จาก คอลัมน์ คนกับหนังสือ
เฟย์
www.faylicity.com

mindseye01

Oliver Sacks,
The Mind’s Eye, Picador: 2010.
ISBN 978-0-330-50890-2
๒๖๐ หน้า ราคา £8.99(๓๕๑ บาท)

 

โอลิเวอร์ แซ็กส์ (Oliver Sacks) เป็นประสาทแพทย์และนักเขียนชื่อดัง ผลงานของเขาล้วนขายดี เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนไข้โดยเฉพาะกรณีพิเศษน่าทึ่งให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจง่าย เช่น “To See and Not See” เป็นเรื่องของชายตาบอดตั้งแต่เด็กที่ไปผ่าตัดดวงตาจนมองเห็นได้อีกครั้ง หลังจากตาบอดนานกว่า ๔๐ ปี  แต่เมื่อมองเห็น เขากลับไม่เข้าใจสิ่งที่เห็น โลกนี้กลายเป็นโลกน่ากลัวที่เขาไม่รู้จัก  หรือหนังสือ Awakenings (ซึ่งมีฉบับภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน) ที่เล่าเรื่องคนไข้โรคสมองอักเสบไม่พูดจาไม่รับรู้ใด ๆ มานานปี แต่ได้รับการรักษาจนกลับมารับรู้ได้อีกครั้ง  ผลงานล่าสุดของแซ็กส์คือ The Mind’s Eye เล่าเรื่องของผู้คนที่พบว่าจู่ ๆ วันหนึ่งตนอ่านไม่ออก มองไม่เห็น หรือพูดไม่ได้อีกต่อไป คนเหล่านี้ต้องพบเจออะไรและจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร

ในบท “Recalled to Life” แพ็ตเป็นคนไข้วัยเกือบ ๖๐ ปีที่เลือดออกในสมอง  หลังการผ่าตัด ร่างกายซีกขวาของแพ็ตเป็นอัมพาต แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือเธอพูดไม่ได้อีกต่อไป  แพ็ตมีภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) ซึ่งผู้ป่วยที่สมองถูกกระทบกระเทือน ๑ ใน ๓๐๐ คนจะมีภาวะนี้ถาวร  บางคนพูดได้แต่คำสั้น ๆ เช่น “ดี !” “แย่ !”  บางคนพูดได้เพียงประโยคเดียวซ้ำ ๆ เช่น “ขอบใจ แม่จ๋า” คนไข้บางส่วนยังคิดและรับรู้ได้ดีแม้จะแสดงออกมาไม่ได้

สกอตต์ มอสส์ นักจิตวิทยาที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองในวัย ๔๓ ปี เขียนเล่าประสบการณ์ว่า

“เช้าวันต่อมา ตอนผมตื่นขึ้นในโรงพยาบาล ผมเสียการสื่อความเต็มรูปแบบ ผมเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดกับผมได้ราง ๆ ถ้าเขาพูดช้า และเป็นเรื่องการกระทำที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม… สองเดือนแรกผมไม่สามารถใช้คำพูดจากข้างในหรือในความคิดได้ด้วยซ้ำ… ผมฝันไม่ได้  ช่วงสองเดือนนั้น ผมอยู่โดยปราศจากแนวคิดใด ๆ โดยสิ้นเชิง… ผมจัดการได้แต่นาทีปัจจุบันเท่านั้น… ส่วนที่หายไปของผมคือส่วนที่เป็นสติปัญญาความคิด… เป็นนานที่ผมดูถูกตัวเองว่าเป็นคนเพียงครึ่งคน”

ผู้ป่วยที่สื่อความไม่ได้มักจะอยู่โดดเดี่ยว แพ็ตโชคดีที่ได้หมอที่ใส่ใจ  หมอทำหนังสือรวมคำศัพท์ที่จัดเป็นหมวดหมู่ให้แพ็ตสื่อสารกับคนอื่นได้โดยเปิดคู่มือนี้และชี้คำที่เธอต้องการสื่อ

แพ็ตมีความสุข ชอบคุยโทรศัพท์กับหลาน ๆ แม้เธอจะได้แต่ฟัง  เชื่อกันว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะฟื้นตัวไม่ได้ถ้าไม่รีบฟื้นฟูภายใน ๑ ปีครึ่ง แต่ผู้เขียนพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยังพัฒนาต่อไปได้ แม้จะจำกัด เพราะสมองที่ไม่ถูกทำลายจะช่วยทำงานทดแทนสมองที่เสียหายได้ระดับหนึ่ง

