งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 80 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2008 แม้ผู้ชนะส่วนใหญ่จะเป็นตามความคาดหมายของสื่อ และนักดูหนัง แต่ในสาขาหนังสารคดีแล้ว ผู้ชนะอย่าง Taxi to The Dark Side ถือว่าพลิกโผไปไม่น้อย เนื่องจากตัวเก็งคือ No End in Sight สารคดีที่ตีแผ่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิรักในทุกด้าน ของ ชาร์ลส เฟอร์กูสัน และ Sicko สารคดีของผู้กำกับจอมแฉ ไมเคิล มัวร์ ที่เล่นประเด็นปัญหาการประกันสุขภาพในประเทศ

หนังเป็นผลงานการกำกับของ อเล็กซ์ กิ๊บนี่ย์ อดีตคนทำสารคดีที่เคยเข้าชิงออสการ์สารคดียอดเยี่ยมมาแล้วเมื่อปี 2005 ที่ว่าด้วยการเจาะลึกคดีประวัติศาสตร์การล้มละลายของบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เอนรอน ใน “Independent Lens” Enron: The Smartest Guys in the Room เขาคร่ำหวอดในวงการสารคดีกว่า 20 ปี เคยเขียนบทให้กับสารคดีดังอย่าง The Trials of Henry Kissinger(2002) และยังเป็นคนหาทุนให้กับสารคดีเรื่อง No End in Sight อีกด้วย

ในงานล่าสุดแม้จะยังเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มสารคดีที่โจมตีการบริหารงาน ประธานาธิบดีบุชที่ผลิตมามากมาย แต่ประเด็นที่ผู้สร้างเน้นคือการทรมาน และทำร้ายนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมจากอิรัก และอัฟกานิสถาน หนึ่งในนั้นคือ ดิลาวาร์ คนขับแท็กซี่ชาวอัฟกัน ซึ่งถูกกล่าวหาจากกองทัพว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ก่อนจะถูกกระทำจากกองทัพสหรัฐฯ จนเสียชีวิตเมื่อปี 2002 ณ ฐานทัพทางอากาศเมืองแบกแรม …เรื่องราวของเขาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาความจริงของกรณีที่ คล้ายคลึงกัน และกลายเป็นชื่อของหนังในที่สุด

ในสารคดียังให้เห็นภาพการทรมานนักโทษในเรือนจำอาบูกราอิบอย่างน่าสยอด สยองโดยไม่มีการเซนเซอร์ กิ๊บนีย์ออกสัมภาษณ์บุคคลในการทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนที่มันจะค่อยๆ ขยายผลไปสู่ภาพข่าวของ ดิ๊ค เชนี่ย์ รองประธานาธิบดี และ โดนัลด์ รัมเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงคนที่อยู่ระดับเบื้องบนอย่าง จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช

จุดเริ่มต้นนั้นมาจาก ดอน กลาสคอฟ โปรดิวเซอร์ซึ่งร่วมงานกับ กิ๊บนี่ย์ ตั้งแต่งานก่อนบ่นถึงการบริหารประเทศของบุช ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น รวมไปถึงการกักขัง และทารุณอย่างผิดกฎหมายจนทำให้เขาคิดจะทำหนังเกี่ยวกับประเด็นหลัง และหลังจากได้พบ ซิด บลูเมนธัล อดีตนักการทูต และนักเศรษฐศาสตร์ ร๊อบ จอห์นสัน ซึ่งตั้งคำถามเดียวกัน ทำให้เริ่มคิดอย่างจริงจังในการสร้างสารคดีขึ้นมาแม้ตอนนั้นเขายังพบว่ามัน ยากที่จะนำเสนอก็ตาม

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เขาสนใจทำประเด็นมืดหม่นนี้มาจากบทความของ ทิม โกลเด้น ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ค ไทมส์ ที่บันทึกแล้วพบว่าจากการไต่สวน ดิลาวาร์ เป็นเวลา 3 ในทั้งหมด 5 วันนั้นมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าคนขับแท็กซี่รายนี้เป็นผู้บริสุทธิ์จริง แต่อีก 2 วันที่เหลือผู้คมก็ทรมานเขาจนตาย และอีกปัจจัยสำคัญคือ “นี่เป็นคดีฆาตกรรมปริศนา มันพาเราไปพบกับกระบวนการทารุณกรรมที่ต่างออกไป คนที่ไต่สวนของเขาถูกส่งไปอาบูกราอิบ, ผู้โดยสารที่นั่งแท็กซี่ของดิลาวาร์ถูกส่งไปกวนตานาโม และเรื่องราวทั้งหมดพาเราค้นลึกไปถึงทำเนียบขาว”

สิ่งที่น่าตกใจไม่น้อยคือการแสดงความคิดเห็นของทหารที่เคยให้สัมภาษณ์ ครั้งแรกต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และแสดงออกมาอย่างไม่กลัวใคร หลายภาพที่ปรากฎได้รับความร่วมมือจากทหารเหล่านี้ “ผมแปลกใจกับคำพูดของพวกเขาเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจได้นะ พวกเขาถูกหลอกหลอนกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า และอยากจะหาทางระบาย หลายสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความรู้สึกให้พวกเขาตกเป็นแพะรับบาป”

