งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง  อนิตา ดาหลาย
ภาพ ลีนา นาคะวิโรจน์

ฉันไม่ใช่คนที่นี่และไม่เคยดูงิ้ว ฉันหมายถึงการดูแบบจริงจัง ดูแบบละเมียดละไม ซึ่งดูเหมือนวันนี้อะไรหลายๆ อย่างจะเป็นเรื่องบังเอิญ ความไม่ตั้งใจ หรืออาจเพราะฟ้าลิขิต ฉันขึ้นรถเมล์ผิดสาย ต้องมาลงตรงสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เจอผู้คนแปลกหน้า แต่ฉันกลับรู้สึกดี ที่นี่มีซอยเล็กซอยน้อยเต็มไปหมด ไม่รู้ทำไม ราวกับมีอะไรดึงดูด กระซิบบอกฉันให้เข้ามาสิ ลองเข้ามาดู การมองอาจทำให้เราเห็น แต่การได้สัมผัสจะทำให้เราเข้าใจ

ถ้าเปรียบคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นเหมือนเข็มวินาทีที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ คนที่นี่คงเป็นเหมือนเข็มนาทีหรือไม่ก็เข็มชั่วโมง เดินช้าๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ฉันเดินไปตามถนนเจริญกรุง ลัดเลาะไปยังซอยเล็กๆ หลากหลายซอย  ทั้งสองข้างทางคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเก่ากับความใหม่ของอาคารบ้านเรือน บางตึกอาจดูทรุดโทรมแต่ก็ยังมีการบูรณะซ่อมแซมโดยยังคงความเป็นดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมจีนเอาไว้ ที่นี่มีตลาดเช้าให้ฉันได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของผู้คน มีร้านขายผลไม้ชั้นดีสำหรับใช้ในพิธีมงคล มีร้านอาหารมากมาย แถมยังเป็นแหล่งรวมอะไหล่เครื่องยนต์เก่าเลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่น่าอยู่ มีพื้นที่ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม เป็นย่านเก่าซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าด้วยเรือสำเภา ที่นี่ตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์  และถูกเรียกว่า “ตลาดน้อย”

หลังจากเดินหลงเข้าไปพอประมาณ ฉันได้ยินเสียงของเครื่องดนตรี บทสนทนา เสียงร้อง สลับไปมาอย่างเป็นจังหวะ มีความหมายที่ฉันไม่สามารถเข้าใจได้ ฉันจึงเดินตามเสียงเหล่านั้นไป ในซอยแคบๆ ทั้งซ้ายและขวาเป็นบ้านตึกติดๆ กัน สองชั้นบ้าง สามชั้นบ้าง บ้านแต่ละหลังมีหลายอย่างบ่งบอกถึงความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้หอบหิ้วจากที่ที่พวกเขาจากมา ซึ่งถูกถ่ายทอดให้เห็นเป็นผ้าสีแดง ผ้าสีขาว มีตัวอักษรภาษาจีนเขียนด้วยพู่กัน หรือที่เรียกว่าฮู้หรือยันต์ บางบ้านเป็นโคมไฟสีแดง โคมไฟสีเหลือง แขวนไว้หน้าบ้าน บางบ้านมียันต์แปดทิศติดอยู่ตรงประตูเหนือศีรษะ

ฉันหยุดเดินทันทีเมื่อเห็นชายวัยกลางคน ไว้ผมรองทรงต่ำ ผิวสีน้ำตาลแดง สวมกางเกงผ้าแพรสีดำ ไม่ใส่เสื้อ ใบหน้าถูกทาด้วยสีแดงไล่ระดับความเข้มลงมาตั้งแต่คิ้วจนถึงริมฝีปากบน หน้าผากถูกทาด้วยสีขาว มีรอยเหี่ยวย่นเล็กๆ มือข้างขวาถือกระจกบานน้อย มือซ้ายจับพู่กันด้วยนิ้วที่กรีดกราย ชายคนนั้นกำลังบรรจงวาดคิ้วจนได้เส้นที่เข้ม หนา และคมเฉี่ยว บ่งบอกว่านี่ไม่ใช่การแต่งหน้าครั้งแรกอย่างแน่นอน ฉันรู้สึกยกย่องและนับถือผู้ชายคนนี้ซึ่งเขาเป็นผู้ชายจริงๆ ที่มีความเชื่อ ความศรัทธาอย่างมากมาย  เพราะไม่ง่ายนักที่จะเห็นผู้ชายแต่งหน้า  ฉันยืนมองอยู่นานจนรู้สึกว่าสายตาตัวเองละลาบละล้วงเกินไป เขาจึงเรียกให้ฉันเข้าไปหา เราพูดคุยกันพักใหญ่ เขาบอกกับฉันว่าใบหน้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแสดงงิ้ว ลักษณะใบหน้าของตัวงิ้วจะบอกให้ทราบถึงอุปนิสัยใจคอและบทบาทของงิ้วแต่ละตัว การวาดและแต่งหน้าให้เกินจริงจะช่วยให้ผู้ชมมองเห็นได้ในระยะไกล อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งสีสันและความงามแห่งลวดลายซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านระยะเวลากว่าแปดร้อยปี

