราเอลทิ้งระเบิดใส่ คนตายจำนวนมาก แต่งบทกวีตอนนั้นไม่มีทางหนีอารมณ์คั่งแค้นได้  คำถามคือตัวบทแบบนั้นทำงานอย่างไร สะสมความแค้น เป็นปฏิปักษ์อย่างต่อเนื่องกับรัฐอิสราเอลเท่านั้นใช่หรือไม่  แน่นอน เพื่อนคุณโดนฆ่าก็ไม่แปลกที่จะตอบโต้ แต่รอสักเดือนอาจเห็นชัดว่านอกจากทิ่มแทงอีกฝ่ายด้วยความรุนแรงของคำกวี คุณจะใช้บทกวีอธิบายการระเบิดอย่างไร ความโกรธลดลง แง่มุมบางอย่างจะเพิ่มขึ้น จะมีบางอย่างให้พิจารณา  อีกอย่างคุณต้องรู้ด้วยว่าคนอ่านคือใคร ต้องการบอกอะไร  เรื่องรักคงไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้ากวีบทนั้นพูดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่า เช่น ระบอบการปกครอง การกดขี่ทางชนชั้น ต้องคิดเยอะว่าทำอย่างไร ตัวบทจะมีพลังจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  จะเอาแต่อารมณ์ ง่ายเข้าว่าหรือคิดน้อยไม่ได้  ถ้าใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ตัวบทอาจไม่ทำหน้าที่ที่ต้องการ ไม่พาไปสู่ความได้เปรียบ  คุณต้องตระหนักถึงอำนาจของถ้อยคำ ไม่ใช่เอาแต่ความดุดันวิ่งชนศัตรูที่นั่งอยู่ในรถถัง  มีวิธีที่คุณต้องหาให้เจอ ยกเว้นคุณจะไม่ต้องการผลของมันเลย

บางทีกวีนิพนธ์อาจไม่สำคัญอย่างที่เราให้คุณค่าใหญ่โต ก็แค่งานศิลปะชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เขียนเสร็จโลกเปลี่ยนเป็นแบบที่ต้องการ มันต้องเสริมกับอย่างอื่น  ถ้าอยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คุณต้องทบทวนเครื่องมือที่ใช้ว่าผิดประเภทไหม อาจมีวิธีอื่นที่ได้ผล ตรงสู่ปัญหามากกว่า คนส่วนมากเห็นพ้อง คือหาพวกได้มากกว่าโดยที่ไม่ต้องด่าใครรุนแรง  ตัวอย่างง่ายๆ จิตร ภูมิศักดิ์ เรียนอักษรศาสตร์ที่จุฬาฯ มีพื้นฐานภาษาทั้งไทย จีน เขมร บาลี สันสกฤต มีฝีมือเท่าบูรพกวีสยามทุกคนในอดีต แต่หลังถูกโยนบกและตระหนักถึงการกดขี่ทางชนชั้น เขาเปลี่ยนไปเขียนบทกวีเพื่อมวลชนโดยใช้แนวทางชัดเจน รุนแรง ตรงประเด็น ไม่มีสุนทรียศาสตร์แบบเดิมอีกต่อไป  จิตรคิดว่าวิธีนี้เท่านั้นที่จะตีแผ่ความทุกข์ผู้คน  ถามว่าได้ผลไหม ก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้เวลาล่วงเลยมาครึ่งศตวรรษ พวกเราที่สืบทอดอุดมการณ์ของจิตรมีวิธีอื่นในการประพันธ์ตัวบทหรือไม่ ลองเขียนบทกวีเพื่อมวลชนด้วยวิธีหรือรูปแบบอื่นนอกจากแนวเดิมซึ่งเป็นแนวเดียวกันหมดได้ไหม

