เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์

“โยมรู้ไหม เสากำแพงวัดทุกต้นที่เห็นเป็นเสาเข็มทนมาก มหาธรรมกายเจดีย์ก็สร้างโดยมีจุดหมายให้อยู่ได้เป็นพันปี สิ่งก่อสร้างต้องใหญ่โตเพื่อรองรับคนมาวัด เราต้องธำรงพระพุทธ-ศาสนาไว้ ถ้าตอนนี้มุสลิมมา กทม. ๑๐ ล้านคน เราก็อยู่ยากแล้ว นอกจากปรับตัว เราก็ต้องเผยแผ่ธรรมะให้ทันยุคทันสมัยด้วย”

กลางปี ๒๕๕๖ หลวงพี่จิรพัทธ์ กิติภทฺโท พระภิกษุฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกาย บรรยายประโยคข้างต้นระหว่างนำผมตระเวน “ทำความรู้จัก” วัดด้วยการเดินและนั่งรถยนต์ภายใน “วัดพระธรรมกาย” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ ก่อนพาเข้าสู่โซนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ อันประกอบด้วย “สภาธรรมกายสากล” “มหาธรรมกายเจดีย์” และที่ทำการฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วนบนพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ไร่ที่อยู่ติดกัน

ความใหญ่โตของสถานที่ ปริมาณญาติโยม พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ที่มาทำบุญในโอกาสต่าง ๆ ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยกับคำกล่าวที่ว่า เวลานี้ธรรมกายคือวัดที่ใหญ่ที่สุด มีทุนทรัพย์และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทย

ถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า ๔ ทศวรรษแล้วที่วัดพระธรรมกายสร้างปรากฏการณ์ให้สังคมไทยตะลึง

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสิ่งก่อสร้าง จำนวนผู้ศรัทธา กิจกรรมแต่ละครั้งที่มีผู้เข้าร่วมนับแสน รูปแบบการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอันหวือหวา กระทั่งกรณีอื้อฉาวคือการตีความคำสอนในพระไตรปิฎกที่ผู้ไม่เห็นด้วยถึงกับขนานนามวัดนี้ว่า “ลัทธิจานบิน” กรณีถือครองที่ดินของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาส ฯลฯ

น่าพิศวงว่า วัดพระธรรมกายผ่านมรสุมเหล่านี้มาได้ทั้งหมดอย่างอยู่ยั้งยืนยง  กิจกรรมยังดำเนินต่อไป ซ้ำขยายเครือข่ายไปอีกหลายเท่า และปัจจุบันดูเหมือนหลายอย่างได้รับการรับรองจากภาครัฐไปแล้ว

วางการตีความหลักคำสอน วางความพยายามค้นหาว่า “อะไรผิด-อะไรถูก”

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามใหญ่ที่ว่า อะไรที่ทำให้วัดนี้ประสบความสำเร็จ

อะไรที่ทำให้วัดพระธรรมกายสามารถสร้าง “ปรากฏการณ์” ได้มากมายขนาดนี้