งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง :บุญญาพร บุตตะพรม
ภาพ : สิทธิชัย สุทธิรมย์

volunteer01s
volunteer02s
volunteer03s
volunteer04s
volunteer05s
volunteer06s
volunteer07s
volunteer08s

สายฝนเทกระหน่ำลงช่วงหัวค่ำของต้นเดือนมิุนายน สลับกับเสียงฟ้าร้องที่กระหึ่มลงมาอย่างไม่ขาดสาย หากแต่บรรยากาศภายในอาคารผู้ป่วยเด็ก 3 ง. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีเสียงเพลงเคล้าเสียงหัวเราะของบรรดาเด็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง บ้างก็นั่งหัวเราะ บ้างก็นอนอยู่ในอ้อมกอดของพ่อ เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่สายตาและรอยยิ้มที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าคือคำตอบของเด็กหญิงตัวน้อยว่ามีความสุขมากเพียงใด ต้นตอที่ทำให้เด็กป่วยเหล่านี้มีความสุขถูกรังสรรค์โดยจิตอาสาจากบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง กลุ่มจิตอาสาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังแสดงละครเร่ให้แก่เด็กที่ป่วยและพาทำกิจกรรมสันทนาการเล็กน้อยเพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมและคลายความเครียดจากการนอนป่วยบนเตียง

สายฝนเริ่มซาลงแล้ว แต่เสียงแห่งความสุขของผู้ป่วยเด็กยังคงดังเรื่อยๆ ในขณะที่เด็กบางคนแทบไม่มีแรงจะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ แต่มีชายตัวใหญ่ ผิวคล้ำเข้มตามแบบฉบับหนุ่มใต้ ใส่เสื้อผ้าสีขาวสะอาดตา สวมแว่นตาสีชา ทรงผมที่โล้นเกรียนถูกปิดสนิทด้วยวิกผมโบโซ่สายรุ้ง เดินเข้าไปหาผู้ป่วยเด็กคนนั้น ในมือถือกระดาษกับกรรไกรและสีไม้จำนวนหนึ่ง พร้อมกับตัดกระดาษเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แสดงเป็นนิทานขนาดย่อมอยู่หน้าเตียง สร้างความสุขใจให้แก่ผู้ป่วยเด็กคนดังกล่าวได้ไม่น้อย หลังจากนั้นเราได้เปลี่ยนสถานที่เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่บ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชายตัวใหญ่ท่าทางใจดีคนนั้นแนะนำตัวกับเราว่าชื่อ ‘ เศกสันต์ วิชัยพล ‘ หรือ ‘ พี่เศก ‘ นักปั้นจิตอาสาแห่งบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนุ่มใหญ่จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเลือกที่จะมาเป็นนักปั้นจิตอาสาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พี่เศกได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาในการทำหน้าที่เพื่อสังคมว่า

“ ทางบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง เป็นคนเลือกให้พี่มาทำหน้าที่จิตอาสา เนื่องจากรองศาสตราจารย์นายแพทย์ภพ โกศลารักษ์ ผู้ริเริ่มโครงการนี้ ร่วมกับกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่นักเคลื่อนไหวภาคเอกชน หลังจากนั้นทางโครงการต้องการคนหนึ่งคนที่จะมาทำโครงการนี้ เพื่อเป็นแกนนำ พอดีอาจารย์พนิดา ฐาปนางกูร หรือครูปุย อาจารย์จากธรรมศาสตร์ และเป็นคนเสนอให้พี่เข้ามาทำ เพราะพี่สามารถทำละครร่วมกับเด็กได้ และคิดว่าพี่จะมาริเริ่มโครงการ โดยเป้าหมายแรกที่พี่มาเพื่อจะพาเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีทำละครเล่นเพื่อให้คนอื่นดู ”

หลังจากจบประโยคดังกล่าว พี่เศกได้นำภาพถ่ายประมวลกิจกรรมที่พี่เศกและทีมจิตอาสาบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดงมาให้เราได้ชม ซึ่งภาพเหล่านั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อผู้ป่วยเด็กเอชไอวีและผู้ป่วยเด็กโรคร้ายแรงโดยทั้งสิ้น และนี่ถือเป็นการเริ่มต้นในการทำงานจิตอาสาให้แก่เด็กของพี่เศก

