ร้านหนังสือที่รัก
หนุ่ม หนังสือเดินทาง
คนรักหนังสือ คนทำร้านหนังสือ เดินทางสำรวจร้านหนังสือทั่วนิวซีแลนด์
เล่าเรื่องราวของผู้คนที่ทำร้านหนังสือด้วยใจรัก และมิใช่เพียงความฝัน

timeout1timeout2

แม้เป็นร้านเล็กคูหาเดียว แต่ได้รับรางวัลร้านหนังสือยอดเยี่ยมมาแล้วหลายครั้ง

ละแวกบางลำพูมีร้านอาหารกึ่งผับเล็กๆ อยู่ร้านหนึ่งที่มีการเล่นดนตรีสดทุกคืน

ร้านที่ว่ามีขนาดคูหาเดียว แต่แทบทุกคืนกลับมีคนเข้าไปอยู่ในนั้นไม่ต่ำกว่าครึ่งร้อย ซึ่งนั่นทำให้บรรยากาศในร้านเป็นไปอย่างแนบแน่นใกล้ชิดชนิดที่คนฟังแทบจะยื่นมือไปเช็ดเหงื่อให้นักดนตรีได้

ร้านเล็ก คนเยอะ รสชาติอาหารอาจไม่เด่น แต่สิ่งที่ผู้คนมาดื่มกินคือเสียงเพลงและมิตรภาพ  ร้านที่ว่านั้นเจ้าของคือชายหนุ่มที่เป็นทั้งนักดนตรีและผู้บริหาร  ด้วยอยู่กับดนตรีและอยู่กับร้านมานาน ที่ผ่านมาเขาเลยได้ฝึกปรือจนมีทางดนตรีเป็นของตัวเอง ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าเขาคือมือกีตาร์อันดับต้นๆ ของประเทศโดยเฉพาะดนตรีในสายกีตาร์บลูส์

ทว่าชายหนุ่มก็หาได้เปลี่ยนไปเพราะชื่อเสียงดังกล่าวไม่

เคยมีการวิเคราะห์กันในแวดวงคนทำร้านว่า สาเหตุที่ทำให้ร้านเขาอยู่มาได้เป็นเพราะบุคลิกอย่างว่า คือเป็นคนง่ายๆ เปิดกว้าง ให้เกียรติผู้อื่น ทำให้ร้านของเขากลายเป็นชุมทางของนักดนตรีทั่วโลก  นักเดินทางหลายคนที่พกทักษะดนตรีมาด้วยมักมีโอกาสได้โชว์ฝีมือ ซึ่งนั่นกลายเป็นบันไดให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่จนบรรยากาศการแจมดนตรีกัน (Jam Session) โด่งดังไปไกลข้ามทวีป  ว่ากันว่า มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger) แห่งวง The Rolling Stones ยังเคยอยากมาฟังดนตรี ณ สถานที่แห่งนี้โดยได้ขอให้ทางร้านกันลูกค้าส่วนหนึ่งออกไปเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเจ้าของร้านหนุ่มไม่อาจทำตามความต้องการของเขาได้  มิก แจ็กเกอร์ เลยไม่ได้มา

อย่างไรก็ดี ประเด็นน่าสนใจคือไม่นานมานี้เมื่อมีโอกาสเจอชายหนุ่มเจ้าของร้าน ผมถามเขาว่าในเมื่อร้านก็อยู่มานาน แถมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เคยอยากขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นบ้างไหม  เขาตอบกลับมาว่า “ไม่…ที่คิดอยู่มีอย่างเดียวคือทำอย่างไรจึงจะให้คุณภาพของร้านดีขึ้นกว่าเดิม”  ถ้อยคำที่แสดงออกถึงหัวจิตหัวใจของเขานี้เอง

เมื่อลองคิดตาม ผมพบว่ามันคล้ายกลเม็ดในการบริหารร้านหนังสืออยู่ไม่น้อย

กรณีนี้บอกเราว่า ไม่ว่าร้านอาหาร ร้านหนังสือ หรือร้านเหล้า หลายครั้งที่เล็กนั้นใช่เล็กเพราะขยายใหญ่ไม่ได้ แต่เล็กเพราะเจ้าของตั้งใจอย่างนั้น และก็เพราะเล็กนั่นแหละพวกเขาเลยอยู่มาได้แม้ทิศทางธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลง  ที่เมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ ก็เช่นกัน ยังมีร้านหนังสือที่ยืนยันว่าขนาดไม่ใช่ปัญหาเลยตราบใดที่ใส่ใจเรื่องคุณภาพ  ร้านหนังสือร้านนี้ชื่อ Time Out Bookstore ร้านเล็กๆ ขนาด ๑ คูหา ทว่ากลับเป็นที่กล่าวขานไม่ต่างอะไรกับร้านของชายหนุ่มนักดนตรีย่านบางลำพู

