นางสาวมนสิชา รุ่งชวาลนนท์
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลงานเขียนจากนักเขียนค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8

เกียงอันเกง : เมื่อรักษ์และศรัทธามาบรรจบ

เสียงอึกกระทึกครึกโครม เสียงสวดมนต์ดังระงม เสียงร้องตะโกนของเหล่าพ่อค้าแม่ขาย กลิ่นควันธูปฟุ้งโขมง สิ่งเหล่านี้คงจะเป็นความรู้สึกแรกๆที่ทุกคนต่างก็นึกถึงเมื่อเรากล่าวถึงศาลเจ้าจีน หากแต่สิ่งเหล่านี้กลับเปลี่ยนไปเมื่อข้าพเจ้าได้เหยียบย่างผ่านบานประตูเข้าสู่ศาลเจ้าเกียงอันเกง ณ ชุมชนกุฎีจีน

หากเอ่ยถึงชุมชนกุฎีจีน หรือ กะดีจีนนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้าง ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ย่านฝั่งธนที่มีการผสมผสานวัฒนธรรม 3 ศาสนา 4  ความเชื่อ1 ได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังมีสถานที่สำคัญที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ซางตาครูส หรือ วัดกัลยาณมิตร แต่ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า คำว่ากุฎีจีน นั้น แท้ที่จริงแล้วมีที่มาจากไหนกันแน่ ? เพราะไม่ว่าจะเป็นโบสถ์เอย วัดเอย ก็แลดูไม่เห็นจะมีส่วนไหนที่ดูเป็น “กุฎี” หรือ “จีน” เอาเสียเลย บางท่านหิวหน่อยอาจจะนึกไปไกลถึงขนมลูกผสมโปรตุเกส-จีน อย่างขนมกุฎีจีน2 ขนมขึ้นชื่อของย่าน ว่าอาจเป็นที่มาของชือชุมชนดังกล่าว แต่ท่านผู้อ่านเคยทราบหรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชือ ชุมชนกุฎีจีนนั้นมีที่มาจากจุดเล็กๆที่หลายๆคนอาจมองข้ามอย่าง ศาลเจ้าเกียงอันเกง

“กุฎีจีนเริ่มที่กุฎิจีนนี่แหละ” คุณธวัช ผู้ดูแลศาลเจ้าเกียงอันเกงกล่าวด้วยความภาคภูมิใจพลางเล่าถึงประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าว่า แต่เดิมนั้น ในบริเณพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าจีน 2 หลัง คือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู และ ศาลเจ้าพ่อโจวซือกง  ซึ่งสร้างโดยชาวจีนที่ติดตามพระเจ้าตากสินมายังกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน บรรพบุรุษของตระกูลตันติเวชกุลและตระกูลสิมะเสถียรได้เดินทางมาสักการะศาลเจ้าทั้งสอง และเห็นสภาพทรุดโทรมจึงได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าใหม่บนพื้นที่เดิม หากแต่เปลี่ยนองค์ประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม พร้อมทั้งตั้งชื่อใหม่ว่า “ศาลเจ้าเกียงอันเกง” โดยในสมัยแรกนั้นเคยมีพระสงฆ์จากจีนมาจำพรรษาอยู่จริง ทำให้ชาวบ้านเรียกศาลเจ้าดังกล่าวอย่างง่ายๆว่ากุฎิจีน ซึ่งเพี้ยนมาเป็นคำว่า กุฎีจีนในภายหลัง…

