เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

reading society01

กิจกรรม “ตักบาตรหนังสือ” ที่ท้องสนามหลวงเมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๖ ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในงานเปิด “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ๒๕๕๖”

reading society02

กิจกรรม “ปล่อยหนังสือ” ที่ทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑-๒๓ เมษายน ๒๕๕๖ ให้ผู้ร่วมงานเลือกหยิบหนังสือเล่มที่ชอบได้ตามความพอใจ แต่กิจกรรมนี้ถูกวิจารณ์ถึงคุณภาพและประเภทของหนังสือที่นำมาบริจาค


กรุงเทพมหานคร

ช่วงระยะเวลา ๑ ปีนับตั้งแต่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๖ ถึง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗ กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก (Bangkok World Book Capital 2013) นับเป็นเมืองหนังสือโลกลำดับที่ ๑๓

คำว่า “เมืองหนังสือโลก” หมายถึงเมือง (ไม่ใช่ประเทศ) ที่สนับสนุนโอกาสและช่องทางให้พลเมืองทุกกลุ่ม ทุกเพศวัย หันมาสนใจการอ่าน ให้ความสำคัญต่อการอ่าน และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้งอกงามขึ้น

จุดกำเนิดของเมืองหนังสือโลกเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๙ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ(IPA), สหพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ (IBF) และสหพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติ (IFLA) ประกาศให้วันที่ ๒๓ เมษายน เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก (World Book and Copyright Day) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดพิมพ์หนังสือ ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และต่อยอดมาสู่โครงการเมืองหนังสือโลก ในแต่ละปีคณะกรรมการจะตัดสินให้เมืองที่ “เสนอ” แผนโครงการสนับสนุนการอ่าน การเขียน การพิมพ์ ที่ดีที่สุด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ได้รับตำแหน่งเมืองหนังสือโลกไป

การได้รับตำแหน่งเมืองหนังสือโลกจึงไม่ใช่รางวัลที่แสดงความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมการอ่านและหนังสือแต่เป็นการ “มอบโอกาส” ให้แก่เมืองที่กำลังจะมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่านให้ดีขึ้น

ไม่ใช่รางวัลที่จะอวดใคร หากแต่เป็น “พันธะสัญญา” ว่าในอนาคตเมืองที่ได้รับตำแหน่งจะต้องส่งเสริมการอ่านให้สมกับโอกาสและศักดิ์ศรีที่ได้รับ

ตลอด ๑๓ ปีที่ผ่านมากิจกรรมที่เจ้าภาพเมืองหนังสือโลกจัด เช่น นิทรรศการหนังสือเด็ก, ภาพยนตร์จากหนังสือเด็ก, ห้องสมุดประชาชนที่มีกิจกรรมหลากหลาย, มหกรรม Market Book World Festival, เทศกาลหนังสือ The Book and Creativity ฯลฯ

ยกตัวอย่าง กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหนังสือโลก ๒๕๕๑ ตั้งชื่อโครงการว่า “อัมสเตอร์ดัมเปิดหนังสือ”(Amsterdam Open Book) แก่นคือการเปิดกว้างให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูล สนับสนุนให้หนังสือเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมส่งเสริมเสรีภาพ

โครงการหนังสือของกรุงอัมสเตอร์ดัมเน้นห้องสมุดยุคดิจิทัล สิทธิ์ของผู้เขียนและแรงกดดันทางการตลาดลิขสิทธิ์และคุณภาพของการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีการจัดประชุมเพื่ออภิปรายปัญหาและอุปสรรคในโลกหนังสือ

ว่ากันว่าเหตุผลที่เมืองหลวงแห่งเนเธอร์แลนด์มีชัยเหนือเจ็ดเมืองคู่แข่ง เนื่องจากความหลากหลายของกิจกรรม การมีหนังสือระหว่างประเทศ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้คนตั้งแต่ระดับเอกชน ท้องถิ่น และรัฐ

ขณะที่การคว้าตำแหน่ง “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ๒๕๕๖” อิรินา โบโกวา (Irina Bokova) เลขาธิการองค์การยูเนสโก ให้เหตุผลว่า “ด้วยความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โครงการที่กรุงเทพฯ เสนอนั้นตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของ World Book Captital อย่างสมบูรณ์”

