เรื่อง: ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์*
ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมพ์

 

๐๔.๐๐ น.

นาฬิกาปลุกแผดเสียง ฉันหยิบนาฬิกาโดยไม่ต้องลืมตาพร้อมกับเอื้อมอีกมือเปิดสวิตช์โคมไฟ  หรี่ตาข้างเดียวดูเวลา–ยังห่างไกลจากความสว่างอีกสักพัก

หลังลุกจากที่นอน ฉันใช้เวลาจัดการธุระส่วนตัว อุ่นอาหารสำหรับสองมื้อ เช้าและกลางวัน มันเป็นกะเพราไก่ ไข่ต้ม และข้าวที่หุงไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเย็นวาน แค่จัดแพ็กใส่กล่องให้เรียบร้อย ส่วนของใช้จำเป็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุดบันทึก ปากกา เข็มทิศ มีด น้ำ ของกินเล่น แผนที่ และที่สำคัญ กล้องส่องทางไกล  ฉันก็เตรียมใส่เป้ไว้เรียบร้อยแล้ว ประมาณ ๓๐ นาที ฉันและทีมนักวิจัยก็พร้อมไปยังพื้นที่

นี่เป็นวันที่ ๕ แล้วที่ฉันติดตามชะนีครอบครัว C ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เช้ามืดวันนี้ดวงดาวเต็มฟ้า และอากาศหนาวเย็น  ช่วงเดือนกุมภาพันธ์อากาศตอนเช้ายังเย็นอยู่มาก เราเลยต้องเตรียมเสื้อกันหนาวมาด้วย  ฉันเลือกเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลังอ่างเก็บน้ำสายศรซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่จะพาฉันไปหาชะนี

ชะนีที่ว่าคือชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดา (White-handed gibbon or Common gibbon) เป็นชะนี ๑ ใน ๑๙ ชนิดที่มีอยู่ในโลกของเรา

การศึกษาชะนีในธรรมชาติครั้งแรก ๆ ของโลกนั้นเกิดขึ้นที่เมืองไทยนี่เอง โดย Dr. Clarence Ray Carpenter นักธรรมชาติและวานรวิทยาที่เข้ามาสำรวจชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดาประมาณ ๓ เดือนที่ดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำรวจและศึกษาสัตว์ในกลุ่มไพรเมตของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐ-อเมริกา  การศึกษาของ Dr. Carpenter ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของชะนีในธรรมชาติมากขึ้นว่าในแต่ละวันของชะนีทำอะไรบ้าง เช่น การอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กแบบผัวเดียวเมียเดียว การหากินในพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของมันเอง การกินผลไม้เป็นอาหารหลัก และการนอนบนต้นไม้โดยไม่สร้างรัง นับเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้นักวิจัยรุ่นหลัง ๆ รวมมาถึงฉัน ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาชะนีในธรรมชาติ

 

gibbon01๐๕.๐๗ น. – นอน

ฉันรู้ว่าชะนีนอนอยู่ตรงไหนจากการตามชะนีตัวผู้ เจ้า “ชัย”(Chai) ของครอบครัว C เมื่อวานนี้  ก่อนฉันกลับออกจากป่า เจ้าชัยยังนั่งอยู่บนกิ่งใหญ่ชัดเจน จำได้ว่าเจ้าชัยเหมือนรู้ว่าฉันมองมันอยู่แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร  ฉันตรวจดูเส้นทางและตำแหน่งบนทางเดินเพื่อให้แน่ใจว่าพรุ่งนี้ฉันจะมาเจอมันอีกตอนเช้า

ส่วนชะนีตัวเมีย “คาสซานดรา” (Cassandra) และลูกชาย “โชคดี” (Chokdee) คงหาต้นไม้เหมาะ ๆ นอนอยู่ไม่ไกลกันนัก

ชะนีเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตบนชั้นเรือนยอด เคลื่อนที่ หาอาหารและมีกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ อยู่แต่บนเรือนยอดไม้ นาน ๆ ครั้งเมื่อมันไล่กันบางตัวอาจเผลอไต่ลงมาต่ำจนถึงพื้น  ครั้งหนึ่งนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่เคยเห็นชะนีตัวผู้แอบไต่ลงมากินน้ำที่ลำธาร แต่มันก็รีบกลับขึ้นไปบนต้นไม้อย่างรวดเร็ว  การใช้ชีวิตแต่บนเรือนยอดนี้รวมถึงการหาที่นอนบนต้นไม้ด้วย

ชะนีไม่สร้างที่นอน แต่จะเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งมักอยู่ห่างจากต้นอาหารต้นสุดท้าย เพราะพวกมันต้องการหลีกเลี่ยงผู้ล่าและสัตว์หากินตอนกลางคืนซึ่งอาจเข้ามารบกวนพวกมันขณะพักผ่อน

ถึงแม้เจ้าชัยจะนอนไม่ไกลจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งคงง่ายต่อการไปถึงในช่วงเช้ามืด แต่ทางเส้นนี้ต้องใช้เวลาเดินจากทางเข้าป่าเกือบ ๑ ชั่วโมง

ฟ้ายังไม่สว่างดีนัก ไฟฉายเป็นสิ่งจำเป็นไว้ส่องเส้นทางหลัก และส่องไฟทางซ้ายทางขวาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสัตว์อะไรยืนอยู่ข้างทาง สองร้อยเมตรของการขึ้นเขาทีละนิด ๆ ทำให้ได้เหงื่อดีมาก  ยิ่งเดินเข้าไปใกล้จุดหมายมากขึ้น ความมืดก็เข้าใกล้ความสว่าง  เริ่มเห็นฟ้าเป็นสีขาว ๆ ตัดกับต้นไม้ที่ยังเป็นสีดำ  ช่วงนี้ปิดไฟฉายเดินดีกว่าเพราะตาของเรากำลังปรับให้เข้ากับความสว่าง

ความสว่างที่ใกล้เข้ามายิ่งทำให้คนตามชะนีกังวลมากขึ้น เพราะเกรงว่ามันจะเคลื่อนย้ายออกไปจากต้นนอน  บางทีชะนีก็ตื่นก่อนที่เราจะไปถึงไม่กี่นาที บางครั้งในฤดูที่มีอาหารเยอะ ๆ  ถ้ามันตื่นกันแล้ว พวกมันอาจรีบเคลื่อนที่ไปป้องกันต้นอาหาร  แต่ในฤดูแล้งที่อาหารไม่ค่อยมีและอากาศเย็น พวกมันก็ออกจะเชื่องช้าคล้าย ๆ เราที่ไม่อยากลุกจากที่นอนนั่นแหละ

ชะนีนอนอย่างไร คงมีคนสงสัย

ชะนีนอนด้วยการนั่งพิงหลังกับลำต้นต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มือจับกิ่งไม้ใกล้เคียงไว้ หรือเอียงตัวตะแคงบนกิ่งไม้ที่มั่นคง แล้วเอามือจับกิ่งไม้อีกกิ่ง  สิ่งที่ช่วยให้ชะนีมั่นใจว่ามันจะไม่ตกต้นไม้ คือปุ่มรองก้น (callosities) ที่เป็นแผ่นหนังกลม ๆ ขนาดฝ่ามือชะนี อยู่ระหว่างอวัยวะเพศ มีลักษณะคล้ายยางเหนียว ๆ กันลื่น

ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวชะนีมักนอนแยกต้นกัน ห่างกันสัก ๒๐-๔๐ เมตร  แต่ลูกวัยทารกและวัยเด็กอาจขอนอนกับแม่ด้วย  ตัวผู้มักเลือกกิ่งใหญ่ เปิดโล่ง แต่ตัวเมียมักเลือกยอดสูงสุด บางครั้งสูงเกือบ ๓๐ เมตรหรือตึก ๑๐ ชั้น จนนักวิจัยก็มองเห็นไม่ค่อยชัด  บางครั้งนักวิจัยต้องเดินวนไปวนมารอบต้นนอนหลายรอบเพื่อหาตำแหน่งที่เห็นแม้แต่ “แก้มก้น” ของชะนีก็ยังดี

ชะนีตัวที่ตามต้นนอนง่ายสุดน่าจะเป็นชะนีรุ่นแรกที่ได้รับการศึกษา เธอชื่อว่า “แอนโดรเมดา” (Andromeda) ซึ่งเราเรียกเธอว่า “ป้าแอน” เพราะเธอมักเลือกต้นนอนที่เปิดโล่ง และชอบนอนปลายกิ่ง ดูท้าทาย ต่างจากชะนีตัวเมียทั่ว ๆ ไป เราเลยไม่พลาดทำป้าแอนหาย คงเป็นเพราะเธอใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าชะนีตัวเมียอื่น ๆ

ส่วนใหญ่ชะนีมักเข้าต้นนอนก่อนที่ฟ้าจะมืด อยู่ระหว่าง ๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น. แต่ก็อาจมีกรณีพิเศษขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่แตกต่างกันไป

ฉันเคยตามป้าแอนครั้งที่เข้าต้นนอนเร็วสุด คือประมาณ ๑๓.๔๐ น.  ช่วงนั้นเดือนมกราคม อากาศหนาวมาก เราแปลกใจมากว่าวันนี้ทำไมชะนีเข้าต้นนอนเร็วจัง แต่เราก็รอจนแน่ใจเกือบชั่วโมงว่าป้าแอนไม่ไปไหนอีกแล้วจริง ๆ ส่วนครั้งที่ชะนีเข้านอนช้าสุดที่จำได้ว่าเป็นเดือนเมษายน ปี ๒๕๔๘ คือเวลา ๑๖.๔๔ น.  เป็นช่วงที่ชะนีครอบครัว A ซึ่งมีป้าแอนอยู่ในกลุ่ม ออกหากินเป็นระยะทางไกลทีเดียว มีผลไม้สุกมาก เราตามกันจนเหนื่อยขึ้นเขาลงเขาไม่เคยได้นั่งพักนานเกิน ๑๕ นาที จนหลัง ๑๖.๐๐ น. เราก็เห็นชะนีกินผลไม้ที่ต้นซึ่งเราคาดว่าจะเป็นต้นสุดท้าย และก็เคลื่อนย้ายไปอย่างรวดเร็ว แอบดีใจเล็ก ๆ ว่าได้เวลานอนซะที เพราะชะนีมักเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเพื่อไปหาต้นนอนหลังออกจากต้นผลไม้ต้นสุดท้ายที่มันกิน

ฉันรับหน้าที่ตามป้าแอนตามเคย พี่อีกสองคนตาม “คริสโต-เฟอร์” (Christopher ชะนีตัวผู้ สามีป้าแอนในขณะนั้น) แต่แล้วคริสโตเฟอร์ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ยอมตามป้าแอนมา เพราะมีเสียงชะนีครอบครัว C ร้องอยู่ไม่ไกล  เจ้าคริสโตเฟอร์ย้อนกลับไปพร้อมสมาชิกในฝูงตัวอื่น ๆ เพื่อไปป้องกันอาณาเขต ร้องและวิ่งไล่กันไปมา ส่วนนักวิจัยก็ต้องวิ่งตามเก็บข้อมูล  หลังจากผ่านไปเกือบชั่วโมง ชะนีคงคิดได้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้วพวกมันเลยหยุดทะเลาะกันและแยกย้ายไปนอนอย่างรวดเร็ว  กว่า ๑๓ ชั่วโมงที่เราใช้ชีวิตกับชะนี กลับมาถึงบ้านพักวันนั้น พวกเราเลยไม่คิดเสียเวลาทำอาหารเย็น–มาม่าอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาจริง ๆ

ปรกติชะนีตัวเมียมักจะเข้านอนก่อน ตามด้วยวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว และตัวผู้เต็มวัยตามลำดับ และชะนีจะไม่กลับมาใช้ต้นนอนซ้ำในวันถัดไป  แต่จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล  หากชะนีวนกลับมาใช้เส้นทางเดิม ๆ ในเดือนถัดไป เราก็อาจคาดการณ์ว่าชะนีจะกลับมานอนที่ต้นเดิมนั้นอีกถ้าต้นไม้ยังไม่ล้มหรือหักไปซะก่อน

แต่ถึงแม้เราจะรู้ต้นนอนแน่ชัด บางครั้งเมื่อเราเข้ามาตามตอนเช้าชะนีกลับหายไปเสียง่าย ๆ  กว่าจะเจอกันอีกทีก็ตอนชะนีส่งเสียงร้องนั่นละ อาจเพราะเมื่อคืนชะนีโดนรบกวนจากสัตว์หากินกลางคืนหรือผู้ล่าของชะนี เช่น เสือลายเมฆ งูเหลือม หรือเหยี่ยวขนาดใหญ่ ชะนีเลยขอเปลี่ยนที่นอน  ฝนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชะนีย้ายต้นนอน ฉันเคยตามชะนีวันที่ฝนตกบ่าย ๆ  ตามดูจนชะนีเลือกเข้าต้นนอนและหยุดนิ่งแล้วเราก็กลับออกจากป่า  คืนนั้นฝนตกทั้งคืน  เช้าวันถัดมาเมื่อเรากลับมาที่ต้นนอน แต่ชะนีหายไปแล้ว

 ฉันเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ในที่สุดก็มาถึงตำแหน่งที่ยืนมองเจ้าชัยเมื่อวาน  มันตื่นนอนแล้วและยังนั่งอยู่ที่เดิม

gibbon02เรื่องเข้าใจผิด 

นับตั้งแต่พระอินทร์ลงโทษนางโมราโดยสาปนางให้กลายเป็น “ชะนี” และคอยท่องไพรเรื่อยไปพร้อมร้องเรียก “ผัว-ผัว” หาสามีหรือเจ้าชายจันทโครพที่นางมีส่วนทำให้เสียชีวิต ไม่ว่าจะด้วยโดยอุบัติเหตุหรือเจตนา เรื่องราวของนิทานพื้นบ้าน เจ้าชายจันทโครพ ซึ่งเหมือนเป็นต้นแบบให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ  เมื่อถึงฉากที่เจ้าหญิง หรือพระมเหสีพร้อมลูก ต้องพลัดพรากหนีเข้าป่า ก็มักจะตัดภาพชะนีห้อยโหนจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่งพร้อมส่งเสียงเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการสื่อความเปรียบเทียบโดยนัย  ภาพและเรื่องราวเหล่านี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับชะนี สัตว์ป่าคุ้มครองของไทยซึ่งตกอยู่ในสถานะสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในหลายประเด็น เช่น ชะนีมีเฉพาะตัวเมีย และเสียงชะนีที่ได้ยินนั้นร้องโดยตัวเมียเท่านั้น เพราะร้องออกเสียงแต่ ผัว-ผัว เพื่อร้องเรียกชะนีตัวผู้

มาถึงวันนี้คำว่า “ชะนี” ยังถูกใช้เปรียบเปรยอย่างสนุกปากถึงผู้หญิงที่โสดและต้องการมีคู่ ทำให้คนเห็นภาพลักษณ์ของชะนีไม่ใช่สัตว์ป่าที่มีนิสัยน่ารัก และมีความสำคัญกับระบบนิเวศป่าไม้ของประเทศเรา แต่กลายเป็นเพียงผู้หญิง/ตัวตลกที่ต้องการอยากมีคู่  การพูดเพื่อความสนุกสนานนี้ถึงจะไม่ได้ตั้งใจ แต่อาจมีผลต่อชีวิตและอนาคตของสัตว์ป่าชนิดหนึ่งได้

 

๐๕.๕๒ น.  - การปะทะและพื้นที่หากิน

ฉันบันทึกเวลา ๐๕.๕๒ ลงในสมุด ใช้เวลาเดินตั้ง ๔๕ นาที เหงื่อชุ่มหลัง ต้องสูดหายใจลึก ๆ และจิบน้ำนิดหน่อย (ดื่มมากไม่ได้ ไม่ใช่ว่ากลัวจุก แต่กลัวว่าน้ำที่เตรียมมาจะไม่พอดื่มทั้งวัน)  แอบดีใจว่าวันนี้มาทันและเราคงตามพวกมันไปได้ทั้งวัน

ฉันจดเวลาและพฤติกรรมของเจ้าชัยเมื่อมาถึง และจะคอยจดเวลาใหม่อีกครั้งเมื่อมันเปลี่ยนพฤติกรรม เราเรียกวิธีนี้ว่า focal continuous recording คือบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิจัยทราบพฤติกรรมที่ชะนีแต่ละตัวแสดงออกในแต่ละวัน (activity budgets) ได้

ตอนที่นักวิจัยเก็บข้อมูลเส้นทางหากินของพื้นที่ครอบครัวชะนี เราจะต้องจดหมายเลขต้นไม้ “ทุกต้น” (ซึ่งมีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์) ที่ชะนีใช้เดินทางและทำกิจกรรม เพื่อจะได้รู้ว่าวันนี้ชะนีเดินทางไปที่ไหนบ้าง บางฤดูชะนีใช้ต้นไม้ไม่เกิน ๑๐๐ ต้นเดินทางแค่ประมาณ ๗๐๐ เมตร แต่วันที่โหด มันใช้ต้นไม้เกือบ ๕๐๐ ต้นและเดินทางเกือบ ๔.๕ กิโลเมตร  ถ้าเจอวันแบบนี้พวกเรามักเปิด-ปิดกล่องข้าวพร้อมวิ่งตามชะนีอยู่เสมอ

ประมาณ ๑๕ นาทีก็ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของเรือนยอดไม่ไกลนัก  คาสซานดราเมียของเจ้าชัยคงเริ่มเคลื่อนที่ไปหาอาหารพร้อมลูกแล้วแน่ ๆ  ฉันไม่คิดว่าวันนี้จะมีเรื่องตื่นเต้นอะไรมาก แต่ผิดถนัด เพราะหลังจากคาสซานดราเคลื่อนที่ เจ้าชัยก็หันหน้าไปในทิศทางตามเมียทันที เหมือนมันจ้องมองอะไรสักอย่าง สักพักก็รีบโหนจากกิ่งที่มันนอนด้วยความรวดเร็วผ่านชั้นเรือนยอดของต้นไม้ในป่า ห้อยโหนบ้าง กระโดดบ้างอย่างคล่องแคล่ว  ฉันรีบก้าวเท้าวิ่งตามโดยไม่ละสายตาไปจากมัน แม้จะต้องลงเขาขึ้นเขา แต่เพราะพอรู้เส้นทางในป่าบ้าง เลยทำให้ยังติดตามเจ้าชัยไปโดยไม่ล้มลุกคลุกคลานและพลัดหลงจากมันซะก่อน

ไม่ถึง ๑๐ นาทีเจ้าชัยก็พาฉันวิ่งมาได้ราว ๒๐๐ เมตรถึงต้นไทรขนาดใหญ่ (Ficus concinna) ที่มีผลสุกสีขาวอมชมพูเต็มต้น  ฉันเข้าใจทันทีว่าทำไมมันถึงรีบขนาดนี้ เจ้าชัยมาป้องกันอาณาเขตและต้นอาหารหลักในช่วงนี้นั่นเอง เพราะตลอดระยะเวลา ๕ วันที่ผ่านมาครอบครัว C แวะเวียนมาที่นี่ทุกวัน

เจ้าชัยตรงดิ่งไปที่เจ้าชะนีสีดำตัวผู้จากครอบครัว A แล้วโหนไล่แบบเอาเป็นเอาตาย แต่เจ้าตัวดำคงมองเห็นเจ้าชัยมาแต่ไกลเลยรีบหนีออกไปทัน  การโหนไล่ผู้บุกรุกถือเป็นการป้องกันอาณาเขตของตัวเองอย่างหนึ่ง พร้อมส่งเสียง wa-oo wa-oo เป็นระยะด้วยความเคือง  ประมาณ ๑๕ นาทีเมื่อเหตุการณ์สงบ เจ้าชัยก็ไต่ขึ้นไปบนต้นไทรและเริ่มมื้อเช้า โดยมีเมียและลูกชายกินล่วงหน้ารอไปก่อนแล้ว

ในธรรมชาติ ชะนีจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ภายในอาณาเขตหรือ “รั้วบ้าน” ของตัวเอง (territory) แต่พื้นที่หากิน (home range) จะขยายออกไปมากกว่าเขตบ้าน ซึ่งอาจซ้อนทับกับของครอบครัวอื่น ๆ  มันจะปกป้องเฉพาะในอาณาเขตบ้าน ไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้ามา ขณะที่จะไม่ปกป้องพื้นที่หากินที่ขยายออกไป  เหตุการณ์นี้แสดงว่าไทรต้นนี้อยู่ในเขตบ้านของชัย ทำให้มันยอมไม่ได้ที่จะมีชะนีครอบครัวอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์

ปรกติการประกาศหรือป้องกันอาณาเขต นอกจากการร้องคู่กันของตัวผู้และตัวเมียแล้ว แต่หากเมื่อสองครอบครัวมาเผชิญหน้ากัน (intergroup encounter) และเห็นตัวผู้อื่นบุกรุก ตัวผู้เต็มวัยหรือลูก ๆ จะตรงเข้าไล่ผู้บุกรุกทันที ซึ่งมักไม่ถึงเนื้อถึงตัวกันหรือรุนแรงมาก เพียงแต่โหนสลับไล่กันไปมา อาจพลาดไล่กันไปถึงพื้นแต่ไม่ถึงกับบาดเจ็บ และตัวผู้มักส่งเสียงร้องตลอดเวลาด้วย เริ่มจากร้อง hoo-hoo เบา ๆ จนเพิ่มความดังไปเรื่อย ๆ เป็น wa-oo wa-oo

ฉันชอบดูเวลาชะนีต่อสู้ป้องกันอาณาเขต เพราะมันตื่นเต้นเหมือนดูหนังจีนกำลังภายใน  นักแสดงโหนเถาวัลย์ขึ้น-ลง  กระโดดระหว่างกิ่ง โดยไม่ห่วงว่าจะตกจากต้นไม้หรือสนใจว่ามีนักวิจัยกำลังแอบดูพวกมันตีกัน  บางขณะมันไล่กันไปมา ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกไล่ให้ไต่กิ่งต่ำลงมาอีกเแค่ ๓ เมตรก็จะถึงพื้น และอยู่ห่างจากนักวิจัยไม่เกิน ๕ เมตร พอให้มีเวลาสบตากันเสี้ยววินาที แล้วมันก็รีบปีนกลับขึ้นไปบนเรือนยอดเพื่อตั้งหลักและพร้อมสู้อีกรอบ

ถึงแม้จะชอบพฤติกรรมชะนีทะเลาะกัน แต่ฉันก็อยากบอกชะนีว่าอย่าตีกันบ่อย ๆ เพราะเราอาจจดข้อมูลไม่ทัน ถูกกิ่งไม้หรืออึชะนีร่วงใส่หัวโดยไม่ตั้งใจ เพราะชะนีมักอึเวลานั่งพักหลังจากไปวิ่งไล่กันมาแล้ว  ยิ่งหากเป็นชะนีสองครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะ ๆ โดยเฉพาะมีชะนีหนุ่มไฟแรงหลายตัว เราอาจแยกไม่ได้ว่าใครเป็นใคร

มีครั้งหนึ่งที่ครอบครัว A และ N ตีกัน มีชะนีเต็มวัยและวัยหนุ่มรุ่น ๆ รวมทั้งหมดหกตัว ครอบครัว A สีดำหนึ่งตัว และสีครีม สองตัว ขณะที่ครอบครัว N มีสีดำสามตัว  ลองจินตนาการดูสิว่าชะนีหกตัวไล่กันบนชั้นเรือนยอดจะสนุกสนานผสานกับความงงงวยขนาดไหน  หรือวันไหนที่ชะนีคึกมาก เพราะเกิดต้องป้องกันอาณาเขตแทบทุกทิศ พอตีกับครอบครัวทางตะวันออกเสร็จตอนเช้า สาย ๆ ตีกับครอบครัวทางเหนือ แล้วบ่าย ๆ ก็ตีกับครอบครัวฝั่งตะวันตก  ช่วงที่ชะนีเคลื่อนไปบนยอดไม้ราว ๕๐๐ เมตรโดยใช้เวลาไม่ถึง ๑๕ นาทีเพื่อไปตีกับครอบครัวอื่น เราก็ต้องละจากการจดข้อมูลแล้ววิ่งตามชะนีอย่างเดียวเพื่อไม่ให้ชะนีหาย

ขณะที่ชะนีตัวผู้ออกไปป้องกันอาณาเขต ชะนีตัวเมียและลูกมักอยู่เป็นแนวรับพร้อมจะล่าถอยหรือไปข้างหน้า แต่ลูกชะนีวัยเด็กอาจไม่สนใจพวกผู้ใหญ่ที่ไล่กันเท่าไร แต่กลับจับคู่กับลูกชะนีด้วยกันเล่นไล่จับกันเพลิน

พฤติกรรมที่เล่ามานี้เป็นการป้องกันอาณาเขต แต่หากชะนีต้องการเข้าไปหากินในเขตพื้นที่ครอบครัวอื่นก็ทำได้ ฉันเคยเห็นป้าแอนแอบลอบเข้าไปในพื้นที่ของครอบครัวอื่น มันจะไม่กระโดดให้เกิดเสียงดัง แต่ใช้วิธีไต่ไปตามเถาวัลย์ คืบคลานไปตามเรือนยอดอย่างเงียบเชียบแต่คล่องแคล่ว แล้วก็แอบกินผลไม้เป้าหมายจากนั้นก็รีบกลับเข้าพื้นที่ตัวเอง โดยไม่มีสายตาใครมองเห็นนอกจากสายตาของนักวิจัย  กรณีแบบนี้ฉันว่าต้องเป็นชะนีที่มีประสบการณ์มาก ๆ เท่านั้น และชำนาญพื้นที่อย่างดีทีเดียว

