งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9
นิภาภัทร เสือดารา : เขียน
มงคล พงศ์คณาวัฒน์ : ภาพ

freshman01

freshman02
freshman03
freshman04
freshman05
freshman06
freshman07
freshman08
freshman09
freshman10
freshman11

1.

“ศึกษาศาสตร์สวัสดีค่ะ”

“โลจิสติกส์สวัสดีครับ”

เสียงตะโกนของเด็กชายเด็กหญิงต่างพากันเดินแถวเรียงแถวเหยียดยาวและเมื่อขบวนแถวของตนสวนทางกับขบวนแถวอื่น จะส่งเสียงทักทายอย่างทันท่วงทีพร้อมทั้งประนมมือไว้กลางอกราวกับเป็นหุ่นยนต์อย่างไงอย่างงั้น การไหว้เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นการกระทำที่ดีงาม รุ่นพี่มักจะสอนให้รุ่นน้องไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องไหว้เฉพาะพี่ที่คณะของตน ให้แสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อรุ่นพี่ทุกคน การไหว้รุ่นพี่จะขึ้นอยู่กับตนเองเพราะไม่มีใครสามารถมาบังคับให้เรายกมือไหว้ได้ หากใจเราไม่คิดอยากจะไหว้

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เดือนที่หก แสงแดดที่แรงจ้าเริ่มอ่อนแรงลงผันเปลี่ยนเป็นเม็ดฝนที่โปรยปรายลงสู่พื้นดิน ชีวิตของมนุษย์เรานั้นก็ไม่แตกต่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาและฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันเฉกเช่นเด็กน้อยที่ครั้งหนึ่งต้องรีบตื่นไปโรงเรียนแต่เช้าเพื่อยืนตรงเคารพธงชาติหน้าเสาธงอย่างพร้อมเพรียง แต่กลับต้องรีบแต่งตัวให้พร้อม เสื้อยืดสีดำ กางเกงวอร์ม รองเท้าผ้าใบ ป้ายชื่อและสัญลักษณ์เอกหลังจากเลิกเรียนเพื่อมารวมตัวกัน ก่อนที่การรับน้องจะเปิดฉากขึ้น ณ ดินแดนเทาทองแห่งนี้

“ลูบได้คลำได้ ลูบได้คลำได้ แต่อย่าเอาไม้แหย่รู”

“แหย่รู แหย่รู แหย่รู”

รุ่นน้อง รุ่นพี่ร่วมกันร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนานภายใต้ชายคามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พี่บางคนแสดงพรสวรรค์เฉพาะตัวในการเต้นจนน้องบางคนหัวเราะน้ำตาเล็ดน้ำตาไหล บ้างปรบมือ โห่ร้องอย่างเมามันส์ กิจกรรมนี้มีความสำคัญไม่แพ้กับกิจกรรมอื่นใดในการับน้องนั่นก็คือ กิจกรรมสันทนาการ “สันทนาการ”มาจากคำว่า สนทนา + อาการ เป็นคำศัพท์แรกที่ราชบัญฑิตยสถานได้บัญญัติขึ้น มีความหมายว่า”สันทนาการ คือ อาการของความสุข”จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากอากัปกริยาที่ปรากฎเด่นเป็นสง่าบนใบหน้าของน้องๆ

นอกจากช่วงเย็นของทุกวันที่น้องต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมที่คณะ ยังมีการรับน้องของมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกว่า Walk rally เป็นการเข้าฐานร่วมกิจกรรมของคณะต่างๆทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

