luangportuad03

เหยียบน้ำทะเลจืด และโละหายไปดินแดนอื่น

สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือที่ชาวถิ่นใต้เรียก พ่อท่านพะโคะ จำพรรษาที่วัดพะโคะจนมีอายุล่วง ๘๐ ปีไปแล้ว  วันหนึ่งขณะท่านเดินถือไม้เท้า ๓ คดอยู่แถวริมทะเล โจรสลัดจีนก็จับตัวท่านลงเรือไป

แต่ออกห่างฝั่งไปไม่ไกล เหตุอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เรือไปต่อไม่ได้ จะแก้ไขอย่างไรก็ยังหยุดนิ่งอยู่กับที่อย่างนั้น ผ่านไปหลายวันจนเสบียงและน้ำจืดในเรือหมด พวกโจรทรมานวุ่ยวายด้วยความกระหายน้ำ

แล้วตำนานการเหยียบน้ำทะเลจืดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

สมเด็จเจ้าพะโคะสำแดงอภินิหาร ยื่นเท้าออกไปเหยียบบนผิวน้ำทะเล แล้วบอกให้พวกโจรตักน้ำนั้นขึ้นมาชิม ก็ปรากฏว่าเป็นน้ำจืด

ประจักษ์ในอิทธิฤทธิ์เช่นนั้นพวกโจรสลัดจีนก็เกรงกลัว พากันกราบแทบเท้าขอขมา นำตัวท่านกลับมาส่งขึ้นฝั่ง  เรือก็ออกแล่นต่อไปได้

ระหว่างทางเดินกลับวัดท่านหยุดพักเหนื่อยที่โคนยางคู่ พิงไม้เท้า ๓ คดไว้โคนต้น กาลต่อมายางสองต้นนั้นก็เปลี่ยนรูป กิ่งก้านคดๆ งอๆ เหมือนไม้เท้าของท่าน  จนคนในถิ่นพากันเรียกว่าต้นยางไม้เท้า

ช่วงก่อนสมเด็จเจ้าฯ จะหายไปจากวัดพะโคะ  ตามประวัติศาสตร์ว่า พวกอุชงคตนะได้เข้าทำลายเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงเสียหายยับเยิน

และในคำเล่าของพระอุปัชฌาย์ดำ ดิษโร วัดศิลาลอย  สทิงพระ ที่ได้รับการบันทึกโดยพระครูวิริยานุรักษ์ ว่ามีสามเณรรูปหนึ่งที่เคร่งครัดปฏิบัติธรรมด้วยความเพียร ตั้งจิตอธิษฐานว่าก่อนชีวิตนี้จะสิ้นขอให้ได้เห็นพระศรีอริยโพธิสัตว์  จนคืนหนึ่งมีชายแก่มาประเคนดอกไม้ให้และบอกว่าเป็นดอกไม้ทิพย์จากสรวงสวรรค์ ไม่รู้จักร่วงโรย  เวลานี้พระโพธิสัตว์ได้มาจุติอยู่บนโลกมนุษย์แล้ว จงถือดอกไม้นี้ตามหาเถิด  ถ้าภิกษุรูปใดรู้จักกำเนิดดอกไม้ทิพย์ พระรูปนั้นแหละคือ องค์พระศรีอริยเจ้า

รุ่งเช้าสามเณรกราบลาเจ้าอาวาส ถือดอกไม้เดินทางออกจากวัด รอนแรมไปด้วยใจอันเปี่ยมศรัทธา แต่ก็ยังไม่มีใครรู้จักดอกไม้ทิพย์

จนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ สามเณรมาถึงวัดพะโคะขณะพระภิกษุกำลังลงมาทำสังฆกรรมในโบสถ์  สามเณรจึงถือดอกไม้ทิพย์คอยอยู่ จนพระภิกษุทั้งหลายทยอยเข้าโบสถ์หมด ก็ไม่มีพระรูปใดทักดอกไม้ทิพย์