“ พี่เรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะมาทำงานจิตอาสา พี่เคยเป็นวิทยากรและเป็นนักแสดงในโครงการละครกับเด็กของมายา (สถาบันศิลปะวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา ) โดยมายาทำงานสื่อกับเด็กอนุบาล คุณครู และทำงานในกระบวนการการศึกษา โดยใช้เทคนิคการละคร ทั้งละครหุ่นและละครคน ” พี่เศกกล่าวพร้อมกับรอยยิ้มและสายตาที่เต็มไปด้วยความอิ่มอกอิ่มใจกับความสำเร็จของตน

ในขณะที่พูดคุยกันเรื่องประวัติส่วนตัวและที่มาในการเป็นจิตอาสาของพี่เศก เราสังเกตไปรอบๆ บริเวณภายในของบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง ซึ่งเต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่ใช้ในการแสดงละคร หนังสือนิทาน เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่า รวมถึงของที่ได้รับจากการบริจาค อาทิเช่น ตุ๊กตาตัวน้อยตัวใหญ่ ผ้าอ้อมเด็ก และสิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็ก ซึ่งจากจำนวนของบริจาคที่มากมาย ทำให้ทางเดินภายในบ้านชีวาศิลป์แห่งนี้แคบลงไปอย่างถนัดตา พี่เศกเล่าให้ฟังถึงที่มาของสิ่งของบริจาคเหล่านี้ว่า จะมีคนเข้ามาบริจาคสิ่งของที่บ้านชีวาศิลป์เรื่อยๆ หรือเวลาที่พี่เศกไปทำกิจกรรมจิตอาสาตามสถานที่ต่างๆ ก็จะมีผู้ปกครองของเด็กที่ไปโรงพยาบาลนำของมาบริจาค ซึ่งทำให้ผู้รับอย่างเด็กๆ ที่ป่วยมีความสุขเมื่อได้รับสิ่งของเหล่านั้น

ท้องฟ้าหลังฝนตกถูกฉาบด้วยสีดำสนิท ไม่มีแสงจากดาวส่องประกาย บรรยากาศรอบนอกเต็มไปด้วยเสียงหรีดเรไรสลับกับลมเย็นที่พัดมาเอื่อยๆ บ่งบอกให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น บทสนทนาของเรายังคงดำเนินต่อไป พี่เศกพูดถึงกิจกรรมของบ้านชีวาศิลป์ที่มีมากกว่าคำว่าจิตอาสาให้เราได้ทราบ ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาจะมีสองวันคือวันอังคารและวันพฤหัสบดี โดยในวันอังคารช่วงเช้า ทางบ้านชีวาศิลป์จะไปทำกิจกรรมกับเด็กที่รอเข้าตรวจ ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีการพาเด็กๆ ทำงานศิลปะ รวมถึงเล่านิทาน เพื่อให้เด็กที่รอเข้าตรวจเกิดความรู้สึกไม่เครียดและไม่กลัวการรักษา ส่วนกิจกรรมช่วงค่ำในวันเดียวกันจะมีกิจกรรมการแสดงละครเร่หน้าเตียง โดยจะมีนักศึกษาและกลุ่มจิตอาสามาร่วมแสดงละครและเล่านิทานให้แก่ผู้ป่วยเด็กฟัง ส่วนวันพฤหัสบดีในช่วงค่ำจะมีการแสดงละครหุ่นเงาหน้าเสาน้ำเกลือ โดยทุกๆ กิจกรรมที่พี่เศกและกลุ่มจิตอาสาบ้านชีวาศิลป์ มอดินแดงได้ทำนั้น เด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วยทุกครั้ง เพื่อเป็นการให้กำลังใจในการต่อสู้โรคร้ายที่พวกเขากำลังเผชิญ เพราะพี่เศกถือว่าการให้กำลังใจกันคือ ยาที่วิเศษที่สุดที่เราสามารถมอบให้พวกเขาได้

“ ตามลักษณะของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างต้องการกำลังใจทั้งนั้น เพราะเวลาที่พวกเขามารักษาที่โรงพยาบาล เขาไม่รู้ว่าจะหายจากโรคนี้เมื่อใด รักษาอย่างต่อเนื่องบางทีก็เหนื่อย และอาจมีอาการเบื่อ รวมถึงมีการเจ็บปวดจากการรักษา เพราะฉะนั้น การที่เรามอบกำลังใจให้แก่เขา มันคือยาวิเศษที่ดีที่สุดที่จะทำให้เขาต่อสู้กับโรคเหล่านั้นได้ ”