“เขาปิดตาเราด้วยนะตอนเข้าฐานอ่ะ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ให้เดินจับมือกับเพื่อนตลอด สงสัยอยากให้เราสนิทกับเพื่อนมากขึ้นมั้ง” เพื่อนหน้าหมวยทบทวนประสบการณ์รับน้องให้เราฟัง การรับน้อง ณ ดินแดนเทาทองแห่งนี้จะแตกต่างกันตามคณะและบางคณะนั้นยังมีการรับน้องเฉพาะสาขาวิชา โดยรวมของกิจกรรมนั้นจะคล้ายคลึงกัน อย่างการเข้ารับน้องที่คณะมีกิจกรรมสันทนาการ มีการว๊าก การเขียนจดหมายถึงรุ่นพี่ในชั้นปีต่างๆ(รุ่นน้องจะต้องเป็นผู้จัดทำกล่องจดหมายขึ้นมาซึ่งกล่องจดหมายนั้นจะต้องมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสาขาวิชาของตน แบ่งช่องออกเป็นทั้งหมด 4 ช่องแทนจดหมายที่ส่งถึงพี่ปี1 ปี2 ปี3และปี4 การเขียนจดหมายเป็นการสร้างความรู้จัก ความสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้อง น้องจะต้องมาเข้ากิจกรรมการจับสายรหัสหรือที่นี่เรียกว่าจับสายเทค เพื่อเลือกสายของตัวเองถือว่าบุญพาวาสนาส่งล้วนๆที่ได้มาเกี่ยวดองเป็นสายรหัสเดียวกันกับรุ่นพี่ รุ่นน้องจะต้องเรียกพี่ตามแต่ละชั้นปีว่า พี่เทค(ปีสอง) พี่โถ(ปีสาม) พี่เถา(ปีสี่) ในแต่ละวันเราจะเห็นภาพที่รุ่นพี่รุ่นน้องมาคัดเลือกจดหมายของตน น้องบางคนมีแววตาและสีหน้าที่ตื่นเต้น ถ้าช่วงไหนที่น้องมารุมที่กล่องจดหมาย ช่วงนั้นจะไร้วี่แววของรุ่นพี่ ในทางกลับกันรุ่นพี่ก็จะเลือกมาหยิบหาจดหมายในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีน้อง การเขียนจดหมายเราจะได้รู้แค่ชื่อ ความเป็นมา เรารู้ว่าคนไหนเป็นน้องของเรา แต่น้องเราจะไม่รู้ว่าใครคือพี่ของเขา นี่ก็คือความสนุกสนานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีกันมาเนิ่นนาน) การดูแลน้องโดยการซื้อขนมให้ในแต่ะวัน (กิจกรรมนี้ทางคณะจะเรียกว่า”การเทคน้อง”มาจากคำว่า”เทค์แคร์”ที่แปลว่า”ดูแล”ความหมายลงตัวตรงกับสิ่งที่เราต้องทำให้กับน้องๆคือการดูแล คอยให้คำปรึกษา เป็นพี่ที่ดี ) ส่วนความรับผิดชอบทั้งหมดของกิจกรรมรับน้องของคณะเราจะอยู่ในส่วนของรุ่นพี่ปีสอง และยังมีกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยการบายศรีสู่ขวัญ Walk rally การประกวดเฟรชชี่ แข่งขันกีฬาเฟรชชี่ พิธีไหว้ครูและโหวตชื่อรุ่น ก่อนที่จะร่วมแรงร่วมใจในการวิ่งเขาสามมุข เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมรับน้อง

“เฮ้ย พี่เทคของมึงอ่ะ ไม่ทักทายเขาหน่อยล่ะ”

“รีบไปเถอะมึง กูไม่อยากไหว้เขาว่ะ”

เห็นไหมล่ะว่าเรื่องแบบนี้มันบังคับจิตใจกันไม่ได้ เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล

 

2.

“ก้มหน้าลงไป !!”

“น้องคนไหนที่ไม่ติดสัญลักษณ์เอก ไม่ผูกด้ายขาวม่วงและไม่ติดป้ายชื่อมา”

