เรื่อง : สุชาดา ลิมป์   ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

smallbookstore02ใครจะไปคิด ว่าร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่แสนอบอุ่น อวลกลิ่นสังคมของหนอนนักอ่าน จะกลายเป็นธุรกิจปราบเซียน !

น้อยกว่าน้อยที่การลงทุนแต่พอตัว พึ่งกำลังความคิด-กายตน ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของธุรกิจใด จะรอดจากการถูกร้านยักษ์ใหญ่ผลักให้ไปยืนขอบเหว หลายรายซวนเซจำต้องปิดกิจการและมีทีท่าจะเพิ่มจำนวนไม่หยุด ทั้งที่หากเทียบเปอร์เซ็นต์กันแล้วร้านเล็ก ๆ ทั่วประเทศเคยมีสัดส่วนมากกว่าร้านใหญ่ด้วยซ้ำ

ปี ๒๕๔๗ มีผู้สำรวจจำนวนร้านหนังสือทั่วประเทศไว้ราว ๗๐๐ ร้าน เป็นร้านเครือข่าย (ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์
นายอินทร์ และบุ๊คสไมล์) ๒๖๐ ร้าน ร้านหนังสืออิสระ ๔๔๐ ร้าน  ผ่านมา ๙ ปีร้านหนังสือทั่วประเทศมี
๓,๕๐๐ ร้าน เป็นร้านเครือข่ายกว่า ๓,๐๐๐ ร้าน ที่เหลือไม่เกิน ๒๕๐ ร้านแบ่งเป็นเครือข่ายเล็ก (เส้งโหกับ
แพร่พิทยา) ๑๕ ร้าน และร้านหนังสืออิสระที่มีจำนวนใกล้เคียงร้านนายอินทร์เพียงเครือข่ายเดียว และถ้านับเฉพาะที่มีศักยภาพอาจเหลือไม่ถึง ๒๐ ร้าน

ก่อนสิ้นพื้นที่ให้เจ้าของร้านอิสระหยัดยืนหายใจประคองความฝันบนถนนหนังสือ…

มะลิ มะลิ (กรุงเทพฯ), ร้านหนังสือเดินทาง (กรุงเทพฯ), ริมขอบฟ้า (กรุงเทพฯ), สวนเงินมีมา (กรุงเทพฯ), Bookmoby (กรุงเทพฯ), สุนทรภู่ (ระยอง), Booktopia (อุทัยธานี), กาลครั้งหนึ่ง (อุทัยธานี), เฟื่องนคร (นครราชสีมา), ฟิลาเดลเฟีย (อุบลราชธานี), เอกาลิเต้ (ลำปาง), ร้านเล่า (เชียงใหม่), Book Re:public (เชียงใหม่), หนัง (สือ) 2521 (ภูเก็ต) และบูคู (ปัตตานี) ตกลงใจออกจากพื้นที่ “stand alone” มาจับมือประคับประคองกัน

จาก ๑ ร้านเป็น ๒…๓…๔…๑๕ ที่สุดก็เกิดเป็น “เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก” ในปี ๒๕๕๕

การดิ้นรนเพื่อประกอบสัมมาชีพที่ตนรักยังไม่ยอมสิ้นสุด…

ปลายมิถุนายน ๒๕๕๖ เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็กร่วมแสดงพลังจัดงาน “สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ ๑” โดยหมุนเวียนจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามร้านหนังสืออิสระทุกภูมิภาค

ใช่เจตนาหยิกหยอกงานที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนสูงอย่าง “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” หรือ “กรุงเทพฯ
เมืองหนังสือโลก” เพียงขอโอกาสให้ร้านเล็ก ๆ ของพวกเขาได้ประชาสัมพันธ์ตัวให้สำนักพิมพ์ สายส่ง ผู้อ่าน
ได้รู้จักกว้างขวางขึ้นบ้าง

บางสำนักพิมพ์ยังร่วมส่งเสริมการอ่านให้ร้านหนังสืออิสระมีความหมายมากกว่าสถานที่ซื้อ-ขายหนังสือ โดยจัดมอบหนังสือแก่ผู้อ่าน บ้างให้นักอ่านนำหนังสือตัวเองมาแลกหนังสือเล่มอื่น หรือให้ผู้อ่านร่วมกิจกรรมแล้วจับฉลากชิงรางวัล

