หอยทากตัวนั้น
snailday@gmail.com
โลกอ่านเขียนของหอยทากฯ

A Snail’s Habitat - Pyongyang : A Journey in North Korea

Pyongyang : A Journey in North Korea Guy Delisle ISBN 9781897299210

ทุกท่านจ๋า

Pyongyang : A Journey in North Korea ของ กี เดอลีสล์ (Guy Delisle) พิมพ์ปกอ่อนมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๗ อยู่ในร้านหนังสือก่อน Burma Chronicles (๒๐๑๐) และ Jerusalem : Chronicles from the Holy City (๒๐๑๒) ที่อ่านไปก่อนหน้านี้อีก

แต่เพิ่งนึกอยากจะรู้จักเกาหลีเหนือและเปียงยางขึ้นมาช่วงนี้ โชคดียังมีเหลือ

ฉันเริ่มชอบการ์ตูน (graphic travelogue) ของเดอลีสล์จากเล่ม Burma ทั้งที่เส้นน้อยและรูปมันแบน เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ตามลำดับเวลา ไม่ได้มีจุดหักมุมอะไร แต่ทำไมเหมือนเราถูกดูดเข้าไปอยู่ย่างกุ้ง เยรูซาเลม หรือเปียงยางที่เขาไปทุกที  บรรยากาศของที่นั่นแผ่ขยายปกคลุมเราอย่างซึมๆ สว่างๆ หรือไม่ก็ทั้งร้อนและหนัก

เล่ม เปียงยาง : การเดินทางในเกาหลีเหนือ บรรยากาศอึนๆ มาแต่หน้าแรกๆ ที่สนามบินเลย  เดอลีสล์เลือกวาดและแรเงาด้วยดินสอสีทึมเทาตลอดเล่ม ให้ภาพแจ่มชัดของกรุงเปียงยาง ค.ศ. ๒๐๐๑ ที่ขาดแคลนเชื้อเพลิงขนาดหนัก (แต่มีเงินสร้างตึกรามใหญ่โตโชว์พาวฯ)  ยามค่ำคืนถนนและตึกรามทุกแห่งมืดมิด ยกเว้นตึกหรือบริเวณที่มีภาพขนาดใหญ่ของท่านผู้นำ

ภาพและการเล่าเรื่องสั้นกระชับของเขาถ่ายทอดเหตุการณ์และความเป็นไปในเมือง (เฉพาะที่ได้ไป) รวมถึงตึกที่พักซึ่งเป็นโรงแรม ๕๐ ชั้น- -แต่เปิดใช้จริงสัก ๒ ชั้นสำหรับคนต่างชาติ คือชั้นห้องพักและชั้นออฟฟิศ- -ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ไม่ไกลจากดาวน์ทาวน์นัก  เดอลีสล์ต้องอยู่ที่นี่ให้ได้โดยไม่มีวิทยุ ทีวี อินเทอร์เน็ต ไม่มีแหล่งบันเทิงหรือร้านอาหารนอกโรงแรม ฯลฯ ทั้งยังห้ามถ่ายรูปตลอด ๒ เดือนที่ทำงานเป็นคนดูแลทีมวาดการ์ตูนของที่นี่

ฉากส่วนใหญ่ของเขาจึงอยู่แต่ในห้องพัก ในภัตตาคารหมายเลข ๑ หรือไม่ก็หมายเลข ๒ ที่ดูจะไร้ลูกค้าอย่างสิ้นเชิง ในห้องทำงานของทีมแอนิเมชันที่ห่างกัน ๑๐ ชั้นซึ่งลิฟต์ไม่เคยใช้ได้ ตามสถานที่สำคัญที่ถูกกำหนดให้ไปดู และบนท้องถนนที่แทบไม่มีรถวิ่ง ซ้ำยังมืดสนิทในยามค่ำคืน

เปียงยางฯ ตอบความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเกาหลีเหนือให้ผู้อ่านอย่างน่าสนใจ เท่าที่เงื่อนไขต้องมีไกด์และล่ามประกบตัวเกือบตลอดเวลาจะอำนวยให้ และเพราะการได้พูดกับคนเกาหลีเหนือจริงๆ “อยู่ถัดจากความเป็นไปไม่ได้” ดังนั้นคนพื้นเมืองเท่าที่เดอลีสล์ได้พูดคุยและคุยกันรู้เรื่องจึงได้แก่สหายไกด์หนึ่งคนและสหายล่ามสองคน รวมเป็นสามคนเท่านั้น

เดอลีสล์พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเกาหลีเหนือกับท่านผู้นำสูงสุดในตอนนั้น- -พ่อลูก คิมอิลซ็อง บิดาของประเทศและประธานาธิบดีตลอดกาล และบุตรชาย คิมจ็องอิล (ส่วน คิมจ็องอึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน ยังเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์) - - จากการสังเกต ไถ่ถามสองสหาย ผนวกกับชั่งใจจากคำตอบที่ได้รับ