บังเอิญเช่นกันที่พ่อของ อเล็กซ์ กิ๊บนี่ย์ นั้น อดีตคือผู้ไต่สวนทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหดเช่นกัน อย่างไรก็ตามเขาอ้างว่าพ่อของตนไม่เคยเห็นด้วย และไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำรุนแรงดังกล่าว มิหนำซ้ำยังเกลียดนโยบายของบุชอย่างมาก ในท้ายเรื่องของสารคดีพ่อของเขายังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่าง เกรี้ยวกราด(ปัจจุบันพ่อของเขาได้เสียชีวิตแล้ว)

อย่างไรก็ตามข่าวที่ดูจะดังกว่าตัวสารคดีเสียอีกคงไม่พ้นการที่โปสเตอร์ ที่ทางค่าย ThinkFilm ใช้ประชาสัมพันธ์ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสมาคมธุรกิจภาพยนต์ของสหรัฐ หรือ MPAA เช่นเดียวกับโปสเตอร์ของ Hostel Part II หรือ Captivity โดย MPAA อ้างว่าโปสเตอร์ดังกล่าวจะโฆษณาเผยแพร่กับผู้ชมทุกวัย ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมมันจะไม่ผ่านการพิจารณา และภาพโปสเตอร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักโทษที่ถูกคลุมหัว แสดงให้เห็นถึงการถูกทรมาน

แต่หลายคนก็ไม่แปลกใจเพราะเมื่อปีก่อน MPAA ก็เคยแบนโปสเตอร์หนังเรื่อง The Road to Guantanamo ผลงานของผู้กำกับ ไมเคิล วินเทอร์บอททอม ที่อ้างอิงกรณีการถูกทำร้ายของนักโทษการเมืองจากตะวันออกกลางในเรือนจำกวนตา นาโม แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นการเมืองที่แฝงในสมาคมที่กลั่นแกล้งหนังที่ โจมตีการบริหารประเทศของประธานาธิบดีบุชนั่นเอง

ความสนใจในภาพโปสเตอร์อีกประการ คือเป็นการนำภาพจริงมาใช้ มันถูกถ่ายโดย คอร์บิส ชอน ชวาร์ซ ซึ่งภาพเดิมเป็นทหาร กับ นักโทษอย่างละคน ก่อนจะถูกนำภาพทหารอีกคนมาเพิ่ม และใส่ธงชาติสหรัฐฯ เพื่อสื่อความหมาย แต่ก่อนหน้านี้มันเคยถูกยืดจากเจ้าหน้าที่ทหาร และลบออกจากตัวกล้อง ต่อมาชวาร์ซสามารถกู้ภาพนี้ได้จากในฮาร์ด ไดร์ฟ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการต่างๆ ในรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

เห็นได้ชัดว่าหลังจากเกี่ยวข้องกับสารคดีการเมืองมานาน กิ๊บนี่ย์คงอยากจะพักเรื่องเครียดๆ ด้วยการหันไปทำสารคดีเรื่องหน้าเกี่ยวกับ ฮันเตอร์ เอส.ธอมป์สัน ผู้เขียนนิยายเรื่องแทน Fear and Loathing in Las Vegas เขาสรุปสิ่งที่ได้ค้นพบจากการทำงานนี้ว่า

“มันทำให้ผมเชื่อว่าการทำทารุณกรรมนั้นลึกๆ แล้วเป็นเรื่องทุจริตในการบริหารประเทศ มันส่งผลดีทางการเมือง เพราะอนุญาตให้ผู้ไต่สวนได้ยินสิ่งที่เขาต้องการฟัง อนุญาตให้นักการเมืองชี้นำผู้ไต่สวนเหล่านั้นครอบงำจากแนวคิด, ความผิดพลาด และอาชญากรรม อยากจะได้หลักฐานยืนยันการโจมตีของอิรักเหรอ ? ก็จับคนกดน้ำจนกว่าจะยอมรับไง ”

“ผมไม่คิดว่านี่เป็นแผนที่ตั้งใจแต่แรกเริ่มนะ แต่หลังจาก เชนี่ย์, เดวิด แอดดิงตัน(ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรองประธานาธิบดี), และ จอห์น ยู(ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในรัฐบาลบุช) ยอมให้นโยบายนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง และพบช่องทางที่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจแต่นี่ความเห็นแก่ได้ทางการเมือง การข่มขู่นับเป็นความเลวร้ายที่สุดของกระบวนการนี้”

ไม่ว่าเราจะมีมุมมองต่างจากกิ๊บนี่ย์หรือไม่ แต่อย่างน้อยนี่คืออีกบทพิสูจน์ว่าโศกนาฏกรรมของคนตัวเล็กๆ สามารถโยงไยไปสู่การเมืองระดับมหภาคมากกว่าที่หลายคนจะนึกถึง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง