เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

palm01

ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน แต่ละวันสมจิตจะดูแลลูกตั้งแต่อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ป้อนข้าว ทำแผล ดูดเสมหะ ทำกายภาพบำบัด ฯลฯ โดยมีญาติพี่น้องผลัดกันมาช่วยเหลือ

ปลายเดือนกันยายน ๒๕๕๒

ตอนสายของวันเมื่อพวกเราเข้าไปในบ้านปูนชั้นเดียวขนาดย่อมหลังนั้น น้องปาล์มนอนนิ่งอยู่บนฟูกที่พื้นใกล้ประตูบ้าน โดยมีแม่ ลุงและป้านั่งล้อมอยู่ใกล้ ๆ มองดูเขาด้วยแววตาห่วงใยอาทร  ร่างกายของเด็กชายมีขนาดไล่เลี่ยกับเด็กวัย ๖-๗ ขวบทั่วไป  รูปร่างผอมบาง แขนขายาว ผิวออกคล้ำอย่างคนใต้ ศีรษะค่อนข้างใหญ่ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ทว่าในดวงตากลมโตนั้นจะเห็นว่าลูกตาดำเหลือกขึ้นด้านบนเล็กน้อย ดูคล้ายคนตาลอย  สิ่งที่ทำให้น้องปาล์มแตกต่างจากคนอื่น ๆ คือความรู้สึกรับรู้ต่อโลกภายนอก  แต่ละวันเด็กชายต้องนอนบนที่นอนอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยมีแม่และญาติ ๆ ผลัดกันมาดูแลไม่ให้คลาดสายตา

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า เราเดินทางไปพบพี่สุพร ยุรพันธ์ พยาบาลวิชาชีพและหัวหน้าคลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลระโนด ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อให้พี่สุพรนำทางเรามาเยี่ยมน้องปาล์มที่หมู่บ้านปากบางแห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอระโนดราว ๒ กิโลเมตร  เมื่อมาถึงพี่สุพรทักทายสมจิต แม่น้องปาล์มวัย ๓๖ ปีอย่างสนิทสนมคุ้นเคย เนื่องจากเป็นผู้ดูแลรักษาน้องปาล์มมาตั้งแต่ต้น

พวกเรานั่งคุยกันสักครู่ ลุงอุทิศ พี่ชายของสมจิต ก็ลุกไปหยิบลูกแก้วพลาสติกขนาดใกล้เคียงลูกปิงปองมาให้เราดู

“ทำไมยังเก็บลูกแก้วนี้เอาไว้” ใครคนหนึ่งถามขึ้น

ป้าวิเวก ภรรยาของลุงอุทิศ เป็นคนตอบ “ลุงอุทิศบอกให้เก็บไว้ เผื่อน้องปาล์มหายดีจะได้เอาไว้แล”

ลูกแก้วกลมใสมองเห็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กและหลอดไฟจิ๋วบรรจุอยู่ข้างใน มันเป็นส่วนประกอบของลูกดิ่งโยโย่ ของเล่นยอดนิยมของเด็ก ๆ  ยามลูกดิ่งถูกสะบัดให้หมุนติ้วขึ้นลงตามเส้นเชือก ลูกแก้วแกนกลางซึ่งถูกหุ้มด้วยขอบยางจะเปล่งแสงไฟแวบสีเขียวสีแดงชวนตื่นตา  ใครจะรู้ว่าลูกแก้วลูกเดียวจะทำให้ทั้งชีวิตของน้องปาล์มต้องพลิกผัน และแม่สมจิตต้องเจ็บปวดเสียน้ำตามากมายเพราะชะตากรรมของลูกชายคนนี้

 

-๑-

“วันนั้นผมกลับมาถึงบ้านนึกว่าใครทะเลาะกัน เห็นคนอยู่เต็มหน้าบ้าน” ลุงอุทิศเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตวันที่เกิดเรื่องเมื่อปลายปี ๒๕๔๕

เวลานั้นน้องปาล์มมีอายุเพียงขวบเศษ เป็นเด็กน้อยที่น่ารักและซุกซนตามวัย  วันนั้นสมจิตกำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว ขณะที่น้องปาล์มเล่นกับพี่ชายคนโตและพี่สาวคนรองอยู่ในห้องนอน  คงมีใครสักคนแกะยางชั้นนอกของลูกดิ่งโยโย่ที่หุ้มลูกแก้วออก น้องปาล์มหยิบลูกแก้วนั้นใส่ปากและติดคอ  พี่ ๆ เห็นเข้าก็ตกใจ พยายามล้วงลูกแก้วจากปากน้องแต่ยิ่งเป็นการดันให้มันเลื่อนลึกลงไปอีก