พันธกิจของกรุงเทพมหานครในฐานะเมืองหนังสือโลก ประกอบด้วย ๑) แปลงโฉมศาลาว่าการกรุงเทพ-มหานครเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติหนังสือไทยและหอสมุดกรุงเทพฯ ๒) ตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ๓) สร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมการคิด ๔) ส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน ๕) ตามหาวรรณกรรมสำหรับคนกรุงเทพฯ ๖) ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ๗) สนับสนุนการอ่านพัฒนาจิตใจ ๘) เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสร้างรากฐานวัฒนธรรมการอ่าน ๙) เตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพ IPA Congress 2014

อย่างไรก็ตามหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงปีนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความฉาบฉวย ขาดความเอาจริงเอาจังในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในสังคม

ยกตัวอย่างป้ายคำขวัญ “อ่านกันสนั่นเมือง” ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปตามถนน สะพานลอย หรือป้ายรถประจำทาง ก็มีกลุ่มนักอ่านออกมาประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ ถึงความไม่เข้าอกเข้าใจเรื่องการอ่านของผู้คิดคำขวัญ โดยจัดกิจกรรม “ยืนอ่านกันให้เงียบเงียบ กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก” เพื่อชี้ว่าการอ่านต้องอ่านเงียบ ๆ เน้นคุณภาพ ไม่ต้องจัดพิธีกรรมเอิกเกริก

หรือการใช้งบประมาณทุ่มให้แก่การประชาสัมพันธ์ที่มีผู้วิจารณ์ว่าใช้จนเกินพอดี ถึงเวลานี้งบประมาณทั้งหมดราว ๑,๔๐๐ ล้านบาท ใช้ไปในการผลักดันให้กรุงเทพฯ ได้รับตำแหน่งถึง ๒๐๐ ล้านบาท ใช้ในกิจกรรมวันเปิดโครงการเมื่อ ๒๑-๒๓ เมษายนกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ขณะที่กิจกรรมอื่น ๆ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการขอรับบริจาคและแจกหนังสือ เฉพาะนิทรรศการ ๓๕ ปีรางวัลซีไรต์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ใช้เงินไปถึง ๑๒ ล้านบาท โดยบริษัทเอกชนที่ได้รับว่าจ้างให้มาดำเนินงานถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่รู้จักหนังสือและนักเขียน

ส่วนโครงการสร้างหอสมุดกรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยหนังสือและการอ่านแห่งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย คาดว่าจะใช้เงินร่วม ๖๔๐ ล้านบาท

ถึงวันนี้ยังมีคำถามถึงความคุ้มค่าเหมาะสมว่าการสร้างโครงสร้างอันเป็น “สาธารณวัตถุ” นี้ จะมีส่วนผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านในสังคมขึ้นตามเป้าประสงค์อย่างไร

reading society03

หนังสือที่มีให้เลือกหลากหลายและ “พื้นที่การอ่าน” เป็นปัจจัยสำคัญของการก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในสังคม ภาพบรรยากาศการอ่านสบายๆ ที่ TK Park อุทยานการเรียนรู้ผู้นำของแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต”(ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

reading society04

ธรรมชาติของการอ่านเงียบๆ โดยไม่ต้อง “อ่านกันสนั่นเมือง” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

reading society05

หนังสือคือมิตร เป็นเพื่อนติดตัวแม้บนรถโดยสารกลางแสงไฟสลัวขณะเดินทางกลับบ้าน แต่ภาพเช่นนี้นับวันจะน้อยลงทุกที ?

reading society06

ร้าน “แบกะดิน” ขายหนังสือมือสองอยู่คู่กับสังคมไทยมาไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ยิ่งกองหนังสือสูงเท่าไร ยิ่งดึงดูดใจให้ลูกค้านั่งยองๆ เลือกซื้อเลือกหากองหนังสือที่ตลาดคลองถมเย็นวันเสาร์ อาจชี้ว่าสำหรับคนจำนวนหนึ่ง หนังสือยังเป็นที่ต้องการหากราคาเป็นที่พึงพอใจ


ข้อมูล

หากไล่เรียงความพยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเราระยะหลังนี้

ปี ๒๕๕๑ รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และให้ช่วงเวลา ๑๐ ปี ตั้งแต่ ๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็น “ทศวรรษแห่งการอ่าน” ตั้งเป้าให้คนไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปอ่านออกเขียนได้เพิ่มเป็นร้อยละ ๙๕ และเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือจาก ๕ เล่มเป็น ๑๐ เล่มต่อปี เพิ่มแหล่งการอ่านให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ในแทบทุกวงเสวนาวิสาสะเรื่องการอ่าน มักวนเวียนกับปัญหาเดิม คือการกล่าวว่าคนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือหรืออ่านน้อยถึงน้อยมาก

สถิติที่บอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี ๒๕๔๔ พบว่าโดยเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วคนไทยอ่านหนังสือกันวันละ ๒.๙๙ นาที ผลการสำรวจของหน่วยงานเดียวกันเมื่อปี ๒๕๕๑ พบว่าการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนของเด็กอายุ ๐-๖ ขวบ(ไม่ว่าผู้ใหญ่อ่านให้ฟังหรือเด็กอ่านเอง) พบว่ามีเด็กอ่านร้อยละ ๓๖ หรือ ๒.๑ ล้านคนจาก ๕.๙ ล้านคนทั่วประเทศ และใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย ๒๗ นาทีต่อวัน ความถี่การอ่านสัปดาห์ละสองถึงสามวัน

อย่างไรก็ตามตัวเลขสถิติซึ่งน่าพินิจพิเคราะห์เพราะถูกอ้างกันเป็นนิจ พูดกันจนติดปาก คือคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละเจ็ดบรรทัด หรือบางแหล่งก็อ้างว่าแปดบรรทัด

จำนวนเจ็ดหรือแปดบรรทัดต่อปีนี้ยังไม่มีใครระบุได้ชัดเจนว่าข้อมูลมาจากไหน และต้องแก้ไขให้เข้าใจถูกต้องเสียใหม่ว่าเจ็ดหรือแปดบรรทัดนั้นเป็น “ต่อวัน” ไม่ใช่ “ต่อปี” ดังที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศว่าจะขอเพิ่มให้เป็น ๑๒ บรรทัดต่อวันในภายหลัง

เมื่อคิดเปรียบเทียบเป็นจำนวนเล่มที่อ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สำรวจข้อมูลในกรุงเทพฯ และตัวเมืองใหญ่ ปี ๒๕๕๐ พบว่าคนไทยใช้เงินซื้อหนังสือเฉลี่ยต่อคนปีละ ๒๖๐ บาท เมื่อคิดประมาณเป็นหนังสือได้เท่ากับสองเล่ม จึงสรุปว่าคนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือตกปีละสองเล่ม (ซึ่งการสรุปเช่นนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าต้อง “ซื้อ” ถึงจะได้ “อ่าน” ทั้งที่คนอาจอ่านโดยไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้) อย่างไรก็ตามถ้ายึดตัวเลขนี้ก็ถือว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ที่มีสถิติคนอ่านหนังสือ ๔๐-๕๐ เล่มต่อปี หรือเวียดนามอ่านหนังสือประมาณ ๖๐ เล่มต่อปี

(เพิ่มเติมข้อมูลจาก ไทยรัฐ : จากผลสำรวจปี 2558 โดยอุทยานการเรียนรู้ พบว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 66 นาทีต่อวัน โดยเป็นการอ่านข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก )

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศทศวรรษแห่งการอ่านปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ ก็ตั้งเป้าไว้ว่าต้องเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านของคนไทยจาก ๕ เล่มเป็น ๑๐ เล่มให้ได้…

ถึงตอนนี้เมื่อใช้ข้อมูลสถิติ ไม่ว่า “นาที” หรือ “จำนวนเล่ม” เป็นดัชนีชี้วัดการอ่าน เราจะ “รู้สึก” ได้ว่าสังคมไทยยังอ่านหนังสือน้อย

อย่างไรก็ตามอีกหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกัน

ทุกวันนี้ที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อโยนคำถามว่า หากโปรแกรมท่องเที่ยวถูกระงับแล้วมีสิ่งเดียวให้เลือกสำหรับช่วงเวลาที่ว่าง คุณจะเลือกอะไร

ชาวดัตช์ส่วนใหญ่ตอบว่าเลือกโทรทัศน์ รองลงมาเป็นสื่ออื่นๆ โดยแทบจะไม่มีผู้ตอบว่าเลือกหนังสือ

จากการสำรวจพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์เกือบจะไม่อ่านหนังสือ คนที่อ่านหนังสือซึ่งมีจำนวนไม่มากก็ใช้เวลายามว่างอ่านหนังสือน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อน กลุ่มเด็กอายุ ๑๒ ปีใช้เวลายามว่างอ่านหนังสือเฉลี่ยน้อยกว่าครึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมิได้เป็นเพราะปัญหาการไม่รู้หนังสือ เด็กเหล่านี้ล้วนเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว

ส่วนที่ฮ่องกง ขณะเดินทางบนรถไฟหรือรถประจำทาง ชาวฮ่องกงมักเล่นเกมในเครื่องเล่นเกมพกพา ฟังไอพอด คุยโทรศัพท์ การอ่านหนังสือเป็นตัวเลือกล้าสมัยที่ไม่ได้รับความนิยม

คนฮ่องกงอ่านหนังสือน้อยลงกว่าทศวรรษ ๑๙๗๐ ถึงขนาดมีคนบอกว่าวันนี้ในฮ่องกง “การอ่านตายแล้ว” แม้นักเขียนและนักวิชาการจะไม่มองว่าแย่ขนาดนั้น

วันนี้ฮ่องกงพยายามจัดงานบุ๊กแฟร์ จัดเทศกาลหนังสือและวรรณกรรม รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้งในโรงเรียนและชุมชน

ซูซี นักเขียนนวนิยายภาษาอังกฤษชาวฮ่องกงให้ความเห็นว่า ฮ่องกงไม่ใช่เมืองที่เน้นให้คนมีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่อดีต เพราะเป้าหมายหลักคือการมุ่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจและการหาเงินเลี้ยงชีพ จึงยากที่จะบ่มเพาะให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน แต่ทุกวันนี้ ซูซีคิดว่าวัฒนธรรมการอ่านกำลังจะเริ่มโต และจะเห็นผลดีในไม่ช้า ด้วยโครงการต่างๆ ที่เริ่มขึ้นมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปรกติที่วัฒนธรรมการอ่านหนังสือของทั่วโลกกำลังถูกบั่นทอน เพราะสื่ออย่างโทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ดึงความสนใจไปจากหนังสือ

reading society07

ทุกๆ วันหน้าอาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ เกียฮั้วตงง้วนรายวัน (ศิรินคร) ถนนเสือป่า จะมีพนักงานนำหนังสือพิมพ์ออกจากโรงพิมพ์ใหม่ๆ มาติดให้คนเดินผ่านไปผ่านมาได้หยุดยืนอ่านกันฟรีๆ

reading society08

ภาพฝรั่งนอนอาบแดด อ่านหนังสือ หรือหนีบหนังสือไปนั่งเอกเขนกริมชายหาด เป็นภาพคุ้นตาเสมอๆ นี่อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเข้มแข็งของ “วัฒนธรรมการอ่าน” ของชาวตะวันตกเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

ค.
คนรักการอ่าน

การฝึกฝนให้คนรักการอ่านเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ไม่ได้มีในวัฒนธรรมไทยมาก่อน ?

สุดใจ พรมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็นว่า “การอ่านเป็นเรื่องที่ต้องสอน ต้องสั่ง ต้องบอก ต้องเล่า ต้องบ่มเพาะ เหมือนพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมของมนุษย์ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านแม้จะเป็นเรื่องยากแต่สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาหลากหลายเรื่องก็ไม่ใช่วัฒนธรรมในสังคมไทย เช่น การทิ้งขยะ สมัยก่อนเราทิ้งขยะเรี่ยราด ทิ้งของลงในแม่น้ำ แต่ช่วงหนึ่งมีโครงการตาวิเศษ รณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ถนนหนทางเราก็สะอาดขึ้น การปลูกฝังคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็มีตัวอย่างมาแล้ว เรื่องแบบนี้ต้องการการบ่มเพาะ การอ่านก็เหมือนกัน”

สุดใจเล่าในฐานะที่ผ่านการทำงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านตลอด ๒-๓ ปีที่ผ่านมาว่า “การสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างถาวรและมั่นคงต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก มีทฤษฎีว่าถ้าทำให้เด็กรักการอ่านตั้งแต่แรกเกิดถึงช่วงปฐมวัย เด็กจะรักการอ่านไปตลอดชีวิต และไม่ใช่รักการอ่านอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างฐานกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะการอ่านจะเติมเต็มในทุก ๆ ด้าน”