ซะการีย์ยา : เราต้องหาความรู้ให้มาก จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะภาวะนี้เท่านั้น กวีหรือนักเขียนมีหน้าที่ต้องแสวงหาความรู้ให้มากอยู่แล้ว  พูดหยาบๆ ถ้าอยากทำคุณูปการให้สังคม ส่งผ่านความรู้ผ่านงานเขียน ต้องคิดมากกว่าคนอ่าน อย่าตามหลังคนอ่าน และไม่ใช่การอวดภูมิ ถ้ามีองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น บทกวีของคุณอาจจะช่วยต่อยอดหรือชี้ทางได้บ้าง  ตอนนี้ผมยังรู้สึกไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากพอ คนอื่นอาจมองว่าไม่เห็นซับซ้อน การต่อสู้ทางการเมืองตอนนี้เป็นเรื่องชนชั้น การกดขี่ แต่ผมรู้สึกว่ามีอะไรมากกว่านั้น  เวลาผมอ่านบทกวีการเมืองไทยผมเบื่อ เพราะสื่อสารชัดเกินไป  บทกวีจำนวนมากใส่แต่ Manifesto (คำประกาศทางการเมือง) ไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่  มนุษย์เราไม่ได้ต้องการแต่คำประกาศทางการเมืองอย่างเดียว ต้องมีสุนทรียศาสตร์บ้าง  บทกวีต่างประเทศเขาแต่งเพื่อจุดหมายทางการเมืองเช่นกัน แต่เขาไม่ทิ้งลักษณะของกวีนิพนธ์ ถ้าทิ้งบทกวีจะแห้งแล้ง น่าจะมีการดึงตรงนี้มาเสริม  ผมเชื่อว่าจะทำให้เข้าถึงมวลชนได้ เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์อย่าลืมว่าชาวนาก็โรแมนติกไม่ต่างกับคนเมือง เขามีวัฒนธรรม ย่อมรับรู้มันได้  ถ้ามีสุนทรียศาสตร์ บทกวีจะโน้มน้าวคนอ่านได้มากขึ้น  ลองดูบางส่วนของบทกวีการเมืองขนาดยาว ชื่อบท “ประชาชน” ของ ปาโบล เนรูดา กวีชิลี

เขาท่องเที่ยวไป ไม่ใช่บนหลังม้าหรือเกวียน
แต่ด้วยเท้าตลอดมา
เขาย่นระยะทางไกลแสนไกลลง
ไม่มีดาบหรืออาวุธใด
เพียงแต่แหอยู่บนไหล่
ขวานหรือฆ้อนหรือเสียม
เขาไม่เคยต่อสู้กับพวกเดียวกัน—
เขาต่อสู้แต่กับน้ำหรือกับแผ่นดิน
กับข้าวสาลี เพื่อที่มันจะได้กลายเป็นขนมปัง,
กับพฤกษาเงื้อมตระหง่าน, เพื่อจะได้เปิดประตูภายใน,
กับทราย, เพื่อที่จะได้ก่อรูปขึ้นเป็นกำแพง,
แล้วก็ต่อสู้กับทะเล, เพื่อให้มันได้ผลิดอกออกผล

สงครามทำลายประตูและกำแพง
นครกลายเป็นเถ้าธุลีหยิบมือหนึ่ง
ผองอาภรณ์แหลกสลายลงเป็นฝุ่น
แม้กระนั้น เพื่อฉัน เขายังมีชีวิตอยู่
เขารอดอยู่ในทราย

กฤช : พูดถึง “พลัง” ก็ต้องให้ชัดว่าหมายถึงพลังอะไร  พลังที่ปลุกเร้าอารมณ์ให้ดุเดือดไปในทางเดียวกัน ?  หรือพลังที่ฉุกคิดให้ตั้งคำถามกับแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ทำอยู่ ? พลังอย่างแรกสร้างไม่ยาก แน่นอนจำเป็นต้องมีพลังนี้ในการชุมนุม แต่ต้องมีขอบเขต อย่าพยายามสร้างความเป็นอื่นให้เกิดกับคนที่เห็นต่างจนเลยเถิดเป็นความเกลียดชังที่ไร้เหตุผล  ส่วนพลังอย่างที่สอง จากประสบการณ์ของผมคงเกิดขึ้นยากมาก ในเงื่อนไขการเมืองปัจจุบันที่ไม่ว่ารัฐบาลหรือกลุ่มพลังต่างๆ สร้างเงื่อนไขความรุนแรงต่อกันไม่หยุดหย่อน เวลานี้บทกวีการเมืองแต่ละบททำงานได้ผลเฉพาะในกลุ่มของตน ยังไม่มีงานกวีนิพนธ์ดีๆ ที่มีพลังกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจคนอื่นหรือฝ่ายอื่นได้เลย

“ผิดหวัง” อะไรกับวงการกวีนิพนธ์ไทย
ซะการีย์ยา : บางครั้งคนในวงวรรณกรรมชอบถามว่าทำไมคนไม่อ่านบทกวี  ผมคิดว่าต้องตั้งคำถามกลับให้ยุติธรรมว่า แล้วกวีคิดและเขียนอะไรอยู่  คนอ่านเขาสนใจอ่านอย่างอื่นหรือเปล่า  ต้องถามตัวเองด้วยว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าพอไหม น่าสนใจหรือไม่  การอ่านนิยาย การ์ตูนญี่ปุ่น เกาหลี อาจเท่กว่าสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยสมัยนี้  ผมคิดว่าเราต้องค้นหาผู้อ่านในยุคสมัยของเราเอง ไม่ได้แปลว่ากวีต้องพล่านวิ่งเพื่อตามกระแสนิยมของผู้คนจนเสียจริตตัวตนไป แต่หมายถึงความร่วมสมัยทางภาษาและความคิด  หากจะล้ำอวองการ์ดไม่ว่ากัน แต่มิควรล้าหลังลุ่มหลงแต่ความวิลิศมาหราของภาษาถ่ายเดียว  หากบทกวีจะงดงามและวิจิตรตระการ เนื้อสารต้องมีพลังทางปัญญากอปรด้วย มิฉะนั้นแล้วบทกวีจะเหลือแต่โครงสร้างและความงามอ่อนช้อยละเมียดละไมทางภาษา แต่ปราศจากความคิด !