เมื่อสมจิตเห็นอาการลูกชายคนเล็กถึงกับตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ล้วงคออย่างไรลูกแก้วก็ไม่หลุดออกมา กระทั่งน้องปาล์มสลบไปในที่สุด

กว่าจะมีคนหารถพาน้องปาล์มไปส่งโรงพยาบาลในอำเภอได้ก็กินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง  แพทย์ใช้วิธีจับน้องปาล์มห้อยหัวลงแล้วตบต้นคอ ไม่นานก็สามารถเอาลูกแก้วออกจากคอได้ ทว่าสมองที่ขาดออกซิเจนนานเกินไปทำให้เด็กชายยังไม่ฟื้น จึงต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด

สมจิตเล่าให้ฟังว่า วันนั้นเธอไม่ได้ตามไปดูลูกที่โรงพยาบาลตั้งแต่แรก เพราะตกใจจนเป็นลม  และเมื่อเธอไปถึงโรงพยาบาลจังหวัด สมจิตก็ต้องหัวใจสลายเมื่อทราบจากแพทย์และพยาบาลว่าลูกชายของเธอสมองบวมเพราะขาดออกซิเจน ต้องนอนนิ่งกลายเป็น “เจ้าชายนิทรา” คงไม่มีโอกาสกลับมาหายเป็นปรกติ

ช่วงเวลาที่น้องปาล์มนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดนานเดือนกว่า สมจิตไปเฝ้าลูกทุกวันด้วยความเป็นห่วง  ยามนอนก็หลับไม่เต็มตาเพราะความเครียดกังวล  เธอรู้สึกว่าเวลาแต่ละชั่วโมง แต่ละวัน ช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน

สมจิตเล่าว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองของโรงพยาบาลจังหวัด เธอสืบเสาะจนรู้ชื่อและหน้าตา แล้วเที่ยวเดินหาทั่วโรงพยาบาล เจอใครรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงก็จะเดินเข้าไปดูป้ายชื่อ รู้ว่าเขาจะผ่าตัดวันไหนก็จะไปดักรอ แต่ก็คลาดกันทุกที

หลังเฝ้าดักรออยู่เกือบเดือน วันหนึ่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชี้บอกเธอว่าแพทย์ผู้นั้นเพิ่งเดินผ่านไป  สมจิตรีบเดินตามไปจนทัน เธอตื่นเต้นดีใจจนตัวสั่น ละล่ำละลักวิงวอนให้เขาช่วยลูกชายด้วย  แพทย์ผู้นั้นมีท่าทีเห็นใจแต่ตอบปฏิเสธ อธิบายว่าน้องปาล์มมีแพทย์เด็กเป็นเจ้าของไข้อยู่แล้ว

“ใจเย็น ๆ นะครับ ถ้าหากเกินความสามารถจริง ๆ จะมีการประสานงานไปที่ผมเอง” เขากล่าวกับเธอเช่นนี้

ในที่สุดน้องปาล์มออกจากโรงพยาบาลโดยที่อาการยังทรงตัว มองไม่เห็นความหวังว่าจะฟื้นตัวเป็นปรกติ หรือแม้แต่กระเตื้องกว่าที่เป็นอยู่

โรงพยาบาลจังหวัดนัดให้น้องปาล์มไปตรวจเดือนละครั้ง ขณะที่สมจิตยังไม่ละความพยายามที่จะพาน้องปาล์มไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองคนนั้น โดยการพาไปรักษาที่คลินิกส่วนตัวของเขา  ดังนั้นแต่ละเดือนเธอต้องพาลูกไปพบทั้งแพทย์สมองและแพทย์เด็กสลับกัน จึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เฉพาะค่าเหมารถไปจังหวัดก็ครั้งละพันกว่าบาทแล้ว

ครอบครัวของสมจิตประกอบอาชีพทำนา  ในยามปรกติแต่ละปีจะมีรายได้เหลือเป็นเงินเก็บจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากน้องปาล์มป่วยทำให้หมดเงินค่ารักษาไปนับแสนบาท  สมจิตยังต้องหยุดงานในนามาเฝ้าดูแลลูกที่ช่วยตัวเองไม่ได้ สามีต้องจ้างคนมาช่วยทำนา ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนต้องเริ่มกู้หนี้ยืมสิน