บท “A Man of Letters” เล่าถึงนักเขียนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและพบว่าตัวเองอ่านหนังสือไม่ออกอีกเลย ตัวหนังสือต่าง ๆ กลายเป็นตัวอักษรแปลกประหลาดของภาษาอื่นที่เขาไม่เข้าใจ  นักเขียนผู้นี้อ่านป้ายตามถนนหนทางและร้านรวงไม่ออก ที่แปลกคือเขาเขียนหนังสือได้เป็นปรกติ เพียงแต่เมื่อเขียนแล้ว เขากลับมาอ่านสิ่งที่ตนเขียนไม่ได้และเห็นเพียงตัวอักษรประหลาดเรียงต่อกัน  เขาใจหายว่าจะเขียนหนังสือต่อไปได้อย่างไร หากไม่อาจอ่านสิ่งที่ตนเขียนและไม่อาจแก้ไขต้นฉบับ

วงการแพทย์บันทึกกรณีการเขียนได้แต่อ่านไม่ออกเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๘๗ เมื่อคนไข้โรคหลอดเลือดสมองคนหนึ่งอ่านแผ่นวัดสายตาได้ทั้งหมด แต่กลับไม่รู้จักตัวอักษรในนั้นสักตัวเดียว  เขาวาดสิ่งที่มองเห็นดังช่างเขียนแบบ และบอกว่าตัว Z เหมือนงู ตัว P เหมือนถัง  เขารู้ว่าสิ่งที่เห็นคือตัวอักษรแต่เขาเรียกมันไม่ถูก เขาคิดว่าตัวเองบ้าไปแล้ว

ผู้เขียนเล่าว่า ชาร์ลส์ สคริบเนอร์ จูเนียร์ ประธานสำนักพิมพ์สคริบเนอร์ ป่วยเป็นภาวะเสียการอ่านเมื่ออายุ ๖๐ เศษ  เขาหันมาฟังหนังสือเสียงแทน และพบว่าหนังสือเสียงทำให้ “อ่าน” เร็วขึ้น  หลังจากนั้นสคริบเนอร์เขียนหนังสือโดยวิธีพูดให้คนจดตามคำบอก เขาเขียนคอลัมน์กว่า ๘๐ ชิ้นและออกหนังสือ ๒ เรื่อง โดยไม่มีใครรู้ว่าเขาอ่านเขียนในรูปแบบใหม่ ยกเว้นแต่ครอบครัวและเพื่อนสนิท

การอ่านและการเขียนน่าจะเป็นของคู่กัน จึงน่าแปลกใจไม่น้อยที่เราจะเขียนได้อย่างเดียวแต่อ่านไม่ได้  เมื่อผู้ที่รู้ภาษาหลายภาษาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เขาอาจไม่รู้ภาษาหนึ่งไปเลยแต่ยังรู้ภาษาที่เหลือ คนหูหนวกแต่กำเนิดอาจไม่เข้าใจภาษามืออีกเลย หรือคนญี่ปุ่นที่ใช้ตัวอักษรคะนะ (ฮิรางานะและคาตากานะ) และคันจิ เมื่อเสียการอ่านแล้ว อาจอ่านได้แต่คะนะอย่างเดียว หรือคันจิอย่างเดียวเท่านั้น

บท “Sight Reading” เล่าถึงนักเปียโนที่พบว่าวันหนึ่งตัวเองอ่านโน้ตเพลงไม่ออก บทนี้ชวนให้ใจสลาย อาการของเธอหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเธอไม่รู้จักวัตถุที่มองเห็นอีกต่อไป  เธอบอกว่าดินสอ “จะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นไวโอลิน… หรือปากกา” เธอใช้ชีวิตโดยการจัดวางข้าวของให้อยู่ในตำแหน่งที่จดจำได้ เช่นจัดตามสี ขนาด รูปร่าง ความเกี่ยวข้อง “เหมือนคนไม่รู้หนังสือจัดหนังสือในห้องสมุด ทุกอย่างมีที่ทางของตัวเอง ซึ่งเธอจดจำสิ่งเหล่านี้”

