*งานชิ้นที่ 1 ค่ายสารคดีครั้งที่ 9 ฉบับแก้ไข*
เรื่อง :ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ : ฐานะมาศ เถลิงสุข แตงโม

 

-ตลาด-

หญิงวัยกลางคนในชุดนอนเดินกลับมาจากจ่ายตลาดในยามเช้า ถุงกับข้าวสองสามถุงในตะกร้าขยับไปตามจังหวะก้าวเดินมืออีกข้างของเธอหิ้วถุงบรรจุถั่วงอกขนาดใหญ่เต็มแน่นเตะตา

“ไปจ่ายตลาดมาหรอ”คนที่เดินสวนมากล่าวทักทาย

เธอยิ้ม เงยหน้าขึ้นตอบรับ แล้วเดินเลียบไปตามตึกแถวที่มีคราบอดีตเกาะติดตามประตูบานเฟี้ยม ทั้งคราบไคลฝุ่นโคลน และตะไคร่น้ำโบราณกาล

ที่นี่คือชุมชนชาวจีนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 นาม“ตลาดสมเด็จ”ตั้งอยู่ในชุมชนสวนสมเด็จย่า บริเวณปากคลองที่ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในย่านคลองสาน เมื่อยามรุ่งเรืองถึงขีดสุด แม้แต่ผู้คนจากเยาวราช ทรงวาด และเจริญกรุงซึ่งดูว่ารุ่งเรืองแล้วยังพากันนั่งเรือข้ามฝั่งฟากมาซื้อหาสินค้าของสดที่นี่

ชุมชนแห่งนี้ คนไทย คนจีน และคนแขกเข้ามาตั้งรกรากอยู่ด้วยกันอย่างสมัครสมานสามัคคีร่วม 200 ปีมัสยิด วัดวาอาราม และศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ในมุมต่าง ๆ นำพามาทั้งอาหารหลากหลายชนชาติวางขายอยู่ภายในตลาดแต่จากเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี2497ตลาดที่คึกครื้นด้วยผู้คนก็กลายเป็นเพียงคำบอกเล่าที่ชาวชุมชนยังพอจำได้

“สมัยก่อนนี้โรงงานเยอะ โรงงานชัน โรงงานน้ำปลา เกลือ ปลาทู ธูป ถ่านก้อน เยอะแยะเลย เราวิ่งเล่นแถวนี้ตั้งแต่เด็ก ก็เห็นเขาทำกัน” คือคำบอกเล่าของเฮียตี๋ หรือคุณมงคล วิจิตหัตถกุล หนึ่งในคณะกรรมการชุมชน “ตรงนั้นเป็นแผงตลาดเรียงกันเลย ขายของเสร็จก็ตีปิงปองกันบนแผง เป็นโต๊ะปิงปองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เฮียตี๋พูดอย่างร่าเริง

“เสียดาย ไม่มีรูปให้ดู ไม่มีใครนึกว่าควรต้องถ่ายเก็บไว้”

เมื่อตลาดสมเด็จเกิดเพลิงไหม้เสียหาย จึงถูกปรับปรุงปลูกสร้างตึกแถวขึ้นมาแทน ปัจจุบัน จึงมีเพียงร้านขายกับข้าวแบบรถเข็นที่ขายเรียงกันในยามเช้า แล้วเงียบเหงาเมื่อเข้าสู่ช่วงสายของวัน เนื่องจากเมื่อรับประทานข้าวเช้าเติมพลังเรียบร้อยแล้ว หลายคนก็ออกไปทำงานตามที่อื่น ๆ นอกชุมชน

“ใส่ผัก ขิงเลยไหมเฮีย หรือแยก”อาเจ้ขายโจ๊กเรียกผู้ชายทุกคนว่าเฮีย ไม่ว่าจะหนุ่มหรือแก่ “25 บาทค่ะเฮีย”เธอหันไปบอกผู้ชายอีกคนสรรพนามอย่างอั๊วะ อี ซ้อ เป็นเรื่องแสนสามัญในละแวกนี้

