เรื่อง : ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ / ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

crampsเคยปั่นจักรยานแล้วตะคริวกินไหมครับ ?

ผมปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันมา ๘ ปีแล้ว ทั้งปั่นไปเรียน ไปเที่ยว ให้แฟนซ้อน ไปทำงาน หรือปั่นข้ามประเทศ  ปั่นวันละ ๑๐๐ กว่ากิโล ขึ้น-ลงเขา ทั้งบนถนนและนอกถนน สมบุกสมบันลุยดะ เหนื่อยแทบขาดใจ แต่ไม่เคยเป็นตะคริวสักหน อย่างมากก็แค่ล้าสุดๆ ปวดเมื่อยตามตัว มือชา เท้าชาบ้างเมื่อปั่นนานๆ แต่พักหน่อยก็หาย  ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ร่างกายน่าจะปรับสภาพจนเลยจุดที่จะเป็นตะคริว แต่แล้ววันหนึ่งก็พบว่าคิดผิดครับ

เมื่อ ๒ เดือนก่อนขณะปั่นลุยเดี่ยวจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่เชียงใหม่ วันแรกผมเริ่มปั่นจากบ้านตอนเช้าตรู่ตั้งใจไปค้างคืนที่อ่างทอง แต่ยังไม่ทันถึงตัวเมืองอยุธยาดี น่องซ้ายก็เกิดอาการเจ็บแปล๊บๆ นิดๆ เป็นๆ หายๆ  สัญชาตญาณบอกว่าตะคริวจะมาเยือนแน่ๆ ควรหาที่พักเอาแรงก่อนอาการจะกำเริบมากกว่านี้

แต่บังเอิญมีเพื่อนสองคนอาสาปั่นมาส่งที่อยุธยาทั้งที่ยังไม่เคยปั่นไปไหนไกลๆ เลยสักครั้ง จะให้มือเก๋าอย่างเราเอ่ยปากขอหยุดพักเพราะตะคริวจะกินก็ดูไม่เข้าที จริงไหมครับ ^ ^

ผมฝืนปั่นต่อโดยผ่อนแรงขาซ้ายแล้วใช้ขาขวาช่วยชดเชยแทน แต่อาการก็ยังไม่ทุเลา เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ เจ็บแปล๊บๆ แบบพอทนได้  ความเร็วตกลงนิดหน่อย ในใจคิดว่าถ้าประคองแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดพักเที่ยงได้คงไม่มีปัญหา แต่พอปั่นต่อเพียง ๒-๓ กิโลเมตร อาการตะคริวก็หนักขึ้น เจ็บแปล๊บๆ แรงคล้ายไฟดูด ขืนปั่นต่อต้องล้มแน่ๆ นาทีนี้จะเก๋าต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องพักเอาตัวให้รอดก่อน  ผมตะโกนร้องเสียงหลงบอกเพื่อนที่ทิ้งห่างเรื่อยๆ ให้จอดพักที่ร้านน้ำข้างทาง

“เกิดอะไรขึ้น จู่ๆ บอกให้หยุด อีกไม่ถึง ๑๐ กิโลก็ถึงจุดหมายแล้ว”

ผมยิ้มเจื่อนๆ ลงเดินหย็องแหย็ง สภาพเหมือนหมาขาเจ็บ เก๊กหน้าเรียบเฉยพร้อมเฉลยตรงๆ ว่า

“ตะคริวกินน่อง ต้องพักก่อน”

ภาพนักเตะในสนามบอลลงนอนแล้วให้เพื่อนจับยืดขาผุดขึ้นในหัว เพราะเป็นการปฐมพยาบาลอาการตะคริวที่คุ้นเคยที่สุด  ผมพักดื่มน้ำสักครู่ ยืดขาเลียนแบบนักฟุตบอลเมื่อเป็นตะคริว  พออาการทุเลาลงหน่อยก็รีบเอ่ยปากขอปั่นต่อเพื่อไม่ให้แผนล่าช้าเกินไป โดยตั้งใจจะออกแรงปั่นให้น้อยลง แต่เพิ่มรอบขาเร็วขึ้นเพื่อให้ความเร็วยังเท่าเดิม  แม้พยายามประคองจักรยานไปให้ถึงจุดพักกลางวัน แต่ร่างกายก็สนองตอบไม่ตรงกับใจ

