เฟย์
www.faylicity.com

คนกับหนังสือ : Burma Chronicles บันทึกชีวิตในพม่าพม่ามีแนวพรมแดนติดประเทศไทยเป็นระยะทางยาวกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตรตั้งแต่เชียงรายถึงระนอง ซึ่งยาวกว่าแนวพรมแดนไทย-ลาว  แต่น่าแปลกใจไหมเล่าที่เรารู้จักเรื่องของพม่าน้อยเหลือเกิน  ใครที่อยากรู้จักพม่าในแง่ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือการเมือง แต่อยากรู้ว่าผู้คนที่นั่นอยู่อย่างไร กินอาหารอะไร ใช้ชีวิตแบบไหนในปัจจุบัน ขอแนะนำให้อ่าน Burma Chronicles ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เล่าเรื่องเหล่านี้ได้น่าสนใจและอ่านเพลิน

กีย์ เดอลีล ผู้วาดการ์ตูนเรื่องนี้เป็นคนแคนาดา เขาเขียนเรื่องนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อเล่าช่วงชีวิตประมาณ ๑ ปีที่เขากับภรรยาและลูกน้อยไปพักในกรุงย่างกุ้ง ในช่วงที่ภรรยามาประจำการเป็นผู้บริหารโครงการสนับสนุนช่วยเหลือทางการแพทย์ที่นี่ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕-๒๐๐๖

เดอลีลเล่าตั้งแต่การเก็บกระเป๋าเดินทางมาพม่า  เมื่อมาถึงก็เจออากาศร้อนจัด เขาต้องหาที่อยู่ใหม่และได้บ้านในเขตวีไอพี ซึ่งหมายถึงย่านนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารระดับสูง  ย่านนี้มีไฟฟ้าใช้เกือบตลอดเวลาและมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ส่วนคนที่พักย่านอื่นอาจมีไฟฟ้าใช้เพียงวันละ ๒-๔ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไฟฟ้าเหลือใช้จากย่านวีไอพีให้คนพวกนี้เฉลี่ยใช้ร่วมกัน

วัฒนธรรมพม่ามีส่วนคล้ายบ้านเราหลายอย่าง เช่นผู้คนนิยมเรียกกันด้วยชื่อเล่น คนพม่าเล่นสงกรานต์นาน ๔ วันและมักเล่นน้ำรดหลังกัน  บ้านหรูหราในพม่านิยมวางรั้วลวดหนามบนขอบกำแพง ส่วนบ้านหรูหรารองลงมาจะติดเศษแก้วคมไม่ก็ทำรั้วแหลมเฟี้ยว  พม่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสายไฟฟ้าพาดระโยงระยางเหมือนบ้านเรา
มีฝูงหมาจรจัดเป็นเจ้าถนนในยามค่ำคืน และมีแม่ค้าเดินเร่ขายตั๊กแตนคั่ว

หลายสิ่งในพม่าทำให้นึกถึงบ้านเราในอดีต เช่นแม่ค้าเดินขายอาหารพร้อมหอบเก้าอี้มาด้วย พอใครสั่งอาหารก็จะนั่งลงปรุงให้กินตรงนั้น รอลูกค้ากินเสร็จ ล้างถ้วยชามแล้วจึงค่อยเดินขายต่อ หรือคนรับจ้างลับมีดตามตรอกซอกซอย รวมถึงแท็กซี่พม่าก็ไม่มีมิเตอร์ ผู้โดยสารต้องต่อรองราคาเอาเอง

แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ต่างจากบ้านเรามาก เช่นเพราะไม่ค่อยมีไฟฟ้าให้ใช้ต่อเนื่อง ธนาคารต่างๆ จึงไม่มีคอมพิวเตอร์แต่ใช้ระบบแฟ้มเป็นหลัก  ทางเข้าอพาร์ตเมนต์จะมีเชือกติดป้ายเลขห้องผูกกับวัตถุเช่นไม้หนีบผ้าหรือคลิปหนีบกระดาษอันใหญ่ให้ใช้ดึงแทนกระดิ่ง แถมยังใช้เป็นที่ส่งของ (เช่นหนังสือพิมพ์) ให้เจ้าของห้องดึงขึ้นไปได้โดยไม่ต้องเดินลงมา (คงเพราะไฟดับบ่อยจึงไม่ใช้ลิฟต์กัน)

คนพม่าไม่นิยมใช้โทรศัพท์มือถือเพราะราคาแพง  ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมี ๒ เจ้า เจ้าหนึ่งเป็นของรัฐมนตรีคนหนึ่ง อีกเจ้าเป็นของลูกชายเจ้าแรก

คนพม่าชอบกินหมากและบ้วนน้ำหมากเปรอะไปหมดทั้งตามท้องถนนและมุมตึกอพาร์ตเมนต์  คนพม่าเหมือนคนไทยตรงที่ไม่ชอบคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ ส่วนระบบการจราจรที่นั่นเหมาะกับรถพวงมาลัยซ้าย แต่เนื่องจากที่ผ่านมานานาชาติดำเนินมาตรการไม่ส่งสินค้าไปขายในพม่า รถยนต์ที่วิ่งในพม่าส่วนใหญ่จึงเป็นรถมือสองจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นรถพวงมาลัยขวา ทำให้การขับรถที่นั่นน่าระทึกใจไม่น้อย  แถมพม่ายังมีกฎห้ามไม่ให้ขับรถมอเตอร์ไซค์ในเมือง ซึ่งน่าแปลกสิ้นดี ทั้งนี้บ้างก็ว่ากันว่าเพราะนายทหารกลัวจะถูกลอบสังหารโดยมือปืนที่ขี่มอเตอร์ไซค์

burmabook02burmabook03

“สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารกลัวมากที่สุดในประเทศนี้ก็คือเจ้าหน้าที่ทหารด้วยกันเอง การต่อสู้เรื่องอำนาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา” – กีย์ เดอลีล