กฤช : ในวงการกวีนิพนธ์ไทยมีความหลากหลายเรื่องแนวทางการประพันธ์ตัวบทน้อยมาก ใช้ฉันทลักษณ์ก็ใช้อยู่ไม่กี่แบบ ทั้งที่มีเป็นร้อยแบบ  แถมใช้ตามขนบเป๊ะ ไม่มีการพัฒนาหรือพลิกแพลง  ยกตัวอย่างง่ายๆ ฉันทลักษณ์จะเคร่งครัดเรื่องคำสัมผัส ถ้าซ้ำถือว่าผิดร้ายทีเดียว แต่ทำไมล่ะ ทำไมเราจะซ้ำคำเดิมไม่ได้  อาจผิดเรื่องสัมผัส แต่ตัวสารอาจทำงานได้อีกแบบ เช่นบทนี้

…อยากเคร่งครัด    ปฏิบัติตน
อยากหลุดพ้น              จาก “ตัวกู”
อยากล่วงไป                จาก “ของกู”
อันเคยมีฯ

คำว่า “กู” ในวรรครับและวรรครองนั้นเป็นสัมผัสซ้ำ พอซ้ำเราจะสะดุด และเกิดคำถามว่าคนเขียนมันจะซ้ำทำไม  เป็นไปได้ไหมว่ากรณีนี้กวีตั้งคำถามย้ำไปอีกชั้นหนึ่งถึงหลักคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส ว่า “ตัวกู” นี่มันใช่ “ของกู” หรือเปล่า  ถ้าใช่ ก็แปลว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นคำคำเดียวกัน ก็ถือว่าสัมผัสซ้ำ แต่ถ้าตัวกูไม่ใช่ของกูล่ะ มันก็เป็นคนละคำกันใช่ไหม ก็แปลว่าบทนี้ไม่มีสัมผัสซ้ำ  คุณอาจหาว่านี่เป็นการเล่นลิ้นก็ได้ แต่ลองคิดอะไรแปลกๆ บ้างไม่ดีกว่าหรือ ก็แค่บิดนิดเดียวให้บทกวีทำงานได้มากขึ้น

อีกอย่างคือบทกวีไทยมีแต่แนวสัจนิยม เล่าเรื่องตามปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ แทบไม่มีอะไรมากกว่านั้น ทำให้เราไปไม่ได้ไกลเรื่องการอธิบายอะไรสักอย่าง  สมมุติพูดเรื่องความยากจน เราจะเขียนด้วยวิธีแบบโพสต์โมเดิร์นได้ไหม ซึ่งก็ยังไม่มีใครลอง หรือทำไมไม่เขียนตัวบทแบบเหนือจริง (Surrealism) บ้างล่ะ เราโดนโปรแกรมว่าบทกวีต้องเป็นแบบนี้ๆ เท่านั้น

สุดท้าย กวีรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยติดกับครูอาจารย์ที่ตัวเองศรัทธานานเกินไป ทุกคนต้องการไอดอล อยากเขียนให้ได้แบบคนคนนั้น ผมก็เคยเป็น แต่ถึงจุดหนึ่งต้องข้ามไปให้พ้น ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นแค่เขาอีกคน ไม่สามารถเป็นตัวเองได้  คุณจะโดนแช่แข็ง เพราะยังไงก็ไม่มีทางดังเท่าเขา คุณชอบหรือ ถ้าไม่อึดอัดก็แล้วไป  อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เคยบอกว่า ในตะวันตก นักเขียนและกวีกังวลมากว่าจะไปให้พ้นครูบาอาจารย์ได้อย่างไร แต่คนไทยตรงข้าม เราเกาะแนวทางอาจารย์แน่นจนไม่กล้ากระโดดไปหาสิ่งใหม่ๆ  กรอบความคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวทางการสร้างสรรค์ตัวบทกวีนิพนธ์บ้านเรามีทางเลือกไม่มากนัก