สำหรับสัญลักษณ์เอกของแต่ละสาขาหรือภาควิชาเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของภาควิชา อย่างภาควิชาภาษาไทย สัญลักษณ์เอกคือนำผ้าห่มเป็นสไบเฉียงให้แก่น้อง ภาควิชาภาษาญี่ปุ่นเราชื่นชอบความคิดในการสร้างสรรค์สัญลักษณ์เอกอย่างมาก ปีที่แล้วทำเป็นตุ๊กตาไล่ฝนในการ์ตูนยอดฮิตอิกคิวซังให้น้องได้พกเล่น มิน่าปีนั้นฝนไม่กล้าตกเพราะมีตุ๊กตาไล่ฝนหลายสิบตัวเชียว ปีนี้ประดิษฐ์หน้ากากญี่ปุ่น หน้ากากชนิดนี้จะพบเห็นได้จากพิธีกรรมทางศาสนา การเต้นรำสำหรับพิธีกรรมท้องถิ่น (ตามความเชื่อ) ในพิธีกรรมเพื่อการรักษาคนป่วยหรือแม้กระทั่งในพิธีกรรมเผาศพ โดยหน้ากากญี่ปุ่นก็จะมีลักษณะ ประเภท ความหมาย และความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป หน้ากากบางส่วนนั้นมีพัฒนาการมาจากความเชื่อต่อมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติไปจนถึงเพื่อความบันเทิงสำหรับการแสดงบนเวทีที่เรียกว่าโน(Noh) สำหรับการแสดงบนเวที ผู้แสดงจะต้องสวมใส่หน้ากากเวลาเล่น แต่รุ่นพี่ให้น้องสวมไว้ข้างหลังศีรษะ มีการวาดตัวหน้ากากให้สดใสสมวัย มองแล้วก็พิลึกไม่เบา เด็กภาควิชาภาษาญี่ปุ่นปีนี้รับน้องที่มีสองหน้า แต่หมดกิจกรรมไป น้องก็ต้องเอาหน้ากากออก แตกต่างกับผู้ใหญ่ในสังคมไทย แวดวงการเมืองบางท่าน คงจะใส่หน้ากากกันจนเคยชิน

เราขอนำเสนอกิจกรรมที่ท้ายทายอารมณ์และความอดกลั้น คือ การเข้าห้องกระจก (หากให้คำนิยาม”ห้องกระจก”สำหรับเด็กคณะมนุษย์ฯนั้น คือห้องโถงขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณหน้าคณะฝั่งสระมรกต เป็นห้องที่ใช้ประกอบกิจกรรมรับน้องเกือบ 100 เปอร์เซ็น นอกเสียว่าจะพาออกไปร่วมกิจกรรมนอกสถานที่ สาเหตุที่เรียกว่าห้องกระจก ไม่มีความซับซ้อนหรือซ่อนความหมายเชิงนัยแต่อย่างใด เพียงมองไปรอบๆห้องก็พบคำตอบของคำถามทันที) และโดนพี่ระเบียบหรือที่สถาบันอื่นเรียกว่า”พี่ว๊าก”ตะโกนใส่ สั่งให้นั่งพับเพียบทั้งๆที่ใส่ชุดนิสิตพร้อมรองเท้าคัชชูบ้าง ด่าว่าอย่างนู้น กระแนะกระแหนอย่างนั้น พ่อแม่ของเราก็ไม่ใช่ ครูอาจารย์ก็ไม่ใช่อีก แต่สามารถบังคับให้เราเชื่อฟังได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง สั่งห้ามไม่ให้เราเงยหน้า ให้เราสบตากับพื้นห้อง หลายครั้งที่เราทนนั่งจนตะคริวกินขาแทบเดินไม่ไหว เพื่อนบางคนถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี กิจกรรมนี้ทำให้เรามีอคติกับการมาเข้ารับน้องอย่างมาก เรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจด้วยแล้ว พอตกเย็นมีพี่มาตะโกนใส่หูอีก ไม่ใช่แค่คนสองคน เขาจะมาเกือบสิบคน มายืนล้อมพวกเราในชุดสีดำทั้งชุด คำถามที่เกิดในใจของเรามีมากมายเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่รู้จะมีคนพวกนี้ขึ้นมาทำไม เรามองไม่เห็นประโยชน์โดยตรงจากกิจกรรมนี้เลย ไม่เข้าใจเหตุผล พวกพี่เขาทำไปด้วยความสะใจหรือ? เราเฝ้าถามกับตัวเองตลอด จนกระทั่งวันนี้