และนอกจากพี่เศกจะมีกิจกรรมเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยเด็กแล้ว การสร้างสื่อให้เข้าถึงตัวเด็กก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะโดยนิสัยทั่วไปของเด็กคือ มักจะมีสมาธิสั้น และไม่ใจจดใจจ่อกับสิ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้ แต่พี่เศกมีวิธีการที่เข้าถึงตัวเด็กตามฉบับของตนคือ การสื่อสารแบบตรงๆ

“ ในมุมมองของพี่คือ เด็กไม่ชอบการสื่อสารแบบอ้อมค้อม ดังนั้นพี่จะไม่หลอกเด็กและจริงใจกับเขา โดยพี่จะหยิบบางอย่างมาสื่อสาร ซึ่งมันเป็นความรู้สึกของพี่จริงๆ เช่น พี่หยิบนาฬิกาของพี่มาแปลงร่างให้เด็กดู ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง แล้วเด็กๆ เขาก็มองออกว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้นเด็กต้องการการสื่อสารที่ตรงๆ ”

แม้ภายนอกของพี่เศกจะดูขัดกับสิ่งที่ทำ เพราะด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ บวกกับหน้าตาที่เคร่งขรึม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความตั้งใจของพี่เศกที่มีอยู่เปี่ยมล้นต่อการทำหน้าที่จิตอาสาเพื่อผู้ป่วยเด็ก เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ความตั้งใจ ใส่ใจ และเชื่อใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พี่เศกยึดปฏิบัติมาโดยตลอด

“ เวลาเราทำอะไร ต้องมีความดึงดูดและต้องเชื่อในสิ่งนั้น สมมุติพี่จะเล่นกับเจ้าถงขนมกับเจ้ากล่องนมมาคุยกัน พี่ก็เชื่อว่าสองอย่างนี้จะคุยได้จริงๆ เพราะฉะนั้นสื่อทั้งหลาย หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา สามารถนำมาเป็นสื่อได้ และใช้สิ่งเหล่านั้นสื่อสารแทนเรา แต่ต้องมีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น ” พี่เศกอธิบายวิธีการใช้สื่อ พร้อมกับในมือข้างซ้ายถือห่อขนม ข้างขวาถือกล่องนม เพื่อให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และเชื่อในสิ่งที่พี่เศกกำลังสื่อออกมา

ความพิเศษของชายชื่อเศกสันต์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากพี่เศกจะเป็นจิตอาสามากความสามารถแล้ว สิ่งที่พี่เศกภูมิใจไม่แพ้ไปกว่าการเป็นจิตอาสาคือ การได้รับเลือกให้เป็นครูสอนดี ในปี 2555 ซึ่งนอกจากจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้แล้ว ทางโครงการยังมอบทุนให้พี่เศกได้มาใช้เพื่อสานต่อกิจกรรมดีๆ สู่สังคม โดยพี่เศกได้เล่าถึงความรู้สึกในการได้รับเลือกในครั้งนี้ว่า

“ เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก เพราะเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ครูที่อยู่ในโรงเรียน โดยมีเกณฑ์การประเมินคือ สอนจริง เห็นผล คนยกย่อง และพี่เป็นครูนอกระบบ จัดการศึกษากับเด็กที่อยู่นอกระบบ เพราะฉะนั้นพี่ทำงานกับผู้ป่วยเด็ก โดยใช้ละครเป็นสื่อกลาง เราเรียกว่าละครเพื่อการศึกษา รางวัลนี้จึงมอบให้ในฐานะคนทำละครเพื่อการศึกษา รวมถึงเงินทุนที่ได้รับพี่ก็เลือกมาใช้ทำงานรณรงค์เพื่อความเข้าใจเรื่องเอชไอวี ผ่านสื่อละครเร่สำหรับเด็ก ทั่วเทศบาลขอนแก่น เป็นเวลา 18 เดือน และโครงการนี้ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องจิตอาสา ”

