“คน (ไม่) สำคัญ” เล่าเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ทำประโยชน์ต่อมนุษยชาติเป็นผลสืบเนื่องยาวนานจวบจนปัจจุบัน แต่กลับถูกมองข้ามหรือลบเลือนไปจากความทรงจำร่วมของสังคม รวมทั้งเรื่องราวของนักคิดที่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์โดยปัญญาชนรุ่นหลังที่เข้าใจผิดหรือตั้งใจตีความใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่แนวคิดของตัวเอง

สฤณี  อาชวานันทกุล

คน (ไม่) สำคัญ : จอห์น แรนด์ ผู้ให้กำเนิดศิลปะสมัยใหม่

Starry Night

…ตอนนี้พี่กำลังหน้าดำคร่ำเครียดอยู่กับรูปใหม่ เป็นวิวนอกคาเฟ่ยามราตรี ระเบียงคลาคล่ำไปด้วยนักดื่ม ตะเกียงเจ้าพายุสาดไฟสีเหลืองส่องระเบียง ผนังตึก ทางเท้า และอาบแม้กระทั่งพื้นถนนเป็นสีม่วงอมชมพูอ่อน หน้าจั่วของบ้านที่เรียงกันไปสุดขอบฟ้าอันเต็มไปด้วยหมู่ดาวนั้น ล้วนทอสีน้ำเงินเข้มหรือสีม่วง ต้นไม้หน้าบ้านสีเขียว ประกอบกันเป็นภาพกลางคืนที่ไม่มีสีดำอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่สีฟ้าโทนสวย สีม่วง สีเขียว กับสีเหลืองมะนาว พี่รู้สึกสนุกที่ได้วาดภาพวิวกลางคืนในขณะนั้นพอดี ศิลปินสมัยก่อนมักจะสเกตช์รูปไว้ก่อน แล้วค่อยมาถ่ายทอดวิวบนผืนผ้าใบหนึ่งวันให้หลัง แต่พี่ชอบวาดมันขึ้นมาเลยในนาทีนั้น

แวนโก๊ะห์
จดหมายถึงวิลเฮลมินา น้องสาว,๑๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๘
khon1

Cafe Terrace at Night

นอกจากภาพสีน้ำมันชื่อ ระเบียงคาเฟ่ยามราตรี (Cafe Terrace at Night) ของจิตรกรเอกชาวดัตช์ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) จะโด่งดังจนเป็นหนึ่งในผลงานอมตะของเขาแล้ว ภาพนี้ยังเป็นภาพแรกที่ แวน โก๊ะห์ วาดดวงดาวเป็นฉากหลัง

แวน โก๊ะห์ อาจเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินโดยแท้ แต่หากโลกนี้ไม่มีใครประดิษฐ์หลอดสี เราก็อาจไม่มีวันรู้จัก แวน โก๊ะห์ เพราะเขาคงไม่สามารถถ่ายทอดความเบาหวิวของปุยเมฆบนท้องฟ้า แสงระยิบระยับของหมู่ดาวยามค่ำคืน หรือแสงเงาอันยอกย้อนของใบไม้ลู่ลม ลงบนผืนผ้าใบได้ในนาทีที่ตามองเห็น

และถ้าปราศจากหลอดสี การวาดภาพแบบน่าตื่นตะลึงที่ปัจจุบันเรารู้จักในนาม “อิมเพรสชันนิสม์” ก็อาจไม่มีวันถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย

การวาดภาพสีน้ำมันเป็นที่นิยมในหมู่จิตรกรมานานหลายร้อยปี ก่อนที่ แวน โก๊ะห์ จะลืมตาดูโลกในปี ค.ศ. ๑๘๕๓ แต่สีน้ำมันสมัยก่อนมีราคาแพงและผสมยาก ทำให้จิตรกรต้องใช้ทักษะและความชำนาญระดับวิศวกรเคมีในการผสมสี ซึ่งมีองค์ประกอบหลายชนิดเหมือนกับที่แพทย์สมัยโบราณใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค เช่น ปรอท งาช้าง และน้ำมันที่สกัดจากพืชชนิดต่างๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่แพทย์และจิตรกรสมัยนั้นจะบูชานักบุญองค์เดียวกัน คือเซนต์ลุค (St. Luke) จิตรกรต้องเข้าร้านขายยาบ่อยพอๆ กับแพทย์ และคนที่จะใช้ชีวิตเป็นจิตรกรอาชีพได้ต้องมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีพอที่จะซื้อสีน้ำมันได้อย่างสม่ำเสมอ

