โลกใบใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์

ndwa01เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนตอนที่ ผูอ้ายเจิน (Ai - Jen Poo) เริ่มต้นจัดตั้งองค์กรแรงงานของแรงงานในบ้าน (domestic workers) ไม่มีใครคิดว่าเธอจะทำสำเร็จ

แรงงานในบ้านอันประกอบด้วยแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก และคนดูแลผู้สูงอายุ เป็นแรงงานที่มีมากมายมหาศาล เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเมินว่ามีมากกว่า ๓ ล้านคน  แรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ถูกเอาเปรียบหลายทบหลายซ้อน ทั้งในแง่ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนผิวสี แรงงานข้ามชาติ  ทั้งในแง่ลักษณะงาน และพื้นที่ประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้อยู่กันกระจัดกระจาย ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน รวมตัวยากหากจะจัดตั้งเป็นสหภาพ รวมถึงแง่กฎหมายที่เกือบทุกประเทศไม่มีการออกกฎหมายรองรับและคุ้มครองแรงงานดังกล่าว

เมื่อกฎหมายแรงงานสหรัฐอเมริกาประกาศใช้ในทศวรรษ ๑๙๓๐ สมาชิกสภาคองเกรสจากภาคใต้ตั้งเงื่อนไขไม่ยอมให้กฎหมายแรงงานครอบคลุมแรงงานในบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงผิวดำ แรงงานในบ้านจึงไม่มีสถานะที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังถูกมองข้ามในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ แม้พวกเขาจะทำงานหนัก แต่ไร้ตัวตน ไม่มีศักดิ์ศรี และถูกมองว่างานที่ทำไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่สร้างความมั่งคั่งแก่สังคม

ทว่าวันนี้แรงงานตามบ้านในสหรัฐอเมริกาได้ก้าวออกมายืนยันตัวตน เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ รัฐบาลโอบามาประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ซึ่งขยาย “กฎหมายมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม” ให้ครอบคลุมแรงงานที่ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ  เดือนเดียวกันนั้นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียก็ลงนามใน “บทบัญญัติสิทธิของแรงงานในบ้าน” และตราเป็นกฎหมายรัฐ เพื่อคุ้มครองให้แรงงานในบ้านได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างล่วงเวลา มีวันหยุดที่ได้รับค่าจ้างและมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน พร้อมความคุ้มครองทัดเทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆ  นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าหลายรัฐในอเมริกาจะพิจารณาออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน

องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์จนประสบผลสำเร็จคือ “เครือข่ายพันธมิตรแรงงานในบ้านแห่งชาติ” (National Domestic Workers Alliance - NDWA) ซึ่ง ผูอ้ายเจิน เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานองค์กร  เธอได้รับรางวัลมากมายจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเป็น ๑ ใน ๑๕๐ หญิงผู้กล้าหาญ (150 fearless woman) ของนิตยสาร Newsweek และเป็น ๑ ใน “๑๐๐ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” (The World’s 100 Most Influential People : 2012) ของนิตยสาร Time ประจำ ค.ศ. ๒๐๑๒

ndwa02

จากครอบครัวนักกิจกรรมสู่นักกิจกรรม

บิดามารดาของ ผูอ้ายเจิน อพยพจากไต้หวันมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ทั้งสองเป็นนักวิทยาศาสตร์และแพทย์  คุณพ่อของเธอเป็นนักกิจกรรมผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เธอจึงเติบโตท่ามกลางบรรยากาศที่บ่มเพาะแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคม

เมื่อถึงวัยอุดมศึกษา ผูอ้ายเจิน ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  เธอเริ่มชีวิตนักกิจกรรมโดยเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วงด้วยการยึดห้องสมุด เรียกร้องให้สถาบันเพิ่มหลักสูตรที่สะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติ กระทั่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก่อตั้งศูนย์ศึกษาด้านชาติพันธุ์และเชื้อชาติ  ตัวเธอเองนั้นมีความสนใจด้านสตรีศึกษา