แม้ความเครียดและความวิตกกังวลที่รุมเร้ายิ่งเพิ่มขึ้น แต่สมจิตยังทุ่มเทหาหนทางต่าง ๆ เพื่อรักษาอาการของลูกอย่างไม่ย่อท้อ เช่นไปเชิญหมอทำขวัญจากต่างอำเภอมาทำพิธีเรียกขวัญให้น้องปาล์ม ด้วยการท่องคาถาพร้อมประพรมน้ำมนต์ หรือแม้แต่ไปดูหมอเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจตนเองให้พอมีหวัง  หมอดูคนหนึ่งทำนายว่าน้องปาล์มจะวิ่งเล่นได้เหมือนเด็กคนอื่น ๆ เมื่ออายุ ๔-๕ ขวบ หมอดูอีกคนทำนายว่าลูกชายเธอต้องรอถึงอายุ ๑๘ ปี จึงจะหายเป็นปรกติ

“ขอให้มันหายเถอะ…กี่ปีฉันก็รอได้” ครั้งหนึ่งสมจิตเคยพูดเช่นนี้ระหว่างปรับทุกข์เรื่องน้องปาล์ม พี่สุพรได้แต่รับฟังด้วยความสะเทือนใจและซาบซึ้งในความรักของผู้เป็นแม่

palm02

ลูกแก้วที่น้องปาล์มกลืนจนติดคอตอนอายุขวบเศษ

-๒-

เรื่องราวของน้องปาล์มที่พี่สุพรและสมจิตเล่าให้เราฟังชวนให้รู้สึกสะท้อนใจ

นับจากวันที่น้องปาล์มกลืนลูกแก้วจนถึงวันนี้เป็นเวลา ๖ ปีกว่าแล้ว สำหรับบางคนอาจเป็นเวลาแค่ชั่วลัดนิ้วมือเดียว แต่สำหรับหัวอกคนเป็นพ่อแม่เช่นสมจิตและสามีของเธอที่ต้องเห็นลูกชายคนเล็กค่อย ๆ เติบโตมาในสภาพเช่นนี้  เราสงสัยว่าพวกเขาผ่านวันเวลามาด้วยความรู้สึกเช่นไร

ทว่าท่ามกลางความโชคร้าย ยังมีหลายคนเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือครอบครัวสมจิต ดังเช่นญาติพี่น้องและคนในละแวกบ้าน รวมถึงพี่สุพรที่นำทีมเจ้าหน้าที่คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลระโนด แวะเวียนไปเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วันที่น้องปาล์มออกจากโรงพยาบาลจังหวัดในสภาพแทบไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ และสอดสายยางให้อาหารทางจมูกเนื่องจากกินอาหารเองไม่ได้

ในช่วงแรกสมจิตต้องพาน้องปาล์มไปเปลี่ยนสายยางให้อาหารทางจมูกที่โรงพยาบาลจังหวัดบ่อย ๆ  บางครั้งเธอต้องเป็นทุกข์กังวลเมื่อเห็นนางพยาบาลไม่สามารถสอดสายยางเข้าไปทางจมูกลูกได้อย่างราบรื่น

“ครั้งนึงพ่อมันเกือบจะชกพยาบาล  ก็ใส่ไม่รู้กี่ครั้ง ใส่ไม่ได้ก็ยังแยงอยู่อีก แยงจนมีเลือดออก สงสัยพยาบาลคนนั้นคงไม่เคยใส่แน่เลย” สมจิตเล่าให้พี่สุพรฟัง

พยาบาลบางคนพยายามดันสายยางเข้าไปจนน้องปาล์มดิ้น บางทีก็อาเจียน ไปโรงพยาบาลครั้งใดสมจิตได้แต่ภาวนาให้เจอพยาบาลที่เชี่ยวชาญการใส่สายยางให้อาหาร

เมื่อพี่สุพรได้รับฟังปัญหานี้จากสมจิต เธอไม่รีรอจะคิดหาวิธีช่วยเหลือ ติดอยู่ตรงที่แม้ตนเองมีความชำนาญในการเปลี่ยนสายยางให้อาหารอยู่พอสมควร แต่ก็เคยเปลี่ยนให้ผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่เคยเปลี่ยนให้เด็กเล็กที่มีท่อเจาะคอช่วยหายใจอยู่ด้วยมาก่อน

แม้พี่สุพรรู้สึกกังวลอยู่บ้าง แต่เมื่อคิดถึงชะตากรรมที่ครอบครัวของสมจิตได้ประสบ คิดถึงค่าใช้จ่ายและความลำบากยามสมจิตพาลูกไปโรงพยาบาลจังหวัดแต่ละครั้ง รวมถึงความเชื่อใจที่สมจิตมีต่อเธอ ความมุ่งมั่นก็เกิดขึ้นทันที