นี่คือนิมิตหมายเริ่มต้นของการ “จับมือ-ผูกอุดม-การณ์” ระดับเครือข่ายฯ แว่วสัญญาจากทีมผู้จัดงาน “สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ” ว่าจะมีครั้งที่ ๒…๓…๔…เรื่อยไปในช่วงเดียวกันของทุกปี

ปี ๒๕๕๕ ไม่เพียงเกิดกลุ่มเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ “เครือข่ายนักอ่านไทย” โดยมี “ปราย พันแสง” เจ้าของ “ฟรีฟอร์ม สำนักพิมพ์” และ “ร้านหนังสือฟรีฟอร์ม Lonely Pai @ถนนคนเดินปาย” เป็นหัวเรือใหญ่ชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่จากหลายอาชีพซึ่งรักการอ่านราว ๘๐ คนมารวมกลุ่ม

ก้าวแรกของสมาชิกกลุ่มคือโครงการ “หนังสือบนรถโฟล์ค” โดยร่วมจัดหารถโฟล์คและหนังสือดีสำหรับเด็ก เนรมิตเป็นห้องสมุดและร้านหนังสือเคลื่อนที่ นำกิจกรรมแสนสนุกเสิร์ฟผู้อ่านตัวน้อยตามโรงเรียนประถมฯ ในภาคเหนือ

ขณะที่สังคมรักการอ่านของเด็กวัย ๖-๑๒ ปีกำลังก้าวไปได้ดี โครงการ “ร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด” ก็ผุดต่อ เพื่อสนับสนุนเจ้าของร้านที่มีความรู้เรื่องหนังสือเป็นอย่างดีให้เป็นหน่วยความรู้ขนาดเล็กส่งต่อข่าวสารที่มีประโยชน์แก่คนท้องถิ่น เป้าหมายโครงการนี้คืออยากเห็นร้านหนังสือของเครือข่ายอย่างน้อยจังหวัดละร้าน โดยมีฟรีฟอร์ม Lonely Pai @ ถนนคนเดินปาย (แม่ฮ่องสอน) ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นร้านหนังสือต้นแบบ

แล้วมิถุนายน ๒๕๕๖ ก็เปิดตัวร้านหนังสือสุนทรภู่ (ระยอง) เป็นร้านแรก เดือนถัดมาเปิดร้านหนังสือเชียงดาว (เชียงใหม่), บางหลวง (ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ) และบุษบา (ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ) โดยจะมีร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด ในจังหวัดสระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บึงกาฬ ราชบุรี เชียงใหม่ และอีกหลายที่ต่อคิวเปิดดำเนินการ

“ผมคนหนึ่งที่ฝันอยากมีร้านหนังสือ”

smallbookstore01องอาจ เดชา หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายนักอ่านไทยและโครงการร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิดยืนยัน

เขาอยากเห็นร้านหนังสือวรรณกรรมของตัวเองผุดขึ้นในประเทศที่ถูกกล่าวว่ามีคนอ่านหนังสือเพียงปีละไม่กี่บรรทัด ซ้ำยอดขายหนังสือเล่มยังถดถอยเพราะหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแบ่งความนิยม และแม้ที่บ้านเกิดของเขาจะไม่เคยมีร้านหนังสือมาก่อน (หากไม่นับแผงขายหนังสือพิมพ์) แต่เขาเชื่อว่าในชุมชนมีคนที่รักการอ่านอยู่มาก

“ครั้งหนึ่งผมไปซื้อหลอดไฟที่ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็ก ๆ ในชุมชน พอเจ้าของร้านรู้ว่าเราอยากเปิดร้านหนังสือก็ยินดีใหญ่ เพราะเขาเองชอบอ่าน ภรรยาก็อ่านนิยาย ลูกชายก็อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์  ยิ่งทำให้แน่ใจ
ว่าเรามาถูกทางแล้ว การที่ไม่เคยมีร้านหนังสือปรากฏในท้องถิ่นเราไม่ได้แปลว่าผู้คนที่นี่ไม่อ่านหนังสือ พวกเขารอคอยพื้นที่การอ่านอยู่”