khon2

Girl with a Pearl Earring

นอกจากจิตรกรจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องส่วนผสมมีราคาแพงและผสมยากแล้ว การเก็บสีน้ำมันที่ผสมเสร็จแล้วก็เป็นปัญหามาตลอด เพราะสีน้ำมันที่ตากแดดไว้ไม่กี่วันจะจับตัวเป็นก้อนจนใช้การไม่ได้ ทำให้จิตรกรต้องผสมสีพอสำหรับการวาดในแต่ละวันเท่านั้น ความจำเป็นดังกล่าวทำให้สตูดิโอสำหรับการวาดรูปเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และจิตรกรที่มีฐานะดีหน่อยอาจจ้างคนมาทำหน้าที่ผสมสีให้ เช่นสาวใช้ของจิตรกรเอก ยาน เวอร์เมียร์ (Jan Vermeer) ผู้มีอารมณ์ศิลปินละเมียดละไมจนนายจ้างตกหลุมรัก ในนิยายขายดีจนกลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง สาวน้อยกับตุ้มหูไข่มุก(Girl with a Pearl Earring) ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนชื่อเดียวกันของเวอร์เมียร์ ซึ่งโด่งดังจนได้รับการขนานนามว่า “โมนาลิซาแห่งยุโรปเหนือ”

หลังจากเวอร์เมียร์ล่วงลับไปแล้วกว่า ๑๐๐ ปี จนถึงต้นศตวรรษที่ ๑๙ ก็ยังไม่มีใครค้นพบวิธีเก็บสีน้ำมันได้อย่างคงทน กระเพาะปัสสาวะของหมูเป็นภาชนะเก็บสีที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ก่อนเจาะถุง สีน้ำมันที่อยู่ในถุงจะสามารถอยู่ได้นานถึง ๓ เดือน แต่หลังจากจิตรกรเจาะรูครั้งแรกด้วยหมุดเล็กๆ ที่ทำจากงาช้าง (ซึ่งใช้อุดรูนั้นด้วย) เพื่อบีบสีออกมาใช้ สีจะอยู่ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะแข็งตัวจนใช้ไม่ได้ แถมกระเพาะปัสสาวะหมูก็มีปัญหารั่วง่ายและอุดรูที่เจาะแล้วไม่ค่อยได้ เท่ากับบังคับว่าเวลาวาดรูป จิตรกรจะต้องขลุกอยู่ในสตูดิโอเท่านั้น เผื่อสีระเบิดหรือรั่วออกมาจะได้รีบเปลี่ยนถุงใหม่ได้ทันท่วงทีก่อนที่สีจะเสีย

การใช้กระเพาะปัสสาวะหมูบรรจุสีทำให้เกิดอาชีพใหม่คือ นักผสมสี (colorman) ผู้ทำหน้าที่ผสมสีและบรรจุถุง แปลงสีน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าเป็นครั้งแรก สีสำเร็จรูปเหล่านี้ช่วยให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่จิตรกรอาชีพ สามารถวาดรูปสีน้ำมันเป็นงานอดิเรกได้ เพราะสีสำเร็จรูปทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้เทคนิคการผสมสี เสียเวลามากมายไปกับการผสมสี หรือจ้างคนมาผสมสีให้อีกต่อไป

นับจากนั้นเป็นต้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทางศิลปะที่ฉีกขนบธรรมเนียมเดิมๆ อย่างไม่หยุดยั้ง มักเกิดจากน้ำมือของ “จิตรกรสมัครเล่น” ที่ซื้อสีสำเร็จรูปเหล่านี้ไปวาดรูปเล่นยามว่าง

แต่จิตรกรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น ก็ยังต้องนั่งวาดรูปแต่ในสตูดิโอเท่านั้น ทำให้ต้องวาดแต่ภาพเหมือน ภาพนิ่ง หรือภาพจากจินตนาการเป็นหลัก

khon3

แบบหลอดดีบุกที่แรนด์จดสิทธิบัตรเมื่อปี 1841

จนมาถึงปี ๑๘๔๑ จอห์น แรนด์ (John Rand) ศิลปินชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ได้ออกแบบหลอดดีบุกแบบพับได้ และจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ของเขาในกรุงลอนดอน

