ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
อีเมล : buncha2509@gmail.com เว็บไซต์ : http://portal.in.th/buncha
 
กรณี GT200 มุมมองทางวิชาการ & ข้อสังเกตสำหรับอนาคต
พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันที่ 18 ก.พ.2553

ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.. 2553 มีข่าวใหญ่ซึ่งเป็นที่สนใจของคนไทยโดยทั่วไปข่าวหนึ่ง คือข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งาน GT200 ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าเป็นอุปกรณ์แบบพกพาที่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิด (หรือสารเสพติด) จากระยะไกลได้

ในที่สุดจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 และมีการทดสอบอุปกรณ์นี้ในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการทดสอบต่อสื่อมวลชน เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (ถอดเสียงพูดจากคลิปข่าวช่อง 9 ใน YouTube)

ผลของการทดลองก็ปรากฏว่า การใช้อุปกรณ์นี้สามารถชี้ได้ถูกกล่อง 4 ครั้งจาก 20 ครั้ง ซึ่งไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ ก็คือหมายความว่าไม่ได้แตกต่างจากกรณีที่สุ่มเอา

“เพราะฉะนั้นในขณะนี้สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนก็คือว่า จะไม่มีการซื้ออุปกรณ์นี้เพิ่มเติม

“เพราะว่าทางหน่วยงานผู้ปฏิบัติเขาก็ยังมีความเชื่อของเขาอยู่ แล้วก็อาจจะยังไม่ทราบ และอาจจะยังไม่เข้าใจถึงแนววิธีการในการทดลอง เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาข้อมูลนี้ไปให้เขาเข้าใจ ขณะนี้ในชั้นนี้ก็ต้องแจ้งให้เขาทราบโดยเร็วที่สุด”

gt200 01

เพื่อเป็นการบันทึกกรณีสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และสังคมไทยโดยรวมนี้เอาไว้ ผมจะขอแสดงข้อมูล หลักการ และทัศนะต่อกรณี GT200 นี้ ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. มุมมองเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : เหตุใด GT200 จึงไม่อาจทำงานได้ตามข้อมูลทางเทคนิคที่บริษัทผู้ผลิตกล่าวอ้าง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหตุใด GT200 จึงเข้าข่ายอุปกรณ์ลวงโลกในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. มุมมองเชิงสถิติและคณิตศาสตร: การทดสอบ GT200 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 มีแก่นสาระอย่างไร และเหตุใด GT200 จึง “สอบตก” นั่นคือ ไม่ผ่านเกณฑ์ที่สามารถยอมรับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้จริง หากเราเข้าใจหลักการแปลผลทางสถิติในการทดสอบครั้งแรกนี้ ก็ย่อมจะช่วยให้เราเข้าใจผลการทดสอบอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยวิธีการในทำนองเดียวกันซึ่งอาจมีขึ้นอีกในอนาคต (เช่นกรณีอุปกรณ์ตรวจจับสารเสพติด ALPHA6 เป็นต้น)

3. ข้อสังเกตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณี GT200 : กรณี GT200 มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องมากมาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในหัวข้อนี้ผมจะกล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่มีผู้เสนอเอาไว้ รวมทั้งประเด็นที่ใหญ่กว่า GT200 นั่นคือ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จอมปลอม หรือ Public Awareness of Pseudo-Science

มุมมองเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พิจารณาเอกสารซึ่งระบุข้อมูลทางเทคนิคของ GT200 จากบริษัท Global Technical ในภาพ

ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเครื่องว่าจะสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้าง เช่น ตรวจจับวัตถุระเบิด และ/หรือ สารเสพติด ฯลฯ มีอย่างน้อย 4 อย่าง ได้แก่ แหล่งพลังงาน (Power Source) วิธีการตรวจจับ (Detection Method) ระยะห่างที่สามารถตรวจจับได้ (Detection Distance) และปริมาณน้อยที่สุดที่ตรวจจับได้ (Minimum Detection Quantity)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสำคัญทั้ง 4 อย่างนี้เองที่ส่อพิรุธ และทำให้ผู้เข้าใจหลักการและขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

เกิดข้อกังขาอย่างยิ่งว่า GT200 ไม่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้จริง

ข้อมูลทั้ง 4 อย่างนี้จะขอเรียกว่า “จุดพิรุธ” โดยจะแสดงเหตุผลสำหรับจุดพิรุธที่ 1 แยกออกมาต่างหาก ส่วนจุดพิรุธที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะพิจารณาร่วมกัน ตามเหตุผลที่จะปรากฏต่อไป

gt200 03
ข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์ GT200

จุดพิรุธที่ 1 แหล่งพลังงาน (Power Source) : ไฟฟ้าสถิต (Static Electricity)

เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าไม่จริง : ไฟฟ้าสถิตที่กล่าวถึงนี้หมายถึงไฟฟ้าสถิตบนร่างกายของผู้ใช้ โดยผู้ใช้จะต้องผ่านการอบรมการใช้งานเครื่อง และต้องตระเตรียมร่างกายให้พร้อมอย่างถูกต้องตามวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์นี้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจะมีอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือประจุที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิตดังกล่าวมีปริมาณน้อยมากจนเป็นไปไม่ได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ในการทำให้ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ขยับเขยื้อนได้

หากยังเชื่อว่าสามารถนำไฟฟ้าสถิตดังกล่าวไปใช้ได้จริง ก็ต้องถามต่อถึงกลไกการถ่ายโอนประจุระหว่างร่างกายกับอุปกรณ์ GT200 นี้ว่าเป็นอย่างไร ประจุไฟฟ้าที่เคลื่อนที่นี้คิดเป็นกระแสปริมาณเท่าไร และกระแสไฟฟ้านี้มีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ขยับเขยื้อนได้หรือไม่ เป็นต้น

จุดพิรุธที่ 2 วิธีการตรวจจับ (Detection Method) : สภาพแม่เหล็กไดอาพารา (Dia-Para Magnetism)

จุดพิรุธที่ 3 ระยะห่างที่สามารถตรวจจับได้ (Detection Distance) : พื้นดิน (Land) 700 เมตร, ทะเล (Sea) 850 เมตร, อากาศ (Air) 4,000 เมตร,ใต้น้ำ (Underwater) 500 เมตร และใต้ดิน (Underground) 60 เมตร

จุดพิรุธที่ 4 ปริมาณน้อยที่สุดที่ตรวจจับได้ (Minimum Detection Quantity) : พิโคกรัม (Picogram)

เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าไม่จริง : ลองมาทำความเข้าใจคำว่า สภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารากันก่อน

gt200 04

แผนภาพแสดงสสารซึ่งมีสภาพแม่เหล็กไดอา (1) สนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์(H=0) (2) สนามแม่เหล็กภายนอก H ชี้ไปทางขวามือ
gt200 05

แผนภาพแสดงสสารซึ่งมีสภาพแม่เหล็กพารา (1) สนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์(H=0) (2) สนามแม่เหล็กภายนอก H ชี้ไปทางขวามือ

สภาพแม่เหล็กไดอา (diamagnetism) หมายถึง พฤติกรรมของสสารที่แสดงการต่อต้านสนามแม่เหล็กภายนอกที่มากระทำ ลองดูแผนภาพอย่างง่ายแสดงสสารซึ่งมีสภาพแม่เหล็กไดอา (หน้า 120)

หากไม่มีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำ (ใช้สัญลักษณ์ H = 0 คือสนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์) แม่เหล็กไดอาก็จะไม่แสดงพฤติกรรมแม่เหล็กให้ปรากฏ (1)

หากมีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำ (ใช้สัญลักษณ์ H โดยมีลูกศรขนาดใหญ่ชี้ไปทางขวา) แม่เหล็กไดอาจะแสดงการต่อต้านโดยโมเมนต์แม่เหล็กขององค์ประกอบของสสาร (ลูกศรเล็กๆ ในวงกลม) จะมีแนวโน้มชี้ในทิศทางที่สวนทางกับทิศทางของสนามแม่เหล็กภายนอก (2)

ในความเป็นจริงสสารทุกชนิดมีสภาพแม่เหล็กไดอาเป็นสมบัติพื้นฐาน แต่หากสสารชนิดหนึ่งๆ มีสภาพแม่เหล็กแบบอื่นโดดเด่นกว่าก็จะทำให้สสารชนิดนั้นๆ ไม่แสดงสภาพแม่เหล็กไดอาออกมา (เช่นหากสสารนั้นมีสภาพแม่เหล็กพาราอยู่ด้วย สภาพแม่เหล็กพาราก็จะข่มสภาพแม่เหล็กไดอาทำให้สสารนั้นแสดงสภาพแม่เหล็กพาราอย่างเดียว เป็นต้น)

สำหรับสสารที่แสดงสภาพแม่เหล็กไดอาอย่างชัดเจน เช่น ไฮโดรเจน ทองแดง ทองคำ ปรอท และน้ำ เป็นต้น

สภาพแม่เหล็กพารา (paramagnetism) หมายถึง พฤติกรรมของสสารที่แสดงการยอมตามสนามแม่เหล็กภายนอกที่มากระทำ ลองดูแผนภาพอย่างง่ายแสดงสสารซึ่งมีสภาพแม่เหล็กพารา