แต่เรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลย หากเขาเฝ้าฝันลำพัง…

“ใจผมน่ะพร้อมนานแล้วแต่ยังขาดทุนทรัพย์ก็เลยได้แต่ดูคนอื่นเขาไปก่อน แล้วผมไม่มีประสบการณ์ด้านการตลาดหรือประชาสัมพันธ์เลย ไม่รู้ว่าจะต้องประสานงานกับสำนักพิมพ์อย่างไรเพื่อให้ได้หนังสือมาขายโดยไม่ผ่านระบบจัดจำหน่าย ถ้าผมทำคนเดียวมันอาจจะไปไม่รอดจริง ๆ ผมก็ปรึกษากับ ‘ปราย พันแสง’ ซึ่งมีประสบการณ์และทุนมากกว่าจึงเกิดเป็นการร่วมหุ้นกันขึ้นมา โดยมีกลุ่มเครือข่ายนักอ่านไทยที่เปิดร้านหนังสืออยู่ก่อนช่วยเหลือปันความรู้ให้”

หนุ่มนักอ่านว่า นี่คือข้อดีของการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย เจ้าของร้านหนังสือมือใหม่จะไม่โดดเดี่ยว

และไม่นานบ้านไม้เก่าแบบมีใต้ถุนที่ให้เช่ารายเดือน ติดถนนโชตนาหรือทางหลวงสาย ๑๐๗ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้รับการบูรณะขนานใหญ่ก่อนจะเป็น “ร้านหนังสือเชียงดาว” ในเวลาต่อมา

“ตอนนี้คนในท้องถิ่นรับรู้แล้วว่ามีร้านหนังสือตั้งอยู่ที่นี่ เริ่มจากจับคู่กันมา แล้วก็ทยอยมีกลุ่มข้าราชการอย่างพยาบาล หมอ ตำรวจ เทศบาล แวะเวียนมาอ่านหนังสือ จิบกาแฟ กินอาหารว่าง”

มากกว่าร้านหนังสือ องอาจจัดสรรพื้นที่ร้านให้เป็นมุมพักผ่อน มีอาหารและเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ น้ำผลไม้ตามฤดู เครปมะม่วงวานิลลาซอส โฮมเมดเบเกอรีของที่ระลึกชิ้นเล็ก และโปสต์การ์ดไว้คอยบริการ

“มีคนรอบข้างบางกลุ่มเหมือนกันที่มองว่าเปิดร้านหนังสือในยุคดิจิทัลคงไปไม่รอดหรอก แต่การมีร้านหนังสือของตัวเองมันเป็นความฝันของนักอ่านนี่ เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร วันนี้มีโอกาสก็อยากลองทำดู”

อย่างน้อยสิ่งที่หนังสือดิจิทัลยังไม่อาจสร้าง คือ สังคมการอ่านที่มีชีวิต

“หลายเดือนที่เปิดร้านหนังสือเชียงดาวมา ผมชอบบรรยากาศของมิตรภาพ ความเป็นพี่น้อง ที่เกิดขึ้นในร้านมาก มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนเชียงดาวแต่ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเข้ามานั่งอ่านหนังสือเล่น สักพักก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เข้ามาที่ร้าน แกชอบเดินทางไปทั่วโลกและจะเข้าร้านหนังสือเสมอ  พอรู้ว่าที่เชียงดาวมีร้านหนังสือใหม่แกก็เดินทางมาพร้อมกับเด็กหนุ่มนักเรียนจีนคนหนึ่งที่มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม  พอมาเจอน้องผู้หญิงชาวเชียงดาวก็พูดคุยแลกเปลี่ยนภาษาไทย-จีนกัน บางครั้งก็จะมีน้องพยาบาลที่เพิ่งออกเวรมาถึงร้านก็ขอหมอนนอนก่อนเลย มีแม่พาลูกมาเล่านิทานบ้าง ร้านเราจึงเหมือนบ้านอีกหลังที่เปิดรอให้คนรักการอ่านมาอยู่กันเป็นครอบครัว”

