งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง  ชมพูนุท  ทับทิมชัย
ภาพ จิราพร คูหากาญจน์

ภาพครอบครัวของมนจากประตูบ้านที่เป็นทางเข้าออกเดียวของผู้เช่าอาศัยทุกคนในบ้านจีนหลังนี้ มนจะขายอาหารข้างในห้องเช่าของตัวเอง มีลูกสาวเป็นลูกมือและลูกค้าเป็นชาวบ้านในระแวกนั้น สามีของมนทำอาชีพขับรถขยะ
ลูกสาวคนเล็กของมนจะนั่งรอบริเวณที่มนขายอาหารทุกวันเผื่อว่าแม่จะเรียนใช้อะไร
คุณยายสุดทีเพื่อนบ้านของมน ที่อาศัยอยู่คนเดียวในห้องเช่าราคา 1,000 บาทต่อเดือน เธอเล่าว่าเจ้าของบ้านไม่เคยมาดูแลบ้านเช่าเลยทำให้เธอต้องนำแผ่นพลาสติกมาทำเป็นผนังบ้าน ส่วนไหนพังก็ซ่อมเอง และหลังคาบ้านทำจากผ้าใบ เวลาที่ฝนตกน้ำรั่วก็ต้องทนเพราะค่าเช่าถูกดี
บ้านของมนและยายสุดทีจากภายนอก จะเห็นได้ว่ามีห้องเช่าจำนวนมากภายในบ้านจีนหลังนี้
พื้นที่ส่วนกลางชั้นสองของบ้านเช่าหลังนี้ที่ทุกคนจะใช้เป็นที่ตากผ้า
ลุงสง่าที่อาศัยในบ้านจีนเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งปัจจุบันมอบให้มูลนิธิแล้ว ภายในบ้านยังคงเก็บรักษาโครงสร้าง อาทิ ประตู บันได หน้าต่างที่เป็นไม้สักเอาไว้อย่างดี
รัตน์อาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้านเช่าที่ติดถนน เธออาศัยอยู่กับแม่และพี่น้อง บ้านของเธอมีเจ้าของคนเดียวกับบ้านของมน เธอเล่าว่าได้ทาสีต่อเติมบ้านไปมากตลอดเวลาที่เช่ามาสามสิบกว่าปี

 

ลึกเข้าไปในซอยเจ้าสัวสอนย่านตลาดน้อยเขตสัมพันธวงศ์ ผ่านห้องแถวรับซื้อขายอะไหล่เก่า กลิ่นน้ำมันเครื่องกลิ่นสนิมที่เราอาจไม่คุ้นเคยแต่ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของย่านแห่งนี้ ท่ามกลางตึกแถวสูงสมัยใหม่ที่เบียดเสียดกันอย่างแออัด ห้องแถวเก่าๆ ย่านจีนโบราณปรากฏให้ได้เห็น แม้จะเก่าโทรมตามกาลเวลา แต่กลับแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ลึกลับชวนค้นหา

ห้องแถวสไตล์จีนโบราณหลังหนึ่ง ตัวเรือนไม้สีเขียวหม่นมีรั้วกำแพงปูนผุกร่อนโอบล้อมไว้ บานประตูไม้เล็กๆ จากบ้านเลขที่ 276 ได้เปิดแง้มออก เผยให้เห็นใบหน้าเล็กของเด็กหญิงวัยสิบขวบ แวบแรกที่ดวงตากลมปะทะเข้ากับแขกไม่ได้รับเชิญที่มาหยุดยืนอยู่หน้าบ้าน มันดึงดูดสายตาของผู้มาเยือนเข้าอย่างจัง

“แพร ไปบอกแม่ก่อนมีคนมา”

พี่สาวของเธอกระซิบที่ข้างหู แพรจึงช้อนลูกแมวสีขาวหน้าประตูบ้านขึ้นแนบอก ก่อนหายเข้าไปยังด้านใน