หากไม่มีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำ (ใช้สัญลักษณ์ H = 0 คือ สนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์) แม่เหล็กพาราก็จะไม่แสดงพฤติกรรมแม่เหล็กให้ปรากฏ เนื่องจากโมเมนต์แม่เหล็กจะชี้ในทิศทางต่างๆ อย่างสุ่มๆ (3)

หากมีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำ (ใช้สัญลักษณ์ H โดยมีลูกศรขนาดใหญ่ชี้ไปทางขวา) แม่เหล็กพาราจะแสดงการยอมตามโดยโมเมนต์แม่เหล็กขององค์ประกอบของสสาร (ลูกศรเล็กๆ ในวงกลม) จะมีแนวโน้มชี้ในทิศทางเดียวกับทิศทางของสนามแม่เหล็กภายนอก (4)

ทั้งนี้ สภาพแม่เหล็กพาราจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิอย่างมาก หากอุณหภูมิสูงก็จะทำให้สภาพแม่เหล็กพาราลดลงจนกระทั่งหมดไปได้ (ลูกศรเล็กๆ ชี้อย่างสุ่มๆ แม้จะมีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำอยู่ก็ตาม)

สำหรับสสารที่แสดงสภาพแม่เหล็กพาราอย่างชัดเจน เช่น อะลูมิเนียม ทังสเตน และแมงกานีส เป็นต้น

แง่มุมทางวิชาการของสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพาราที่เกี่ยวข้องกับกรณี GT200 ได้แก่

หนึ่ง การที่จะตรวจวัดสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพาราของสสารชนิดหนึ่งๆ ได้นั้นจะต้องมีสนามแม่เหล็กภายนอกกระทำต่อสสารนั้นในขณะที่กำลังตรวจวัด

สอง เนื่องจากสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพาราของสสารอ่อนมากๆ (หากวัดเป็นตัวเลขจะได้ตัวเลขที่มีค่าน้อย) จึงต้องใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงเพียงพอในการเหนี่ยวนำให้สสารแสดงสมบัติดังกล่าวออกมา

เมื่อพิจารณาจุดพิรุธที่ 3 นั่นคือ GT200 อ้างว่าสามารถตรวจจับสารได้ในระยะไกลระดับหลายสิบเมตร (ผ่านใต้ดิน) จนถึงหลายพันเมตร (ผ่านอากาศ) ได้ และจุดพิรุธที่ 4 คือสามารถตรวจจับสารในปริมาณน้อยมากๆ ในระดับพิโคกรัม (picogram) หรือหนึ่งในล้านล้านกรัม (เขียนเป็นตัวเลขคือ 0.000000000001 กรัม) ประกอบกับจุดพิรุธที่ 2 (เรื่องสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารา) จะเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับสมรรถนะของ GT200 ขัดแย้งกับหลักการทางฟิสิกส์ที่ว่าสสารนั้นจะต้องอยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงเพียงพอ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีเทคนิคใดๆ ที่มีความไว (sensitivity) สูงเพียงพอที่จะตรวจวัดค่าของสภาพแม่เหล็กที่มีปริมาณน้อยมากๆ ในระยะไกลเช่นนั้นได้

จริงๆ แล้วหากมีเทคนิคที่มีความไวมากขนาดนั้น สัญญาณรบกวนจากสสารอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กว่าก็จะบดบังสัญญาณที่ต้องการจนไม่อาจวัดค่าได้ เว้นแต่จะมีวิธีการแยกสัญญาณที่ต้องการออกมาได้อย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุป ข้อมูลทางเทคนิคของ GT200 กล่าวอ้างศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ดูมีหลักการและน่าเชื่อถือ แต่ในทางปฏิบัติเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้นั่นเอง

มุมมองเชิงสถิติและคณิตศาสตร์

วิธีการทดสอบประสิทธิภาพของ GT200 โดยย่อ คือทำการซ่อนค้นหาทั้งสิ้น 20 ครั้ง แต่ละครั้งใช้กล่อง 4 ใบ โดยมีกล่องใบหนึ่งซ่อนวัตถุระเบิด C4 ไว้อย่างสุ่มๆ

หากคิดอย่างง่ายๆ ว่า ในการซ่อนค้นหาแต่ละครั้ง โอกาสที่จะพบโดยการสุ่มเลือกมั่วๆ ก็คือ 1 ใน 4 หรือ 25% และถ้าทำซ้ำ 20 ครั้ง ค่าเฉลี่ยของโอกาสที่จะพบโดยการสุ่มเลือกมั่วๆ คือ 20 ครั้ง x 25% = 5 ครั้ง

