สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน / บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

พระนเรศวรฯ สวรรคตที่ไหน ? คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

ทุ่งดอนแก้วซึ่งได้รับการเสนอว่าเป็นสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

“ครั้นจุลศักราช ๙๗๔ พระเจ้าอยุทธยาพระนเรศทรงเสด็จยกกองทัพ
๒๐ ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ  ครั้นเสด็จมาถึงเมืองแหน
แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวนโดยเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น”

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่นักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามเรื่องสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากก่อนหน้านั้นทั้งแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ข่าวเกี่ยวกับเจดีย์ลึกลับในเมืองหาง รัฐฉานของประเทศพม่า ที่ชาวไทใหญ่เชื่อว่าเป็นเจดีย์พระนเรศวรฯ นั้น (ซึ่งทหารพม่าทำลายไปช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๕๐๐) จะทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าใจว่าสถานที่สวรรคตนั้นคือ “เมืองหาง” อย่างแน่นอน

เรื่องนี้เริ่มในปี ๒๕๔๔ เมื่ออาจารย์ชัยยง ไชยศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์ “พื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ที่เวียงแหง” หรือในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และนำเสนอเส้นทางใหม่ ซึ่งหากใช้เส้นทางปัจจุบันคือการเดินทางไปยังอำเภอเชียงดาวสู่ถนนสายเล็ก ๆ เลียบลำห้วยแม่ขะจาน ลัดเลาะไปตามหุบเขาลึกเป็นระยะทาง ๙๒.๕ กิโลเมตร ผ่านบริเวณที่เคยเป็นเมืองกื๊ด เมืองก๋าย เมืองคอง ก่อนจะถึงเมืองแหงซึ่งคืออำเภอเวียงแหงในปัจจุบัน และจุดนี้จะไปถึงเมืองนายที่เป็นเส้นทางสู่เมืองอังวะซึ่งในอดีตเป็นเป้าหมายของสมเด็จพระนเรศวรฯ

อาจารย์ชัยยงเสนอว่า หากเชื่อตามความเชื่อเดิมว่า พระนเรศวรฯ ทรงยกทัพผ่านเส้นทางเมืองหาง ระยะทางไปสู่กรุงอังวะจะไกลขึ้นอีก ๗๐ กิโลเมตร (นับจากอำเภอเชียงดาว) ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เพราะต้องสิ้นเปลืองเสบียงเลี้ยงไพร่พลนับแสนเพิ่มขึ้นตามจำนวนวัน ยังไม่นับความผิดปรกติที่พงศาวดารไทยบอกว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงยก “ทัพหน้า” ไปก่อน ๗ วัน โดยตั้งที่เมืองฝาง (ปัจจุบันคืออำเภอฝาง)  ตามแผนที่ถ้าสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงยกทัพไปเมืองหาง จะกลายเป็นว่า “ทัพหลวง” อยู่ด้านหน้าของ “ทัพหน้า”

นอกจากนี้ใน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เมือง “แหน” กับ “หัน” (หาง) ก็เขียนด้วยอักษรพม่าต่างกัน และเชื่อว่าน่าจะมีการคลาดเคลื่อนในพงศาวดารไทยอย่างแน่นอน

ต่อเรื่องนี้ลองสำรวจหลักฐานชั้นต้นคือพงศาวดารที่บันทึกใกล้เหตุการณ์ที่สุดอย่าง พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เขียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น (หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ในปี ๒๑๔๘ ราว ๗๕ ปี) รายละเอียดเรียกได้ว่า “คลุมเครือ” เพราะเมื่อจบตรงที่ “ครั้งนั้นเสด็จพระ-ราชดำเนินถึงเมืองหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว” แล้วเนื้อความก็ขาดหาย และถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบฉบับที่คาดว่าน่าจะมีต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาหากใครไปเที่ยวเวียงแหงจะพบสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรฯ และมีการอ้างถึงโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง เช่น บ่อน้ำที่ช้างทรงลงดื่มน้ำ พระมาลาโบราณซึ่งค้นพบในพื้นที่และเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุเวียงแหง ฯลฯ

