สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : เรียบเรียงและสัมภาษณ์
สกล เกษมพันธุ์ : ภาพ

48 ปีกับการหาอนุภาคพระเจ้า- โจ อินแคนเดลา อัลเบิร์ต เดอ โรก

ภาพร่องรอยของอนุภาคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการชนกันของโปรตอนในเครื่องเร่งอนุภาค LHC ซึ่งตรวจวัดได้โดยเครื่องตรวจวัดอนุภาค CMS แท่งสีแดง ๒ แท่งแสดงถึงโฟตอนพลังงานสูง ๒ ตัว  ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์หรืออนุภาคพระเจ้า ส่วนเส้นสีเหลืองคืออนุภาคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการชนกัน (ภาพ : CERN)

คุณอาจไม่เคยได้ยินข่าวนี้ คุณอาจไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน

“อนุภาคพระเจ้า” คืออะไร  นี่เป็นการค้นพบของอะไร  มันสำคัญกับชีวิตเราด้วยหรือ

น่าแปลกที่ข่าวการค้นพบอนุภาคพระเจ้า ซึ่งคาดว่าจะดังไปทั่วโลก กลับมีแต่หมู่นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นยินดีกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง หลายคนถึงกับร่ำไห้ดีใจกับการค้นพบครั้งนี้

บางคนบอกว่าเหตุการณ์นี้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าการประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ที่พลิกโฉมหน้าความเข้าใจในเอกภพเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน หรือย้อนไปถึงเมื่อครั้งโคเปอร์นิคัสประกาศว่า โลกเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่ดวงอาทิตย์ต่างหาก

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้โด่งดังอย่าง สตีเฟน ฮอว์คิง เสียพนันให้แก่การค้นพบนี้ ๑๐๐ ดอลลาร์ เพราะเขาพนันอยู่ข้างไม่มีอนุภาคพระเจ้า

ชื่อทางการของอนุภาคพระเจ้า คือ อนุภาคฮิกส์ (Higgs particle) หรือ ฮิกส์โบซอน (Higgs Boson)

ชื่อเรียกออกเสียงแปลกนี้มาจากชื่อของ ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๐๗ ว่ามีอนุภาคชนิดใหม่อยู่ในธรรมชาติ  แต่ตลอดเวลาเกือบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา นักฟิสิกส์ซึ่งพยายามค้นหาอนุภาคฮิกส์ ยังไม่อาจคว้าตัวมันมาแสดงต่อสาธารณชนได้สำเร็จ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นักฟิสิกส์ขององค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ CERN ประกาศการค้นพบอนุภาคฮิกส์ โดยมี ปีเตอร์ ฮิกส์ ในวัย ๘๓ ปี ร่วมอยู่ในงานแถลงข่าวด้วย  เขากล่าวว่า

“ผมขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่มีส่วนในความสำเร็จครั้งนี้  มันเหลือเชื่อจริงๆ ที่การค้นพบนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่”

การค้นพบนี้ทำให้เป็นที่คาดหมายว่า ปีเตอร์ ฮิกส์ น่าจะได้รับรางวัลโนเบลอย่างไม่ต้องสงสัย

ทำไมการค้นหาอนุภาคฮิกส์จึงเป็นเรื่องยากและใช้เวลายาวนาน และเหตุใดถึงเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ ๒๑  และที่สำคัญ ฮิกส์คืออะไร