ส่วนใหญ่ผู้นำครอบครัวออกไปหากินตามพื้นที่มักจะเป็นตัวเมีย แต่ก็อาจขึ้นอยู่กับว่าตัวผู้หรือตัวเมียคุ้นเคยกับพื้นที่มากกว่ากัน เช่น ครอบครัว A ป้าแอนมีประสบการณ์และอายุมากกว่าก็มักจะเป็นผู้นำที่พาครอบครัวไปหาต้นอาหาร  แต่ในครอบครัว N “นิทัศน์” (Nithat) ซึ่งเป็นตัวผู้ที่เกิดและอาศัยในพื้นที่ N มักเป็นตัวนำแทนที่จะเป็นตัวเมีย

อาหารหลักของชะนีในรอบปี เป็นผลไม้สุกมากกว่าร้อยละ ๖๕ ซึ่งรวมถึงผลไม้ทั่วไป ผลไทร และผลไม้จากเถาวัลย์ โดยผลไม้ชนิดต่าง ๆ จะออกลูกและสุกแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน  ในฤดูแล้งทั้งช่วงที่อากาศหนาวเย็นและร้อนของป่าเขาใหญ่ (พฤศจิกายน-เมษายน) ผลของไทร (Ficus kurzii, Ficus nervosa) และเถาวัลย์ เช่น มะหลอด (Elaeagnus latifolia) หรือตีนตั่ง (Desmos dumosus) จัดได้ว่าเป็นผลไม้หลักของชะนีเลยทีเดียว

นอกจากผลไม้แล้วชะนียังกินใบไม้เป็นอาหาร รวมทั้งยอดอ่อนเถาวัลย์ประมาณร้อยละ ๒๕ กินแมลงประมาณร้อยละ ๘.๗  ไม่ว่าจะเป็นจักจั่น ตั๊กแตนกิ่งไม้ มด ปลวก ดักแด้ที่ซ่อนอยู่หลังใบไม้  พฤติกรรมที่บอกเราว่าชะนีกำลังกินแมลง คือมันจะต้องใช้มือตะปบแล้วเอาใส่ปากทันที  หากเป็นตั๊กแตนกิ่งไม้ตัวใหญ่ ชะนีจะงับส่วนหัวก่อน แล้วค่อยเคี้ยวส่วนอื่นตาม เหมือนเวลาเราแทะปีกไก่นอกจากอาหารจำพวกโปรตีนเหล่านี้ ยังเคยมีนักวิจัยเห็นป้าแอนแอบเคลื่อนที่ผ่านบริเวณชั้นเรือนยอดที่มีรังนกอยู่อย่างเงียบ ๆ แล้วหยิบไข่นกใส่ปาก  เราเลยมีบันทึกปรากฏการณ์ที่ชะนีกินไข่นกด้วย แต่ไม่บ่อยเท่ากับกินแมลง  ชะนีกินดอกไม้บ้างเหมือนกันคือประมาณร้อยละ ๑.๓ ในหน้าแล้ง เช่น ดอกยางเสียน (Dipterocarpus gracilis)

ช่วงเวลาตั้งแต่ชะนีตื่นนอนถึงเที่ยงจะเป็นช่วงที่ชะนีออกหากินเป็นหลักและพักผ่อนวนเวียนไปมาอยู่ในอาณาเขตของตัวเอง แต่ระยะทางที่ใช้ในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ชะนีต้องคำนึงถึง เช่น ฤดูกาล ชนิดอาหารที่มีในช่วงนั้น ๆ พลังงานที่จะสูญเสียในการเดินทางหาอาหาร และการไปป้องกันอาณาเขต

ชะนีมีความฉลาดในเรื่องการจดจำต้นอาหาร มันเคลื่อนที่ไปยังต้นอาหารอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่การเดาสุ่ม  นักวิจัย (Dr. Norberto Asensio ที่ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์วรเรณ) พบว่าชะนีจะเคลื่อนที่ไปเหมือนรู้ว่าการไปยังต้นผลไม้ประจำนั้นจะต้องเลี้ยวซ้ายตรงนี้ หรือเลี้ยวขวาตรงนั้น จึงจะถึงเป้าหมาย

พอพูดถึงพฤติกรรมชะนีโดยทั่วไปทีไรฉันก็อดไม่ได้ที่จะเล่าพฤติกรรมของป้าแอนที่มักเป็นข้อยกเว้น (แต่เป็นสิ่งที่เธอทำบ่อย ๆ) เวลาครอบครัว A เดินทางไปหากิน ป้าแอนจะออกนำไปก่อน โดยทั้งครอบครัวอาจมีต้นอาหารเป้าหมายไว้ในใจ แต่บางครั้งฉันก็เห็นว่าป้าแอนแอบเคลื่อนที่หายเข้าพุ่มเถาวัลย์รก ๆ หรือไต่ลงต่ำไปเงียบ ๆ โดยเจ้า “ชูส์” (Choos ตัวผู้ตัวปัจจุบันที่อยู่กับป้าแอน) ไม่รู้ แล้วป้าแอนก็จะเจอลูกเถาวัลย์สีส้มสดที่มีจำนวนไม่มากนัก เธอใช้มือหยิบเข้าปากอย่างเอร็ดอร่อยและจะไม่ส่งเสียงเลย ต่างจากปรกติที่เวลาชะนีเจออาหารแล้วได้กิน มันจะส่งเสียง ฮุ ฮุ ออกมาเบา ๆ เหมือนแสดงความพอใจ (คงเหมือนเวลาเรากินของอร่อยที่ถูกใจจนอดไม่ได้ที่จะเผลออุทานออกมา)  แต่ครั้งนี้ป้าแอนกินเงียบมาก จนเมื่อเจ้าชูส์ส่งเสียงร้องเรียกนั่นละ ป้าแอนถึงเคลื่อนที่กลับเส้นทางเดิม พร้อมส่งเสียงบอกว่าฉันอยู่นี่ แล้วก็พาชูส์ไปยังต้นอาหารเป้าหมายของครอบครัว โดยเจ้าชูส์ไม่รู้เลยว่าป้าแอนแอบไปกินอะไรมาตัวเดียว

 

๐๗.๐๐ น.  – เสียงร้อง

หลังจากอิ่มมื้อเช้าแรก คาสซานดราก็โหนขึ้นไปอยู่บนยอดไม้โดยมีเจ้าชัยตามไปอยู่บนกิ่งเดียวกัน ส่วนเจ้าโชคดีป้วนเปี้ยนโหนกิ่งไทรและกินลูกไทรเล่นอยู่ไม่ไกล  แล้วคาสซานดรากับเจ้าชัยก็เริ่มส่งเสียงร้องด้วยกันในช่วงแรกว่า “wa-wa-wa…” จนบางทีแยกไม่ถูกว่าเป็นเสียงร้องของตัวผู้หรือตัวเมีย  หลังจากอุ่นเครื่องได้สักพัก คาสซานดราก็เริ่มร้องโน้ตต่ำ ๆ จากโน้ตตัวแรกแล้วค่อย ๆ ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ จนขึ้นถึงโน้ตเสียงสูงสุดที่นักร้องโอเปร่าเท่านั้นทำได้ จากนั้นก็ลดระดับและจบลง  เราเรียกเสียงร้องแบบนี้ว่า “เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวเมีย” (female great call) หากตัวเมียนั้นมีคู่ ตัวผู้ก็จะรีบร้องตอบทันทีด้วยเสียงสั้น ๆ แต่เร็วกว่าตอนร้องเริ่มต้น  การร้องของทั้งตัวเมียและตัวผู้นี้รวมเรียกว่า

การร้องคู่ (vocal duet) เพื่อประกาศอาณาเขตและบอกครอบครัวชะนีอื่น ๆ ว่าสองเรานั้นคู่กันแล้ว ชะนีโสดตัวอื่นไม่ต้องเข้ามายุ่งการร้องคู่ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของการครองชีวิตคู่  แต่หากการร้องคู่ขาดประสิทธิภาพ เสียงร้องแสดงความอ่อนแอ ไม่ชัดเจน  ชะนีตัวอื่นอาจสนใจเข้ามาแย่งอาณาเขต หรือชะนีตัวผู้อาจเข้ามาแย่งตัวเมียจากคู่เดิมก็เป็นได้

เพราะฉะนั้นใครที่เข้าใจว่าชะนีร้อง “ผัว-ผัว” ความจริงมันออกเสียง “ว่ะ-ว่ะ” ต่างหาก และไม่ใช่ตัวเมียเท่านั้นที่ร้อง ชะนีร้องได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

ในตอนเช้ามืดบางครั้งเราจะได้ยิน “เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวผู้” (male solos) ร้องอยู่นาน โดยชะนีวัยหนุ่มที่ยังเป็นโสดอยู่จนเหมือนเป็นนาฬิกาปลุกเลยทีเดียว  ชะนีโสดเหล่านี้เลือกร้องเวลาเช้าก่อนที่พ่อแม่จะร้องด้วยกัน เพื่อแสดงให้ครอบครัวอื่น ๆ รู้ว่ามีชะนีโสดอยู่ที่นี่ แสดงให้เห็นว่าเป็นหนุ่มแน่น อยากมีคู่ก็ต้องตื่นเช้าและขยัน

เรื่องการร้องคู่กันนี้น่าสนใจมาก มีนักศึกษาปริญญาตรี (จักรกฤช คะชานันต์) ศึกษาเรื่อง “ความสัมพันธ์ของการผลิตเสียงร้องกับรูปแบบการจับคู่ที่แตกต่างกันในชะนีมือขาว” โดยเก็บข้อมูลดูว่าคู่ชะนีที่เคยเปลี่ยนคู่มาก่อน (เช่นเปลี่ยนตัวผู้หรือตัวเมีย) กับคู่ชะนีที่อยู่ด้วยกันแบบไม่เคยเปลี่ยนคู่ จะมีรูปแบบการร้องตอบโต้กันแบบไหน มีความแตกต่างกันหรือไม่  จากการศึกษาพบว่า คู่ชะนีมือขาวที่ผ่านการจับคู่มาก่อน คือเหมือนคนที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว มีความสามารถในการร้องประสานร่วมกันดีกว่าคู่ชะนีที่จับคู่กันเป็นครั้งแรก  เช่นตัวผู้จะเริ่มร้องตอบตัวเมียเร็วกว่าและร้องตอบนานกว่า ตัวเมียร้องเสียงโน้ตสูงสุดเวลาร้อง great call ก็ยาวกว่า ความแตกต่างนี้อาจเพราะประสบการณ์การร้องคู่ของชะนีที่ผ่านการจับคู่มาก่อน

นักวิจัยหรือนักท่องเที่ยวที่เดินป่ามักได้ยินเสียงชะนีร้องในช่วงเวลาเช้าไปจนถึงสาย ๆ  ในวันที่อากาศแจ่มใส เสียงชะนีจะดังก้องป่าได้ยินไปไกล  สำหรับฉันที่ทำวิจัยเกี่ยวกับชะนีในเขาใหญ่มานาน ได้ยินเสียงชะนีเป็นประจำจนคุ้นเคยเหมือนมีเพื่อนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่รู้สึกเงียบเหงาเลย บางครั้งไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้คนเดียว พอได้ยินเสียงป้าแอนร้องก็รู้สึกอุ่นใจ แต่ฉันมักจะแอบบ่นเจ้าชูส์สามีป้าแอนในใจว่าไม่ค่อยจะร้องตอบป้าเลย  ครอบครัวนี้ถือเป็นข้อยกเว้นของการศึกษาเรื่องเสียงข้างต้น

เสียงชะนีที่ได้ยินขณะทำงานในป่าทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะต้องโทร.กลับมาหาแม่หรือเพื่อน ๆ เพราะอยากให้พวกเขาได้ยินเสียงชะนีเหมือนเราด้วย

จากการศึกษาเราพบว่าการร้องของชะนีมีหลากหลายเสียงและนับว่ามีความพิเศษและซับซ้อนมาก ใช้ทำหน้าที่เพื่อสื่อสารแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะประกาศอาณาเขต กระชับความสัมพันธ์ ร้องหาคู่ ร้องตามหาพ่อแม่ ร้องเรียกลูก หรือร้องเตือนภัย ก็เหมือนกับที่คนเปล่งเสียงได้และมีภาษาพูดไว้ติดต่อสื่อสารกัน  การร้องของชะนีเป็นผลจากพันธุกรรม ประกอบกับอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คือการเลี้ยงดูจากแม่และพ่อ  เมื่อลูกชะนีได้ยินเสียงร้องจากพ่อแม่ก็จะฝึกร้องให้ถูกต้องตามเพศของตัวเอง คงเหมือนกับคนเราที่เกิดมาพูดได้ เปล่งเสียงได้ แต่จะพูดให้รู้เรื่องและถูกต้องก็ต้องได้ยินภาษาคนที่ถูกต้องเสียก่อนถึงจะพูดและสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง

นอกจากนี้ชะนีแต่ละชนิดยังมีเสียงร้องแตกต่างกันออกไป ทำให้นักวิจัยสามารถใช้เสียงร้องจำแนกชนิดและประเมินจำนวนประชากรชะนีในแต่ละพื้นที่ได้

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยชะนีในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับเสียงชะนีนั้นมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว โดยนักวิจัยที่ทำวิจัยเรื่องชะนีในธรรมชาติมายาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบันก็คือ ศาสตราจารย์ ดร. วรเรณ บรอคเคลแมน (Prof. Dr. Warren Y. Brockelman) ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดลและนักวิจัยของหน่วยปฏิบัติการนิเวศวิทยา ศูนย์ทรัพยากรชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

อาจารย์วรเรณเล่าว่าคนที่ทำให้อาจารย์รู้จักชะนีในธรรมชาติคือ Dr. Joe T. Marshall ซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เก่งมาก (เก่งทั้งด้านนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  Dr. Marshall สนใจเรื่องเสียงร้องของชะนีซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยแยกชนิดพันธุ์ของชะนีได้  อาจารย์วรเรณและ Dr. Marshall เริ่มต้นงานวิจัยชะนีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างจริงจังในปี ๒๕๑๖ และพบว่ามีเสียงร้องของชะนีแตกต่างกันสองชนิด คือ ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus) และชะนีมือขาว  แต่ที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์ยังได้ยินเสียงชะนีลูกผสมที่มีเสียงร้องต่างไปจากชะนีทั้งสองชนิดด้วย เช่น ชะนีลูกผสมตัวเมียจะร้อง great call เริ่มต้นเชื่องช้าโดยไต่ระดับโน้ตไปเรื่อย ๆ เหมือนชะนีมือขาว แต่จบลงด้วยเสียงรัวเร็วที่เรายากจะเลียนแบบเหมือนชะนีมงกุฎ

ผลจากการศึกษาเรื่องเสียงชะนีทำให้ทราบว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นหนึ่งในสามพื้นที่ในโลกเท่านั้นที่พบการผสมข้ามสายพันธุ์ของชะนีตามธรรมชาติ (natural hybridization) เพราะปรกติเราพบการผสมข้ามสายพันธุ์ของชะนีส่วนใหญ่ในกรงเลี้ยง  ส่วนในธรรมชาติมีเพียงสามพื้นที่เท่านั้น โดยแห่งแรกคือป่าบนเกาะบอร์เนียว พบการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างชะนีมุลเลอร์ (Hylobates muelleri) กับชะนีมือดำ (Hylobates agilis) แห่งที่ ๒ บนคาบสมุทรมาเลเซีย ระหว่างชะนีมือดำกับชะนีมือขาว และแห่งที่ ๓ คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชะนีมือขาวกับชะนีมงกุฎ

อาจารย์วรเรณเคยเล่าประสบการณ์สมัยที่มาทำวิจัยที่เขาใหญ่ใหม่ ๆ ไว้ว่า

“ผมเคยมาอัดเสียงชะนีในพื้นที่ทับซ้อนของชะนีมงกุฎและชะนีมือขาว สมัยก่อนต้องใช้เครื่องอัดเสียงที่ยังเป็นเทปอยู่ แต่สมัยนั้นก็จัดว่าราคาสูง เพราะมีขนาดเล็กแบบที่เขาใช้สอดแนม(Miniature Swiss Nagra SN recorders โดยใช้ร่วมกับไมโครโฟนอย่างดี (Sennheiser ‘shortgun’ microphone)  แต่การอัดเสียงชะนีที่ไม่คุ้นเคยกับนักวิจัยนั้นทำได้ยากมาก หากชะนีเห็นหรือได้ยินเสียงเดินบนใบไม้แห้ง พวกมันก็จะทำเสียงเตือนภัยนิดหน่อยแล้วรีบหลบหายไปตามชั้นเรือนยอดทันที ซึ่งก็จะทำให้การอัดเสียงในวันนั้นพลาดไปหมด ทำให้ช่วงเวลานั้นผมต้องเรียนรู้ศิลปะของการใช้อุปกรณ์อัดเสียง ควบคู่ไปกับศิลปะการอัดเสียงชะนีที่ไม่คุ้นเคยกับมนุษย์อย่างผมไปด้วย”

เสียงชะนีในธรรมชาติที่อาจารย์อัดเสียงไว้มีคุณภาพดีมาก  ปัจจุบันไฟล์เสียงเหล่านั้นถูกเก็บไว้ที่ Macaulay Library of Natural Sounds, Laboratory of Ornithology มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา (หากใครสนใจฟังเสียงชะนีในธรรมชาติผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าไปฟังได้ที่ macaulaylibrary.org)

สมัยแรก ๆ ที่นักวิจัยเก็บข้อมูลเรื่องเสียงชะนีที่เขาใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ  นักวิจัยจะต้องรู้ว่ามีประชากรชะนีอยู่พื้นที่ไหนบ้าง พอเลือกพื้นที่ได้ก็ต้องเข้าไปตั้งแคมป์ในป่าแล้วเก็บข้อมูลอยู่ในป่าไปจนกว่าเสบียงจะหมด  เริ่มการศึกษาด้วยการสำรวจพื้นที่ก่อน และฟังเสียงชะนีว่าชะนีร้องบริเวณไหนเพื่อติดตามเสียงไปให้เจอตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชะนีสมัยนั้นยังไม่คุ้นเคยกับมนุษย์นักวิจัยเลย  บางครั้งนักวิจัยเห็นชะนีตัวหนึ่งแล้วติดตามชะนีตัวนั้นไปอย่างเงียบที่สุด แต่กลับมีสมาชิกตัวอื่นๆ เห็นนักวิจัยเข้า (เหมือนเราถูกแอบซุ่มมองอยู่เช่นกัน) ก็เลยร้องเตือน ชะนีก็จะพากันหายไปทั้งครอบครัว นักวิจัยก็จะไม่ได้ข้อมูลใด ๆ

เมื่อพูดถึงการศึกษาชะนีที่ไม่คุ้นเคยกับนักวิจัย ฉันจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนที่เรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะนีครอบครัว M อาจารย์วรเรณอยากไปดูและฉันก็ขอติดตามไปด้วย  เมื่อเราได้ยินเสียงชะนี เราก็รีบเดินตามอย่างรวดเร็ว พอไปถึงพื้นที่ เราเห็นชะนีสีครีมแว่บ ๆ และเห็นมันกระโดดหายเข้าไปบนยอดไม้ตรงหน้า เราคาดว่าชะนีจะออกมาในไม่ช้า แต่ผิดถนัด เรารอนานมากกว่าชั่วโมงเหมือนกำลังทำสงครามฝึกความอดทนกันอยู่  สุดท้ายพวกเราก็ต้องยอมแพ้ถอยกลับ  วันนั้นฉันเลยถูกอาจารย์แกล้งติ “ว่าเดินเสียงดังกว่าช้างอีก” (แหม ช่วงนั้นใบไม้มันแห้งเต็มป่าเลยค่ะอาจารย์) แต่นับจากวันนั้นเวลาเดินป่าฉันยังระลึกเสมอว่าต้องพยายามเดินให้เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้

พอเริ่มคุ้นเคยกับการตามครอบครัวชะนี และรู้ว่าชะนีแต่ละครอบครัวอยู่ตรงไหน ก็มาถึงขั้นตอนที่ต้องใช้พลังงานมาก คือการสร้างเส้นทางศึกษาชะนีในป่า โดยใช้มีดสนามตัดกล้าไม้ และผ่าดงหนามหวายแหลมคมให้เป็นเส้นทางเล็ก ๆ  บางแห่งก็อาจใช้ทางเดินปรกติของช้างหรือเป็นด่านสัตว์ที่มีอยู่แล้ว  นอกจากนั้นนักวิจัยก็ต้องสร้างแผนที่ด้วยเข็มทิศและตลับเมตร โดยมีคนเล็งเข็มทิศและดึงตลับเมตรวัดระยะนำทางไปก่อน และคนที่ ๒ ก็จะลุยตัดทางตามไป พร้อมกับตะโกนบอกข้อมูลกันเป็นระยะ ๆ

การเก็บข้อมูลในป่ายังต้องเผชิญอุปสรรคจากธรรมชาติ ทั้งฝนตกหนัก ไม้ใหญ่ล้ม  สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นช้าง เสือโคร่ง รวมถึงสัตว์เล็ก ๆ อย่างทากดูดเลือด  มีเรื่องตลกอยู่เรื่องหนึ่งว่า พวกเราที่เป็นนักศึกษาและทำวิจัยรุ่นหลัง ๆ ชอบมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพื้นที่ศึกษา เช่นชื่อเส้นทางเดินแต่ละเส้นมีที่มาจากอะไร อย่างเช่นเส้นทาง L เราก็พยายามเดาไปต่าง ๆ นานาว่า L อาจย่อมาจาก Long หรือชะนีครอบครัว L แต่จริง ๆ แล้ว  L มาจาก “Leeches” คือทากดูดเลือดนั่นเอง  ทุกวันนี้ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราจะไม่ต้องบริจาคเลือดให้ทากเหมือนกับเป็นค่าผ่านทางบนเส้นทางนี้เลย  กว่าจะได้ข้อมูลหรือสามารถเริ่มเก็บข้อมูลที่นักวิจัยต้องการตอบโจทย์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการทำความรู้จักทั้งกับสัตว์และพื้นที่

สำหรับพื้นที่มอสิงโตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้นมีประชากรชะนีมือขาวอยู่อย่างหนาแน่น อาจารย์วรเรณได้สนับสนุนให้ Dr. Jeremy และ Dr. Patricia Raemaekers นักวิจัยชาวอังกฤษเข้ามาทำการศึกษาชะนีในพื้นที่เมื่อปี ๒๕๒๔ และพบว่ามีชะนีประมาณสี่ครอบครัวต่อพื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร  Dr. Jeremy และ Dr. Patricia เขียนเรื่องราวไว้ในหนังสือ The Singing Ape : A journey to the jungles of Thailand (ตีพิมพ์ปี ๒๕๓๓)  บรรยายเรื่องราวสาระความรู้และความตื่นเต้นในการทำงานวิจัยชะนีกว่า ๒๐๐ วันในป่าเขาใหญ่  มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความคุ้นเคยกับพื้นที่ ไม่รู้ว่ามีชะนีอยู่กี่ครอบครัว อยู่ตรงไหนบ้าง ต้องทำเส้นทางศึกษา ทำแผนที่ และต้องใช้ชีวิตค้างแรมในป่า และที่สำคัญให้ชะนีคุ้นเคยกับนักวิจัย

ทั้งคู่ได้พบครอบครัวชะนี โดยตั้งชื่อให้แก่ครอบครัวแรกว่าครอบครัว A  ชะนีในครอบครัว A ทุกตัวก็จะมีชื่อนำหน้าขึ้นต้นด้วย A  และตั้งชื่อครอบครัวอื่น ๆ ที่พบไปตามลำดับตัวอักษร เช่น B, C, E, F, M, N, R เป็นต้น  ในปี ๒๕๒๔ ครอบครัว A มีสมาชิกทั้งหมดสี่ตัว ได้แก่ Achille ตัวพ่อสีครีม  Andromeda (ป้าแอน) ตัวแม่สีครีม  Ajax ลูกชายวัยรุ่นสีดำ  และ Actionbaby ลูกทารกสีครีมที่ยังเกาะอกแม่อยู่  ชะนีแต่ละตัวจะได้รับการตั้งชื่อโดยนักวิจัยที่พบชะนีตัวนั้นเป็นคนแรก ชื่อชะนีจึงมีทั้งภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย แล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้เจอชะนี  ส่วนใครจะเลือกชื่อนั้นมาด้วยเหตุผลใด ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่บางชื่อก็พอจะคาดเดาได้ เช่น “เฟียร์เลส” (Fearless) ชะนีหนุ่มจากครอบครัว F เพราะนิสัยที่ไม่ค่อยกลัวนักวิจัยนัก

กว่า ๓๐ ปีในการศึกษาครอบครัวชะนีอย่างต่อเนื่อง ตัวละครที่โลดแล่นในอดีตก็ยังปรากฏตัวอยู่ถึงปัจจุบัน บางครอบครัวและสมาชิกบางตัวก็หายไปจากพื้นที่ หรือมีครอบครัวใหม่เพิ่มเข้ามาโดยการแทนที่  ทุกวันนี้ป้าแอนก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ครอบครัว A แต่สมาชิกตัวอื่น ๆ ได้จากเธอไปแล้ว ขณะที่มีสมาชิกใหม่ ๆ เปลี่ยนหน้ามาอยู่กับเธอแทน  ชูส์ (Choos) ชะนีหนุ่มตัวผู้จากครอบครัว C ที่อ่อนกว่าเธอหลายปีก็นับเป็นตัวผู้ตัวที่ ๔ แล้วที่มาจับคู่กับป้าแอน  ถ้านับจากปี ๒๕๒๔ ซึ่งนักวิจัยเริ่มรู้จักครอบครัว A ตอนนั้นป้าแอนมีลูกวัยหนุ่มและมีลูกทารกเกาะอกอีกตัว คาดว่าอายุน้อยสุดที่เป็นไปได้ของเธอคือประมาณ ๑๘ ปี  ดังนั้นปัจจุบันเธอน่าจะมีอายุเกือบ ๕๑ ปีแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชะนีในธรรมชาตินั้นมีอายุยืนยาวมากกว่าที่เราเข้าใจกันมา