งิ้ว - ศิลปะ-ศรัทธา … จากพู่กันถึงปลายคิ้ว

บรรจงทา บรรจงวาด บรรจงศิลป์

brush eyebrow02

กรีดกรายปรายตา

brush eyebrow03

สวมใส่องค์ ความดุดันจง ประทับทันใด

brush eyebrow04

เวลาผันผ่านแต่ศิลปะงิ้ว ณ ที่แห่งนี้มิอาจจางไป

brush eyebrow05

เปล่งบทร้องพ้องร่ายรำ

brush eyebrow06

ศิลปะแห่งความศรัทธาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

เขายังเล่าให้ฟังว่า งิ้วมีรากเหง้ามาจากการขับลำนำและการร่ายรำการแสดงล้อเลียนของจีนโบราณ จากนั้นก็พัฒนาการแสดงจนมีแบบแผนท่ารำประกอบการเล่าเรื่องด้วยการขับร้องเพลงสลับการพูดตามบทละครที่ได้แต่งและพัฒนาจนกลายเป็นวรรณกรรม มีการใช้วงดนตรีประเภทเครื่องสาย เครื่องเป่า และเครื่องตี งิ้วจะถูกแสดงในเทศกาลประเพณีเพื่อเฉลิมฉลองบูชาเทพเจ้าทางศาสนาในลัทธิความเชื่อแบบจีนและยังให้ความบันเทิง งิ้วในสมัยก่อนจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เมื่องิ้วได้แพร่กระจายไปทั่วทุกกลุ่มสังคมจีน ทำให้งิ้วถูกแบ่งเป็นสองประเภท คืองิ้วหลวง เป็นงิ้วที่แสดงในราชสำนัก และงิ้วราษฎร์ เป็นงิ้วที่แสดงแต่ละมณฑลในภูมิภาคต่างๆ ส่วนในไทยนั้น งิ้วได้เริ่มปรากฏอยู่ในหลักฐานบันทึกชาวตะวันตกสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้มีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐาน โดยมีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่สำเพ็ง ตลาดน้อย เยาวราช จึงทำให้งิ้วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมไทย

ไม่นานนักก็มีเสียงดนตรีดังขึ้น ทั้งเสียงกลอง เสียงซอ เสียงขิม ให้อารมณ์ราวกับว่าตัวเองกำลังหลุดเข้าไปตรงฉากใดฉากหนึ่งของหนังจีนกำลังภายใน นักแสดงงิ้วแต่ละคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ฉูดฉาด แต่ละชุดมีลายปักที่แตกต่างกัน บางคนก็มีเครื่องสวมศีรษะ ทำให้ดูอลังการและยิ่งใหญ่ การแสดงงิ้วที่นี่ไม่มีเวที แต่เป็นการแสดงเล็กๆ บนลานหน้าบ้าน ฉันเดินตรงดิ่งไปหาเก้าอี้ไม้ตัวเล็กเพื่อจะได้นั่งดูงิ้วแบบจริงๆ จังๆ ใกล้ๆ กันนั้นมีอาม่าคนหนึ่งนั่งดูอยู่ก่อนแล้ว จากการที่ฉันสังเกต มีคนดูงิ้วไม่มากนัก ส่วนใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับอาม่า ฉันยิ้มทักทายให้อาม่าหนึ่งที หลังจากนั้นเรื่องราวต่างๆ ก็พรั่งพรู

