ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

เมื่อละครเรื่อง แรงเงา ก่อกระแสปากต่อปากจนดังทั้งประเทศ  แรงบันดาลใจจากละครซึ่งมีจุดเด่นของเรื่อง คือสองสาวฝาแฝดและตัวตนที่ทับซ้อนกัน ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะคิดถึงหนังอีกหลายเรื่อง และนึกสนุกที่จะแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับหนังที่เล่นกับความเป็นฝาแฝด ผู้หญิง และตัวตนที่ทับซ้อนกันในมุมอื่นๆ ดูบ้าง

ภาพยนตร์ - แรงเงา เงาของพวกเธอนั้นแรง

๑. The Double Life of Veronique

(ผู้กำกับ : คริซตอฟ คีสโลว์สกี / ปี ๑๙๙๑)
พวกเธอมิใช่ฝาแฝด พวกเธอเกิดกันคนละประเทศ แต่พวกเธอมีหน้าตาเหมือนกันและมีชะตาชีวิตล้อกัน หนังใช้เวลาครึ่งชั่วโมงแรกเล่าเรื่องของเวโรนิก้า (รับบทโดย อีเรน จาค็อบ) สาวสวยชาวโปแลนด์ผู้หวังเอาดีด้วยการศึกษาการขับร้องอุปรากร  ในงานคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่เธอต้องร้องนำ เวโรนิก้าเปล่งเสียงราวกับเสียงสวรรค์ แต่แล้ววิญญาณของเธอกลับหลุดลอยจากร่างไปก่อนบทเพลงจบ  เมื่อชีวิตของเวโรนิก้ายุติ ชีวิตของเวโรนิก (รับบทโดย อีเรน จาค็อบ เช่นกัน) ในหนังก็เริ่มขึ้น  หนังตัดต่อฉากสุดท้ายของชีวิตคนหนึ่งและเปิดฉากชีวิตของอีกคนอย่างงดงาม โดยเริ่มจากเสียงดินกระทบหลุมฝังศพของเวโรนิก้าที่ผู้ร่วมงานศพโปรยดินลงหลุมคนละกำมือๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเสียงจังหวะกระแทกเตียงตามการร่วมรักของเวโรนิก  ขณะเธอเพิ่งร่วมรักเสร็จก็รู้สึกประหลาดวาบขึ้นในใจราวกับครึ่งหนึ่งของชีวิตขาดหายไปอย่างกะทันหัน  จากนั้นหนังเล่นกับการตามหาสิ่งที่ขาดหายไปของเวโรนิกนี้จนจบเรื่อง

นอกจากหน้าตาที่เหมือนกันราวกับฝาแฝดแล้ว ชีวิตของเวโรนิกล้อกับเวโรนิก้าตรงความสามารถทางดนตรี ในขณะที่เวโรนิก้าเลือกที่จะเป็นนักร้อง เวโรนิกกลับเลิกความตั้งใจดังกล่าวและทำงานเป็นครูสอนดนตรีให้แก่เด็กๆ และก็เป็นเสียงดนตรีนี่เองที่นำเวโรนิกไปพบกับผู้ชายคนหนึ่ง จนกระทั่งค่อยๆ รู้ความจริงว่ามีผู้หญิงรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเธอโดยไม่ได้เป็นพี่น้องฝาแฝดกัน  แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ความรู้สึกในใจลึกๆ (ซึ่งถ่ายทอดผ่านเทคนิคทางภาพยนตร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพเงาของเวโรนิกผ่านกระจกและลูกแก้ว หรือการแทนค่าเชิงสัญลักษณ์ด้วยตุ๊กตาหุ่นและต้นไม้) ก็ทำให้เวโรนิกค่อยๆ ตระหนักว่า “เงาของเธอ” ได้จากโลกนี้ไปแล้ว
และเธอไม่มีวันได้รู้จักกับอีกส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ

shadow woman02
๒. Single White Female

(ผู้กำกับ บาร์เบต ชโรเดอร์ / ปี ๑๙๙๒)
สองสาวในเรื่องนี้ไม่ใช่ฝาแฝด แต่เพราะว่าไม่ใช่นี่แหละ หนังถึงยิ่งสยองขึ้น  อารมณ์ร่วมของคนดูหนังเรื่องนี้อยู่ที่สภาพสังคมเมืองสมัยใหม่ที่หนุ่มสาวอาศัยในอพาร์ตเมนต์ราคาแพงและต้องการหาเพื่อนร่วมห้อง แต่เราจะรู้จักตื้นลึกหนาบางของเพื่อนร่วมห้องคนนั้นดีแค่ไหน  นางเอกของเรื่อง (บริดเจต ฟอนดา) เพิ่งเลิกกับแฟนและต้องการหาเพื่อนมาแชร์ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์  สาวแปลกหน้าท่าทีใสซื่อ (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) จึงมาขอร่วมเช่าด้วย ทุกอย่างดูดี  จากความแปลกหน้าในช่วงเริ่มต้น สองสาวค่อยๆ ผูกพันจนกลายเป็นเพื่อนสนิท แต่แล้วเมื่อนางเอกต้องการให้โอกาสกับรักเก่าอีกครั้ง ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น  สาวใสซื่อในตอนแรกค่อยๆ กลายเป็นสาวอาฆาตและหึงหวง แต่จุดน่ากลัวที่สุดคือการทำตัวเลียนแบบเหมือน “เงา” ของนางเอกขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการแต่งตัวและอิริยาบถ (ตู้เสื้อผ้าของเธอเต็มไปด้วยชุดเดียวกับของนางเอกชนิดใส่แทนกันได้ทุกตัว)  หนังตลาดยุค ๙๐ กลายเป็นหนังคัลต์คลาสสิก และทำให้นักแสดงสาวฝีมือดี เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ผูกขาดบทสาวโรคจิตกับอาชีพนักแสดงของเธอ  แม้กระทั่งล่าสุดเมื่อลีห์กลับคืนวงการอีกครั้งด้วยการเล่นละครโทรทัศน์เรื่อง Revenge เธอก็ยังต้องรับบทหญิงสาวที่มีปัญหาทางจิตอยู่เช่นเดิม (ซึ่งเธอทำได้ดีมากจริงๆ)

shadow woman03
๓. Persona

(ผู้กำกับ อิงก์มาร์ เบิร์กแมน /ปี ๑๙๖๖)
ต้นแบบของเนื้อเรื่องแนว “อ้าว ที่แท้ตัวละครสองตัวเป็นตัวเดียวกันหรอกหรือนี่”  หนังเล่าเรื่องของผู้หญิงสองคนที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์บนเกาะ  คนหนึ่งคือดาราสาวชื่อดังซึ่งตัดสินใจไม่พูดด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง ราวกับว่าเธอต้องการตัดขาดการสื่อสารกับโลกอันแสนโหดร้าย  ส่วนหญิงสาวอีกคนคือพยาบาลผู้ดูแล ซึ่งในเมื่อดาราสาวไม่พูด เธอจึงต้องเป็นคนพูด และยิ่งเธอพูดมากเท่าไรก็ยิ่งเปิดเผยส่วนลึกในจิตใจให้ดาราสาวฉกฉวยมาใช้เป็นอาวุธในสงครามจิตวิทยาระหว่างการพูดและการไม่พูด

หนังเล่นกับพื้นที่ของความจริง ความฝัน และจินตนาการ โดยให้สิ่งเหล่านี้ปะทะและผสมปนเปกัน ขณะที่หนังเรื่องอื่นมักเฉลยโจ่งแจ้งว่า “ตัวละครสองตัวเป็นตัวเดียวกัน” พร้อมให้เหตุผลที่มาที่ไปอย่างเสร็จสรรพ  แต่ Persona เราจะเห็นว่าดาราสาวและนางพยาบาล คือด้านตรงข้ามของเหรียญเดียวกัน ทั้งสองเป็นเงาสะท้อนและขั้วตรงข้ามของกันและกัน โดยหนังมิได้อธิบายความเป็นฝาแฝดกันบนพื้นฐานของเหตุผล หากแต่ใช้ความสมมาตรของภาษาภาพยนตร์ในฉากต่างๆ รวมทั้งความลึกลับของความฝันและความจริงเป็นคำอธิบาย และการไม่เฉลยปริศนานี้เองที่ทำให้หนังได้รับการกล่าวขานอยู่บ่อยครั้งแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด

shadow woman05shadow woman04

๔. Love Crime และ Passion

(ผู้กำกับ อแลง กอร์โน และ ไบรอัน เดอ พัลมา /ปี ๒๐๑๐ และ ๒๐๑๒)
เรื่องแรกคือหนังฝรั่งเศส นำแสดงโดย คริสติน สก็อต โทมัส และ ลูดีวีน ซานีเย  เรื่องหลังคือหนังอเมริกันที่รีเมกหนังเรื่องแรก นำแสดงโดยสองสาวที่ดังกว่ามากๆ อย่าง ราเชล แม็กอดัมส์ และ นูมี ราเปซ (นางเอก Prometheus)  จุดเด่นของเรื่องคือการห้ำหั่นและล้างแค้นกันของสองสาวในบริษัทธุรกิจชั้นนำ ซึ่งหากเรียกแบบชาวบ้านก็คือ “ละครสาวออฟฟิซตบกัน”  หนังเล่าเรื่องของนักธุรกิจสาวผู้ประสบความสำเร็จ และนักธุรกิจรุ่นน้องที่พยายามเลื่อยขาเก้าอี้ของรุ่นพี่  นอกจากการต่อกรกันทางชั้นเชิงธุรกิจแล้ว การยั่วยวนด้วยการเล่นเกมหัวใจก็เป็นอีกสนามรบของทั้งคู่  ถึงหนังจะไม่ใช่เรื่องของฝาแฝด แต่หนังก็เล่นกับความเป็นเงาของกันและกัน โดยเฉพาะการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไปยืนในที่ของอีกฝ่าย

shadow woman06

๕. Big Business

(ผู้กำกับ จิม อับราฮัมส์ / ปี ๑๙๘๘)
เรื่องสุดท้ายเป็นหนังที่มีฝาแฝดจริงๆ แต่ก็เป็นเรื่องบ้าบอที่สุด  บ้าบอตั้งแต่ หนึ่ง สองดาราตลกชื่อดัง เบตต์ มิดเลอร์ กับ ลิลี ทอมลิน เล่นเป็นพี่น้องกัน ทั้งที่หน้าตาแตกต่างราวกับสิ่งมีชีวิตจากคนละดาวเคราะห์  สอง ความมาแตกว่าจริงๆ แล้วทั้งสองคนมิได้เป็นพี่น้องกัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลก แต่ที่แปลกยิ่งกว่าแปลก คือทั้งสองคนมีฝาแฝด และตอนแรกเกิด พยาบาลวางแฝดสลับคู่กัน ส่งผลให้แฝดสองคู่ได้รับการเลี้ยงดูต่างกัน  ฝ่ายหนึ่งอยู่ในครอบครัวคนรวย อีกฝ่ายอยู่กับครอบครัวคนจน  แน่นอนว่าพล็อตเชยๆ เช่นนี้กลายเป็นหนังตลกสุดฮาด้วยลีลาการแสดงของ เบตต์ มิดเลอร์ กับ ลิลี ทอมลิน ซึ่งแค่สองคนปะทะกันก็นับว่าอลหม่านแล้ว แต่ในเรื่องนี้มี เบตต์ มิดเลอร์ ๒ คน ปะทะกับ ลิลี ทอมลิน ๒ คน  ผลลัพธ์คือความอลหม่านอันแสนน่าประทับใจ  Big Business เป็นหนังเล็กๆ ที่ถูกลืมเมื่อเวลาผันผ่าน  แต่เมื่อกวาดตาดูหนังฝาแฝดที่ตลกที่สุด ก็เห็นว่าคือหนังเรื่องนี้แหละ เพราะเงาของพวกเธอมันแรงสูงเหลือเกิน