นับจากวันที่อาจารย์วรเรณได้เริ่มต้นศึกษาชะนีที่เขาใหญ่ก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้มีการศึกษาชะนีในธรรมชาติมากขึ้น  อาจารย์วรเรณได้สร้างลูกศิษย์หลายคนและหลายรุ่นให้สนใจศึกษาชะนีในธรรมชาติ เช่น รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร นั้นเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกและเป็นผู้ศึกษาชะนีมงกุฎในธรรมชาติเป็นคนแรก  คุณอุทัย ตรีสุคนธ์ ลูกศิษย์รุ่นที่ ๒ ที่ศึกษาชะนีมือขาวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และรุ่นพี่อีกหลายต่อหลายคน จนมาถึงรุ่นฉันก็ตั้งใจอย่างจริงจังว่าจะทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับชะนีนี้ต่อไป

ปัจจุบันงานวิจัยชะนีที่เขาใหญ่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิเวศวิทยาและโครงสร้างทางสังคมของชะนี การเจริญเติบโตของลูกชะนี ความสัมพันธ์ในครอบครัว การใช้พื้นที่หากิน และการกระจายเมล็ดพืชโดยชะนี  แม้จะยังไม่มีการประเมินจำนวนประชากรชะนีจริง ๆ ที่อยู่ในป่าเขาใหญ่ แต่จากข้อมูลของนักวิจัยเยอรมันระหว่างปี ๒๕๓๕-๒๕๔๙ พบว่าจากบริเวณพื้นที่มอสิงโตถึงคลองอีเฒ่า ประมาณ ๑๓ ตารางกิโลเมตร พบชะนีทั้งหมดประมาณ ๕๐ ครอบครัว ในจำนวนนั้นมีชะนีที่เราติดตามและคุ้นเคยดีอยู่ ๙ ครอบครัว

กว่า ๔๐ ปีซึ่งมีนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ (สหรัฐ-อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสเปน) กว่า ๓๐ คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

เราอาจพูดได้ว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีชะนีเขาใหญ่เป็นอาจารย์

gibbon03ชะนี วานรประจำภูมิภาคเอเชีย

ชะนี (Gibbon) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับไพรเมต (Order Primate) และอยู่ในวงศ์ไฮโลบาทิดี (Family Hylobatidae) จัดเป็นวานรขนาดเล็ก (Lesser Apes) คือพวกไม่มีหาง มีขนาดเล็กถึงกลาง มีรูปร่างเพรียว อกกว้าง มีแขนที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขาที่ค่อนข้างสั้น มีใบหน้าแบน มีฟัน ๓๒ ซี่และมีฟันเขี้ยวที่ยาวมาก

ชะนีมีการกระจายทั่วไปในป่าที่สมบูรณ์ ทั้งป่าที่ราบต่ำ และป่าบนภูเขา ไม่ว่าจะเป็นป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง โดยพบชะนีกระจายในภูมิภาคเอเชียใต้ ตั้งแต่บังกลาเทศ และแคว้นอัสสัมทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมาเลเซีย รวมถึงมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน และเกาะไหหลำ  นอกจากนั้นชะนียังกระจายอยู่ตามเกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกซุนดา (Sunda Shelf) ซึ่งอยู่ในเขตประเทศมาเลเซีย ได้แก่ รัฐซาบาห์บนเกาะบอร์เนียว ในเขตประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ รัฐกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียว เกาะชวา เกาะสุมาตรา และเกาะเมนทาไว

ปัจจุบันชะนีในโลกมีทั้งหมด ๔ สกุล ๑๙ ชนิดพันธุ์  ชะนีที่พบในเมืองไทยมี ๒ สกุล ๔ ชนิด

๑. ชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดา  ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylobates lar  ชื่อสามัญ White-handed gibbon, Lar gibbon, Common gibbon  ตัวผู้และตัวเมียมีขนสีดำหรือสีครีม  พบกระจายในป่าภาคเหนือ ป่าภาคตะวันตกถึงใต้ และป่าภาคตะวันออก
๒. ชะนีมงกุฎ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylobates pileatus  ชื่อสามัญ Pileated gibbon, Capped gibbon  ตัวผู้สีดำ ตัวเมียสีครีมถึงสีน้ำตาลอ่อนถึงเทา  พบกระจายในป่าภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้
๓. ชะนีมือดำ  ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylobates agilis  ชื่อสามัญ Dark-handed gibbon, Agile gibbon  ตัวผู้และตัวเมียมีขนสีดำ  พบกระจายในป่าชายแดนไทย-มาเลเซีย ฮาลา-บาลา บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
๔. ชะนีดำใหญ่หรือไซแมง  ชื่อวิทยาศาสตร์ Symphalangus syndactylus  ชื่อสามัญ Siamang  ตัวผู้และตัวเมียมีขนสีดำ  พบกระจายในป่าตอนใต้ชายแดนไทย-มาเลเซีย บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

 

๐๘.๐๐ น. - ครอบครัว

หลังจากเจ้าชัยและคาสซานดราร้องเสร็จ มันก็กลับมากินลูกไทรต่อ  ตามปรกติชะนีจะใช้เวลาช่วงเช้ากินอาหารเป็นหลัก โดยเวียนไปตามต้นไม้ที่ออกผล แต่ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาว ไทรจึงเป็นอาหารหลักของพวกมัน รวมทั้งดอกยางเสียนและยอดไม้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน

เมื่อกินอิ่ม ครอบครัวชะนีก็จะใช้เวลาอยู่ร่วมกันโดยปีนขึ้นไปบนกิ่งไม้ใหญ่ที่พอเหมาะ ตัวเมียมักช่วยทำความสะอาดขนให้ตัวผู้ก่อน  คาสซานดราใช้มือทั้งสองจัดเรียงขนเจ้าชัยให้เป็นระเบียบซึ่งจะช่วยให้ขนไม่จับเป็นก้อนและเป็นโรคผิวหนัง  เจ้าชัยพลิกตัวไปมาอยู่หลายท่าทีเดียว ทั้งหันหลังให้ นอนหงาย เอาหัวพาดขาเมียอย่างสบายใจ จนในที่สุดคาสซานดราคงอยากให้ชัยแปรงขนให้บ้างเลยหยุดซะดื้อ ๆ และหันหลังเบียดให้ชัยบ้าง  เจ้าชัยนั้นจัดเป็นตัวผู้ที่น่ารักทีเดียวเพราะมันก็ไม่เคยปฏิเสธเมียมันเช่นกัน  ในบางครอบครัวชะนีตัวเมียอย่างป้าแอนไม่เคยแปรงขนให้ตัวผู้เลย แต่อ้อนให้ตัวผู้แปรงขนให้ หากตัวผู้ต้องการการดูแลกลับบ้างเธอก็จะเปลี่ยนท่าและเคลื่อนย้ายไปกิ่งอื่นทันที

ช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างชะนีพ่อแม่นี้ทำให้ลูกชายตัวเล็กขอมามีส่วนร่วมด้วย ทั้งพ่อทั้งแม่ก็จะช่วยทำความสะอาดขนให้ลูก ส่วนลูกก็ได้เรียนรู้การทำความสะอาดขนโดยฝึกทำให้พ่อแม่บ้าง แต่แป๊บเดียวเจ้าชะนีน้อยก็กระโดดไปเล่นฝึกห้อยโหนต่อ

การศึกษาชะนีมือขาวอย่างต่อเนื่องที่เขาใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปีทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของชะนีมือขาวมากขึ้น  เข้าใจว่าลักษณะสังคมหรือครอบครัวชะนีนั้นแตกต่างจากเอป (Apes) อื่น ๆ ที่มีตัวผู้จ่าฝูงผสมพันธุ์กับตัวเมียหลาย ๆ ตัวและมีสมาชิกในฝูงจำนวนมาก แต่จะใกล้เคียงกับครอบครัวของคนมากกว่า เช่น การมีครอบครัวขนาดเล็ก เรียบง่าย การเลี้ยงดูลูก การแยกออกไปมีครอบครัวของลูกที่โตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นต้น

สมาชิกในครอบครัวเล็ก ๆ (สองถึงหกตัว) นี้มักประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกวัยหนุ่มสาว ลูกวัยรุ่น วัยเด็ก และวัยทารกที่ยังเกาะอกแม่อยู่  ฉันเคยไปศึกษาชะนีครอบครัว N ซึ่งมีสมาชิกครบทุกรุ่น แถมยังมีปู่อยู่ในครอบครัวด้วย นับเป็นครอบครัวที่ครึกครื้นมาก ๆ

ปรกติแล้วชะนีตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ ๗ เดือน และสามารถมีลูกใหม่อีกรอบทุก ๆ ๓ ปีครึ่ง เพราะว่าลูกวัยทารกนั้นจะอยู่เกาะอกและต้องอยู่กับแม่จนถึง ๒ ปี  เมื่อลูกเริ่มเคลื่อนที่เองได้บ้าง พ่อและพี่ ๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมดูแลลูกเล็กและน้อง  เมื่อหย่านมและออกจากอกแม่ ลูกชะนีต้องหาอาหารกินเองโดยมักจะตามก้นแม่เป็นหลัก

เวลาไปตามชะนีแม่ลูก ฉันมักรู้สึกว่ามันช่างเหมือนพวกเรามาก ๆ  ตอนลูกเล็ก ๆ ยังช่วยตัวเองไม่ได้แต่อยากออกจากอกแม่ไปเล่นซนบ้าง แม่ก็จะต้องคอยจับตัวไว้  พอเริ่มโตเคลื่อนที่เป็นอิสระได้บ้างกลับมักจะคอยตามแม่ เมื่อถึงช่วงเวลาหย่านม แม่ก็จะพยายามให้ลูกออกจากอกเคลื่อนที่ไปบนเรือนยอดด้วยตัวเอง  ช่วงนี้ฉันมักได้ยินเสียงลูกชะนีร้องเสียงเล็กแหลมประท้วงงี้ด ๆ อยู่ตลอด เพราะลูกชะนีวัยนี้ยังร้องเหมือนชะนีทั่วไปไม่ได้  เคยมีครั้งหนึ่งที่เจ้าลูกชะนีเกาะอกแม่จนมาถึงต้นไม้ใหญ่ มันก็ออกจากอกแม่ไปหากินและกระโดดเล่นไปมา โดยไม่รู้ว่าแม่มันเคลื่อนที่ย้ายไปต้นอื่นแล้ว พอรู้ตัวอีกทีมันเลยร้องเรียกแม่และร้องอยู่นานมาก ครั้งนี้ได้ผล แม่ชะนียอมกลับมารับลูก แต่ครั้งต่อไปเจ้าลูกชะนีคงต้องพยายามด้วยตัวเอง

ในครอบครัวชะนีที่มีลูกตัวเดียวและถ้าเป็นลูกชาย ลูกจะชวนพ่อเล่นดึงขา กอดปล้ำบ้าง แต่สักพักพ่อชะนีก็อยากใช้เวลากับแม่ เลยทำเป็นไม่สนลูกแล้ว เจ้าลูกชะนีก็ต้องหาเพื่อนเล่นเป็นสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ขนาดพอ ๆ กัน เช่น พญากระรอกดำ

นอกจากจะเป็นเวลาพักผ่อนของชะนีแล้ว นักวิจัยอย่างเราก็เลยมีโอกาสกินข้าวเช้าและของว่างที่เตรียมมา

วันนี้ชะนีใจดีมากอยู่ที่ต้นเดิมนาน เลยทำให้ไม่ต้องถือกล่องข้าววิ่งตามชะนีไปด้วยกินข้าวไปด้วย เพราะชะนีนั้นมีทั้งแบบชะนีขยันและชะนีขี้เกียจ  แบบชะนีขยันคือเราแทบไม่มีเวลาหยุดพักเกิน ๑๐ นาที เพราะพวกมันจะกระตือรือร้นมาก ทั้งร้องทั้งเคลื่อนที่ไปหากิน เคลื่อนที่ไปตีกับครอบครัวอื่น ๆ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะ ๆ และมีลูกชาย  เราได้แต่คิดในใจว่าเมื่อไรจะหยุดวิ่ง พักได้แล้ว ขึ้นเขามาสองลูกแล้วนะ  แต่แบบชะนีขี้เกียจช่วงเดือนธันวาคมที่อากาศหนาวมาก ชะนีก็แทบไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย นอกจากปีนไปอยู่บนเรือนยอดสูงลับตาเพื่ออาบแดดตอนเช้า พร้อมทำความสะอาดขนให้กัน ปล่อยให้พวกเรานั่งหนาวรอคอยอยู่ด้านล่างเกือบ ๒ ชั่วโมง

