งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
ณรงค์ฤทธิ์ คิดเห็น : เขียน
รังสรรค์ พลอยสด : ภาพ

เรื่องเล่าจากฅน (ไม่) เอาถ่าน ปราชญ์ชาวบ้านผู้พอเพียง
pradt02
pradt03
pradt04
pradt05
pradt06
pradt07
pradt08

พระอาทิตย์ยามสายสาดแสงจ้า ผืนฟ้าเป็นสีฟ้าแกมเหลืองมองดูสว่างสดใส เมื่อทุกสรรพสิ่งต้องกับแสงแดดทำให้บรรยากาศโดยรอบพลันมีชีวิตชีวา ราวกับว่าเพิ่งตื่นจากราตรีกาล อากาศร้อนอบอ้าว อีกไม่กี่ชั่วโมงพระอาทิตย์ก็จะตั้งฉากกับพื้นโลกอันเป็นช่วงเวลาเที่ยงวัน

ผมเดินมาหยุดอยู่ที่หน้าปากซอยบริเวณด้านหลังพระอุโบสถวัดแก่นจันทน์ มีต้นแก่นจันทน์ขนาดสามคนโอบอายุกว่า ๒๐๐ ปี สูงเด่นตระหง่านแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นและส่งกลิ่นหอมของลูกจันทน์ต้อนรับผู้มาเยือน

เมื่อย่างเท้าเข้ามาในซอย ตลอดสองข้างทางของถนนลูกรัง เรียงรายไปด้วยแมกไม้นานาพรรณขึ้นปกคลุมให้ร่มเงา มีซากเศษไม้เก่า ๆ กองระเกะระกะ เพียงไม่กี่ฝีก้าว เบื้องหน้าปรากฏบ้านทรงไทยครึ่งปูนครึ่งไม้ ล้อมอาณาเขตด้วยรั้วสังกะสี ป้ายไม้หน้าบ้านเขียนว่า เลขที่ ๒๔ หมู่ ๔

สายลมหอบกลิ่นควันจาง ๆ มาปะทะปลายจมูก

“สวัสดีครับ มีใครอยู่ไหมครับ” ผมตะโกนถาม

“สวัสดีจ่ะ อยู่ ๆ เข้ามาเลย เข้ามา”

หญิงวัยกลางคนกล่าวต้อนรับด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร เจ้าของเสียงนั้นรูปร่างผอมสูงสมส่วน ผิวสีแทน ไว้ผมทรงแม่ชี ใส่แว่นตากรอบสีดำ อยู่ในชุดเสื้อยืดสีขาวค่อนข้างมอมแมม กางเกงสามส่วนสีแดงเลือดนก สวมรองเท้าแตะสีดำคู่เก่า สองมือของเธอกำลังง่วนกับการใส่ฟืนเข้าเตาที่ทำจากถังน้ำมัน มีท่อสังกะสียาวต่อเข้ากับด้านบนของตัวถัง

เธอคือ “พี่หมึก” หรือ นางสาวสถาพร ตะวันขึ้น วัย ๔๗ ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ถ่านผลไม้ แห่งบ้านบางพลับ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ทรงความรู้ด้านภูมิปัญญา ผู้ศรัทธาในความพอเพียง

ไม้ไร้ผล ฅนไร้ค่า

“พี่เรียนจบ ป.๖ ที่โรงเรียนวัดแก่นจันทน์นี่แหล่ะ จบประถมมาก็เกเรเกตุงอยู่บ้านมาหลายปี จากนั้นก็ไปเรียน กศน.อัมพวา จนจบ ม.๖ แล้วไปลงเรียนคณะนิติศาสตร์ที่สุโขทัยธรรมาธิราช” พี่หมึกเริ่มต้นเล่าความหลังของตนเองให้ฟัง

เมื่อการศึกษาเป็นรากฐานแห่งชีวิต เธอจึงพยายามขวนขวายความรู้ในระดับที่สูงขึ้น เท่าที่ศักยภาพของตนจะทำได้ เพื่ออนาคตที่ดี เพื่อชีวิตที่ก้าวหน้า

