งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน-ภัทรานิษฐ์ จิตสำรวย
ภาพ-ทิพย์สุดา เกษตร

charcoal1

charcoal2
charcoal3
charcoal4
charcoal5
charcoal6
charcoal7
charcoal8
charcoal9
charcoal10

“ ซักรองเท้าบ้างนะลูก ”

ประโยคบอกเล่าของแม่มักทำหน้าที่ราวกับประโยคคำสั่งอยู่เสมอ หลากหลายเหตุผลวิ่งเข้ามาในห้วงความคิดกระจัดกระจาย ไร้ระเบียบเสียจนไม่สามารถอธิบายออกมาได้ในห้วงเวลาที่ต้องการให้ใครบางคนเข้าใจ เปลี่ยนคำว่าเดี๋ยว ! คำเคยชินที่กว่าจะรู้สึกคุ้นเคยตอนรู้สึกสูญเสีย ตอบกลับด้วยความเงียบ ปราศจากเสียงแต่เต็มไปด้วยความหมาย ทำให้การสื่อสารของฉันกับแม่ช่างสมบูรณ์แบบและราบเรียบไม่เหมือนเคย เข็มนาฬิกาเดินวนกลับมาที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้รู้ว่าเวลาของอาหารเย็นใกล้จะมาถึง เสียงเปิดเตาแก๊สและกลิ่นซุปของแม่ ลอยมาตามอากาศสู่จมูก น่าแปลกที่บางครั้งความหอมไม่สามารถเรียกความหิวได้เลย เต็มไปด้วยภาพทรงจำ มือ แขน ข้อพับ ของใครสักคนที่พึ่งได้คุยกันประมาณ 3 วันก่อน เปรอะไปด้วยคราบสีดำ หยดเหงื่อรอบโครงหน้ากำลังเดินทางอย่างช้าช้าลงมายังลำคอ มือถือเลื่อยตัดไม้ฝืนเป็นท่อนๆกะขนาดอย่างชำนาญ ความคำนึงย้อนเรื่องราวในวันนั้นที่ตลาดน้อยกลับมาอีกครั้งอย่างแม่นยำ

ตลาดน้อย ย่านเก่าในเขตกรุงเทพฯ เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของสำเพ็งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมบรรดาชาวจีนพากันเรียกว่า “ ตะลัคเกียะ ” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ตลาดน้อย ” ผู้คนเข้ามาอาศัยจำนวนมาก ทำให้การค้าขายคึกคัก ทั้งจีน เวียดนาม และกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนชาวโปรตุเกส ผสมผสานหลายเชื้อชาติและศาสนา ศาลเจ้า วัด โบสถ์ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ในยุคที่การเดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างจีนกับต่างชาติเจริญรุ่งเรือง ทำให้ตลาดน้อยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งานของกุลีชาวจีนที่พัฒนาต่อเป็นเถ้าแก่รับซื้ออะไหล่เครื่องยนต์เก่าที่โด่งดัง รู้จักกันในชื่อ “ เซียงกง ” ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีรับสั่งให้ให้ตัดถนนเจริญกรุง ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ทำให้ตลาดน้อยกลายเป็นแหล่งรวบรวมขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำไปยังจุดต่างๆของพระนครได้อย่างดี ความคึกคักของผู้คน ขนาดตลาด การสร้างเขื่อน ตึกแถวสมัยใหม่ สิ่งที่เห็นได้ในปัจจุบันแตกต่างไปจากเรื่องเล่าในอดีตที่ได้ยิน พยายามบอกกับฉันว่าตลาดน้อยเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ขณะกลิ่นน้ำมันเครื่องกำลังเตือนว่าบางอย่างยังคงเดิม แรงศรัทธา ความเชื่อ พิธีกรรม ย้ำชัดให้รู้สึกถึงความเป็นชุมชนโบราณชาวจีนที่ไม่เคยเปลี่ยนไป