 

๑๐.๓๐ น.  – เล่นสนุก

วันนี้คาสซานดราเคลื่อนที่ออกไปจากต้นก่อน ไปทางทิศตะวันตกที่มีต้นสุรามะริด (Cinnamomum subavenium) ซึ่งยังพอมีลูกอยู่บ้าง จากนั้นเจ้าโชคดีและชัยก็ตามมาไล่เลี่ยกัน  ฉันเดินตามหลังขบวนคอยตามเจ้าชัย เพราะชอบที่มันดูเป็นชะนีที่มีความกล้า และดูแข็งแรงมากทีเดียว  ขนที่หน้าและลำตัวฟู มีกล้ามเนื้อที่ต้นแขนและขาดูบึกบึนมาก ถือว่าเป็นชะนีที่หล่อตัวหนึ่งทีเดียว

เจ้าโชคดีคงได้พันธุกรรมที่ดีจากพ่อ เพราะมันเป็นลูกชะนีที่แข็งแรง แคล่วคล่องว่องไวมาก และไม่เคยแสดงท่าทางกล้า ๆ กลัว ๆ ในการกระโดดตามพ่อของมันเลย

ชะนีแต่ละตัวมีใบหน้าไม่เหมือนกัน คล้าย ๆ กับคนเรา บางตัวหน้าเรียว บางตัวหน้าเหลี่ยม หรือบางตัวหน้าเป็นใบโพธิ์  ชะนีมีหนังที่หน้าสีดำและมีวงรอบใบหน้าเป็นขนสีขาว โดยเราสามารถแยกแยะใบหน้าแต่ละตัวได้จากขนรอบใบหน้า ถ้าชะนีมีอายุเพิ่มมากขึ้น ขนสีขาวบนหน้าก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นป้าแอนตอนนี้เธอแทบไม่มีขนสีขาวหลงเหลืออยู่รอบใบหน้าเธอเลย  สำหรับคนทั่วไป การแยกแยะชะนีอาจฟังดูยาก แต่ถ้าใช้เวลาสัก ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ติดตามชะนีอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เราคุ้นเคยจนสังเกตและจดจำชะนีแต่ละตัวได้

ช่วงสาย ๆ ชะนีมักเดินทางไปตามเรือนยอด หยุดพักหากิน ทำความสะอาดขนให้กัน  ในครอบครัวชะนีที่มีลูกเล็ก ๆ หากไม่มีพี่น้องให้เล่นด้วย เจ้าลูกชายก็จะชักชวนพ่อให้เล่นด้วยโดยการโหนไล่ ดึงแขนขา ตีหัว หรือบางทีก็มวยปล้ำกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอย่างสนุก  ที่ฉันรู้ว่ามันสนุกเพราะเจ้าโชคดีจะส่งเสียงร้องด้วยความเมามัน  ภาพที่มีชีวิตชีวาเหล่านี้ทำให้คนตามชะนีสนุกไปด้วย แต่ก็ต้องคอยหลบและระวังไม่ไปยืนใต้ต้นไม้ที่ชะนีกำลังเล่นกัน เพราะครั้งหนึ่งฉันเคยเห็นชะนีพี่น้องเล่นกันเลยพยายามเข้าไปดูใกล้ ๆ ปรากฏว่าด้วยความเมามันของพวกมัน ทำให้กิ่งไม้ตกใส่หัวคนเก็บข้อมูลอย่างจัง  ดีที่เป็นกิ่งไม้แห้งขนาดไม่ใหญ่มาก

การเล่นของชะนีเป็นพฤติกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญให้ลูกชะนี ทั้งเรื่องการเคลื่อนที่ และการหาอาหารบนยอดไม้  มันเริ่มเล่นตั้งแต่ยังเป็นวัยทารกเกาะอกแม่อยู่เลยทีเดียว แม้ปากจะดูดนมแม่เอามือข้างหนึ่งเกาะอก แต่อีกมือก็อดไม่ได้ที่จะไขว่คว้ากิ่งไม้หรือใบไม้มาเล่น  มันดูตลกดีเวลาเราเห็นแม่ชะนีนั่งพักกินผลไม้แล้วเห็นเหมือนกิ่งไม้เล็ก ๆ ดำ ๆ โผล่ชี้ไปทางโน้นทีทางนี้ทีออกมาจากท้องแม่ชะนี แต่หากมองดูดี ๆ จะเห็นว่านั่นเป็นแขนเล็กที่มีขนเล็กน้อยปกคลุมของลูกชะนีทารกที่ยื่นออกมา

เมื่อชะนีเริ่มโตพอที่จะเคลื่อนที่เองได้ คราวนี้ลูกชะนีจะยิ่งสนุก ไม่ว่าจะฝึกไต่กิ่งไม้เอง หรือเล่นกับพี่น้อง ยิ่งโตมากก็จะเล่นรุนแรงขึ้น อย่างเช่นครอบครัว T มีลูกสาวที่เริ่มโตเป็นสาวแล้ว (subadult) และเจ้า “แทน” (Tan) ลูกชายวัยรุ่น (adolescent) มักจะชอบใช้เวลาเล่นกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะกอดรัด กัด ดึงขา ตีหัว รวมถึงโหนไล่กันไปมา ซึ่งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อแขนขาและทักษะการเคลื่อนที่ของชะนีทุกท่า ไม่ว่าจะเป็นการห้อยโหน การกระโดดระหว่างต้น การเดินบนกิ่งไม้ หรือการปีนต้นไม้หรือเถาวัลย์

เวลาลูกชะนีเล่นกันก็ไม่ต่างไปจากเวลาชะนีป้องกันอาณาเขต เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่า  เวลาน้องชะนีเหนื่อยมันจะวิ่งไปหาพ่อแม่ พอหายเหนื่อยก็เข้ามาแหย่พี่เพื่อชวนเล่นอีก บางทีเล่นกันรุนแรง ไล่กันลงมาจนเกือบถึงพื้น พอนึกได้ก็รีบปีนกลับขึ้นไปบนชั้นเรือนยอดใหม่

หรือบางครั้งฉันเคยเห็นเจ้า “ทอง” (Thong) ลูกชายวัยเด็ก (juvenile) อีกตัวเล่นอยู่ตัวเดียว โดยปีนขึ้นไปบนยอดไม้สูง ๆ แล้วกระโดดทิ้งตัวลงมายังซุ้มเถาวัลย์ที่ต่ำกว่า มันคงชอบมาก เพราะฉันเห็นมันวนเวียนกระโดดลงมาแล้วปีนขึ้นไปใหม่รอบแล้วรอบเล่า

 

๑๒.๐๐ น.  – จับคู่

หลังจากคาสซานดราและชัยใช้เวลาที่ต้นสุรามะริด และอิ่มอีกรอบ ทั้งคู่ก็เคลื่อนไปที่ต้นไม้ใหญ่เลือกกิ่งที่มีแดดแล้วเจ้าชัยก็เอนตัวบนกิ่งอย่างสบายใจมีเมียและลูกมาทำความสะอาดขนให้

ครอบครัวอบอุ่นแบบนี้ แต่เจ้าชัยก็ไม่ใช่สามีตัวแรกของคาสซานดรา

ย้อนไปในปี ๒๕๔๗ “คาสสิอุส” (Cassius) ชะนีตัวผู้รุ่น C0 ซึ่งหมายถึงชะนีรุ่นแรกที่พบและศึกษา ที่จับคู่อยู่กับคาสซานดรามาอย่างยาวนานในครอบครัว C โดนเจ้าชัยชะนีตัวผู้หน้าใหม่ที่ไม่รู้ที่มาขับไล่และจับคู่อยู่กับคาสซานดราแทน ครั้งนั้นคาสสิอุสบาดเจ็บเยอะเหมือนกัน มันเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้เลยอยู่หลายวัน จนกระทั่งหายดีมันก็ย้ายไปอยู่กับลูกชาย “คริสโตเฟอร์” ที่มาอยู่กับป้าแอนในครอบครัว A ตอนนั้น

แม้ชะนีจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์แบบหนึ่งตัวผู้หนึ่งตัวเมีย พูดแบบชาวบ้านก็คือผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) แต่หากดูจากกรณีตัวอย่างของครอบครัว C ชะนีตัวผู้หรือตัวเมียก็อาจเปลี่ยนคู่ได้เมื่อมีตัวที่แข็งแรงกว่าเข้ามาแทนที่ เปรียบเปรยง่าย ๆ ก็เหมือนภรรยาคนนี้เลิกกับสามีเก่าและแต่งงานอยู่กินกับสามีใหม่ ถ้าตัวที่เข้ามาใหม่แข็งแรงกว่า  ดังนั้นครอบครัวชะนีมือขาวที่ผู้อ่านเห็นในเขาใหญ่ สมาชิกในครอบครัวอาจประกอบด้วยลูกชายอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยง มีน้องชายต่างพ่อ หรือบางทีลูกวัยรุ่นในฝูงชะนีนั้นก็ไม่ใช่ลูกแท้ ๆ แต่เป็นลูกเลี้ยงของทั้งชะนีตัวผู้และตัวเมียเลยก็เป็นไปได้ ทำให้ฉันรู้สึกว่าชะนีนี่ช่างเหมือนกับคนซะจริง ๆ

สิ่งที่เหมือนคนอีกอย่าง คือเมื่อชะนีโตเป็นหนุ่มสาวนั้น พวกมันจำเป็นจะต้องแยกตัวออกไปสร้างครอบครัวใหม่ โดยตัวผู้พร้อมจะมีครอบครัวเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี ขณะที่ตัวเมียใช้เวลาช้ากว่าคือเมื่ออายุประมาณ ๑๒ ปี โดยพ่อแม่จะช่วยกันผลักดันลูกชายหรือลูกสาวที่พร้อมจะไปสร้างครอบครัวแล้วให้ออกจากพื้นที่ เช่น มันจะไม่ตามหรือไม่ใส่ใจ หรือไล่ชะนีลูก ๆ ไม่ให้ตามมาหากินอาหารต้นเดียวกัน

ตอนที่ฉันติดตามครอบครัว T ลูกสาวครอบครัวนี้ชื่อ “ธันญ่า” (Tanya) เวลาที่ธันญ่าจะเข้ามากินผลไม้ต้นเดียวกันกับพ่อแม่  “เบรนดา” (Brenda) แม่ชะนีมักจะตรงเข้าไปไล่ลูกสาวเสมอ และจะขัดขวางการเล่นของลูกสาวกับลูกชาย ทำให้ธันญ่าเริ่มถอยห่างไปจากครอบครัว  น่าเสียดายที่เราไม่ได้ตามครอบครัว T ต่อเนื่องทุกวัน เราเลยไม่รู้ว่าธันญ่าย้ายออกไปจากครอบครัววันไหน และเธอไปมีครอบครัวใหม่หรือยัง

เมื่อชะนีหนุ่มชะนีสาวจากต่างครอบครัวมาเจอกัน โดยมีเสียงร้องที่บ่งบอกถึงความเป็นโสดพามา หากถูกใจกันและเจอพื้นที่ที่เหมาะสมก็จะจับคู่กันและสร้างอาณาเขตของตนเอง  ยกตัวอย่างครอบครัว T นั้น เบรนดาเป็นลูกสาวรุ่นที่ ๔ ของครอบครัว B มาจับคู่กับ “อมาเดียอุส” (Amadeus) ลูกชายรุ่นที่ ๓ ของป้าแอนครอบครัว A  ทั้งสองครอบครัวนี้เป็นครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียง  เมื่อตั้งครอบครัวใหม่คือครอบครัว T แล้วก็อยู่ไม่ไกลจากครอบครัวเดิมของทั้งคู่

แต่ก็ยังมีกรณีที่ชะนีหนุ่มชะนีสาวรับมรดกจากพ่อหรือแม่ให้ครอบครองพื้นที่ซึ่งมันเคยอยู่อาศัย กรณีนี้มักเกิดกับพ่อแม่ชะนีอายุมาก เช่น ครอบครัว N “โคลด” (Claude) ซึ่งเป็นพ่อยอมยกพื้นที่ให้ลูกชาย “นิทัศน์” (Nithat)  เมื่อ “หิมะ” (Hima) ชะนีตัวเมียตัวใหม่เข้ามาในพื้นที่แล้วไล่ “นาตาชา” (Natasha) เมียของโคลดออกไป แต่แทนที่โคลดจะจับคู่กับหิมะ มันยอมให้ลูกชายที่เป็นหนุ่มแล้วจับคู่กับชะนีสาวแทน แล้วชะนีพ่อก็ลดบทบาทของตัวเองลงมาเป็นเพียงแค่สมาชิกในฝูง เป็น “ปู่” ที่คอยช่วยดูแลลูก ๆ ของนิทัศน์และหิมะ

