หนังสือบนแผง
หนอนแก้วหนอนนวล (p.angkoon@gmail.com)

318book

 

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต
รวมเรื่องสั้นโดย จักรพันธุ์ กังวาฬ
ลายแฝดสำนักพิมพ์, มี.ค. ๒๕๕๔
๓๒๐ หน้า  ๒๒๐ บาท

 

“คนเราเกิดมาทำไม…แค่กิน ขี้ ปี้ นอน ทำงานหาเงินงก ๆ แล้วก็ตายไป…บางคนว่าชีวิตเหมือนการเดินทาง…ฉิบหาย !  ข้าว่าชีวิตแม่งเป็นการเดินทางที่โคตรน่าเบื่อ แต่เอ็งต้องไปต่อไป เอ็งหยุดไม่ได้ทั้งที่เหนื่อยจนอ้วกจะแตกอยู่แล้ว เพราะหยุดเมื่อไหร่หมายถึงเอ็งตาย…”

 

(“เรื่องสั้นที่นักเขียนไม่รู้ตอนจบ”, น. ๑๔๘)


ว่ากันว่าชีวิตก็เหมือนการเดินทาง บางคนอาจถึงจุดหมายที่ตั้งเป้าไว้เร็วกว่าคนอื่นทั้งที่ออกสตาร์ตพร้อมกัน ขณะที่บางคนชั่วชีวิตนี้อาจไปไม่ถึงเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรทุกชีวิตล้วนต้องเดินไปตามหนทางของตนภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต ก็เช่นกัน อาจถือเป็นการเดินทางของ ๘ เรื่องสั้นที่มาประชุมกันอย่างลงตัว  ผลงานของนักเขียนสารคดีที่ใช้เวลากว่า ๕ ปีในการเก็บข้อมูล เกลาความคิด แต้มจินตนาการ ออกมาเป็นเรื่องสั้นที่เปี่ยมด้วยถ้อยภาษาเรียบง่าย เป็นกันเอง และเล่าเรื่องชนิดหักมุมอย่างตลกร้าย

“เราเขียนโดยใช้เหตุการณ์เป็นตัวดำเนินเรื่อง เราเป็นกล้องมองมัน เหตุการณ์ในเรื่องมาจากเหตุการณ์จริงที่ต่อเติมจินตนาการเข้าไป”จักรพันธุ์ กังวาฬ เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำกว่าจะออกมาเป็นรูปเล่มในมือผู้อ่านไว้ว่า วัตถุดิบที่หยิบมาเขียนล้วนมาจากอาชีพ หน้าที่การงาน และเกือบทั้งเล่มเป็นเรื่องของการเสพสื่อ

“เราเป็นคนทำสื่อ ประเด็นที่อยากสื่อกับคนอ่านคือสื่อมีอิทธิพลต่อสังคม เราพยายามจะบอกว่าเรื่องสั้น ข่าว สารคดี หรือเรื่องเล่าต่าง ๆ มันมีอิทธิพลต่อคน มันก่อรูปความคิดคน แล้วก็ครอบงำความคิดคน เราลำดับเรื่องจากสื่อที่เริ่มเข้ามากำกับความคิด สื่อก็มีหลายประเภท เราให้ ‘ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต’ อยู่ท้ายเล่มเพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีทั้งเสียง ภาพ เรื่องเล่า เพลง มันพีกสุดแล้ว มันมีผลกำกับความคิดคน มันหลอมรวม กลมกลืน สร้างตัวตนของคนได้”ในฐานะนักเขียนสารคดี จักรพันธุ์ชี้ความต่างระหว่างสารคดีกับเรื่องสั้นไว้ว่า งานสารคดีต้องเคารพความจริง แต่เรื่องสั้นอาจบิดผันให้รับใช้ประเด็นที่เราต้องการสื่อสาร

“เรื่องสั้นมันแปรรูปไปเป็นเรื่องแต่งแล้ว ยกตัวอย่างเช่นน้องคนหนึ่งไปเก็บข้อมูลเรื่องอาข่าที่ขายของอยู่ถนนข้าวสาร เช้าวันนั้นอาข่าคนนี้ถูกขโมยเงินไป ๘๐ บาท พอตกค่ำเขาก็ตามอาข่าไปขายของแล้วก็เห็นกับตาว่าอาข่าขายของไม่ได้เลย  ในความเป็นเรื่องแต่ง เรากำหนดได้ว่าอาข่าขายไม่ได้ก็ให้รู้สึกสิ้นหวัง ในอีกด้านหนึ่งถ้าเราสร้างเหตุการณ์ให้อาข่าขายของได้ ๘๐ บาทพอ ๆ กับเงินที่ถูกขโมยไป ก็อาจสื่อสารได้ว่าพระเจ้าให้รางวัลมาเพราะอาข่านับถือพระเจ้า  ขณะที่ความเป็นสารคดีเราต้องเขียนไปตามความจริง แต่เรื่องสั้นเราบิดผันได้ เพราะโดยตัวมันเองแปรรูปไปเป็นเรื่องแต่งแล้ว ต้องยอมรับในเงื่อนไขของความเป็นเรื่องแต่ง”

ถึงอย่างนั้นเขายอมรับว่าเรื่องแต่งที่มีคุณภาพจะต้องสะท้อนความจริงของ สังคมหรือชีวิต  “ถ้าไม่สะท้อนมันก็จะกลายเป็นเรื่องเหลวไหลเลื่อนเปื้อนไร้สาระ  ถึงแม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ต้องสะท้อนบางสิ่งบางอย่างที่คนในสังคมรู้สึกกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความเป็นปัจเจกชน เรื่องสังคม เรื่องสถานการณ์โลกปัจจุบัน” ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของเรื่องสั้น

นักเขียนสารคดีผู้นี้สั่งสมประสบการณ์จากการอ่านมาไม่น้อย  “เราอ่านเรื่องสั้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ  เรื่องสั้นในดวงใจคือเรื่อง ‘มีดประจำตัว’ ของ ชาติ กอบจิตติ, ‘เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก’ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์, คนบนต้นไม้ ของ นิคม รายยวา  เรื่องสั้นร่วมสมัยก็ชอบ ที่อื่น ของ กิตติพล สรัคคานนท์, ความเงียบของไลลา ของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ และ มัทรานี ของ ภูฉาน พันฉาย

“หนังสือทุกเล่มเป็นครูทางการเขียนของเรา  ทุกวันนี้อ่านหมดทั้งเรื่องสั้น นิยาย สารคดี ประวัติศาสตร์ หนังสือวิชาการ หนังสือพิมพ์  ส่วนใหญ่นักเขียนก็ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน”

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต เข้ารอบ ๗ เล่มซีไรต์ประจำปีนี้ แต่จักรพันธุ์บอกว่านี่ยังไม่ใช่มาสเตอร์พีซ  “คิดแค่ว่าอยากทำงานเขียนให้ดี ให้สนุก และร่วมสมัย มากกว่ามุ่งสู่ความเป็นอมตะ”

เขายังบอกอีกว่า “อยากให้คนอ่านมีอิสระในการอ่าน ไม่ต้องเชื่อนักวิจารณ์มากนัก” (แม้แต่หน้าคอลัมน์นี้ก็ตาม) และที่สำคัญ

“หน้านี้ไม่ใช่ advertorial นะครับ” : )