รถเข็นขายโจ๊กนี้ตั้งอยู่บนทางเท้าติดรั้วเหล็กของร้านกวงแซโอสถ บริเวณสามแยกใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือที่ดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 50 ปี ก้าวผ่านรั้วเหล็กเข้าไป ตามผนังมีตู้กระจกวางเวชภัณฑ์หลากหลายทั้งแผนโบราณและปัจจุบัน แต่จำนวนของยานั้นร่อยหรอผิดกับขนาดของตู้

“ไม่ค่อยมีแล้วเดี๋ยวนี้”คุณยายซกเซียงวัย 80 กว่าปีตอบสั้น ๆ เมื่อเราถามถึงยาสมุนไพร ในชั้นยาขนาดใหญ่ กล่องไม้เป็นสิบสิบกล่องเหล่านั้นบรรจุเพียงความว่างเปล่าเจือกลิ่นสมุนไพรจีนและอาจจะรวมถึงความทรงจำของคุณยายซกเซียงในวันที่ร้านยาเป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญของเพื่อนบ้านในชุมชนสวนสมเด็จย่ายามพวกเขาป่วยไข้

สุภาณี ทองอ่วมใหญ่ ผู้เป็นหลานสาวกล่าวเสริม “สมัยก่อนคนเขาจะซื้อยากินเอง แต่สมัยนี้ไปหาหมอกัน ร้านข้าง ๆ นี่เขาก็ปิดกิจการ นี่ปีนี้เราก็จะเลิกแล้ว” รอยยิ้มยังกำกับอยู่ทุกคำพูด

การยุติบางสิ่งไม่จำเป็นต้องพ่วงมากับความเศร้า เวลานี้หน้าที่ของขวดยาเหล่านั้นคือการยืนรออย่างสงบ เผื่อว่าวันหนึ่งจะมีใครต้องการมัน ประตูรั้วเหล็กก็พร้อมจะเปิดออก

ชาวจีนแห่งศาลเจ้าพ่อเสือ เมื่อความรุ่งเรืองชราภาพ

หญิงและชายชราใช้สวนสมเด็จนั้นเป็นที่พบปะพูดคุย

chaporsua02

คุณโง่วเต็ก แซ่เตียว คุณตาชาวจีนที่มักจะมานั่งเล่นพบปะเพื่อนๆในวัยเดียวกันที่สวนสมเด็จย่า เป็นผู้ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องราวต่างๆในชีวิตของเขา

-สวน-

โง่วเต็ก แซ่เตียวเป็นคนจีนอีกคนหนึ่งที่อยู่ร่วมรุ่นกับคุณยายซกเซียง เขานั่งเอนกายบนม้านั่งในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสวนสมเด็จย่าซึ่งอยู่ใกล้กับตึกแถว ซึ่งในอดีตก็คือตลาดสมเด็จ มีเพียงถนนเส้นเล็ก ๆ คั่นกลาง

แดดจ้าส่องลอดยอดไม้ลงมา แสงระยิบตามม้านั่งยามลมโชยผ่านใบไม้ ในเดือนพฤษภาคมที่อากาศร้อนเผาผิวเช่นนี้ นี่คงเป็นสถานที่ที่เปรียบดังโอเอซิสของชุมชน

“ผมมาจักเมืองจี

ตั้งแต่อายุ 12 ปี” คุณตาโง่วเต็กเปล่งเสียงภาษาไทยสำเนียงจีน สะท้อนหลักฐานยืนยันความเป็นมาของเขาได้ชัดเจน

เขาเดินทางพร้อมชาวจีนอีกกว่า 4,000 คนในเรือลำใหญ่ มองเห็นเมืองไทยเป็นดังความหวังและทางรอด ทุกคำบอกเล่าของเขาเคล้าด้วยเสียงหัวเราะเบิกบาน แม้มันจะบรรจุความขมขื่นของอดีต

“โอ๊ย ไม่มาจากจีนก็อดอยากตาย ไม่มีเงินกินข้าว สมัยสงครามโลกครั้งที่สองคนตายเยอะเลย อดอยากกันมา คนที่มาต้องขายข้าวมานิดหน่อย แล้วมีเงินขึ้นเรือมา ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีปัญญามานี่เลย”