เสียงเตาแก๊สไม่ได้ทดแทนความเงียบ ย้อนการเดินเท้าผ่านซอยที่ไม่โดดเด่น แต่ฉันกลับโดนดึงดูดให้เลี้ยวเข้าไป กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อรองเท้าคู่นั้นที่แม่บอกให้ซัก ได้เดินบนริ้วรอยถนนคอนกรีตแคบๆ วางน้ำหนักของเท้าให้เบาสุดความสามารถ รองเท้าผ้าใบสีขาวพยายามเลี่ยงหย่อมน้ำขังเล็กๆ ผ่านผนังที่บุด้วย สังกะสี สีสนิม ไม่เพียงกี่ก้าวย่าง ประตูบานสังกะสีที่เปิดไว้ ทำให้เห็นกระสอบพลาสติกเข้าใจได้ในภายหลังว่าบรรจุถ่านไม้ วางรอบทิศติดผนัง บางแถวซ้อนสูงเกือบติดเพดาน โครงไม้บางเสาแขวนเชือกฟางลักษณะง่ายต่อการหยิบใช้งาน ตาชั่ง กระจาด ไม้กวาด ที่ตักผง วางอยู่ ซาเล้งจอดนิ่ง ไม่ไกลจากเจ้าของเสียงนั้น

“ คนสมัยนี้เขาก็เปลี่ยนจากใช้ถ่านเป็นแก๊สกันหมดแล้ว ”

หลายประโยคเกิดขึ้นหลังจากเริ่มสนทนากับ วิบูลย์ ไพศาลสมบูรณ์ทรัพย์ วัย 57 ปี เจ้าของโกดังเก็บถ่าน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านตลาดน้อย

ลุงวิบูลย์ เล่าว่า ตนเป็นคนไทย เชื้อสายจีน บ้านอยู่ฝั่งธนบุรี เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านเก่าทรงโบราณริมแม่น้ำ เจ้าของยุบทิ้งแล้วปล่อยให้เช่าที่ดิน ตนเข้ามาปลูกโกดังด้วยตัวเอง เริ่มทำธุรกิจขายถ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2530 เดิมโกดังเก็บถ่านในย่านนี้มีอยู่ถึง 8 -9 ราย และคาดว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ประมาณ 80 ปีที่แล้ว แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ลูกหลานออกไปทำงานสายอื่นจึงไม่ได้สานต่อ แหล่งประจำส่งไม้ฟืนมาให้น้อยลง เพราะ เน้นส่งออกต่างประเทศมากขึ้น หาลูกน้องมาช่วยงานยาก วิถีชีวิตคนเปลี่ยนจากใช้ถ่านเป็นแก๊ส ทำให้ต้องเลิกราธุรกิจกันไป

เหตุผลหนึ่งในการเลือกปลูกโกดังเก็บถ่านย่านตลาดน้อย ก็เพราะสะดวกต่อการรับส่งสินค้า รับไม้ฟืนที่ผ่านกระบวนการเผามาเรียบร้อยแล้วมาจากทางใต้ จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะไม่สามารถทำเตาเผาเองได้เนื่องจากต้องใช้พื้นที่กว้าง เดิมเคยขนส่งทางเรือ แต่เรือได้หยุดไปหลายปี เพราะตั้งแต่เริ่มสร้างเขื่อนเรือก็เทียบท่าไม่ได้
ความสงสัยทำให้ได้คำตอบ ?

ถ่านพวกนี้ทำมาจากไม้โกงกาง ขนาดต่างกัน เล็ก กลาง ใหญ่ ที่นิยมกันก็จะเป็นขนาดเล็กเพราะไม่มีควัน แบ่งขายแบบกระสอบและแบ่งขายเป็นกิโลตามบ้านของลูกค้าประจำ แถวเยาวราช หัวลำโพง ธนบุรี พาหุรัด บางลำพู ส่วนใหญ่เป็นร้านขายของ แต่พอมีบ้างตามบ้านคนสูงอายุที่ยังซื้อไว้ใช้ในครัวเรือน สำหรับลูกค้าใหม่นั้นก็มีเข้ามาบ้างจากลูกค้าประจำที่บอกต่อ คนที่รู้จักเขาก็ช่วยกันแนะนำ หรือหากร้านขายถ่านในย่านอื่นไม่เพียงพอเขาก็จะโอนลูกค้ามาให้ แต่ทุกวันนี้ไม่กล้ารับรายการของลูกค้าทีละมากๆ เพราะเกรงว่าจะทำส่งให้ลูกค้าไม่ทัน เนื่องจากไม่ค่อยมีคนงานมาช่วยและแหล่งประจำส่งไม้ฝืนที่เตาเรียบร้อยแล้วมาให้ลดลงเรื่อยๆ

คุณสุนี ไพศาลสมบูรณ์ทรัพย์ ภรรยาลุงวิบูลย์ เจ้าของโกดังเก็บถ่าน เล่าด้วยน้ำเสียงเจือความเร่งรีบ หลังวางสายโทรศัพท์จากลูกค้า ว่า ต้นทุนไม้ฟืนเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่า ทำให้ราคาถ่านไม้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อ 27 ปีก่อนขายถ่านไม้กิโลกรัมละ 5 – 7 บาท แต่ในปัจจุบันขายในกิโลกรัมละ 25 บาท ลูกค้าบางรายถึงกับโวยวายแต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ก็ต้องยอมซื้อ จึงค่อยๆปรับขึ้นราคาทีละนิดให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาปรับตัวและไม่รู้สึกว่าเราขึ้นราคาแบบกะทันหันจนเกินไป

ภาพของอดีตเข้ามาคืบคลานความเป็นไปของปัจจุบัน ยุคสมัยใหม่มีความก้าวหน้า เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เข้ามามีบทบาทต่อทุกจังหวะชีวิต ทำให้เราก้าวผ่านวิถีชีวิตดั้งเดิมได้อย่างง่ายและหลงลืมโดยไม่รู้ตัว ถ่านไม้ สีดำสนิท ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่นและความชื้น ลดกลิ่นเหม็น ถูกชดเชยด้วยแก๊ส เชื้อเพลิงที่สะอาด สะดวกต่อการใช้งาน หุงต้มอาหารสุกเร็วกว่าถ่านไม้ ไม่มีเขม่าและเป็นขี้เถ้าร่ารำคาญ คล้ายเป็นของสามัญประจำบ้านและถูกนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย แม้แนวโน้มราคาและข่าวอุบัติเหตุของแก๊สจะสูงขึ้นเรื่อยๆก็ตาม แล้วในอีกไม่ช้า จะมีอะไรอีกหรือไม่ ?

“ ลุงก็คอยเป็นเหมือนแบตเตอรี่สีดำ ที่คอยเต็มเติมพลังงานให้กับคนอื่น

ในขณะเดียวกันไฟของลุงก็กำลังมอดและจะดับไปในที่สุด ”

หรือนี่คือรุ่นสุดท้ายของโกดังเก็บถ่าน ย่านตลาดน้อย ดั่งคำพูดของลุงวิบูลย์ เพราะอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าก็จะหมดสัญญาเช่า ต้องคืนพื้นที่ให้กับเจ้าของที่ดิน อายุที่มากขึ้น ลูกหลานต่างออกไปทำงานของตัวเอง แหล่งประจำส่งไม้ฟืนมาให้น้อยลง เพราะ เน้นส่งออกต่างประเทศมากขึ้น หาลูกน้องมาช่วยงานยาก วิถีชีวิตคนเปลี่ยนจากใช้ถ่านเป็นแก๊ส

สำหรับฉันไฟของลุงลุกโชนส่องสว่าง ภาพสามี ภรรยา ช่วยกันทำงาน คุยกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง ในโกดังเก็บถ่านที่ปูด้วยกระเบื้องสีนิลลายละเอียด มือขยับเลื่อยถ่านไม้ ใส่กระจาด เทใส่กระสอบ ปิดปากถุงด้วยเชือกฟาง ยังคมชัดในใจ ขณะเดียวกันที่แม่ใช้เพียงนิ้วเปิดเตาแก๊สทำซุปร้อนร้อนให้ฉันทาน

“ แม่ ซักรองเท้าให้นะลูก ”

คำพูดของแม่หลังล้างถ้วยซุป คำตอบที่คิดในใจตอนแรก “ เดี๋ยว ! ” ออกมาพร้อมกับความกลัวว่าสิ่งที่ฉันได้เจอและทำมาในชีวิตจะเลือนรางจางหาย เหมือนรอยเปื้อนผงถ่านไม้ที่รองเท้าผ้าใบสีขาวกำลังจะสลายไป ก่อนที่จะลุกขึ้นไปหยิบผงซักฟองเพื่อซักรองเท้าคู่นั้นด้วยตัวเองและทิ้งท้ายด้วย

“ แม่ พรุ่งนี้อยากกินปลาย่าง ” แน่นอนว่าพรุ่งนี้ฉันจะช่วยแม่ จุดไฟ เขี่ยถ่าน ย่างปลา