สามเณรเข้าไปเรียนถามว่า วันนี้พระสงฆ์ทุกรูปมาลงอุโบสถแล้วหรือ

พระตอบว่า มีสมเด็จชรารูปหนึ่งยังไม่ลงมา

สามเณรจึงกราบลาพระ ตรงไปยังกุฏิสมเด็จเจ้าพะโคะ

ไปถึงก็เข้ากราบนมัสการตามวิสัย แล้วสงบนิ่งอยู่เบื้องหน้าสมเด็จพระราชมุนีฯ

ท่านเห็นดอกไม้ทิพย์ในมือสามเณรก็ถามว่า “นั่นดอกมณฑาทิพย์ ผู้ใดให้เจ้ามากระนั้นหรือ ?”

สามเณรรู้แจ้งว่าสมเด็จเจ้าพะโคะคือพระศรีอริยเจ้า ก็คลานเข้าไปกราบแทบเท้า และประเคนดอกไม้ทิพย์  ท่านรับดอกไม้แล้วนิ่งอยู่ชั่วครู่ก็กวักมือเรียกสามเณรเข้าไปในกุฏิปิดประตูลงกลอน  แล้ว “โละ” หายไปทั้งสมเด็จเจ้าฯ และสามเณรน้อย

เหลือไว้แต่ดวงแก้วที่พญางูคายไว้ให้ในเปลเมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งเจ้าอาวาสวัดพะโคะทุกรูปเก็บรักษาบูชาสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้  กับรอยเท้าซ้ายที่ท่านประทับบนแผ่นผาเมื่อคราวขึ้นไปทำสมาธิบำเพ็ญเพียรบนเขาพระบาท

ตามเรื่องเล่าในตำนานว่าในคืนเพ็ญที่สมเด็จเจ้าพะโคะโละหายไปจากวัดนั้น ชาวบ้านเห็นปรากฏการณ์ประหลาดบนท้องฟ้าเหนือวัดพะโคะ มีดวงไฟสัณฐานกลมเท่าผลส้ม เปล่งฉัพพรรณรังสีงดงามลอยเวียนคล้ายทำทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยเลื่อนลับหายไปทางอาคเนย์

รุ่งเช้าชาวบ้านมาชุมนุมพร้อมหน้ากันที่วัด ต่างก็สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพะโคะได้เข้าสู่นิพพานเสียแล้ว จึงพากันพนมมือท่วมหัวรำพึงว่า

“สมเด็จเจ้าพะโคะโละหายไปเสียแล้วเจ้าข้าเอย”

 

luangportuad04ท่านลังกา-ท่านช้างให้-หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่สมเด็จเจ้าพะโคะโละหายไปจากวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ปรากฏพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่เมืองไทรบุรี มาเลเซีย  เป็นที่เลื่อมใสของชาวมลายูในไทรบุรีซึ่งส่วนมากนับถือพุทธ  ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาของท่าน แต่อาจเพราะท่านมีผิวคล้ำ ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า ท่านลังกา องค์ท่านดำ

แต่ตามการสืบค้นของพระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร ว่า เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะโละหายไปจากวัดพะโคะแล้ว ได้ไปสร้างวัดโกระใน ที่ไทรบุรี

กิตติศัพท์ความปราดเปรื่องในทางธรรม การบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และมากด้วยอภินิหาร เลื่องลือไปถึงพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรีในเวลานั้น ซึ่งกำลังหาชัยภูมิเหมาะสมสร้างเมืองให้น้องสาวชื่อ เจ๊ะสิตี โดยใช้ช้างเสี่ยง

ช้างคู่บ้านคู่เมืองที่ถูกปล่อยออกเดินป่าไปหยุด ณ ที่หนึ่ง  พระยาแก้มดำจึงดำริสร้างเมืองบริเวณนั้น  แต่น้องสาวไม่ชอบ และเผลอติดตามกระต่ายเผือกตัวหนึ่งไปจนถึงเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล และเกิดพอใจที่ตรงนั้น พี่ชายจึงสร้างเมืองให้ซึ่งกลายเป็นเมืองปัตตานีในกาลต่อมา