“มันเป็นกิจกรรมที่ให้รุ่นพี่รู้จักรุ่นน้อง สอนให้เราเข้าสังคม ปรับตัวให้ได้ ในชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าจะมีแต่เรียน ไม่สนใจอะไรเลย ไม่ร่วมอะไรเลย เป็นโอกาสให้พี่สอนน้องแต่ก็สอนในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นว๊าก จะเชียร์ จะสันทนาการ มันเป็นองค์ประกอบอะ”อดีตพี่ระเบียบที่เคร่งครัด เข้มขรึม ดุดัน และเป็นพี่ระเบียบที่มีบทบาทสำคัญมากในคณะเราแค่ฟังชื่อของแกก็รู้ได้ทันที แกมีชื่อว่า”บิ๊ก”ลองไปถามรุ่นปี2-4ดู บอกได้เลยว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นหูกับพี่คนนี้ กว่าเราจะรวบรวมความกล้าเข้าไปนัดสัมภาษณ์พี่เขาแบบตัวต่อตัวได้ใช้เวลาอยู่นาน โชคดันไม่เข้าข้างเราเมื่อพี่บิ๊กติดภารกิจ แต่โชคชะตาก็ไม่โหดร้ายเสมอไป เมื่อพี่บิ๊กเปิดโอกาสให้เราสามารถสัมภาษณ์ผ่านตัวอักษรในเว๊ปไซต์ยอดฮิตของคุณMark Zuckerberg ถึงขนาดเอ่ยปากว่า สงสัยเรื่องอะไร ตรงไหน ถามพี่ได้ตลอดเลยนะ จริงๆแล้วหากเราเลือกใช้เทคโนโลยีให้มีคุณค่า มันก็สร้างประโยชน์แก่เราได้

ให้ลองหลับตาแล้วจินตนาการภาพในหัวไปพร้อมกับเรา ถ้ารับน้องมีแต่เสียงหัวเราะ มีแต่รอยยิ้ม ใครอยากทำอะไรก็ทำ อยากลุกขึ้นยืนก็ลุก จะมาเข้าร่วมกิจกรรมก็ได้ ไม่มาเข้าร่วมก็ได้ รับน้องก็คงไร้ซึ่งความหมาย หากลองนึกถึงชีวิตคนเรานั้นที่ต้องเจอทั้งความสุข การมาเยือนของความเศร้า เมื่อชีวิตเราเจอแต่ความสุขจนเคยชินแล้วหากวันใดวันหนึ่งความเศร้าโศกเข้ามาอย่างทันท่วงที เราจะจัดการกับชีวิตเราอย่างไร การรับน้องกับการใช้ชีวิตก็ไม่ต่างกันนัก มันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนที่พี่บิ๊กได้กล่าวไว้ข้างต้น น่าเสียดายที่เราน่าจะคิดให้ได้แบบนี้สมัยปีหนึ่ง อีกทั้งเรายังได้รู้แง่คิด มุมมองของพี่ระเบียบ ก่อนที่พวกพี่เขาจะมายืนห้อมล้อมและตะโกนใส่เราได้นั้น เขาต้องผ่านการพูดคุย ถกเถียง การฝึกซ้อมล่วงหน้าเป็นเดือน ต้องอุทิศตนทั้งเวลา ทั้งแรงกายและที่สำคัญคือหัวใจ การคุมน้องเป็นการฝึกตัวเองอย่างหนึ่ง มันต้องใช้ทั้งความอดทนและความรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้สูง หน้าที่หลักของพี่ระเบียบคือการคุมน้องให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีของมหาวิทยาลัย พี่จะสอนน้องในสิ่งที่น้องควรรู้แต่การสอนนั้นอาจใช้เสียงดังไปบ้างก็เพื่อให้น้องรู้สึกเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิด การสอนแบบนี้ได้ผลอย่างมาก อาจไม่ได้ผลกับน้องทุกคน อย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่ง

