โลกใบใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์

Enrique Peñalosa กว่าจะเป็นโบโกตาเมืองจักรยาน (2)

Enrique Peñalosa

กรุงโบโกตาคือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเข้าใจผิดบางประการที่คนทั่วไปมีต่อการสร้าง “เมืองจักรยาน”

ความเข้าใจผิดประการแรกคือ เมืองจักรยานต้องมาจากการมี “วัฒนธรรมการขี่จักรยาน” แต่กรุงโบโกตาให้คำตอบว่า เราต้องมีเลนจักรยานก่อน วัฒนธรรมการขี่จักรยานจึงจะตามมา

ความเข้าใจผิดประการที่ ๒ คือ การสร้างเมืองจักรยานมาจากสำนึกในเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม  แต่กรุงโบโกตาให้คำตอบว่า เมืองจักรยานมาจากสำนึกในเรื่อง “ความเท่าเทียม” ต่างหาก

นักการเมืองติดดิน

คู่แข่งคนหนึ่งที่เป็นผู้สมัครอิสระชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่เคยพ่ายแพ้แก่ อันตานัส มอคคุส ก็คือ เอ็นริเก เปญญาโลซา (Enrique Peñalosa) เขาเกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๘  จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก สหรัฐอเมริกา  จากนั้นไปต่อเอ็มบีเอที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส พร้อมกับทำงานพาร์ตไทม์เป็นคนล้างจานในร้านอาหารและพนักงานยกกระเป๋าในโรงแรม

ถึงแม้ว่าบิดาของเปญญาโลซาซึ่งเคยทำงานในสหประชาชาติ จะมีมิตรสหายเป็นนักการเมืองระดับประธานาธิบดี  แต่เมื่อเปญญาโลซาตัดสินใจลงมาทำงานการเมือง เขากลับเลือกเป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคและไม่อาศัยนักการเมืองหนุนหลัง  ในปี ๒๕๓๓ เปญญาโลซาลงสมัครแข่งขันเป็นสมาชิกสภาคองเกรสของโคลอมเบีย  เขาใช้วิธีการรณรงค์หาเสียงด้วยการเดิน ขี่จักรยาน นั่งรถประจำทางไปแจกใบปลิวและพูดคุยกับประชาชนทุกชนชั้นทุกหนแห่งแบบตัวต่อตัว และเขาก็ยึดมั่นในวิธีการหาเสียงแบบนี้มาตลอดไม่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับไหน

การเลือกตั้งครั้งนั้นเขาได้รับคะแนนเสียงถึง ๒๒,๐๐๐ คะแนนจนได้ที่นั่งในสภา แต่ดำรงตำแหน่งอยู่เพียงปีเดียวเพราะมีการยุบสภาเพื่อลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ในช่วง ๑ ปีนั้นเขานำเสนอหลายโครงการและสามารถผลักดันกฎหมายปฏิรูปรัฐสภาได้เป็นผลสำเร็จ  ในปีถัดมาเปญญาโลซาลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงโบโกตา แต่พ่ายการเลือกตั้ง  อีก ๓ ปีถัดมา เขาลงสมัครอีกครั้ง แต่ก็แพ้ให้แก่ อันตานัส มอคคุส อย่างราบคาบ  เขาลงสมัครเป็นครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๔๐ ด้วยวิธีการหาเสียงแบบเดิม  ครั้งนี้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียด

ความมุ่งมั่น ความอดทน และยึดมั่นในหลักการของตนเองที่แสดงออกมาในวิธีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ เอ็นริเก เปญญาโลซา คงสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพและตัวตนของเขาเป็นอย่างดี  เขาเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามของ อันตานัส มอคคุส ผู้หวือหวา แปลกประหลาด สร้างสรรค์  มอคคุสเป็นนักคิด นักปรัชญา นักสุนทรียศาสตร์ นักการศึกษา และนักการละคร  ส่วนเปญญาโลซาเป็นนักวางแผนและนักปฏิบัติ  บุคลิกภาพอันโดดเด่นของทั้งสองเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวมันเอง

bogota2

ระบบขนส่งมวลชน TransMilenio (ภาพจาก – citiesforpeople.net)