พี่สุพรเริ่มศึกษาเรื่องการใส่สายยางให้อาหารแก่เด็กที่เจาะคออย่างจริงจัง รวมถึงค้นคว้าเรื่องการรักษาพยาบาลเด็กที่มีปัญหาด้านสมองจนกลืนอาหารไม่ได้ กระทั่งเกิดความมั่นใจว่าสามารถเปลี่ยนสายยางให้อาหารแก่น้องปาล์มได้ จึงนัดสมจิตให้พาลูกมาที่คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว

ในวันที่ลงมือทำจริง พี่สุพรรู้สึกวิตกกังวลอยู่บ้างขณะเลื่อนสายยางผ่านเข้าไปในรูจมูกของน้องปาล์มอย่างช้า ๆ  พลางนึกถึงหลักการที่ศึกษารวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมา  แม้สรีระร่างกายของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่เสียทีเดียว แต่คงไม่แตกต่างกันมากนักในที่สุดพี่สุพรก็ทำสำเร็จ สีหน้าและแววตาของสมจิตเต็มไปด้วยความปลาบปลื้ม

สองสามเดือนหลังจากนั้น พี่สุพรเป็นผู้เปลี่ยนสายยางให้อาหารแก่น้องปาล์มเดือนละ ๒ ครั้ง ทั้งที่คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัวและที่บ้าน  ต่อมาทีมงานคลินิกเวชฯ ประเมินกันว่าพี่สุพรไม่อาจเดินทางไปเปลี่ยนสายยางให้น้องปาล์มที่บ้านได้ทุกครั้ง ขณะที่สมจิตเองก็ค่อนข้างลำบากในการพาลูกมาที่คลินิกเวชฯ ประกอบกับผลสรุปจากการเยี่ยมบ้านว่าสมจิตสามารถดูแลน้องปาล์มได้ดีมาก จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะสอนให้สมจิตฝึกเปลี่ยนสายยางให้อาหารแก่ลูกเอง

“ไม่เอา…ฉันไม่กล้าทำ  หมอใส่เถอะ ฉันไปหาหมอได้ ไม่ลำบากนักหรอก” สมจิตแสดงอาการหวาดหวั่นลังเลเมื่อพี่สุพรเอ่ยชักชวน

“ไม่ต้องกลัวหรอกนะ พี่รู้ว่ายังไงเธอก็ต้องระวังเต็มที่อยู่แล้วเพราะไม่อยากให้ลูกเจ็บ พี่จะยืนอยู่ข้าง ๆ  ยังไงก็น่าลองดูนะ ถ้าใส่ไม่ได้จริง ๆ พี่จะเป็นคนใส่ให้เอง” พี่สุพรพยายามโน้มน้าว ในที่สุดสมจิตก็ตกลงใจจะพยายามทำเพื่อลูก

เมื่อสมจิตพาน้องปาล์มมาที่คลินิกเวชฯ ครั้งต่อมา พี่สุพรจึงเริ่มสอนตั้งแต่การวัด การใส่สายยางทางจมูก รวมถึงการทดสอบว่าสายยางเข้ากระเพาะหรือไม่  เริ่มแรกสมจิตใส่สายยางให้อาหารเข้าทางรูจมูกน้องปาล์มด้วยมืออันสั่นเทาเพราะความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถทำได้สำเร็จจากการฝึกใส่เพียงครั้งเดียว

ในช่วงแรกพี่สุพรให้สมจิตพาน้องปาล์มมาเปลี่ยนสายยางให้อาหารที่คลินิกเวชฯ โดยเธอคอยยืนดูอยู่ด้วย  เมื่อเห็นว่าสมจิตชำนาญขึ้นแล้ว จึงอนุญาตให้เปลี่ยนเองที่บ้านได้

-๓-

เหตุการณ์ที่สมจิตหัดเปลี่ยนสายยางให้อาหารแก่ลูกกระทั่งสามารถทำเองได้ที่บ้าน เกิดขึ้นในช่วงที่น้องปาล์มเพิ่งออกจากโรงพยาบาลจังหวัด

“ที่เราสอนให้สมจิตเปลี่ยนสายยางให้อาหารเอง เพราะรู้ว่าแม่ทำให้ลูกด้วยความรัก ความปรารถนาดี ไม่อยากให้ลูกเจ็บ ก็ต้องระมัดระวังมากที่สุด เรียกว่าใส่สายยางด้วยความรัก  คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เราก็สอนเทคนิคต่าง ๆ ให้” พี่สุพรระลึกความหลัง