หากไม่บอกคงไม่รู้ว่าชายอายุราว 40 กว่า ท่าทางเอาการเอางานอย่างคุณธวัชจะละทิ้งอาชีพเดิม และผันตัวเองมาเป็นผู้ดูแลศาลเจ้ามาถึง 34 ปีแล้ว “เมื่อก่อนผมทำงานอยู่ข้างนอก แต่พอพ่อผมซึ่งเป็นคนดูแลศาลเจ้าเดิมท่านเสีย ผมเลยมารับช่วงดูแลต่อ ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม เพียงแต่มีความรู้สึกผูกพันธ์กับศาลเจ้า เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่เด็ก คุณแม่ก็มาช่วยขายดอกไม่ธูปเทียนในศาลเจ้ามาตลอดทั้งๆที่ท่านก็ไม่ได้ค่าจ้าง ผมเองได้บ้างเป็นบางครั้ง ถึงแม้จะไม่เยอะมาก แต่ผมก็ไม่เห็นว่าสำคัญอะไร” ทุกๆเช้าคุณธวัชจะมาไขกุญแจเปิดศาลเจ้าตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง พร้อมจับไม้กวาดเริ่มต้นทำความสะอาดบริเวณศาลเจ้า เช็ดถูแท่นบูชา กระถางธูป ชงน้ำชามาถวายรูปเคารพในศาลเจ้า และคอยอยู่ดูแลศาลเจ้าตลอดวันจนกระทั้งลงกลอนปิดศาลเจ้าในเวลา 5 โมงเย็น

ศาลเจ้าเกียงอันเกงนี้ แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศาลเจ้าจีน แต่กลับให้ภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากศาลเจ้าหลังอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะคงสภาพความเก่าแก่ที่ปราศจากการทาสีตกแต่งเสียจนแลดูจัดจ้านอย่างศาลเจ้าอื่น แต่ก็กลับแลดูสะอาดสะอ้านแทบปราศจากกลิ่นควันและเขม่าธูป ที่สำคัญ ยังมีความเงียบสงบอย่างที่หาได้ยากยิ่งในย่านเมืองกรุง ขนาดที่ว่า หากมีใครเริ่มหยิบเซียมซีขึ้นมาเขย่าสักคน เสียงแผ่นไม่เซียมซีกระทบกันก็แทบจะดังระงมไปทั่วทั้งศาลเจ้าจนต้องอดเหลียวมามองเสียไม่ได้ โดยความเงียมสงบและความเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ของศาลเจ้านี้ที่จริงแล้วมีที่มาจากทัศนคติของตระกูล   สิมะเสถียร   หนึ่งในตระกูลผู้ก่อตั้งศาลเจ้า และตัวผู้ดูแลอย่างคุณธวัชเองที่ต้องการรักษาบรรยากาศของศาลเจ้าให้แลดู “ขลัง”และคงฐานะเป็นสถานที่เพื่อหาความสงบทางใจให้แก่พุทธศาสนิกชนไม่ใช่เพื่อเป็นสถานที่สำหรับบนบานศาลกล่าวหรือทรงเจ้าเข้าทรงในลักษณะที่เป็นพุทธบูชา

“มีคนมาถามผมบ่อยว่าทำไมไม่เปิดให้เช่าวัตถุมงคลหรือสะเดาะเคราะห์เหมือนที่อื่น? เชื่อมั้ย บางคนถึงกับถามว่ารูปเจ้าแม่ที่มีให้เช่านั้นปลุกเสกมาหรือยัง? ผมถามพวกเขากลับไปว่า แล้วท่านมาวัดมาศาลเจ้าเพื่ออะไรแน่? มาเพื่อขอปาฎิหาริย์จากเจ้าแม่ เพื่อขอให้เจ้าแม่ช่วย แต่ถามว่าท่านหนีความจริงพ้นมั้ย ก่อนที่ท่านจะมาขอให้เจ้าแม่ช่วย ท่านสู้กับความจริงด้วยตัวเองก่อนดีหรือไม่ เดี๋ยวนี้คนเรามักหลงลืมแก่นแท้ของการเข้าวัด กลายเป็นว่าเรามาวัดเมื่อมีเรื่องเดือดร้อน ไม่สบายใจ แล้วมาร้องขอความเมตตา ผมจึงอยากให้ศาลเจ้าเกียนอันกงคงสภาพเหมือนเดิม คือเป็นศาลเจ้าที่ผู้คนได้เข้ามาเพื่อหาความสงบ เพื่อให้สมกับชื่อเกียนอันเกงที่หมายความว่า สถานที่อันสงบสุข”คุณธวัชกล่าว