ในย่านเล็กๆ ที่เรียกว่า เมาท์เอเดน (Mt. Eden) ห่างจากตัวเมืองออกมาราวครึ่งชั่วโมง Time Out Bookstore ทำหน้าที่เป็นร้านหนังสือของชุมชนมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี  ครั้งหนึ่งตอนที่ยังไม่คุ้นกับประเทศนิวซีแลนด์ ขณะอยู่บนรถประจำทางผมเคยเห็นร้านนี้แวบหนึ่ง และก็แวบเดียวจริงๆ เนื่องจากร้านรวงในย่านนี้ล้วนเป็นร้านเล็กๆ ติดๆ กัน การนั่งรถผ่านย่านเล็กๆ ในประเทศที่รถไม่ติดนั้นไม่ต่างกับกำลังดูภาพยนตร์ที่ถูกกดปุ่มให้ภาพเคลื่อนไหวเร็วจนเก็บรายละเอียดอะไรไม่ได้เลย  ถึงอย่างนั้นก็ตามแวบเดียวที่เห็นผมได้แต่บอกตัวเองว่า เจอร้านหนังสือเข้าอีกร้านแล้ว วันหลังคงต้องมา  จนเมื่อตั้งใจตามหาเลยได้รู้ว่าร้านหนังสือแห่งนี้ผ่านการการันตีมาแล้วหลายครั้ง และถ้าถามหาร้านหนังสือที่เชื่อมโยงกับชุมชนได้ดี ร้านนี้ย่อมไม่พลาดที่จะถูกพูดถึง

timeout3timeout4

เล็กก็จริงแต่คนเดินเข้าร้านไม่ขาดสาย

timeout6

ทีมงานที่พร้อมบริกาด้วยความกระตือรือร้น

Time Out Bookstore เปิดครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๘๘ จากนั้นค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงมาเรื่อยๆ  ในปี ๒๐๐๔ ร้านได้รับรางวัล “Independent Bookshop of the Year” ซึ่งวงการหนังสือในนิวซีแลนด์มอบให้แก่ร้านหนังสืออิสระที่มีผลงานโดดเด่น  และในปี ๒๐๐๘ ร้านได้รางวัล “Penguin Independent Bookshop” อันเป็นรางวัลที่สำนักพิมพ์ Penguin มอบให้ร้านหนังสือที่มีผลงานเข้าตา ซึ่งในปีถัดมาร้านก็ได้รางวัลนี้อีก หนำซ้ำในปีเดียวกันร้านยังได้รางวัล “Metro Best Bookshop” จากการจัดอันดับของนิตยสาร Metro

เครื่องหมายรับรองคุณภาพนั้นล้นหลาม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ Time Out Bookstore ใส่ใจอย่างยิ่งกับความรู้สึก  สำหรับคนรักสัตว์ร้านนี้มีที่ให้ล่ามสุนัข ยังไม่นับว่าเจ้าของร้านเองก็เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่ง  หน้าร้านที่ตกแต่งอย่างเป็นเอกลักษณ์นั้น (ลูกค้าบางคนใช้คำว่า “weird window display” หมายถึงว่า แต่งได้แปลกพิสดาร) หากสังเกตให้ดีจะเห็นแมวสีน้ำตาลตัวหนึ่งเดินไปเดินมา บ้างก็นอนตาใสแป๋วอยู่หลังกระจก และแมวก็ได้กลายเป็นโลโก้ของร้านด้วยเช่นกัน  “Oscar” แมวตัวแรกนั้นตายไปเมื่อหลายปีก่อน แมวตัวปัจจุบันชื่อ “Lucinda” แต่สิ่งที่แมวทั้งสองตัวมีเหมือนกันคือความสามารถในการอยู่กับร้านหนังสือราวกับเป็นพนักงานคนหนึ่ง ใครเห็นมันเข้าจำต้องหยุดมอง คนรักสัตว์ต่างอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสัมผัสทักทาย สุดท้ายก็เดินเข้าร้านหนังสือโดยปริยาย

timeout5

เจ้าเหมียว “ออสการ์” สัญลักษณ์มีชีวิตของร้านหนังสือแห่งนี้

Time Out Bookstore มี เวนดี ไทจ์-อัมเบอร์ส (Wendy Tighe-Umbers) เป็นเจ้าของโดยมีทีมงานอีกอย่างน้อย ๔ คนคอยช่วยเหลือ  ไอเดียของเวนดีคือการทำร้านหนังสือดีๆ สักร้านที่อยู่ได้ในทางธุรกิจและเอื้อต่อชีวิตจริงของคนในชุมชน  เวนดีแบ่งภาคบริหารออกเป็น ๒ ส่วน เพื่อให้เชื่อมกับชุมชนเธอเปิดร้าน ๗ วันต่อสัปดาห์ซึ่งถือว่าแปลกมากสำหรับประเทศที่ผู้คนให้ความสำคัญกับกิจกรรมครอบครัว และยังเปิดตั้งแต่เก้าโมงปิดสามทุ่ม (ต้องเข้าใจว่าในนิวซีแลนด์นั้น สี่ห้าโมงเย็นร้านรวงก็ปิดหมดแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่อยู่กับบ้านไม่ก็วิ่งออกกำลังกายตามชายหาด การเปิดร้านถึงสามทุ่มจึงถือว่าดึกมาก) การปิดดึกทำให้ร้านมีชื่อเสียงในฐานะ “New Zealand’s original open late bookshop” (ร้านหนังสือปิดดึกแห่งแรกของประเทศ) ซึ่งข้อดีก็คือ ใครเหงาอยากได้หนังสืออ่านเมื่อไหร่ก็มาได้ ใครนัดเพื่อนแต่เพื่อนยังไม่มาก็มาฆ่าเวลาได้ ใครกินมื้อค่ำเสร็จยังไม่อยากกลับก็แวะชมหนังสือก่อนได้  ร้านได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของชุมชน

เมื่อชุมชนรู้แล้วว่ามีร้านหนังสือ สิ่งที่เวนดีให้ความสำคัญลำดับต่อมาคือคุณภาพ  ในส่วนหนังสือนั้นจัดเป็น ๔ หมวดหลัก คือ

๑. Literary Prizes หมายถึงวรรณกรรมรางวัลทั้งหลาย
๒. Staff Picks หนังสือที่ร้านอยากแนะนำ
๓. Time Out’s Old Favorite หนังสือที่ร้านคิดว่าควรค่าแก่การอ่านอยู่เสมอ
และ

๔. Favorite New Zealand Books หนังสือที่มีชื่อเสียงของนักเขียนในประเทศ
ซึ่งในแต่ละหมวดยังแยกย่อยได้อีกมาก

อย่างไรก็ดี การเลือกหนังสือนั้นเป็นเรื่องที่เวนดีให้ความสำคัญมาก โดยเลือกแต่หนังสือดี หนังสือที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มที่เดินเข้ามา  เมื่อบวกกับการมีพื้นที่ชั้นบนไว้จัดกิจกรรม (Book Club) การมีของเล่นมากมายที่มุมหนังสือเด็ก การที่ทีมงานแต่ละคนแสดงออกชัดว่ารักหนังสือและรักที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นบรรยากาศของการถามไถ่พูดคุย

วันหนึ่ง ผมใช้เวลาอยู่ในร้านนี้หลายชั่วโมง สิ่งที่เห็นชัดคือมีคนเดินเข้าออกตลอด และทุกคนที่เข้ามาดูจะคุ้นเคยกับคนขายเป็นอย่างดี  เห็นเช่นนี้ก็ทำให้มั่นใจว่า แม้ร้านจะเล็กและแม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกล แต่หากทำอย่างใส่ใจ ธุรกิจร้านหนังสือก็ยังมีทางรอด

สอดคล้องกับสื่อในนิวซีแลนด์ที่สำรวจผลกระทบของโลกออนไลน์ต่อธุรกิจร้านหนังสือพบว่า ร้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นร้านยักษ์ใหญ่ ขณะที่ร้านเล็กๆ ยังอยู่รอด บางย่านถึงกับมีร้านเปิดใหม่

ทุกวันนี้ร้าน Borders บนถนน Queen Street ปิดไปแล้วและกำลังจะกลายเป็นลานโบว์ลิงในไม่ช้า ขณะที่ Whitcoulls เป็นร้านหนังสืออีกร้านที่ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน

ด้วยความที่ Whitcoulls เป็นร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของประเทศ หนังสือพิมพ์ New Zealand Herald เคยสอบถามนักอ่านทาง www.newzealandherald.co.nz ว่า คิดว่าร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่ยังมีอนาคตหรือไม่ และเพราะเหตุใด Whitcoulls จึงอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งก็ได้ความคิดเห็นที่น่าสนใจมากมาย

ใครหลายคนบอกว่าโลกออนไลน์ทำให้สะดวกขึ้นและซื้อหนังสือได้ถูกลงจริง ทว่าพวกเขาก็ยังเข้าร้านหนังสือตราบใดที่ในร้านมีหนังสือดี ทั้งนี้ก็เพราะการเข้าร้านหนังสือเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ดี กรณี Whitcoulls นั้นโลกออนไลน์อาจเป็นแค่ปัจจัยเสริม สาเหตุหลักเป็นเพราะร้านไม่ใส่ใจกับคุณภาพของหนังสือที่อยู่ในร้านมากกว่า  ใครบางคนบอกว่าที่ผ่านมา Whitcoulls เน้นขายเฉพาะสินค้าที่ได้เงื่อนไขธุรกิจมาดีมากเกินไปโดยลืมใส่ใจเรื่องคุณภาพ หากยังเป็นเช่นนี้เขาแสดงความคิดเห็นไว้อย่างแสบๆ คันๆ ว่า “ถ้าไม่ปิดเสียก่อน ไม่แน่บางทีร้านหนังสือร้านนี้อาจจะเริ่มขายกล้วย”