นอกจากดูแลเรื่องการเปลี่ยนสายยางให้อาหาร พี่สุพรยังนำทีมสหวิชาชีพของคลินิกเวชฯ ประกอบด้วยพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชนที่มาฝึกงาน ไปเยี่ยมน้องปาล์มที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ  พวกเขายังมีภารกิจอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้การดูแลน้องปาล์ม นั่นคือการรักษาสภาพจิตใจที่บอบช้ำของผู้เป็นแม่ โดยการเป็นคู่คิด คอยให้กำลังใจ ไม่ให้สมจิตเคว้งคว้างหรือรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง

พี่สุพรยังจำได้ดีว่าแรก ๆ ที่น้องปาล์มออกจากโรงพยาบาลจังหวัด แกได้แต่นอนนิ่งเฉย ไร้การตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ  และยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง เช่นมีอาการชัก เกร็ง เหนื่อยหอบ ติดเชื้อ และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย

ทว่าหลังจากพี่สุพรและทีมสหวิชาชีพได้ไปเยี่ยมบ้านระยะหนึ่ง อาการของน้องปาล์มก็ดีขึ้นโดยลำดับ ไม่มีผื่นขึ้นตามตัวอีกต่อไป ได้รับยาแก้อาการชักเกร็งโดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย  ส่วนอาหารเหลวที่ให้ผ่านสายยางนั้นก็มีคุณค่าทางโภชนาการสมบูรณ์ ตามสูตรที่นักโภชนาการแนะนำสมจิต

สมจิตเปลี่ยนสายยางให้อาหารแก่ลูกเองเป็นเวลา ๖ เดือน หลังจากนั้นก็ถอดสายยางออกเนื่องจากน้องปาล์มสามารถกลืนอาหารด้วยตัวเองได้แล้ว นับเป็นพัฒนาการอันเด่นชัดของลูกซึ่งยังความปลาบปลื้มดีใจสู่ผู้เป็นแม่

พี่สุพรเล่าว่า “ที่เรารู้ว่าไม่ต้องใส่สายยางให้อาหารแล้ว เพราะลองป้อนนมหรืออาหารเหลว น้องปาล์มก็ดูดกลืนเองได้ไม่สำลักออกมา  แล้วเราพาน้องปาล์มไปให้แพทย์ตรวจอีกครั้งแพทย์ก็ยืนยันว่าถอดสายยางออกได้”

การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของน้องปาล์ม สาเหตุสำคัญย่อมเกิดจากแม่คอยทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลลูกอย่างดี  ทุกวันสมจิตจะจับน้องปาล์มออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำเธอไว้

เมื่อน้องปาล์มเริ่มกลืนอาหารเองได้แล้ว ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเด็กน้อยก็เริ่มมีอาการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างด้วยการหันมองสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือเสียงที่ได้ยิน

กระทั่งวันที่แม่ พ่อ ลุง ป้า และตายายดีใจที่สุด ก็คือวันที่น้องปาล์มยิ้มได้

 

-๔-

วันที่พี่สุพรพาเรามาเยี่ยมบ้านสมจิต เธอเพิ่งอาบน้ำประแป้งให้น้องปาล์ม แล้วอุ้มลูกมานอนที่ฟูกบนพื้น  น้องปาล์มจึงเป็นเสมือนศูนย์กลาง โดยมีสมจิต ลุงอุทิศ ป้าวิเวก พี่สุพร และพวกเรานั่งพูดคุยอยู่รายรอบเด็กชาย

สมจิตบอกว่าวันนี้เธออาบน้ำให้น้องปาล์มค่อนข้างสาย ปรกติน้องปาล์มจะตื่นนอนราวตีห้า จากนั้นเธอจะจับลูกชายออกกำลังกายทำกายภาพบำบัดประมาณครึ่งชั่วโมง

พอออกกำลังกายแล้ว สมจิตจะเตรียมอาหารปั่นให้ลูกตามสูตรของนักโภชนาการ ซึ่งประกอบด้วยข้าว เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ต้มสุก  ผักต้ม เช่น ตำลึง ฟัก ฯลฯ นำมาเข้าเครื่องบดละเอียด แล้วนำไปป้อนลูก