ส่วนจุดที่ช้างหยุดที่แรก พระยาแก้มดำก็ได้สร้างวัดโดยให้ชื่อว่า วัดช้างให้ ตามมูลเหตุที่มา  และนิมนต์ท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแห่งนี้  ซึ่งผู้คนในแถบนี้เรียกท่านว่า ท่านช้างให้

การไปมาระหว่างไทรบุรีกับวัดช้างให้ต้องเดินกันหลายวัน ระหว่างทางที่ใดมีความวิเวกท่านก็อาจแวะพักอยู่นาน อย่างที่ถ้ำหลอด อำเภอสะบ้าย้อย สงขลา  บนยอดเขาตังเกียบในอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานีทุกวันนี้ยังมีพระพุทธรูปแกะไม้ ๒ องค์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งคาดกันว่าแกะขึ้นแต่ครั้งที่ท่านแวะพักแรมบำเพ็ญธรรม

ช่วงที่พำนักอยู่ในเมืองไทรบุรี คราวหนึ่งเมื่อพุทธบริษัทมาชุมนุมกันพร้อมหน้า ท่านก็พูดขึ้นกลางที่ประชุมว่า เมื่อท่านมรณภาพขอให้ช่วยกันนำศพของท่านไปทำฌาปนกิจที่วัดช้างให้  และถ้าน้ำเหลืองหยดลงพื้นดินที่ไหน ก็ขอให้ปักเสาไม้แก่นไว้ กาลข้างหน้าสถานที่นั้นจะเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะ

ต่อมาไม่นานเมื่อท่านมรณภาพด้วยความชรา คณะศิษย์ก็ได้จัดการตามที่ท่านสั่งโดยพร้อมเพรียง

ท่านมรณภาพที่ไทรบุรี จากนั้นก็หามศพมาเมืองไทย  หยุด ณ ที่ใดก็มีการทำเครื่องหมายโดยปักไม้แก่นไว้ทุกแห่ง พร้อมทำพูนดินสูงขึ้นจนกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเวลาต่อมา รวมทั้งสิ้น ๑๑ แห่ง ที่อยู่ในเขตไทยก็ได้แก่ ที่วัดบันลือคชาวาส (ช้างให้ตก)

เมื่อทำฌาปนกิจที่วัดช้างให้แล้ว คณะศิษย์ได้ขอแบ่งอัฐิกลับไปทำสถูปที่วัดในเมืองไทรบุรี ส่วนที่วัดช้างให้ชาวบ้านได้สร้างสถูป หรือเขื่อน เป็นที่บรรจุอัฐิของท่าน  ที่เรียกกันต่อมาว่า เขื่อนท่านช้างให้

เรื่องราวของท่านลังกา หรือท่านช้างให้  ในความเป็นอริยสงฆ์ผู้ปราดเปรื่องแตกฉานในพระไตรปิฎก  ความเป็นพระผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างชุมชนชาวพุทธตลอดถึงกระบวนการปกครองดูแล รวมทั้งเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์แต่หนหลังของท่าน สถิตอยู่ในสถูปนั้นมาหลายร้อยปี

กระทั่งปรากฏเป็นที่เล่าลือออกไปในวงกว้างทั่วประเทศและต่างประเทศในอีกยุคสมัยหนึ่ง  ก็เมื่อมีการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดรุ่นแรกขึ้นในโลกวัตถุมงคล

และนับแต่นั้นมา รูปเคารพและพระคาถาบูชาหลวงพ่อทวดที่ว่า “นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”

ก็ยังไม่เคยจางไปจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

อ้างอิง
ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์, ประวัติศาสตร์สมัย หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๗
บุรี รัตนา (นามแฝง), หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ (เหยียบน้ำทะเลจืด), ไม่ระบุปีที่พิมพ์
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, ๒๕๒๙
หนังสือพิมพ์ มติสวรรค์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๐ วันที่ ๑-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