เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

 

ทะเลอันดามัน ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๕

แสงแดดเจิดจ้าของฤดูหนาวส่องทะลุเมฆฝนลงมากระทบระลอกคลื่นบนผืนน้ำสีน้ำเงินเข้ม เรือของเราเพิ่งออกจากปากน้ำระนอง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงเข้าหาชายฝั่งประเทศพม่า

เมื่อนายท้ายชี้ไปที่ฝั่งพร้อมกับบอกว่า “เขาก็มีของเขา เราก็มีของเรา”

มองตามไป ผมก็ได้พบ “ของเขา”--ประติมากรรมหล่อสัมฤทธิ์รูปพระเจ้าบุเรงนองขนาดมหึมา ความสูงไม่น่าจะต่ำกว่า ๓ เมตร  ลักษณะอิริยาบถอยู่ในท่าพระบาทข้างหนึ่งก้าวบนโขดหิน ขณะพระหัตถ์ชักพระแสงดาบออกจากฝักครึ่งท่อน สายพระเนตรทอดมายังปากน้ำระนองฝั่งไทย  ส่วน “ของเรา” ที่นายท้ายพูดถึงก็คือพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีอยู่ตามเมืองประวัติศาสตร์และเมืองชายแดนไทย-พม่า

ในจังหวัด Kaw Thaung หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “เกาะสอง” นอกจากอนุสาวรีย์นี้แล้ว สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนาม “บุเรงนอง” ยังมีอีกแห่งคือ “แหลมบุเรงนอง” (Bayinnaung Point)

แหลมบุเรงนองนี้มีเรื่องเล่าว่ารัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนชื่อมาจาก “แหลมวิกตอเรีย” (Victoria Point) ซึ่งชื่อนี้อังกฤษตั้งตามพระนามสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษสมัยที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นัยว่าเมื่อพม่าพ้นจากการเป็นอาณานิคมแล้วก็ไม่ควรจะมีชื่อเหล่านี้หลงเหลืออีก แต่สุดท้ายก็อย่างที่คนนำทางชาวพม่าบอก “ไม่มีใครเขาเรียกตามชื่อที่รัฐบาลตั้ง และคนไทยอาจจะไม่รู้ว่าในพม่าไม่มีใครกราบไหว้อนุสาวรีย์”

ทว่าแม้จะไม่มีใครเรียกแหลมนี้ว่าแหลมบุเรงนอง แม้อนุสาวรีย์ของพระองค์จะไม่มีใครมากราบไหว้ แต่ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “บุเรงนอง” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติย่างกุ้ง  อนุสาวรีย์บริเวณจัตุรัสใหญ่กลางกรุงเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่  ชื่อสะพาน ถนน ตลาดในอดีตเมืองหลวงย่างกุ้ง ชื่อเรือรบติดจรวดนำวิถีในกองทัพเรือ ชื่อโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในเมืองตองอูซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นดั้งเดิมของพระองค์ หรือแม้กระทั่งชื่อสโมสรกีฬาบุเรงนอง