เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง

item_diamondอัญมณีซึ่งใช้ทำเครื่องประดับหลากหลาย มีราคาแพง ถือเป็นของล้ำค่ามาแต่สมัยโบราณด้วยขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างหนึ่ง  ในปี ๒๕๕๓ มีการซื้อขายเพชรในตลาดเครื่องประดับกว่า ๖๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  บริษัท Bain & Company อ้างว่าแต่ละปีมีการซื้อขายเพชรถึง ๑๓๓ ล้านกะรัต หรือกว่า ๒๖,๐๐๐ กิโลกรัม

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในกระบวนการทำเหมืองและเจียระไนเพชร ข้อมูลจากเหมือง Ekati ในแคนาดา เพชรจากเหมืองแร่ ๑ กะรัต (๑ กะรัต เท่ากับ ๐.๒ กรัม) สร้างก๊าซเรือนกระจก ๖๔.๘ กิโลกรัม ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท Gemesis ผู้ผลิตเพชรเทียมของสหรัฐ-อเมริกา เพชรเทียม ๑ กะรัต สร้างก๊าซ ๑๑.๗ กิโลกรัม

โดยเฉลี่ยหินคิมเบอร์ไลต์ (kimberlite) ขนาด ๑ ตันมักพบเพชรเพียง ๐.๕-๑ กะรัต และเมื่อผ่านการเจียระไนก้อนเพชรดิบขนาด ๑๐-๒๐ กะรัตก็จะเหลือเพียงราว ๓-๘ กะรัตเท่านั้น การค้าและขุดหาเพชรต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลบุกรุกพื้นที่ป่า การขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินกว่า ๖๕๐ เมตรต้องสูญเสียเชื้อเพลิงการสำรวจและขนถ่ายหินด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่กลับได้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อย  ไม่นับว่ามันเป็นชนวนสำคัญในสงครามแย่งชิงของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตเพชรรายใหญ่อย่าง De Beers มีการควบคุมมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมของเพชร เช่น ISO 14001 รวมถึงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสังคม (SIA-Social Impact Assessment) ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าในอดีต ทั้งการกำจัดของเสียและใช้วัสดุรีไซเคิล อย่างไรก็ตามภาครัฐและองค์กรอิสระก็ควรตรวจสอบอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง

เพชรเทียมซึ่งสร้างก๊าซน้อยกว่ามีส่วนแบ่งในตลาดเพชรเพียง ๒ เปอร์เซ็นต์ กระนั้นความนิยมเพชรแท้ที่เพิ่มขึ้นสูงก็เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทผู้ผลิตในช่วงกลางศตวรรษที่ ๒๐  การรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมในการสวมใส่เครื่องประดับจึงยังมีความเป็นไปได้เช่นกัน .

ที่มา :  alumni.stanford.edu, pubs.acs.org, cnbc.com, varuna.org, diamondfacts.org, kitco.com

ที่มาภาพ : http://bullionstreet.com/uploads/news/2014/4/1398325576.jpg