เมื่อเจ้านายชาวจีนมีที่หลับที่นอนให้ เด็กชายตัวเล็กอย่างเขาก็ไม่เกี่ยงประเภทงานที่รับจ้าง แม้จะได้ค่าแรงเพียง 30 บาทต่อเดือน และต้องทำงานจนถึงตี 3 ในบางคืน มีก็แต่เพียงข้าวต้มกินกับเกี้ยมฉ่ายและไชโป้วที่เป็นแหล่งพลังงานเดียวพอประทังหิว แต่ครั้นเมื่อคราวเติบใหญ่ทั้งร่างกายและประสบการณ์ในย่านที่การค้าขายและการผลิตเป็นไปอย่างคึกคัก พอจับหลักวิชาชีพได้ เขาก็เปิดร้านขายของไหว้เจ้าและกงเต็กเป็นของตัวเองใกล้กับศาลเจ้าซำไนเก็งบริเวณท่าดินแดงสร้างเนื้อสร้างตัวส่งลูกทั้ง 6 เรียนจนจบ แยกย้ายกันไปทำงาน

แววตาของเขามีความสุขล้น เมื่อเอ่ยแสดงถึงความสำเร็จทางการศึกษา การงาน และครอบครัวของลูก ๆ แม้หลายคนจะอยู่ไกลจากเขาไปอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในยามนี้ที่เงียบเหงา คุณตาโง่วเต็กมาเดินเล่นที่สวนสมเด็จย่าเพื่อสนทนากับเพื่อนชาวจีนรุ่นเดียวกันใต้ร่มเงาไม้ที่ม้านั่งฝั่งตรงข้าม อาม่าและอากงสองคนคุยกันเป็นภาษาจีนแทรกคำไทยมีหลานชายตัวเล็กเดินอยู่ใกล้ ๆ บางครั้งอาม่าหยอกล้อหลานด้วยภาษาจีน แม้จะรู้ว่าเมื่อโตขึ้น คำเหล่านี้จะเป็นเพียงถ้อยคำหนึ่งที่เลือนหายไปกับภาษาไทยที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับลูก ๆ ของเธอ

“สมัยก่อนคนแก่แยะกว่านี้ เดี๋ยวนี้ไม่แยะแล้ว …มันไปไหว้เจ้าหมดแล้ว”

คุณตาโง่วเต็กหัวเราะร่วน เปรียบการสิ้นอายุขัยดังการไปเยี่ยมเยือนเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์
เทพเจ้าองค์เดียวกันกับที่พวกเขาบูชาที่ศาลเจ้าพ่อเสือ

chaporsua05

ภายในของศาลเจ้าพ่อ

chaporsua06

เด็กหญิงกำลังใช้มือสัมผัสกับหัวหมูที่ถูกนำมาเป็นเครื่องเซ่น โดยที่คุณลุงของเธอค่อยๆโน้มตัวลงเพื่อให้เธอสามารถที่จะแตะหัวหมูได้

chaporsua01

ห้องแถวในชุมชนสวนสมเด็จย่า ซึ่งตั้งอยู่ในซอยที่นำไปสู่ศาลเจ้าพ่อเสือ

chaporsua04

แผ่นป้ายเชิญคนในชุมชนสวนสมเด็จย่าเข้าร่วมงานบวงสรวงที่ศาลเจ้าพ่อเสือ

chaporsua07

หญิงชรากำลังสอนวิธีการเวียนเทียนให้กับหลานชาย

chaporsua10

ชาวบ้านชาวจีนนำเงินมาทำบุญ บริจาคแก่ศาลเจ้าพ่อเสือ

chaporsua08

ในขณะที่มีการจุดประทัด เด็กหญิงก็ยกมือขึ้นมาอุดหู โดยที่มีผู้คนรอบข้างมองด้วยความเอ็นดู

chaporsua09

หลังจากพิธีการต่างๆ ก็มีการแสดงลิเกถวายก่อนที่จะแสดงกันจริงๆในตอนค่ำของวันนั้น
ภาพที่