ปั่นไปได้ไม่กี่ร้อยเมตร ตะคริวก็กลับมาเล่นงาน หนำซ้ำยังลามไปที่ขาข้างขวาด้วย คราวนี้แค่ป่ายขาลงจากจักรยานยังยากจนแทบตะแคงจักรยานแล้วคลานลง

“หมดสภาพเลยตรู” ผมคิดในใจดังๆ ก่อนทรุดตัวลงบนพื้นถนน

 

 

ครั้งนี้เพื่อนแนะนำให้ลองดื่มน้ำเกลือแร่ แล้วจัดการยืดเส้นยืดสายให้พักใหญ่ พร้อมทั้งอาสาให้แลกจักรยานกันปั่น เพราะคันของผมมีสัมภาระหนักอึ้ง แต่ของเพื่อนๆ เป็นจักรยานเปล่า ไม่มีของเพิ่มน้ำหนัก  เราปั่นประคองกันไปช้าๆ จนถึงจุดพักกลางวัน

งานนี้เจ็บตัวไม่เท่าไหร่ แต่เสียหน้านี่สิ หมดท่าเลย

บ่ายวันนั้นผมกู้หน้าตัวเองกลับมาได้นิดหนึ่งด้วยการพาเพื่อนๆ ไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าอร่อยของคนท้องถิ่น  คุณสมบัติของร้านแบบนี้คือ ๑. อร่อยจริงๆ  ๒. ราคาไม่แพง  ๓. อยู่ลึกลับห่างจากแหล่งท่องเที่ยวหน่อยๆ สัดส่วนลูกค้าจึงเป็นคนพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยว  ถึงเรื่องจักรยานจะพลาด แต่ข้อมูลเรื่องกินยังพอมีดีอยู่บ้าง

ผมซัดก๋วยเตี๋ยวเรือรสจัดจ้านน้ำข้นๆ สองชามพิเศษ เมื่ออิ่มแปล้แล้วก็ถึงเวลาร่ำลาเพื่อนๆ ที่ปั่นมาส่ง  ผมพักหลบแดดนานกว่า ๓ ชั่วโมงให้ร่างกายฟื้นตัว แล้วออกปั่นอีกครั้งเพื่อให้ถึงจุดหมาย โชคดีที่ ๔๐ กิโลเมตรช่วงบ่ายผมไม่เป็นตะคริวอีก แต่ก็อดคิดถึงสาเหตุไม่ได้ แปลกใจนักว่าปั่นมาหลายปีไม่เคยเฉียดใกล้อาการตะคริว ทำไมวันนี้จึงเป็น หรือนี่เป็นภาวะของคนอายุใกล้ ๓๐ !

บ่ายวันที่ ๒ ของการเดินทาง ความสงสัยของผมก็คลี่คลายโดยบังเอิญเมื่อเจออีกปัญหา “จักรยานยางแบน” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นักปั่นทางไกลต้องเผชิญ  ผมมีอุปกรณ์ปะยาง เครื่องมือซ่อมพร้อม แต่ที่สูบลมเกิดเสียพอดิบพอดี ต้องเข็นจักรยานไปหาร้านกระทั่งเจอลุงช่างปะยางคนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยสบาย ผมเลยอาสาปะยางเองโดยมีแกนั่งดูอยู่ข้างๆ  เราจึงได้พูดคุยกัน คำแนะนำของลุงทำให้ผมผ่านระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตรโดยไม่เฉียดอาการตะคริวอีกเลย

“ทำไมลุงรู้เรื่องพวกนี้ดีจังครับ”

“เมื่อก่อนลุงเป็นพยาบาลทหาร เรียนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามา”

