สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงานและถ่ายภาพ

klity01วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗

ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ๒๐๐ กิโลเมตร ลึกเข้าไปในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชาวหมู่บ้านคลิตี้ล่าง (ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ และตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์) หลายคนบอกสารคดี ว่า เป็นครั้งแรกที่มีภาพยนตร์สารคดีมา “ฉายรอบปฐมทัศน์” ในหมู่บ้านของพวกเขาซึ่งไม่มีทั้งประปาและไฟฟ้าในลักษณะ “หนังกลางแปลง” พร้อมงาน “ทำบุญลำห้วย ๑๖ ปี คลิตี้ชนะคดีศาลปกครอง” ที่มีครั้งแรกเช่นกัน

ทว่าสำหรับคนภายนอกที่รู้จักหมู่บ้านคลิตี้ล่างดีอาจไม่แปลกใจนักที่ สายน้ำติดเชื้อ (By the River) ภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล “Special Mention” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน (Locarno) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะฉายรอบปฐมทัศน์ในหมู่บ้านโดยเลือกพื้นที่ริมน้ำข้าง “น้ำตกธิดาดอย” ส่วนหนึ่งของห้วยคลิตี้ สายน้ำที่ “ติดเชื้อ” ปนเปื้อนสารตะกั่วเป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๔๐

เพราะที่นี่คือ “จุดกำเนิด” ของเรื่องทั้งหมดที่ทำให้คนคลิตี้ต้องต่อสู้ต่อเนื่องยาวนานมาถึงวันนี้

เริ่มจากการทำเหมืองตะกั่วของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่แต่งแร่และปล่อยหางแร่ปนเปื้อนลงลำห้วยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ โดยในปี ๒๕๔๐ ปรากฏผู้ป่วยจำนวนมากเป็นครั้งแรก

ผู้อาวุโสของหมู่บ้านหลายคนจำได้ว่าฤดูแล้งปีนั้นเกิดปรากฏการณ์ “น้ำสีแดง” ส่งกลิ่นเหม็น แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้น้ำในลำห้วยได้ เนื่องจากนี่คือแหล่งน้ำและแหล่งอาหารเดียวของหมู่บ้าน  ต่อมาเมื่อมีการตรวจเลือด ผลออกมาว่าชาวคลิตี้ล่างจำนวนมากมีตะกั่วในเลือดสูงถึงระดับอันตราย บางคนมีอาการจากพิษตะกั่ว เช่น ปวดศีรษะ ประสาทตาถูกทำลาย ทารกเกิดใหม่มีลักษณะไม่สมประกอบ มีอาการทางสมอง ฯลฯ นับแต่นั้นหมู่บ้านก็ดังไปทั่วประเทศ  กรมทรัพยากรธรณีสั่งให้บริษัทตะกั่วฯ ยุติการทำเหมือง  องค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มเข้าไปทำงานในพื้นที่ มีการห้ามใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในห้วยคลิตี้มารับประทานซึ่งในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้

ในที่สุดชาวคลิตี้ล่าง ๑๕๑ คนตัดสินใจยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษ โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลแพ่งตัดสินให้บริษัทตะกั่วฯ จ่ายค่าเสียหาย ๒๙.๕ ล้านบาท และชี้ว่าผู้มีหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคือกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) (ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นฎีกา)  ต่อมาแกนนำชาวคลิตี้ล่าง ๒๒ คนจึงยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ คพ. ฟื้นฟูลำห้วยอย่างจริงจัง ด้วย คพ. ประกาศยึดแนวทาง “ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตนเอง” ซึ่งเท่ากับชาวคลิตี้ต้องรับความเสี่ยงต่อไป  นอกจากนี้แม้จะมีแผนฟื้นฟูแต่ คพ. ก็ทำแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาโดยตลอด

ต้นปี ๒๕๕๖ หลังคดีถึงชั้นฎีกา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ คพ. ฟื้นฟูลำห้วยและชดใช้ค่าเสียหายโดย “กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู  ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืช ผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละหนึ่งครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่ว…ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑ ปี…” ทำให้ คพ. ต้องจ่ายค่าชดเชยและทำโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วย (ระยะที่ ๑) พร้อมให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาแนวทางฟื้นฟูมานำเสนอตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๖ โดยมีกรอบทำงาน ๑๒๐ วัน

ทว่า ณ บัดนี้ (เมษายน ๒๕๕๗) ก็ยังไม่มีการเสนอแผนใด ๆ  ล่าสุด “คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคม” และ “คณะทำงานติดตามและหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนคลิตี้ล่าง” ที่นำโดยศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และคณะทำงานจาก ๑๖ หน่วยงานยังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและทำกิจกรรมเสริมกระบวนการในชุมชน