เจ้าของร้านไม่เพียงคัดสรรหนังสือมาขายอย่างใส่ใจ ยังแบ่งพื้นที่ใต้ถุนร้านเป็น “ห้องสมุดชุมชน” ด้วย เขาว่าเรื่องส่งเสริมการอ่านหากคนระดับชุมชนทำได้ก็ควรทำ จึงขอรับบริจาคหนังสือวรรณกรรมหลากหลายจากคนรู้จัก แล้วอนุญาตให้นักอ่านยืมกลับบ้านกี่วันก็ได้ เพียงสัญญาว่าอ่านจบแล้วจะส่งคืน

ทั้งที่เผื่อใจไว้แล้วว่าจะต้องมีหนังสือหายแน่ แต่ยังทำเพราะเชื่อว่า คนที่รักหนังสือในวันนี้ ก็คือคนที่เคยขโมยหนังสือมาก่อน…เช่นตัวเขา

“ผมเคยอ่านเจอเรื่องของชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งนำตู้หนังสือออกมาตั้งหน้าบ้าน ใครเดินผ่านมาเห็นหนังสือก็หยิบไป ในจำนวนนั้นมีคนที่หยิบไปหนึ่งเล่มนำกลับมาคืนสองเล่ม หยิบไปสองเล่มนำกลับมาคืนสามเล่ม สุดท้ายกลายเป็นตู้หนังสือที่มีพลัง นี่เป็นแนวคิดที่ผมนำมาใช้กับห้องสมุดชุมชน แล้วผมก็ได้รับสิ่งเดียวกัน บางคนยืมไปหนึ่งเล่มแต่คืนให้สองถึงสามเล่ม ตอนนี้เลยกลายเป็นว่ามีนักอ่านช่วยเพิ่มพูนหนังสือดี ๆ เข้าห้องสมุดโดยที่เราไม่ต้องจัดหาฝ่ายเดียวอีกแล้ว”

สังคมการอ่านของร้านหนังสือเชียงดาว เป็นหนึ่งในความสำเร็จจากก้าวที่ ๒ ของโครงการร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด ก้าวต่อมากลุ่มเครือข่ายนักอ่านไทยกำลังผุดโครงการ “หนังสือแกล้มกาแฟ” โดยจับมือกับร้านกาแฟทั่วประเทศจัดมุมห้องสมุดหรือมุมขายหนังสือคุณภาพ ให้นักอ่านได้มีโอกาสจิบเครื่องดื่มอร่อยไปพร้อมกับเสพอาหารสมอง และก้าวล่าสุดยังเตรียมเปิด “ห้องสมุดคนตัวเล็ก” ที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและสถานที่จากโครงการหมู่บ้าน My Airport ร่วมกับโรงแรมบุษบาบางกอก เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสืออย่างจริงจัง ก่อนจะมีก้าวที่ ๕…๖…๗…เรื่อยไป

ไม่แน่ว่างานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติปีหน้าอาจมีร้านหนังสืออิสระจากโครงการร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิดเข้าร่วมอีกหลายสิบร้าน นั่นหมายถึงความหลากหลายจะเกิดขึ้นในวงการหนังสือมากกว่าที่เป็นอยู่ และคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากความหลากหลายก็คือผู้อ่าน

แม้ผลตอบรับที่ดีมากและรวดเร็วจากการรวมตัวของหมู่ร้านหนังสือเล็ก ๆ ยังไม่อาจสรุปเป็นความสำเร็จที่มั่นคง

แต่น่าลุ้นว่าวันหนึ่งธุรกิจปราบเซียนจะกลับมาผงาดบนถนนสายหนังสือในสัดส่วนที่มากกว่าร้านใหญ่อีกครั้ง

ร้านหนังสือเชียงดาว

๑๙๐/๔ หมู่ ๔ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๗๐
เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น. (หยุดวันอาทิตย์)
โทร. ๐๘-๑๑๑๑-๓๖๙๓
www.facebook.com/ChiangDaoBookshop
อีเมล : chiangdaobookshop@gmail.com