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสเหยี่ยบย่างเข้ามายังศาลเจ้าเกียนอันเกงและใช่เวลาสักครู่เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศอันเงียบสงบของศาลเจ้า ท่านอาจได้ยินเสียงแว่วดัง “วิดๆ อิ๊ดๆ” ล่องลอยมาตามสายลม อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่านั่นเป็นเสียงร้องเรียกของฝูงนกกระจิบ นกกระจาบ ดังที่มักปรากฎตามสถานที่ทั่วไป เพราะแท้ที่จริงแล้วเสียงร้องเรียกดังกล่าวเป็นเสียงของ“ค้างคาว”เจ้าถิ่นที่ยึดเอามุมมืดภายในศาลเจ้าเป็นที่พักพิงในยามเช้า ดูไปดูมาก็อดแปลกใจไม่ได้ที่พบฝูงค้างคาวยกขบวนเข้ามาอาศัยในศาลเจ้าแทนที่จะเป็นถ้ำตามที่พบทั่วไป และยิ่งเป็นศาลเจ้าในเมืองกรุงเช่นนี้ด้วยแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะท้าวความหลังถามย้อนไปถึงที่มาที่ไปของผู้อาศัยตัวน้อย คุณธวัชได้แต่ยิ้มแล้วเล่าถึงครั้งสมัยยังเยาว์ว่า เมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้เคยคึกคักมาก ด้านหน้าศาลเจ้าเป็นโป๊ะที่มีเรื่อรับส่งสินค้า และเรือข้ามฟากมาจอดอยู่มิได้ขาด ชุมชนแถวนี้ประกอบกิจการมากมายไม่ว่าจะเป็น สวนมะพร้าว สวนผลไม้ โรงงานปลาทู รวมไปถึงโรงงานผลิตปี๊ป แต่สภาพดังกล่าวก็เปลี่ยนไปเมื่อมีการตัดถนนอรุณอมรินทร์เข้ามา คนจึงเริ่มหันไปใช้รถแทนเรือ วัฒนธรรมเก่าๆเริ่มตายลง กิจการต่างๆเริ่มพากันปิดตัวลง จนกระทั้งมีสภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ภาพสะท้อนของอดีตก็ยังคงหลงเหลืออยู่ผ่านทางฝูงค้างคาวประจำศาลเจ้า เพราะครั้งยังมีสวนผลไม้เป็นแหล่งอาหารชั้นดี ก็มีศาลเจ้านี่แหละเป็นที่พักชั้นหนึ่งให้แก่เหล่าค้างคาวทั้งหลาย เพราะนอกจากจะเงียบสงบแล้ว ยังไม่มีใครเข้ามารบกวนเพราะคนจีนถือว่าค้างคาวเป็นสัตว์มงคล3 กระทั้งในปัจจุบันแม้ไม่มีสวนผลไม้ให้เห็นแล้ว แต่เราก็ยังสามารถสังเกตเห็นฝูงค้างคาวเจ้าประจำได้อยู่แม้จะลดจำนวนลงบ้างก็ตาม

หลังจากไหว้สักการะเจ้าแม่กวนอิมองค์ประธานของศาลเจ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากท่านผู้อ่านเดินต่อไปทางด้านซ้าย  ท่านจะพบกับประตูที่จะนำท่านไปยังอีกส่วนหนึ่งของศาลเจ้า ซึ่งในส่วนดังกล่าวแต่เดิมนั้นเคยเป็นห้องพักของพระสงฆ์ชาวจีน หากแต่ในปัจจุบันได้แปรสภาพกลายเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพของพระสังขจายและพระพุทธรูปรวมไปถึงรูปเคารพอื่นๆ ใกล้ๆกันนั้นปรากฎเป็นตู้กระจกใบใหญ่ ภายในมีแผ่นป้ายไม้ประดับอักษรจีนวางตั้งอยู่จนเต็มพื้นที่ ทราบความว่าเป็นป้ายวิญญานของบรรพชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านกุฎีจีนมาแต่ดั้งเดิม เมื่อครั้งเสียชีวิตลูกหลานก็ได้นำป้ายวิญญานดังกล่าวมาฝากไว้กับทางศาลเจ้า เพื่อหวังให้เจ้าแม่กวนอิมคุ้มครอง ป้ายวิญญานมากมายที่ถูกตั้งเรียงรายอยู่ในตู้กระจกสามารถบอกถึงความผูกพันธ์ระหว่างชุมชนชาวกุฎีจีนและศาลเจ้าได้เป็นอย่างดี และความผูกพันธ์ดังกล่าวก็ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน จากรุ่นสู่รุ่น ในปัจจุบันลูกหลานชาวจีนยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเคารพศาลเจ้าและบรรพชนอยู่มิได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลกินเจ หรือ เทศกาลตรุษจีน โดยมักจะนำส้ม 5 ผล และขนมหวาน4 มาไหว้เจ้าแม่กวนอิมบ้างตามโอกาส หรือหากบ้านไหนไม่มีเวลาไปซื้อขนมก็อาจถวายน้ำตาลทราย หรือ อ้อยแทนก็ได้

ชาวชุมชนกุฎีจีนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความผูกพันธ์ที่มีต่อศาลเจ้า โดยต่างก็กล่าวถึงศาลเจ้าว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ศักสิทธิ์อยู่คู่ชุมชนมาช้านานที่ทำให้หวนนึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ เพราะแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ทุกครั้งที่ได้เหยียบย่างเข้ามาในศาลเจ้าแห่งนี้ ก็เปรียบเสมือนพวกเขาได้หยุดเวลาบนโลกปัจจุบันอันแสนวุ่นวายลงได้ครู่หนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ได้เปิดประตูอีกบานหนึ่ง เพื่อย่างเท้าเข้าสู่ความสงบที่คุ้นเคย

เมื่อตะวันคล้อยต่ำลงก็ถึงเวลากล่าวคำอำลา ประตูศาลเจ้าปิดลงพร้อมด้วยรอยยิ้มและคำเชิญชวนให้กลับมาเยี่ยมเยือนศาลเจ้าใหม่ในโอกาสหน้าของคุณธวัช ข้าพเจ้าย้อนกลับไปมองศาลเจ้าหลังเดิมด้วยความรู้สึกที่แตกต่างจากในตอนเช้า ไม่น่าเชื่อว่าศาลเจ้าหลังเล็กๆนี้จะบรรจุเรื่องราวและความทรงจำมากมายอยู่ภายใน กุฎิจีนที่เงียบสงบบนชายฝั่งแม่น้ำอันจอแจ อาจเทียบได้กับชุมชนอันเรียบง่ายที่หันหลังให้กับแสงสีของโลกสมัยใหม่และเลือกที่จะใช้ชีวิตตามแบบฉบับของตนเองอย่าง…ชุมชนกุฎีจีน

เชิงอรรถ

1. 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ หมายความถึง ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และพุทธศาสนาลัทธิหินยาน คือ วัดกัลยาณมิตรและพุทธลัทธิมหายาน คือ ศาลเจ้าเกียนันเกง
2. ขนมกุฎีจีน มีลักษณะของตัวแป้งเหมือนเค้กฝรั่งแต่มีหน้าขนมเป็นแบบจีนคือ โรยด้วยฟักเชื่อม ลูกพลับแห้ง และลูกเกด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้มงคลของชาวจีน
3. เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ที่เท้าไม่ติดพื้น เป็นสัญลักษณ์แห่งบุญวาสนาจึงถือได้ว่าเป็นสัตว์มงคลของจีน
4. ส้มนั้นเป็นผลไม่มงคลของจีน เนื่องจากคำว่าผลส้มในภาษาจีนนั้นอ่านออกเสียงว่าจวี๋จื่อ หรือเรียกสั้นๆ ว่า จวี๋ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า’จี๋’ ที่แปลว่า โชคดี หรือสิริมงคล ในขณะที่ขนมหวานใช้แก้เคล็ดเพื่อให้ชีวิตมีแต่ความหวาน