-ศาลเจ้า-

ยามสาย ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ณ ศาลเจ้าพ่อเสือหรือจิวตี้เอี๊ยะ ชาวจีนสูงวัยมารวมตัวกันเพื่อบวงสรวงวันครบรอบของศาล บ้างก็พ่วงหลานตัวเล็ก ๆ มาด้วย บนโต๊ะใหญ่หน้าองค์เทพมีถาดอาหารใส่หัวหมูสีน้ำตาลโดดเด่น รายรอบไปด้วยขนมปังและขนมหวานหลากหลาย ควันธูปลอยโขมงตัดกับแสงแดดเส้นสายเหล่านั้นเต้นประกอบจังหวะระนาดและฉิ่งฉาบ กระทั่งเมื่อพราหมณ์ชุดขาวสวดบวงสรวงจบตามพิธีพราหมณ์ที่นำมาผสมผสาน เสียงฆ้องก็ดังขึ้นกำกับ

ชาวบ้านช่วยกันคนละไม้คนละมือ นำธูปไปปักตามถาดอาหาร บ้างก็ส่งธูปให้เด็ก ๆ ช่วยกันปักมีบ้างที่เด็กเล่นซนเอานิ้วชี้เล็ก ๆ ของตัวปักไปที่ปลายจมูกหมู

เมื่อทุกคนกลับมานั่งประจำที่บนเก้าอี้ที่เรียงเป็นวงกลม พวกเขาส่งสัญญาณให้กันว่าพร้อมจะเริ่มทำพิธีเวียนเทียน ช่อเทียนสามอันที่เรียงติดกันบนวัสดุรูปละม้ายใบโพธิ์ถูกหมุนวนในมือสามรอบ จากนั้นจึงสะบัดมือข้างหนึ่งไปข้างหน้า นัยว่าปัดเป่าเคราะห์ร้าย แล้วส่งต่อ ๆ กันไปจนครบรอบวง

สิ้นเสียงประทัดที่ดังต่อเนื่องยาวนาน ชาวบ้านพูดอวยพรกันและกัน

“เฮงเฮง รวยรวย!”

ยิ้มแย้มอย่างชื่นบาน แล้วดื่มน้ำจับเลี้ยงเย็นชื่นใจ แกล้มไปกับขนมหวานของไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต

งานประเพณียิ่งใหญ่ลักษณะนี้ของศาลเจ้าพ่อเสือจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมและเดือนธันวาคมเท่านั้นในยามปกติ ชาวบ้านส่วนใหญ่มาไหว้เจ้ากันเฉพาะในวันพระจีน หรือที่เรียกว่าวันชิวอิกกับวันจับโหงวระบุบนใบปฏิทินติดผนังของแต่ละบ้าน เว้นช่วงห่างกัน 15 วันในแต่ละเดือน หมายความว่าในวันอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นศาลเจ้าจะค่อนข้างสงบเงียบ

โฆษกกล่าวเชิญชวนชาวชุมชนให้มาร่วมชมลิเกร่วมกันในตอนค่ำ หากเป็นเดือนธันวาคม การแสดงหลักจะกลายเป็นอุปรากรจีนหรืองิ้วซึ่งเล่นต่อเนื่องถึง4 คืน ด้วยเงินค่าจ้างที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาค

เที่ยงวัน

เสียงเพลงบทสวดมนต์ภาษาจีนดังคลอเคล้ากับเสียงกรุ๊งกริ๊งของโมบายเหมือนน้ำใสเย็นฉ่ำที่พรมโสตของผู้มาเยี่ยมเยือนในฤดูกาลที่อากาศร้อนฉ่ากลิ่นควันธูปจาง ๆ ลอยอ้อยอิ่ง เซ่งปวยสีแดงวางตั้งอยู่บนแท่น ชาวบ้านใช้มันเพื่อทำนายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยคำถามปลายปิด ใช่ หรือ ไม่ หวังให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเสือเผยคำตอบจากสรวงสวรรค์

เริ่มต้นจากศาลเจ้าไม้ที่รอดพ้นอัคคีภัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในวันนี้ศาลเจ้าพ่อเสือกลายเป็นศาลเจ้าปูนมั่นคงแข็งแรง ชาวชุมชนร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างหลังคากันแดดกันฝนจนเสร็จในปี2537ด้วยความศรัทธาที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษยังทำการค้าขายล่องเรือ รายชื่อผู้บริจาคเงินส่องประกายสีทองบนหินอ่อนไล่เรียงกันไปทั้งอักษรจีนและไทย- ผู้สูงอายุบางส่วนร่วงโรย บางส่วนก็ล่วงลับไปแล้ว