หลังจากน้องปาล์มกินข้าวเสร็จ สักครู่สมจิตค่อยอาบน้ำให้ลูก  จากนั้นเคาะปอดกระตุ้นให้เสมหะออก โดยการเคาะบริเวณหน้าอกเบา ๆ ขณะนั้นน้องปาล์มที่นอนอยู่หายใจส่งเสียงครืดคราดเบา ๆ และมีเสมหะล้นขึ้นมาจากรูเจาะตรงคอ ถูกลมพ่นจนเป็นฟองเล็ก ๆ  ป้าวิเวกหยิบลูกยางเป่าลมที่ต่อท่อยางขนาดเล็กตรงปลาย บีบลูกยางไล่ลมแล้วหย่อนปลายท่อยางในรูที่คอน้องปาล์มเพื่อดูดเสมหะออกมา หลังจากนั้นน้องปาล์มค่อยหายใจสะดวกขึ้น  ป้าวิเวกเอาท่อยางนั้นไปแช่ล้างน้ำอุ่นในแก้ว

พี่สุพรอธิบายว่า “ตอนนี้น้องยังหายใจเองไม่ได้ ต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจและระบายเสมหะ ไม่เช่นนั้นเสมหะจะอุดตัน น้องจะเหนื่อยหอบ”

สมจิตยังต้องล้างแผลบริเวณรูเจาะที่คอน้องปาล์มวันละครั้ง รอบรูเจาะมีแผ่นโลหะวงกลมรูปวงแหวนปิดทับ โดยมีผ้าก๊อซรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันแผ่นโลหะบาดผิวและซับเสมหะที่อาจล้นออกมาจากรู  สมจิตล้างแผลโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดผิวหนังรอบ ๆ บริเวณรูใต้แผ่นโลหะ และเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่

สมจิตบอกเราว่า ในวันหนึ่งต้องคอยดูดเสมหะจากคอน้องปาล์มประมาณ ๑๐ ครั้ง ดังนั้นทั้งวันน้องปาล์มจึงต้องมีคนดูแลตลอดเวลาไม่ให้คลาดสายตา เพราะปัญหาเรื่องการหายใจ

หากสมจิตมีธุระต้องออกไปนอกบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงของลุงและป้าจะมาช่วยเฝ้าดูแลน้องปาล์มแทน  ทั้งนี้เพราะบ้าน ๕-๖ หลังที่ปลูกติดกันในผืนดินบริเวณนี้ล้วนเป็นบ้านของพ่อแม่และครอบครัวพี่ชายพี่สาวสมจิตทั้งสิ้น โดยบ้านของสมจิตและสามีปลูกอยู่ลึกเข้ามาด้านในสุด แวดล้อมด้วยบ้านหลังอื่น ๆ

หากเป็นเมื่อก่อนแม่ของสมจิตจะมาช่วยดูแลน้องปาล์มเป็นหลัก ตั้งแต่แม่เฒ่าเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ คนที่มาดูแลแทนคือลุงอุทิศ พี่ชายของสมจิต และป้าวิเวก ภรรยาของลุง

สมจิตป้อนอาหารเหลวให้ลูกวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น  แล้วยังป้อนนมตอนเที่ยงและบ่ายสามโมง โดยต้องป้อนช้า ๆ อย่างใจเย็นเพื่อให้น้องปาล์มค่อย ๆ กลืนนมลงคอ หากป้อนนมเร็วไปน้องปาล์มอาจสำลักได้

เวลาน้องปาล์มถ่าย สมจิตต้องพาลูกไปชำระล้างร่างกาย เอาผ้ายางปูรองที่นอนและกางเกงเลอะคราบไปซัก

บางวันสมจิตจะจับลูกออกกำลังกายทำกายภาพในตอนเย็นด้วย  หลังจากกินอาหารเย็นแล้ว น้องปาล์มเข้านอนตอนหัวค่ำในห้องนอนของเธอกับสามี สมจิตเล่าว่าน้องปาล์มนอนหลับสนิทตลอดคืน จนกว่าจะตื่นในตอนเช้ามืดของวันใหม่

ขณะที่สมจิตเล่าเรื่องของเธอและลูกให้เราฟัง บรรยากาศในบ้านค่อนข้างหม่นแสง ชะตากรรมของน้องปาล์มที่เราได้รับรู้ก็ชวนให้รู้สึกหดหู่ในบางช่วง  ระหว่างนั้นเองลุงอุทิศและป้าวิเวกช่วยกันหยอกล้อน้องปาล์ม ด้วยการก้มหน้าลงใกล้ ๆ จับแขนขาน้องปาล์มขยับไปมา และทำเสียงหยอกเย้าหลาน