ทันทีที่ก้าวผ่านประตูไปกลับพบว่าบ้านของเด็กหญิงเป็นห้องเล็กห้องหนึ่งในบ้านโบราณหลังใหญ่นี้เท่านั้น

“อย่าเรียกว่าบ้านเลย เรียกห้องแถวดีกว่า ในนี้มีอีก 4-5 ห้อง”เสียงของคนเป็นแม่กล่าวด้วยรอยยิ้ม ด้านหลังมีแพรกำลังหลบอยู่ หญิงสาววัยกลางคนเดินไปยังมุมหนึ่งใกล้ๆ ประตูไม้บานที่เราเข้ามา จุดนั้นมีเครื่องครัวและของสดวัตถุดิบปรุงรสอาหารอย่างครบครัน

ปลานิลสดตัวใหญ่ถูกหย่อนลงกระทะที่น้ำมันกำลังเดือดปุดๆ ทำให้เกิดเสียงดังฉู่ฉ่า เธอก้มลงหยิบเขียงขึ้นมาก่อนจะนำปลาตัวที่เหลือผ่าท้องเพื่อเอาเครื่องในออก น้ำคาวปลาไหลลงยังท่อระบายน้ำ เธอตักน้ำหนึ่งขันราดเพื่อล้างมือใกล้กันนั้นมีลูกค้าที่ติดใจในรสฝีมือกำลังยืนรออยู่

“เด็กสมัยนี้ทำกับข้าวเป็นหรือเปล่า” น้ำเสียงหยอกล้อดังเย้าแหย่วัยรุ่นผู้มาเยือนจากเมืองกรุง

เมื่อท่าทีเป็นมิตรถูกส่งผ่านทางน้ำสียง บทสนทนาจึงเริ่มขึ้นเพื่อไต่ถามความเป็นอยู่ของคุณแม่ลูกสามคนนี้

มน หรือ มนทนา ชาวไทย วัย 48 ปี เล่าว่า เธอและครอบครัวซึ่งมีสามีและลูกสาวอีก 3 คน อาศัยอยู่ในห้องเช่าแห่งนี้        ภายในห้องแถวหลังนี้มีสองฝั่ง แต่ละฝั่งมีห้องเช่า 4-5 ห้อง ค่าเช่าตกเดือนละ 2,500 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ห้องที่เธอเช่าอยู่มีสองชั้น ผู้ร่วมเช่าในฝั่งเดียวกันมีแต่ญาติพี่น้อง ทั้งหมดอาศัยอยู่ร่วมมากว่า 20 ปี (ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538 ) บ้านเกิดของมนอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เธอจากบ้านเกิดมาเป็นลูกจ้างอยู่ร้านอาหารในย่านนี้ จนกระทั่งอยากทำอาหารขายเองบ้าง จึงออกมาทำกับข้าวขายอยู่หน้าห้องเช่าของตัวเอง

“เราขายปลาทอด ไก่ทอด ส้มตำ ลาบ น้ำตก หมูช่วงนี้แพงมากเลยก็เลยขายปลาแทน มีคนมาซื้อเรื่อยๆ เพราะแถวนี้เขาก็จะรู้หมดว่าเราขายกับข้าว ก็มาฝากท้องไว้ที่นี่ทั้งนั้น ราคาคนกันเอง ปลาทอดแล้วแต่ขนาด ตัวเล็กก็ราคา 20 บาท ตัวใหญ่ 40 บาท ไก่ทอดชิ้นละ 30 บาท ส้มตำจานละ 20 บาท” มนร่ายยาวถึงกิจการของตัวเอง

ร้านเล็กๆ หน้าห้องเช่าแห่งนี้ เริ่มเปิดขายตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงสองทุ่ม แล้วแต่หมดช้าหรือเร็ว ในส่วนห้องนอนของเธอ มนเล่าตอนนี้ย้ายลงมาอยู่ชั้นล่าง เพราะชั้นบนร้อนมากเลยเอาไว้เป็นที่ตากผ้า ภายในห้องพักแบ่งเป็นมุมต่างๆ ทั้งมุมพักผ่อน มุมห้องครัว และห้องน้ำ หน้าห้องมีอ่างเลี้ยงปลาทองที่ทำจากแกลอนพลาสติก

ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 มนเล่าว่าประสบปัญหาหนักไม่ได้ขายของเลย เนื่องจากชั้นล่างน้ำท่วมสูงระดับเอว เลยต้องหอบข้าวของใช้ที่จำเป็นขึ้นชั้นสอง แล้วอาศัยไปเข้าห้องน้ำกับบ้านหลังอื่นเอา ช่วงเวลานั้นก็กินอยู่ด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ ขนมปัง รอประมาณ 2 เดือน น้ำก็ลดลง หลังจากนั้นก็ต้องทำความสะอาดขนานใหญ่ ความรู้สึกขณะนี้เริ่มชินชา เพราะเป็นเรื่องปรกติของบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำ หนักกว่านี้ก็เจอมาแล้ว พอลูกโตแล้วค่อยว่ากันอีกที ตรงนี้ก็เป็นที่อยู่ที่ทำมาหากิน ก็ต้องทนกันไปก่อน

“ยิ่งเขาสร้างตึกใหญ่ๆ กันมากเท่าไร เราก็ยิ่งกังวลเพราะมันกระเทือนถึงบ้านเรา ตัวบ้านนี้เราจะยุ่งวุ่นวายซ่อมอะไรมากก็ไม่ได้ เปลี่ยนได้อย่างมากก็แค่หลอดไฟ ซ่อมท่อน้ำในห้องในขอบเขตของเรา แต่จะไปยุ่งกับตัวบ้านนั้นไม่ได้  ทุกวันนี้บ้านก็ทรุดลงเรื่อยๆ ขุดเจาะกันทีก็สะเทือนถึงบ้านเก่า และถ้าจะให้นับบ้านที่เก่าๆ ที่อยู่ตลอดแนวก็แทบจะทั้งย่าน” มนทนากล่าวด้วยน้ำเสียงเหนื่อยอ่อน

รายได้จากการขายของก็ใช่จ่ายอย่างพออยู่พอกิน ค่าเล่าเรียนของบุตรสาวก็สามารถเบิกได้ เพราะสามีเป็นพนักงานขับรถเก็บขยะอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ จะออกไปขับรถในกะกลางคืน รายได้ต่อเดือนก็หมื่นกว่าบาท

และนั่นคือ “ชีวิตห้องแถว” วิถีหนึ่งของชาวบ้านที่นี่

เราเดินหน้าต่อไปยังหน้าตรอกศาลเจ้าโรงเกือก มองข้ามตึกคอนกรีตสีเหลืองสดตัดเส้นขอบฟ้า บ้านจีนโบราณอีกหลังหนึ่งสภาพครึ่งล่างเปิดเปลือยจนเห็นเนื้อในสีแดงอิฐ ตัวบ้านตัดกับไม้เลื้อยสีเขียวด้านบนที่ห้อยระย้า และเมื่อเดินผ่านเข้ามายังช่องแคบระหว่างตัวบ้าน ฉากหนึ่งจากเรื่อง ‘องค์บาก’ ก็ผุดขึ้นในหัว สง่า วิวัฒนวิโรจน์ อายุ 62 ปี เล่าว่าตรอกตรงนี้เขามาถ่ายภาพยนตร์กันบ่อย สง่าเป็นชาวจีนอาศัยอยู่เยื้องกับห้องแถวหลังดังกล่าวมาตั้งแต่เกิด เขาอยู่กับภรรยาและลูกสาว นอกจากนี้ยังมีเพื่อนบ้านอีกหนึ่งครอบครัวซึ่งอยู่ชั้นบน ห้องแถวจีนโบราณที่สง่าเช่าอาศัยอายุเกือบสองร้อยปี บริเวณด้านหลังรื้อทิ้งแล้วฉาบปูนสร้างห้องใหม่ โครงสร้างของบ้านเป็นไม้สักทั้งหลัง