นายกเทศมนตรีผู้มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว

มอคคุสกล่าวว่า แนวคิดของเขามีแกนกลางอยู่ที่จริยธรรม  ส่วนเปญญาโลซาบอกว่า แกนกลางทางความคิดของเขาอยู่ที่ความสุข  ในทัศนะของนายกเทศมนตรีคนใหม่ของโบโกตา ความสุขของมนุษย์คือการมีพื้นที่สาธารณะและการได้รับประโยชน์สุขจากนโยบายสาธารณะอย่างเสมอหน้ากัน

ในการรณรงค์หาเสียง เปญญาโลซาเสนอเมกะโปรเจ็กต์ ๕ โครงการคือ การเคหะ การสร้างสวนสาธารณะ การสร้างโครงข่ายช่องทางจักรยาน การสร้างระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะช่องทางรถประจำทางด่วนพิเศษ การสร้างห้องสมุดและโรงเรียน

เปญญาโลซาหาเสียงไว้อย่างไร เขาก็ปฏิบัติตามนั้น แต่ภาคปฏิบัติย่อมไม่ง่ายดาย  เมกะโปรเจ็กต์ที่เขานำเสนอหมายถึงการเวนคืน รื้อถอนอาคารสถานที่ และโยกย้ายประชาชนจำนวนมาก  เขาโยกย้ายผู้ค้าเร่ออกจากทางเท้าและสั่งห้ามจอดรถบนบาทวิถี เขารื้อสลัมใหญ่ที่สุดกลางเมืองเพื่อสร้างจัตุรัสและเวนคืนที่ดินของสโมสรอภิมหาเศรษฐีมาสร้างสวนสาธารณะ  เขาสั่งยกเลิกรถประจำทางเอกชนที่มีสภาพทรุดโทรมเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบ TransMilenio (ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษหรือ BRT) และจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ในภาวะที่ประชาชนยังไม่ตระหนักเพียงพอว่า “พื้นที่สาธารณะ” หมายถึงอะไร และด้วยความที่เปญญาโลซาไม่ใช่นักสื่อสารที่เก่งกาจเหมือนมอคคุส การเปลี่ยนเมืองหลวงทั้งเมืองให้กลายเป็นไซต์งานก่อสร้างขนาดยักษ์และการดำเนินตามนโยบายอย่างไม่ไว้หน้าใครของเปญญาโลซาได้สร้างความขัดเคืองใจแก่คนทุกชนชั้น การประท้วงจึงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การประท้วงดำเนินไปอย่างดุเดือดเป็นเวลาหลายวัน และในประเทศที่มีอาวุธสงครามซุกไว้เกลื่อนกล่นอย่างโคลอมเบีย มีการใช้ปืนสั้นและปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนบาดเจ็บ  แต่เปญญาโลซายังคงใช้ความอดทน อาศัยเพียงตำรวจปราบจลาจล รถฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานของอารยประเทศ  ในช่วงนั้นความนิยมในตัวเขาตกต่ำเหลือแค่ ๑๘ %  ต่ำกว่าประธานาธิบดีบุชในช่วงที่คะแนนนิยมตกต่ำที่สุดเสียอีก  แม้กระทั่งคณะทำงานและสมาชิกสภาเทศบาลที่เคยสนับสนุนเขาก็เกือบจะละทิ้งเขาเสียแล้ว  ฝ่ายค้านใช้โอกาสนี้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาถอดถอนเปญญาโลซา

โชคดีที่คณะกรรมการยังพอมีความเป็นธรรม  ผลสรุปของการสอบสวนก็คือ คณะกรรมการไม่เห็นด้วยที่จะถอดถอนเขาโดยให้เหตุผลว่า เราจะถอดถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่งเพียงเพราะเขาทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงได้อย่างไร  อีกทั้งเมื่อการรื้อถอนและการปรับพื้นที่สลัมกลางเมืองเป็นจัตุรัสเสร็จสิ้นลง ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่าพื้นที่สาธารณะมีคุณค่าต่อประโยชน์สุขในชีวิต ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในบริเวณรอบข้างให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย  ความนิยมในตัวนายกเทศมนตรีจึงค่อยๆ กระเตื้องขึ้น

bogota3

ภาพจาก : esp.md

โครงข่ายจักรยานเพื่อความเท่าเทียม

แนวคิดการทำช่องทางจักรยานในโคลอมเบียของเปญญาโลซานั้นเป็นแนวคิดของการวางผังแบบบูรณาการ  ช่องทางจักรยานต้องเชื่อมต่อระหว่างจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง ต้องพาผู้คนไปสู่จุดหมายที่พวกเขาต้องการหรือมีธุระต้องไปทำ ต้องเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยเฉพาะระบบรถประจำทาง BRT โดยมีอาคารที่ฝากเก็บรถจักรยานได้จำนวนมาก  และที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัย ดังคำพูดของเปญญาโลซาซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก

“เราไม่ควรหลอกตัวเองด้วยการคิดว่า แค่ตีเส้นไว้บนถนนเฉยๆ ก็คือช่องทางจักรยาน  ช่องทางจักรยานที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๘ ขวบ ไม่ใช่ช่องทางจักรยานที่แท้จริง ”

ระบบโครงข่ายจักรยานในโบโกตาจึงมีผังที่แบ่งออกเป็น ๓ ระดับคือ

โครงข่ายหลัก เชื่อมโยงศูนย์กลางหลักของเมืองโดยตรงและสะดวกที่สุด เช่น เชื่อมโยงย่านการทำงานและการศึกษา กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด และเชื่อมเข้ากับโครงข่ายรอง

โครงข่ายรอง เชื่อมโยงย่านที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และสวนสาธารณะ เข้าสู่โครงข่ายหลัก

โครงข่ายเสริม โครงข่ายย่อยๆ ที่จะช่วยให้โครงข่ายหลักและโครงข่ายรองมีการถ่ายเทที่ดีขึ้น หรือช่วยกระจายความหนาแน่นของจักรยานในบางพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงสู่เครือข่ายสันทนาการต่างๆ

ย่านที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโบโกตาก็คือย่านชุมชนแออัดนั่นเอง  ประชากรที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้จักรยานจึงเป็นคนยากจนที่ไม่มีปัญญาซื้อรถยนต์  การใช้จักรยานช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยให้มีสุขภาพดี ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดมลพิษทางอากาศ และสร้างความรู้สึกถึงศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม  ดังคำกล่าวของเปญญาโลซาที่ว่า

“ช่องทางจักรยานคือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า พลเมืองที่ขี่จักรยานราคา ๓๐ ดอลลาร์ ก็มีความสำคัญเสมอหน้ากับพลเมืองที่ขับรถยนต์ราคา ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์ ”

แต่เนื่องจากโครงการของเปญญาโลซาเป็นเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จและเห็นผลดีของมัน  ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีสมัยต่อมา เขาจึงสนับสนุน อันตานัส มอคคุส ที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง (กฎหมายโคลอมเบียห้ามมิให้นักการเมืองคนเดิมเป็นนายกเทศมนตรีติดกัน ๒ สมัย) โดยแลกกับคำมั่นสัญญาว่าจะสานต่อโครงการที่เขาทำค้างไว้ ซึ่งมอคคุสก็ปฏิบัติตามคำสัญญานั้น เพียงแต่ไม่ใช้วิธีการแข็งกร้าวเหมือนเปญญาโลซา

ผลงานที่นายกเทศมนตรี ๒ คน ๓ สมัยสร้างไว้ให้กรุงโบโกตาในช่วงเวลาประมาณ ๑๐ ปีก็คือ ในปัจจุบัน ทุกๆ วันมีประชากร ๑,๖๐๐,๐๐๐ คนเดินทางด้วยรถประจำทาง BRT ประชากร ๔๐๐,๐๐๐ คนใช้จักรยานในการสัญจร  ปัญหาการจราจรติดขัดลดลง ๒๒ %  สวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ๑,๑๐๐ แห่ง  ห้องสมุดเพิ่มขึ้น ๑๕ แห่ง โดยมีประชาชนเข้าใช้สัปดาห์ละ ๔๐๐,๐๐๐ คน  มีการปิดถนนสายหลักทุกวันอาทิตย์  เด็ก ๙๘.๕ % ได้ไปโรงเรียน  ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้า น้ำประปาและระบบท่อน้ำทิ้ง  อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลง ๕๐ % อาชญากรรมลดลง ๕๐ %

สารคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโบโกตามีหลายเรื่อง  เรื่องที่น่าดูอย่างยิ่งคือ Cities On Speed – Bogotá Change