อย่างไรก็ดี ในการทดสอบประสิทธิภาพครั้งนั้น เราไม่สามารถตีความผลการทดสอบง่ายๆ เพียงแค่ว่า ถ้าผลการค้นหาพบเกินกว่า 5 ครั้ง (เช่นพบ 7 ครั้ง) ก็ถือว่าใช้ได้เพราะสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการสุ่มเลือก เพราะการสุ่มพบ 7 ครั้งจาก 20 ครั้งนั้นโอกาสยังมีสูงถึง 11.2% (สามารถคำนวณได้จากสมการที่จะกล่าวถึงต่อไป)

ลองเปรียบเทียบการทดสอบ GT200 กับการให้ลิงตัวหนึ่งทำข้อสอบ 20 ข้อ แต่ละข้อมี 4 ตัวเลือก (เช่น ก ข ค ง ซึ่งเทียบได้กับกล่อง 4 ใบ ซึ่งจะมีอยู่ตัวเลือกเดียวที่ถูกต้อง) ลิงตัวนี้กาเลือกมั่วๆ จนครบ

หากให้ตัวแปร n แทนจำนวนข้อที่ลิงกา (มั่ว) ถูก ผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้มีตั้งแต่ n = 0 (กาผิดหมด) n = 1 (ถูก 1 ข้อ) n = 2 (ถูก 2 ข้อ) ไปเรื่อยๆ จนถึง n = 20 (ลิงมั่วถูกหมด ได้คะแนนเต็ม) รวมทั้งสิ้น 21 แบบ

หากให้ P(n) เป็นความน่าจะเป็นที่ลิงจะทำข้อสอบแบบมั่วๆ ทั้ง 20 ข้อแล้วตอบถูกจำนวน n ข้อ จะพบว่า

P(n) = สัมประสิทธิ์ของเทอม an bN-n ในการกระจายทวินาม (a+b)N หารด้วย (a+b)N

โดยที่ a = 1 (ตัวเลือกที่ถูกต้อง 1 ตัวใน 4 ตัวเลือก), b = 3 (ตัวเลือกลวง 3 ตัวใน 4 ตัวเลือก) และ N = 20 (จำนวนข้อสอบทั้งหมด)

จะเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ได้ดังนี้

 

gt200 07

สัญลักษณ์! หรือ factorial เช่น 5! = 5 x 4 x 3 x 2 x 1 = 120 โดยที่ 1! = 1 และ 0! = 1

ตารางและกราฟด้านล่าง แสดงโอกาสหรือความน่าจะเป็น (probability) ของจำนวนข้อที่ลิงตัวนี้จะมั่วข้อสอบถูก เช่นโอกาสที่ลิงตอบผิดหมด (n = 0) เท่ากับ 0.317% กล่าวคือหากให้ลิง 1,000 ตัวทำข้อสอบแบบนี้ ก็จะมีประมาณ 3 ตัวที่ตอบผิดหมดทุกข้อ

ตารางและกราฟแสดงความน่าจะเป็น ในการสุ่มตรวจพบจำนวนกล่องที่มีวัตถุระเบิด

จำนวนครั้งที่พบ ความน่าจะเป็น (%)
0 0.317
1 2.114
2 6.695
3 13.390
4 18.969
5 20.233
6 16.861
7 11.241
8 6.089
9 2.706
10 0.992
11 0.301
12 0.075
13 0.015
14 0.002569871867
15 0.000342649582
16 0.000035692665
17 0.000002799425
18 0.000000155524
19 0.000000005457
20 0.000000000091

gt200 06

ข้อมูลนี้มีจุดสำคัญอย่างน้อย 2 จุด ดังนี้

จุดสำคัญที่ 1 : ผลลัพธ์ที่มีโอกาสสูงสุด 7 อันดับแรก (เรียงจากมากไปหาน้อย) ได้แก่ ตอบถูก 5 ข้อ (20.2%) ตอบถูก 4 ข้อ (19.0%) ตอบถูก
6 ข้อ (16.9%) ตอบถูก 3 ข้อ (13.4%) ตอบถูก 7 ข้อ (11.2%) ตอบถูก 2 ข้อ (6.7%) และตอบถูก 8 ข้อ (6.1%) ซึ่งหากรวมโอกาสที่จะตอบถูกใน 7 อันดับแรกนี้จะมีโอกาสสูงถึง 93.5% (จริงๆ แล้ว หากรวมโอกาสที่จะตอบถูกเพียง 5 อันดับแรกก็จะมีโอกาสสูงถึง 80.7% แล้ว)