เขาพบว่าสถานที่ประเภทเดียวในประเทศนี้ที่ไม่มีรูปของสองพ่อลูกผู้นำสูงสุด คือห้องส้วม  ทุกห้อง ทุกตึก ทุกแห่งในประเทศ ไม่เว้นแม้แต่บนอกเสื้อของพลเมืองทุกคนล้วนต้องมีเข็มกลัดรูปท่านผู้นำ ใครไม่กลัดไว้จะถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับ (เพราะรัฐส่งเสริมให้ประชาชนสอดส่องเพื่อนบ้าน)  เดอลีสล์แสดงความสงสัยหลายหนถึงความจริงแท้ของความจงรักภักดีแบบยึดมั่นถือมั่นของสหายไกด์และสหายล่าม หรือเป็นเพราะความหวาดกลัวต่อค่าย “re-education” อันไกลโพ้นทางภาคเหนือของประเทศที่ไม่เคยมีอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น

คุณล่ามยังบอกเดอลีสล์หลังจากที่เขาสังเกตเห็นว่าในเปียงยางไม่มีคนพิการเลยสักคนเดียวว่า เกาหลีเหนือไม่มีคนพิการหรอก เพราะ “คนเกาหลีเหนือทุกคนเกิดมาแข็งแรง ฉลาด และสุขภาพดี” เดอลีสล์บอกว่าสหายล่ามเชื่อแบบนั้นจริงๆ  ก่อนหน้านี้เขาเคยผิดหวังที่สหายล่ามอีกคนคืนหนังสือ ๑๙๘๔ ที่เขาพกมาจากบ้านทั้งที่ยังอ่านไม่จบ เลยไม่ได้อภิปรายกันอย่างที่เขาหวัง

เดอลีสล์เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง จะกัดจะบ่นบ้างก็เล็กน้อย และนานๆ ทีถึงจะแลกมุมมองกับสหายชาวเกาหลีเหนืออย่างตรงไปตรงมา ให้ผู้อ่านอย่างเราพอนึกออกถึงความรู้สึกอยากสั่งสอน “ให้รู้ซะบ้างว่าโลกประชาธิปไตยมันเป็นอย่างไร” ของเดอลีสล์ที่มีต่อสหายเกาหลีเหนือ

วันหนึ่งเมื่อเดอลีสล์สบช่องในการสนทนา เขาพูดกับล่ามว่า “Dictatorship means shut up, democracy means keep talking.” (ยกมาล้วนๆ อย่างไม่คิดจะแปล) พลางยื่นหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส (ที่เพื่อนใหม่ชาวฝรั่งเศสถือติดมาเมื่อแรกถึงเปียงยาง) ให้ดูและบอกว่า “The fact that people are free to criticize doesn’t make things perfect, of course, but at least you can base your opinions on more than one point of view.” - ไอ้เรื่องที่ว่าคนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเสรีนั้นไม่ได้ทำให้อะไรๆ เพอร์เฟกต์ขึ้นมา มันก็จริงอยู่หรอก แต่อย่างน้อยที่สุดคุณก็สามารถสร้างความคิดเห็นของตัวเองได้จากมุมมองที่มากกว่าหนึ่ง- -ซึ่งในที่นั้นคือโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐที่ทุกคนต้องได้ยินทุกวัน

A Snail’s Habitat - Pyongyang : A Journey in North Korea

pyongyang02

คำโปรยรีวิว เปียงยางฯ จากหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ส่วนมากชื่นชมเดอลีสล์ว่าเขียนได้ “surreal” “absurd” และ “hilarious”

มันอาจตลกจริงสำหรับฝรั่งที่เขียนรีวิวหนังสือ ผู้ซึ่งไม่ต้องเดินทางมามีประสบการณ์อยู่ในเกาหลีเหนือด้วยตัวเอง  พวกเขาได้แต่นั่งขำอยู่ไกลๆ เรื่องประเทศเผด็จการล้าหลังที่เหลือไม่กี่ประเทศในโลก ทั้งไม่ต้องเดือดร้อนเพราะประเทศตนจะไม่มีวันตกอยู่ในสภาวะอย่างนั้น เหมือนอ่านการ์ตูนไซไฟที่มันจะไม่มีวันเป็นจริงในชีวิตของเขาและมันจะจบลงเมื่อลุกไปทำอย่างอื่น

มันก็อาจเซอร์เรียล อาจแอบเสิร์ดจริง แต่มันไม่ตลก เพราะแอบหวังว่าเราเองก็กำลังเอนหลังอ่านการ์ตูนไซไฟอย่างฝรั่งพวกนั้นเหมือนกัน