แรงบันดาลใจในการจัดตั้งองค์กรแรงงานในบ้านเกิดขึ้นจากการที่เธอรับรู้เรื่องราวน่าเศร้า  แรงงานหญิงชาวจาเมกาคนหนึ่งทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในครอบครัวชาวอเมริกันร่ำรวยเป็นเวลาถึง ๑๕ ปีทว่าไม่เคยได้รับค่าจ้างแม้แต่เซนต์เดียว เรื่องนี้ทำให้ ผูอ้ายเจิน สะท้อนใจและหันมาทำงานรณรงค์ด้านองค์กรแรงงานในบ้านตั้งแต่ปี ๒๕๔๓

ndwa03

ยุทธศาสตร์ที่เน้นความรักและความร่วมมือ

ผูอ้ายเจิน ไม่เพียงปรารถนาให้แรงงานในบ้านได้รับความคุ้มครอง แต่ยังต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีให้งานในบ้านด้วย  เธอเรียกงานในบ้านว่า “งานที่ทำให้งานอื่นๆ ดำเนินไปได้”  หากปราศจากแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก คนดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ วิชาชีพอย่างแพทย์ วิศวกร ผู้บริหาร นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ จะทำงานของตนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร  หากครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม แรงงานในบ้านก็เป็นกลุ่มคนสำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าและมีความเอื้ออารี

ในการทำงานรณรงค์นั้นเธอยึดหลักการเริ่มต้นที่ท้องถิ่นและสร้างองค์กรเล็กๆ โดยก่อตั้ง Domestic Workers United  หลังประสบความสำเร็จระดับเมือง เธอจึงขยายสู่ระดับรัฐและระดับชาติในที่สุด  ปัจจุบันองค์กร NDWA มีเครือข่ายใน ๑๗ เมืองและ ๑๑ รัฐ

หลักการทำงานประการหนึ่งคือ ไม่วางตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางการสื่อสารและการรณรงค์ แต่พยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่และชี้นำความสนใจไปยังแรงงานตัวจริงมากที่สุด  เธอต้องการให้แรงงานมีใบหน้า มีโอกาสส่งเสียง และมีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเอง เพื่อให้พวกเขามีตัวตนและสังคมรับรู้  เธอไม่รอให้กลุ่มธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐนำเสนองานวิจัยหรือเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในบ้าน แต่ผลักดันให้องค์กรสร้างฐานข้อมูลของตนจากเบื้องล่างขึ้นมา กล่าวคือเก็บข้อมูลจากแรงงานตัวจริงนั่นเอง  ฐานข้อมูลนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประชาสัมพันธ์ สื่อสารต่อสังคม โต้แย้งความเข้าใจผิด และผลักดันนโยบายรัฐในระดับกฎหมาย

หลักการสำคัญอีกประการที่ใช้รณรงค์คือ พยายามสร้างพันธมิตรทุกภาคส่วน จากคนทุกรุ่น ทุกเชื้อชาติวัฒนธรรม จากกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้หญิง สหภาพแรงงาน กลุ่มศาสนา กลุ่มสิทธิแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังสร้างพันธมิตรกับกลุ่มที่ไม่น่าเป็นไปได้ นั่นคือกลุ่มนายจ้าง ด้วยเน้นเสมอว่าการรณรงค์ไม่พึงสร้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะพื้นฐานการทำงานในบ้านต้องอยู่บนความรักและเคารพซึ่งกันและกัน

พันธมิตรกลุ่มหนึ่งที่ช่วยผลักดันกฎหมายสิทธิแรงงานในบ้านจนประสบความสำเร็จคือกลุ่มนายจ้าง อาทิ กลุ่ม Hand in Hand ในนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมรณรงค์เพราะแนวคิดด้านการกุศล แต่นายจ้างกลุ่มนี้เข้าใจดีว่าหากแรงงานในบ้านมีมาตรฐานการครองชีพดี พวกเขาก็จะดูแลบุคคลอันเป็นที่รักของตนได้ดีด้วย  กลุ่ม Hand in Hand จึงรณรงค์สนับสนุนสิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ดีของแรงงาน รวมทั้งเผยแพร่ “คู่มือสำหรับนายจ้าง” เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม  ดังที่ ผูอ้ายเจิน เคยกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “เรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพันธมิตรที่เป็นไปไม่ได้”

ที่มาภาพ
1. http://www.americanswhotellthetruth.org/portraits/ai-jen-poo
2. http://www.domesticworkers.org/homeeconomics/images/photo-cover.jpg
3. http://www.yesmagazine.org/people-power/how-domestic-workers-won-their-rights-five-big-lessons