เวลาออกกำลังกาย เราจะหายใจแรงขึ้น เหงื่อออก และกินมากขึ้น แสดงว่าร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญพลังงานและใช้ออกซิเจนเพิ่ม อันทำให้เกิดความร้อนมากขึ้นจึงต้องขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ ซึ่งถ้าชิมดูจะรู้ว่าเค็ม แสดงว่าเมื่อออกแรงไม่ใช่แค่น้ำที่เสียไป ยังมีเกลือหรือแร่ธาตุอื่นๆ ถูกขับออกมาด้วย

ตะคริวคืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อชนิดที่เราไม่อาจควบคุมได้ เสมือนเป็นกลไกป้องกันตัวของร่างกายให้เราไม่ใช้งานเกินกำลังจนเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการใช้ออกซิเจน น้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารจนขาดบางอย่างไป ร่างกายจึงป้องกันตนเองด้วยการไม่ให้เราใช้งานกล้ามเนื้อได้สักพัก

เมื่อนึกย้อนถึงก่อนออกเดินทางผมนอนน้อยมาก แค่ประมาณ ๓ ชั่วโมง มื้อเช้ากินเค้กกับกล้วยหอมหนึ่งลูก ตอนแวะพักก็ดื่มแต่น้ำ  สิ่งที่ขาดไปคือเกลือแร่ และการพักผ่อนน้อยทำให้เลือดดูดซึมออกซิเจนได้ไม่ค่อยดี ทำให้ขาดออกซิเจนด้วย  สองตัวแปรนี้เป็นเหตุให้เมื่อใช้แรงหนักร่างกายจึงเป็นตะคริวทั้งๆ ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ  แต่พอได้รับสารอาหารและแร่ธาตุจากก๋วยเตี๋ยวเรือ ทั้งยังได้งีบพักสักครู่ นั่นก็เป็นเหตุให้ ๔๐ กิโลเมตรช่วงบ่ายผมรอดพ้นจากตะคริว ทั้งที่ปั่นความเร็วเฉลี่ยเท่าๆ เดิม

ฟังดูเป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายดีไหมล่ะครับ ถ้าไม่อยากเป็นตะคริวก็ต้องหมั่นเติมสิ่งต่างๆ ที่ร่างกายใช้ไปไม่ให้พร่อง และไม่หักโหมมากเกินไปก็เท่านั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำจากบทความต่างๆ ที่ผมหาอ่านภายหลัง

นอกจากนี้ลุงยังแนะนำให้ผมดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายบ้าง (ย้ำว่า “บ้าง” เท่านั้น) เพราะอาหารที่เรากินอาจมีเกลือแร่ไม่พอหรือนำมาใช้งานได้ไม่ทัน และให้หมั่นจิบน้ำ ไม่ใช่ดื่มทีเดียวมากๆ หรือรอจนกระหายแล้วค่อยดื่ม เพราะเมื่ออยู่ในภาวะนั้น ร่างกายจะเหมือนเครื่องยนต์โอเวอร์ฮีต คือดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่พอ แทนที่จะปั่นได้ต่อเนื่อง เรากลับจุกน้ำจนไม่อยากปั่น

มีคำแนะนำดีๆ อีกหลายข้อที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของอดีตพยาบาลทหาร พร้อมทั้งกำลังใจที่ทำให้ผมฮึดสู้บนหนทางอีกหลายร้อยกิโล

“เมื่อก่อนลุงฝันอยากปั่นจักรยานท่องเที่ยวไกลๆ เหมือนกัน แต่นี่ล่วงเลยมาจนรู้ตัวอีกทีก็ไม่มีแรงทำแล้ว  หนุ่มยังมีแรงก็ทำไปเหอะ” ลุงกล่าวทิ้งท้ายก่อนผมจะออกเดินทางต่อ  ผมมองไปในแววตาของแกแล้วยิ้มรับด้วยความรู้สึกว่า ผมได้รับฝากความฝันของแกไว้แล้ว •