หลอดดีบุกที่แรนด์ออกแบบ มีจุกที่ดึงเข้าดึงออกได้ ต่างจากจุกแบบหมุนเกลียวที่เราคุ้นเคยดี แต่นอกจากความแตกต่างข้อนี้ หลอดของแรนด์เหมือนกันทุกประการกับหลอดสีที่จิตรกรใช้อยู่ในปัจจุบัน (ยังไม่นับของใช้อื่นๆ ที่บรรจุในหลอดดีบุก เช่นยาสีฟัน)

khon4

หลอดดีบุกiรุ่นแรกที่วางขายหลังจากได้สิทธิบัตร

หลอดดีบุกใส่จุกของแรนด์เก็บสีน้ำมันได้นานหลายเดือน ทำให้จิตรกรสามารถพกสีติดตัวไปวาดรูปกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องกลัวว่าสีจะเสื่อม นอกจากนี้ การที่หลอดแบบนี้ทำให้บีบสีออกมาใช้ได้ทีละนิดละหน่อยและนับครั้งไม่ถ้วน ก็ทำให้จิตรกรมีอิสระที่จะวาดตรงไหนของผ้าใบก่อนหรือหลังก็ได้ ไม่ต้องวางแผนการวาดอย่างละเอียดเพื่อระบายผ้าใบให้เสร็จเป็นช่วงๆ เพราะกลัวสีจะเสียเหมือนสมัยก่อน

แรนด์คงไม่รู้ตัวว่า เขาคือผู้ให้กำเนิด วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ รวมถึงศิลปะแนวอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวอิมเพรสชันนิสม์

ไม่นานหลังจากแรนด์จดสิทธิบัตร บริษัทผสมสีอังกฤษชื่อ วินด์เซอร์แอนด์นิวตัน (Windsor & Newton) ก็ติดต่อขอจ่ายค่าลิขสิทธิ์ และเริ่มวางขายสีน้ำมันบรรจุหลอดแบบแรนด์ ความสะดวกในการพกพาสีน้ำมันทำให้จิตรกรออกไปวาดรูปนอกสตูดิโอมากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้บริษัทขายสีเริ่มผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการวาดรูปนอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นขาหยั่งแบบพับได้ ผืนผ้าใบฉาบพื้นสีขาวพร้อมวาด จานผสมสีแบบพกพา และกล่องใส่หลอดสี

หลอดดีบุกของแรนด์ช่วยปลดปล่อยจิตรกรออกจากการอุดอู้อยู่ในสตูดิโอ ทำให้เหล่าจิตรกรสามารถวาดและระบายสีรูปให้เสร็จข้างนอกสตูดิโอได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญกว่านั้นคือ มันช่วยปลดปล่อยจิตรกรสมัยใหม่อย่าง แวน โก๊ะห์ และศิลปินอิมเพรสชันนิสม์คนอื่นๆ ที่มี “สำนึกขบถ” ต่อแบบแผนเดิมๆ ให้เป็นอิสระจาก “หลักวิชา” ในการจัดวางสิ่งของและแสงเงาในสตูดิโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนกันในโรงเรียนศิลปะแทบทุกแห่ง หลอดดีบุกของแรนด์ช่วยให้ศิลปินสมัยใหม่อย่าง คล้อด โมเนต์ (Claude Monet) มีอิสระในการบันทึกหมอกจางๆ ยามเช้าในสวนของเขาที่จิเวอร์นี (Giverny) ลงบนผืนผ้าใบ ช่วยให้ ออกุสต์ เรอนัวร์ (Auguste Renoir) ได้จารึกแก้มแดงระเรื่อของสาวงามยามต้องแดด และช่วยให้ แวน โก๊ะห์ บันทึกแสงสะท้อนเหลืองอร่ามของหมู่ดาวในแม่น้ำโรน (Rhone)

การกระทบและผสมผสานระหว่างความจริงในธรรมชาติกับอารมณ์ของศิลปิน การที่ผู้ตวัดพู่กันบันทึกความรู้สึกลงบนผืนผ้าใบในวินาทีนั้น ก่อกำเนิดศิลปะอันยากจะลืมเลือนในนาม “อิมเพรสชันนิสม์” ซึ่งจริงๆ แล้ว นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสผู้คิดศัพท์นี้ ไม่ได้ตั้งใจจะใช้เป็นคำชม หากตั้งใจจะสื่อนัยยะในแง่ลบเพื่อปรามาสว่าศิลปินแนวนี้ขาดความเคารพในหลักวิชาศิลปะที่ปรมาจารย์พร่ำสอน เอาแต่วาดรูปโดยใช้อารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจความสมจริงของสิ่งที่วาด