ทุกวันนี้โคลดยังอยู่ร่วมกับครอบครัว N แม้จะไม่ได้เป็นผู้นำฝูงเหมือนสมัยก่อน  ฉันคิดว่ามันน่าจะมีความสุขกับการได้อยู่ในบ้านของมันที่อาศัยมาถึง ๒๐ ปี มีอาหารให้กิน และมีสังคมกับลูก ๆ และหลาน ๆ

gibbon04ช่วงวัยของชะนีมือขาว หรือชะนีธรรมดา

  • อายุ ๐-๒ ปี…………………………………วัยทารก (infant) เกาะอกแม่อยู่ตลอด ดยเฉพาะตอนแม่เคลื่อนที่
  • อายุ ๒-๕ ปี…………………………………วัยเด็ก (juvenile1) ขนาดยังเล็กอยู่ แต่เป็นอิสระเคลื่อนที่ไปด้วยตนเอง โดยมักจะเคลื่อนที่ตามแม่
  • อายุ ๕-๘ ปี…………………………………วัยรุ่น (juvenile2/adolescent) มีขนาดใหญ่กว่าวัยเด็ก แต่ยังโตไม่เต็มที่ ใช้ชีวิตเป็นอิสระมากขึ้น
  • อายุ ๘-ย้ายไปมีครอบครัว……………วัยหนุ่มสาว (subadult) โตเต็มที่แต่ยังอาศัยในอาณาเขตของพ่อแม่ที่แท้จริงหรือพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง  ตัวผู้มักร้องเดี่ยวตอนเช้าตรงรอยต่ออาณาเขตของพ่อแม่
  • หลังจากมีครอบครัว…………………….โตเต็มที่ (adult) มีคู่และอาณาเขต ครอบครอง (territory) ของตนเอง ตัวผู้และตัวเมียร้องคู่กัน

 

๑๔.๔๕ น.  – แบ่งปัน

ชะนียังเดินทางแบบสบายใจ เกือบ ๑๕.๐๐ น. แล้ว คาสซานดราก็พาทั้งคนและชะนีวกกลับมาที่ต้นไทรต้นเดิมเมื่อเช้าอีก  วันนี้ชะนีมากินลูกไทรต้นนี้เป็นรอบที่ ๓ แล้ว แสดงให้เห็นว่าช่วงนี้ไทรเป็นอาหารหลักของครอบครัว และการวนกลับมากินบ่อย ๆ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ชะนีครอบครัว A เข้ามาแอบกิน มันจึงวนเวียนเดินทางไม่ไปไกลจากต้นไทรนี้มากนัก

ฉันเอาเป้ลงจากบ่าและวางบนพื้นพร้อมกับเอนตัวนอนใช้เป้หนุนหัว การเงยหน้า ๙๐ องศามาตลอดทั้งวันทำให้เมื่อยคอมาก  การนอนราบกับพื้นป่าและมองดูชะนีช่วยลดอาการเมื่อยคอได้ดีทีเดียว

เสียงลูกไทรตกลงตามพื้น เป๊าะ แป๊ะ จากการที่เจ้าสามตัวเคลื่อนที่ไปตามกิ่งต่าง ๆ  นกโพระดก เขียวคราม เขาเปล้า พญา-กระรอกดำ และกระรอกหลากสีก็มาร่วมแบ่งอาหารด้วย  สักพักก็ได้ยินเสียงกระพือปีกของแขกประจำ นกกกบินมาสองตัว ไล่เลี่ยกันเพื่อมาร่วมแบ่งลูกไทร

กว่า ๑ ชั่วโมงที่ชะนีและสัตว์ต่าง ๆ แบ่งปันกันบนต้นไทรอย่างสงบ  หากคงมีชะนีครอบครัว A ที่คอยเฝ้ามองมาแต่ไม่อาจเข้ามาร่วมวงได้ เพียงรอว่าเมื่อไรจะมีโอกาสเข้ากินลูกไทรกับเขาบ้าง

ระหว่างนั้นฉันคิดถึงที่อาจารย์วรเรณเคยบอกว่า เขาใหญ่เป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัยชะนีที่สำคัญของหลายพื้นที่และของภูมิภาคเอเชีย  ไม่ว่าจะเป็นจีน คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และรัฐกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียว  ทุก ๆ ที่ก็มีการศึกษาวิจัยระยะยาวจากนักวิจัยมากมาย แต่เขาใหญ่ถือว่ามีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์เกี่ยวกับชะนีในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และอาจารย์ก็เชื่อว่ายังมีสิ่งใหม่หลายอย่างที่เราพบได้แต่ในชะนีที่นี่ โดยไม่พบในที่อื่น และนั่นจะช่วยให้เราเข้าใจชีววิทยาของชะนีมากขึ้น

นอกจากนั้นข้อมูลจากการทำวิจัยเรื่องชะนีมาอย่างยาวนานในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมถึงงานวิจัยระยะยาวอื่น ๆ เช่นงานวิจัยนกเงือกก็ทำให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ใช้เป็นข้อมูลเพื่อเสนอชื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้สำเร็จในปี ๒๕๔๘  แต่น่าเสียดายที่บางช่วงเวลา กรมอุทยานฯ กลับมองว่างานวิจัยไม่ได้สำคัญไปกว่าการท่องเที่ยว  นักวิจัยรุ่นใหญ่ ๆ หลายคนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าวิจัยในพื้นที่ พร้อมทั้งไม่สนับสนุนให้เช่าที่พักในอุทยานแห่งชาติ หากนักวิจัยต้องการเข้าพัก เราต้องจ่ายราคาเดียวกับนักท่องเที่ยว

อาจารย์เล่าอีกว่าในยุคที่อาจารย์เข้ามาทำวิจัยใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านไพโรจน์ สุวรรณกร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และภายหลังท่านได้เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ หากท่านบอกว่าเราเข้าไปทำวิจัยได้ อาจารย์ก็สามารถทำงานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้  แต่เมื่อเวลาผ่านไป เปลี่ยนผู้นำ ผู้บริหาร นโยบายก็เปลี่ยนไปตาม บางครั้งเรื่องเอกสารจึงสำคัญกว่าการลงไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่

ปัจจุบันถึงแม้เราจะต้องเช่าที่พักเพื่อทำงานวิจัยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นรายวัน แต่เราก็เริ่มมีความหวังและมีสัญญาณที่ดีเมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยุคใหม่ให้การยอมรับ ร่วมมือ และสนับสนุนนักวิจัยเป็นอย่างดีเมื่อเราดำเนินการตามกฎ ระเบียบของกรมอุทยานฯ อย่างถูกต้อง

ผู้อ่านอาจตั้งคำถามว่าแล้วประโยชน์ของชะนีมือขาวหรือชะนีชนิดพันธุ์อื่น ๆ คืออะไร ทำไมเราจะต้องรู้จัก ต้องทำวิจัย หรือทำไมเราจะต้องอนุรักษ์ชะนี

ในที่นี้ฉันอาจจะเล่าประโยชน์ของชะนีได้ไม่หมดหรือชัดเจนพอ แต่หากยกตัวอย่างง่าย ๆ ชะนีเป็นสัตว์ป่าหากินผลไม้ป่า ถ่ายมูลในป่า  ในด้านนี้ชะนีก็คือผู้ที่ช่วยปลูกป่า  จากการศึกษาชะนีในหลายพื้นที่ของป่าเอเชีย พบว่าชะนีจัดเป็นตัวกระจายเมล็ดที่สำคัญของป่าเขตร้อนเลยทีเดียว

เวลาคนทั่วไปนึกถึงตัวกระจายเมล็ด เราอาจนึกถึงนกเงือกเป็นอย่างแรก เพราะนกเงือกกินผลไม้เป็นหลักและบินไปได้ไกล  ชะนีก็เป็นสัตว์กินผลไม้เช่นกัน และเคลื่อนที่ไปตามที่ต่าง ๆ ในพื้นที่อาศัยของพวกมัน  ชะนีและนกเงือกกินอาหารเหมือนกันหลายอย่าง แต่ที่แตกต่างกันคือชะนีสามารถกินผลไม้ที่มีเปลือกและมีเปลือกแข็ง รวมถึงผลไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าที่นกเงือกจะกินได้ เช่น เงาะป่า (Nephelium melliferum) มังคุดป่า (Garcinia benthamii)

สัตว์แต่ละชนิดในป่าจึงมีความสำคัญต่อการกระจายเมล็ดพืชไปคนละแบบ หากครอบครัวชะนีหายไปหนึ่งครอบครัว พื้นที่ป่าซึ่งถูกปลูกโดยชะนีก็อาจหายไปจากบริเวณตรงนั้น  แต่ต้องเข้าใจว่าป่าคงไม่ได้หายไปภายในวันสองวันหรือแม้แต่ใน ๑ ปี เพราะนี่เป็นเรื่องระยะยาว ป่าจะค่อย ๆ ขาดความสมบูรณ์ ชนิดพันธุ์พืชที่เป็นอาหารชะนีอาจหายไปก่อน แล้วก็ส่งผลต่อชนิดพันธุ์พืชอื่น ๆ  อย่าลืมว่าไม้ยืนต้นในป่านั้นมีอายุเป็นร้อย ๆ ปี ถ้าไม้เหล่านั้นไม่มีทายาทสืบต่อรุ่นต่อไป เราก็คงไม่มีไม้ยืนต้นมาทดแทนในอนาคต  หากชะนีหายไป พื้นที่ป่าก็หายไปโดยที่เรามองไม่เห็น

เหมือนกับว่าในวันนี้ป่าถูกสวมด้วยหน้ากากของต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แต่หลังหน้ากากนั้นความสมบูรณ์ของป่ากำลังถูกลดทอนลงไปเรื่อย ๆ

หลังจากกินอิ่มก็เหมือนจะได้เวลาไปนอนแล้ว คาสซานดราเริ่มขยับลงมาที่กิ่งต่ำลง และหาทางเชื่อมไปยังเรือนยอดอื่น  หลังจากเมียและลูกออกจากต้นไทรเพื่อไปยังต้นนอน ตรงกันข้ามเจ้าชัยกลับเคลื่อนที่ไปที่กิ่งสูงกว่า และกระโดดอย่างเชี่ยวชาญไปยังกิ่งของต้นถัดไปด้านทิศเหนือ  ฉับรีบลุกและติดตามเจ้าชัยไปอย่างรวดเร็ว มันไปหยุดที่ยางเสียนต้นใหญ่ และปีนขึ้นไปกิ่งด้านบน มันนอนเอาหลังพิงลำต้นและเอามือจับกิ่งอีกด้านไว้

ยางเสียนต้นนี้อยู่ห่างไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของต้นไทรประมาณ ๕๐ เมตร มันคงเลือกต้นนอนไม่ไกลมากจากต้นกิน เผื่อว่าพรุ่งนี้หลังจากตื่น มันคงเป็นตัวแรกที่จะไปถึงต้นไทรก่อนใคร และคอยป้องกันไม่ให้เจ้าชะนีตัวสีดำจากครอบครัว A เข้ามาลอบกินเหมือนเช้าวันนี้

 

๑๖.๑๖ น. – กลับ

เวลานี้ฟ้ายังมีแดดอ่อนๆ ตอนเย็น ฉันเริ่มต้นหาทางออกจากป่าซึ่งคงไม่ใช่ทางเดิมที่มาเมื่อเช้า และคงต้องมีเส้นทางใหม่ที่จะเข้ามาหาเจ้าชัย  แต่ฉันคงใช้เวลาสั้นกว่าเดิมในการเดินเข้ามาวันพรุ่งนี้

เสียงกระพือปีกของนกเงือกดังแว่ว ๆ มาให้ได้ยินระหว่างทางเดินกลับที่พัก คงได้เวลาที่สัตว์ป่าจะกลับบ้านกันแล้วเหมือนกัน

การทำงานในพื้นที่ไม่ว่าจะศึกษาต้นไม้หรือศึกษาชะนี ทำให้เราเกิดความคุ้นเคยเหมือนเป็นเพื่อนหรือญาติสนิท และอยากเอาเรื่องราวน่ารัก ๆ เรื่องราวดี ๆ ของเพื่อนหรือญาติสนิทมาเล่าให้คนอื่นฟัง  ฉันเคยคิดว่าชะนีเขาใหญ่ช่างเป็นชะนีที่โชคดีที่พื้นที่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ใจกลางป่า อยู่ใกล้สายตาของเจ้าหน้าที่และมีนักวิจัยเข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับชะนีในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยที่ยังถูกคนล่า ทั้งล่าโดยตรงหรือล่าเพื่อเป็นอาหารระหว่างการล่าสัตว์ป่าเป้าหมายชนิดอื่นอย่างเช่นเสือโคร่ง