หลังการต่อสู้ยาวนาน ๑๖ ปี (นับจากปี ๒๕๔๑) ชาวคลิตี้ยังคงใช้น้ำในห้วย แม้จะรู้ว่ามีสารตะกั่ว  ผู้ป่วยอย่าง “มะอ่องเส็ง” วาสนา นาสวนบริสุทธิ์ ที่สูญเสียการมองเห็นจากพิษตะกั่ว เล่าว่า ทุกวันนี้อาการปวดศีรษะและดวงตาของเธอหายแล้ว แต่ยังปวดขาและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำในห้วยไม่ได้  “ฉันไม่กลัวสารตะกั่ว แต่กลัวไม่มีน้ำใช้มากกว่า” ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของชาวคลิตี้ล่างอีกหลายคน

ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้นำทีมงานเข้าศึกษาแนวทางการฟื้นฟูร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมอื่น ๆ อธิบายว่า สารตะกั่วที่อันตรายตอนนี้คือตะกอนก้นลำห้วย โดยตะกั่วที่ละลายน้ำนั้นเจือจางไปมากแล้ว “ส่วนน่ากังวลคือตะกั่วที่อยู่ในสัตว์น้ำที่ชาวบ้านนำมาบริโภคซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบของตะกั่วในตัวสัตว์น้ำจะทำให้พิษตะกั่วรุนแรงขึ้น” และจากการศึกษาที่ผ่านมาราว ๑ ปี แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับหมู่บ้านคลิตี้ล่างคือการขุดลอกลำห้วยและการครอบตะกอน แต่ยังต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสิทธิภาพระยะสั้นและยาว ความยากง่าย การยอมรับของชุมชน เป็นต้น

ล่าสุดเพิ่งมีโครงการทำน้ำประปาภูเขาซึ่งเกิดจากแนวคิดของเยาวชนชาวคลิตี้ล่างที่ไปเรียนในเมืองเพื่อช่วยลดทอนการใช้น้ำระหว่างขั้นตอนการฟื้นฟูลำห้วยซึ่งยังไม่มีทีท่าจะเสร็จสิ้น โดยงานทำบุญลำห้วยเป็นงานหนึ่งที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือตัวเองของชาวคลิตี้ล่าง  ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนชาวคลิตี้ล่างวัย ๒๑ ปี เจ้าของโครงการ เผยว่า จะใช้แหล่งน้ำซับบนภูเขา โดยโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนเริ่มต้นทำไปแล้ว และหวังว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของการ “ฟื้นฟูลำห้วย” เช่นกัน

กำธร ศรีสุวรรณมาลา กรรมการหมู่บ้านคลิตี้ล่าง บอกว่า ทุกวันนี้ผู้ป่วยในหมู่บ้านยังมี เพียงแต่ไม่มีแพทย์กล้ารับรองว่าเป็นผลจากสารตะกั่วในเลือด “ผมกับลูกต้องรักษาไปตามอาการ บ้านผมไม่มีใครป่วยหนัก แต่ผลตรวจเลือดทุกครั้งจะฟ้องว่าค่าตะกั่วสูง  ตอนนี้อยากให้ คพ. ทำหน้าที่ที่ควรทำ  ผมเห็นใจ คพ. เหมือนกัน เพราะคู่กรณีตัวจริง (บริษัทตะกั่วฯ) ก็ไม่เคยออกมาเลย แต่เขาทำให้เราต้องทะเลาะกับหน่วยงานราชการ” ทั้งนี้กำธรยังระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจริง ๆ นั้นควรจะเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่เป็นผู้อนุมัติโดยตรงให้ทำเหมืองแม้จะมีคำพิพากษาศาล แต่นาฏกรรมชีวิตของชาวคลิตี้ล่างยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการรอคอย “การบังคับคดี” ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้วิถีชีวิตปรกติของพวกเขากลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

By the River - หนึ่งทศวรรษ-๖ ปี “คลิตี้” สายน้ำติดเชื้อBy the River
เป็นภาพยนตร์สารคดีซึ่งมีแนวทางการกำกับโดยปล่อยให้แหล่งข้อมูลที่ติดตามเพื่อเล่าเรื่องหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ มีการใช้เทคนิคและมุมกล้องใหม่ๆ ในการนำเสนอ โดยการฉายในสถานที่ถ่ายทำนั้นผู้กำกับถือว่าเป็นรอบที่คนดูจะ “อิน” กับภาพยนตร์ได้มากที่สุด

………………………………….

>>  สนับสนุนโครงการ “ประปาภูเขาเพื่อชุมชนคลิตี้ล่างฯ” โดยโอนเงินเข้าบัญชี มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสี่แยกศรีวรา เลขที่ ๑๔๐-๒๖๒๕๓๔-๗  ท่านที่ต้องการใบเสร็จติดต่อที่ โทร. ๐-๒๓๑๘-๙๔๓๙ หรืออีเมล enlawthai@gmail.com หรือติดต่อ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ๐๘-๖๘๔๑-๘๑๘๖  ธนกฤต โต้งฟ้า ๐๘-๗๘๐๘-๗๗๖๔