อาม่าเป็นคนตลาดน้อยและเคยเป็นงิ้วมาก่อน พี่สาวคนโตกับน้องสาวของอาม่าก็เป็นงิ้วเหมือนกัน สมัยยังเป็นเด็ก ฐานะทางบ้านยากจนมาก คนเมื่อก่อนมีลูกเยอะ เลี้ยงไม่ไหว ต้องเอาไปฝากไว้ที่โรงงิ้วตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ต้องทำสัญญาผูกมัดให้อยู่ที่นั่น เจ็ดปีบ้าง สิบปีบ้าง แต่เขาจะเลี้ยงดูทุกอย่าง แม้แต่เสื้อผ้าเขาก็ซักให้ นานๆ ทีจะได้กลับบ้าน พอเข้าไปก็ได้แสดงงิ้วเลย เด็กๆ จะเริ่มแสดงเป็นบททหาร มีคนแต่งหน้าให้ หลังจากนั้นต้องแต่งหน้าเอง เรียนรู้เอง เวลาบ่ายๆ เย็นๆ จะมีครูมาสอนเพื่อฝึกสีหน้าท่าทาง การเดิน การร้อง งิ้วแต่ละรุ่นมีประมาณยี่สิบสามสิบคน เวลานอนต้องนอนรวมกันหมด จะมีคนมาคอยดูแล มีเงินเดือนให้ แต่เงินน้อย คนที่เล่นเก่งๆ ก็จะได้เงินเยอะหน่อย คือสามารถออกงานได้ ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกตัวเอง เพื่อจะได้มีงาน มีเงิน

“เป็งงิ้วมังลำบาก ต้องย้ายไปเรื่อยๆ แสลงที่โน่นบ้าง ที่นั่นบ้าง มังเหนื่อย ถ้าไม่ซาบายก็ต้องเล่ง ม่ายมีสิกหยุด เพราะม่ายมีคงมาแทน” เสียงพูดสำเนียงจีนของอาม่าปนความรู้สึกเศร้า ผิดกับแววตาที่แฝงไปด้วยความภาคถูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม

“แล้วถ้าเกิดอาม่าไม่สบายมากๆ ถึงขึ้นลุกไม่ไหว อย่างนี้จะต้องไปแสดงด้วยเหรอคะ?” ฉันถามด้วยความสงสัย พร้อมกับลึกๆ ก็คิดว่าจะใจร้ายใจดำไปรึเปล่า คนไม่สบายแท้ๆ ยังไม่มีสิทธิ์หยุด
“ต้องแสลงสิ ม่ายสบายแค่ไหนก็ต้องแสลง เถ้าแกจะบอกกับเราว่าให้แสลงเบาๆ ร้องเบาๆ” น้ำเสียงและสีหน้าของอาม่าบอกถึงความจริงจังมาก
“ไอ่เราก็คิดว่า จะบ้าเหรอ! มีที่หนายให้แสลงเบาๆ ร้องเบาๆ ขึ้นไปแสลงทุกที ก็ต้องตะเบ็งให้สุดเสียงทุกที ต้องแสลงให้เต็มที่ มีอย่างเลียวที่ม่ายต้องแสลงก็คือตายเท่านั้นแหละ” ฉันอึ้งไปสักพักอาม่าก็เล่าต่อ

อาม่าเคยแสดงเป็นทหาร คนใช้ นางเอกบู๊ แต่บทบาทที่ได้รับบ่อยที่สุดเห็นจะเป็นพระเอก ซึ่งการจะแสดงเป็นอะไรก็ต้องดูที่บุคลิกของแต่ละคนให้เข้ากับบทบาทที่ตัวเองได้รับ อาม่าเป็นคนไม่รู้หนังสือ พูดจีนได้ เข้าใจความหมาย แต่เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เวลาท่องบทจะใช้วิธีอัดเทปแล้วมานั่งฟัง บางครั้งขึ้นไปแสดงแล้วลืมบทจะมีคนคอยกระซิบบอกคำต้นประโยคมาให้ถึงจะจำได้