บท “Face Blind” เล่าถึงอาการของผู้เขียนเอง ที่จดจำใบหน้าผู้คนไม่ได้โดยสิ้นเชิง ทั้งยังชอบหลงทาง
บ่อย ๆ จำบ้านตัวเองไม่ได้ ถ้าออกนอกเส้นทางเมื่อไรจะกลับบ้านไม่ถูก  ถ้าแซ็กส์เห็นหน้าคนรู้จักในสถานที่
อื่น เขาจะจดจำคนเหล่านั้นไม่ได้ แม้แต่จิตแพทย์ที่เห็นหน้าค่าตากันอาทิตย์ละ ๒ ครั้งมานานปี  แซ็กส์ยังจำไม่ได้ถ้าเจอจิตแพทย์ที่หน้าคลินิก (จะจำได้ต่อเมื่อจิตแพทย์นั่งในห้องเท่านั้น)  เขาจำไม่ได้กระทั่งใบหน้าตัวเองในกระจก และเคยขอโทษขอโพยเมื่อเดินชนกระจกที่สะท้อนเงาตัวเอง  ประชากรร้อยละ ๒ มีอาการเช่นนี้ บางคนร้ายแรงถึงขั้นจำหน้าลูกเมียไม่ได้ ผู้ที่มีปัญหานี้มักเป็นตลอดชีวิตโดยไม่ดีขึ้นและต้องหาวิธีจัดการชีวิตตนเอง  แซ็กส์บอกว่า

“ผมจำหมาของเพื่อนบ้านได้ดีกว่าเพื่อนบ้านมาก (จากรูปร่างและสีของพวกมัน) เวลาผมเจอหญิงสาวกับหมาโรดิเชียนริดจ์แบ็ก ผมรู้ว่าเธอพักอยู่ห้องติดกับผม  ถ้าผมเจอหญิงมีอายุกับหมาโกลเดนรีทรีฟเวอร์ที่เป็นมิตร ผมรู้ว่าเธอพักที่ถนนสายนี้  แต่ถ้าผมเดินผ่านผู้หญิงสองคนนี้โดยที่ไม่มีหมา พวกเธอจะกลายเป็นคนแปลกหน้าก็ว่าได้”

บท “Stereo Sue” เล่าถึงผู้หญิงที่ตาเหล่ตั้งแต่เด็ก เธอมองโลกด้วยตาเพียงข้างเดียว (โดยสลับข้างของดวงตาไปเรื่อย ๆ) ทำให้เธอมองเห็นเพียงภาพสองมิติ แต่การบำบัดทางการมองเห็นทำให้เธอเห็นภาพสามมิติได้ในวัย ๕๐ ปี ซึ่งเธอเล่าประสบการณ์นี้ว่าน่าอัศจรรย์เพียงไร  ปัจจุบันหมอจะผ่าตัดปรับดวงตาให้เด็กตาเหล่ก่อนอายุ ๒ ขวบ เพื่อให้เด็กมองเห็นภาพสามมิติได้ หากช้ากว่านั้นสมองจะปรับตัวจนทำให้มองภาพสามมิติไม่ได้อีก

แซ็กส์เคยได้ยินเรื่องของคนที่อยู่ในป่าฝนหนาทึบจนมองเห็นไกลได้ไม่เกิน ๒ เมตรครึ่ง หากคนเหล่านี้ออกจากป่า เขาอาจไม่เข้าใจภาพที่อยู่ไกล ๆ และพยายามยื่นมือไปแตะยอดภูเขาที่เห็นลิบ ๆ  หรือเมื่อเห็นควายกินหญ้าในหุบเขาเบื้องล่างไกล ๆ ก็อาจถามว่า “นั่นแมลงอะไร”

mindseye02 

นิวยอร์กไทมส์ เรียกขาน โอลิเวอร์ แซ็กส์ ว่า “กวีผู้ทรงเกียรติแห่งวงการแพทย์”
(ภาพ : Adam Scourfield)

mindseye03 

ผลงานควรอ่านของ โอลิเวอร์ แซ็กส์ มีเช่น The Man Who Mistook His Wife for a Hat และ An Antropologist On Mars

บท “Persistence of Vision” เล่าโรคร้ายที่เกิดขึ้นที่ตาข้างขวาของผู้เขียน ซึ่งเริ่มจากการเห็นจุดบอดพร่า เมื่อตรวจพบว่ามีเนื้อร้ายจึงต้องผ่าตัดและฉายรังสี  บันทึกส่วนตัวเรื่องนี้น่าสะเทือนใจไม่น้อย เมื่อวันหนึ่งผู้เป็นหมอตกอยู่ในฐานะคนไข้ แซ็กส์อุทิศหนังสือเล่มนี้แก่หมอที่รักษาดวงตา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศิษย์ของเขา

“การเป็นมะเร็งไม่ว่าชนิดใด เปลี่ยนสถานะในชีวิตของคนเราอย่างปัจจุบันทันด่วน การวินิจฉัยคือเส้นแบ่ง ซึ่งบอกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ในภายภาคหน้า–ไม่ว่าจะนานเพียงใด จะมีแต่การทดสอบ การรักษา การเฝ้าระวัง และความประหวั่นใจในเรื่องอนาคตไปตลอดกาล”