หากใครจำข่าวการปะทะระหว่างผู้ลักลอบล่าสัตว์กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออกในเดือนกันยายนปีที่แล้ว (๒๕๕๖) และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในการยิงปะทะกัน  และสุดท้ายจับชายชาวม้งที่ลักลอบล่าเสือโคร่งตามใบสั่งได้  หากใครสังเกตภาพข่าวที่ปรากฏวันนั้นก็จะเห็นลูกชะนีที่คงเพิ่งหย่านมไม่นานเป็นของกลางอยู่ด้วย พ่อแม่ของมันโดนยิงและกินเนื้อไปหมดแล้ว แต่ยังมีของกลางเป็นกระดูกแขนและขาวางเรียงรายร่วมกับกระดูกสัตว์ชนิดอื่น อย่างเนื้อกระทิง อุ้งตีนหมี ที่ชายชาวม้งบอกว่าจะเก็บกระดูกไว้เข้ายา  ทุกวันนี้ลูกชะนีตัวนั้นถูกเจ้าหน้าที่เลี้ยงไว้ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าฯ เพื่อที่สักวันหวังว่าจะถูกปล่อยให้เข้าป่าไปใช้ชีวิตในธรรมชาติได้

ไม่ใช่ป่าทุ่งใหญ่แห่งเดียวที่มีการล่าสัตว์แบบนี้  ชะนีอาจตกเป็นเหยื่อของพรานในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งยังมีการล่าสัตว์อยู่เสมอ

แต่ถึงแม้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะเป็นมรดกโลก และเป็นพื้นที่สำคัญของประชากรชะนี  ถิ่นที่อยู่อาศัยของชะนีก็ไม่ได้รอดพ้นจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อการขนส่งและการท่องเที่ยว  มีครอบครัวชะนีที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนนในอุทยานฯ และทำให้ลูกชะนีไม่สามารถข้ามเรือนยอดต้นไม้ไปมาระหว่างสองฟากถนนได้ มันจึงถูกกดดันให้ลงมาเดินที่พื้นดินเพื่อข้ามถนน

ฉันเคยเห็นภาพลูกชะนีที่วิ่งข้ามถนนอย่างไม่คิดชีวิต ขณะที่ในวันหยุดยาวรถยนต์บนเขาใหญ่เยอะมาก  ฉันอยากขอร้องว่าถ้าใครไปเขาใหญ่ พยายามขับรถช้า ๆ นะคะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรถชนชะนีหรือสัตว์ป่าอื่น ๆ ตาย

เมื่อมีข่าวว่ามีลูกชะนีลงมาที่พื้นเพื่อข้ามถนน และทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยินดีที่จะจัดทำสะพานข้ามบนเรือนยอดให้ชะนี  ฉันจึงรู้สึกดีใจมากและหวังว่าเราจะได้จัดทำสะพานข้ามกันในไม่ช้า

 

๐๔.๐๐ น.

นาฬิกาปลุกดังอีกครั้ง กิจวัตรประจำวันวนกลับมาใหม่ ฉันตื่นและลุกขึ้นเพื่อไปตามชะนีเช่นทุกวัน

อาจมีคนสงสัยและถามว่า ฉันเบื่อหน่ายกับการที่ต้องตื่นเช้าหรือเปล่า มันก็อาจมีเหนื่อยบ้าง แต่ฉันกลับรู้สึกสนุกและยิ้มเสมอกับการได้ไปเจอชะนี พร้อมกับความรู้สึกว่าวันนี้คงได้พบข้อมูลอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ

ฉันมักนึกถึงภาพป้าแอนที่มองลงมา รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของฉัน และยอมรับให้ฉันติดตามมันไปเหมือนทุกครั้ง

แม้การเข้ามาทำวิจัยของฉันนั้นจะเทียบไม่ได้เลยกับที่อาจารย์วรเรณได้ทำไว้ตลอดเวลายาวนาน และปัจจุบันอาจารย์ในวัย ๗๓ ปีก็ยังคงทำวิจัยต่อไป โดยร่วมกับ Dr. Norberto Asensio จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยอีกหลายท่านจาก BIOTEC ทำการศึกษานิเวศวิทยาและความสัมพันธ์ของชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ และชะนีลูกผสม ในพื้นที่ซึ่งอาจารย์วรเรณ และ Dr. Marshall เคยศึกษาไว้เมื่อปี ๒๕๑๖

ในบทความพิเศษเกี่ยวกับการศึกษาชะนีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีของพื้นที่อนุรักษ์ในเมืองไทยอาจารย์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“คนมักจะถามผมว่างานวิจัยที่เขาใหญ่ของผมจะเสร็จเมื่อไร  ผมทำงานวิจัยมาเยอะและยาวนานและนั่นก็ทำให้มีเพื่อนร่วมงานและนักศึกษาที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ผมยังรู้สึกว่างานนี้มันเพิ่งจะเริ่มต้น ยังมีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องทำอีกมาก ทั้งคำถามใหม่ ๆ  และโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นคำตอบของผมคือ ผมจะเลิกทำงานวิจัยที่เขาใหญ่ก็ต่อเมื่อผมไม่สามารถเดินป่าได้อีกต่อไปแล้ว”

เห็นความมุ่งมั่นที่อาจารย์เข้ามาศึกษาชะนีอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแบบนี้แล้วทำให้ฉันเกิดพลัง

ฉันยังอยากทำงานวิจัยเรื่องชะนีที่เขาใหญ่ต่อ พร้อมทั้งสอนและสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นเด็ก ๆ สนใจชะนีเพิ่มขึ้น  รวมไปถึงการเผยแพร่ผลงานและความรู้เรื่องชะนีเป็นภาษาไทย เพราะหนังสือหรือแหล่งข้อมูลภาษาไทยนั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับข้อมูลภาษาอังกฤษ (ฉันมักแนะนำให้ลูกศิษย์ที่สนใจอยากศึกษาวิจัยชะนี เริ่มจากการอ่านบทความของคุณอุทัย ตรีสุคนธ์ ในนิตยสาร สารคดี ที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๓๒ ก่อนเสมอ ก่อนจะแนะนำบทความภาษาอังกฤษมากมายที่มีหัวข้อจำเพาะเจาะจงกับสิ่งที่นักศึกษาสนใจ เช่น เรื่องการเลี้ยงลูก การส่งเสียงร้อง การเคลื่อนที่ เป็นต้น)

ไม่น่าแปลกใจนักที่คนต่างประเทศรู้จักชะนีมากกว่าคนไทยเสียอีก  เรากล้ายอมรับไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่ทั่ว ๆ ไปไม่รู้ว่าในประเทศเรามีชะนีกี่ชนิด และที่แย่กว่านั้นคือแยกไม่ออกระหว่างลิงกับชะนี

อาจารย์พูดเสมอว่า “คนเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อายุมันไม่ได้เป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ของเรา”

วันนี้ฉันเลยเข้ามาเรียนรู้เพื่อหาคำตอบที่สนใจพร้อมลูกศิษย์อีกครั้ง…

 

gibbon05

ความในใจของคนรุ่นใหม่

พิมพ์สิริ ทรัพย์สมบัติ
นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ หลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

“ก่อนที่จะมาตามชะนี อารมณ์แรกเลยคือคิดว่าชะนีก็เป็นไพรเมตชนิดหนึ่ง คงจะคล้ายๆ กับลิงนั่นแหละ  ตอนนั้นก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชะนีมากนัก แล้วก็ไม่ได้สนใจมาก คิดแค่ว่าทำงานให้เสร็จก็จบ  แต่พอหลังจากตามชะนีได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าชะนีมีความน่ารักอยู่ในตัว  เมื่อยิ่งตามก็ยิ่งชอบ ยิ่งตามก็ยิ่งน่าค้นหา อยากจะตามมันต่อไปเรื่อยๆ และพอได้ติดตามก็รู้ว่าชะนีไม่เหมือนกับลิง ชะนีเป็นไพรเมตที่ยังมีความคล้ายกับมนุษย์อยู่

“ถ้าเรารู้พฤติกรรมและกิจกรรมต่างๆ ของชะนี เมื่อได้เห็นครอบครัวชะนีอยู่ด้วยกัน ทำความสะอาดขนให้กัน เล่นกัน แกล้งกันภาพเหล่านี้ให้ความรู้สึกว่าอบอุ่น ทำให้เรายิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว และคิดไปว่าถ้าคนรุ่นหลังได้เห็นภาพเหล่านี้บ้าง เขาจะคิดเหมือนกันกับเราหรือเปล่า ถ้าคิดเหมือนกันก็น่าจะดีนะ”

…………………………………………………

จักรกฤช คะชานันต์
บัณฑิตหลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

“สาเหตุที่ผมสนใจเลือกศึกษาชะนี เพราะชะนีได้รับความสนใจน้อยและมักถูกมองข้าม หรือเป็นแค่คำที่ใช้เรียกเสียดสีคนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ชะนีเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจและน่ายกย่อง เพราะเป็นทั้งเกษตรกรที่ช่วยกระจายเมล็ดไปยังมุมต่างๆ ของป่า เป็นนักร้องที่ช่วยให้ป่ามีชีวิตชีวา เป็นครอบครัวตัวอย่างของการใช้ชีวิตคู่อย่างเรียบง่าย

“ผมเชื่อว่าถ้าหลายคนมีโอกาสได้ติดตามดูพฤติกรรมชะนีในป่าสักครั้ง ได้เห็นลูกชะนีพี่น้องที่กำลังโหนกิ่งไม้เล่นด้วยกัน  พ่อชะนีนอนเอนกายบนกิ่งไม้ โดยมีแม่ชะนีนั่งอยู่เคียงข้าง น่าจะเป็นภาพที่ทำให้หลายๆ คนประทับใจเหมือนผม

“สำหรับแนวทางการศึกษาในอนาคตของผม คงเป็นเรื่องการผสมข้ามสายพันธุ์ของชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎ ซึ่งพบได้เฉพาะในประเทศไทยของเราเท่านั้น กับเรื่องปัญหาการข้ามถนนของชะนีในป่าอนุรักษ์ซึ่งถูกถนนตัดพื้นที่ขาดจากกันเป็นสองฝั่ง เป็นปัญหาที่ควรได้รับความสนใจ เพราะชะนีมีโอกาสถูกรถชนบนถนนได้ครับ”

เชิงอรรถ – *นักวิจัยชะนี อาจารย์ประจำหลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

ขอขอบคุณ
– ศาสตราจารย์ ดร. วรเรณ บรอคเคลแมน, คุณอนุตตรา ณ ถลาง,  อาจารย์ พี่ ๆ เพื่อน ๆ ทีมวิจัย ลูกศิษย์ที่ศึกษาและวิจัยชะนีทุกท่าน
– อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
– และขอขอบคุณชะนีที่ให้โอกาสเข้าไปสัมผัสชีวิตในธรรมชาติจริง

เอกสารประกอบการเขียน
อุทัย ตรีสุคนธ์. (๒๕๓๒). ชะนี : เสียงโหยหวนที่อ่อนระโหยในวันนี้. สารคดี, ๔ (๔๘), ๙๙-๑๐๒.
Asensio, N., Brockelman, W. Y., Malaivijitnond, S., Reichard, U.(2011). Gibbon travel paths are goal oriented. Animal Cognition, 14, 395-405.
Brockelman, W. Y. (2013). Gibbon studies in Khao Yai National Park : some personal reminiscences. Natural History Bulletin of     the Siam Society. 59 (2), 109-135.
Brockelman, W. Y., Reichard, U., Treesucon, U., & Raemaekers, J. J. (1998). Dispersal, pair formation and social structure in gibbons (Hylobates lar). Behavioral Ecology and Sociobiology, 42 (5), 329-339.
Ellefson, J. O. (1974). A natural history of white-handed gibbons in the Malayan peninsula. In D. M. Rumbaugh (Ed.) Gibbon and Siamang, Vol. 3, Natural history, social behavior, reproduction, vocalization, prehension (pp.1-136). Basel : Karger.
Lekagul, B., & McNeely, J. (1988). Mammals of Thailand. Darnsutha Press. Bangkok.
McConkey, K. R. (2000). Primary seed shadow generated by gibbons in the rain forests of Barito Ulu, Central Borneo. American Journal of Primatology, 52 (1), 13-29.
Mitttermeir, R. A., Rylands, A. B., Wilson, D. E. eds. (2013). Handbook of the Mammals of the World. Vol. 3. Primate. Lynx Edicions. Barcelona.
Raemaekers, J. J., Raemaekers, P. M. (1990). The singing apes : a journey to the jungles of Thailand.  The Siam Society, Amarin Printing Group Co., Ltd. Bangkok.
Raemaekers, J. J., Raemaekers, P. M., & Haimoff, E. H. (1984). Loud calls of the gibbon (Hylobates lar) : repertoire, organisation and context. Behaviour, 96 (1/3), 146-189.
Wongsriphuek, C. (2008). Seed dispersal and seedling recruitment of lianas in seasonal evergreen forest, Khao Yai National Park, Thailand. Unpuplished Ph.D. Mahidol University, Bangkok.