อาม่าเลิกอาชีพงิ้วมาได้สักระยะ ด้วยปัญหาสุขภาพและอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อก่อนแสดงงิ้วเป็นอาชีพหลัก เคยอยู่มาแล้วสี่ห้าโรง พอร่างกายเริ่มไม่ไหวจึงออกจากงิ้วประจำมาทำอาชีพส่วนตัว ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีรับแสดงงิ้วอยู่บ้างเป็นบางเทศกาล ทุกวันนี้ยังคิดถึงงิ้ว ยังชอบดูงิ้ว แต่หาดูได้ยากแล้ว วันปกติธรรมดาจะไม่มีให้ดู คือไม่มีโรงงิ้วถาวรให้ตีตั๋วเข้าไปดูอีกแล้ว งิ้วทุกวันนี้อยู่ได้เพราะศาลเจ้า บางครั้งมีงิ้วมาแสดง แต่ไม่มีคนดูสักคน ที่เล่นได้เพราะเล่นให้เจ้าดู หนักเข้าบางครั้งไม่จ้างงิ้ว ใช้วิธีเปิดหนังจอ เพราะถูกกว่า ใช้แทนกันได้ สมัยนี้ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนไม่ค่อยสนใจงิ้ว งิ้วที่มาแสดงส่วนใหญ่เป็นคนอีสานไม่ได้มีเชื้อจีนเลย แต่เพราะฐานะยากจนเลยเอาลูกมาฝากไว้กับโรงงิ้ว คุณภาพการแสดงจึงไม่เท่าคนจีน คนนิยมดูก็น้อยลง แต่เดี๋ยวนี้คนอีสานไม่ค่อยมาแล้ว คนจีนก็น้อย มีแต่คนเฒ่าคนแก่

มาถึงตรงนี้ ฉันเกิดมีคำถามขึ้นมาในหัว หากไม่มีคนไทยเชื้อสายจีน ไม่มีคนไทยจากภาคอีสาน  แล้วต่อไปเราจะดูงิ้วจากใคร ไม่ทันที่ฉันจะเอ่ยปากถาม อาม่าก็พูดขึ้นมาว่า

“ตองนี้การแสลงงิ้วต้องเรียกนักแสลงมาจักเมืองจีง เพราะเมืองจีนยังมีการเรียนการสอนงิ้วอยู่ มีโรงเรียนสำหรับงิ้ว เขาไม่ทอกทิ้งงิ้ว ไม่ทอกทิ้งรากเหง้าตัวเอง”

หลังจากจบบทสนทนา ความรู้สึกเหมือนถูกอะไรหนักๆ มากระทบเข้าอย่างแรง ด้วยเพราะเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีเชื้อสายจีน แต่กลับรู้จักงิ้วแค่เพียงชื่อ ไม่เคยแม้แต่จะดู โชคยังดีที่เรามีศาลเจ้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจให้แก่ชาวจีนโพ้นทะเลที่ต้องจากแผ่นดินเกิด และเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมให้งิ้วยังคงอยู่ในสังคมไทย ถึงแม้จะถูกลดบทบาทลงให้เป็นเพียงแค่ศิลปะการแสดงในเทศกาลงานประเพณีของชาวชุมชนก็ตาม แต่หากวันหนึ่งข้างหน้าถ้าศาลเจ้าขาดผู้ศรัทธา ไม่มีใครเข้ามาอุปถัมภ์ค้ำจุน คงไม่มีงิ้วสัญชาติไทยหลงเหลือให้เราได้ดูได้ศึกษาอีกแล้ว

ฉันมาที่นี่ด้วยความบังเอิญ แต่กลับออกไปด้วยความตั้งใจว่าอย่างน้อยๆ เรื่องราวของคนงิ้วที่มีทั้งความเชื่อ แรงศรัทธา ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของความเป็นศิลปะ ได้ถูกพัฒนาและถ่ายทอดรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยเลือด เนื้อ จิตวิญญาณ ส่งผ่านทางพู่กัน นาฏลีลา และน้ำเสียงอันไพเราะนั้น จะไม่มีทางสูญหายไปตามแรงเหวี่ยงแห่งยุคสมัย หากเรารู้ที่มาที่ไป และพยายามทำความเข้าใจกับโลกที่หมุนอยู่เสมอ เราก็จะสามารถมองเห็นหนทางการปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงของงิ้ว เพื่อให้วันต่อๆ ไป  งิ้วจะยังคงเคลื่อนไหวและจับต้องได้ในสังคมไทย