ดูเหมือนว่า เส้นทางชีวิตของเธอกำลังก้าวไปได้อย่างสง่างามและคงมั่น แต่ทว่า ถนนสายหลักย่อมมีทางแยกให้ผู้สัญจรเลือกเดินอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้น พี่หมึกจึงเลือกทางเดินชีวิตที่เธอลิขิตเอง คือการลาออกจากมหาวิทยาลัย

“เรียนได้ ๓ ปี เริ่มคิดแล้วว่า เรียนกฎหมาย เรียนไปทำไม? คนก็เข้าคุกเข้าตารางกันทุกวัน มองแล้วเรียนไปคงไม่ได้ประโยชน์อะไร เลยตัดสินใจเขียนจดหมายไปลาออก อ้างว่าสุขภาพไม่ดี” เธอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

แต่ท้ายที่สุด เมื่อลาออกแล้วเธอก็ไม่รู้จะไปทำอะไร

พี่หมึกเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เธอเลือกหยุดอนาคตทางการเรียน ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องราว ได้แต่กินนอนเล่นเที่ยวไปวัน ๆ อาศัยเงินข้าราชการบำนาญของยายที่เกษียณอายุราชการครูเมื่อหลายสิบปีก่อนมาใช้จ่ายอย่างสบายมือ

“เวลาเงินไม่พอก็ขอยาย ขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวไปทั่ว ไม่ค่ำไม่กลับบ้าน สนุกสนานไปเรื่อย โอย…เมื่อก่อนมีความสุข แต่เป็นความสุขที่ชีวิตดูไร้ค่า” น้ำเสียงราบเรียบแต่เริ่มสั่นเครือในตอนท้าย ฉับพลันนั้นเองแววตาใสก็เปลี่ยนเป็นแววตาแห่งความสลด

เธอลุกจากหน้าเตา เดินมานั่งที่เก้าอี้ ใบหน้าเต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ

ชีวิตในอดีตของหญิงผู้นี้ ดุจไม้ไร้ผล คนไร้ค่า แม้ไม้จะเจริญงอกงามเพียงใด แต่ถ้าไม่ผลิดอกออกผลก็เป็นไม้ที่ไร้คุณค่า เช่นเดียวกับคน หากเกิดมาไม่กอปรประโยชน์อะไร ย่อมไร้ความหมายของชีวิต

จุดประกายสู่ทางสายใหม่

เมื่อเป็นผู้ว่างงาน พี่หมึกจึงถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนชุมชนไปศึกษาดูงานโครงการพัฒนาชุมชน กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มออมทรัพย์ ในองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ อยู่เสมอ

เธอเล่าถึงการไปศึกษาดูงานด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า งานแรกที่ไปจัดโดย สสส. ไปดูงานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบชีวิตพอเพียง ก่อตั้งโดยพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่วัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดตราด หลังจากนั้นก็ไปที่บ้านพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้ทำเกษตรกรรมประณีต แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ และอีกหลายสถานที่ทั่วประเทศ

เธอไปเพราะมีความสุขกับการได้ท่องเที่ยว เธอไปในฐานะตัวแทนชุมชุนผู้ว่างงาน โครงการต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาเมื่อไม่ถูกนำมาต่อยอดจึงสูญไปกับกาลเวลา

แต่หลังจากนั้นหน่วยงาน สสส. ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการในชุมชน “พี่หมึก ที่บางพรมไปถึงไหนแล้ว?”