ช่วงที่ป่วย แซ็กส์ต้องซื้อหนังสือฉบับที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรใหญ่เป็นพิเศษมาอ่าน แต่พบว่ามีแต่หนังสือฮาวทูและนิยายโรมานซ์ให้เลือก  เขาบ่นว่า “ผมแทบไม่เจอหนังสือดี ๆ สักเล่มเดียวในบรรดาหนังสือตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดในแผนก เหมือนผู้บกพร่องทางการมองเห็นพลอยถูกจัดเป็นผู้บกพร่องด้านสติปัญญาไปด้วย” สุดท้ายแซ็กส์หันมาฟังหนังสือเสียงแทน โชคดีที่แซ็กส์อยู่ที่ประเทศอเมริกา ถ้าเป็นบ้านเรา เขาจะไม่เจอทั้งหนังสือตัวพิมพ์ใหญ่พิเศษและหนังสือเสียง

บทสุดท้ายเล่าถึงคนสายตาดีที่กลายเป็นคนตาบอด  แซ็กส์เล่าสั้น ๆ ถึง จอห์น มิลตัน ที่ตาบอดในวัย ๓๐ ปี แต่เขียนผลงานดีที่สุดเรื่อง Paradise Lost หลังจากตาบอดแล้ว ๑๒ ปี (บทกวีที่จับใจที่สุดบทหนึ่งของมิลตันคือ “On His Blindness”) หรือ ฆอร์เฆ ลูอิส บอร์เฆส ที่ดวงตาค่อย ๆ บอดในวัย ๓๐ จนบอดสนิทในวัย ๕๐ ปี, จอห์น ฮัลล์ ที่ตาบอดเมื่อเข้าวัยกลางคนเขียนบันทึกว่า

“สำหรับคนตาบอด ผู้คนจะปรากฏตัวต่อเมื่อพูด หลายครั้งที่ผมยังสนทนากับเพื่อนสายตาดี แต่แล้วมารู้ว่าเพื่อนไม่อยู่ที่นั่นแล้ว เขาอาจเดินจากไปโดยไม่บอกกล่าว อาจผงกหัวหรือยิ้มและคิดว่าการสนทนาจบลงแล้ว แต่สำหรับผม เขาหายตัวไปเฉย ๆ

“เมื่อเราตาบอด จะมีมือมาจับเราไว้ปุบปับ จะมีเสียงมาทักทายเรากะทันหัน โดยไม่มีการคาดเดาหรือเตรียมตัวล่วงหน้า… คนปรกติเลือกได้ว่าจะพูดกับใคร เมื่อเดินไปตามท้องถนนหรือตลาด ผู้คนจะปรากฏอยู่แล้วสำหรับเขา เป็นการปรากฏตัวก่อนที่เขาจะทักทายคนเหล่านั้น… สำหรับคนตาบอด ผู้คนเคลื่อนไหวอยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว มา ๆ ไป ๆ จู่ ๆ โผล่มาแล้วหายไป”

แซ็กส์เล่าเรื่องที่น่าสนใจ อีกทั้งทำให้เราอัศจรรย์ในการมีชีวิตอยู่ และทำให้เราอยากรู้อยากอ่านหนังสืออีกมากมายเต็มไปหมด

แซ็กส์เล่าถึงที่ทำงานของเขาว่า “โรงพยาบาลเบทอับราฮัมเปิดในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ ในชื่อ ‘บ้านเบท-อับราฮัมสำหรับผู้ป่วยรักษาไม่หาย’ ซึ่งเป็นชื่อน่าหดหู่ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนในทศวรรษ ๑๙๖๐ … คนที่มาเยี่ยม
ผู้ป่วยเรื้อรังที่โรงพยาบาลมักตระหนกเมื่อเห็นภาพคนไข้ ‘รักษาไม่หาย’ ร่วมร้อยคน ซึ่งจำนวนมากเป็นอัมพาต ตาบอด หรือพูดไม่ได้  สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวของเราคือ ชีวิตในสภาพเช่นนี้ควรค่าที่จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ คนเหล่านี้มีชีวิตเช่นไร  เราอาจสงสัยและหวั่นใจว่าจะทำอย่างไรหากเราพิการและต้องเข้ามาอยู่ในบ้านนี้เสียเอง”

แซ็กส์บอกเราว่าสมองของคนเราน่าทึ่งและจะปรับตัวเท่าที่ทำได้ คนเราปรับตัวและดำรงอยู่ต่อไป
จนได้ แม้ว่าจะด้วยหนทางใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นชิน  หนังสือเล่มนี้ทำให้เรามองโลกรอบตัวด้วยสายตาใหม่

ด้วยสายตาแห่งความหวัง