ในที่นี้ “การอ่าน” ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่เริ่มตั้งแต่การอ่านหนังสือเด็กเล็กหรือหนังสือภาพสำหรับเด็ก แล้วขยับมาเป็นอ่านนิทาน อ่านการ์ตูน แล้วไปจนถึงการอ่านวรรณกรรม

“ตามปรกติเรื่องพฤติกรรม เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่แล้วทำตาม แต่หนังสือไม่ใช่ พ่อแม่ต้องอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ครูต้องบอกต้องสอน เด็กถึงจะค่อย ๆ อ่านเองได้ เพราะฉะนั้นการอ่านเป็นทักษะที่ต้องฝึก ซึ่งสังคมไทยขาดเรื่องนี้ หนังสือเป็นสื่อชนิดเดียวที่พ่อแม่ต้องอุ้มลูกมานั่งตัก แล้วเล่านิทาน เปิดหนังสือภาพให้ดู ถ้าเป็นสื่ออื่นพ่อแม่เปิดให้ลูกดูเพื่อพ่อแม่จะได้ไปทำอย่างอื่น ไม่ได้มานั่งมีปฏิสัมพันธ์กัน”

สุดใจ พรมเกิด เสริมว่าถ้าย้อนไปในอดีตใช่ว่าสังคมไทยจะไม่บ่มเพาะเรื่องนี้ “สมัยก่อนพ่อแม่จะเล่านิทานให้เด็กฟัง เราไม่นิยมเล่านิทานก่อนนอนเหมือนฝรั่ง แต่พ่อแม่จะเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังหลังกินข้าว คนไทยโบรานเป็นอย่างนั้น กับอีกอย่างหนึ่งคือสอน ก. ไก่ ข. ไข่ คนไทยโบราณจะอ่านออกเขียนได้ก่อนไปโรงเรียน แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ฝากการเรียนการสอนไว้ที่รัฐ การอ่านผูกติดกับระบบของกระทรวงศึกษาธิการ”

ถามว่าสังคมไทยจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านหรือสร้างการอ่านให้เป็นวัฒนธรรมได้อย่างไร ?

สุดใจ พรมเกิด เสนอว่าต้องสร้างทรัพยากรอ่านให้มีอยู่ทุกมุม และมีหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดเป็นสวัสดิการ

“เราต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้คนเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าคุณมีเงินซื้อได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณไม่มี ทำอย่างไรถึงจะมีหนังสือเพื่อพัฒนาลูกติดมือเมื่อออกจากห้องคลอดไปด้วย อุแว้เมื่อไหร่กุมารแพทย์มีหนังสือแจกให้เด็กฟรี พอมาฉีดวัคซีน ๓ เดือน หรือ ๖ เดือนก็มารับหนังสือไปอีกเล่มหนึ่ง นี่คือความฝันของเรา เรื่องนี้อาจเทียบเคียงได้กับระบบประกันสุขภาพ หากเรามองว่าหนังสือพัฒนาสมองเด็ก ช่วยบำบัดโรคบางอย่าง เช่น ออทิสติก หรือแอลดี (LD Learning Disabilities โรคการเรียนรู้บกพร่อง) ได้ เรื่องของสุขภาพจึงไม่ใช่แค่ยา ทุกวันนี้พ่อแม่ยากจนหลายคนขวนขวายเก็บเงินซื้อหนังสือดี ๆ ให้เด็กเป็นเจ้าของ ยอมควักกระเป๋า แต่ถามว่าถ้าเขายากจน ทำไมรัฐไม่จัดสวัสดิการให้

“หลายพื้นที่ทำสำเร็จแล้ว เช่น อบต. หนองขาม จังหวัดชลบุรี นายก อบต. นำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในเทศบัญญัติ ต้องแจกหนังสือให้เด็กลูกหลานทุกคน แจกเด็กเกิดใหม่ครั้งหนึ่งเป็นร้อยคน แล้วจัดอาสาสมัครไปสาธิตการอ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือที่โรงพยาบาลวัดไร่ขิงผู้อำนวยการโรงพยาบาลรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการทำโครงการนี้ ที่สำคัญคือได้เงินช่วยเหลือจากวัดไร่ขิง เจ้าอาวาสอยากให้ทำทั้งอำเภอ การแจกหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดไม่ใช่เรื่องใหม่ ความจริงเป็นข้อตกลงที่ไทยเคยทำไว้กับองค์การเด็กแห่งสหประชาชาติว่าเด็กแรกเกิดถึง ๕ ขวบต้องมีหนังสือในบ้านอย่างน้อยสามเล่ม ที่ต่างประเทศมีโครงการ reach out & read เราจะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศได้อย่างไร ถ้าให้ทำคู่ขนานกับระบบหลักประกันสุขภาพได้ไหม”