น้องปาล์มแสดงความสนใจโดยหันมองตามมือและเสียง แล้วไม่นานปากน้อย ๆ ก็เผยยิ้มออกมา…ยามน้องปาล์มยิ้ม ใบหน้าของเด็กชายยิ่งดูน่ารักน่าเอ็นดู รอยยิ้มของน้องปาล์มดูเหมือนทำให้บรรยากาศภายในบ้านสดใสขึ้นมาทันใด

 

-๕-

ช่วงบ่ายวันนั้นสมจิตต้องออกจากบ้านไปช่วยสามีทำงานในนาซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกล ขณะนี้เป็นช่วงเกี่ยวข้าว  ลุงอุทิศและป้าวิเวกอยู่บ้านคอยเฝ้าน้องปาล์มที่นอนกลางวัน  สมจิตบอกว่าช่วงบ่ายแก่ ๆ จะกลับมาทำกายภาพให้น้องปาล์มอีกครั้งหนึ่ง เราจึงนั่งคุยกับพี่สุพรระหว่างรอสมจิตกลับมา

“สำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เช่นน้องปาล์ม หากหวังพึ่งเจ้าหน้าที่มาดูแลตลอดเวลาคงเป็นเรื่องลำบาก เพราะเขาอาจติดภารกิจอื่น ไม่สามารถมาเยี่ยมได้ทุกวัน ครอบครัวและญาติจึงมีส่วนสำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย โดยทางเราจะให้คำแนะนำเรื่องการดูแลผู้ป่วย  สิ่งไหนที่เราดูแล้วเขาทำได้ เราฝึกสอนให้เขาทำเอง แล้วเราติดตามเยี่ยมเป็นระยะ รวมทั้งสนับสนุนยาและอุปกรณ์พยาบาลต่าง ๆ” พี่สุพรอธิบาย

“ในกรณีของน้องปาล์ม สิ่งที่พี่เห็นในตัวสมจิตคือความเป็นแม่ที่รักและอยากจะทำทุกอย่างให้ลูก  ตอนแรกสมจิตไม่กล้าใส่สายยางให้อาหารเอง แต่ตอนหลังเขาก็ตั้งใจจนทำได้  ที่น้องปาล์มมีสุขภาพและพัฒนาการดีขึ้นก็เพราะแม่และญาติช่วยกันดูแล ช่วยบีบนวด ทำกายภาพบำบัด ดูแลทำความสะอาดเวลาฉี่เวลาอึ  ถ้าดูแลไม่ดีจะมีแผล นี่น้องปาล์มไม่มีแผลกดทับเลย”

เสียงรถมอเตอร์ไซค์ดังมาจากหัวถนน สมจิตจอดรถหน้าบ้านและทักทายเรา ขณะที่น้องปาล์มตื่นนอนก่อนแม่จะมาถึงได้สักครู่แล้ว  เราตามสมจิตเข้าไปในบ้าน เห็นลุงอุทิศและป้าวิเวกกำลังหยอกหลานด้วยความเอ็นดู

ลุงอุทิศเลิกทำนาหันมาค้าขายส่วนตัวได้หลายปีแล้ว แกยังเป็น อสม. และหมอนวดพื้นบ้านอีกด้วย  บ่อยครั้งที่ลุงอุทิศมาช่วยนวดร่างกายให้น้องปาล์มรู้สึกสบายตัว

ขณะนี้น้องปาล์มนอนบนฟูกที่เดิม สมจิตเริ่มทำกายภาพให้ลูก ด้วยการยกขาขึ้นลง งอเข่าพับขา บิดเข่าให้ร่างกายท่อนล่างพลิกตะแคงทางซ้ายทีขวาที

“น้องปาล์มรูปหล่อ ไม่ได้เรื่องเลย”

สมจิตกระเซ้าลูก ก่อนเปลี่ยนมาจับแขนน้องปาล์มยกขึ้นหมุนไหล่บริหาร

“เหนื่อยไหมน้องปาล์ม” เธอพูดกับลูกเสียงอ่อนหวาน น้องปาล์มยิ้มรับน่าเอ็นดู

จากนั้นสมจิตประคองน้องปาล์มลุกขึ้นนั่งพิงหลังกับตัวเธอนวดไหล่สองข้างให้แก แล้วประคองน้องปาล์มให้ลุกขึ้นยืนพิงตัวเธอที่นั่งบนเตียงไม้ เธอยกแขนสองข้างของน้องปาล์มขึ้นลง

“ตอนน้องปาล์มออกจากโรงพยาบาลใหม่ ๆ ได้แต่นอนเฉย ๆ ลุกขึ้นนั่งและตั้งคอเองอย่างนี้ไม่ได้ หากจับนั่งคอจะพลิกไปข้างซ้ายและขวา” พี่สุพรบอกเรา