“สัญลักษณ์เอกน่ะหรอ ก็เป็นสีสันเป็นความสนุกของน้อง มันมีความหมายและเหตุผลนะ คนที่ติดแสดงว่าเป็นปีหนึ่ง ทำอะไรไม่ถูก เดินไปไหนไม่ถูกก็จะได้เตือนหรือแย่กว่านั้นเกิดอุบัติเหตุ ก็จะรู้เร็วขึ้น นอกนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้สึก อย่างด้ายรุ่นพี่ทำให้ ผูกข้อมือให้ก็เหมือนยินดีต้อนรับ”นอกจากที่พี่สิ่งที่พี่บิ๊กบอกเราแล้ว ตามความหมายของคำว่า”สัญลักษณ์”จากแนวคิดของนักสังคมวิทยาอเมริกา 3 ท่าน คือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) , วิลเลี่ยม ไอ โทมัส (William I .Thomas) , จอร์จ เฮอร์เบริ์ต มีด (George Herbert Mead) สัญลักษณ์ไม่ได้หมายถึงวัตถุหรือเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึง การกระทำจากวัตถุสัญลักษณ์จึงหมายถึง “วิธีการที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายกับธรรมชาติและบริบททางสังคมถ้าไม่มีสัญลักษณ์ มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้และจะไม่มีคำว่า”สังคม “ เกิดขึ้นมา สัญลักษณ์ไม่ใช่สัญชาตญาณ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมามนุษย์จึงสร้างระบบสัญลักษณ์ขึ้นมาและต้องอยู่ในโลกแห่งการตีความหมาย (World of Meaning) อย่างที่เราเห็นสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นมามากมายบนโลก ล้วนมีความหมายในตัวสัญลักษณ์เอง ไม่แตกต่างกับสัญลักษณ์ของแต่ละสาขาหรือภาควิชารวมไปถึงสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของคณะต่างๆภายในมหาวิทยาลัย ล้วนมีความหมายทั้งโดยตรงและโดยนัย บ่งบอกถึงอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของคณะนั้นๆได้อย่างชัดเจน

ก่อนที่จะกล่าวร่ำลากันผ่านทางโลกออนไลน์ เหลือบมองนาฬิกาข้างจอคอมพิวเตอร์ถึงกับแปลกใจ เมื่อวันเวลาได้ย่างก้าวเข้าสู่วันใหม่โดยไม่ทันตั้งตัว เราใช้เวลาอย่างยาวนานในการสัมภาษณ์ผ่านตัวอักษร พี่บิ๊กทำให้เรารู้สึกถึงความอบอุ่น ความรักของรุ่นพี่ที่ดีที่มีแก่รุ่นน้อง ทำเราน้ำตาไหล ไม่ใช่เพราะซาบซึ้งเท่าไหร่นัก แต่เป็นเพราะความพร่ามัวของดวงตาที่กระทบแสงของคอมพิวเตอร์ พลันหวนนึกถึงคำพูดที่ตะโกนออกมาจากปากพี่ระเบียบบ่อยครั้ง ถ้าให้เราก้มหน้าลงต่อไป คงทำไม่ไหว เห็นทีต้องเงยหน้าขึ้นมา(จากจอคอมพิวเตอร์)เสียที

 

3.

“ตอนแรกคิดก็ว่าต้องเข้าป่า ทำอะไรโหดๆ โดนเอาขี้โคลนป้าย พอไม่ได้เจอแบบนั้นก็รู้สึกดีใจ” น้องอันบอกเล่าถึงภาพการรับน้องในอุดมคติที่เธอคิดสมัยมอปลายและเข้าใจมาโดยตลอดว่ากิจกรรมหรือการรับน้องต้องมีสิ่งเหล่านี้ประกอบเข้าไปด้วย ก่อนที่จะบอกเล่าถึงความรู้สึกลึกๆในใจที่เลือกมาเรียนที่นี่ ไม่ได้ชอบหรืออยากมาเรียนแต่อย่างใด พ่อแม่ของเธอคิดว่าใกล้บ้าน นอกจากน้องอันแล้ว น้องแนนและน้องฟ่งก็เป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน น้องทั้งสามมองว่าการรับร้องมีความจำเป็นอย่างมากในการทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัย เพื่อน รุ่นพี่