“เจ้าของเดิมตายไปแล้ว เขามอบให้มูลนิธิร่วมกตัญญูแถวกล้วยน้ำไทย ผู้เช่าเดิมก็อยู่ต่อไปได้ เราก็ซ่อมกันเองดูแลรักษากันเอง แต่บ้านโบราณเก่าๆ ซ่อมขึ้นมามันเรื่องใหญ่ อย่างแค่จะซ่อมหลังคาก็ต้องรื้อใหม่หมด บ้านหลังนี้ถ้าไปเมืองจีนก็จะเห็นอีกมากสภาพเหมือนกัน ค่าเช่าเดือนละ 150 บาทต่อห้อง ในบ้านนี้แบ่งเป็น 7 ห้อง ห้องไม่ใหญ่เป็นห้องเล็กๆ อยู่กับภรรยาและลูกๆ วิธีสร้างบ้านโบราณเขาจะใช้เชื่อมต่อกัน ไม่ต้องจั้มพ์อะไรให้วุ่นวาย ก้อนหิน อิฐ ปูน สมัยนั้นมันยังไม่มี แต่ปัญหาก็เกิดอย่างตอนนี้ทรุดไปได้ 7 นิ้วแล้ว”

สง่ามีอาชีพขายห่อหมกที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งแต่ก่อนพ่อที่มาจากเมืองจีนจะรับจ้างแบกหาม ต่อมาได้ลองมาขายห่อหมกกิจการไปได้ดีก็ขายเรื่อยมาตั้งแต่นั้น สง่าเริ่มขายตั้งแต่เช้าเจ็ดโมง แปดโมงก็เกือบหมด บางครั้งก็แล้วแต่จะมีคนมาสั่งให้ทำ

ฝาลังถึงถูกเปิดออก เผยให้เห็นห่อหมกในกระทงใบตอง เนื้อปูและเนื้อปลามีพริกประดับสีสันสวยงาม รสชาติกลมกล่อม ควันขาวๆ พร้อมกลิ่นหอมของพริกแกงโขลกและกะทิลอยไปถึงปากซอย สง่าเล่าว่าซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดในเยาวราชมาทำ ขายกระทงละ 40 บาท ซึ่งเริ่มนึ่งกันตั้งแต่เช้า “จะขึ้นเป็น 45 บาทแล้ว ปูแพงขึ้น ตอนนี้กิโลละ 600 บาท” เสียงน้องภรรยาร้องบอกพี่สง่า ทุกคนกำลังแล่เนื้อปลาแกะเนื้อปูกันอย่างขะมักเขม้น

“ห่อหมกผมส่งลูกเรียนจบมาแล้วนะ ผมมีลูกสาวสามคน คนโตจบแล้วจากรั้วธรรมศาสตร์ ตอนนี้ทำงานในกรุงเทพฯ” สง่ากล่าวอย่างภาคภูมิใจ

เขามีความเห็นว่าบ้านเก่าๆ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานเหลนได้รู้ว่าบ้านเก่าๆ นั้นเป็นอย่างไร เจ้าของบ้านคนเก่าเป็นผู้ใจบุญ เขาเป็นลูกหลานคนที่นี่ ไม่มีทายาท จึงมอบบ้านนี้ให้มูลนิธิร่วมกตัญญู แต่มูลนิธิก็ไม่ได้มาดูแล

“เราเองก็เป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล หลังจากนี้ก็มีหลานรุ่นที่สี่ เหลนรุ่นที่ห้า แต่คิดว่าก็อยากให้พวกลูกหลานอีไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ในเมืองจะสุขสบายกว่า ที่นี่ก็เริ่มเก่าโทรมลงไปทุกปี” สง่าเล่าไปถึงอนาคตข้างหน้า