คำถามนี้เองเป็นเหมือนชนวนจุดประกายไฟฝันให้เธอ และกระตุ้นให้ต้องเร่งหาคำตอบ

“อืม เดี๋ยวอีกสามเดือนให้คำตอบ”

เธอจึงนำเรื่องราวไปปรึกษาป้าแดง นางฉวีวรรณ หัตถกรรม หัวหน้ากลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา และชาวบ้านคนอื่น ๆ

อีกเกือบสามเดือนต่อมา กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แห่งบ้านบางพลับจึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยจำนวนสมาชิกแรกเริ่มเพียง ๑๔ คน โดยการนำของลุงเก็บ หัตถกรรม ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มในขณะนั้น จากการรวบรวมเงินครั้งแรกได้ ๑,๔๐๐ บาท แม้เป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ไม่อาจเทียบได้กับความสูงค่าด้านจิตใจและพลังแห่งความพอเพียง ที่ชาวบ้านได้ร่วมใจกันยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต อันเป็นแรงขับเคลื่อนให้กลุ่มนี้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ จากเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ จึงค่อย ๆ เติบกล้าเป็นไม้ใหญ่ กระทั่งปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิกนับร้อยคนและมีเงินสะสมราว ๕ แสนบาท หากไม่มีวันนั้นก็คงไม่มีวันนี้ ย้อมหลังไปหลายปี นับจากวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

“เมื่อก่อนลุงเก็บเป็นประธาน เราไปดูงานมาก็เลยต้องทำบัญชี เพราะรู้เรื่องอยู่คนเดียว แต่หลังจากนั้นได้ ๕ ปี ลุงแกก็ไปบวช ในที่ประชุมเขาก็เลยเลือกให้เป็นประธาน ก็เลยเป็นตั้งแต่นั้นมา”

นับเป็นก้าวแรกที่คนไม่เอาถ่านได้พลิกผันตนเองมาทำงานที่จริงจัง เป็นรูปธรรม สิ่งนี้เองทำให้เธอได้ซึมซับวิถีพอเพียงของชาวสวนรากหญ้า แล้วตกตะกอนเป็นผลึกแห่งศรัทธา รอเวลาฉายแววในอนาคต

นับแต่นั้นมา เธอจึงเริ่มคิดที่จะสร้างความมั่นคงทางอาชีพการงาน ทุกภาพเหตุการณ์และองค์ความรู้จากการได้ไปศึกษาดูงานที่อยู่ในความทรงจำของเธอ จึงถูกนำมาเรียงร้อยและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน

สถาปนิกมีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับเธอ เธอคือสถาปนึก ผู้ทำหน้าที่ออกแบบคุณค่าและความหมายของชีวิตให้ตนเอง

“นั่งคิดนอนคิดมาเป็นอาทิตย์ ว่าจะทำอะไรดีนะ วางแผนวาดภาพไปเรื่อย เลยมองไปรอบ ๆ เห็นแถวบ้านก็มีแต่สวนผลไม้ ทั้งลิ้นจี่ ส้มโอ เวลาเขาตัดกิ่งทีไรก็มีไม้เหลือทิ้ง เลยตัดสินใจว่า เผาถ่านขายนี่แหล่ะคงจะดี”

“เคยไปดูคนอื่นเขาทำเตาเผา อุ๊ย…ทำยาก ยุ่งยากหลายขั้นตอน ก็เลยมาคิดทดลองทำเอง ใช้ถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตรมีฝาล็อค เจาะฝาหน้า ๘ นิ้ว ด้านหลัง ๑๐ นิ้ว แล้วก็ต่อท่อขึ้นมา ลงทุนประมาณ ๔๐๐ บาท แต่ถ้าไปซื้อเขาก็ประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เราทำเองได้ก็เลยทำ” เธอเอ่ยขึ้นเมื่อผมถามถึงที่มาของเตาเผาถ่าน

บัดนี้ เธอได้กลายเป็นคนเอาถ่านอย่างสมบูรณ์ ด้วยการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถแปรกิ่งไม้ไร้ค่าเป็นทองคำดำ ถ่านธรรมดาที่มีมูลค่ามหาศาล

วันหนึ่ง มีคนในหมู่บ้านได้จุดประกายความคิดของเธอ อันเป็นจุดผกผันที่ทำให้ถ่านไม้ธรรมดากลายเป็นถ่านที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