ไม่นานมานี้สำนักงานสถิติแห่งชาติออกแบบสอบถามว่าทำอย่างไรถึงจะให้คนชอบอ่านหนังสือมากขึ้น คำตอบแรกที่ได้คะแนนสูงสุด คือทำหนังสือให้ถูกลง ร้อยละ ๒๘.๗ รองลงมาคือหนังสือควรมีเนื้อหาสาระน่าสนใจร้อยละ ๒๒.๐ ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชนร้อยละ ๑๙.๘ ส่งเสริมพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านหนังสือร้อยละ ๑๙.๓ และภาษาที่ใช้ควรใช้ภาษาง่าย ๆ เพื่อสื่อให้ทุกคนเข้าใจร้อยละ ๑๓.๑

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว ให้ความเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาครัฐจะสร้างวัฒนธรรมได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

“วัฒนธรรมคือสิ่งสุดท้ายที่นักการเมืองจะนึกถึง กระทรวงวัฒนธรรมถึงกลายเป็นกระทรวงเกรดซี ที่ไม่มีใครอยากเป็นรัฐมนตรี แต่ความจริงแล้วงานใหญ่นะ ใหญ่ในแง่มูลค่า การส่งออกวัฒนธรรมไปต่างประเทศ คุณอาจจะไม่ได้เงินเหมือนส่งออกคอมพิวเตอร์ เพราะมูลค่าเป็นเม็ดเงินน้อย แต่ผลตอบแทนที่กลับคืนมาประเทศสูงมาก ตัวอย่างเกาหลีส่งออกวัฒนธรรมให้คนทั่วโลกบริโภค คนบริโภควัฒนธรรมก่อนแล้วก็ซื้อสินค้าเกาหลี มูลค่าของกังนัมสไตล์น้อยกว่าซัมซุง แต่กังนัมสไตล์ทำให้ซัมซุงขายดีขึ้น คุณค่าของการอ่านหรือหนังสือก็เหมือนกัน “การอ่านเป็นธรรมชาติของคนหลายประเทศ ลองนึกง่าย ๆ หนังเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป หนังหลายเรื่องพระเอกนางเอกเจอกันในร้านขายหนังสือ Notting Hill, Sleepless in Seattle, Coffee Prince ซีรีย์ของเกาหลีก็เจอกันในร้านหนังสือ The Man from Nowhere ที่พระเอกเป็นมือปืน ยิงกันตาย ก็ไปถ่ายในร้านหนังสือ แต่หนังไทยละครไทยไม่เคยถ่ายร้านหนังสือ นอกจากร้านอาหาร แล้วก็นินทากัน มันชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยไม่มองการอ่านเป็นวัฒนธรรม”

จรัญ หอมเทียนทอง กล่าวว่าภาครัฐต้องกำหนดนโยบายที่มีส่วนช่วย “เราเคยไปเรียกร้อง กทม. บอกว่าการสร้างตึก ผู้สร้างต้องยื่นแบบว่ามีระยะห่างจากถนนเท่าไหร่ มีลิฟต์ มีห้องน้ำกี่ห้อง แล้วทำไมไม่กำหนดให้แต่ละตึกต้องมีห้องสมุดด้วย คุณกำหนดให้มีห้อง ‘ขี้’ แต่ทำไมไม่กำหนดให้มีห้อง ‘คิด’ ผมเสนอว่า ๑ building ๑ library หรือหนึ่งอาคารสูงต้องมีหนึ่งห้องสมุดเหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เขาบอกว่าทำไม่ได้ คุณเห็นห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์ของเมืองไทยที่ว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดไหม ถ้าตึกธนาคารใหญ่แถวสีลมมีห้องหนังสือหนึ่งห้องให้พนักงานเข้าไปอ่าน พนักงานคงจะไปเดินซอยละลายทรัพย์น้อยลง แล้วทำไมตึกใหญ่ ๆ ไม่ทำ แม้แต่สถานที่ราชการก็ไม่ทำ นี่คือความไม่ตระหนักของรัฐไทย กระทรวง ทบวง กรม ไม่มีห้องสมุด เวลาขายคอนโดมิเนียมสูง ๆ คุณโฆษณาว่ามีสระว่ายน้ำ ถ้าต่อไปโฆษณาว่าคอนโดฯ สูง ๒๐ ชั้น มีห้องสมุดหนึ่งห้อง คนอาจจะอยากซื้อก็ได้ นี่คือสิ่งที่ประชาสังคมต้องช่วยกัน”