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ได้รับการหยิบยกมาถกโดยภาครัฐครั้งล่าสุด คือระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยสำนักศิลปากรที่ ๘ จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนา “สำรวจเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่กรีนเลค รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อ “ศึกษาและพิสูจน์ความคลุมเครือในประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารที่ไม่ได้ระบุความชัดเจนไว้” มีวิทยากรคือ สด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา (ในฐานะอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร) หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้สร้างภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมฟันธงว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ประชวรด้วยมาลาเรียหรือไข้ป่า จุดสวรรคตอยู่บนเนินสูงติดทุ่งกว้างซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระธาตุแสนไห

ขณะที่สดระบุว่า กรมศิลปากรต้องหาหลักฐานยืนยันต่อไป ส่วนตัวเขาเริ่มเอนเอียงไปทางทฤษฎีสวรรคตที่เวียงแหงมากขึ้นและเชื่อว่าควรหา “ทุ่งดอนแก้ว” ให้พบ ซึ่งวงเสวนามีทีท่าเห็นด้วย เพราะถ้ายึดชื่อเมืองนั้นพงศาวดารหลายฉบับระบุต่างกัน แต่ถ้ายึดชื่อ “ทุ่ง” น่าจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น และกรมศิลปากรก็มีโครงการสำรวจและขุดค้นโบราณสถานตามแนวเส้นทางนี้เช่นที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว และบริเวณวัดพระธาตุแสนไห วัดโบราณติดกับทุ่งกว้างที่น่าจะเป็นทุ่งดอนแก้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณในการทำงาน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ถูกค้านจาก สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเวียงแหง  เขามองว่ากรณี “ทัพหน้า” เดินช้ากว่าทัพหลวงในประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น สงครามระหว่างสยามกับเชียงตุงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ทัพหน้าของเจ้าพระยายมราชไปถึงช้ากว่าทัพหลวงของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท “โดยหน้าที่ทัพหน้าควรถึงก่อนทัพหลวง แต่ในทางปฏิบัติไปถึงช้าก็มีบ่อยครั้ง”

กรณี “แหน” กับ “หัน” นั้น ตาม มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า แปลโดย “นายต่อ” ซึ่ง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าเคยวิจารณ์เรื่องความคลาดเคลื่อนว่ามีมาก  สมฤทธิ์ยกตัวอย่างว่า “กรณี ‘เมืองนาย’ มีเขียนถึงด้วยคำที่ต่างกันห้าจุด”  เขาสันนิษฐานว่า ผู้แปลไม่น่าจะเขียนภาษาไทยได้ ต้องมีอาลักษณ์จดตามที่ “นายต่อ” แปลเป็นคำพูด เรื่องคำจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง  ขณะเส้นทางเดินทัพเลียบลำห้วยแม่ขะจานนั้น กองทัพที่มีกำลังนับแสนไม่น่าจะใช้เส้นทางเล็กเช่นนี้  เขาจึงมองว่าก่อนจะเสนอสถานที่สวรรคตใหม่ “ต้องตรวจสอบหลักฐาน ไม่ใช่พยายามลากมาเวียงแหง  ส่วนสถานที่สำคัญในพื้นที่ เช่น บ่อน้ำช้างสำหรับกองทัพก็ขัดความจริงที่ว่าไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงลำห้วย ให้ช้างกินน้ำที่นั่นน่าจะสมจริงกว่า”

ถึงตอนนี้ข้อเสนอใหม่เรื่องสถานที่สวรรคตยังรอการพิสูจน์ และไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราก็ได้แต่หวังว่านักประวัติ-ศาสตร์จะใช้ “หลักวิชา” ค้นหา “ความจริง” สร้าง “ปัญญา” ให้สังคมไทยมากกว่าสร้างความ “งมงาย”