“ถ้าไม่มีรับน้องก็จะไม่ได้รู้จัก ไม่ได้ช่วยเหลือกัน”

“รับน้อง”คำสั้นๆที่สามารถมองได้ทั้งความหมาย องค์ประกอบ และผลที่ตามมา อย่างความคิดเห็นของศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจาร์ยประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านเขียนบทความ เพราะสังคมเป็นอย่างนี้ พิธีกรรม “รับน้อง” ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป การรับน้องเป็น”พิธีกรรม”ที่มีลักษณะการเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นลำดับชั้น และในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นชั้นนั้นค้ำประกันด้วย “อำนาจ” เป็นการทำให้ความคิดเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ในสังคมไทยถูกกลืนเข้าไปข้างใน (Internalization) จิตใจของนักศึกษา ในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้ “อำนาจ” ในลำดับชั้นทางสังคมบาดความรู้สึกของนักศึกษามากนัก ก็จะใช้ระบบอุปถัมภ์มาปลอบประโลมใจในช่วงท้ายๆ ของพิธีกรรม “รับน้อง” เช่น พาน้องไปกินข้าวหรือวันยุติห้องเชียร์ ก็จะมีพี่มาพูดหรือร้องเพลงที่ซึ้งๆ ว่าทำไปเพราะรักและปรารถนาดี น้องๆ ก็จะซาบซึ้งจนร่ำไห้ไปด้วย ท่านยังวิเคราะห์ไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของขบวนการนักศึกษา ความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้ทำ ให้พิธีกรรม “รับน้อง” ยุติหรือเสื่อมลงชั่วคราว นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเปลี่ยนการรับน้องมาสู่ “การรับเพื่อนใหม่” ที่เน้นความเสมอภาคกันเป็นหลัก ภายหลังจากการฆาตกรรมหมู่กลางเมือง ตุลาคม พ.ศ. 2519 สังคมไทยได้สวิงกลับมาสู่ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม พร้อมกับเกิดกระบวนการเชิดชูความสัมพันธ์ทางสังคมที่มี “ความเป็นไทย” เป็นฐานเข้มข้นมาก พิธีกรรม “รับน้อง” ก็กลับมาทำหน้าที่อย่างเดิมและต่อมาจนปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมหรือเสมอภาคกัน เรามองว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุปภัมภ์ ต่อให้เรามีเสียงที่ดังฟังชัดของเรา มีพื้นที่ให้ยืน แต่เราก็ต้องเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า การเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อาวุโสกว่าเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง แต่หากการเชื่อตามผู้อาวุโสไปเสียทุกเรื่อง ดูจะผิดแปลกไป การรับน้องก็เป็นเช่นนั้น น้องบางคนไม่เพียงมาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเดียวแต่เชื่อฟังไปเสียทุกเรื่องที่รุ่นพี่สั่งสอน พาไปกินเหล้าก็ไป มันก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของรุ่นพี่ที่ดีด้วย ถ้ารุ่นพี่ รุ่นน้องรู้จักหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายล้ำเส้นซึ่งกันและกัน อาจมีการว่ากล่าวตักเตือนเมื่อน้องทำตัวไม่เหมาะสมบ้าง ทุกคนมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยใจรัก การรับน้องก็คงเป็นกิจกรรมที่ดีอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย

“หนูว่ารับน้องทำให้เรารู้จักอดทน อดกลั้น มีความรับผิดชอบ บางทีหนูมีปัญหาในการปรับตัว การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หนูก็เขียนจดหมายไปปรึกษารุ่นพี่ พี่เขาก็แนะนำหนูอย่างดี” สิ้นเสียงของน้องอัน เสียงกลองเริ่มรัวดังขึ้นเป็นจังหวะ คงถึงเวลาแล้วที่สาวน้อยต้องบอกลาเรา

 

4.