ว่ากันว่าหนังสือเป็นสินค้าประหลาด คือปริมาณการผลิตที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ราคาต่ำลงสักเท่าไร แต่หนังสือจะถูกลงมากหากมีห้องสมุด คือถ้ามีคนอ่านหรือยืมหนังสือจากห้องสมุดกันมาก ๆ ราคาก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ หนังสือราคา ๕๐๐ บาท อ่านกัน ๑๐ คน ราคาเหลือเล่มละ ๕๐ บาท อ่าน ๑๐๐ คนเหลือ ๕ บาทเท่านั้น

เมื่อถามถึงความสำคัญของห้องสมุดที่นับเป็นแหล่งรวมหนังสือ รวมทั้งวิธีเพิ่มคนอ่าน จรัญมีคำตอบว่า

“หัวใจของห้องสมุดคือหนังสือ แต่วันนี้หนังสือที่ใส่ไว้ในห้องสมุดคือหนังสือบริจาค เมื่อจะสร้างห้องสมุดขึ้นมา ต้องออกแบบก่อนว่าเป็นห้องสมุดอะไร แล้วซื้อหนังสือที่เกี่ยวข้องเข้าไป ไม่ใช่ตั้งโต๊ะรับบริจาคให้คนเอาหนังสือที่เขาไม่อ่านแล้วมาทิ้ง เวลาสร้างห้องสมุดราคาเป็นร้อยล้าน ไม่เคยขอรับบริจาคหน้าต่าง ปูน ทราย แอร์ แต่พอตอนจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด กลับขอรับบริจาค มันไม่ใช่”

คุณค่าของห้องสมุดยังประกอบขึ้นจากสามส่วนที่เรียกว่า สามดี คือ หนังสือดี บรรณารักษ์ดี และบรรยากาศดี

“พอมีหนังสือดีก็ทำให้ห้องสมุดน่าเข้า แล้วหนังสือจะดีได้ต้องอยู่ที่บรรณารักษ์ พอหนังสือดี บรรณารักษ์ดีบรรยากาศในห้องก็น่าอ่าน คุณอาจพัฒนาจนห้องสมุดสามารถเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ หรือเปิดทั้งคืนให้คนเข้าไปอ่านหนังสือหรือทำงานได้”

ที่สุดแล้วเขาเชื่อว่าภาครัฐน่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ รวมถึงการแสดงออกของผู้นำรัฐต่อสาธารณชน

“ภาครัฐเป็นตัวใหญ่ที่สุด แต่ภาครัฐไม่เคยพูดเรื่องหนังสือ แล้วรัฐใดก็ตามผู้นำประเทศไม่พูดเรื่องหนังสือ ข้าราชการก็ไม่ทำตาม คุณทักษิณ ชินวัตร จะดีจะชั่ว สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เขาพูดถึงหนังสือแทบทุกอาทิตย์ก่อนจบรายการนายกฯ พบประชาชน หนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร เขาอ่านเองหรือเปล่าไม่รู้ แต่พูดแล้วข้าราชการก็อยากรู้ว่าหนังสืออะไรที่นายกฯ พูด

“นักการเมืองไทยไม่มีใครหาเสียงว่าจะทำเรื่องหนังสือ ทุกคนหาเสียงเรื่องสร้างโครงการ ทำถนน สะพาน แต่หนังสือเขาไม่ทำ เพราะหนังสือเป็นวัฒนธรรม ไม่เห็นผลทันตา กระทั่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งสองพรรคใหญ่ ก็ไม่มีใครพูดถึงหนังสือหรือห้องสมุด ทั้งที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกปีนี้ แต่ไม่มีใครพูดว่าเมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ จะทำอะไรกับหนังสือบ้าง”