มาถึงห้องแถวจีนโบราณใกล้ปากซอยเจ้าสัวสอนยังจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ริมถนนสายหลักที่ชาวตลาดใช้ในการสัญจร ความเก่าแก่ในยามอาทิตย์ลับแสงสะท้อนรอยแตกร้าวตามกาลเวลา บานประตูเหล็กกำลังจะปิดลง บรรยากาศเงียบเชียบเมื่อร้านรวงต่างๆ พากันเก็บโต๊ะเก้าอี้

จันทรัตน์ ไอยโรจนพลกุล ชาวตลาดน้อยวัย 48 ปี พาเดินเข้าไปด้านใน ซึ่งแบ่งเป็นสี่ส่วน ส่วนแรกเป็นครัวทำตามสั่ง ส่วนที่สองเป็นร้านอาหารในห้องกระจก ส่วนที่สามเป็นที่เก็บอุปกรณ์ครัวเรือน และส่วนสุดท้ายเป็นผนังปูนเก่า มีรอยชื้นจากหยดน้ำที่ไหลซึม ใกล้กันนั้นมีห้องน้ำและบันไดสำหรับขึ้นชั้นสอง

เธอเล่าว่า ย้ายมาจากตึกแถวในย่านตลาดซึ่งอยู่ถัดไปอีกสองซอย เนื่องจากเจ้าของจะสร้างเป็นคอนโดมิเนียม เมื่อมาอยู่ที่นี่ เธอก็เปิดร้านขายอาหารตามสั่งดังแต่ก่อน ขายอาหารอยู่ชั้นล่างซึ่งถูกปรับปรุงให้เป็นห้องกระจกติดเครื่องปรับอากาศ

เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่ชีวิตตามสั่งดำเนินไปอย่างเรียบง่าย จันทรัตน์เปิดร้านตั้งแต่สิบเอ็ดโมงจนถึงห้าโมงเย็น เธอพักอาศัยบนชั้นสองกับแม่ ลูกสาว 2 คน และหลานอีก 1 คน ทุกคนนอนห้องเดียวกัน

“อาม่านอนบนเตียง ที่เหลือนอนพื้น ห้องแถวนี้เก่ามากแล้ว เราต้องซ่อมหลังคา ฝ้า เพดาน และปูกระเบื้อง  เวลาซ่อมก็จะบอกเจ้าของบ้านก่อน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมจะออกเอง เราเช่าทั้งหลังนะ ชั้นบนมี 3 ห้อง นอนหนึ่งห้อง อีกสองห้องไว้เก็บของ ค่าเช่าทั้งหลังตกเดือนละ 10,000 บาท” จันทรัตน์กล่าวยิ้มๆ

แม่ค้าคนเก่งบอกว่าย่านนี้เป็นถิ่นเกิด รุ่นพ่อรุ่นแม่เป็นชาวจีนมาทำกินที่นี่ ตอนนี้ขอแค่มีที่ทำกิน มีที่หลับที่นอนก็พอแล้ว “บ้านเราเราก็อยากให้น่าอยู่ จะปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็ต้องมาบอกให้เข้าใจกันว่าจะทำอะไรบ้าง ตอนนี้ก็มีคอนโดขึ้นมากมายอยู่แล้ว ถ้าจะมาช่วยกันอนุรักษ์บ้านเก่าก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องไม่เดือดร้อนคนที่อยู่อาศัย”จันทรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

ตลาดน้อยในทุกวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมือง การกว้านซื้อที่ดินจากกลุ่มนายทุน ประกอบกับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจการค้าของย่านตลาดน้อยที่กำลังซบเซา

ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ กลุ่มคนดังกล่าวที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ต่างดิ้นรนด้วยกำลังของตัวเองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อยู่อย่างพอมีพอกินในห้องเช่าของตัวเอง
ด้วยตระหนักดีว่าอดีตได้เสื่อมโทรมไปแล้วตามกาลเวลา แต่วิถีที่คงอยู่ในปัจจุบันจะช่วยต่อลมหายใจไปสู่โลกแห่งอนาคต