“เฮ้ยหมึก เอ็งลองเอาผลไม้มาเผาเป็นถ่านสิ” ประโยคนี้เองที่ทำให้เธอลองผิดลองถูก ทุ่มเทกับการทำถ่านผลไม้ เมื่อรักเรียน รักค้นคิด รักลิขิต รักไต่ถาม ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นกับผู้มีความพยายามเสมอ ด้วยความอุตสาหะจึงทำให้เธอรังสรรค์ถ่านผลไม้ได้สำเร็จ

ส่วนเรื่องรายได้ พี่หมึกเล่าว่า ในแต่ละเดือนเธอมีรายรับไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ บาท เฉพาะที่ขายถ่านไม้ น้ำส้มควันไม้ ชาดอกอัญชันใบเตยและถ่านผลไม้ ยังไม่รวมรายได้ที่มาจากการเป็นวิทยากร เวลามีคนมาศึกษาดูงานก็จะได้ครั้งละ ๖๐๐-๑,๒๐๐ บาท แล้วแต่เขาจะให้ เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ ก็มีให้เหลือเก็บอย่างสบาย ทุกวันนี้จึงไม่ต้องรบกวนเงินของยายอีกแล้ว

ตามรอยพ่อรู้พอเพียง

บ่ายโมง…

“เดี๋ยวจะไปเก็บฟืน มีคนตัดกิ่งลิ้นจี่ไว้ เขาบอกให้ไปเอา”

เธอหายเข้าไปในบ้าน ครู่หนึ่งเดินออกมาพร้อมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวที่เปื้อนคราบมอมแมมคลุมกาย ศีรษะสวมหมวกสีน้ำเงินใบเก่า แล้วเข็นรถเข็นมุ่งหน้าออกมาทางโรงเรียนวัดแก่นจันทน์ ซึ่งห่างจากบ้านเธอไปราว ๓๐๐ เมตร

“ฟืนที่ได้มาส่วนใหญ่ชาวบ้านเขาให้ บางครั้งเขาก็เอามาขายในราคาถูก เราก็ซื้อไว้ ช่วย ๆ กันไปเพราะว่าเขาต้องจ้างคนมาตัดกิ่งอีกที” ระหว่างทาง เธอเล่าถึงที่มาของฟืนให้ผมฟัง

เดินมาสักพัก “โน่นไง สวนเกษตรที่พี่มาสอนเด็ก ๆ แล้วก็ช่วยครูทำ” ผมทอดสายตามองตามปลายนิ้วที่เธอชี้ น้ำเสียงนั้นแสดงถึงความปีติ รอยยิ้มเล็ก ๆ ปรากฏบนใบหน้าของเธอ

แสงแดดร้อนระอุกระทบผิวกายเหมือนจะแผดเผา แต่ความเขียวขจีของพืชผักนานาชนิดภายในรั้วโรงเรียนกลับทำให้ดวงใจของผมเย็นชื่นขึ้นมาทันใด

เธอเล่าต่อไปว่า  โรงเรียนแก่นจันทน์มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ เป็นบ้านพักครูและอาคารเรียน ๒ หลัง โรงอาหาร ๑ หลัง และอาคารเด็กเล็กอีก ๒ หลัง มีสนามหญ้าหน้าโรงเรียน จึงไม่ค่อยมีพื้นที่ว่างมากนัก เมื่อก่อนที่ตรงนี้มีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด เห็นครูเขาจะทำแปลงเกษตรก็เลยมาช่วยและดูแลเรื่อยมา อีกทั้งยังใช้สอนวิชาพอเพียงให้เด็ก ๆ ทั้งเลี้ยงไก่ ปลูกข้าวในบ่อเลี้ยงปลาตามโครงการข้าวใหม่ปลามัน ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น จากต้นเล็ก ๆ ค่อย ๆ แตกกิ่งก้านสาขาเป็นต้นไม้ใหญ่ สวนนี้จึงเป็นสวนเกษตรพอเพียงต้นแบบของชุมชน