“หาดทราย ชายเล เฮฮา B B BUR R R RAP…” วันและเวลาได้ทำหน้าที่ตามความสมดุลของธรรมชาติ เมื่อฤดูกาลเคลื่อนย้าย แต่อีกไม่นานก็จะหมุนเวียนกลับมาซ้ำยังที่เก่า แหงนหน้ามองต้นหูกวางข้างสนามกีฬามีสีเขียวอ่อนสะพรั่ง บ้างก็เพิ่งแตกใบใหม่ แตกต่างกับพื้นดินที่เต็มไปด้วยกองใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาจากลำต้นได้ไม่นาน ธรรมชาติสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้นภายใต้ความเรียบง่าย เป็นเรื่องธรรมดาของโลกเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เข้ามาแทนที่ สิ่งที่อยู่มาก่อนแล้วก็ถึงวาระเวลาที่ต้องจากกันไป เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนเราลืมความเสียใจที่ต้องจากลากับสิ่งที่คุ้นตา ความเคยชินอาจสร้างความรู้สึกเฉยเมยต่อธรรมชาติและสิ่งรอบตัว แต่ความรัก ความผูกพัน การที่ครั้งหนึ่งเคยได้ใช้ชีวิตและมีช่วงเวลาร่วมกันนั้น จะสร้างความทรงจำที่ประทับในใจของเราไปตราบนานเท่านาน ไม่ต่างกันกับเวลานี้หากย้อนไปเมื่อสองปีก่อนเราเห็นภาพตัวของเราเองที่คุ้นตาในสนามกีฬาเชาว์ มณีวงศ์ ในเวลานี้ที่เตรียมพร้อมจะเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาเฟรชชี่ รุ่นน้องล้วนทำสิ่งที่เราและพี่อีกหลายคนเคยทำมา การซ้อมร้องเพลงเชียร์ เต้นเชียร์หลีดเดอร์ แข่งขันกีฬา การร้องเพลงบูมมหาวิทยาลัย ฯลฯ สนามกีฬา ณ ตอนนี้คราคร่ำไปด้วยผู้คน บ้างมีสีหน้าลุ้นระทึก บ้างยกมือรีบปิดปากเมื่อความง่วงมาเยือน ทุกคนในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าลงมือทำงานกันตามหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ การที่ทุกคนร่วมกันทำงานและทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถในการจัดกิจกรรมการเล่นกีฬาของน้องปีหนึ่งเป็นเรื่องที่ธรรมดาแต่สิ่งที่ซ่อนลึกลงไปนั้นในนั้นคือความสามัคคี การรู้จักช่วยเหลือ ทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้สิ คือความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง

“B B BUR R R RAP P P PHA”

“BURAPHA BURAPHA ”เสียงบูมของน้องๆที่หนักแน่น ใบหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วนความมุ่งมั่นและขยันในการฝึกซ้อม เพื่อทำให้การบูมออกมาให้ดีที่สุด อยากให้น้องๆได้เก็บประสบการณ์ กิจกรรม และทุกๆความทรงจำในการรับน้อง ให้น้องได้นำความล้มเหลว อุปสรรค การร่วมแรงร่วมใจไปใช้ในชีวิตที่จะก้าวเดินต่อไปในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ใบปริญญาอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่สำคัญ การใช้ชีวิตให้เป็นนั้นสำคัญกว่า

เสียงบูมเริ่มแผ่วเบาลงไป เมื่อเสียงกลองตีระรัวแทรกขึ้นมา การรับน้องใกล้สู่วาระที่สิ้นสุดเต็มที สีหน้าของน้องๆที่พักจากการซ้อมบูมยังสดใส รอยยิ้มยังไม่เลือนหาย จงเก็บแรงกายและแรงใจเอาไว้ แล้วเจอกันใหม่ในวันรับปริญญา

ขอขอบคุณ

  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะอื่นๆด้วย
  • นางสาวศิษฏ์สิริ เมฆจันทร์ (พี่บิ๊ก:อดีตพี่ระเบียบคนสวย)
  • น้องอัน น้องแนนและน้องฟ่ง (น้องปีหนึ่ง สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยลัยบูรพา)
  • เพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่ให้ความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้
  • ช่างภาพ(พี่รุ่ง)

ที่มา