ความหมายสำหรับกรณีการทดสอบ GT200 : ในแต่ละครั้งหากมีการเลือกกล่องอย่างสุ่มๆ (ชี้มั่วส่งเดช) รวม 20 ครั้ง ก็จะพบว่ามีโอกาสสูงถึง 93.5% ที่กล่องที่ถูกเลือกจะมีวัตถุระเบิดได้ตั้งแต่ 2 ถึง 8 กล่อง

นั่นคือหากมีสมมุติฐานว่า GT200 ไม่สามารถตรวจหาระเบิดได้จริง จำนวนกล่องที่พบว่ามีระเบิดซ่อนอยู่ก็น่าจะตกในช่วงนี้

จุดสำคัญที่ 2 : ผลรวมของโอกาสที่ลิงตัวหนึ่งจะมั่วถูกเกิน 5 ข้อ คือตอบถูกตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไปจนตอบถูกหมดทั้ง 20 ข้อ มีค่าสูงถึง 38.3% (ค่านี้
ได้มาจากโอกาสตอบถูก 6 ข้อ + โอกาสตอบถูก 7 ข้อ + …. + โอกาสตอบถูก 20 ข้อ = P(6) + P(7) + … + P(20) = 16.9% + 11.2% + …. + 0.000000000091%)

ความหมายสำหรับกรณีการทดสอบ GT200 : เราไม่สามารถใช้เกณฑ์ง่ายๆ เพียงแค่ว่า หากผลการทดสอบที่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย (คือ 5 กล่อง) ก็ถือได้ว่า GT200 สามารถค้นหาวัตถุระเบิดได้จริง เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เข้าเกณฑ์นี้มีสูงถึง 38.3% ทีเดียว

โปรดสังเกตตัวเลข 38.3% นี้ไว้ เพราะจะปรากฏอีกครั้งเมื่อเราใช้เป็นตัวเลขระดับความผิดพลาดที่ยอมรับได้ในการกำหนดเกณฑ์ตัดสินว่าเครื่อง GT200 ใช้งานได้หรือไม่

เมื่อเข้าใจความหมายของตารางและกราฟนี้แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเกณฑ์ในการตัดสินว่า GT200 สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้หรือไม่ การเลือกเกณฑ์ดังกล่าวมีหลายวิธี โดยวิธีที่อ้างอิงกับข้อมูลจากตารางนี้โดยตรงจะใช้ระดับความผิดพลาดที่เรายอมรับได้ ดังนี้

จำนวนกล่องที่หาระเบิดพบ
“จำนวนข้อต่ำสุดที่ลิงตอบถูก”
ระดับความผิดพลาด(%)
“โอกาสที่ลิงมั่วคำตอบถูก”
6 38.3 %
7 21.4 %
8 10.2 %
9 4.1 %
10 1.39 %
จากตารางนี้จะเห็นว่า

– หากเรากำหนดระดับความผิดพลาดว่าต้องไม่เกิน 10% จำนวนกล่องใส่วัตถุระเบิดต่ำสุดที่พบในการทดลองก็จะต้องมีอย่างน้อย 9 กล่อง (เพราะหากพบแค่ 8 กล่อง ก็ยังอาจผิดพลาดได้ 10.2%)

– หากเราต้องการให้มั่นใจยิ่งขึ้น โดยยอมรับระดับความผิดพลาดได้ไม่เกิน 1% ก็ต้องหากล่องใส่วัตถุระเบิดให้พบอย่างน้อยที่สุด 11 กล่อง

น่าสนใจว่า เมื่อปี ค.ศ. 2002 ห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดีย (Sandia National Laboratories) ทำการทดสอบอุปกรณ์ MOLE ซึ่งอ้างว่าสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้ โดยใช้วิธีการทดสอบในลักษณะเดียวกับ GT200 นี้ (น่ารู้ไว้ด้วยว่าอุปกรณ์ MOLE นี้ก็ผลิตโดย Global Technical Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิต GT200 เช่นกัน!) เกณฑ์ที่ใช้คือ 13 กล่อง (จากการสุ่มหา 20 ครั้ง) เพื่อให้ได้ระดับความผิดพลาด 0.018% หรือผิดพลาดประมาณ 2 ครั้งในการทำการทดสอบ 10,000 ครั้ง แต่จากการทดสอบตรวจพบเพียงแค่ 6 กล่อง (จาก 20 กล่อง) จึงถือว่าการตรวจหาวัตถุระเบิดด้วย MOLE ไม่แตกต่างจากกระบวนการเดาสุ่ม (คุณผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดสามารถอ่านได้จากบทความ “ Double -Blind Field Evaluation of the MOLE Programmable Detection System” เขียนโดย Dale Murray โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้จากเว็บไซต์ที่ให้ไว้ในขุมทรัพย์ทางปัญญา)

เมื่อได้ทราบเกณฑ์เช่นนี้แล้วก็คงไม่แปลกใจว่า เหตุใดผลการทดสอบ GT200 ซึ่งพบกล่องวัตถุระเบิดเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง จึงทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์แถลงว่าไม่ต่างจากการเลือกอย่างเดาสุ่ม และตัดสินใจสั่งระงับการจัดซื้อ GT200 เพิ่มเติม ผลการทดสอบนี้ยังสอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่า ข้อมูลทางเทคนิคของ GT200 ขัดกับหลักทางฟิสิกส์และขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในปัจจุบันในหัวข้อมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตามที่ได้ให้รายละเอียดไว้แล้ว

ข้อสังเกตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณี GT200
1. หลักการทำงานของอุปกรณ์เป็นประเด็นสำคัญ
จากประสบการณ์การจัดซื้อและใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผมทำงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเด็นสำคัญแรกสุดที่ต้องพิจารณาคือหลักการทำงานของเครื่องมือและอุปกรณ์นั้น หลักการที่ว่านี้จะต้องสามารถตรวจสอบทางวิชาการได้ เช่น มีระบุไว้ในหนังสือตำราหรือบทความวิจัยที่ผ่านการตรวจสอบโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว

แต่หากบริษัทผู้ผลิตอ้างว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใช้หลักการใหม่ที่บริษัทคิดค้นขึ้น หลักการใหม่ดังกล่าวก็ต้องมีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ (เช่นไม่ขัดแย้งกับกฎทางฟิสิกส์) และทางเทคโนโลยี (นั่นคือขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงเพียงพอ)

ในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์นั้น หากด่านแรกสุดคือหลักการทำงานไม่ผ่านเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาแง่มุมอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการสาธิต ราคา อ็อปชันเพิ่มเติม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ (เช่น การฝึกอบรม หรือการดูงานในต่างประเทศ)ในทำนองกลับกัน หากยึดหลักการที่ว่าหน่วยงานของรัฐใดๆ ก็ตามสามารถจัดซื้อและใช้งานอุปกรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักการทำงานที่ถูกหลักวิชาการรองรับแล้ว จะส่งผลอย่างไรบ้างต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนั้น

2. ควร “ผ่า” GT200 เพื่อตรวจสอบกลไกการทำงาน
การแกะ หรือ “ผ่า” GT200 เพื่อตรวจสอบกลไกภายในจะช่วยให้เราเข้าใจว่าอุปกรณ์นี้มีการออกแบบอย่างไร? เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างหรือไม่? และที่สำคัญที่สุดคือสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่?

การตรวจสอบกลไกภายในยังเป็นการทดสอบสมมุติฐานที่ว่า GT200 ทำงานโดยใช้หลักการเดียวกับ “ไม้ล้างป่าช้า” หรือ dowsing rod ดังที่มีนักวิชาการบางท่านเสนอไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่อีกด้วย

ในวันที่ผมส่งต้นฉบับบทความนี้ (พฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2553) รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแกะ GT200 เพื่อตรวจสอบอย่างเป็นทางการ แต่องค์กรอุณาโลมได้ดำเนินการแกะ GT200 และการ์ดที่ใช้กับ GT200 แล้ว พบว่าไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือกลไกใดๆ ที่บ่งชี้ว่า GT200 สามารถทำงานได้จริง

อนึ่ง ข้อสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทผู้ผลิตว่าห้ามผู้ใช้แกะอุปกรณ์นี้ เป็นข้อสัญญาที่ส่อพิรุธและไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ของที่เราซื้อมาด้วยเงินของเรา ทำไมจะแกะดูข้างในไม่ได้? ประเด็นนี้คงต้องฝากให้นักกฎหมายช่วยกรุณาหาทางออกที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยมากที่สุด

3. ข้อวิจารณ์ต่อคำกล่าวอ้างแบบเตลิดเปิดเปิง
มีผู้ที่ยังเชื่อมั่นใน GT200 ได้เสนอความคิดเห็นหลายรูปแบบในเวทีต่างๆ รวมทั้งผ่านสื่อมวลชน ผมขอยกตัวอย่างพร้อมข้อโต้แย้งและคำถามกลับไปให้คิดดังนี้

“GT200 อาจใช้หลักการทางควอนตัมฟิสิกส์”
ข้อโต้แย้ง & คำถาม
: หากมีผู้เสนอเช่นนั้นก็ลองถามคำถามกลับไปว่า
1) หลักการทางควอนตัมที่ว่านั้นคืออะไร?
2) หลักการดังกล่าวนั้นสามารถนำมาใช้ในการตรวจจับสาร เช่นวัตถุระเบิดหรือยาเสพติด ได้อย่างไร?
3) การออกแบบและการผลิต GT200 เป็นไปตามหลักการดังกล่าวหรือไม่?
4) เหตุใดบริษัทผู้ผลิตจึงไม่ระบุหลักการทางควอนตัมดังกล่าวในเอกสารของบริษัท แต่กลับอ้างถึงสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารา (ดังที่ได้วิเคราะห์ในหัวข้อ มุมมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

“อุปกรณ์นี้ไม่ใช่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ แต่มันทำงานได้ในพื้นที่”
ข้อโต้แย้ง & คำถาม : หากมีผู้เสนอเช่นนั้นก็ลองถามกลับไปว่า

1) แล้วเหตุใดบริษัทผู้ผลิตจึงอ้างถึงศัพท์วิทยาศาสตร์จำนวนมากในข้อมูลทางเทคนิคของเครื่อง (เช่น ใช้ไฟฟ้าสถิตเป็นแหล่งพลังงาน ใช้การตรวจจับสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารา เป็นต้น) เพื่อให้ GT200 ดูประหนึ่งเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์

2) หลักการตรวจจับสารของ GT200 เป็นอย่างไร? การ์ดแต่ละใบที่อ้างว่าใช้กับสารจำเพาะหนึ่งๆ ทำงานอย่างไร? ชิ้นส่วนที่คล้ายเสาอากาศชี้ไปในทิศทางต่างๆ ได้อย่างไร? โดยขอคำอธิบายแบบที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์!

3) การที่ผู้ใช้ตรวจพบวัตถุระเบิดในพื้นที่นั้นจริงๆ เป็นเพราะอะไรกันแน่? (การข่าวที่ถูกต้อง ความชำนาญในพื้นที่ หรืออื่นๆ ประกอบกัน) ทราบไหมว่าระเบิดที่ตรวจหาไม่พบมีเท่าไร? จำนวนเป้าที่ชี้ผิด (โดยเฉพาะที่เป็นคน) มีเท่าไร? นั่นคือการอ้างถึงสถิติความสำเร็จโดยใช้ความรู้สึกว่า “มันทำงานได้ในพื้นที่” เป็นข้อมูลที่ควรรับฟังไว้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของรัฐ ดังเช่นในกรณีของ GT200 นี้

4. อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ในช่วงเวลาที่พบปัญหาเกี่ยวกับ GT200 นี้ มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถตรวจจับวัตถุระเบิด และ/หรือสารเสพติด อีกอย่างน้อย 2 ชนิดที่เข้าข่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จอมปลอม ได้แก่ ALPHA6 และ HEDD1

ALPHA6 :
ALPHA6 หรือ ALPHA6 Molecular Locator อ้างว่าใช้การตรวจจับการเกิดเรโซแนนซ์ของสนามแม่เหล็กที่ส่งมาจากสารที่ต้องการตรวจหา โดยมีความไวในการตรวจวัดระดับ 15 นาโนกรัมที่ระยะ 150-300 เมตร อุปกรณ์นี้อ้างว่าใช้แหล่งพลังงานจากไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นขณะผู้ใช้กำลังหายใจ และมีเสาอากาศชี้ทิศทางในทำนองเดียวกับ GT200

ในประเทศไทยมีการใช้งานอุปกรณ์ ALPHA6 อย่างน้อย 494 เครื่อง โดยเน้นหนักไปในงานด้านการตรวจจับหายาเสพติด

เนื่องจาก ALPHA6 มีลักษณะคล้ายคลึงกับ GT200 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกทดสอบประสิทธิภาพในลักษณะเดียวกับ GT200 ในความเห็นของผม อุปกรณ์นี้ไม่น่าจะผ่านการทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าว เพราะหลักการที่อ้างถึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางฟิสิกส์ และหากยังมีความเชื่อว่าอุปกรณ์นี้ทำงานได้ ก็ควรทำการ “ผ่า” เพื่อพิสูจน์ให้หมดสิ้นซึ่งข้อสงสัยนั้น

HEDD1 :
HEDD1 หรือ Handheld Explosive Detection Device เป็นอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้ในระยะไกล โดยให้สนามแม่เหล็ก
โมดูเลตเต็ด (Modulated Magnetic Field, MMF) จากเครื่อง HEDD1 เกิดอันตรกิริยากับสนามแม่เหล็กที่มาจากสารที่ต้องการตรวจหาและสนามแม่เหล็กโลก