กล่าวจบพี่เศกรีบกุลีกุจอหาใบเกียรติบัตร พร้อมภาพถ่ายประมวลกิจกรรมรณรงค์เรื่องเอชไอวีผ่านสื่อละครเร่มาให้เราได้ชม ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจของพี่น้องจิตอาสา รวมถึงเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องการสื่อสารให้คนภายนอกได้ทราบถึงความรู้สึกของตน เป็นภาพที่เมื่อได้สัมผัสแล้ว อดรู้สึกดีใจไม่ได้กับความสำเร็จในครั้งนี้

และจากการทำงานร่วมกับผู้ป่วยเด็กนี่เอง ทำให้พี่เศกได้ข้อคิดรวมถึงคติเตือนใจหลายๆ อย่าง เป็นดั่งเสมือนคำสอนจากสายน้ำเกลือที่พี่เศกและจิตอาสาหลายคนได้เรียนรู้มา

“ ชีวิตของเราไม่ได้ยากเย็นเกินกว่าชีวิตของเด็กที่ป่วย พระพุทธเจ้าสอนเราว่าการไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยเด็กมีการใช้ชีวิตที่ยากลำบากกว่าเราเยอะ เรามีเรื่องทุกข์ยากลำบากใจหลายเรื่อง เช่น อกหัก รักคุด ไม่มีงานทำ เรียนไม่จบ ฯลฯ แต่พอเรามาเจอผู้ป่วยเด็กแล้ว เขาลำบากกว่าเราหลายสิบเท่า และนี่คือสิ่งที่พี่ได้เรียนรู้คือ ไม่มีอะไรยากเกินไปกว่าเด็กที่ติดสายน้ำเกลือ เวลามีนักศึกษาเข้ามาปรึกษาพี่ แล้วบ่นว่าชีวิตหนูมีแต่เรื่องยุ่งยากมาก พี่ก็จะย้อนถามกลับว่าน้องฉีดสายน้ำเกลือมั้ย ถ้ายังหายใจได้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ”

เป็นความจริงอย่างที่พี่เศกได้สอน ชีวิตคนเราไม่ได้ยุ่งยากเกินไปกว่าผู้ป่วย ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาเป็นเสมือนบททดสอบที่เราต้องเรียนรู้ ชีวิตของผู้ป่วยเด็กก็เช่นกัน พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำเกลือ เข็มฉีดยา และการพบแพทย์ แต่พวกเขาก็มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วเราจะมามัวจมกับความทุกข์อยู่ทำไมกัน
ในเมื่อร่างกายของเรายังมีครบ 32

“ ชีวิตมันสั้น เพราะฉะนั้นเราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ” ประโยคสุดท้ายก่อนจะที่เราจะแยกย้ายกลับที่พัก พี่เศกบอกว่าประโยคนี้คือคติประจำใจที่ยึดถือมาตลอด และทำให้ทุกวันนี้พี่เศกประสบความสำเร็จในการทำงานจิตอาสาเป็นอย่างมาก

“ พี่มักจะคิดว่าตัวเองอายุ 28 พี่จะหยุดอายุตัวเองไว้เท่านี้และพรุ่งนี้เราอาจจะตายก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ลองคิดว่าวันนี้คือวันสุดท้าย รอยยิ้มของทุกคน รอยยิ้มของผู้ป่วยเด็กในวันนี้อาจจะเป็นรอยยิ้มสุดท้าย เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นทำความดีกัน ”

หลังจากเรียนรู้กันและกันเสร็จแล้ว เราแยกย้ายจากกันด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความสุข การได้พูดคุยกับพี่เศกทำให้เรารู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นนักปั้นจิตอาสา รวมถึงความสำเร็จที่ได้มาจากความพยายาม เพราะไม่มีความพยายามใดสูญเปล่าเมื่อเราตั้งใจ

การเป็นจิตอาสาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ เพียงแค่มีใจรักในการให้ เพราะการให้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี การให้ที่เป็นสุข คือการให้ความรัก การให้กำลังใจต่อผู้ที่ทุกข์ยากลำบาก เมื่อเรามีจิตใจที่จะมอบให้เขา นอกจากเราจะเป็นสุขแล้ว ผู้รับก็ย่อมเป็นสุขเหมือนเราเช่นกัน

. . . แล้ววันนี้ คุณมอบกำลังใจให้แก่ผู้อื่นบ้างหรือยัง ?