รัฐบาลทหารปกครองประเทศนี้เบ็ดเสร็จโดยเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภทก่อนเผยแพร่  เมื่อก่อนผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต้องเอาสีเงินมาทาทับเนื้อหาที่ถูกเซ็นเซอร์ หรือใช้กรรไกรตัดเนื้อหาเหล่านั้นออก และต้องรวบรวมเนื้อหาที่ถูกตัดออกให้ครบถ้วนตามจำนวนพิมพ์เพื่อนำไปให้กองเซ็นเซอร์  หลายครั้งที่สิ่งพิมพ์บางส่วนเผยแพร่ออกไปแล้ว ครั้นจะตามเก็บกลับคืนก็ลำบาก สำนักพิมพ์ต้องใช้วิธีพิมพ์ส่วนที่ถูกเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เพื่อนำไปให้ทางการได้ครบตามจำนวน  หนังสือพิมพ์สมัยก่อนจึงอาจมีพื้นที่ว่าง แต่การจัดหน้าด้วยคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้ช่วยให้การจัดหน้าใหม่ทำได้ง่ายขึ้น จึงดูไม่ออกง่ายๆ อีกต่อไปว่ามีการเซ็นเซอร์เกิดขึ้นหรือไม่

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะยกเลิกการเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ แต่ใครที่พิมพ์เนื้อหาไม่เหมาะสมจะต้องถูกดำเนินคดี

รัฐบาลทหารจะสั่งอะไรก็ได้ ดังนั้นเมื่อวันหนึ่งมีการสั่ง “แบน”หนังต่างประเทศโดยอ้างว่าสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ หนังฝรั่งก็หายเกลี้ยงจากแผงดีวีดีเถื่อนภายในข้ามคืน  ขนาดว่าวันดีคืนดีรัฐบาลนึกอยากจะย้ายเมืองหลวงก็ทำได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า เจ้าหน้าที่รัฐมีเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงในการย้ายไปทำงานในเมืองใหม่ ต้องจากครอบครัวและย้ายไปโดยยังไม่มีที่อยู่ ช่วงแรกๆ ต้องอาศัยนอนในสำนักงาน  ผู้คนคาดเดาว่าเหตุที่ย้ายเมืองหลวงคงเป็นเพราะผู้นำเชื่อคำหมอดู

ที่สุดของที่สุดคือนายพลเนวินของพม่าเชื่อเลขเด็ดเลข ๙ เป็นพิเศษ ถึงขนาดว่าในปี ค.ศ. ๑๙๘๗ มีการออกธนบัตรมูลค่า ๔๕ จ๊าด และ ๙๐ จ๊าด (เวลาซื้อของคงเวียนหัวน่าดู) ต่อมาก็ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า ๒๕, ๓๕ และ ๗๕ จ๊าดในชั่วข้ามคืน โดยคนไม่อาจนำธนบัตรเหล่านี้ไปแลกคืนได้ ดังนั้นจู่ๆ เงินในกระเป๋า
ก็น้อยลงเสียอย่างนั้นละ ซึ่งเป็นที่มาของการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษา  จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนพม่าไม่เชื่อในระบบการเงินและธนาคาร ถ้าอยากเก็บออมก็ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะดีกว่า

ที่น่าเศร้าคือ คุณภาพชีวิตอันย่ำแย่ของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนพม่า  บางหมู่บ้านติดเฮโรอีนกันยกหมู่บ้าน ทั้งต้องเผชิญปัญหาโรคเอดส์และมาลาเรีย จนหน่วยงานต่างประเทศที่เข้าไปช่วยเหลือต้องแจกถุงยางอนามัยและเข็มฉีดยาเพื่อป้องกันโรคเอดส์

การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เรารู้จักพม่าในแง่มุมธรรมดาได้ดีมาก เป็นการ์ตูนที่ดูเผินๆ อาจไม่มีลายเส้นสวยงามอะไร ไม่ได้ตลกขำขันสุดขีดในทันที แต่การ์ตูนเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่ค่อยๆ เกาะกุมหัวใจเรา มารู้ตัวอีกทีเราก็อ่านเพลินจนไม่อยากให้เรื่องนี้จบ  การ์ตูนในเรื่องเล่าเป็นบทตอนสั้นๆ ซึ่งหลายตอนมีแต่รูปภาพโดยไม่มีคำพูดเลย แต่ก็เล่าเรื่องได้น่ารัก  การวาดของเขาอาจดูเฉยๆ ไม่โดดเด่น แต่เขาจับภาพต่างๆ ได้แม่นยำมาก  ดูได้จากบทตอนที่เขามาเที่ยวกรุงเทพฯ ทุกรูปที่ดูเรียบง่ายและไม่ตั้งใจวาดนั้นสื่อสถานที่ได้ชัดเจน เขาจับอารมณ์ของสถานที่ต่างๆ ออกมาเป็นภาพได้เก่งมาก

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า หนังสือที่ทำให้รู้จักพม่าจะเป็นการ์ตูนภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาฝรั่งเศส  เพิ่งได้รู้ว่าคำทักทายภาษาพม่าคือ มิงกาลาบา  และเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกดังนี้

“และแล้วชีวิตก็ลงราก ปักหลัก และเปลี่ยนเป็นความจำเจ ท่ามกลางฉากและตัวละครต่างๆ ในความฝัน” – โจเซฟ เคสเซิล (Joseph Kessel) ใน Mogok, The Valley of Rubies (๑๙๕๕)