ท่วงท่ากายบริหารนี้สมจิตทำตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำเพื่อกระตุ้นไม่ให้น้องปาล์มมีอาการข้อติดหรือกล้ามเนื้อลีบ ทว่าสมจิตไม่ได้เพียงทำไปตามหน้าที่เท่านั้น ขณะทำกายภาพเธอยังหยอกล้อและแสดงความรักต่อลูกไปด้วย

แม้ขณะนี้น้องปาล์มจะพูดไม่ได้หรือการรับรู้ยังไม่เทียบเท่าเด็กปรกติ แต่แกย่อมสัมผัสได้ถึงความรักของแม่ เห็นได้จากการตอบรับด้วยรอยยิ้มครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างน้อยรอยยิ้มไร้เดียงสาก็บ่งบอกได้ถึงความสุขและความพึงพอใจ

ถึงวันนี้น้องปาล์มยิ้มได้ แสดงให้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เทียบกับเมื่อแรกออกจากโรงพยาบาลที่นอนนิ่งไม่รับรู้โลกภายนอก  อย่างไรก็ตาม พ่อ แม่ ลุง ป้า ต่างรู้ดีว่าความหวังที่น้องปาล์มจะหายกลับมาเป็นปรกติคงเลือนรางเต็มที

“ช่วงเกิดเรื่องใหม่ ๆ ทุกข์ใจมาก ถึงวันนี้ทำใจได้แล้ว  ก็คงต้องดูแลประคับประคองกันอย่างนี้ต่อไปนั่นแหละ” สมจิตบอกเราเช่นนี้ แต่เธอยังเชื่อว่าน้องปาล์มสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอีกในวันข้างหน้า

เราถามสมจิตว่าต้องดูแลน้องปาล์มตลอดเวลาอย่างนี้รู้สึกเหนื่อยบ้างไหม

“เหนื่อยสิ เครียดด้วย” สมจิตบอก “แต่พอเห็นรอยยิ้มของลูกแล้วก็หายเหนื่อย”

 

-๖-

เย็นนั้นเราร่ำลาสมจิต รถของเราแล่นออกสู่ถนน ทิ้งบ้านชั้นเดียวหลังย่อมไว้เบื้องหลัง  แต่หากเรามองกลับไป ย่อมเห็นสมจิตพร้อมลุงและป้ายังอยู่ดูแลน้องปาล์มภายในบ้าน

แม้ชะตาชีวิตจะพลิกผันจนทำให้น้องปาล์มเป็นเช่นนี้ แต่เด็กชายยังมีคนรอบข้างที่รักและเอาใจใส่ พร้อมปกป้องดูแลอย่างทะนุถนอม

และแม้อาการป่วยของน้องปาล์มจะทำให้บ้านของครอบครัวสมจิตกลายเป็นสถานพยาบาล แต่เราเชื่อว่ามันคือโรงพยาบาลที่เปี่ยมไปด้วยความรัก

กรณีของน้องปาล์มดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดที่ว่า การทำบ้านให้เป็นเรือนผู้ป่วยจะช่วยลดภาระการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ทั้งไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ หรือนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน ๆ  อีกทั้งบ้านยังเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นใจ เพราะคุ้นเคยและแวดล้อมด้วยคนในครอบครัว

แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่เป็นการผลักภาระไปให้ครอบครัวหรือญาติดูแลผู้ป่วยตามมีตามเกิดราวกับไม่มีสถานพยาบาลให้พึ่งพา สิ่งสำคัญคือต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาอย่างเป็นระบบ

ดังเรื่องราวของน้องปาล์ม จะเห็นได้ว่าสมจิตและครอบครัวไม่ต้องดูแลลูกชายอย่างโดดเดี่ยว เพราะนอกจากญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชนแล้ว ยังมีพี่สุพรและทีมเจ้าหน้าที่คลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลระโนด คอยดูแลอย่างใส่ใจมาตั้งแต่ต้น ช่วยเป็นกำลังใจและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้สองแม่ลูก กระทั่งให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาน้องปาล์ม และหมั่นมาเยี่ยมเยียนครอบครัวสมจิตอย่างสม่ำเสมอจวบจนปัจจุบัน

เอกสารประกอบการเขียน
สุพร ยุรพันธ์. “ดวงใจแม่” ในหนังสือชุดงานคือความดี เล่ม ๕
ก่อนโลกจะขานรับ : ประสบการณ์เรียนรู้และต่อสู้ของคนทำงานสุขภาพชุมชน. สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๔๘.

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สุขศาลา ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๘  ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๒