อย่างไรก็ดี บริษัท ยูนิวัล กรุ๊ป จากเยอรมนี ได้จัดการสาธิต HEDD1 ที่โรงแรมดิเอมเมอรัล ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 แต่การสาธิตดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ดังพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น “เครื่อง 7 แสนจากเยอรมนีจัดโชว์นักช่าว แฝดจีทีโผล่ หน้าแหกซ้ำ” (คมชัดลึก 20 ก.พ. 2553) และ “…เอกชนหน้าแหกโชว์รุ่นใหม่…” (เดลินิวส์ 20 ก.พ. 2553)

น่าสังเกตว่า เมื่อ GT200 หมดสิทธิ์ขายในประเทศไทย ก็มีบางบริษัทเสนอตัวเข้ามานำเสนออุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันทันที

5. สังคมไทยควรจะทำอะไรต่อจากกรณีนี้?
กรณี GT200 ทำให้สังคมได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ หลายด้าน ในที่นี้จะขอเสนอตัวอย่างกิจกรรมที่วงการต่างๆ อาจจะดำเนินการต่อได้ดังต่อไปนี้

วงการวิทยาศาสตร์ : น่าชื่นชมอย่างยิ่งว่าในวงการวิทยาศาสตร์ เรามีนักวิชาการที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมโดยกล้าออกมาเปิดโปงเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของ GT200 นั่นคือ ผศ.ดร. (ว่าที่ร้อยตรี) เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และคุณจุฬา พิทยาภินันท์ พร้อมกันนี้ก็ต้องชื่นชมชาวหว้ากอใน pantip.com ที่ช่วยให้การสนับสนุนและยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง

แต่ขณะเดียวกันก็มีเรื่องน่าพิจารณาอย่างยิ่งว่า เหตุใดนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีทั้งหลาย (โดยเฉพาะที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ) ตลอดจนสถาบันและองค์กรต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงมีความตื่นตัวในการแสดงจุดยืนของตนต่อกรณี GT200 น้อยมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและท่าทีให้เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและสังคมไทยโดยรวมมากขึ้น ทั้งในระดับจิตสำนึกของแต่ละคนและระดับนโยบายของแต่ละองค์กร

วงการศึกษา : ครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาสามารถใช้กรณี GT200 ในการเรียนการสอนได้ ตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์อาจศึกษากระบวนการทดสอบ GT200 และทำการคำนวณโดยความน่าจะเป็น วิชาจิตวิทยาอาจศึกษาว่าเหตุใดวิทยาศาสตร์จอมปลอม (อย่างเช่น GT200) จึงมีพลังในการโน้มน้าวผู้ใช้จำนวนไม่น้อยให้เชื่ออย่างสนิทใจเช่นนี้

วงการสื่อสารมวลชน : นอกจากจะช่วยเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน หรือที่เรียกว่า Public Understanding of Science แล้ว อยากให้พิจารณาการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ (พิษภัย) วิทยาศาสตร์จอมปลอม หรือ Public Awareness of Pseudo-Science อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดคดีหรือกรณีใหญ่ๆ เช่นนี้ขึ้นมาก่อน

กรณี GT200 (และกรณีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน) จะเป็นบททดสอบสังคมไทยว่าจะให้ความสำคัญกับวิชาการที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำแหล่งข้อมูลต่อไปนี้
– http://www.gt200.org (เว็บไซต์ของไทยซึ่งเกาะติดกรณี GT200 และกรณีอื่นๆ ใกล้เคียงกัน)
– http://en.wikipedia.org/wiki/GT200
– http://www.justnet.org/Lists/JUSTNET%20Resources/Attachments/440/moleeval_apr02.pdf (บทความจาก Sandia National Laboratories ซึ่งอธิบายการทดสอบอุปกรณ์ MOLE)
– http://gotoknow.org/blog/science/343917 (รวบรวมภาพ คลิป และ ลิงก์เกี่ยวกับการแกะ GT200 และการ์ด)
– http://www.tnspl.in/solutions/Surveillance/Alpha6.pdf (ข้อมูลเกี่ยวกับ ALPHA6 จากผู้ผลิต)
– http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha_6
– http://www.hazard-detection.com/images/HEDD1_presentation_2010.pdf (ข้อมูลเกี่ยวกับ HEDD1 จากผู้ผลิต)
– http://gotoknow.org/blog/science/336972 (เว็บล็อกของผมสำหรับกรณี GT200)