หารู้ไม่ว่า สิ่งที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ ก็คืออารมณ์ของมนุษย์นั่นแหละ ไม่ใช่หลักวิชาที่ไหน

นอกจากจะปลดปล่อยจิตรกรให้เป็นอิสระจากสตูดิโอในทางปฏิบัติ และจากธรรมเนียมคร่ำครึในทางความคิดแล้ว หลอดสีของแรนด์ยังมีอิทธิพลทางอ้อมในการปรับเปลี่ยนเทคนิคการวาดรูปของศิลปินสมัยใหม่ด้วย อาทิเช่น เนื่องจากหลอดของแรนด์ทำให้สีมีเนื้อนุ่มเนียนสม่ำเสมอเหมือนเนย จิตรกรจึงสามารถใช้พู่กันขนแข็ง และมีดปลายทื่อเหมือนมีดทาเนย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า palette knife ในการวาดรูป ทำให้ทิ้งรอยพู่กันหรือเกรียงไว้บนผืนผ้าใบได้ บางครั้งโปะสีนูนขึ้นมาหนาเตอะจนดูเหมือนรูปสลักนูนสูงมากกว่ารูปสองมิติธรรมดา ดังเช่นภาพ ราตรีประดับดาว(Starry Night) ของ แวน โก๊ะห์ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว

เทคนิคดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในวิธี “สื่อ” ความรู้สึกของศิลปินเรื่อยมา

ในขณะที่งานของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ค่อยๆ ทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในศิลปะยอดนิยมตลอดกาล ชื่อของ จอห์น แรนด์ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของสังคม เรารู้เพียงแต่ว่า เขาเกิดเมื่อปี ๑๘๐๑ ในมลรัฐเซาท์แคโรไลนาของอเมริกา ย้ายมาทำงานเป็นจิตรกรวาดรูปเหมือนในอังกฤษตั้งแต่ยังหนุ่ม ประดิษฐ์หลอดดีบุกพับได้และจดสิทธิบัตรที่นั่นในปี ๑๘๔๑ ถึงแม้แรนด์จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลอดดีบุกทั้งที่ขายในอังกฤษและที่ส่งออกไปขายในอเมริกา เขาก็ไม่เคยร่ำรวยหรือมีชื่อเสียง แม้แต่ในแวดวงศิลปะ

ข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับการตายของแรนด์ในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กโพสต์ ระบุว่า แรนด์สูญเสียเงินเก็บทั้งหมดไปกับการลงทุนในเครื่องกลเล็กๆ ที่ออกแบบมายืดเสียงโน้ตเปียโนให้ก้องกังวานนานกว่าเดิม แต่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้กลับทำงานไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง ทำให้แรนด์ชำระคืนหนี้เงินกู้ไม่ได้ ต้องโอนลิขสิทธิ์หลอดดีบุกของเขาที่จดในอังกฤษให้แก่เจ้าหนี้แทนเงิน เขาตายเมื่อปี ๑๘๗๓ อย่างไร้คนเหลียวแล ทิ้งแบบการปรับปรุงหลอดดีบุกของเขาไว้ท่ามกลางสมบัติส่วนตัวที่ค้นเจอหลังจากนั้น

ในฐานะจิตรกร แรนด์คงจะอาภัพกว่า แวน โก๊ะห์ และศิลปินอีกจำนวนมากที่ใช้สิ่งประดิษฐ์ของเขา เพราะไม่มีรูปของแรนด์เหลือตกทอดมาให้เราเห็นเลย ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์หรือในกรุสมบัติส่วนตัวของใครก็ตาม

แต่ในฐานะคน (ไม่) สำคัญ วิญญาณของ จอห์น แรนด์ คงจะดีใจถ้ารู้ว่า หลอดดีบุกของเขาอยู่เบื้องหลังความงดงามของ ระเบียงคาเฟ่ยามราตรี และรูปอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ที่ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะจิตรกรสามารถบันทึกความรู้สึกจากธรรมชาติได้ในทันที ก่อนอารมณ์จะแปรเป็นอื่น

ไม่ว่าจิตรกรหรือคนดูจะรู้จักเขาหรือไม่ก็ตาม