ตอนท้ายจรัญให้ความเห็นถึงพฤติกรรมการอ่านของคนไทยว่าทุกวันนี้คน “อ่าน” มากขึ้น แต่การ “อ่านหนังสือ” ไม่ได้มากขึ้นตามสัดส่วน

“ตอนทำสำรวจเราชอบพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ต้องแยกก่อนว่าความจริงคนไทยอ่านมากขึ้น เพียงแต่ไม่ได้อ่านหนังสือเป็นสัดส่วนมากขึ้นตาม หนังสือไม่ได้ขายดีขึ้น เพราะตัวเลือกหนังสือมีมากขึ้นด้วย ถามว่าห่วงไหม ไม่ห่วง ขอให้คุณอ่าน อ่านสิ่งที่คุณชอบแล้วจะเจอสิ่งที่คุณใช่ วันนี้เด็กจะอ่านการ์ตูนปล่อยให้เขาอ่านไป ให้เขาอ่านสิ่งที่ชอบก่อนแล้ววันหนึ่งเขาจะเจอหนังสือที่ใช่ จะอ่านในสมาร์ตโฟนหรืออะไรก็ได้ เมื่อเขาได้อ่านแล้วก็จะไม่กลัวการอ่าน วันหนึ่งเขาจะอ่านหนังสือเอง”

reading society09

มุมนั่งอ่านสนุกๆ ใน TK Park อุทยานการเรียนรู้ที่ต่างจากการถูกบังคับด้วยเก้าอี้พนักตรง และโต๊ะสี่เหลี่ยมตามห้องสมุดมาตรฐาน หนังสือดี บรรณารักษ์ดี บรรยากาศดี อาจเป็น “สามดี” ของห้องสมุดคุณภาพสมัยใหม่

reading society10

ร้านหนังสือริมขอบฟ้ามุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หนึ่งในบรรดา “ร้านหนังสืออิสระ”ที่พยายามหาทางอยู่รอด ขณะที่ทั่วประเทศเต็มไปด้วยร้านหนังสือของเครือข่ายยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ นายอินทร์ และบุ๊คสไมล์ ซึ่งมีจำนวนร้านรวมกันราว ๓,๐๐๐ ร้านจากร้านหนังสือที่มีอยู่ ๓,๕๐๐ ร้านทั่วประเทศ

reading society11

Too Fast Too Sleep ห้องสมุดและร้านอาหารแถวสามย่านให้บริการ ๒๔ ชั่วโมง อีกหนึ่งตัวอย่างการสร้างสังคมการอ่านที่หาทางทำลายอุปสรรคเรื่องเวลาสำหรับคนนอนดึก


งานแห่งปัญญา

ตำแหน่ง “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก ๒๕๕๖” ไม่ใช่รางวัลเมืองที่เป็นเลิศด้านการอ่าน แต่เป็นการมอบโอกาสให้แก่เมืองที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นจะส่งเสริมการอ่านหนังสือให้ดีขึ้น

ตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้อาจเป็นเพียงกุศโลบาย ในทางปฏิบัติเป็นเป้าหมายระยะสั้น จากกิจกรรมในโครงการต่าง ๆ ในระยะเวลา ๑ ปี เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านของสังคมในระยะยาว

หากทุกวันนี้มิใช่มีแต่กรุงเทพมหานคร ทั่วประเทศยังมีคนเล็กคนน้อยที่พยายามสร้าง “สังคมการอ่าน” หรือ “วัฒนธรรมการอ่าน” ตามแนวทางเฉพาะของตน

หลายคนอาจเป็นเพียงบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจหรือไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าเมืองใดจะคว้าตำแหน่งเป็นเจ้าภาพเมืองหนังสือโลก

กลุ่มคนที่กำลังทำงานสร้างสังคมการอ่าน สร้างความรู้และปัญญาให้แก่เด็ก ผู้ใหญ่ คนพิการ ในเมือง ในท้องถิ่นห่างไกล ในโลกออนไลน์ ตามหนทางที่ตนถนัดและเลือกแล้ว

ด้วยความรักความผูกพันกับการอ่านและหนังสือ โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงความหวังว่า อนาคตของวัฒนธรรมการอ่านจะไม่สูญหายไปโดยสิ้นเชิง