เธอทำด้วยจิตของผู้ให้ ทำด้วยใจของผู้เสียสละ

ย่างเท้าต่อไปไม่ไกลนัก ก็มาถึงสวนลิ้นจี่ของลุงเปรม ทองประสงค์ ชายชราวัย ๖๙ ปี

พี่หมึกลงมือขนฟืนใส่รถเข็นอย่างขะมักเขม้น หยาดเหงื่อไหลโซมกาย แม้อากาศจะร้อนแล้งจากไอแดดย่ามบ่าย แต่ดวงใจเข้มแข็งดังหินกล้าของเธอไม่มีทีท่าว่าจะโรยแรง ผมสัมผัสได้ถึงความอดทนและมุ่งมั่นของปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้

“ลุงเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อก่อนเกเร ไม่ทำงานอะไรเลย เดี๋ยวนี้เห็นเขาขยันเอาการเอางานก็ดีใจ” ชายชรากล่าวถึงหญิงวัยกลางคนอย่างเอ็นดู

ลุงเปรมบอกว่า เวลาถึงหน้าตัดกิ่งลิ้นจี่ ก็จะไปบอกให้พี่หมึกมาเก็บเอาไปทำฟืน ไม่ได้คิดเงินอะไรหรอก เพราะเห็นเป็นลูกหลาน

พี่หมึกเก็บฟืนเต็มคันรถ เหมือนกับที่เธอเก็บศรัทธาแห่งความพอเพียงไว้เต็มดวงใจ จากนั้นก็เข็นรถเข็นกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม

“การเผาถ่านขายไม่ใช่แค่ความพอเพียงอย่างที่ในหลวงสอน แต่ยังทำให้มีพลังงาน ได้อาหาร เพราะคนเราต้องอยู่ต้องกิน”

“บางคนมองว่างานเผาถ่านเป็นงานต่ำ ๆ แต่พี่ไม่เคยคิดอย่างนั้น เพราะงานสุจริตเป็นงานที่มีเกียรติ เราไม่ได้ไปลักขโมยใคร พี่เชื่อว่าคนขยันย่อมหาทรัพย์ได้”

จริงอย่างเธอว่า ไม่มีคำว่าจนในหมู่ชนที่ขยัน แต่ทุกวันนี้ที่เห็นใครต่อใครบอกว่าจน ก็ต้องพิจารณาว่าจนเพราะอะไร จนเพราะไม่มี จนเพราะไม่พอ หรือจนเพราะเกียจคร้าน

“ถ้าเรารู้จักค้นหาตัวเอง แล้วระเบิดมาจากข้างในเหมือนที่ในหลวงสอน ก็จะรู้ว่ามีอีกมากมายหลายอย่างที่เราสามารถทำได้”

“ทุกวันนี้ก็มีความสุขดี อยู่อย่างพอเพียง ให้ความรู้กับเด็กและคนที่สนใจเท่าที่จะทำได้ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน อย่างน้อยเราก็ได้เป็นผู้ให้ เขาจะเอาไปทำต่อหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ร้อยคนมีสักสองคนทำตามก็ยังดี ที่ทำไปก็เพื่อตอบแทนยาย ตอนแทนโรงเรียน ตอบแทนถิ่นเกิด”

“อนาคตจะเป็นยังไงไม่มีใครรู้ พี่ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าจะปล่อยวาง เพื่อแสวงหาความสุข สุขแท้จริง ที่ไม่สุกจนไหม้”

พี่หมึกทิ้งท้ายประโยคนี้ให้หายไปพร้อมกลุ่มควันที่ค่อย ๆ ลอยตัวขึ้นสู่อากาศ เปลวไฟในเตาลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ชีวิตของคนเอาถ่านผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้านหัวใจพอเพียงยังคงดำเนินต่อไป