“เช้ามาตีห้ากว่าต้องตื่นมาจุดตะเกียงไฟ กวาดพื้น คอยเก็บธูป ต้องตื่นเช้าเพราะคนแก่ ๆ ที่นี่จะมาไหว้แต่เช้า ต้องรีบมาจุดให้” สมชาย เอมเจริ

ผู้ดูแลศาลเจ้า เติบโตมากับชุมชนตั้งแต่สมัยที่ยังคึกคักเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเวลาจัดงานมหรสพยามค่ำ บรรยากาศการค้าขายจะคึกคักกว่านี้ มีทั้งตังเม น้ำแข็งไส ปลาหวาน ปลาหมึก ไอศกรีมไม้เสียบ แต่เดี๋ยวนี้เหลือเพียงราดหน้า 10 บาท ที่ขายตั้งแต่ค่ำยันตะวันส่อง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือคนกลุ่มเดิมที่มาไหว้เจ้าอยู่เป็นประจำทุกเช้า คนกลุ่มเดิมที่วันนี้ลักษณะภายนอกอาจเปลี่ยนไปตามอายุขัย

สิ้นแสงตะวัน เข้าสู่รัตติกาล

ลิเกเริ่มเล่นตอน 3 ทุ่มที่หน้าศาลเจ้า เก้าอี้พลาสติกสีแดงติดขอบเวทีถูกจับจองด้วยผู้ชมรุ่นเยาว์ ถัดออกมาเป็นอาม่าอากงนั่งเกาะกลุ่มกัน พูดคุยเฮฮาไปตามท้องเรื่อง เมื่อพระเอกลิเกหนุ่มทาหน้าขาวก้าวออกมาและร้องเพลงเสียงใสเพียงสองสามประโยค ใครบางคนก็นำธนบัตรใบละร้อยที่รัดร้อยกันเข้าเป็นสายยาวไปมอบให้ สร้างความฮือฮาและเสียงหัวเราะ

อาจเป็นเพราะแสงสี หรือประกายวิบวับจากชุดลิเก แววตาของอาม่าอากงเหล่านั้นดูอ่อนเยาว์แม้จะอยู่บนดวงหน้าที่บันทึกร่องรอยประสบการณ์เข้มข้นยาวนาน

อดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงรอยยิ้มเดียวกันนี้ที่เคยส่งให้บรรดาลูกค้า ในวันวานที่ตลาดสมเด็จยังคึกคัก

ยิ้มของอาตี๋อาหมวยที่เติบโตมากับการค้าขาย และกำลังเบิกบานใจไปพร้อม ๆ กับเพื่อนวัยเดียวกัน

ชุมชนบริเวณตลาดสมเด็จ ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือแห่งนี้ เป็นทั้งที่ทำมาค้าขายสร้างชีวิตใหม่ของชาวจีนอพยพในยุคสงคราม เป็นทั้งบ้านเกิดของลูกหลานคนเชื้อสายจีนที่ลืมตามาดูโลกครั้งแรกในดินแดนไทย เป็นความทรงจำอันครึกครื้นประกอบด้วยโรงงานผลิตข้าวของเครื่องใช้และเสียงกระทบของหม้อไหปรุงอาหารหลากหลายไว้หล่อเลี้ยงปากท้อง อีกทั้งยังเป็นตำแหน่งแห่งหนที่ความศรัทธาหลากหลายอยู่ร่วมกันได้เป็นแบบฉบับของพวกเขาเอง ความสำคัญในทุกมิติของชีวิตของ “ตลาด” ที่มีต่อชาวชุมชน ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ ถึงแม้ว่าสถานที่จะไม่ได้มีอยู่ตรงนี้แล้วก็ตาม แต่นิยามของมันยังส่งผลต่อความเป็นชาวชุมชน “ตลาดสมเด็จ” ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยืนหยัดท่ามกลางบ้านเรือนและวิถีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป